ธนาคารดวงตา (CMU Eye Bank)

ธนาคารดวงตา CMU Eye Bank

สำนักงานธนาคารดวงตา ชั้น 12 อาคารสุจิณโณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น.   โทรศัพท์ 0-5393-6382 

พระราชดำรัส

“…ขณะที่มีชีวิตอยู่ เราสามารถบริจาคทานให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ เมื่อตายแล้ว การบริจาคต้องระงับไปแต่ยังมีสิ่งหนึ่งเหลืออยู่เป็นที่ต้องการเพราะเป็นประโยชน์แก่มนุษย์คือ ดวงตา เหตุใดเล่าเราจึงจะหวงแหนไว้ไม่บริจาคให้เป็นทานแก่คนเบื้องหลัง…”

สมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ

ความเป็นมา ธนาคารดวงตา CMU EYE BANK

รูปที่ 1 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
เสด็จเยี่ยมศูนย์ดวงตาภาค 10 สภากาชาดไทย ณ ที่ตั้งสำนักงาน เหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่

งานธนาคารดวงตาของภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น เริ่มมากว่า 30 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งต่อมาได้มีการจัดตั้งศูนย์ดวงตาภาคขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ดวงตาภาค 10 สภากาชาดไทย” ขึ้นเมื่อ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2540 ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหน้าที่ในการดำเนินการจัดหาและบริการดวงตา ตามเขตพื้นที่เหล่ากาชาดภาค 10 เพื่อสนับสนุนให้จักษุแพทย์ได้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาให้แก่ผู้ป่วยกระจกตาพิการในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ให้เพียงพอต่อความต้องการ ด้วยวิธีการที่เป็นมาตรฐานสากล

รูปที่ 2 คณะกรรมการศูนย์ดวงตาภาค 10 สภากาชาดไทย
ณ ห้องประชุมบุญสม มาร์ติน รพ.มหาราชนครเชียงใหม่

แต่เนื่องจากการรวมเหล่ากาชาดจังหวัดเข้าเป็นภาค ไม่สอดรับการแบ่งเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งโรงพยาบาลสังกัดต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับศูนย์ดวงตามีศักยภาพในการจัดหาและบริการดวงตาเพิ่มมากขึ้น ทางศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย จึงได้มีมติให้ยกเลิกศูนย์ดวงตาภาค ทั่วประเทศ ตามคำสั่งลง วันที่ 9 เมษายน 2561 อย่างไรก็ตามภารกิจหลักที่ทางศูนย์ดวงตาภาค 10ฯ ได้ดำเนินมานั้น เป็นสิ่งที่จะควรได้รับการสานต่อ ทางภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้จัดตั้ง “ธนาคารดวงตา ภาควิชาจักษุวิทยา” หรือ “CMU Eye Bank” ขึ้น เพื่อสานต่อภารกิจเดิมของศูนย์ดวงตาภาค 10 ฯ และประสานงานกับศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย ในการรับบริจาคดวงตา จัดหาและบริการดวงตา โดยการเจรจาเชิงรุกและจัดเก็บดวงตาจากผู้เสียชีวิตในรพ. ที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกระจกตา และพัฒนาเป็นระบบที่ยั่งยืน นอกจากนี้ธนาคารดวงตา ยังมีภารกิจในการจัดหาเนื้อเยื่ออื่นๆได้แก่ เนื้อเยื่อรก เนื้อเยื่อตาขาว เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโรคตาต่างๆ ซึ่งในแต่ละปีมีการผ่าตัดด้วยเนื้อเยื่อเหล่านี้เป็นจำนวนมาก


