ภาวะฉุกเฉินทางมะเร็งนรีเวช
Gynecologic Oncology Emergency

รศ.พญ.ประภาพร สู่ประเสริฐ
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ภาวะฉุกเฉินทางมะเร็งนรีเวชที่พบได้ และแพทย์ทั่วไปควรจะสามารถดูแลเบื้องต้นก่อนส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทาง มีดังนี้

  • การตกเลือดทางช่องคลอด
  • การดูแลภาวะ febrile neutropenia
  • การกดเส้นประสาทไขสันหลังจากการกระจายของมะเร็งไปกระดูกสันหลัง
  • ภาวะหลอดเลือด superior vena cava อุดตัน
  • ภาวะเลือดออกในกระเพาะปัสสาวะจากการเคยได้รับรังสีรักษา
  • ภาวะลำไส้อุดตันจากมะเร็ง
  • การมีลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด
  • การเพิ่มขึ้นของความดันในสมอง
  • การมีปริมาณแคลเซียมสูงในเลือด
  • กลุ่มอาการที่เกิดจากการสลายตัวของเซลล์มะเร็งอย่างมาก (tumor lysis syndrome)

ในบทความนี้จะกล่าวถึงแต่ละภาวะนี้ พร้อมทั้งการดูแลเบื้องต้นสำหรับแพทย์ทั่วไป

การตกเลือดทางช่องคลอด 1

ผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชที่มีรอยโรคอยู่บริเวณ ปากช่องคลอด ช่องคลอด หรือปากมดลูก อาจจะทำให้เกิดเลือดออกมากทางช่องคลอด จนทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อกจากการเสียเลือด (hypovolemic shock) และต้องรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยจะให้ประวัติว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด จนต้องใช้ผ้าอนามัยวันละหลายผืน เลือดที่ออกมักออกมาจากก้อนมะเร็ง โดยเฉพาะที่เป็นแบบก้อนยื่น (exophytic lesion) ขนาดใหญ่ และอาจจะเห็นหลอดเลือดพุ่งออกมาจากก้อนมะเร็งนั้น

การรักษาต้องแก้ไขภาวะเสียเลือด โดยอาจจะต้องให้สารละลายน้ำเกลือ หรือเติมเลือดทดแทน และต้องตรวจภายในเพื่อดูตำแหน่งที่เลือดออก ถ้าตำแหน่งนั้นเป็นจุดเลือดออก อาจจะจี้โดยใช้ สาร sclerosing agent เช่น ferric subsulfate (Monsel’s solution) แต่ถ้าออกมากต้องใช้วิธี pack ด้วยผ้าก๊อซยาว อาจจะเคลือบวาสลินหรือไม่ก็ได้ เข้าไปในช่องคลอดให้แน่น ถ้าความยาวของผ้าก๊อซไม่พอ ต้องใช้ผ้าชิ้นใหม่ pack ต่อ จะต้องมัดผ้าก๊อซไว้ด้วยกัน เพราะเมื่อต้องนำผ้าก๊อซออกจะสามารถเอาออกมาทั้งหมดไม่เหลือค้างในช่องคลอด การชุบผ้าก๊อซด้วยน้ำยา acetone อาจทำให้การห้ามเลือดดีขึ้น แต่ไม่แนะนำให้ชุบด้วย Monsel’ s solution เพราะจะทำให้เกิดการหลุดลอกของชั้นเยื่อบุผิวช่องคลอด หลังจากใส่ผ้าก๊อซในช่องคลอดจนแน่นแล้ว ควรใส่สายสวนปัสสาวะไว้ โดยทั่วไปจะใส่ผ้าก๊อซทิ้งไว้นาน 24-48 ชั่วโมง แล้วจึงเอาออก หรือระหว่างนี้อาจจะส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่สามารถดูแลรักษาต่อไป เพราะถ้าไม่สามารถทำให้เลือดหยุดได้ หลังจาก pack ผ้าก๊อซไว้แล้ว อาจจะต้องอาศัยการผ่าตัดเข้าไปในช่องท้องเพื่อทำ hypogastric ligation หรืออาจจะทำเป็น hypogastric embolization โดยการใช้วิธี selective arteriography ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องรีบให้การรักษาด้วยรังสีรักษาซึ่งมักจะทำให้สามารถหยุดเลือดได้

