การแท้ง
Abortion

อ.นพ.เศรษฐวัฒก์ เศรษฐเสถียร
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


การแท้ง หมายถึง การสิ้นสุดการตั้งครรภ์ก่อนที่ทารกจะมีชีวิตรอดไม่ว่าจะเป็นการแท้งที่เกิดขึ้นเอง (spontaneous abortion) หรือจากความตั้งใจ (induced abortion) โดยทั่วไปจะยึดถือกันที่การสิ้นสุดการตั้งครรภ์ก่อนอายุครรภ์ครบ 20 สัปดาห์ หรือในขณะที่ทารกน้ำหนักตัวน้อยกว่า 500 กรัม 1

ประมาณร้อยละ 80 ของการแท้งที่เกิดขึ้นเองจะเกิดภายใน 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยผู้ป่วยที่มีภาวะแท้งจะมีอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ปวดท้องน้อย หรือตรวจพบจากคลื่นเสียงความถี่สูงโดยไม่มีอาการใด ๆ 2

สาเหตุ 1

  1. ทารกเจริญผิดปกติ เป็นสาเหตุประมาณครึ่งหนึ่งของการแท้ง จะพบเพียงถุงการตั้งครรภ์โดยไม่สามารถหาส่วนของทารกได้
  2. โครโมโซมทารกผิดปกติ พบได้ประมาณ 1 ใน 4 ของการแท้ง โดยส่วนใหญ่เกิดจาก trisomy (โดยเฉพาะ trisomy13, 16,18, 21, 22), Monosomy X (Turner syndrome)
  3. การติดเชื้อของหญิงตั้งครรภ์ ยังไม่พบข้อมูลที่ชัดเจน แต่มีรายงานว่าการติดเชื้อบางประเภทพบมากขึ้นในผู้ที่แท้งบุตร เช่น การติดเชื้อ Chlamydia trachomatis, การติดเชื้อแบคทีเรียจากโรคเหงือกและฟัน หรือการอักเสบของช่องคลอดจากภาวะ bacterial vaginosis ที่อาจเพิ่มการแท้งในไตรมาสที่สอง
  4. โรคประจำตัวของหญิงตั้งครรภ์ ที่สำคัญได้แก่ โรคเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดี, ภาวะฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ต่ำ
  5. การได้รับรังสีรักษาบริเวณเชิงกราน
  6. คอร์ปัส ลูเตียม (corpus luteum) ทำงานผิดปกติ หรือได้รับการผ่าตัดคอร์ปัส ลูเตียม ก่อนอายุครรภ์ 10 สัปดาห์ ทำให้ระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำผิดปกติ
  7. ภาวะโภชนาการที่ผิดปกติของหญิงตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นภาวะทุพโภชนาการ หรือภาวะอ้วน
  8. พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก, การสูบบุหรี่, การดื่มคาเฟอีนปริมาณมาก (มากกว่า 5 แก้ว หรือ คาเฟอีน 500 มิลลิกรัมต่อวัน)
  9. ภูมิคุ้มกันผิดปกติ ที่สำคัญคือ antiphospholipid syndrome ที่อาจก่อให้เกิดภาวะแท้งซ้ำซาก
  10. มดลูกผิดปกติในแบบต่าง ๆ
  11. อายุของสามีที่มากขึ้น

