โรคทางระบบประสาทในสตรีตั้งครรภ์

อ.พญ.สุชยา ลือวรรณ


โรคทางระบบประสาทที่เกิดในคนทั่วไป ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งมีโรคอยู่จำนวนมาก แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะปัญหาสำคัญบางประการที่พบได้บ่อย ๆ เท่านั้น

การวินิจฉัยโรคทางระบบประสาทระหว่างการตั้งครรภ์(1)

มักมีอาการตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรืออาจวินิจฉัยครั้งแรกในขณะตั้งครรภ์ ควรต้องแยกจากภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์รวมถึงโรงทางจิตเวช  การวินิจฉัยด้วยรังสีวิทยาที่ใช้ในระหว่างการตั้งครรภ์ ได้แก่

  • Magnetic resonance imaging(MRI)  ปริมาณรังสีน้อย ใช้วินิจฉัยโรคโรคที่มีการทำลายของปลอกหุ้มปลายประสาท ความผิดปกติของระบบหลอดเลือด ความผิดปกติหรือความพิการแต่กำเนิดของระบบประสาทและไขสันหลัง รวมถึงภาวะขาดเลือด เลือดออกหรือคั่งในสมองที่เป็นมานานด้วย
  • Computed tomography (CT)  ปริมาณรังสีมากกว่า ทำได้ง่ายและเร็วกว่าในภาวะฉุกเฉิน
  • Cerebral angiography เป็นการฉีดสารทึบแสงเข้าทางหลอดเลือด femoral เพื่อวินิจฉัยโรคของเส้นเลือดในสมอง

โรคทางระบบประสาท

ปวดศีรษะ (Headache) (1,2)

ร้อยละ  90 ของการปวดศีรษะขณะตั้งครรภ์เกิดจากความเครียด (tension  headache)  และไมเกรน (migraine) รายที่ปวดจากความตึงเครียดอาจรู้สึกหัวจะระเบิดที่กลางกระหม่อม โดยอาการจะเลวลงตอนสาย  ๆ อาจเริ่มทันทีตอนลืมตาตอนเช้า คลำกล้ามเนื้อแข็ง ๆ  ด้านหลังของคออาจกระตุ้นการปวด ตรวจระบบประสาทและจอตาปกติ มักมีประวัติปวดศีรษะมาก่อนไม่มากก็น้อย  มีวิตกกังวลซึมเศร้าได้บ่อย ๆ ขณะตั้งครรภ์อาการปวดอาจเลวลงได้จากการเปลี่ยนท่า

International Headache Society (2004)     ได้แบ่งอาการปวดศีรษะออกเป็น โรคปวดศีรษะปฐมภูมิ เช่น โรคปวดศีรษะชนิดตึงตัว ไมเกรน ปวดศีรษะข้างเดียวหรือเป็นคลัสเตอร์ที่มีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ เป็นต้น และทุติยภูมิที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น บาดเจ็บที่ศีรษะและคอ โรคของเส้นประสาท สารเสพติด การติดเชื้อ เป็นต้น

  • โรคปวดศีรษะชนิดตึงตัว (tension headache)
    การรักษา: ให้นวดกล้ามเนื้อ ประคบด้วยถุงน้ำร้อนหรือน้ำแข็งที่บริเวณคอ
  • ไมเกรน (migraine)serotonin มีบทบาทในกลไกการเกิดโรค เกือบร้อยละ 70 ดีขึ้นชัดเจนขณะตั้งครรภ์ แต่อย่างไรก็ตามพบว่ามีผู้ป่วยเริ่มเป็นครั้งแรกขณะตั้งครรภ์ถึงร้อยละ 15 ของผู้ป่วยไมเกรน ถ้าเป็นตั้งแต่อายุครรภ์ 8 สัปดาห์แรก จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด limb reduction defect ของทารกในครรภ์
    การรักษา: ได้ผลด้วยยาแก้ปวดธรรมดาเช่น แอสไพริน อะเซตามิโนเฟน และอาจให้ยาแก้อาเจียน ในรายรุนแรงมาก ๆ หรือต้องให้ codeine หรือ meperidine ร่วมกับ promethazine  ยากลุ่ม ergotamine ทำให้หลอดเลือดตีบตัวอย่างรุนแรง จึงไม่แนะนำให้ใช้ในระหว่างตั้งครรภ์  แต่ให้ใช้ยา sumatriptan  (serotonin  agonist)  ช่วยในการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาเส้นเลือดในสมองให้หดรักตัว ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน และปวดศีรษะได้ดี  ในรายที่เป็นบ่อยๆ แนะนำให้ป้องกันด้วย  amitriptyline 10-150 มก.ต่อวัน, propranolol 20-80 มก.วันละ 3 ครั้ง หรือ atenolol 50-100 มก.ต่อวัน

โรคลมชัก (epilepsy) (2,3)

ในระหว่างการตั้งครรภ์พบโรคลมชักได้ไม่น้อย และจำเป็นต้องให้การรักษาไม่ให้มีอาการชักเพราะมีผลเสียทั้งต่อมารดาและทารก  มีความชุกขณะตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ  0.4-0.8  ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่พบร้อยละ 0.15 ของการคลอด(4)

ผลของการตั้งครรภ์ต่อโรคลมชัก

การตั้งครรภ์ไม่มีผลต่อการดำเนินโรคโดยตรง   การดำเนินโรคมักจะทำนายได้จากความถี่ของการชักก่อนการตั้งครรภ์  สตรีที่ชักมาอย่างน้อยทุก ๆ เดือนทั้งที่ได้รับยาเหมาะสม  เกือบทั้งหมดจะมีการชักระหว่างการตั้งครรภ์ ระยะเวลาที่ควบคุมมาได้ยิ่งนานเท่าใดพยากรณ์ก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น โดยทั่วไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง มีอาการคงเดิม 1/4 มีอาการดีขึ้น และ 1/4 อาการเลวลง ซึ่งมักจะเป็นรายที่โรครุนแรงอยู่แล้วก่อนตั้งครรภ์