การดูแลภาวะ febrile neutropenia 2,3

การกดไขกระดูกพบได้บ่อยในผู้ป่วยมะเร็งที่รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งส่วนใหญ่เม็ดเลือดขาวจะลดต่ำสุดในวันที่ 7-10 หลังจากรับยา และมักจะดีขึ้นเองภายในเวลาประมาณ 5 วัน ในช่วงที่เกิดภาวะ neutropenia ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูงมาก และจะเกิดภาวะ febrile neutropenia ได้

ภาวะ neutropenia คือการที่ระดับของ absolute neutrophil count (ANC) หรือปริมาณของ neutrophil น้อยกว่าหรือเท่ากับ 500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร หรือมีปริมาณ 1,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ที่มีแนวโน้มจะลดลงเป็น 500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ในเวลา 24-48 ชั่วโมง และจะเรียก febrile neutropenia ถ้าตรวจพบว่ามีไข้สูงเกินหรือเท่ากับ 38 องศาเซลเซียส ร่วมด้วย ซึ่งจะมีโอกาสติดเชื้อร่วมด้วยถึงร้อยละ 50 โดยเชื้อที่พบบ่อยจะเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ แต่ในระยะหลังพบการติดเชื้อแกรมบวกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะถ้ามีการคาสายน้ำเกลือทิ้งไว้ และถ้าปล่อยภาวะ neutropenia ให้เป็นต่อไปไม่รักษาจะเกิดการติดเชื้อรา และเชื้อพยาธิตามมา อย่างไรก็ตามการเกิดภาวะ neutropenia อาจจะไม่เกิดไข้ร่วมด้วยแม้ว่าจะมีการติดเชื้อ ถ้าร่างกายผู้ป่วยอ่อนแอมาก หรือรับยาสเตียรอยด์อยู่

การรักษาควรประกอบด้วยการเพาะเชื้อจากเลือดเพื่อหาเชื้อ และควรให้ยาแก้อักเสบที่คลุมเชื้อทั้ง แกรมบวก แกรมลบ เช่น ceftazidime (Fortum) และ amikacin (Amikin) หรือ Fortum และ ciprofloxacin และควรพิจารณาให้ยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว ถ้าหากเกิดภาวะ neutropenia นาน

บางสถาบันมีการให้ยาแก้อักเสบป้องกัน โดยใช้เป็นกลุ่ม quinolone พบว่าได้ผลดี แต่บางสถาบันไม่ให้เนื่องจากกลัวการดื้อยา

การกดเส้นประสาทไขสันหลังจากการกระจายของมะเร็งไปกระดูกสันหลัง (metastatic spinal cord compression) 2

การกระจายของมะเร็งไปยังกระดูกสันหลัง จนทำให้ประสาทไขสันหลังถูกกด เป็นภาวะที่ต้องรักษาให้ทันท่วงที เพราะถ้ารักษาช้า จะทำให้ผู้ป่วยเกิดพิการ และอาจอันตรายถึงชีวิตได้ ตำแหน่งไขสันหลังที่ถูกกดมากที่สุดคือ บริเวณกระดูกทรวงอก รองลงมาคือที่กระดูกที่เอว และส่วนที่กระดูกคอพบน้อยที่สุด

ภาวะนี้จะพบอาการปวดหลังที่แย่ลงเรื่อย ๆ ถึงร้อยละ 95 และมีอาการอ่อนแรงที่ขาได้ถึงร้อยละ 85 ซึ่งอาจจะค่อยเป็นค่อยไป หรือเกิดขึ้นทันทีก็ได้ บางครั้งจะมีอาการปัสสาวะไม่ออก หรือกลั้นอุจจาระไม่ได้เกินร้อยละ 50

ถ้าสงสัยภาวะนี้ควรจะสืบค้นด้วยการส่งตรวจเอ็มอาร์ไอ (magnetic resonance imaging; MRI) ของบริเวณไขสันหลัง และควรสืบค้นอย่างเร่งด่วนภายใน 24 ชั่วโมง ที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ อย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดมาก ไม่สามารถนอนราบนานๆ ได้ หรือมีข้อห้ามของการทำเอ็มอาร์ไอ เช่น ผู้ป่วยใส่ pacemaker อาจจะเลี่ยงมาใช้การตรวจด้วยวิธีการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ (computed tomography; CT scan) แทน

