โดย รศ.พญ.ประภัสสร ผาติกุลศิลา

“คุณหมอคะ  ลูกดิฉันจะเป็นตาขี้เกียจไหมคะ?”  เป็นคำถามที่จักษุแพทย์ได้ฟังบ่อย ๆ จากคุณแม่ยุคใหม่   แล้วตาขี้เกียจ คืออะไร?

 ตาขี้เกียจ คือภาวะที่ระดับการมองเห็นผิดปกติ  โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีโรคร้ายแรงใด ๆ เกิดขึ้นกับลูกตา  เริ่มเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก  อายุน้อยกว่า 6-7 ขวบ  ซึ่งเป็นวัยที่ระบบประสาทด้านการมองเห็นยังเจริญไม่เต็มที่
 สาเหตุของตาขี้เกียจเกิดจากอะไรบ้าง?
 มีหลายสาเหตุด้วยกัน  อาจแบ่งได้ดังนี้
1. ภาวะตาเข  ซึ่งเป็นภาวะที่แนวการมองของตาทั้งสองข้างไม่ขนานกัน  และทำให้เกิดการเห็นภาพซ้อน (มองเห็นวัตถุหนึ่งอย่างเป็นสองภาพ)  แต่สมองของเด็กก็จะมีการปรับตัวเพื่อขจัดภาพซ้อน  โดยการสร้างจุดบอดขึ้นมาบดบังภาพที่เกิดจากตาข้างที่เข  เด็กจึงใช้ตาข้างดีมองเพียงตาเดียว  ส่งผลให้ตาข้างเขไม่ทำงาน  และขี้เกียจในที่สุด
2. ภาวะสายตาผิดปกติ  ได้แก่ สายตาสั้น  สายตายาว และสายตาเอียง  ซึ่งเป็นภาวะที่แสงไม่สามารถรวมภาพได้ชัดเจนที่จอประสาทตา  เด็กจึงมองเห็นไม่ชัดเจน   สมองก็จะจำว่า  นี่แหละคือภาพที่ชัดที่สุดแล้ว  และจำเช่นนี้ตลอดไป  หากไม่แก้ไขตั้งแต่อายุยังน้อย  ก็เกิดตาขี้เกียจซึ่งอาจเป็นตาเดียวหรือทั้งสองตาก็ได้
3. ภาวะที่มีสายตาทั้งสองข้างแตกต่างกันมาก  เช่นมีสายตายาวหรือสั้นมากเพียงข้างเดียว  เด็กจะเลือกใช้เฉพาะตาข้างที่ดีมอง  ส่งผลให้ตาอีกข้างขี้เกียจ  เด็กกลุ่มนี้ พ่อแม่มักไม่ทราบว่าลูกของตนมีความผิดปกติทางสายตา  เพราะไม่มีลักษณะตาเขให้เป็นที่สังเกต  และพฤติกรรมการมองก็จะเหมือนเด็กปกติ  เนื่องจากเด็กใช้ตาข้างที่ดีมอง  ต่อเมื่อมีการลองปิดตาข้างดี  หรือมีแพทย์ พยาบาลไปตรวจที่โรงเรียน จึงจะทราบว่ามีตาขี้เกียจไปข้างหนึ่ง
4. ภาวะใด ๆ ที่มีการบดบังทางเดินของแสงเข้าไปกระตุ้นถึงจอประสาทตา  เช่น กระจกตาขุ่น  ต้อกระจก  เลือดออกในลูกตา เป็นต้น  หากภาวะต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่อายุน้อยกว่า 6-7 ปี  จะทำให้ตาข้างนั้นขี้เกียจได้  และถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที และต่อเนื่อง  เด็กก็จะเกิดภาวะตาขี้เกียจตลอดไป  บางครั้งแม้จะรักษาอย่างเต็มที่ ก็ไม่สามารถทำให้การมองเห็นกลับคืนมาสู่ระดับปกติได้   ตาขี้เกียจที่เกิดจากสาเหตุกลุ่มนี้  รักษาได้ยากที่สุด

