เด็กกับสายตา

เด็กกับสายตา

โดย รศ.พญ.ประภัสสร ผาติกุลศิลา

คนทั่วไปมักสับสนในเรื่องของความสำคัญของแว่นสายตาในเด็ก  บางคนเชื่อว่า ถ้าให้เด็กสวมแว่นสายตาตั้งแต่อายุยังน้อย  ในอนาคตก็ไม่จำเป็นต้องใช้  ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งกลับเชื่อว่า  จะทำให้เด็กติดแว่น  ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง  ที่จริงแล้ว การที่เด็กจำเป็นต้องสวมแว่น  ก็เพราะว่ามีสายตาสั้น  ยาว หรือเอียง ที่เกิดได้จากกรรมพันธุ์  ซึ่งภาวะสายตาผิดปกติดังกล่าวนี้  จะไม่หายไป  แต่ก็ไม่แย่ลง  เพียงเพราะว่าไม่สวมแว่น  แว่นตาหรือเลนส์สัมผัสเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ไปตลอดชีวิต  เพื่อการมองเห็นภาพที่ชัดเจน.

สายตาสั้น (เห็นภาพมัวในระยะไกล) มักเริ่มเกิดระหว่างอายุ 8 ถึง 15 ปี  แต่ก็อาจเกิดเร็วกว่านั้นก็ได้  สายตายาว  มักพบเป็นปกติในเด็กทั่วไป  และไม่ทำให้เกิดปัญหา  หากสายตายาวนั้นมีปริมาณไม่มาก  ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น  อาจทำให้การมองเห็นระยะใกล้มีปัญหา หรือเกิดภาวะตาเขเข้าในได้ โดยมักพบราวอายุ 2 ปี  แทบทุกรายจะมีสายตาเอียงร่วมด้วย (คือตาเป็นรูปไข่ แทนที่จะเป็นทรงกลม)  การสวมแว่นตามักจำเป็นเมื่อมีสายตาเอียงปริมาณมาก

เด็กจะมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ตรงที่อาจเกิดปัญหาประการหนึ่งตามมาได้  เรียกว่าตาขี้เกียจ  หรือแอมไบลโอเปีย  หมายความว่าแม้ว่าจะสั่งแว่นสายตาที่ถูกต้องให้ แต่เด็กก็ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนเท่าเด็กปกติ  ซึ่งอาจขี้เกียจข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ ภาวะตาขี้เกียจจะเกิดขึ้นได้เมื่อสายตาสองข้างมีระดับที่แตกต่างกัน การให้เด็กสวมแว่นสายตา จะช่วยป้องกันมิให้ตาข้างที่มีสายตาผิดปกติมากกว่าเกิดตาขี้เกียจขึ้น การรักษาภาวะตาขี้เกียจจะทำได้ยากขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น และหากอายุเกิน 9 ขวบก็อาจไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้เลย เนื่องจากระบบประสาททางการมองเห็นมีการเจริญที่เต็มที่ไปเสียแล้ว

เด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีตาข้างหนึ่งมองเห็นไม่ชัดเท่าปกติ ซึ่งเกิดจากตาขี้เกียจ  หรือสาเหตุอื่นใดที่ไม่สามารถรักษาให้ดีเป็นปกติได้ ยังควรสวมแว่นตาเพื่อป้องกันตาข้างที่ดี  เลนส์ที่ใช้ประกอบแว่นตาไม่ว่าเพื่อวัตถุประสงค์ใด  ควรทำจากพลาสติก  และถ้าเป็นเลนส์ที่ทำด้วยพลาสติกชนิดโพลีคาร์บอเนต  จะยิ่งมีความปลอดภัยสูง  เพราะมีความทนทานต่อแรงกระแทกได้มาก  แต่มีราคาแพง

 

thTH