ตาเข หรือตาเหล่

ตาเข หรือตาเหล่

โดย รศ.พญ.ประภัสสร ผาติกุลศิลา

ตาเขหรือตาเหล่ เป็นความผิดปกติของการมองที่มีแนวของตาไม่ขนานกัน คือตาข้างหนึ่งมองตรงไปเบื้องหน้า  ในขณะที่ตาอีกข้างหนึ่งหันเข้าด้านใน,ออกนอก,  ขึ้นบน  หรือลงล่าง  ตาอาจเขตลอดเวลา  หรือเป็นบางครั้งบางคราวก็ได้  และบางครั้งตาข้างที่เขกลับตรง  แต่ตาข้างที่ตรงกลับเข เรียกว่าตาเขสลับข้าง  ตาเขพบได้ค่อนข้างบ่อยในเด็ก (4%) หรือเกิดเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ได้  อาจพบในครอบครัวเดียวกันได้หลาย ๆ คน  แต่ส่วนใหญ่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมาก่อน

ตาสองข้างทำงานร่วมกันได้อย่างไร ?

เมื่อเรามีการมองเห็นปกติ  ตาทั้งสองข้างจะมองตรงไปยังจุดเดียวกัน หลังจากนั้นสมองก็จะรวมภาพจากตาทั้งสองข้างแปลเป็นภาพสามมิติ    การที่มองเห็นเป็นสามมิตินี้เองที่ทำให้เราสามารถรู้สึกถึงความลึก  แต่เมื่อตาข้างหนึ่งเข  ภาพซึ่งแตกต่างกันจากตาทั้งสองข้างก็ส่งไปยังสมอง  แต่ในเด็กเล็ก ๆ สมองจะมีการปรับตัวโดยไม่สนใจภาพที่ส่งมาจากตาข้างที่เขนั้นเสีย  และมองเห็นเพียงภาพจากตาข้างที่ตรง  ทำให้เด็กสูญเสียความสามารถในการบอกความลึก  หรือสูญเสียความสามารถในการมองเห็นสามมิตินั่นเอง ส่วนผู้ใหญ่ที่เพิ่งมาเกิดตาเข  มักมีอาการเห็นภาพซ้อน  เนื่องจากสมองเคยเรียนรู้ที่จะรับภาพจากตาทั้งสองข้าง  และไม่สามารถกดภาพจากตาข้างเขได้แล้ว

 

สายตาขี้เกียจ  หรือ amblyopia?

สายตาที่ดีเริ่มมีพัฒนาการขึ้นในวัยเด็ก  เมื่อมีสภาพตาตรง  การที่เด็กมีตาเขอาจทำให้เกิดสายตาแย่ลง  ที่เรียกว่า amblyopia ในตาข้างที่อ่อนแอกว่า    สมองจะรับรู้เฉพาะภาพที่มาจากตาข้างดี  และไม่สนใจภาพที่มาจากตาข้างที่อ่อนแอกว่า (ข้างที่มี amblyopia)  ภาวะนี้เกิดได้ประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กตาเข    การรักษาสายตาขี้เกียจทำได้โดยการปิดตาข้างที่ดี  เพื่อทำให้ตาข้างที่ขี้เกียจนั้นกลับมาใช้งานได้  หรือมองเห็นดีขึ้นได้  หากตรวจพบสายตาขี้เกียจตั้งแต่เด็กอายุ 2-3 ปี  มักจะรักษาแล้วได้ผลดี    การปิดตาเพื่อรักษาสายตาขี้เกียจจะประสบผลสำเร็จมากที่สุดเมื่อเด็กอยู่ในวัยก่อนเข้าเรียน  หากรักษาล่าช้า   สายตาขี้เกียจนั้นมักเป็นถาวร  ถือเป็นกฎว่า “ยิ่งรักษาสายตาขี้เกียจเร็วเท่าไร  สายตาก็จะกลับคืนมาดีมากเท่านั้น”

 

อะไรเป็นสาเหตุของภาวะตาเข ?