5. การปิดตาข้างใดข้างหนึ่ง  เช่น เด็กมีตาเขข้างเดียว  ร่วมกับตาขี้เกียจ  แพทย์จะแนะนำให้ปิดตาข้างที่ดีเพื่อกระตุ้นให้เด็กกลับมาใช้ตาอีกข้าง  และนัดตรวจเป็นระยะตามความเหมาะสม  อย่างไรก็ตาม  ถ้าปิดตานานเกินไปโดยไม่ได้มาตรวจระดับการมองเห็นในตาข้างที่ปิดตามแพทย์นัด  อาจทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจกับตาข้างดีก็ได้

เมื่อเด็กมีภาวะตาขี้เกียจเกิดขึ้นแล้ว  สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้  อย่างไรก็ตาม  ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเต็มที่ของพ่อแม่และเด็กเองด้วย    แพทย์จะช่วยตรวจวินิจฉัย   ติดตามการรักษา  และให้คำแนะนำวิธีการรักษาให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีความเข้าใจตั้งแต่เริ่มรักษา  ครอบครัวที่มีความมุ่งมั่นสูง  และร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด  ผลการรักษามักจะดี

 อีกประการหนึ่ง  การตอบสนองต่อการรักษาและผลการรักษา ก็ยังขึ้นกับอายุที่เริ่มรักษาอีกด้วย  ยิ่งเริ่มรักษาภาวะตาขี้เกียจตั้งแต่อายุน้อยเท่าใด  ก็มีโอกาสได้ผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้นเท่านั้น  หากมาพบแพทย์เมื่ออายุมากแล้ว  ผลการรักษาก็อาจไม่ค่อยดีนัก
วิธีการรักษาตาขี้เกียจ  ขึ้นกับสาเหตุ  โดยภาพรวม  อาจแบ่งวิธีการรักษาได้ดังนี้
1. การสวมแว่นสายตา  กรณีที่มีสายตาผิดปกติ  ซึ่งทำให้มองเห็นไม่ชัด  เด็กจำเป็นต้องสวมแว่นสายตาตลอดเวลาที่ตื่นและทำกิจกรรมในเวลากลางวัน
2. การปิดตาข้างที่ดี  ใช้สำหรับรายที่มีภาวะตาขี้เกียจข้างเดียว  และยังขี้เกียจอยู่แม้จะสวมแว่นสายตาแล้ว
3. การผ่าตัดกล้ามเนื้อตา  ใช้สำหรับเด็กตาขี้เกียจที่มีภาวะตาเขร่วมด้วย  ทั้งนี้  ต้องได้รับการรักษาโดยปิดตาข้างที่ดีได้เป็นที่น่าพอใจ  และเด็กสวมแว่นสายตาได้เป็นที่น่าพอใจแล้ว

 อย่างไรก็ตาม  แพทย์จะต้องตรวจ วินิจฉัย อย่างละเอียด  และพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กคนหนึ่ง ๆ  จะไม่มีรูปแบบการรักษาแบบใดแบบหนึ่งที่สามารถใช้สำหรับเด็กทุกคนได้เสมอไป

ท่านจะเห็นว่า  ตาขี้เกียจ  สามารถรักษาได้โดยไม่ยากนัก  ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง  เพราะเด็กยังต้องใช้ชีวิตต่อไปอีกยาวนาน  หากมีระดับการมองเห็นที่ปกติ  มีตาตรงและใช้ตาสองข้างร่วมกันได้  จะทำให้พัฒนาการด้านอื่น ๆ ของร่างกายเป็นไปอย่างปกติ ไม่เป็นภาระของสังคม    ทำให้การเรียนรู้ของเด็ก เท่าทันเด็กที่ปกติ  และเสริมสร้างความมั่นใจในการเข้าสังคม  เพิ่มโอกาสการได้ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี  ส่งผลให้เศรษฐฐานะของครอบครัวสูงขึ้นอีกด้วย     ทั้งนี้  คงต้องอาศัยความใส่ใจของพ่อแม่ผู้ปกครองต่อเด็ก  พามาตรวจรักษาตั้งแต่อายุน้อยที่สุดที่สังเกตเห็นความผิดปกติ  ให้ความร่วมมืออย่างเคร่งครัดในการปฏิบัติตัว และติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
thTH