ในขณะตั้งครรภ์อาจชักบ่อยขึ้น เนื่องจากปริมาณยาที่ได้รับไม่เพียงพอ จากอาการคลื่นไส้อาเจียน  ไม่กล้ากินยามากกลัวอันตรายกับลูก หรืออาจเป็นผลจากยาถูกขจัดออกเร็วขึ้น  เนื่องจากการตั้งครรภ์เร่งการสร้างเอนไซม์ใน microsome ของเซลล์ตับ ทำให้เมตาบอลิซึมของยาเปลี่ยนไป เช่น phenytoin ถูกขจัดออกเร็วกว่าปกติ

ผลของโรคต่อการตั้งครรภ์(5)

PIH คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักคลอดน้อย พิการโดยกำเนิด การตายปริกำเนิด และการผ่าตัดคลอดมากขึ้น ทารกมีอัตราการชัก cerebral palsy และปัญญาอ่อน มากขึ้น

  • ผลต่อมารดา

โดยทั่วไปไม่มีผลอันตรายต่อมารดามากไปกว่ารายที่ไม่ได้ตั้งครรภ์  การเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดและการแท้งไม่เพิ่มขึ้น ยากันชักส่วนใหญ่มีฤทธิ์ต้านโฟเลต ทำให้เกิด  megaloblastic anemia และยังกระตุ้นเอนไซม์จากตับในการทำลายปัจจัยการแข็งตัวของเลือดที่อาศัยวิตามินเค จึงเพิ่มความเสี่ยงทางอ้อมต่อการตกเลือดได้

  • ผลต่อทารก
  1. อัตราตายปริกำเนิดสูงขึ้นในมารดาที่เป็นโรคลมชัก
  2. มีความเสี่ยงต่อการโตช้าในครรภ์สูงขึ้น
  3. ทารกมีการแข็งตัวของเลือดบกพร่อง (factor II, VII, IX, และ X) ได้บ่อยขึ้นในมารดาที่ได้ยากันชัก (hydantoin หรือ phenobarbital) แต่แก้ไขได้ด้วยการให้วิตามินเคแก่มารดาก่อนคลอด
  4. ความเสี่ยงต่อความพิการโดยกำเนิดสูงขึ้น 3 เท่า (จากร้อยละ 3 เป็น 14) ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มที่ได้รับยากันชักและไม่ได้รับ  แต่กลุ่มที่ได้รับยากันชักมีความเสี่ยงสูงกว่า  ยิ่งได้ยาหลายตัวยิ่งเพิ่มความเสี่ยง 
    • valproic acid เพิ่มความเสี่ยงต่อ neural tube defect (NTD) และ microcephaly  ได้สูงสุดถึง 4-8 เท่า
    • phenytoin เพิ่มความเสี่ยงต่อความพิการเล็กน้อยของหน้า ศีรษะ และนิ้ว แต่ไม่เพิ่มความพิการใหญ่ ๆ หรือปัญญาอ่อน  แต่อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า phenytoin syndrome คือ  มีความผิดปกติของศีรษะใบหน้า ร่วมกับความบกพร่องทางจิตใจ ยาทำให้ปัจจัยแข็งตัวของเลือดที่ใช้วิตามินเคในทารกบกพร่องไปด้วย จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อเลือดออกในทารกแรกคลอด
    • trimethadone ทำให้ทารกพิการได้มากกว่า  phenytoin  
    • carbamazepine อาจมีผลความพิการเช่นเดียวกับ phenytoin (รวมทั้ง NTD ด้วย) แต่ไม่รุนแรงเท่า จึงมักแนะนำให้ใช้เป็นยา first-line โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่วินิจฉัยครั้งแรกขณะตั้งครรภ์

ยาใหม่ที่ใช้ในปัจจุบันอื่น ๆ  ได้แก่ Lamotrigrine  และ Levetiracetam ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเพียงเล็กน้อย

การวินิจฉัย  อาศัยประวัติการตรวจร่างกาย การตรวจค้นพิเศษที่จำเป็นเช่น EEG, และ ควรทำ  CT scan  เพื่อแยกความผิดปกติอื่น ๆ  ของสมองออกไป  ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยมาก่อนการตั้งครรภ์ การชักครั้งแรกควรปรึกษา neurologist ด้วยเสมอ

การดูแลรักษา  แบ่งออกเป็นระยะต่างๆ ดังนี้คือ

ระยะก่อนการตั้งครรภ์

  • วางแผนตั้งครรภ์เมื่ออาการสงบไม่ชักต่อเนื่องนานกว่า 2 ปี ควรพิจารณาถึงความจำเป็นในการให้ยาต่อ แต่ไม่ควรเริ่มหยุดในขณะตั้งครรภ์ แต่ควรใช้ยาตัวเดียวในขนาดต่ำสุดที่ควบคุมโรคได้
  • ให้คำปรึกษาก่อนการตั้งครรภ์ : เกี่ยวกับความเสี่ยง ยุทธวิธีในการลดความเสี่ยง และความเสี่ยงจากการใช้ยา
  • ให้กรดโฟลิก 4 มก./วัน เพื่อลดการเกิด neural tube defect ในคนที่ได้รับยากันชักตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย เดือนจนถึงอายุครรภ์ 3 เดือน

ระยะตั้งครรภ์และระยะคลอด

  • ในไตรมาสแรกควรเปลี่ยนมาใช้ยาที่มีอันตรายน้อย  เช่น phenobarbital หรือใช้ยากันชักเพียงตัวเดียว
  • ตรวจวัดระดับฮีโมโกลบินและการแข็งตัวของเลือดเป็นระยะ
  • ตรวจวัดระดับยากันชักเป็นระยะและปรับขนาดให้เหมาะสม
  • ตรวจระดับ alpha fetoprotein(AFP) ในช่วงอายุครรภ์ 14-16 สัปดาห์ เพื่อคัดกรองหาความผิดปกติของระบบประสาทและไขสันหลัง (neural tube defect, NTD)
  • ตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงดูความพิการของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะถ้าให้  valproic acid
  • อาจพิจารณาให้ วิตามินเค 10-20 มก.ต่อวัน ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนคลอดแก่สตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับยากันชักหลายตัว หรือดื่มสุราในช่วงตั้งครรภ์
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการชัก เช่น ใช้หัตถการช่วยคลอดเพื่อลดการเบ่งคลอด ให้ยาระงับปวดในช่วงเจ็บครรภ์

