การแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์

การแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์

โดย ศ.พญ.สมสงวน อัษญคุณ
หัวหน้าศูนย์เลสิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

การแก้ไขสายตาผิดปกติโดยใช้แสงเลเซอร์

แสงเลเซอร์มีการนำมาใช้แก้ไขสายตาผิดปกติในผู้ที่ไม่อยากใส่แว่นหรือเลนส์สัมผัส โดยการเปลี่ยนความโค้งของกระจกตา ทำให้แสงไปรวมที่จอตาจึงเห็นภาพได้ชัดเจน ซึ่งมีหลายวิธี ที่นิยมกันในปัจจุบัน คือ เลสิค (LASIK = Laser In-situ Keratomileusis)) และ พีอาร์เค (PRK = Photo-Refractive Keratectomy)

 

เลสิค (LASIK) ทำอย่างไรและมีกี่ชนิด

เลสิค (LASIK) เป็นการแยกชั้นผิวบนของกระจกตาออกเป็นฝา (flap) แล้วใช้เลเซอร์ชนิด Excimer laser ไปสลายเนื้อชั้นกลางของกระจกตา เพื่อแก้ไขความโค้งของกระจกตาให้แสงไปรวมที่จอตาพอดี แล้วนำ flap กลับเข้าปิดเข้าที่เดิม (รูปที่ 1)

การแยกชั้นผิวบนของกระจกตาเพื่อทำ Flap มี 2 วิธี คือ

1. ใช้ใบมีดขนาดเล็ก (microkeratome) (รูปที่ 2) 

เรียกเลสิคแบบนี้ว่า MK LASIK ซึ่งเป็นเลสิคแบบดั้งเดิม
2. ใช้เฟมโตเซคคัน (femtosecond ) เลเซอร์ (FS laser) จึงเรียกเลสิคแบบนี้ว่า เฟมโตเลสิค (femto LASIK) หรือ เลสิคไร้ใบมีด (bladeless LASIK) หรือ เลสิคชนิดเลเซอร์ทั้งหมด (all laser LASIK) (รูปที่ 3)

เฟมโตเลสิคดีกว่าเลสิคแบบใบมีดอย่างไร

เฟมโตเลสิค (Femto lasik) ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยมีข้อดีกว่าเลสิคแบบใบมีด (MK LASIK) หลายอย่าง ได้แก่ สามารถแยกผิวชั้นบนของกระจกตา (Flap) ได้เรียบกว่า ซึ่งมีผลทำให้แผลหายเร็วกว่า มีโอกาสติดเชื้อและตาแห้งหลังผ่าตัดได้น้อยกว่า ได้ภาพคมชัดกว่า มีภาวะแทรกซ้อนของ Flap น้อยกว่า มีความแม่นยำในการกำหนดความหนาของ flap ได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังสามารถตัด flap ได้บางกว่า ทำให้ผู้ที่กระจกตามีความหนาน้อยไม่สามารถทำผ่าตัดเลสิคแบบใบมีดได้ มีโอกาสผ่าตัดแบบ femto LASIKได้อย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม Femto LASIKก็มีข้อด้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ FS laser ได้แก่ การอักเสบของกระจกตา (diffuse lamellar keratitis หรือ DLK) ซึ่งการอักเสบนี้ได้ลดลงเมื่อใช้ FS laser รุ่นใหม่ที่มี pulse rate ที่สูงขึ้น (ของศูนย์เลสิค คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้ FS 200 ซึ่งเป็น pulse rate สูงที่สุดในปัจจุบัน)

 

เลสิค ต่างกับ พีอาร์เค (PRK) อย่างไร

พีอาร์เค (PRK) เป็นการใช้ Excimer laser ไปสลายเนื้อกระจกตาโดยไม่มีการแยกชั้นผิวบนออกเป็นฝา (flap) แต่มีการขูดผิวกระจกตาออกก่อน โดยอาจใช้การขูดด้วยใบมีด หรือแอลกอฮอล์ หรือเลเซอร์ (รูปที่ 4) แล้วใส่เลนส์สัมผัสหลังจากทำเสร็จแล้ว ประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหาย

ข้อได้เปรียบของ PRK คือ สามารถทำได้ในผู้ที่มีกระจกตาบางเกินกว่าที่จะทำ Femto LASIK ได้อย่างปลอดภัย แต่มีข้อเสียเปรียบหลายอย่าง ได้แก่ มีการปวดตาหลังผ่าตัดมากกว่า การหายของแผลช้ากว่า ทำให้มีโอกาสติดเชื้อหลังผ่าตัดมากกว่า มีการเกิดฝ้าของกระจกตาได้มากกว่าจึงไม่ควรทำในผู้ที่มีสายตามากกว่า 4.00 ไดออฟเตอร์ เป็นต้น

 

ข้อควรทราบในการตัดสินใจแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์

การแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์ เป็นการเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาทำให้แสงไปตกที่จอตาพอดี จึงเห็นได้ชัดเจนโดยไม่ต้องใช้แว่นตาหรืเลนส์สัมผัส ดังนั้นผู้ที่ตัดสินใจจะทำ ควรจะต้องมีสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี ไม่มีโรคที่มีผลต่อการหายของแผล เช่น โรคเบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง เป็นต้น  และจะต้องมีการตรวจสภาพตาอย่างละเอียดว่า ไม่มีโรคตา เช่น ต้อหิน ต้อกระจก จุดรับภาพตาเสื่อม ตาขี้เกียจ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องวิเคราะห์สภาพกระจกตาว่าไม่มีข้อห้ามในการทำ เช่น ภาวะกระจกตาโป่ง (Keratoconus) ความหนาของกระจกตาไม่พอ มีความเรียบไม่สม่ำเสมอ กระจกตาแห้งอย่างรุนแรง เป็นต้น

ผู้ที่ใส่เลนส์สัมผัส ต้องหยุดใส่ก่อนไปตรวจเพื่อให้กระจกตาคืนรูป ตามชนิดของเลนส์ ดังนี้ เลนส์สัมผัสชนิดนิ่มไม่แก้สายตาเอียง (Soft contact lens) 1 สัปดาห์ เลนส์สัมผัสชนิดนิ่มแก้สายตาเอียง (soft toric lens) 2 สัปดาห์ เลนส์สัมผัสชนิดกึ่งนิ่มกึ่งแข็ง 1 เดือน

ในวันตรวจ ควรเตรียมแว่นกันแดด และมีผู้พากลับ เพราะต้องได้รับการขยายม่านตาเพื่อประเมินสภาพภายในตาอย่างละเอียด ซึ่งภาวะตามัวและ สู้แสงไม่ได้หลังการขยายม่านตาจะใช้เวลา 3-6 ชั่วโมง จึงไม่สมควรขับรถกลับเอง

 

ศูนย์เลสิค คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้เครื่องเลสิครุ่นไหน

ศูนย์เลสิค คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดบริการตั้งแต่ 12 ธันวาคม 2555 โดยใช้เครื่องเลสิคชนิด WaveLight Refractive Suit (รูปที่ 5) ซึ่งประกอบไปด้วย Femtosecond laser รุ่น FS 200 และ Excimer laser รุ่น EX 500 โดยมีการส่งสัญญาณจากเครื่องวิเคราะห์สภาพกระจกตาซึ่งเป็น Wavefront technology เข้าโดยตรงสู่เครื่องโดยผ่านทาง WaveNet Computer Network ทำให้ข้อมูลถูกต้องและแม่นยำ

ศูนย์เลสิค คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ไหน จะติดต่อได้อย่างไร

ศูนย์เลสิค คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ CMU LASIK Center ตั้งอยู่ที่ชั้น 8 อาคารเฉลิมพระเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา คณะแพทยศาสตร์ (บริเวณลานจอดรถ หลังปั๊มน้ำมัน ตรงข้ามโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่) และให้การดูแลรักษาโดยทีมคณาจารย์จักษุแพทย์ หน่วยโรคกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของสายตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์เลสิค คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โทร. 0-5393-9777 Call center 08-2766-6909 หรือ www.facebook.com/cmulasik

thTH