เปลือกตาอักเสบ อย่าคิดว่าไม่สำคัญ

เปลือกตาอักเสบ อย่าคิดว่าไม่สำคัญ

โดย ศ.พญ.สมสงวน อัษญคุณ
หัวหน้าศูนย์เลสิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

โรคเปลือกตาอักเสบมีอาการอย่างไร

ถ้าท่านมีอาการเหล่านี้บ่อยๆ แสดงว่า ท่านอาจมีปัญหาของโรคเปลือกตาอักเสบ

1.   ตาเป็นกุ้งยิง
2.   เปลือกตาบวม แดง มีตุ่มคล้ายสิว
3.   ขอบเปลือกตามีตุ่มใสๆ
4.   หนังตาแดง มีคราบขี้ตาหรือสะเก็ดบริเวณขนตา
5.   ขนตาเก
6.   ตาแห้ง  ตาแดง เคืองตา คันตา แสบตา น้ำตาไหล

โรคเปลือกตาอักเสบมีอันตรายอย่างไร

เปลือกตานอกจากจะทำหน้าที่ปกป้องลูกตาแล้ว ยังมีต่อมไขมันและต่อมเหงื่อที่โคนขนตา ซึ่งถ้าเกิดการติดเชื้อจะทำให้เกิดเป็นกุ้งยิงชนิดหัวด้านนอก (External hordeolum) นอกจากนี้ยังมีต่อมไขมัน (meibomian gland) ที่แกนเปลือกตา ซึ่งถ้าเกิดการติดเชื้อจะทำให้เกิดเป็นกุ้งยิงชนิดหัวด้านใน (Internal hordeolum) ซึ่งถ้ามีการอักเสบบ่อยๆ จะทำให้เป็นอันตรายต่อรากขนตา เป็นผลให้เกิดขนตาเกได้

ต่อม Meibomianทำหน้าที่สร้างชั้นไขมันของน้ำตา ซึ่งช่วยให้น้ำตาไม่ระเหยเร็ว ดังนั้นเมื่อมีการอักเสบบ่อยๆ จะทำให้มีการทำงานผิดปกติ (meibomian gland dysfunction หรือ MGD)ซึ่งทำให้เกิดการสร้างไขมันน้อย มีผลทำให้น้ำตาระเหยเร็ว ทำให้เกิดอาการ ตาแห้ง ตาแดง เคืองตา คันตา แสบตา น้ำตาไหล หรือ มีการสร้างไขมันมาก ทำให้เกิดการอักเสบของเปลือกตา ทำให้เกิดอาการหนังตาแดง มีคราบขี้ตาหรือสะเก็ดบริเวณขนตา

ทำไมถึงเกิดโรคเปลือกตาอักเสบ

มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเปลือกตาอักเสบ ได้แก่ การได้รับสิ่งสกปรกบริเวณเปลือกตา เช่น ฝุ่นละออง การเขียนขอบตา การติดขนตาปลอม การสักขอบเปลือกตา เป็นต้น การใส่เลนส์สัมผัส ภาวะภูมิแพ้ของตา รวมทั้งโรคทางระบบร่างกาย เช่น โรคแพ้ภูมิตนเอง ภาวะหมดประจำเดือน การได้รับยาบางอย่าง ได้แก่ ยาแก้แพ้ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต เป็นต้น

 

จะดูแลรักษาโรคเปลือกตาอักเสบอย่างไร

วิธีการดูแลรักษาโรคเปลือกตาอักเสบ ประกอบด้วย

1. รักษาสุขภาพของเปลือกตา ได้แก่

1. ทำความสะอาดเปลือกตาโดยใช้ แชมพูสระผมเด็ก หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาโดยเฉพาะ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของโฟม หรือ เจล หรือ แผ่นสำลีชุบน้ำยาโดยเช็ดทำความสะอาดบริเวณขอบเปลือกตาตรงรูเปิดของต่อมไขมัน เพื่อขจัดไขมันและเชื้อโรคที่สะสมอยู่บริเวณนั้น

2. ประคบอุ่นโดยใช้อุปกรณ์ที่สามารถให้ความร้อนได้ประมาณ 40 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 5-15 นาที ทำวันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งอาจเป็น ผ้าชุบน้ำอุ่น ไข่ต้ม ถุงน้ำร้อน หรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น blepharosteam, hot moist air, eye warmer mask เป็นต้น

3. นวดเปลือกตาเป็นการกดและรีดตามแนวการวางตัวของต่อมไขมันเพื่อให้ไขมันที่อุดตันระบายออกมา โดยใช้นิ้วมือของตนเอง หรืออาจใช้อุปกรณ์ช่วยเช่น คีมหนีบ แท่งหลอดแก้ว หรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น Lipidview เป็นต้น

2.ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อทำลายเชื้อโรคที่สะสมในต่อมไขมันที่อุดตัน ซึ่งประกอบไปด้วย

1. ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่โดยอาจอยู่ในรูปของ ยาหยอดตา เจล หรือขี้ผึ้งป้ายตา เช่น Azithromycin, metronidazole, fucidic acid เป็นต้น
2. ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานได้แก่ Azithromycin หรือ กลุ่ม tetracyclinesเป็นต้น
3. ใช้ยาลดการอักเสบได้แก่steroids หรือ cyclosporine เป็นต้น
4. ใช้น้ำตาเทียมเพื่อหล่อลื่นผิวตาซึ่งมักจะแห้งเนื่องจากน้ำตาระเหยเร็วไป และช่วยชะล้างสารที่กระตุ้นการอักเสบ ซึ่งควรใช้ชนิดที่ไม่มีสารกันเสียถ้าต้องใช้มากกว่า 4 ครั้งต่อวัน และควรใช้ชนิดที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบเพื่อทดแทนชั้นไขมันที่ลดน้อยไป
5. ผ่าตัดเพื่อช่วยให้รูของต่อมไขมันที่เปลือกตาเปิด
6. การรักษาอื่นๆ ได้แก่ การอุดท่อน้ำตา การถอนหรือจี้ขนตาเก การผ่าตัดแก้ไขเปลือกตาเพื่อไม่ให้ขนตาถูกระจกตา การใช้  intense pulsed light เป็นต้น

สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์เลสิค คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โทร. 0-5393-9777 Call center 08-2766-6909 หรือ www.facebook.com/cmulasik

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง สมสงวน อัษญคุณ
ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

thTH