ระยะหลังคลอด

  • ระดับยากันชักมักจะสูงกว่าก่อนคลอด ควรตรวจวัดระดับยาและปรับให้เหมาะสม
  • แนะนำให้มารดาหลังคลอดได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ กินยาสม่ำเสมอ มีคนคอยดูแลมารดาและทารกหลังคลอดเพื่อป้องกันอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ของทารกในมารดาที่ชัก เช่น ชักขณะให้นมบุตร บุตรตกเตียง เป็นต้น
  • ประเมินทารกให้รอบคอบโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความพิการ ทารกอาจมีอาการ withdrawal  ของยาป้องกันชักได้ เช่น tremor ร้องเสียงสูง มีปัญหาในการดูดนม
  • ทารกสามารถดูดนมแม่ได้เพราะปริมาณยาในน้ำนมต่ำ
  • การคุมกำเนิด : อาจหลีกเลี่ยงการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด เนื่องจากยากลุ่ม phenobarbital, primidone, phenytoin, carbamazepine ชักนำเอ็นไซม์ hepatic P450 microsomal enzyme system ซึ่งเพิ่มเมตาบอลิซึมของเอสโตรเจน ทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดไม่ดี   แต่ ACOG ก็ยังแนะนำว่าให้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดมีเอสโตรเจน  50 มคก.ได้ ในรายที่กินยาป้องกันชัก ยาเม็ดคุมกำเนิดไม่ทำให้การชักกำเริบ

โรคหลอดเลือดสมอง (cerebrovascular disease,CVD)(1)

ในสตรีตั้งครรภ์พบได้ค่อนข้างน้อย แต่อันตรายสูง มีอัตราการตายของมารดาและทารกสูงมาก การดูแลรักษาต้องคำนึงถึงสาเหตุของโรคที่แอบแฝงอยู่ด้วยเสมอ  CVD ที่พบบ่อยๆ ได้แก่ เลือดออกในสมอง  (hemorrhagic stroke) และการอุดตันในสมอง (ischemic stroke) ซึ่งพบได้เท่า ๆ กัน

  • เลือดออกในสมอง(hemorrhagic stroke)aneurysm หรือ arteriovenous malformation (AVM) แบ่งออกเป็น เลือดออกในเนื้อสมอง ซึ่งรุนแรงกว่าเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง การวินิจฉัยและการรักษาให้พิจารณาทำนองเดียวกับคนที่ไม่ตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามเลือดออกในสมองมักจะมีโรคแทรกซ้อนรุนแรงแอบ แฝงอยู่ด้วย อัตราการตายของมารดาและทารกสูงมาก
           สำหรับ aneurysm และ AVM นั้น  ถ้าได้รับการวินิจฉัยเมื่อใดก็ควรได้รับการผ่าตัดโดยเร็วโดยไม่ต้องคำนึงถึงอายุครรภ์ พบว่าการผ่าตัดก่อนแตกมักปลอดภัยทั้งต่อมารดาและทารก โดยทั่วไปแล้ว aneurysm  มักจะแตกในไตรมาสที่สาม โดยเฉพาะตอนใกล้กำหนดคลอด ในขณะที่ AVM มักจะแตกในไตรมาสที่สองและขณะเจ็บครรภ์คลอดหรือหลังคลอด พบว่าร้อยละ 10  มีการแตกครั้งแรกขณะตั้งครรภ์ รายที่ยังไม่ได้รับการผ่าตัดอาจเหมาะสำหรับการผ่าตัดทำคลอด  เพื่อหลีกเลี่ยงการแตกขณะเบ่งคลอด
  • เลือดอุดตันในสมอง(ischemic stroke) premature atherosclerosis มักมีเบาหวาน ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง  hyperlipidemia หรือประวัติสูบบุหรี่บ่อย ๆ preeclampsia  ลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำในสมอง หรือลิ่มเลือดหลุดลอย (cerebral embolism) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากหัวใจ โดยอาจเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ  หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง atrial fibrillation กรณีลิ้นหัวใจรูห์มาติค   พบในช่วงหลังคลอดบ่อยกว่าระยะก่อนคลอด พบในชาวตะวันตกมากกว่าชาวตะวันออก  ใน eclampsia The reversible cerebral vasoconstriction syndrome หรือ postpartum angiopathy
           การวินิจฉัยและการรักษาให้พิจารณาในทำนองเดียวกับคนไม่ตั้งครรภ์ อาจพิจารณาให้ heparin ซึ่งปัจจุบันแนะนำให้ใช้ low molecular weight heparin   แต่ต้องระมัดระวังอย่างมาก รายที่ไม่รุนแรงนักอาจให้แค่การรักษาแบบประคับประคอง  ให้ยาป้องกันชักในรายที่มีการชักหรือเกร็ง  ในรายที่มีก้อนเลือดใหญ่จะต้องผ่าตัด

 ตารางที่ 1  แสดง cerebrovascular disease ชนิดต่าง ๆ(1)

{tabulizer:style[gr.alterora.elemental_1_blue.css]}

ความผิดปกติ

ตำแหน่งที่เกิด

ลักษณะสำคัญ

Hemorrhagic stroke
Intracerebral hemorrhage Midbrain and hind brain
  • เกิดใน CHT ที่มี PAH, AVM, Charcot-Bouchard microaneurysms (เกิดบริเวณแขนงสาขาของ middle cerebral artery)
Subarachnoid hemorrhage

  • Aneurysm
  • Arteriovenous malformation
Circles of Willis
  • เกิดใน AVM, Berry aneurysms, angiopathies, venous thrombosis, infection เป็นต้น
  • Aneurysm พบบ่อย เกิดในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์
  • รักษาด้วยการผ่าตัด
Ischemic stroke
Arterial thrombosis Internal carotid artery
  • สัมพันธ์กับ atherosclerosis
  • ตรวจ lipid profile, antiphospholipid antibodies
  • รักษาด้วย Thrombolytic therapy
 Venous thrombosis Lateral or superior sagittal venous sinus
  • เกิดช่วงหลังคลอด
  • สัมพันธ์กับ eclampsia, sepsis, thrombophilia
  • รักษาด้วย anticonvulsant และ anticoagulant
 Cerebral Embolism Middle  cerebral artery
  • สัมพันธ์กับ patent foramen ovale, arrhythmia (AF, rheumatic valve damage หรือ mitral valve prolapse)
  • รักษาด้วย antiplatelet therapy