ถ้าวินิจฉัยภาวะนี้ได้ ต้องให้การดูแลเบื้องต้นตามอาการ เช่น ถ้าปัสสาวะเองไม่ได้ ให้ใส่สายสวนปัสสาวะไว้ ถ้ามีอาการปวด ต้องให้ยาแก้ปวดอย่างเหมาะสม ถ้าผู้ป่วยไม่พบว่ามี spinal instability แนะนำว่าให้ผู้ป่วยขยับตัวเมื่อพอจะขยับได้ เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ แต่ถ้าสงสัยภาวะนี้ การรีบให้ยาสเตียรอยด์ เช่น ให้รับประทาน dexamethasone วันละ 8 มิลลิกรัม จะช่วยลดอาการบวมของเส้นประสาทที่ถูกกด แล้วส่งตัวผู้ป่วยมารับการฉายรังสีบริเวณหลัง หรืออาจจะมีการผ่าตัดเข้าไปเอาก้อนมะเร็งที่กดทับออก

ภาวะหลอดเลือด superior vena cava อุดตัน (superior vena cava obstruction) 2

หลอดเลือด superior vena cava (SVC) เป็นหลอดลือดดำที่รับเลือดมาจากศีรษะ คอ แขน และทรวงอกส่วนบน หลอดเลือด SVC มีผนังบาง จึงถูกกดได้ง่ายจากมะเร็งทางนรีเวชที่กระจายมาบริเวณนี้ อาการที่พบบ่อยได้แก่ อาการหอบเหนื่อย ไอ เสียงแหบ ปวดหัว และอาจหมดสติ การตรวจร่างกายจะพบ หน้าบวมแขนขวาบวม และหน้าแดง โดยเฉพาะในตอนเช้า หลอดเลือดดำที่คอ และอก มีการขยายตัว

การวินิจฉัยทำได้โดยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณปอด การรักษาเบื้องต้นประกอบด้วยการให้ผู้ป่วยนั่ง ให้ออกซิเจน และให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ โดยฉีดยา dexamethasone 4 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง เพื่อให้ยุบบวม การใส่ stent เข้าไปในหลอดเลือดเป็นวิธีที่ทำให้อาการดีขึ้นเร็ว และควรฉายรังสีบริเวณ mediastinum จะทำให้อาการโรคดีขึ้นใน 2-3 วันเป็นส่วนใหญ่

ภาวะเลือดออกในกระเพาะปัสสาวะจากการเคยได้รับรังสีรักษา 4,5

การรักษามะเร็งทางนรีเวชด้วยการฉายรังสีในอุ้งเชิงกรานอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับกระเพาะปัสสาวะโดยทำมีเลือดออกในกระเพาะปัสสาวะได้ แม้ว่าจะเคยได้รับรังสีรักษามานานกว่า 10 ปีแล้วก็ตาม โดยพบอุบัติการณ์อยู่ร้อยละ 2.1-8.2 ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ การรักษาภาวะนี้ ถ้าเป็นไม่มากให้ผู้ป่วยนอนพัก ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้มีการสร้างปัสสาวะมาก ๆ จะได้ช่วยละลายลิ่มเลือด แต่ต้องระวังว่า ลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นอาจไปอุดตันท่อปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะไม่ออก เคยมีรายงานกระเพาะปัสสาวะแตกจากการคั่งของปัสสาวะในภาวะนี้

ถ้าอาการผู้ป่วยมีอาการมาก ต้องให้นอนโรงพยาบาลเพื่อทำ การล้างกระเพาะปัสสาวะที่เรียกว่า bladder irrigation ด้วยการใส่สายสวนปัสสาวะที่มี 3 หาง แล้วต่อนำเกลือเข้าไปทางหางหนึ่ง จากนั้นปล่อยให้มีน้ำเกลือที่เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะนั้นไหลออกมาอีกทาง น้ำเกลือจะไปช่วยดันเอาลิ่มเลือดที่ออกจากกระเพาะปัสสาวะออกมา และ ช่วยให้เลือดหยุด ทางให้น้ำเกลือถ้าเลือดยังไม่หยุด อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ เพื่อส่องกล้อง cystoscopy เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ แล้วใช้ silver nitrate จี้ หรือ ใช้ไฟฟ้าจี้ ถ้าเลือดไม่หยุดอาจต้องฉีด formalin เข้าไป ระยะหลังมีการใช้ laser จี้ ถ้าไม่ได้ผลอีก อาจจะต้องผ่าตัดเข้าไปตัดกระเพาะปัสสาวะออกบางส่วนเพื่อหยุดเลือด