วิสัยทัศน์ พันธกิจ และภารกิจหลัก

วิสัยทัศน์ : เป็นศูนย์ดวงตาที่ได้มาตรฐานสากล นำชุมชนสู่การเป็นสังคมแห่งการให้
พันธกิจ : จัดเก็บและรวบรวมดวงตาบริจาค เพื่อมอบให้จักษุแพทย์นำไปใช้ รักษาผ่าตัดแก่ผู้ป่วยได้เพียงพอต่อความต้องการ ด้วยวิธีการที่เป็นมาตรฐานสากล และเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อชีวิตหนึ่งกับอีกชีวิต ผ่านการให้และการปลูกถ่าย
ภารกิจหลัก :
1) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บหาและบริการดวงตาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตเพื่อมอบให้จักษุแพทย์ได้นำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยกระจกตาพิการ
2) เพื่อจัดหาและดวงตาที่ได้รับการบริจาคให้ได้มาตรฐานสากล และมีปริมาณที่เพียงพอแก่ผู้ป่วยที่ รอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา
3) เพื่อพัฒนาระบบการทำงานของธนาคารดวงตาในการตรวจประเมินและติดตามการรักษาผู้ป่วยทั้งที่รอรับ และที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาไปแล้ว
4) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับแสดงความจำนงอุทิศดวงตาจากผู้มีกุศลจิต(pledge donor)
5) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานให้ผู้ป่วยโรคกระจกตาพิการได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม
6) เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนและการวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพทางจักษุวิทยาแก่แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขากระจกตา
7) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในภาคเหนือมีเจตคติที่ดีในการบริจาคดวงตาเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
8) เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวโรคทางตาตลอดจนวิธีการดูแลถนอมดวงตา


การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาจะทำในกรณีใดบ้าง

จะทำการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาในผู้ป่วยที่มีโรคต่างๆ ของกระจกตา ซึ่งอาจแบ่งเป็น

1. กระจกตาขุ่นเป็นฝ้าขาว เช่น เป็นแผลเป็นหรือกระจกตาบวมจากอุบัติเหตุสารเคมี การติดเชื้อ โรคกระจกตาที่เป็นแต่กำเนิด เป็นต้น
2. กระจกตามีความโค้งนูนผิดปกติ ทำให้มีภาวะสายตาผิดปกติ ที่แก้ไขไม่ได้ด้วยแว่นตาหรือเลนส์สัมผัส
3.กรณีฉุกเฉิน เช่นโรคติดเชื้อรุนแรง ไม่สามารถควบคุมด้วยการใช้ยารักษาได้ หรือรายที่กระจกตากำลังทะลุ หรือทะลุแล้ว สาเหตุใดก็ตาม ต้องรีบตัดกระจกตาส่วนที่ติดเชื้อออกแล้วใส่กระจกตาบริจาคแทนที่เพื่อรักษาดวงตาไว้ก่อน
4.ทำเพื่อความสวยงามเป็นการทำให้ฝ้าขาวที่ตาดำหายไป โดยไม่คำนึงว่ามองเห็นหรือไม่ วิธีนี้ไม่นิยมทำในเมืองไทย เพราะดวงตาบริจาคมีน้อย จำเป็นต้องเก็บไว้ทำการผ่าตัดให้ผู้ที่ทำแล้วจะทำให้เห็นดีขึ้นเท่านั้น


 

ดวงตาบริจาคได้มาจากไหน

1. ดวงตาบริจาคได้จากผู้ที่ได้แสดงความจำนงอุทิศดวงตาไว้กับศูนย์ดวงตาสภากาดไทย ซึ่งเป็นสถานที่รับดวงตาจากผู้อุทิศที่ถึงแก่กรรม
2. ดวงตาบริจาคได้จากการขอบริจาคดวงตาจากญาติผู้เสียชีวิต ที่ไม่ได้แสดงความจำนงไว้ เพื่อเป็นกุศลสุดท้ายให้แก่ผู้ที่จากไป

ภายหลังถึงแก่กรรม ดวงตาจะเริ่มเสื่อมคุณภาพและ เน่าเปื่อยเหมือนอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย ดังนั้นจำเป็นต้องรีบเก็บดวงตาให้เร็วที่สุดอย่างช้าไม่ควรเกิน 6-8 ชั่วโมง ถ้าช้าเกินไปดวงตาจะใช้ไม่ได้ และไม่ควรอนุญาตให้ฉีดน้ำยากันเน่าเปื่อยของศพ ก่อนที่จะผ่าตัดเก็บดวงตา


สิทธิประโยชน์ของผู้บริจาคดวงตา

(ภายหลังถึงแก่กรรม และได้นำดวงตาใช้ประโยชน์)

