โดย พญ.ธิดารัตน์ ลีอังกูรเสถียร

 

โรคต้อหินคืออะไร?

โรคต้อหิน (Glaucoma)คือ โรคตาชนิดหนึ่งที่การระบายออกของน้ำเลี้ยงในลูกตาน้อยกว่าปกติ ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นจนกระทั่งกดทำลายขั้วประสาทตา(Optic disc) ทำให้มีความผิดปกติของลานสายตาจนกระทั่งตาบอดในที่สุด

โรคต้อหินมีความสำคัญอย่างไร?

โรคต้อหิน เป็นสาเหตุทำให้ตาบอดมากเป็นอันดับ 2รองจากต้อกระจก แต่โรคต้อหินทำให้เกิดตาบอดแบบถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้เหมือนต้อกระจก

 

อะไรคือสาเหตุของโรคต้อหิน?

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่พบกลุ่มที่มีความเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีญาติเป็นโรคต้อหิน ผู้ที่มีความดันลูกตาสูงกว่าค่ามาตรฐาน

นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดที่