การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (Teenage pregnancy)

สุชยา ลือวรรณ


 การเปลี่ยนแปลงอันเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสื่อในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของวัยรุ่น โดยเฉพาะพฤติกรรมทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ทำให้เกิดปัญหาที่สำคัญ คือ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่ส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นทางกาย จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคมของตนเองและครอบครัว

 คำจำกัดความ

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (teenage pregnancy หรือ adolescent pregnancy) ตามความหมายขององค์การอนามัยโลก หมายถึงสตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุระหว่าง 10-19 ปี(1)

ระบาดวิทยา/อุบัติการณ์

ในสตรี 16 ล้านคนทั่วโลก ที่มีอายุในช่วง 15-19 ปี จะมีอัตราการตั้งครรภ์และการคลอดคิดเป็น ร้อยละ 11 ของประชากรทั่วโลก จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ในปี 2553 โดยที่ร้อยละ 95 อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง โดยมีอัตราการคลอดคิดเป็น 5 และ 2 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ตามลำดับ ซึ่งบ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่งของอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น(1)

จากข้อมูลของ CDC(Centers of Disease Control and Prevention) ในปี 2551 พบว่าอุบัติการณ์การตั้งครรภ์และคลอดบุตรของสตรีวัยรุ่นช่วงอายุ 15-19 ปี ในสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 41.5 ต่อสตรีตั้งครรภ์ 1000 ราย  สำหรับในประเทศไทย จากรายงานของประทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2546-2550 พบว่าอุบัติการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ช่วงอายุ 15-19 ปี ต่อสตรีตั้งครรภ์ 1,000 ราย  เพิ่มขึ้นจาก 127 รายในปี 2546 เป็น 146 รายในปี 2550(2) ซึ่งในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จากสถิติการตั้งครรภ์และการคลอดในปี พ.ศ. 2552 อุบัติการณ์สตรีวัยรุ่นตั้งครรภ์ ช่วงอายุ 11-19 ปี คิดเป็นร้อยละ 9.4 โดยแบ่งเป็นช่วงอายุ น้อยกว่า 16 ปี คิดเป็นร้อยละ 1.6 และ ช่วง 17-19 ปี คิดเป็นร้อยละ 7.8(3)

ผลกระทบจากการตั้งครรภ์ต่อวัยรุ่น

1.  ภาวะโลหิตจาง (anemia)

ภาวะซีดหรือโลหิตจาง เป็นปัญหาสำคัญที่พบได้อย่างกว้างขวาง จากการศึกษาแบบ meta-analysis เปรียบเทียบกับสตรีที่อายุมากกว่า 20 ปี พบว่า relative risk เป็น 2.57 (CI 2.29-2.87)(4)  ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะทุโภชนาการ โดยเฉพาะขาดธาตุเหล็ก folic acid รวมถึงการมีพยาธิในลำไส้ ซึ่งปัญหานี้พบได้ในประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว(5-15) แต่ในประเทศไทยภาวะโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย ก็เป็นอีกสาเหตุของภาวะซีดซึ่งอุบัติการณ์แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ทำให้รายงานจากบางแห่ง เช่น โรงพยาบาลราชวิถี พบว่าภาวะซีดในวัยรุ่นไม่แตกต่างจากทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.053)(16;17)

2.  การคลอดก่อนกำหนด

การคลอดก่อนกำหนด เป็นอีกปัญหาที่สำคัญในสตรีวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา จาก Meta-analysis พบว่า relative risk เป็น 1.46 (CI 1.20-1.77)(4)  ในประเทศไทยจากโรงพยาบาลราชวิถี พบว่า 0dd ratio คิดเป็น 1.81 (CI 1.27-2.59)(16)  และจากอีกหลาย ๆ รายงานพบว่า ถ้ายิ่งอายุน้อยมากเท่าไหร่ โอกาสคลอดก่อนกำหนดจะยิ่งสูงขึ้น(5-13;15;16;18;19) โดยเกิดจากหลาย สาเหตุ ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเกิดจากการเจริญเติบโตที่ไม่เต็มที่ของร่างกายวัยรุ่น การศึกษา การดำรงชีวิตและสภาพแวดล้อม การใช้ยาหรือสารเสพติด หรือแม้กระทั่งขาดการดูแลในระยะก่อนคลอดที่เหมาะสม

3.  ทารกน้ำหนักน้อย

ภาวะนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากการคลอดก่อนกำหนด ภาวะทุโภชนาการ การศึกษา การฝากครรภ์ที่ทำให้เกิดทารกน้ำหนักน้อยเมื่อเทียบกับสตรีตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า รวมถึงภาวะ low birth weight(LBW, น้อยกว่า 2500 กรัม) ก็มีอุบัติการณ์สูงขึ้นในวัยรุ่น(5;6;8-10;12;13;15;16;19) ยิ่งถ้าอายุน้อยกว่า 16 ปี โอกาสเกิดทารกน้ำหนักน้อยก็ยิ่งสูงขึ้น (p<0.001)(18;20)

4.  ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (pregnancy induced hypertension)

มีรายงานที่พบว่าโอกาสการเกิดความดันโลหิตสูงจะเพิ่มขึ้นในวัยรุ่นเมื่อเทียบกับสตรีตั้งครรภ์ที่อายุมากกว่า(14;19;21;22) แต่บางรายงานก็ไม่แตกต่างกัน  สำหรับในประเทศไทยพบว่าโอกาสเกิดภาวะความดันโลหิตสูงไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(12;15;16)

5.  การติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

เนื่องจากพฤติกรรมทางเพศที่เปลี่ยนแปลงไป โอกาสการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะเอชไอวี เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น ร่วมกับโรคทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น เช่น ซิฟิลิส หนองใน เป็นต้น ทำให้พบอัตราการติดเชื้อเอชไอวี ในสตรีวัยรุ่นตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น(23-25) ทั้งนี้การตั้งครรภ์อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพมารดาและทารก และเพิ่มโอกาสการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยอีกด้วย

6.  อัตราตายปริกำเนิด

พบว่าอัตราตายปริกำเนิดจะเพิ่มขึ้นในสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นจากรายงานส่วนใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา(4-6;8-10;13;16;17;19;24;25) จากรายงานของ WHO ในปี 2010 พบว่า อัตราการตายปริกำเนิด เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับสตรีตั้งครรภ์ที่อายุมากกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นผลจากการคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักน้อย แต่ก็มีบางรายงานที่พบว่าไม่แตกต่างกัน(15)

7. มารดาทุพพลภาพและเสียชีวิต

อุบัติการณ์จะเพิ่มสูงขึ้นในประเทศที่ด้อยหรือกำลังพัฒนา จากรายงานของ WHO ในปี 2010พบว่าในละตินอเมริกาความเสี่ยงในที่สตรีตั้งครรภ์จะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 4 เท่า ในสตรีตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า16 ปีเป็นส่วนในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่แตกต่างกัน รวมถึงรายงานจากประเทศไทยก็ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(12;15;16)

การดูแลสตรีวัยรุ่นตั้งครรภ์

เมื่อวัยรุ่นตั้งครรภ์ วัยรุ่นเหล่านี้ควรได้รับการดูแลให้มีสุขภาพดีทั้งทางกายและใจ  โดยอาศัยสาขาวิชาชีพ ตั้งแต่การวินิจฉัยการตั้งครรภ์และการให้คำปรึกษาที่เหมาะสมในช่วงแรก เพื่อลดอัตราการทำแท้งผิดกฎหมายในวัยรุ่น การโน้มน้าวให้พูดคุยหรือแจ้งปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ช่วยลดหรือผ่อนปรนความขัดแย้งภายในครอบครัว รวมถึงการให้คำปรึกษาและแนะนำทางเลือกในการตั้งครรภ์แก่วัยรุ่น ซึ่งได้แก่ การตั้งครรภ์ต่อและเลี้ยงดูบุตรเองหรือยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น แต่ในกรณีที่จะตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ระยะก่อนคลอด(25)

การลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในการตั้งครรภ์ สามารถทำได้โดยการดูแลในช่วงฝากครรภ์ ให้ดี แต่ปัญหาที่พบบ่อยคือการไม่มาฝากครรภ์ หรือ มาฝากครรภ์ช้า ซึ่งส่วนหนึ่งวัยรุ่นมักจะไม่ทราบว่าตนตั้งครรภ์ หรือ เมื่อทราบแล้ว ยังไม่มาฝากครรภ์แต่พยายามยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่ไม่ปลอดภัยและผิดกฎหมาย แต่ในรายที่สามารถมาฝากครรภ์ได้ ควรให้การดูแลดังนี้

  • ตรวจหาอายุครรภ์ที่ถูกต้อง คัดกรองความผิดปกติของทารกในครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อเป็นการให้ส่งเสริมให้วัยรุ่นตั้งครรภ์ต่อและมีความผูกพันกับทารกในครรภ์
  • ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอชไอวี  และให้การรักษาที่เหมาะสมเพื่อลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
  • คำแนะนำเกี่ยวกับภาวะโภชนาการที่เหมาะสม ในสหรัฐอเมริกา มีรายงานถึงภาวะขาดธาตุเหล็กที่พบในสตรีวัยรุ่น ถึงร้อยละ 9-11 โดยที่มีภาวะซีดร่วมด้วยร้อยละ 2-5(26)  ดังนั้นสตรีวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ควรได้รับธาตุเหล็กเสริมวันละ 27 มิลลิกรัม(27) ส่วน แคลเซียม ในวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 9-18 ปี ควรได้รับแคลเซียม 1300 มิลลิกรัมต่อวัน ร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีวิตามิน D เพื่อช่วยในการดูดซึมแคลเซียม(28)
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเช่น การสูบบุหรี่ การใช้ยาหรือสารเสพติด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด คลอดก่อนกำหนด เป็นต้น
  • การดูแลสภาพจิตใจ ให้กำลังใจและคำปรึกษากับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจระหว่างการตั้งครรภ์
  • การเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะซีด และการคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น
  • การวางแผนการคลอด เช่น สถานที่คลอด สถานที่พักฟื้นหลังคลอดและผู้ที่จะช่วยดูแลหลังคลอด
ระยะคลอด(25)

การดูแลในระยะคลอด ก็ไม่ต่างจากการดูแลสตรีตั้งครรภ์ทั่วไป แต่สิ่งที่สำคัญคือ การประเมินความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนตามมา ในอดีตมีรายงานสนับสนุนว่า ภาวะเจริญเติบโตไม่เต็มที่ของกระดูกเชิงกรานในสตรีที่อายุน้อยกว่า 16 ปี เป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรม เช่น  การผ่าตัดคลอด การใช้หัตถการทางสูติศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น

ในปัจจุบัน การศึกษาในช่วงหลัง ๆ ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1998 มีหลายรายงานที่พบว่า  ภาวะแทรกซ้อนจากการเจ็บครรภ์และการคลอดในสตรีวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่กลับลดลงเมื่อเทียบกับสตรีที่อายุมากกว่า  เช่นในรายงานปี 2000 โดย Jolly และคณะ(9) พบว่าอัตราการผ่าตัดคลอด (OR 0.47, CI 0.35,0.65) การชักนำการคลอดด้วยยา oxytocin การทำหัตถการทางสูติศาสตร์(OR 0.46, CI 0.41,0.56)  หรือแม้กระทั่งการตกเลือดหลังคลอด (OR 0.83, CI 0.72,0.95) ลดลงในสตรีวัยรุ่น

ประเทศไทยมีการศึกษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์(12) และชลบุรี(15) ผลการศึกษาต่างก็ให้ความเห็นสอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศ และพบว่าสตรีวัยรุ่นอัตราการคลอดเองทางช่องคลอดสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งไม่สนับสนุนทฤษฎีการเจริญเติบโตของกระดูกเชิงกรานที่ไม่สมบูรณ์แต่น่าจะเป็นเพราะความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อมดลูกที่ดีกว่า ร่วมกับปากมดลูกที่เอื้อต่อกระบวนการคลอด รวมถึงโดยส่วนใหญ่ทารกมีน้ำหนักจึงทำให้คลอดเองได้ง่าย แต่ล่าสุดในปี 2010 มีรายงานจากโรงพยาบาลราชวิถี(16) ที่ขัดแย้งกัน โดยพบว่าอัตราผ่าตัดคลอดและการใช้หัตถการเครื่องดูดสุญญากาศสูงกว่าในสตรีวัยรุ่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.005 และ 0.004 ตามลำดับ) แต่อัตราการคลอดเองทางช่องคลอด การชักนำการคลอด การคลอดติดขัดจากความไม่เข้ากันของขนาดเชิงกรานกับศีรษะทารก หรือภาวะทารกเครียดในครรภ์ไม่มีความแตกต่างกัน

สิ่งที่สำคัญในระยะคลอดคือ การดูแลด้านจิตใจ การเอาใจใส่ ให้กำลังใจแก่วัยรุ่น จะทำให้การดำเนินการคลอดเป็นไปอย่างราบรื่น รวมถึงระยะคลอดสั้นลง การใช้ยาระงับปวดลดลง ทารกแรกเกิดมี Apgar score < 7 ลดลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(5-7;9;13-15;17;19)

ระยะหลังคลอด

ภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด 

จากรายงานของโรงพยาบาลราชวิถี(16)  พบว่าภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ หลังคลอด เช่น ตกเลือดหลังคลอด รกค้าง ติดเชื้อหลังคลอด แผลแยก หรือ ก้อนเลือดคั่งที่บริเวณฝีเย็บ ไม่แตกต่างกันระหว่างสตรีวัยรุ่นและสตรีทั่วไป แต่ยังมีบางรายงานในต่างประเทศที่พบว่าภาวะซีด และทุพโภชนาการยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องหลังคลอด(25)

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ควรให้การสนับสนุนและช่วยเหลือวัยรุ่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาที่เปรียบเทียบการสร้างน้ำนมในวัยรุ่นหลังคลอด พบว่ามีเพียงร้อยละ 37-54 ซึ่งน้อยกว่าในสตรีทั่วไป แต่องค์ประกอบของน้ำนมไม่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นผลจากความถี่ในการให้นมน้อยกว่า และเริ่มให้นมเสริมเร็ว

สภาพจิตใจ

ปัญหาสภาพจิตใจของวัยรุ่นเป็นปัญหาสำคัญ เพราะวัยรุ่นมักมีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียด ปรับตัวไม่ได้ อาจมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง และซึมเศร้าหลังคลอด มีรายงานที่ศึกษาสภาพจิตใจของวัยรุ่นโดยติดตามถึง 4 ปีหลังคลอด พบว่า ร้อยละ 57 มี อาการเก็บกดชนิดปานกลางถึงรุนแรง ความชุกของอาการเก็บกดสูงกว่าในช่วง 3 เดือนแรกหลังคลอด(29)

การป้องกัน

การป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมในวัยรุ่น

          ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นปัญหาระดับนานาชาติ ที่แต่ละประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญและมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการแก้ไข  ตั้งแต่ ปี 1990 ได้มีโครงการต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันโดยปรับให้เหมาะสมกับสังคม ประเพณีและวัฒนธรรม โดยที่เน้นประเด็นหลัก ๆ คือ การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา การพัฒนาเยาวชนในด้านการใช้ชีวิตในสังคม และการให้บริการการศึกษาในชุมชน(30) แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรให้แก่วัยรุ่น คือ

  • การให้ความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร หรือลดอัตราการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมในวัยรุ่น
  • การเข้าถึงการให้บริการเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์  การคุมกำเนิด การป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  • สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อวัยรุ่นที่ทำให้รู้สึกปลอดภัย และสามารถให้การดูแลวัยรุ่นเมื่อเกิดปัญหาต่าง ๆ ได้
  • การดูแลและความเข้าใจจากบุคคลในครอบครัวและสังคมรอบข้างองค์กรต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนและดูแลช่วยเหลือ  รวมถึงการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการศึกษาต่ออย่างเหมาะสม
  • ผู้ให้บริการทางการแพทย์ สหสาขาวิชาชีพ มีบทบาทให้การส่งเสริมการคุมกำเนิด และถ้าเมื่อตั้งครรภ์แล้ว ควรให้คำปรึกษาและสนับสนุนในการดูแลระยะก่อนคลอด ระหว่างคลอดและหลังคลอดอย่างเหมาะสม เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่าง  ๆที่อาจเกิดขึ้น