1. จัดดอกไม้ หรือพวงหรีดไปเคารพศพของผู้อุทิศ
2. สิทธิสมาชิกกิตติมศักดิ์สภากาชาดไทย ทายาทของผู้บริจาคดวงตา 1ท่าน จะได้รับมอบสิทธิ สมาชิกกิตติมศักดิ์สภากาชาดไทย
3. สามารถขอพระราชทานเพลิงศพ ให้กับผู้อุทิศดวงตาที่ถึงแก่กรรม และได้นำดวงตามาใช้ประโยชน์ โดยทายาทเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง
4. ได้รับเกียรติบัตรสภากาชาดไทยยกย่องเชิดชูความดีของผู้บริจาคดวงตา (มอบให้ทายาท)


สถิติผู้ป่วยที่จองดวงตากับธนาคารดวงตาและผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา

สถิติผู้ป่วยที่ได้รับและรอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา
กับธนาคารดวงตา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 – 2565

ผู้ป่วยจำนวนมากยังรอรับการรักษา สถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทยเรายังประสบปัญหาการขาดแคลนกระจกตาสำหรับผ่าตัดอย่างวิกฤติ จากสถิติการจองคิวเปลี่ยนกระจกตาของศูนย์ดวงตาภาค 10 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ถึงปัจจุบัน พบมีผู้ป่วยรอเปลี่ยนกระจกตากว่า 200 รายต่อปี หากแต่ละปีทางศูนย์ดวงตาภาค 10 สามารถจัดเก็บดวงตาสำหรับผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วยได้เพียง 40- 50 รายต่อปี ทำให้ระยะเวลานับตั้งแต่เข้ารับการจองคิวไปจนถึงได้ทำการผ่าตัดค่อนข้างนาน ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องรอคอยการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาบางส่วนถึงกลับสูญเสียดวงตาหรือบอดสนิทจากภาวะแทรกซ้อนไปก่อนที่จะได้รับการผ่าตัด

การบริจาคดวงตาไม่ยุ่งยาก

คนส่วนใหญ่คิดว่าการบริจาคดวงตานั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีสายตาปกติ แท้จริงแล้วทุกๆคนสามารถเป็นผู้บริจาคดวงตาได้ แม้จะเป็นผู้สูงอายุ ผู้มีสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง แม้กระทั่งผู้ที่ตาบอดจากโรคตาอื่นๆ แต่ถ้ากระจกตายังใสเป็นปกติก็สามารถเป็นผู้บริจาคดวงตาได้ทั้งสิ้น การบริจาคดวงตาไม่ยุ่งยาก และไม่ต้องตรวจร่างกายแต่ประการใด

โดยทางศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทยได้จัดทำแผ่นพับที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาและการอุทิศดวงตาสำหรับแจกจ่ายแก่ผู้ที่ประสงค์จะบริจาคดวงตา โดยส่วนหนึ่งเป็นใบแสดงความจำนงบริจาคดวงตาสำหรับให้กรอกรายละเอียดของผู้บริจาค แล้วส่งกลับมาให้ศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย

ท่านสามารถขอรับใบแสดงความจำนง หรือแสดงความจำนงบริจาคดวงตาได้ที่

– สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัด หรือสำนักงานกิ่งกาชาดทุกจังหวัด
– ศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย หรือศูนย์ดวงตาภาคในท้องที่ของท่าน
– สมัครทางเว็บไซด์ www.eyebankthai.com, www.redcross.or.th
– ในเขตภาคเหนือสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ดวงตาภาค 10 โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-5393-6382, 08-9999-6000

สำหรับขั้นตอนการแสดงความจำนงอุทิศดวงตา

1. กรอกรายละเอียดในใบแสดงความจำนงอุทิศดวงตาให้ชัดเจน ที่อยู่ที่ระบุควรเป็นที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้
2. ฉีกแผ่นพับตามรอยปรุ ไม่ต้องใส่ซองและไม่ต้องติดผนึกตราไปรษณียากร แล้วนำส่งทางไปรษณีย์
3. เมื่อศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทยได้รับใบแสดงความจำนงอุทิศดวงตาจากท่านแล้วศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทยจะส่งบัตรประจำตัวให้ตามที่อยู่ที่ระบุไว้
4. หากย้ายที่อยู่หรือเปลี่ยนสถานภาพใดๆ กรุณาแจ้งศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย

เมื่อได้รับบัตรประจำตัวผู้บริจาคดวงตา

1. ลงลายมือชื่อผู้แสดงความจำนงบริจาคดวงตาไว้เป็นหลักฐาน
2. กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ที่สามารถติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน
3. พกบัตรติดตัว เพื่อเป็นหลักฐานว่าเป็นผู้แสดงความจำนงบริจาคดวงตา

เมื่อได้รับบัตรบริจาคดวงตาแล้วควรแจ้งให้ญาติใกล้ชิดทราบ ได้แก่ บิดา มารดา สามี ภรรยา บุตร หรือพี่น้อง เพราะว่าเมื่อผู้บริจาคดวงตาเสียชีวิต ผู้ใกล้ชิดจะได้โทรแจ้งให้ศูนย์ดวงตาภายใน 6 ชั่วโมงหลังจากเสียชีวิต เพื่อจะได้นำดวงตาไปดำเนินการตามเจตจำนงของผู้เสียชีวิตต่อไป


การดูแลถนอมดวงตา

ที่มา : หนังสือคู่มือจัดหาและบริการดวงตา ศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย

ดวงตาเป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสทั้งห้า รับหน้าที่หลักคือทำให้เรามองเห็นสิ่งที่อยู่รอบตัว เราทุกคนมีดวงตาคนละสองดวงสำหรับใช้งานไปตลอดชีวิต เราคงอยากใช้ดวงตาของเรามองเห็นได้ดีไปได้นานที่สุด ดังนั้นการถนอมดวงตาเป็นสิ่งสำคัญมากที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ คำถามคำตอบต่อไปนี้ จะช่วยเราให้สามารถปฏิบัติตัวได้ดี

ข้อควรปฏิบัติในการดูแลสุขภาพดวงตา

1. ตรวจตาเป็นประจำโดยจักษุแพทย์
– สำหรับเด็กควรพบจักษุแพทย์อย่างน้อยในช่วงอายุ 3 –5 ขวบก่อนเข้าโรงเรียน และหลังจากนั้นเป็นประจำในแต่ละช่วงระดับชั้น หรือเมื่อมีปัญหาเรื่องมองเห็นไม่ชัดซึ่งอาจเกิดจากปัญหาสายตา
– สำหรับผู้สูงอายุเกิน 40 ปี ขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพตาปีละครั้ง
– ในกรณีพิเศษที่ต้องได้รับการตรวจตาบ่อยขึ้น ได้แก่ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางร่างกาย เช่น โรคเบาหวาน หรือมีประวัติโรคตาในครอบครัว เช่น ต้อหิน มะเร็งจอประสาทตา เป็นต้น
2. ควรสวมแว่นกันแดดเป็นประจำเมื่ออกแดดหรือต้องใช้สายตาในที่มีแสงมาก เพื่อป้องกันโรคตาบางชนิด ได้แก่ ต้อลม ต้อเนื้อ เป็นต้น
3. ควรสวมแว่นป้องกันดวงตา (protective eye glass) เมื่อต้องทำงานประกอบอาชีพบางชนิด หรือเล่นกีฬาบางอย่างที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อดวงตา
4. รับประทานอาหารที่มีคุณค่าอย่างครบถ้วน


ทำไมจึงต้องสวมแว่นกันแดด

ปัจจุบันที่พิสูจน์แล้วว่าแสงแดดโดยเฉพาะรังสีอัลตราไวโอเล็ต หรือรังสียูวี (ultraviolet-UV) ที่มีอยู่ในแสงแดดมีผลต่อดวงตาในระยะยาว จะทำให้เกิดอันตรายกับเนื้อเยื่อชั้นต่างๆ ของดวงตา ตั้งแต่ส่วนนอกไปจนถึงส่วนในของดวงตา โรคตาที่เกิดจากการทำลายของแสงได้แก่ ต้อลม ต้อเนื้อ กระจกตาเป็นฝ้า ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม ประเทศไทยเป็นประเทศเมืองร้อน อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรและมีแสงแดดตลอดทั้งปี ดังนั้น ควรสวมแว่นกันแดดไว้เมื่อออกจากบ้านไม่มีเพียงเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้นที่ต้องสวม แต่ควรสวมแว่นให้เด็กด้วย

การเลือกแว่น

เราควรสวมแว่นไม่ใช่เพื่อความสวยงามอย่างเดียว แต่เพราะการสวมแว่นที่เหมาะสม สามารถทำให้เรามีสุขภาพดวงตาที่ดี และยังป้องกันการสูญเสียดวงตาที่เรารักได้อีก แว่นที่ควรสวมมีดังนี้
1. แว่นกันแดด
2. แว่นป้องกันดวงตา

เคล็ดลับในการเลือกแว่นกันแดด

– แว่นที่ดีควรกัน(UV-A และ UV-B) อย่างน้อย 99-100 เปอร์เซ็นต์ และกันแสงทั่วไปได้อย่างน้อย 75-90 เปอร์เซ็นต์
– แว่นชนิด polarizing filter สามารถให้ภาพที่คมชัดขึ้น และป้องกันแสงแดดได้ดี
– อย่าเลือกแว่นราคาถูก เพราะอาจมีคุณภาพไม่ดี ไม่สามารถกรองแสงได้
– อย่าเชื่อแผ่นป้ายที่ติดไว้ข้างแว่น หากไม่แน่ใจให้ปรึกษาช่างแว่นที่ไว้ใจได้ ร้านแว่นบางร้านจะมีเครื่องเช็คเปอร์เซ็นต์การกรองรังสียูวี ซึ่งสามารถขอเช็คซ้ำได้
– สวมแว่นกันแดดแล้วส่องกระจก หากคุณสามารถมองเห็นดวงตาของคุณเองผ่านเลนส์ แสดงว่า เลนส์อาจไม่เข้มพอที่จะกรองแสง
– หากใช้แว่นสี ควรเลือกสีโทนเทา น้ำตาล หรือเขียว เพื่อให้สามารถมองเห็นสีได้อย่างเป็นธรรมชาติไม่ผิดเพี้ยน อย่าเลือกสีแดง น้ำเงิน เพราะอาจทำให้แสงความยาวคลื่นที่อันตราย สามารถผ่านเข้าสู่ดวงตาได้
– เช็คคุณภาพของเลนส์โดยถือเลนส์ในระยะห่างเท่าความยาวของแขนมองผ่านเลนส์ไปยังวัตถุไกล ออกไปที่เป็นเส้นตรง เช่น กรอบประตู เสา แล้วลองเคลื่อนเลนส์ผ่านเส้นตรงที่เห็น หากมองเห็น เส้นบิดเบี้ยวไปมา แสดงว่าเนื้อเลนส์ไม่สม่ำเสมอ ไม่ได้คุณภาพ


อาหารบำรุงดวงตา

สารอาหารที่มีคุณค่ากับสายตา ช่วยป้องกันโรคตาได้ มีดังต่อไปนี้

1. กรดไขมันชนิดโอเมกา-3 ( Omega-3)

ช่วยรักษาอาการตาแห้ง และโรคหัวใจหลอดเลือด ไขมันสูง ความดันโลหิตสูง และป้องกันมะเร็งหลายชนิด เนื่องจากเป็นต้นกำเนิดของกรดไขมันอิสระสองชนิดคือ อีพีเอ (EPA) และ ดีเอชเอ (DHA) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สารเหล่านี้ได้จากปลาบางชนิด เช่น ปลาแซลมอน แมคเคอเรล ซาร์ดีน แนะนำให้รับประทานปลาทะเลที่ไม่ผ่านการทอด 2-3 ส่วนบริโภคต่อสัปดาห์ (1 serving = เนื้อ 90 กรัม = เนื้อปลากระป๋องขนาดเล็ก 1 กระป๋อง = ครึ่งถ้วยตวงข้าวหม้อหุงข้าวไฟฟ้า) นอกจากนั้นเราสามารถบริโภคสารเอแอลเอ (ALA) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่ร่างกายจะสามารถเปลี่ยนไปเป็น EPA และ DHA ได้เอง สาร ALA พบในน้ำมันสกัดจากธัญพืช ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วเหลือง เมล็ดวอลนัท เมล็ดฟักทอง เป็นต้น

2. สารลูทีน (Lutein) และ ซีแซนทีน (Zeaxanthin)