ประเภทของการแท้ง 1,3

  1. การแท้งคุกคาม (threatened abortion) หมายถึง การมีเลือดออกทางช่องคลอดก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ โดยยังพบทารกมีชีวิตอยู่ภายในโพรงมดลูก และปากมดลูกยังคงปิด
  2. การแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (inevitable abortion) หมายถึง การเปิดของปากมดลูกและมีเลือดออกโดยที่ยังไม่มีชิ้นส่วนของการตั้งครรภ์หลุดออกมา ในช่วงก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์
  3. การแท้งไม่ครบ (incomplete abortion) หมายถึง การที่มีบางชิ้นส่วนของการตั้งครรภ์หลุดออกมาจากมดลูกก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ โดยที่ยังมีบางส่วนค้างอยู่ ผู้ป่วยมักจะมีเลือดออกทางช่องคลอด ร่วมกับตรวจพบปากมดลูกเปิด
  4. การแท้งครบ (complete abortion) หมายถึง การที่ชิ้นส่วนของการตั้งครรภ์หลุดออกมาทั้งหมดจากมดลูกก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ เมื่อตรวจภายในจะพบว่าปากมดลูกปิด
  5. การแท้งค้าง (missed abortion) หมายถึง การที่มีทารกเสียชีวิตค้างในโพรงมดลูกเป็นเวลานานหลายวัน หรืออาจจะหลายเดือน ร่วมกับปากมดลูกที่ปิด
  6. การแท้งติดเชื้อ (septic abortion) หมายถึงการติดเชื้อในโพรงมดลูกที่เป็นผลมาจากการแท้ง พบได้บ่อยจากการทำแท้งเถื่อนในอดีต มีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

การแท้งในไตรมาสแรก 4

การแท้งในไตรมาสแรกพบได้ร้อยละ 10 ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด โดยประมาณครึ่งหนึ่งมีสาเหตุจากปัจจัยทางพันธุกรรมของทารก ปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อยคือการที่หญิงตั้งครรภ์มีอายุมากหรือเคยมีประวัติการแท้งในไตรมาสแรกมาก่อน

การวินิจฉัยภาวะแท้งในไตรมาสแรก

เนื่องจากผู้ป่วยที่มีการแท้งมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการเลือดออกทางช่องคลอด หรือปวดท้องน้อย ซึ่งสามารถพบได้ในการตั้งครรภ์ปกติ หรือการตั้งครรภ์ผิดปกติอื่น ๆ (เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก) ดังนั้นการตรวจเพื่อยืนยันว่าเป็นการแท้งจริงก่อนให้การรักษาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

การประเมินเพื่อให้ได้การวินิจฉัยนั้น นอกจากอาศัยการซักประวัติ การตรวจร่างกายและตรวจภายในแล้ว การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงและการตรวจหาระดับฮอร์โมน β-hCG ในเลือดก็มีส่วนช่วยอย่างยิ่งเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง

การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์)

ในปัจจุบันการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงสามารถทำได้แพร่หลายมากขึ้น ทำให้วินิจฉัยภาวะแท้งในไตรมาสแรกได้ง่ายขึ้น

มีการศึกษาถึงลักษณะที่ตรวจพบจากคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อช่วยวินิจฉัยการแท้งอยู่มาก ในที่นี้จะแสดงแนวทางการวินิจฉัยภาวะแท้งในไตรมาสแรกจากองค์กรของรังสีแพทย์ที่เกี่ยวกับการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (Society of Radiologists in Ultrasound)

  • ลักษณะที่ช่วยวินิจฉัยภาวะแท้ง
    • ตรวจไม่พบการเต้นของหัวใจในตัวอ่อนที่มีความยาวตั้งแต่ 7 มิลลิเมตรขึ้นไป
    • ยังตรวจไม่พบตัวอ่อนในถุงการตั้งครรภ์ที่เส้นผ่านศูนย์กลางมีขนาดเฉลี่ย (mean sac diameter) ตั้งแต่ 25 มิลลิเมตรขึ้นไป
    • ยังไม่พบตัวอ่อนที่มีหัวใจเต้น ภายหลังจากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงที่ไม่พบ yolk sac ในถุงการตั้งครรภ์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ขึ้นไป
    • ยังตรวจไม่พบตัวอ่อนที่มีหัวใจเต้น ภายหลังจากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงที่พบ yolk sac ในถุงการตั้งครรภ์เป็นเวลา 11 วันขึ้นไป
  • ลักษณะที่ทำให้คิดถึงภาวะแท้ง แต่ไม่ช่วยในการวินิจฉัย
    • ตรวจไม่พบการเต้นของหัวใจในตัวอ่อนที่มีความยาวน้อยกว่า 7 มิลลิเมตร
    • ยังตรวจไม่พบตัวอ่อนในถุงการตั้งครรภ์ที่เส้นผ่านศูนย์กลางมีขนาดเฉลี่ย 16-24 มิลลิเมตร
    • ยังตรวจไม่พบตัวอ่อนที่มีหัวใจเต้น ภายหลังจากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงที่ไม่พบ yolk sac ในถุงการตั้งครรภ์ 7-13 วัน
    • ยังตรวจไม่พบตัวอ่อนที่มีหัวใจเต้น ภายหลังจากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงที่พบ yolk sac ในถุงการตั้งครรภ์ 7-10 วัน
    • ยังตรวจไม่พบตัวอ่อน หลังจากประจำเดือนครั้งสุดท้ายมากกว่า 6 สัปดาห์
    • ตรวจพบ amnion โดยที่ไม่พบตัวอ่อน
    • ตรวจพบ yolk sac ขนาดใหญ่มากกว่า 7 มิลลิเมตร
    • ถุงการตั้งครรภ์ขนาดเล็กเมื่อเทียบกับตัวอ่อน (ความแตกต่างของความยาวเฉลี่ยเส้นผ่านศูนย์กลางของถุงการตั้งครรภ์และความยาวตัวอ่อนน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร)