PAH; pregnancy aggravated hypertension, AVM; arteriovenous malformation

Myasthenia Gravis(1-3)

Myasthenia  gravis เป็นโรคออโตอิมมูนที่มีแอนติบอดีย์ต่อ acetylcholine receptors  ของกล้ามเนื้อลาย  มีความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อตา กล้ามเนื้อใบหน้า oropharynx  กล้ามเนื้อแขนขาก็มีได้แต่น้อยกว่า  ส่วนกล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อมดลูกเป็นปกติ ไม่ทำให้การเจ็บครรภ์ยืดเยื้อ  และมดลูกหดรัดตัวหลังคลอดดี และเข้าอู่ตามปกติ ความชุก 1 ต่อ 10,000 เป็นในสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีแอนติเจน HLA-B8 ได้บ่อยกว่าทั่วไป มี thymic hyperplasia หรือ thymoma ประมาณร้อยละ 75 รักษาด้วยยากลุ่ม pyridostigmine

ผลของการตั้งครรภ์ต่อการดำเนินโรค

  • การดำเนินโรคแน่นอน มีทั้งดีขึ้นและเลวลง หรือไม่เปลี่ยนแปลง แต่ระยะหลังคลอดโรคเลวลงได้บ่อย ๆ ถ้าโรคสงบอยู่ตอนเริ่มตั้งครรภ์ก็มักจะสงบไปตลอดการตั้งครรภ์
  • มดลูกขนาดใหญ่อาจทำให้หายใจลำบากและเหนื่อยได้ง่ายกว่าคนตั้งครรภ์ทั่วไป

ผลของโรคต่อการตั้งครรภ์

  • โดยทั่วไปมีผลต่อมารดาน้อย
  • ทารกอาจเกิด neonatal myasthenia gravis ได้ ซึ่งจะเป็นอยู่ชั่วคราว  เกิดจากแอนติบอดีย์ ในมารดาผ่านรกไปมีผลต่อกล้ามเนื้อทารก  ซึ่งอาจมีอาการร้องเบา  ดูดนมลำบาก  กล้ามเนื้ออ่อนแรง Moro reflex อ่อน เนื้อตัวอ่อนปวกเปียก ทดสอบได้ด้วยการฉีด neostigmine 0.1 มก.  เข้าใต้ผิวหนัง แล้วอาการดีขึ้นทันที อย่างไรก็ตามทารกเหล่านี้มักต้องให้ anticholinesterase บางรายต้องช่วยการหายใจ ภาวะนี้จะหายไปได้เองภายใน 2-6 สัปดาห์

การวินิจฉัย

อาศัยอาการและอาการแสดงที่ชวนให้สงสัย การตรวจ electromyography และ  ตรวจหาแอนติบอดีย์ต่อ acetylcholine receptor ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัย

การดูแลรักษา

ระยะก่อนคลอด

  • สตรีอายุน้อยที่อ่อนแรงทั่วร่างกาย แนะนำให้ทำ thymectomy ในระยะแรก ๆของโรค
  • ควรให้โรคสงบอย่างน้อยหนึ่งปีก่อนแล้วจึงตั้งครรภ์ เมื่อต้องการตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ cyclophosphamide
  • รักษาด้วย pyridostigmine และ neostigmine ให้ทุก 3-4 ชั่วโมง
  • สำหรับ  plasmapheresis ร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันอื่น ๆ เช่น cyclosporine ควรสงวนไว้ใช้ในรายที่ไม่ตอบสนองด้วยสเตียรอยด์ ส่วน cyclophosphamide เลือกใช้ในรายที่ดื้อจริง ๆ

ระยะคลอด

  • ระยะคลอด มดลูกหดรัดตัวได้ตามปกติแต่ในระยะที่สองการเบ่งอาจไม่ดี เพราะกล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแรง อาจต้องช่วยคลอดด้วยคีมหรือเครื่องดูดสูญญากาศ
  • ในการคลอดนิยมให้ regional anesthesia ถ้าต้องดมยาสลบควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ(muscle relaxant)

ระยะหลังคลอด

  • ระวังการกำเริบซ้ำของโรค และเฝ้าสังเกตอาการของทารกแรกคลอด มารดาที่ได้รับยา pyridostigmine อนุญาตให้เลี้ยงลูกด้วยนมมารดาได้
  • ห้ามใช้ แมกนีเซียมซัลเฟต เพราะระดับแมกนีเซียมสูง ๆ จากการรักษา severe PIH มีผลยับยั้งการปล่อย acetylcholine ในผู้ป่วย myasthenia gravis อาจทำให้ผู้ป่วยเป็นลมและหยุดหายใจได้
  • ระวังยาที่อาจทำให้โรคกำเริบ(curare-like effect) ได้แก่ aminoglycosides(gentamicin) , narcotics, magnesium  sulfate, lithium, quinidine, chloroprocaine, tetracaine, succinylcholine และ curare

อัมพาตจากไขสันหลัง(paralysis) (6)

สตรีที่มี  paraplegia หรือแม้แต่ quadriplegia  ก็สามารถประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้แต่ต้องระวังและหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดโดย เฉพาะการกลั้นปัสสาวะไม่ได้และการติดเชื้อซึ่งเพิ่มมากขึ้นต้องดูแลสายสวนปัสสาวะอย่างระมัดระวัง  ทำปัสสาวะให้เป็นกรดด้วยวิตามินซี  อาจให้กิน 500 มก. 4 ครั้ง/วัน เลือกอาหารมีกาก ให้ stool softeners  และการได้สารน้ำที่เพียงพอจะช่วยป้องกันท้องผูก  ระวังการเกิดแผลกดทับและการหายของแผลไม่ดี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่ซีด  ซึ่งอาจจำเป็นต้องให้เลือด