สารสองตัวนี้เป็นกลุ่มแคโรทีนอยด์ซึ่งเป็นสารสีส้มเหลืองที่ทำหน้าที่กรองรังสียูวีในแสงแดดและแสงสีม่วง-น้ำเงิน ที่ทำให้เกิดความเสื่อมที่โรคจอตาส่วนกลาง สารเหล่านี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจชะลอการเกิดโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ ป้องกันและชะลอโรคจอตาเสื่อม(Age-related Macular Degeneration หรือ AMD)สารเหล่านี้มีมากในผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า ปวยเล้ง บรอคโคลีเป็นต้น ควรได้รับ ลูทีน20 มิลลิกรัมต่อวัน และ ซีแซนทีน 6 – 10มิลลิกรัมต่อวัน หรือแนะนำให้กินผักใบเขียวอย่างน้อยวันละ 100 กรัมอย่างน้อยวันเว้นวัน นอกจากนี้ในไข่แดง มี ลูทีนและซีแซนทีนที่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี แนะนำให้กินไข่ (พร้อมไข่แดง) 2 ฟองวันเว้นวัน (ถ้าไม่มีข้อห้าม)

3. วิตามินและสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidants) ได้แก่

– วิตามินเอสารที่ช่วยในการทำงานของจอประสาทตาและมีบทบาทสำคัญในการมองเวลากลางคืนซึ่งพบมากในผักจำพวก ชะอม คะน้า ยอดกระถิน ตำลึง ผักโขม ฟักทอง
– วิตามินบี มีการศึกษาพบว่าวิตามินบี1และบี12อาจมีบทบาทในการชะลอการเกิดต้อกระจกได้โดยแหล่งที่มีวิตามินชนิดนี้มาก ได้แก่ ตับ ไข่เนื้อสัตว์นมสด
– วิตามินซีเป็นที่รู้จักกันดีของการชะลอความแก่ของร่างกายด้วยคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ(antioxidant)นอกจากนั้น ยังอาจช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกได้อีกด้วยผลไม้ที่มีวิตามินซี มาก ได้แก่ ฝรั่ง ส้ม สับปะรด มะขามป้อมส่วนผักได้แก่ กะหล่ำดอก บร็อคโคลี่
– วิตามินอี เป็นวิตามินอีกตัวหนึ่งที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระซึ่งมีอยู่ในเซลล์รับแสงที่จอตาและจากการ ศึกษาพบว่า อาจมีบทบาทช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกเช่นเดียวกันพบได้ในน้ำมัน ธัญพืช น้ำมันดอกคำฝอย ข้าวโพด ถั่วเหลือง
– เบต้าแคโรทีนเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอซึ่งมีบทบาทในการต้านอนุมูลอิสระและช่วยในการมองเห็นในกลางคืนเช่นเดียวกับ วิตามินเอพบมากในผักผลไม้ที่มีสีเหลืองส้ม เช่น แครอท มะละกอ ข้าวโพดอ่อนหน่อไม้ฝรั่งผักบุ้งข้อควรระวังคือการรับ ประทานเบต้าแคโรทีนในรูปอาหารเสริมมากไปในคนที่สูบบุหรี่จะเพิ่ม โอกาสการเกิดมะเร็งปอดได้

ผลวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่าการให้วิตามิน ซี, อี เบต้าแคโรทีน, ธาตุสังกะสี มีประโยชน์ในการชะลอการเสื่อมมากขึ้นของผู้ป่วยที่เป็นโรคจอตาเสื่อมตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป(moderate AMD) ทั้งนี้ในผู้ป่วยที่มีโรคจอตาเสื่อมเพียงเล็กน้อยอาจไม่ได้ประโยชน์เท่าไรนักจากการรับประทานวิตามินเสริมในปริมาณที่เหมาะสมดังกล่าว ทั้งนี้จักษุแพทย์จะเป็นผู้ประเมิน ระดับความเสื่อมของจอประสาทตาจากการขยายม่านตา ไม่ควรซื้อมาอาหารเสริมมารับประทานเอง เนื่องจากอาจไม่ได้รับประโยชน์และยังเกิดผลข้างเคียงได้


เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการบริจาคดวงตา Q&A

ถาม แพทย์เก็บดวงตาทั้งลูกหรือเอาแต่เฉพาะตาดำ

ตอบ เก็บทั้งลูกตา เพราะถ้าเอาแต่เฉพาะตาดำจะเก็บไว้ได้ไม่นาน ตาดำจะเสื่อมคุณภาพ

 

ถาม ภายหลังแพทย์เก็บดวงตาแล้ว ตาจะโบ๋หรือดูลึกน่าเกลียดหรือไม่ ?