ภาวะลำไส้อุดตันจากมะเร็ง 6,7

ภาวะลำไส้อุดตันจากมะเร็ง พบได้บ่อยในมะเร็งรังไข่ และ มะเร็งมดลูกที่มีการแพร่กระจายไปในช่องท้อง การวินิจฉัยจะเหมือนภาวะลำไส้อุดตันจากสาเหตุอื่นคือ อาจจะอาเจียนมาก ถ้ามีการอุดตันบริเวณลำไส้ส่วนบน และ อาจจะมีอาการอืดแน่นท้องมาก ถ้าตำแหน่งที่อุดตันเป็นบริเวณลำไส้ใหญ่ โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะไม่สามารถผายลม หรือ อุจจาระได้ ภาวะนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 20 ทีเดียว การเอกซเรย์ธรรมดา หรือ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณช่องท้องจะทำให้สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้แม่นยำขึ้น และ สามารถบอกตำแหน่งที่มีการอุดตัน ซึ่งอาจจะไม่ใช่ตำแหน่งเดียว

การรักษาประกอบด้วยการงดน้ำและอาหารทางปาก เพื่อลำไส้ได้พัก การใส่ nasogastric tube การให้สารน้ำทางหลอดลือดดำ การให้ยาระงับปวด การให้ยาสเตียรอยด์จะมีประโยชน์ในการช่วยลดการบวมของลำไส้ นอกจากกนี้อาจจะต้องให้ยาแก้อาเจียน รวมทั้งยาลดการหลั่งของน้ำย่อย เช่น octreotide, proton pump inhibitors, histamine-2 blocker และกลุ่มยา anticholinergics เช่น scopolamine และ glycopyrrolate นอกจากนี้มีการใช้ self – expandable metallic stents ใส่เข้าไปทางลำไส้โดยการทำ colonoscopy เพื่อลดการผ่าตัดที่มักมีข้อเสียมาก พบว่าได้ผลดีในผู้ป่วยเหล่านี้

การมีลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด 8,9

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (thromboembolic events) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งลิ่มเลือดนี้สามารถเกิดอุดตันได้ทั้งหลอดเลือดดำ และแดง และเมื่อเกิดอุดตันบริเวณปอด ที่เรียก pulmonary embolism ถ้ามีปริมาณมากจะทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่สะดวก เจ็บหน้าอก ออกซิเจนในเลือดต่ำ การวินิจฉัยอาศัยการทำ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณปอด แล้วเห็นลิ่มเลือดอุดตัน บริเวณหลอดเลือดที่ปอด การรักษาอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และ ให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ปัจจุบันนิยมให้เป็น low molecular weight heparin (LMWH)

การเพิ่มขึ้นของความดันในสมอง 10,11

เมื่อมะเร็งกระจายไปในสมองซึ่งบรรจุในกะโหลกที่ไม่สามารถขยายตัวได้ จึงมีการเพิ่มขึ้นของความดันในสมอง ซึ่งจะเกิดอันตรายถึงชีวิตถ้ามีการเลื่อนตัวของก้านสมอง (brain stem herniation) มะเร็งทางนรีเวชที่ชอบกระจายไปยังสมองที่พบบ่อยได้แก่ มะเร็งของเนื้อรก (choriocarcinoma) ซึ่งเมื่อกระจายไปแล้ว ยังชอบทำให้เกิดเลือดออกในสมองอีกด้วย ซึ่งจะยิ่งเพิ่มโอกาสให้เกิดภาวะนี้ อาการที่พบจะนำมาด้วยอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง โดยชอบเป็นช่วงกลางคืนหรือเช้ามืด อาการปวดจะแย่ลงเมื่อก้มศีรษะลง มักจะมีอาการอาเจียนพุ่ง โดยที่ไม่คลื่นไส้ ผู้ป่วยมักจะล้มไปด้านหลัง ความรู้สึกตัวจะแย่ลงเรื่อย ๆ จนถึงหมดสติ ถ้ามีการตรวจตา (eye ground) จะพบลักษณะของ papilledema บ่อยถึงร้อยละ 50 อาการทางระบบประสาทอย่างอื่น เช่น แขนขา อ่อนแรงขึ้นกับ ตำแหน่งของมะเร็งที่สมอง ความดันเลือดมักจะสูง ร่วมกับ หัวใจเต้นช้า และ หายใจไม่สม่ำเสมอ