  • ปัญหาที่เจอได้บ่อย คือ autonomic hyperreflexia  (ในรายสูงกว่า T5-6) จะเกิดในระยะคลอดจากการกระตุ้นปากมดลูก ช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะ หรือขณะมดลูกหดรัดตัว หรือ ทำให้ระบบประสาทซิมพาเธติกที่ระดับต่ำกว่าพยาธิสภาพทำงานผิดปกติ จะทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ(cardiac arrhythmia)  ความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง  เส้นเลือดที่ไหลเวียนจากมดลูกมายังรกมีการหดรัดตัวทำให้เด็กขาดออกซิเจนได้
  • ระดับของพยาธิสภาพที่ไขสันหลังอาจมีผลต่อการคลอด เช่น รายมีพยาธิสภาพที่ cauda equina กล้ามเนื้อแถวฝีเย็บจะหย่อน  แต่รู้สึกเจ็บครรภ์เพราะประสาทรับความรู้สึกของมดลูกเข้าสู่ไขสันหลังที่  T11  และ T12  ถ้าพยาธิสภาพเหนือ T11จะไม่ปวดจากการหดรัดตัวของมดลูก ปัญหาคลอดก่อนกำหนดได้
  • แนะนำให้ตรวจครรภ์ทุกสัปดาห์ ตั้งแต่อายุครรภ์ 28  สัปดาห์ และรับไว้ในโรงพยาบาลเร็ว  การหดรัดตัวของมดลูกมีได้ตามปกติ และคลอดได้ง่าย ไม่ค่อยปวด
  • บางรายอาจต้องตรวจภายในประเมินปากมดลูกสัปดาห์ละครั้งในช่วงใกล้คลอด
  • ในรายที่เสี่ยงต่อ autonomic hyperreflexia  ควรระงับปวดด้วย epidural anesthesia โดยให้ถึงไขสันหลังระดับ T10 และอาจต้องใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อลดการกระตุ้นต่อกระเพาะปัสสาวะ
  • แนะนำให้คลอดทางช่องคลอด และมักต้องทำหัตถการช่วยคลอดเนื่องจากปัญหาไม่มีแรงเบ่ง การผ่าตัดทำคลอดถือไปตามข้อบ่งชี้ทางสูติกรรม แผลฝีเย็บควรซ่อมด้วยไหมหรือไนล่อน ส่วน catgut จะดูดซึมได้ไม่ดี สามารถให้นมบุตรได้ การหลั่งน้ำนมยังคงปกติ

 เนื้องอกสมอง(cerebral tumor) (1)          

เนื้องอกสมองบางอย่างขยายใหญ่ขึ้นขณะตั้งครรภ์และฝ่อลงหลังคลอด  (อย่างน้อยก็ชั่วคราว)เช่น meningiomas, neurofibromas และเนื้องอกอื่น ๆ เชื่อว่ามี estrogen receptors อยู่ เนื้องอกส่วนมากมีอาการในครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ภาวะน้ำคั่งในระวห่างการตั้งครรภ์ทำให้อาการเป็นมากขึ้น ก้อนจะโตและมีเส้นเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น ประมาณ 1 ใน 3  ของผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างการตั้งครรภ์  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  malignant gliomas, choroid plexus papillomas และ ส่วนมากของเนื้องอกใต้ต่อ tentorium (ยกเว้น acoustic neuromas) อาจเกิด tentorial herniation ได้ในระยะคลอด

เนื้องอกอันตรายมักจำเป็นต้องผ่าตัดระหว่างการตั้งครรภ์ เนื้องอกชนิด benign (มักเป็น meningioma และ acoustic neuromas) อาจรอผ่าตัดได้หลายสัปดาห์หลังคลอด  ซึ่งเป็นขณะที่ขนาดเนื้องอกเล็กลงและ field ผ่าตัดแห้งกว่า บางรายอาจบรรเทาอาการด้วยการใช้ยากันชักหรือสเตียร์รอยด์  ข้อบ่งชี้สำหรับการทำแท้งเพื่อการรักษาที่ยอมรับกัน คือ  ความดันสูงในกระโหลกศีรษะ ชักที่ควบคุมไม่ได้ มีความผิดปกติทางสายตา สตรีที่เป็น glioma ส่วนมากเลือกยุติการตั้งครรภ์

Prolactinoma

ต่อมใต้สมองและ  prolactinoma บวมขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์  มีอาการหรือไม่แล้วแต่ขนาดของเนื้องอก มีเพียงร้อยละ 5 ของ microadenoma (< 1 ซม.) และร้อยละ 15 ของ macroadenoma ที่จะโตขึ้นจากการตั้งครรภ์  ปกติแล้วจะเกิดปวดศีรษะในครึ่งแรกของการตั้งครรภ์นำมาก่อนการผิดปกติทางสายตาอย่างน้อย 1 เดือน macroadenoma ทำให้การหลั่งฮอร์โมนอื่น ๆ บกพร่องไปได้ เนื้องอกขนาดใหญ่มักได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดก่อนชักนำให้ตกไข่ด้วย bromocriptine แต่การรักษาเหล่านี้มิได้หายขาด จึงควรติดตามการตรวจลานสายตาระหว่างการตั้งครรภ์ ตรวจ CT scan ซ้ำเมื่อมีอาการ การวัด prolactin  เป็นระยะ  ๆ มักไม่มีประโยชน์ เพราะการตั้งครรภ์ปกติก็มีระดับสูงอยู่แล้ว  ความผิดปกติทางสายตาในระยะเริ่มแรกอาจติดตามอย่างใกล้ชิด หรือรักษาด้วย bromocriptine ซึ่งจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ถ้ามี  visual acquity  ต่ำกว่า 20/50,000 จะต้องให้การรักษา  ถ้าทารกรอดชีวิตแล้วอาจต้องทำให้สิ้นสุดการตั้งครรภ์  ในรายที่ไม่ดีขึ้นด้วย bromocriptine หรือตาบอดฉับพลัน ก็ต้องผ่าตัด  macroadenoma อาจโตขึ้นได้ในระยะให้นมบุตร

ความผิดปกติอื่น ๆ ของระบบประสาท(1,2,7-10)

ตะคริวที่ขา

พบได้ประมาณหนึ่งในสี่ของสตรีในครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ซึ่งอาจเจ็บปวดมากน้อยได้หลายระดับ มักเป็นตอนกลางคืน  หรือตอนเริ่มเคลื่อนขยับจะลุกตื่น มักเป็นกับกล้ามเนื้อน่อง  แต่ที่ต้นขาหรือกล้ามเนื้อสะโพกก็พบได้ สาเหตุของการหดเกร็งกล้ามเนื้อนี้ยังไม่เข้าใจกันชัดเจน ยากที่จะป้องกันได้ การรักษาที่แนะนำกันคือ ให้รับประทานแคลเซี่ยมเสริม ดื่มนมมาก ๆ  นอกจากนี้ความบกพร่องของต่อมธัยรอยด์  และระดับแมกนีเซียมต่ำอาจเป็นสาเหตุให้เกิดกล้ามเนื้อหดเกร็ง หรือทำให้เลวลงได้