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่เข้าใจกันแจ่มแจ้ง   เมื่อคนเรามองไปยังวัตถุอันหนึ่ง  ตาทั้งสองต้องอยู่ในแนวเดียวกัน  นั่นคือกล้ามเนื้อทุกมัดในตาแต่ละข้างต้องอยู่ในสมดุลและทำงานร่วมกัน  และเพื่อให้ตาทั้งสองกลอกไปด้วยกัน  กล้ามเนื้อในตาทั้งสองข้างจะต้องประสานกันอย่างดี     สมองทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อในการกลอกตา  ดังนั้นเด็กที่มีความผิดปกติทางสมองจึงพบภาวะตาเขได้บ่อย  เช่น สมองพิการ, กลุ่มอาการดาวน์, น้ำคั่งในกะโหลกศีรษะ) หรือแม้แต่มีเนื้องอกในสมอง  นอกจากนี้ ต้อกระจก  หรือภยันตรายต่อลูกตา ซึ่งรบกวนการมองเห็น ก็เป็นสาเหตุของภาวะตาเขได้เช่นกัน

 

การวินิจฉัยภาวะตาเขทำอย่างไร ?

เราสามารถวินิจฉัยภาวะตาเขได้จากการตรวจตาโดยแพทย์หรือจักษุแพทย์   เด็กทุกคนควรได้รับการตรวจสายตาจากกุมารแพทย์  แพทย์ประจำครอบครัว  หรือจักษุแพทย์ก่อนอายุครบสี่ปี  หากมีประวัติสมาชิกครอบครัวมีตาเขหรือสายตาขี้เกียจ  ก็ควรได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์ก่อนเด็กอายุสามปี   บ่อยครั้งที่จะเห็นเด็กเล็ก ๆ ดูเหมือนมีตาเขเข้าใน  เนื่องจากเด็กเล็กมักมีฐานจมูกกว้าง  ดั้งจมูกแบน  และมีผิวหนังด้านหัวตาเด่นชัด  ทำให้ดูคล้ายกับมีตาเขเข้าใน (เรียกว่าตาเขหลอก) ลักษณะเช่นนี้มักหายไปเองได้เมื่อเด็กโตขึ้น   โดยทั่วไปจักษุแพทย์จะสามารถบอกได้ว่าเด็กมีภาวะตาเขจริงหรือตาเขหลอก

 

การรักษาภาวะตาเขทำได้อย่างไร ?

การรักษาภาวะตาเขในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นเด็กมีเป้าหมายเพื่อ

1. รักษาสายตาให้มองเห็นชัดเป็นปกติ
2. ทำให้ตาตรง
3. ฟื้นฟูการใช้สายตาสองข้างร่วมกัน (เห็นภาพสามมิติ)

นอกจากนี้ในผู้ใหญ่  ยังช่วยแก้ไขอาการปวดล้าตา  ขจัดภาพซ้อน  และสร้างความมั่นใจกับตนเองในการเข้าสังคม  เพิ่มโอกาสในการดำเนินชีวิต  อาชีพการงาน  ส่งผลให้เศรษฐฐานะของตนเองและครอบครัวดีขึ้น

หลังจากที่ตรวจตาเสร็จสมบูรณ์แล้ว  จักษุแพทย์จะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยได้  วิธีรักษาแบ่งเป็นสามวิธีที่สำคัญคือ

1. สวมแว่นสายตา
2. ปิดตาเพื่อรักษาตาขี้เกียจ
3. ผ่าตัดกล้ามเนื้อตา

ส่วนวิธีอื่น ๆ ได้แก่การสวมแว่นที่มีปริซึม  หรือการฝึกกล้ามเนื้อตา  เป็นต้น  บางรายอาจต้องใช้มากกว่า 1 วิธีเพื่อการรักษาที่ดีที่สุด   การเลือกวิธีการรักษา  แพทย์จะพิจารณาให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

thTH