การวินิจฉัยอาศัยประวัติ และ การตรวจร่างกาย การทำการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์จะเหมาะสมกว่าการทำภาพเอ็มอาร์ไอ เพราะทำได้เร็วกว่า รอยโรคที่เห็นมักเป็นรอยเลือดออก ร่วมกับมีก้อน

การรักษา ประกอบด้วยการรักษาตามอาการ โดยให้น้ำเกลือที่เป็น iso หรือ hyperosmotic fluid ระวังอย่าให้อะไรมากดทางเดินหายใจ ยกศีรษะผู้ป่วยให้สูง 30 องศา เพื่อช่วยระบายเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ให้ยาลดไข้ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูง ให้ยาควบคุมความดันเลือดไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไป ควรให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดการบวมของเนื้อสมอง โดยใช้เป็น dexamethasone 4-8 มิลลิกรัมต่อวัน และอาจเพิ่มขนาดเป็น 16 มิลลิกรัมต่อวัน ถ้าไม่ดีขึ้น ยาอีกตัวที่นิยมใช้คือ 20% mannitol โดยให้ขนาด 0.25 – 1 กรัมต่อกิโลกรัม ทุก 3-6 ชั่วโมง การรักษาด้วยการผ่าตัดเหมาะกับก้อนมะเร็งที่มีก้อนเดียว ส่วนการฉายรังสีถือว่าเป็นการรักษาหลักที่มักจะให้เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาตามอาการแล้ว

การมีปริมาณแคลเซียมสูงในเลือด (hypercalcemia) 12

การมีปริมาณแคลเซียมในเลือดสูงของผู้ป่วยมะเร็งพบได้บ่อยประมาณร้อยละ 30 ภาวะนี้เกิดจากการหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (parathyroid hormone) มากไป หรือมีการสร้างปริมาณวิตามินดีมากไปทำให้เพิ่มการดูดซึม แคลเซียมบริเวณลำไส้ และเพิ่มการ resorption ของกระดูก หรือเกิดโดยตรงจากการสลายของกระดูกจากการที่มะเร็งกระจายไป

อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จะอ่อนเพลีย อาจจะมีอาการสับสนได้ด้วย นอกจากนี้จะมีอาการท้องผูก ง่วงนอน ปวดท้อง ปัสสาวะบ่อย ถ้าตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจจะพบ QT interval สั้นและมี arrhythmia ได้ นอกจากนี้ถ้าภาวะนี้ไม่ได้รับการแก้ไข อาจเกิดภาวะไตวาย ชัก หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด

วิธีวินิจฉัยที่ดีที่สุดคือการตรวจเลือดหา ionized calcium level การตรวจหา total calcium level อาจไม่ถูกต้อง นอกจากนี้การตรวจหาระดับฮอร์โมนพาราไทยรอยด์ได้แต่ไม่นิยม

การรักษาภาวะนี้การให้สารน้ำเกลือ (normal saline) ให้ยาขับปัสสาวะเป็น furosemide ห้ามให้กลุ่ม thiazide เพราะจะทำให้อาการแย่ลง นอกจากนี้การให้ bisphosphonate อาจจะได้ประโยชน์ การให้ calcitonin อาจใช้ในช่วง 12-24 ชั่วโมงแรก แต่ต้องระวังหัวใจเต้นเร็ว