การคุมกำเนิด(31-33)

การคุมกำเนิดเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อนสำหรับวัยรุ่น ทั้งนี้เกิดจากการขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคุมกำเนิด และการเลือกใช้ที่เหมาะสม ประกอบกับวุฒิภาวะทางอารมณ์และจิตใจ ทำให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์ต้องเข้าใจและมียุทธวิธีในการสนับสนุนการคุมกำเนิดในวัยรุ่น วิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับวัยรุ่นมักจะต้องใช้ง่าย ไม่ต้องพบแพทย์บ่อย ไม่ต้องตรวจภายใน ไม่มีผู้อื่นรับรู้ ราคาถูก และปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันปัจจัยเรื่องความสวยงามก็เข้ามามีบทบาทต่อการเลือกใช้อีกด้วย

  • ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม(combined oral contraception) เป็นที่นิยมและใช้ในวัยรุ่น มีประสิทธิภาพสูงกว่าร้อยละ 90 เหมาะสำหรับคนที่มีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ รักษาอาการปวดท้องประจำเดือน ปริมาณเลือดออกน้อยลง รักษาสิว โดยต้องเริ่มรับประทานภายใน 5 วันแรกของการมีระดูจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด

ข้อเสีย               ต้องใช้ยาอย่างสม่ำเสมอทุกวันโดยไม่ลืม ถ้าลืมต้องใช้วิธีอื่นช่วยด้วย เช่น ถุงยางอนามัย

  • ยาเม็ดฉุกเฉิน(emergency contraceptive pill)  เป็นทางเลือกกรณีมีเพศสัมพันธ์ไปแล้วโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งควรรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ จะป้องกันได้ร้อยละ 75 โดยใช้ฮอร์โมน levonorgestrel 1.5 มิลลิกรัม หรือ levonorgestrel 1 มิลลิกรัม ร่วมกับ ehtinyl estradiol 200 ไมโครกรัม

ข้อเสีย               ผลข้างเคียงจากการใช้ระดับยาที่ค่อนข้างสูง ไม่สามารถใช้ได้บ่อย ๆ

  • ยาฝังคุมกำเนิด(implant contraception) เป็นฮอร์โมน progestin ชนิดฝังหลอดยาไว้ใต้ผิวหนัง ซึ่งมีหลายชนิดตั้งแต่แบบหลอดเดียวจนถึง 6 หลอด โดยออกฤทธิ์ตั้งแต่ 3-5 ปี พบว่าประสิทธิภาพสูงเทียบเท่าการทำหมัน  เหมาะสมกับวัยรุ่นเพราะไม่ต้องกังวลเรื่องการลืมใช้ยา และใช้ได้นาน

ข้อเสีย               ในคนที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 70 กิโลกรัม ประสิทธิภาพจะลดลง ประจำเดือนอาจมาผิดปกติ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เป็นต้น

  • ยาฉีดคุมกำเนิด(injectable contraception) เป็นฮอร์โมน progestin แบบฉีดเข้ากล้ามทุก 12 สัปดาห์ แต่ปัจจุบันมีทั้งชนิด ฉีดทุก 1-2 เดือน โดยมี estrogen เป็นส่วนประกอบ  เป็นที่นิยมในวัยรุ่น เนื่องจากคุมได้นาน ใช้ง่าย

ข้อเสีย               ทำให้ประจำเดือนผิดปกติ อาจไม่มาเลย หรือเป็นเลือดออกกปริบกะปรอย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ปวดศีรษะได้

  • แผ่นยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง(transdermal patch) ประกอบด้วย estrogen และ progesterone  ใช้แผ่นละ 1 สัปดาห์ โดยติดผิวหนังตามต้นแขน หลัง สะโพก

ข้อเสีย               ราคาแพง และมีปัญหาการหลุดลอก ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 32