นอกจากนี้ การตรวจพบอัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่า 100 ครั้งต่อนาทีในครรภ์ที่อายุ 5-7 สัปดาห์ หรือพบลิ่มเลือดหลังรก มีความสัมพันธ์กับการแท้งที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงนั้นต้องอาศัยประสบการณ์ จึงมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้สำหรับแพทย์ที่ไม่ชำนาญ การแปลผลการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อวินิจฉัยภาวะแท้งจึงไม่ควรยึดตามเกณฑ์ข้างต้นเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วยร่วมด้วย หากผลการตรวจยังไม่สามารถวินิจฉัยการแท้งได้ การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงซ้ำในอีก 7-10 วัน ถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสม

การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะแท้งในไตรมาสแรก 1,4

ผู้ป่วยที่มีภาวะแท้งคุกคาม

ยังไม่มีการรักษาภาวะแท้งคุกคามวิธีใดที่มีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปมักจะแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพัก งดการออกกำลังกาย และงดการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนการให้โปรเจสตินเพื่อรักษาภาวะแท้งคุกคามนั้นก็ยังไม่พบว่ามีประโยชน์ชัดเจน

ผู้ป่วยที่มีภาวะแท้งอื่น ๆ

หากพบว่าผู้ป่วยแท้งครบแล้วจะไม่มีการรักษาเพิ่มเติม แต่หากว่าเป็นภาวะแท้งไม่ครบ แท้งค้าง หรือแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั้นมีแนวทางการดูแลรักษาอยู่ 3 ทาง ดังนี้

  • การเฝ้าสังเกตอาการ (expectant management)

การเฝ้าสังเกตอาการสามารถทำได้ในการแท้งช่วงไตรมาสแรก แต่ไม่ควรที่จะใช้เวลานานมากกว่า 8 สัปดาห์ โดยพบว่าสามารถเกิดการแท้งครบตามมาได้ถึงร้อยละ 80 ของผู้ป่วย

แพทย์ผู้รักษาต้องให้คำแนะนำผู้ป่วยก่อนที่จะเลือกใช้วิธีนี้ว่าอาจจะมีอาการปวดบีบท้องน้อย มีเลือดออกทางช่องคลอดร่วมกับชิ้นส่วนการตั้งครรภ์ได้ และหากไม่เกิดการแท้งครบตามมาผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ต่อไป

  • การรักษาด้วยยา (medical management)

ข้อดีของการรักษาด้วยยาคือ ลดระยะเวลาในการแท้งให้สั้นลง และหลีกเลี่ยงการขูดมดลูกได้

มียาที่สามารถใช้ได้หลายตัวได้แก่ misoprostol, mifepristone หรือ methotrexate เป็นต้น แต่ยาที่นิยมคือ misoprostol ซึ่งเป็นยากลุ่ม prostaglandin E1 analogue เนื่องจากสามารถหาได้ง่าย มีราคาถูก และเก็บรักษาได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง

ยังไม่มีข้อสรุปของปริมาณยา และการบริหารยาที่ดีที่สุด โดยหากยึดถือตามคำแนะนำของ American College of Obstetricians and Gynecologists จะให้ใช้ misoprostol 800 มิลลิกรัม ทางช่องคลอด และสามารถให้ยาซ้ำได้อีกครั้งหากไม่ได้ผลภายในช่วง 7 วันหลังได้ยาครั้งแรก แต่ไม่ควรให้ซ้ำภายใน 3 ชั่วโมง

หลังจากรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผลอาจจะเลือกการรักษาโดยการเฝ้าสังเกตอาการก่อนหรือขูดมดลูกเลยก็ได้

  • การรักษาโดยการขูดมดลูก

การขูดมดลูกมดลูกสามารถทำได้ด้วยอุปกรณ์หลาย ๆ ชนิด ในอดีตนิยมที่จะขูดมดลูกด้วยอุปกรณ์ที่เป็นเหล็ก (sharp curettage) แต่ในปัจจุบันมีการใช้เครื่องดูดสุญญากาศในการขูดมดลูกมากขึ้น

ข้อดีของการขูดมดลูกที่เหนือกว่าการรักษาด้วยยาคือ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างรวดเร็วซึ่งเหมาะสมในผู้ป่วยที่มีภาวะตกเลือดมาก มีโอกาสเหลือชิ้นส่วนของการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูกน้อยกว่า ลดจำนวนครั้งการมาโรงพยาบาลของผู้ป่วยได้ แต่มีข้อด้อยที่ต้องอาศัยการใช้ยาระงับความรู้สึกขณะทำหัตถการ และอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ซึ่งจะกล่าวต่อไป

ขั้นตอนการขูดมดลูก

  1. การเตรียมปากมดลูก เพื่อให้ปากมดลูกนุ่ม ขยายได้ง่าย ทำให้การทำหัตถการง่ายขึ้น โดยมีวิธีดังต่อไปนี้
    1. Hygroscopic dilators เป็นอุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปในโพรงปากมดลูกแล้วจะขยายตัวจากการดูดน้ำที่บริเวณปากมดลูก ทำให้ปากมดลูกขยาย
    2. การใช้ยา โดยยาที่นิยมคือ misoprostol 400-600 ไมโครกรัม โดยการรับประทาน, อมใต้ลิ้น หรือเหน็บช่องคลอด ก่อนทำหัตถการ
  2. ให้ยาแก้ปวด หรือฉีดยาชาบริเวณปากมดลูก
  3. ตรวจภายในเพื่อประเมินขนาด และทิศทางของมดลูก
  4. ใส่เครื่องมือตรวจภายใน และทำความสะอาดบริเวณปากมดลูกด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  5. จับปากมดลูกยึดไว้ด้วย tenaculum โดยอาจจับปากมดลูกด้านบนในกรณีที่มดลูกคว่ำหลัง หรือจับปากมดลูกด้านล่างในกรณีที่มดลูกคว่ำหน้า เพื่อที่จะทำให้โพรงมดลูกอยู่ในแนวตรง
  6. ทำการใส่ uterine sound เพื่อประเมินความลึกของโพรงมดลูก
  7. หากใส่เครื่องมือเข้าในโพรงมดลูกยาก ให้ทำการขยายปากมดลูกด้วย dilator ก่อน
  8. ใส่เครื่องมือขูดมดลูก ไม่ว่าจะเป็น sharp curettage หรือ vacuum aspirator เข้าไปเพื่อขูดโพรงมดลูกโดยรอบให้แน่ใจว่าไม่มีชิ้นเนื้อเหลืออยู่
  9. หลังขูดมดลูกเสร็จอาจใช้ uterine sound ประเมินความลึกของโพรงมดลูกซ้ำอีกครั้ง