กลุ่มอาการที่เกิดจากการสลายตัวของเซลล์มะเร็งอย่างมาก (tumor lysis syndrome) 13

Tumor lysis syndrome เป็นกลุ่มอาการที่เกิดตามหลังการที่เซลล์มะเร็งมีการสลายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการมีการเคลื่อนที่ของสาร โปแตสเซียม ฟอสฟอรัส และพวกกรด nucleic acid ทั้งหลาย ออกจากเซลล์มาในหลอดเลือดจำนวนมาก ทำให้กลไก hemostatic mechanism เสียไป จนเกิดภาวะ ไตวายเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดปกติ และ เสียชีวิตในที่สุด ภาวะนี้มักเกิดตามหลังการให้ยาเคมีบำบัด โดยเฉพาะในกลุ่มมะเร็งเม็ดเลือดหรือ มะเร็งที่มีขนาดใหญ่ แล้วมีการตอบสนองกับยาเคมีบำบัดดี การวินิจฉัยมักดูจากการเปลี่ยนแปลงการทำงานของไตเป็นหลัก และระดับ โปแตสเซียม ฟอสฟอรัส ที่ขึ้นสูงในเลือด ในขณะที่ระดับ แคลเซียมต่ำลง

การดูแลรักษาที่สำคัญคือ การให้สารน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อให้ไตสามารถขับสารต่าง ๆ ที่สลายออกจากเซลล์มะเร็งได้มากพอ และไม่ไปคั่งค้างที่ไต นอกจากนี้การให้ยา allopurinol เพื่อไปลดการสร้างกรดยูริก (uric acid) ที่สูงขึ้นจากภาวะนี้ลงได้ ร่วมกับการทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นด่างโดยการให้ เพื่อเพิ่มการละลายของกรดยูริก และอาจพิจารณาให้แคลเซียม ถ้าผู้ป่วยมีภาวะแคลเซียมต่ำ

เอกสารอ้างอิง

  1. Tewari KS, Monk BJ. Invasive cervical cancer. In: Disaia PJ, Creasman WT, Mannel RS, Mcmeekin DS, Mutch DG. Clinical gynecologic oncology. 19th ed. Philadelphia: Elsevier; 2018. p38-104.
  2. Walji N, Chan AK, Peake DR. Common acute oncological emergencies: diagnosis, investigation and management. Postgrad Med J. 2008;84:418-27.
  3. Pascoe J, Steven N . Antibiotics for the prevention of febrile neutropenia. Curr Opin Hematol. 2009;16:48-52.
  4. Martinez DR, Ercole CE, Lopez JG, Parker J, Hall MK. A Novel Approach for the Treatment of Radiation-Induced Hemorrhagic Cystitis with the GreenLightTM XPS Laser. Int Braz J Urol. 2015;41:584-7.
  5. Montgomery BD, Boorjian SA, Ziegelmann MJ, Joyce DD, Linder BJ. Intravesical silver nitrate for refractory hemorrhagic cystitis. Turk J Urol. 2016;42:197-201.
  6. Mudumbi SK, Leonard EV, Swetz KM. Challenges and successes in non-operative management of high-grade malignant bowel obstruction. Ann Palliat Med. 2017 ;6 :S95-S98.
  7. Tsuboi A, Kuwai T, Nishimura T, Iio S, Mori T, Imagawa H, et al. Safety and efficacy of self-expandable metallic stents in malignant small bowel obstructions. World J Gastroenterol. 2016 28;22:9022-9027.
  8. Voigtlaender M, Langer F. Management of cancer-associated venous thromboembolism – a case-based practical approach. Vasa. 2018;47:77-89.
  9. Donnellan E, Khorana AA. Cancer and Venous Thromboembolic Disease: A Review. Oncologist. 2017;22:199-207.
  10. Pater K, Püsküllüoglu M, Zygulska AL. Oncological emergencies: increased intracranial pressure in solid tumours’ metastatic brain disease. Przegl Lek. 2014;71:91-4.
  11. Guimaraes MD, Bitencourt AG, Marchiori E, Chojniak R, Gross JL, Kundra V. Imaging acute complications in cancer patients: what should be evaluated in the emergency setting? Cancer Imaging. 2014;14: 14-18.
  12. Behl D, Hendrickson AW, Moynihan TJ. Oncologic emergencies Crit Care Clin. 2010;26:181-205.
  13. Wilson FP, Berns JS. Tumor lysis syndrome: new challenges and recent advances. Adv Chronic Kidney Dis. 2014;21:18-26.