ตอบ ภายหลังการเก็บดวงตา แพทย์จะตกแต่งให้ดูปกติจนไม่สามารถทราบว่า ได้เก็บดวงตาไปแล้ว

 

ถาม ถ้าให้ดวงตาไปแล้วเกิดชาติหน้าตาจะโบ๋หรือไม่ ?

ตอบ ตรงกันข้ามการอุทิศดวงตาเป็นการทำบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ ดังนั้นถ้าชาติหน้ามีจริง กุศลย่อมจะส่งผลให้ผู้อุทิศมีแต่ความสุข ความเจริญ และมีสายตาดีเป็นพิเศษ

 

ถาม การอุทิศดวงตาเป็นการขัดต่อศาสนา หรือเป็นบาปหรือไม่ ?

ตอบ การอุทิศดวงตาภายหลังถึงแก่กรรม เป็นการทำบุญกุศลมีประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ จึงไม่น่าจะ ขัดต่อบทบัญญัติในศาสนาใดๆ ทั้งสิ้นหรือเป็นบาปแต่อย่างใด

 

ถาม ตาดำของผู้ชายนำมาใช้กับผู้หญิงได้หรือไม่ ?

ตอบ ตาดำของทุกคนใช้แทนกันได้ ไม่จำกัดเพศ

 

ถาม ตาเหล่แต่กำเนิด จะอุทิศดวงตาได้หรือไม่ ?

ตอบ ได้ เพราะตาดำยังดีอยู่

 

ถาม สายตาสั้นมากทั้งสองข้าง และใส่แว่นตามานานแล้วจะอุทิศดวงตาได้หรือไม่ ?

ตอบ ได้ เพราะตาดำยังดีอยู่

 

ถาม เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตาบอดมาหลายปีจะอุทิศดวงตาได้หรือไม่ ?

ตอบ ได้ เพราะตาดำยังดีอยู่

 

ถาม เป็นมะเร็งปอด จะอุทิศดวงตาได้หรือไม่ ?

ตอบ ได้ เพราะตาดำยังดีอยู่ ยกเว้นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่มีการแพร่กระจายไปส่วนอื่นของร่างกาย

 

ถาม เคยผ่าตัดต้อกระจกมาแล้ว จะอุทิศดวงตาได้หรือไม่ ?

ตอบ ได้ เพราะตาดำยังดีอยู่

 

ถาม ตาบอดใส จะเปลี่ยนตาใหม่ได้หรือไม่ ?

ตอบ ไม่ได้ เพราะไม่ใช่โรคของกระจกตา

 

ถาม ผู้ถึงแก่กรรมไม่ได้อุทิศดวงตา แต่ญาติต้องการให้ได้หรือไม่ ?

ตอบ ได้ โปรดติดต่อให้ศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทยทราบโดยเร็วที่สุด ไม่เกิน 6 ชั่วโมง


ติดต่อเรา

แสดงความจำนงบริจาคดวงตา หรือ แจ้งข้อมูลกรณีมีผู้บริจาคเสียชีวิตได้ที่.ผู้ประสานงาน
– นางสาวกันยนา ติยะธรรม
– นางณัฐชนันท์ กฤษณะเศรณี

สำนักงานธนาคารดวงตา ชั้น 12อาคารสุจิณโณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

โทรศัพท์ 0-5393-6382 (เวลาราชการ)
มือถือ 08-9999-6000 ตลอด 24 ชั่วโมง

ร่วมแบ่งปันน้ำใจ ให้แก่ผู้ป่วยโรคกระจกตาพิการ ท่านสามารถร่วมบริจาคได้ที่

· ธนาคารดวงตา โดยสั่งจ่ายในนามบัญชี ออมทรัพย์ เลขที่ 566-451015-4
ชื่อบัญชี สำนักงานธนาคารดวงตา ธนาคารไทยพานิชย์ สาขาคณะแพทยศาสตร์


บริจาคด้วยตนเอง

สำนักงานธนาคารดวงตา ชั้น 12 อาคารสุจิณโณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น. โทรศัพท์ 0-5393-6382

thTH