ภาวะแทรกซ้อนของการขูดมดลูก

  1. มดลูกทะลุ เกิดได้จากการใส่เครื่องมือทุกชนิด โดยทั่วไปให้หยุดการทำหัตถการทันที แล้วติดตามว่ามีการบาดเจ็บของอวัยวะภายในช่องท้องหรือไม่
  2. การติดเชื้อในเชิงกราน โดยสามารถลดโอกาสการติดเชื้อได้ด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อ เช่น doxycycline 200 มิลลิกรัม ก่อนทำหัตถการประมาณ 1 ชั่วโมง
  3. ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น การเกิดพังผืดในโพรงมดลูก หรือ cervical insufficiency

การแท้งในไตรมาสที่สอง 1,5

การแท้งที่เกิดขึ้นเองในไตรมาสที่สองพบได้น้อย เพียงแค่ร้อยละ 1.5-3 ของการตั้งครรภ์ โดยปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการแท้งในไตรมาสนี้เกิดจากการชักนำให้เกิดการแท้งด้วยยาในครรภ์ที่พบว่าทารกมีความผิดปกติของพันธุกรรม หรือมีความผิดปกติของร่างกาย

การดูแลการแท้งในไตรมาสที่สองนี้มีความคล้ายคลึงกับในไตรมาสแรก แต่ผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงมากกว่า

การชักนำให้เกิดการแท้งในไตรมาสที่สอง

การชักนำให้เกิดการแท้งในไตรมาสที่สองมีหลายวิธี ได้แก่

  • Dilatation and evacuation หรือ การขยายปากมดลูกร่วมกับใช้คีมหนีบชิ้นส่วนของการตั้งครรภ์และทารกออกจากโพรงมดลูก เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ สามารถทำให้เกิดการแท้งได้เร็ว มีโอกาสเหลือชิ้นส่วนของการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูกน้อย แต่ควรทำโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น
  • การใช้ยาเพื่อชักนำให้เกิดการแท้ง มีข้อดีในกรณีที่ต้องการตรวจทารกหลังการแท้ง และมีความปลอดภัย ยาที่ถูกแนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกแรกคือ misoprostol เนื่องจากมีประสิทธิภาพดี ราคาถูก และใช้ง่าย โดยอาจให้ร่วมกับยาอื่น ๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
    • การให้ทานยา mifepristone 200 มิลลิกรัม ก่อน 24-48 ชั่วโมง แล้วเหน็บ misoprostol 800 มิลลิกรัม ทางช่องคลอด ตามด้วยการให้ misoprostol 400 มิลลิกรัม เหน็บช่องคลอดหรืออมใต้ลิ้นทุก 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ครั้ง
    • หากไม่มี mifepristone สามารถใช้ misoprostol ตัวเดียวโดยให้ misoprostol 400 มิลลิกรัม เหน็บช่องคลอดหรืออมใต้ลิ้นทุก 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ครั้ง หรือให้เหน็บ misoprostol 600-800 มิลลิกรัมทางช่องคลอดก่อน แล้วจึงให้ misoprostol 400 มิลลิกรัม เหน็บช่องคลอดหรืออมใต้ลิ้นทุก 3 ชั่วโมง
    • หากไม่มี misoprostol สามารถใช้ oxytocin เพียงตัวเดียวได้ โดยให้ oxytocin 20-100 ยูนิตทางหลอดเลือดดำในช่วง 3 ชั่วโมง แล้วเว้นยาเป็นเวลา 1 ชั่วโมงเพื่อให้เกิด diuresis และสามารถที่จะปรับปริมาณของ oxytocin ได้จนมากที่สุด 300 ยูนิตใน 3 ชั่วโมง
  • การผ่าตัดมดลูก (hysterotomy or hysterectomy) เป็นทางเลือกในผู้ป่วยบางรายที่ชักนำการแท้งด้วยวิธีข้างต้นไม่สำเร็จ มีข้อห้ามในการใช้ยาข้างต้น หรือมีพยาธิสภาพของมดลูกที่ต้องผ่าตัดอยู่แล้วเท่านั้น เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูง

ข้อห้ามของการใช้ยาเพื่อชักนำให้เกิดการแท้ง

ข้อห้ามในการใช้ยาได้แก่ ผู้ป่วยทีมีปัญหาโรคตับ โรคหัวใจ โรคลมชักที่รุนแรง และควรใช้ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งในผู้ที่มีภาวะซีดรุนแรง มีการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ หรือทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่ นอกจากนี้ยังไม่ควรใช้ misoprostol กับผู้ป่วยที่ต้องได้รับ glucocorticoid therapy

การแท้งติดเชื้อ (septic abortion) 1

การแท้งติดเชื้อเกิดขึ้นได้น้อยมากหากได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี แต่หากเกิดขึ้นแล้วก็อาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดจนกระทั่งเสียชีวิตได้

เมื่อมีอาการแสดงของการติดเชื้อเกิดขึ้น การรักษาที่เหมาะสมคือการให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อโรคได้กว้าง เช่น การให้ clindamycin ร่วมกับ gentamicin และเสริม ampicillin เมื่อมีการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือสงสัย enterococcal infection

นอกจากการให้ยาปฏิชีวนะแล้ว แพทย์ผู้ดูแลต้องทำการประเมินว่ามีชิ้นส่วนของการตั้งครรภ์หลงเหลืออยู่ในมดลูกที่ต้องได้รับการขูดมดลูกด้วยหรือไม่

การดูแลอื่น ๆ ในภาวะแท้ง 1,4,5

นอกเหนือจากการรักษาที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีการรักษาอื่นที่จำเป็นในภาวะแท้ง ได้แก่

  1. การให้ยาลดอาการปวด
  2. การให้ Anti-D Immunoglobulin แก่ผู้ป่วย Rh negative ที่ยังไม่ถูกกระตุ้นให้สร้างภูมิ โดย Anti-D Immunoglobulin 300 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้าม หรืออาจลดปริมาณยาลงเหลือ 50 มิลลิกรัม สำหรับผู้ป่วยแท้งในไตรมาสแรก
  3. การคุมกำเนิดหลังแท้ง
    1. ไม่ได้มีคำแนะนำให้เว้นระยะห่างหลังของการตั้งครรภ์ครั้งถัดไปการแท้งในไตรมาสแรกเพื่อลดโอกาสแท้งในอนาคต อาจจะงดการมีเพศสัมพันธ์หลังแท้ง 1-2 สัปดาห์เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ แต่หากผู้ป่วยรายใดต้องการคุมกำเนิดก่อนตั้งครรภ์ครั้งใหม่สามารถเริ่มได้ทันทีหลังการแท้ง
    2. สำหรับการคุมกำเนิดหลังการแท้งในไตรมาสที่สอง สามารถใช้การคุมกำเนิดได้เกือบทุกวิธี ยกเว้นการใช้หมวก หรือฝาครอบปากมดลูก และการทำหมันโดยการส่องกล้องเข้าโพรงมดลูก
  4. การตรวจหาสาเหตุของการแท้ง พิจารณาทำหลังจากมีการแท้งสองครั้งติดต่อกัน

สรุป

การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะแท้งให้เหมาะสมในแต่ไตรมาสจะทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัย มีผลแทรกซ้อนจากการรักษาต่ำ ดังนั้นแพทย์ผู้ดูแลรักษาจึงควรที่จะมีความรู้ในการเลือกใช้วิธีที่มีอยู่ให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Cunningham FG, Leveno KJ, Bloom SL, Spong CY, Dashe JS, Hoffman BL, et al. Williams Obstetrics. 24th ed. New York: McGraw Hill; 2014. p. 350-376.
  2. Jurkovic D, Overton C, Bender-Atik R. Diagnosis and management of the first trimester miscarriage. BMJ. 2013; 346:f3676.
  3. Voedisch AJ, Frederick CE, Stovall TG. In: Berek JS, editor. Berek & Novak’s Gynecology. 15th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2012. p. 619-21.
  4. Early pregnancy loss. Practice Bulletin No. 150. American College of Obstetricians and Gynecologists. Obstet Gynecol. 2015;125:1258-67.
  5. Second-trimester abortion. Practice Bulletin No. 135. American College of Obstetricians and Gynecologists. Obstet Gynecol. 2013;121:1394–406.