น้ำตาไหล

โดย นพ.ศักรินทร์ อัษญคุณ

 

คาดว่าหลายๆคนคงมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องน้ำตาไหลไม่มากก็น้อย ก่อนอื่นขออธิบายถึงกลไกในการสร้างและระบายน้ำตาในภาวะปกติเสียก่อนนะครับ

ปกติแล้วน้ำตาจะถูกสร้างมาจากต่อมน้ำตาหลักที่อยู่ในเบ้าตาด้านบน และต่อมน้ำตาย่อยที่กระจายอยู่บริเวณเยื่อตาขาว น้ำตามีประโยชน์ต่อดวงตาเป็นอย่างมาก โดยในภาวะปกติดวงตาของเราจะมีน้ำตามาเคลือบไว้อยู่ระดับหนึ่งตลอดเวลาอยู่แล้ว ไว้คอยให้ความชุ่มชื้นต่อดวงตา หล่อลื่นเวลากระพริบตา และช่วยให้การหักเหของแสงเป็นไปอย่างราบรื่นแม่นยำ ทำให้เรามองเห็นภาพใสปิ๊งชัดเจนตลอดเวลา

น้ำตาที่ถูกสร้างออกมานี้จะถูกจะถูกระบายออกไปทางท่อน้ำตาที่อยู่บริเวณหัวตา ซึ่งท่อระบายนี้จะไปเปิดในโพรงจมูกข้างเดียวกัน จะเห็นได้ว่าในภาวะที่มีการสร้างน้ำตามากเช่นเวลาเราร้องให้ จะมีน้ำมูกไหลลงคอด้วย ซึ่งความจริงเป็นน้ำตาที่ถูกระบายผ่านทางท่อน้ำตาเข้าสู่โพรงจมูกนั่นเอง

             นอกจากความโศกเศร้าเสียใจที่ทำให้เราต้องเสียน้ำตาแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เรามีปัญหาเกี่ยวกับน้ำตาเอ่อ นำ้ตาคลอ น้ำตาไหล จนเป็นที่น่ารำคาญและเสียบุคลิกภาพในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

 

โดยสาเหตุหลักจะจะแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆคือ

1. น้ำตาถูกสร้างออกมามากกว่าปกติ

คือภาวะที่มีการกระตุ้นเส้นประสาทรับรู้ความรู้สึกบริเวณดวงตาหรือรอบๆดวงตา หรือพูดง่ายๆคือภาวะที่ทำให้มีการระคายเคืองต่อดวงตา เช่น ผงฝุ่นละอองเข้าตา ต้อลม ต้อเนื้อ ขนตาเก หรืออยู่ในที่ที่มีสภาวะอากาศแห้ง ลมแรง ก็ทำให้กระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำตาออกมามากกว่าปกติได้

2. น้ำตาถูกระบายออกไปไม่ได้

คือภาวะที่มีการตีบตันของท่อระบายน้ำตา เป็นได้ตั้งแต่รูเปิดของท่อน้ำตาบริเวณหัวตาไปจนถึงท่อน้ำตาที่อยู่ในโพรงจมูก สาเหตุของการตีบหรืออุดตันของทางเดินน้ำตาอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อของทางระบายน้ำตา การใช้ยาหยอดบางอย่างเป็นระยะเวลานาน อายุที่มากขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุก็ได้ การที่ท่อทางเดินระบายน้ำตาอุดตัน ก็เหมือนท่อระบายน้ำหลังบ้านอุดตัน ทำให้น้ำขังในบ้าน ถ้ามีขยะของเสียก็จะส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งเต็มบ้าน ดวงตาเราก็เหมือนกัน เมื่อท่อน้ำตาอุดตัน อาจจะทำให้มีการติดเชื้อที่จะทำให้เกิเยื่อตาอักเสบหรือถุงน้ำตาอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาได้

การรักษา

จักษุแพทย์ก็จะทำการตรวจสุขภาพของดวงตาว่ามีระดับน้ำตามากผิดปกติจริงหรือไม่ ถ้ามีมากกว่าปกติจริง ก็จะทำการตรวจหาสาเหตุว่ามีอะไรกระตุ้นเส้นประสาทรับความรู้สึกที่จะทำให้มีการหลั่งน้ำตาออกมามาก ถ้ามีสาเหตุเหล่านี้ก็รักษาไปตามต้นเหตุ เช่นมีเศษฝุ่นผงหรือขนตาติดอยู่ในเยื่อตา ก็จัดการเอาออก หรือพบว่าเป็นต้อลมต้อเนื้อ ก็ให้ยาหยอดตาและแนะนำให้หลีกเลี่ยงฝุ่น ลม แสงแดดเป็นต้น

แต่ถ้าไม่พบสาเหตุใดๆที่จะกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำตาออกมามากกว่าปกติ จักษุแพทย์ก็จะทำการตรวจดูระบบการระบายน้ำตาว่าสามาถระบายน้ำตาออกสู่โพรงจมูกได้ตามปกติหรือไม่ เช่นการล้างท่อน้ำตา(irrigation)และการแยงท่อน้ำตา(probing) ดูว่าระบายน้ำเกลือที่ฉีดเข้าไปในทางเดินน้ำตาลงไปยังโพรงจมูกได้ปกติดีหรือไม่ เมื่อพบว่ามีการอุดตันตำแหน่งไหนในระบบทางระบายน้ำตา ก็ทำการผ่าตััดรักษาไปตามตำแหน่งที่อุดตันนั้นๆต่อ

 

thTH