Restless Leg Syndrome

พบได้ร้อยละ 10 ของสตรีตั้งครรภ์ มีอาการปวดร้อนที่ขา มีความรู้สึกเหมือนหนอนไต่  มักเป็นตอนหลังเข้านอน 10-20 นาที แต่ขณะนั่งนานๆก็พบได้แต่จะเกิดเพียงอาการเล็กน้อย การเดินอาจช่วยได้  มักเข้าใจผิดว่าเป็นตะคริว ไม่ทราบสาเหตุ การให้กรดโฟลิคอาจลดภาวะนี้ได้  สตรีที่ขาดเหล็กบางคนดีขึ้นเมื่อแก้ไขภาวะซีด ในรายรุนแรงอาจต้องใช้ยากล่อมประสาทขนาดต่ำ ๆ ช่วย

Chorea gravidarum

เป็นความเคลื่นไหวที่ผิดปกติแบบต่อเนื่องและไม่เป็นจังหวะและไม่มีแบบแผนที่แน่นอน  เกิดระหว่างการตั้งครรภ์ เกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย อาจเกิดครั้งแรกในช่วงตั้งครรภ์ พบบ่อยในช่วงเดือนที่ 2 -5  มักมีสาเหตุจากไข้รูห์มาติก ธัยรอยด์เป็นพิษ antiphospholipid syndrome Wilson’s disease หรือจากสารพาตกค้าง ต่าง ๆ  อาการต่าง ๆ มักหายได้เอง อาจนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน

 Myotonic Muscular Dystrophy

เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบ autosomal dominant มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อคอ หน้าและปลายมือปลายเท้า และมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อมดลูกอาจฝ่อได้  ทำให้การเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารช้า และการคลอดยืดเยื้อได้ ความอ่อนแรงอาจเลวลงขณะตั้งครรภ์ ถ้ามีอาการเกิดขึ้นอาจต้องใช้  phenytoin อาจเพิ่มการแท้งเอง แท้งอาจิณ  คลอดก่อนกำหนด  การตกเลือดหลัง คลอดเกิดจากมดลูกหดตัวไม่ดี แต่ใน myotonia congenita มีการหดรัดตัวของมดลูกแรง ทารกในมารดาที่เป็นโรคนี้อยู่โดยแม้ไม่มีอาการอาจเป็น myotonic muscular dystrophyอย่างรุนแรงได้ อาจมี polyhydramnios จากการที่ทารกกลืนน้ำคร่ำได้ไม่ดี และเพิ่มการตายของทารกแรกคลอดเนื่องจาก respiratory distress และมีปัญหาการให้อาหาร

ก่อนคลอดควรเช็คว่ามารดามีปัญหาในระบบทางเดินหายใจหรือไม่ การใช้ succinylcholine อาจทำให้เกิด spasms รุนแรงและ hyperthermia ส่วนยากลุ่ม curariform สามารถใช้ได้

Polymyositis

เป็นโรคอักเสบของกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นกับแขนขาส่วนบน และกล้ามเนื้อลำตัวเป็นหลัก  อาจเกิดที่ผิวหนังร่วมด้วย polymyositis ในวัยเจริญพันธุ์สัมพันธ์กับโรคทางคอลลาเจนได้บ่อย รักษาด้วยคอร์ติโคสเตียรอยด์ขนาดสูง ๆ การใช้ azathioprine และ cyclophosphamide สงวนไว้ใช้ในรายรุนแรงมากและควรหลีกเลี่ยงในสตรีตั้งครรภ์   และถ้าโรค  active  จะเพิ่มการสูญเสียทารกแต่ไม่พบ  polymyositis หรือ dermatomyositis เกิดแก่ทารกแรกคลอดที่รอดชีวิต

Carpal Tunnel Syndrome

เกิดจากการที่ median  nerve  ใน  carpal tunnel ถูกรัด ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการบวมขณะตั้งครรภ์ มีอาการชา ปวด บริเวณนิ้วชี้ นิ้วกลาง  และนิ้วนาง มักเป็นตอนกลางคืน  ถ้าเป็นมากอาจมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ thenar ร้อยละ 80  จะเป็นสองข้าง ควรแยกจาก De  Quervain  tendinitis ซึ่งเกิดจากการบวมของ  conjoined  tendons  และ sheaths ใกล้กับปลายเรเดียส

การวินิจฉัย     จากอาการและอาการแสดงดังกล่าว ความรู้สึกตามแนวของ median  nerve ลดลง หรืออ่อนแรงลงด้วย และถ้าเคาะ median nerve ที่ข้อมือจะชาที่ส่วนปลายนิ้ว (Tinel’s sign) ถ้างอพับข้อมือสักครู่จะมีอาการมากขึ้น (Phelen’s maneuver)

การรักษา       อาการจะดีขึ้นและหายไปเองใน 3 เดือน ให้รักษาตามอาการ อาจใส่สพลิ้นท์ท่างอข้อมือเล็กน้อย เช่น ขณะนอน ซึ่งมักจะช่วยบรรเทาอาการได้ดี การผ่าตัดทำแยก  trans carpal ligament เพื่อบรรเทาอาการ จะพิจารณาทำในรายมีการอ่อนแรงของ abductor  pollicis brevis และ opponens pollicis

Guillain-Barre’ syndrome(Acute inflammatory demyelinating olyradiculoneuropathy,AIDP)

