ก้อนเลือดคั่งบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอดที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการคลอด
Non-Obstetric Vulvar and Vagina Hematoma

อ.นพ.เศรษฐวัฒก์ เศรษฐเสถียร
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เนื่องจากบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอดเป็นบริเวณที่มีแขนงของหลอดเลือดแดง และหลอดเลือดดำปริมาณมาก การเกิดอุบัติเหตุบริเวณนี้ที่นอกเหนือจากการคลอดไม่ว่าจะเป็นการเกิดอุบัติเหตุในลักษณะนั่งคร่อม (straddle injury) การขี่จักรยาน การเล่นกีฬาบางชนิด จนกระทั่งการมีเพศสัมพันธ์หรือการถูกทารุณกรรมทางเพศ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดก้อนเลือดคั่งได้ทั้งสิ้น 1-3

นอกเหนือจากสาเหตุข้างต้นยังมีการรายงานถึงการเกิดก้อนเลือดคั่งจากการแตกของหลอดเลือดโป่งพองของ hypogastric artery หรือ pudendal artery4,5 ที่เกิดขึ้นเองโดยไม่สัมพันธ์กับอุบัติเหตุ

อาการ และอาการแสดง 1

ผู้ป่วยที่มีก้อนเลือดคั่งบริเวณนี้อาจจะมีอาการปวด มีเลือดออกทางช่องคลอด มีลักษณะภายนอกที่ผิดปกติไป หรือ อาจมีการปัสสาวะที่ผิดปกติได้

การประเมินผู้ป่วย

หลังจากแก้ไขผู้ป่วยให้อยู่ในสภาวะที่คงที่แล้ว ควรเริ่มต้นโดยการซักประวัติสาเหตุของการบาดเจ็บ ทำการตรวจร่างกาย ตรวจภายในด้วยความนุ่มนวล ระวังไม่ให้เกิดความเจ็บปวดหรือการบาดเจ็บที่เพิ่มขึ้นต่อผู้ป่วย นอกเหนือจากนี้ควรทำการตรวจหาการบาดเจ็บต่ออวัยวะใกล้เคียงที่อาจเกิดขึ้นร่วมกัน ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ลำไส้ กระดูกเชิงกราน หรือแม้กระทั่งอวัยวะภายในช่องท้อง ซึ่งอาจจะจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาไปพร้อมกัน

การตรวจร่างกายบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งการตรวจภายในมักจะก่อให้เกิดความเจ็บปวดที่เพิ่มมากขึ้นต่อผู้ป่วย แพทย์ผู้ดูแลสามารถที่จะลดความเจ็บปวดในขั้นตอนนี้ได้โดยการใช้ยาชา หรือยาระงับปวดแก่ผู้ป่วยก่อนการตรวจได้

ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็ก การตรวจโดยให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ และ โก่งก้น (frog-leg position) หรือนอนหงายแล้วยกเข่าชนหน้าอก (knee to chest position) จะทำให้สามารถตรวจบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บได้ดีขึ้น

หากการตรวจร่างกายไม่สามารถยืนยันการบาดเจ็บของอวัยวะอื่นได้ ให้พิจารณาการตรวจเพิ่มเติม เช่น การใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อดูสีปัสสาวะ การส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ การตรวจเอกซเรย์กระดูก หรือตรวจการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ (computed tomography; CT scan) เพื่อดูอวัยวะภายใน

การบันทึกเอกสารทางการแพทย์ควรบันทึกอย่างละเอียด อาจมีความจำเป็นที่จะต้องบันทึกในแบบฟอร์มเฉพาะ หรือมีการส่งตรวจหลักฐานทางนิติเวชศาสตร์ในผู้ป่วยร่วมด้วย

การรักษา 1

การรักษาก้อนเลือดคั่งที่บริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอดขึ้นอยู่กับลักษณะของก้อนเลือดคั่งที่ตรวจพบ และการบาดเจ็บของอวัยวะอื่น ๆ ที่พบร่วม

    • หากก้อนเลือดคั่งที่ตรวจพบมีขนาดเล็ก ไม่มีการขยายขนาดเพิ่มขึ้น และไม่พบการบาดเจ็บต่ออวัยวะอื่น สามารถที่จะรักษาโดยการสังเกตอาการ ประคบเย็น ให้ยาระงับปวด และเผ้าระวังว่ามีการขยายขนาดของก้อนเลือดคั่งหรือไม่
    • หากก้อนเลือดคั่งมีขนาดใหญ่ มีการกดเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะลำบาก แนะนำให้ใส่สายสวนปัสสาวะไว้จนกระทั่งอาการบวมลดลงจึงนำสายสวนปัสสาวะออก หากต้องการระบายเลือดที่คั่งเพื่อลดโอกาสการติดเชื้ออาจจะใช้การใส่ word catheter ผ่านรูเปิดขนาดเล็กได้ 6
    • ในผู้ป่วยที่ก้อนเลือดคั่งมีขนาดใหญ่ มีการขยายขนาดโตขึ้นเรื่อย ๆ ให้ทำการผ่าตัดเพื่อห้ามเลือดที่ออก และระบายก้อนเลือดที่คั่ง เพื่อลดเลือดที่ออก ลดอาการปวด ป้องกันการเกิดเนื้อตายและการติดเชื้อแทรกซ้อน แล้วจึงเย็บปิดแผล โดยอาจใส่สายระบายร่วมด้วย หรืออาจใช้การทำ embolization เพื่อช่วยในการห้ามเลือดก็ได้ 7

เอกสารอ้างอิง

  1. Lopez HN, Focseneanu MA, Merritt DF. Genital injuries acute evaluation and management. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol. 2017.
  2. Merritt DF. Genital trauma in children and adolescents. Clin Obstet Gynecol. 2008;51(2):237e48.
  3. Jana N, Santra D, Das D, Das AK, Dasgupta S. Nonobstetric lower genital tract injuries in rural India. Int J Gynaecol Obstet. 2008;103:26-9.
  4. Egan E, Dundee P, Lawrentschuk N. Vulvar hematoma secondary to spontaneous rupture of the internal iliac artery: clinical review. Am J Obstet Gynecol. 2009 ;200:e17-8.
  5. Hong HR, Hwang KR, Kim SA, Kwon JE, Jeon HW, Choi JE, et al. A case of vulvar hematoma with rupture of pseudoaneurysm of pudendal artery. Obstet Gynecol Sci. 2014;57(2):168-171.
  6. Mok-Lin EY, Laufer MR. Management of vulvar hematomas: use of a Word catheter. J Pediatr Adolesc Gynecol. 2009;22:e156.
  7. Kunishima K, Takao H, Kato N, Inoh S, Ohtomo K. Transarterial embolization of a nonpuerperal traumatic vulvar hematoma. Radiat Med. 2008;26:168-70.