โดย พญ.ธิดารัตน์ ลีอังกูรเสถียร

 

ผู้อ่านวัยใกล้ 40หรือบุพการีของท่านเคยมีปัญหาเช่นนี้หรือไม่คะ?

  • ตามัวเวลาอ่านหนังสือในระยะปกติ ต้องยืดมือออกไปสุดแขนถึงจะพออ่านตัวหนังสือได้
  • มีอาการปวดศีรษะ ล้าตาง่ายเมื่อทำงานที่ใกล้ เช่น ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ เย็บผ้า สอยเข็ม เป็นต้น

 

หากท่านมีอาการเหล่านี้ อาจมี “ ภาวะสายตาผู้สูงอายุ (Presbyopia)“เกิดขึ้นแล้ว (แปลได้แก่มาก ขอเรียกใหม่ว่าสายตายาวตามวัยละกันนะคะ)

 

สายตายาวตามวัย เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ต้องทราบกลไกของการเพ่ง (Accommodation) ก่อน ซึ่งเป็นกลไกทางตาที่เกิดขึ้นเวลาเราจ้องมองวัตถุที่อยู่ใกล้ๆ โดยเมื่อมองวัตถุที่ใกล้ เช่น อ่านหนังสือ จะเกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการเพ่ง (Ciliary muscle)ส่งผลให้เลนส์ตา (ซึ่งเป็นเลนส์นูน) เปลี่ยนแปลงความรูปร่างจนมีลักษณะป่อง ผิวโค้งมากขึ้น (รวมแสงได้มากขึ้น)ช่วยโฟกัสแสงไปตกบนจอรับภาพ (Retina)พอดี ทำให้เรามองเห็นภาพได้ชัดเจน

 

กลไกการเพ่งนี้จะค่อยๆ ลดลงตามอายุ โดยจะลดลงชัดเจนเมื่ออายุประมาณ 40ปี ซึ่งเกิดจากเลนส์ตามีความยืดหยุ่นน้อยลง ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างให้ป่องและโค้งมากขึ้นดั่งเดิมได้เวลามองวัตถุที่ใกล้ ทำให้ไม่สามารถโฟกัสแสงไปตกบนจอรับภาพได้ แต่แสงจะตกเลยไปด้านหลังของจอรับภาพ ทำให้เห็นภาพไม่ชัด

จะแก้ไขอย่างไร?

แนะนำง่ายๆ โดยการใส่แว่นตาคะ โดยเลนส์ที่นำมาแก้ไขเป็นเลนส์นูนที่ช่วยโฟกัสแสงนั่นเอง (สั้นเว้า ยาวนูน จำได้หรือไม่คะ)ส่วนการแก้ไขด้วยวิธีอื่นๆ  แนะนำให้ปรึกษาจักษุแพทย์โดยตรงคะ

 

จะเลือกแว่นอย่างไร?

แว่นตาที่แนะนำมี 3แบบ

  1. แว่นชัดระยะเดียว ใส่แล้วมองเห็นเฉพาะที่ใกล้ เช่น เอาไว้อ่านหนังสืออย่างเดียว แต่เวลามองไกลหรือลุกเดินต้องถอดออก แว่นประเภทนี้ต้องพกพา ใส่-ถอด ตามระยะที่ต้องการมองคะ
  2. แว่น 2ชั้น แบบมีรอยต่อ ใส่แล้วมองชัดทั้งระยะใกล้และไกล ไม่ต้องใส่ๆ ถอดๆ แต่มีข้อเสีย คือ เห็นรอยต่อ ทำให้ดูสูงวัยมากขึ้น (แต่บางคนก็ดูสมวัยนะคะ)
  3. แว่นชัดหลายระยะ ไม่มีรอยต่อ ใส่แล้วมองเห็นทั้งระยะใกล้ ระยะกลาง และระยะไกล ใส่แล้วดูไม่แก่ เพราะไม่เห็นรอยต่อคะ 

 

thTH