  • ห่วงอนามัย(intrauterine device)   เป็นอุปกรณ์ที่ใส่ไว้ในโพรงมดลูก มีประสิทธิภาพสูง ใช้ได้นาน 5 ปี ถ้าใช้เป็นชนิดที่มีทองแดงจะไม่มีผลจากฮอร์โมน  ถ้าเป็นชนิดฮอร์โมน levonorgestrel จะช่วยรักษาภาวะประจำเดือนมามากได้

ข้อเสีย               ต้องหมั่นตรวจเช็คสายห่วง และเฝ้าระวังการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน

  • ถุงยางอนามัย(condom) มีทั้งสำหรับผู้ชายและผู้หญิง เป็นที่นิยมในวัยรุ่นและยังสามารถป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย มีประสิทธิภาพดีถ้าใช้อย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ บางชนิดจะมียาฆ่าเชื้ออสุจิอยู่ด้วยซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพอีกทางหนึ่ง สำหรับการคุมกำเนิดด้วยสิ่งกีดขวางชนิดอื่น เช่น หมาวกกั้นปากมดลูก ไม่ค่อยนิยมใช้ เนื่องจากใช้ยาก เพิ่มโอกาสการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในสตรีได้บ่อย
  • การคุมกำเนิดโดยวิธีธรรมชาติ เช่น การนับวัน การหาวันตกไข่ โดยการวัดอุณหภูมิกาย การดูจากมูกปากมดลูก สำหรับวิธีเหล่านี้ไม่ค่อยได้มีใครให้ข้อมูลถึงประสิทธิภาพมากนัก เนื่องจากมีโอกาสล้มเหลวสูง