เป็น demyelinating polyneuropathy ชนิดอักเสบเฉียบพลัน สัมพันธ์กับการติดเชื้อ จะเกิดภายใน 30 วันหลังได้รับเชื้อ  มีลักษณะคือ รีเฟลกซ์หายไป กล้ามเนื้อแขนขาและหน้าอ่อนแรงแบบสมมาตร สูญเสียการรับรู้ทางประสาทสัมผัส  และอาการทางประสาทอัตโนมัติ อาจมีอัมพาตในการหายใจและการกลืน  การควบคุมปัสสาวะมักปกติ อาการมักจะเลวลงเป็นเวลา 1-4  สัปดาห์ก่อน  แล้วดีขึ้นเอง การทำ plasmapheresis ใน 10 วันแรก  หลังเริ่มมีอาการอ่อนแรงจะช่วยให้ฟื้นเร็ว ผู้ป่วยอายุน้อยมักกลับมาปกติสมบูรณ์ดังเดิม ปัญหาสำคัญคือการหายใจไม่ได้ พบบ่อยในระยะหลังคลอดถึง 3 เท่า

ผลของการตั้งครรภ์ต่อโรค     การตั้งครรภ์ไม่ทำให้การดำเนินโรคเปลี่ยนแปลง แต่อาจกระทบกระเทือนต่อการควบคุมการถ่ายปัสสาวะและการหายใจบ้าง

ผลของโรคต่อการตั้งครรภ์     การคลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้นได้ในรายรุนแรง แต่การแท้งไม่เพิ่มขึ้น  โรคไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อการหดรัดตัวของมดลูก ทารกไม่มีอาการของ Guillain-Barre’ syndrome

การรักษา  plasmapheresis หรือ immune globulin ใช้รักษาในระยะแรก ๆ ของโรค ป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง  ๆ ด้วยการเฝ้าสังเกตผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด (ทั้งแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด)  การรักษาด้วยสเตียรอยด์ มักสงวนไว้ใช้ในรายไม่ดีขึ้นหลังเริ่มอ่อนแรง 4-6 สัปดาห์ อนุญาตให้เลี้ยงลูกด้วยนมมารดา

Gestational Polyneuropathy

มีอาการชาหรือเจ็บปลายมือปลายเท้า ถ้าเป็นมากอาจสูญเสียประสาทสัมผัสความรู้สึก  แขนขาอ่อนแรงและรีเฟลกซ์หายไป อาจเกิดจากการขาด thiamine ในกลุ่มติดแอลกอฮอล์ แพ้ท้องรุนแรง เบาหวาน  และอาจสัมพันธ์ กับ Wernicke’s encephalopathy   รักษาด้วยการให้อาหารและวิตามินเสริมอย่างเพียงพอ   ถ้ามี Wernicke’s encephalopathy ควรให้ thiamine แบบฉีดอย่างน้อย 1 สัปดาห์

Bell’s Palsy

เป็นอัมพาตชนิด  lower motor neurone ของเส้นประสาทคู่ที่ 7  มักเกิดฉับพลัน ภายใน 48 ชั่วโมง และเป็นข้างเดียว ทำให้อ่อนแรงของบริเวณหน้า หนังตาบน มุมปากล่าง ปากเบี้ยว กลืนลำบาก พูดไม่ชัด พบไม่บ่อย แต่พบคนตั้งครรภ์มากกว่าคนไม่ตั้งครรภ์ 4 เท่า พบบ่อยในไตรมาสที่สามคือร้อยละ 75  ในรายที่มีการติดเชื้อไวรัส เช่น  Herpes หรือ HIV-1  มีโอกาสเป็นได้ง่ายขึ้น   ในคนที่เป็น bell palsy อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด gestational hypertension    มีพยากรณ์โรคดี มักหายเองอย่างสมบูรณ์ภายใน 6 สัปดาห์หลังคลอด มีโอกาสกลับเป็นซ้ำในครรภ์ต่อไป   การให้สเตียรอยด์ขนาดสูงในระยะสั้น ๆ ใช้ในรายที่กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงมาก

Meralgia Paresthetica

เป็นอาการปวดชาตามด้านนอกของต้นขาเกิดจาก  lateral femoral cutaneous nerve  ถูกรัดขณะที่ลอดผ่าน inguinal ligament ความอ้วนและการเพิ่มน้ำหนักอย่างรวดเร็วของการตั้งครรภ์  เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดภาวะนี้ มักเป็นในไตรมาสที่สาม ค่อยๆหายไปเองหลังคลอด ไม่ต้องรักษา

Maternal Obstetric Palsy

เป็นอาการปวดชา หรืออ่อนแรงเนื่องจากเส้นประสาทถูกกดขณะมีการคลอดยาวนาน ปัญหาที่พบบ่อยที่สุด คืออาการ foot drop หลังคลอด เนื่องจาก lumbosacral trunk (L4,L5 roots) ถูกหน้าผากทารกกดต้านกับ sacral alar จะเกิดด้านตรงข้ามกับ occiput ของทารก ซึ่งอยู่ด้านหน้าของช่องเชิงกราน

  • footdrop  อาจเกิดจากการกด  common peroneal  nerve  ระหว่างที่จับขาของท่าขบนิ่วกับหัวfibula
  • obturator nerve อาจถูกกดได้ในระยะคลอด ทำให้มี adduction ของขาอ่อนแรงลง และรู้สึกชาแถวต้นขาด้านใน     พยากรณ์โรคดีมาก เพราะมีเพียงช้ำหรือฉีกขาด  myelin sheath ดีขึ้นชัดเจนหลังคลอด

Wilson’s Disease

เป็นโรคที่มี hepatolenticular degeneration เกิดจากความผิดปกติในเมตาบอลิซึมของทองแดงซึ่งเป็นมาโดยกำเนิด มักเป็นในช่วงอายุ 10-20 ปี เมื่อมีการนำ D-penicillamine  มารักษาทำให้ผู้ป่วยบางรายสามารถตั้งครรภ์ได้ และดำเนินการตั้งครรภ์ไปจนครบกำหนด และคลอดลูกปกติ

แนะนำให้รักษาโดยวิธีให้ chelation ด้วย D-penicillamine (0.5 กรัม) ร่วมกับวิตามินบี 6 (เพราะ D-penicillamine มีฤทธิ์ต้านวิตามินบี 6) ในระหว่างการตั้งครรภ์อาการดีขึ้น ถ้าวางแผนจะผ่าตัดทำคลอดทางหน้าท้องแนะนำให้ลดขนาดของ D-penicillamine ลงเป็น 0.25 กรัม เนื่องจากยาทำให้การหายของแผลไม่ดี สามารถให้นมบุตรได้ น้ำนมมีปริมาณทองแดงปกติ

