คันตา ทำอย่างไรดี

คันตา ทำอย่างไรดี

โดย รศ.พญ.ประภัสสร ผาติกุลศิลา

อย่างน้อยคงมีสักครั้งที่ท่านหรือคนรู้จักของท่าน จะเอ่ยว่า”เป็นอะไรน้า….คันตาจริง ๆ”อาการคันตาเป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งอาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น แสบตา เคืองตา ตาแดง และบางครั้งก็มีเมือกหรือขี้ตาใส ๆ หรือข้น ๆ ออกมาด้วย

อาการเหล่านี้อาจเป็นประเดี๋ยวประด๋าวแล้วหายไป หรืออาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ก็ได้ การซื้อยาบางชนิดมาหยอดเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ อาจเป็นอันตรายถึงขั้นตาบอด

 

สาเหตุของอาการคันตาเกิดจากอะไรได้บ้าง

อาการคันตาส่วนมาก เป็นอาการแสดงของการแพ้ต่อสารอย่างใดอย่างหนึ่ง
เยื่อตาขาวเป็นเนื้อเยื่อที่เกิดอาการแพ้ได้ง่าย และจะมีการอักเสบ แดง และคันตา

สิ่งที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการแพ้ได้แก่

  1. ฝุ่นละออง  เกสรดอกไม้  ควันไฟ
  2. อาหารบางประเภท  เช่น  อาหารทะเล  เนื้อสัตว์  ไข่
  3. ยาต่าง ๆ ทั้งยาหยอดตา  ยารับประทาน และยาฉีด
  4. สารเคมี  เครื่องสำอาง
  5. เชื้อโรค  เช่นเชื้อแบคทีเรีย  เชื้อรา

ผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการแพ้ที่เยื่อบุตา ร่วมกับโรคแพ้ของอวัยวะอื่น เช่น เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ โรคหืด เป็นต้น

 

การวินิจฉัยโรค

จักษุแพทย์จะช่วยวินิจฉัยได้จากการซักประวัติ อาการ และจากการตรวจ ผู้ป่วยสามารถบอกแพทย์ได้ว่าตนแพ้อะไร เนื่องจากเมื่อได้รับสิ่งที่แพ้จะทำให้มีอาการมากขึ้น

 

การรักษา

ควรหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้แพ้ โดยการสวมแว่นกันแดด กันฝุ่น เป็นประจำ
ห้ามขยี้ตา เพราะจะทำให้อาการคันเป็นมากขึ้น และอาจติดเชื้อซ้ำซ้อนจากมือที่สกปรกได้
ไม่ควรใช้เครื่องสำอาง งดสูบบุหรี่ งดอาหารที่ทำให้แพ้
การสร้างภูมิต้านทานการแพ้ โดยฉีดสารที่แพ้เข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน ยังไม่เป็นที่นิยม เพราะค่าใช้จ่ายสูง และยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

 

การรักษาด้วยยา

ยารับประทาน แก้อาการคัน แก้แพ้ ตามแพทย์สั่ง
ยาหยอดตา ช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ได้ดี แต่ก็ไม่ทำให้หายขาด ตราบใดที่ร่างกายยังรับการกระตุ้นจากสิ่งที่ทำให้แพ้อยู่ ยาหยอดตามีหลายประเภท ต่างก็มีทั้งคุณและโทษ บางประเภทซื้อมาใช้เอง อาจเกิดผลข้างเคียงเป็นต้อหิน ต้อกระจก ร้ายแรงถึงขั้นตาบอดได้ ยาหยอดตาที่รักษาอาการแพ้ มีหลายกลุ่ม ได้แก่

  1. ยาต้านฮิสตามีน  มีทั้งชนิดไม่จำเพาะ  ราคาไม่แพง  และชนิดจำเพาะซึ่งเป็นยาใหม่ ขวดละประมาณสอง ร้อยบาท
  2. ยาแก้อักเสบชนิดที่เป็นคอร์ติโคสเตียรอยด์  มักบรรเทาอาการได้ดี  แต่อาจเกิดผลข้างเคียงเป็นต้อหิน ต้อกระจกได้
  3. ยาป้องกันการแตกตัวของเซลล์  กลไกการออกฤทธิ์เพื่อป้องกันการหลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการคัน แดง บวมของเนื้อเยื่อ  อาจต้องใช้เป็นประจำ จึงจะได้ผล
  4. ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่คอร์ติโคสเตียรอยด์  ไม่ค่อยนิยมนัก  ราคายังค่อนข้างสูง  แต่ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายแบบคอร์ติโคเสตียรอยด์
  5. ยาที่ออกฤทธิ์ได้หลายกลไก  เป็นยาใหม่  นิยมมากในต่างประเทศราคาขวดละสองสามร้อยบาท

อย่างไรก็ตาม  การใช้ยาเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ  หากรู้จักป้องกันตัวเองจากสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้  ก็จะสามารถควบคุมอาการได้ดี  และการซื้อยาหยอดตาใช้เองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์  อาจทำให้เกิดอันตรายได้มากกว่าโรคที่เป็นอยู่เสียอีก  เพื่อดวงตาอันมีค่าของท่าน  โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา……

thTH