สรุป

          ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นปัญหาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ควรจะได้รับการแก้ไขและดูแลอย่างเหมาะสม โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งวัยรุ่นเอง ครอบครัวหรือผู้ปกครอง ครูอาจารย์ที่จะคอยชี้แนะ บุคคลากรทางการแพทย์ที่คอยช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทให้การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับวัยรุ่นอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. WHO. Adolescent pregnancy. World Health Organization 2010 December 6. Available from:URL:http://www.who.int/making_pregnancy_safer/topics/adolescent_pregnancy/en/print.html
  2. กลุ่มภารกิจด้านข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศสุขภาพ สส. จำนวนและอัตราเจริญพันธุ์ ต่อประชากรหญิง 1,000 คน จำแนกตามกลุ่มอายุมารดา พ.ศ. 2546-2550.  2552.
  3. Maternal-Fetal Medicine DoOaGFoMCMU. Maternal-Fetal Medicine 2009: Annual Report.  2010.
  4. Scholl TO, Hediger ML, Belsky DH. Prenatal care and maternal health during adolescent pregnancy: a review and meta-analysis. J Adolesc Health 1994 Sep;15(6):444-56.
  5. Briggs MM, Hopman WM, Jamieson MA. Comparing pregnancy in adolescents and adults: obstetric outcomes and prevalence of anemia. J Obstet Gynaecol Can 2007 Jul;29(7):546-55.
  6. Fraser AM, Brockert JE, Ward RH. Association of young maternal age with adverse reproductive outcomes. N Engl J Med 1995 Apr 27;332(17):1113-7.
  7. Goonewardene IM, Deeyagaha Waduge RP. Adverse effects of teenage pregnancy. Ceylon Med J 2005 Sep;50(3):116-20.
  8. Gupta N, Kiran U, Bhal K. Teenage pregnancies: obstetric characteristics and outcome. Eur J Obstet Gynecol Reprod Biol 2008 Apr;137(2):165-71.
  9. Jolly MC, Sebire N, Harris J, Robinson S, Regan L. Obstetric risks of pregnancy in women less than 18 years old. Obstet Gynecol 2000 Dec;96(6):962-6.
  10. Kumar A, Singh T, Basu S, Pandey S, Bhargava V. Outcome of teenage pregnancy. Indian J Pediatr 2007 Oct;74(10):927-31.
  11. Lewis LN, Hickey M, Doherty DA, Skinner SR. How do pregnancy outcomes differ in teenage mothers? A Western Australian study. Med J Aust 2009 May 18;190(10):537-41.
  12. Thato S, Rachukul S, Sopajaree C. Obstetrics and perinatal outcomes of Thai pregnant adolescents: a retrospective study. Int J Nurs Stud 2007 Sep;44(7):1158-64.
  13. Trivedi SS, Pasrija S. Teenage pregnancies and their obstetric outcomes. Trop Doct 2007 Apr;37(2):85-8.
  14. Usta IM, Zoorob D, Abu-Musa A, Naassan G, Nassar AH. Obstetric outcome of teenage pregnancies compared with adult pregnancies. Acta Obstet Gynecol Scand 2008;87(2):178-83.
  15. Watcharaseranee N, Pinchantra P, Piyaman S. The incidence and complications of teenage pregnancy at Chonburi Hospital. J Med Assoc Thai 2006 Oct;89 Suppl 4:S118-S123.
  16. Kovavisarach E, Chairaj S, Tosang K, Asavapiriyanont S, Chotigeat U. Outcome of teenage pregnancy in Rajavithi Hospital. J Med Assoc Thai 2010 Jan;93(1):1-8.
  17. Ziadeh S. Obstetric outcome of teenage pregnancies in North Jordan. Arch Gynecol Obstet 2001 Mar;265(1):26-9.
  18. Khashan AS, Baker PN, Kenny LC. Preterm birth and reduced birthweight in first and second teenage pregnancies: a register-based cohort study. BMC Pregnancy Childbirth 2010;10:36.
  19. Lao TT, Ho LF. Obstetric outcome of teenage pregnancies. Hum Reprod 1998 Nov;13(11):3228-32.
  20. Suebnukarn K, Phupong V. Pregnancy outcomes in adolescents < or = 15 years old. J Med Assoc Thai 2005 Dec;88(12):1758-62.
  21. Saftlas AF, Olson DR, Franks AL, Atrash HK, Pokras R. Epidemiology of preeclampsia and eclampsia in the United States, 1979-1986. Am J Obstet Gynecol 1990 Aug;163(2):460-5.
  22. Sarkar CS, Giri AK, Sarkar B. Outcome of teenage pregnancy and labour: a retrospective study. J Indian Med Assoc 1991 Jul;89(7):197-9.
  23. Avery L, Lazdane G. What do we know about sexual and reproductive health of adolescents in Europe? Eur J Contracept Reprod Health Care 2010 Dec;15 Suppl 2:S54-S66.
  24. Torrone EA, Wright J, Leone PA, Hightow-Weidman LB. Pregnancy and HIV infection in young women in North Carolina. Public Health Rep 2010 Jan;125(1):96-102.
  25. Treffers PE, Olukoya AA, Ferguson BJ, Liljestrand J. Care for adolescent pregnancy and childbirth. Int J Gynaecol Obstet 2001 Nov;75(2):111-21.
  26. Looker AC, Dallman PR, Carroll MD, Gunter EW, Johnson CL. Prevalence of iron deficiency in the United States. JAMA 1997 Mar 26;277(12):973-6.
  27. Institute of Medicine (U.S.).Panel on Micronutrients IoMUSFaNB. Dietary reference intakes for vitamin A, vitamin K, arsenic, boron, chromium, copper, iodine, iron, manganese, molybdenum, nickel, silicon, vanadium, and Zinc. Washington DC: National Academy Press; 2000.
  28. NIH Consensus conference. Optimal calcium intake. NIH Consensus Development Panel on Optimal Calcium Intake. JAMA 1994 Dec 28;272(24):1942-8.
  29. Tonelli M. Depression and adolescent pregnancy. J Pediatr Adolesc Gynecol 2005 Apr;18(2):137-8.
  30. Harris MB, Allgood JG. Adolescent pregnancy prevention: Choosing an effective program that fits. Children and Youth Services Review 2009;31:1314-20.
  31. Holcomb MA, Williams R, Skipper MT. Adolescent contraception: sorting out the facts. Nurse Pract 2009 Sep;34(9):18-26.
  32. Lara-Torre E. Update in adolescent contraception. Obstet Gynecol Clin North Am 2009 Mar;36(1):119-28.
  33. French RS, Cowan FM. Contraception for adolescents. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2009 Apr;23(2):233-47.