Pseudotumor Cerebri

เป็นกลุ่มอาการจากการเพิ่มความดันในกระโหลกศีรษะโดยไม่มีก้อนเนื้องอกและhydrocephalus มักมีอาการเพียงปวดศีรษะอย่างเดียวซึ่งบางทีอาจตรวจพลาดได้ถ้าไม่ตรวจจอตาซึ่งจะพบ papilledemaอาการและอาการแสดงอย่างอื่น ได้แก่ มองไม่ชัด มองไม่เห็นภาพสี ลานสายตาบกพร่อง  มองเห็นภาพซ้อน มักพบในสตรีอ้วน อายุน้อย มักเริ่มเป็นขณะกึ่งการตั้งครรภ์ เป็นอยู่นาน 1-3 เดือน หายได้เอง บางรายไม่ดีขึ้นจนกว่าจะถึงหลังคลอด การเกิดซ้ำในครรภ์ต่อมาพบไม่บ่อย สตรีอ้วนที่เป็นภาวะนี้แล้วมาตั้งครรภ์ อาการมักจะเลวลง ไม่พบผลเสียต่อปริกำเนิด การดำเนินการคลอดเหมือนปกติ ไม่ห้ามการให้ยาชาทางไขสันหลัง

การวินิจฉัย     แยกพยาธิสภาพอื่นๆในสมองด้วย CT scan และการตรวจพบแรงดันน้ำไขสันหลังสูง ความเข้มข้นของโปรตีนใน CSF น้อยกว่า 20 มก/ 100 มล.

การรักษา       ระหว่างการตั้งครรภ์อาจต้องเจาะหลังหลาย ๆ ครั้ง หรือใช้ยากลุ่ม acetazolamide furosemide topiramate  หรือ   การใช้สเตียรอยด์   เพื่อลดความดันภายในช่องไขสันหลัง ในรายรุนแรง   จำกัดแคลอรี  กรณีที่ไม่ดีขึ้น มีความผิดปกติทางสายตา  ต้องพิจารณาทำ  lumboperitoneal shunt ป้องกันตาบอด ในรายมีอาการเล็กน้อยอาจเพียงติดตามสังเกตอาการโดยตรวจ ลานสายตาเป็นระยะ

Multiple Sclerosis (MS)

MS เป็น demyelinating disorder ที่พบได้บ่อยที่สุด ไม่ทราบสาเหตุ มีอาการสำคัญคือ สายตาไม่ดี  และมี optic neuritis ได้บ่อย นอกจากนั้นอาจมีอาการอื่น ๆ ได้แก่ ystagmus,  dysarthria, การรับรู้สั่นสะเทือนลดลง สั่นพริ้ว (intention tremor) แขนขาอ่อนแรง หดเกร็ง  กระเพาะปัสสาวะทำงานไม่ดี พบได้น้อยในคนตั้งครรภ์ ซึ่งการดำเนินโรคส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่แย่ลงได้ร้อยละ 10 อย่างไรก็ตามการกำเริบอาจเพิ่มขึ้นในช่วงหลังคลอดถึง 3 เท่า  แต่การให้นมบุตรไม่ทำให้โรคกำเริบหลังคลอดมากขึ้น

  • ในรายที่ไม่รุนแรง ไม่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์
  • ในรายที่มีปัญหาขับถ่ายปัสสาวะไม่ได้ ต้องระวังการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะควรตรวงเพาะเชื้อทุกเดือน
  • การตั้งครรภ์มีผลต่อการรักษา เพราะยาส่วนใหญ่ที่ใช้จัดเป็น teratogen เช่น methotrexate Cytoxan หรือ Interferon แต่ คอร์ติโคสเตียรอยด์ และ adenocorticotrophin(ACTH) สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย อาจเพียงช่วยลดความรุนแรงของการกำเริบ
  • ให้คลอดทางช่องคลอดตามปกติ แต่อาจเพิ่มโอกาสการทำหัตถการ เช่น ใช้คีมหรือเครื่องดูดสูญญากาศ
  • โอกาสที่ลูกจะเป็น multiple sclerosis ด้วยสูงขึ้นเป็น 15 เท่า

 การวินิจฉัย    อาศัยประวัติการตรวจร่างกาย และ MRI จะพบรอยโรคจำเพาะใน white  matter (plaque ของตำแหน่ง demyelination) กว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Cunningham FG, Leveno KJ, Bloom SL, Hauth JC, Rouse DJ, Spong CY. Williams Obstetrics 23rd ed. McGraw-Hill : New York, 2010: 1164-83
  2. Aminoff MJ. Neurologic disorders. In: Creasy RK,  Resnik R, Iams JD, editors. Creasy and Resnik’s Maternal-Fetal Medicine: Principles and Practice. 6th ed. Saunders Elsevier : Philadelphia, 2009:1089.
  3. Edmund F. Funai, Mark I. Evans and Charles J. Lockwood. High risk Obstetrics the requisites in Obstetrics and Gynecology. Mosby Elsevier. 2009
  4. Maternal-fetal medicine. สถิติประจำปี 2534-2554 หน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารก ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2554
  5. Borthen I, Gilhus NE. Pregnancy complications in patients with epilepsy. Curr Opin Obstet Gynecol. 2012 Feb 9 [Epub ahead of print].
  6. American College of Obstetricians and Gynecologists. ACOG Committee Opinion: Number 275, September 2002. Obstetric management of patients with spinal cord injuries. Obstet Gynecol. 2002;100(3):625.
  7. Cook SD, Troiano R, Bansil S, Dowling PC. Multiple sclerosis and pregnancy. Adv Neurol 1994; 64:83.
  8. Kalayjian L, Goodwin M. Nervous System & Autoimmune Disorders in Pregnancy. In: DeCherney AH, Nathan L, Goodwin TM, Laufer N, editors. Current Diagnosis & Treatment Obstetrics & Gynecology.10th ed. McGraw-Hill : New York, 2003.
  9. Mabie WC. Peripheral neuropathies during pregnancy. Clin Obstet Gynecol 2005; 48:57.
  10. Padua L, Aprile I, Caliandro P, et al. Symptoms and neurophysiological picture of carpal tunnel syndrome in pregnancy. Clin Neurophysiol 2001; 112:1946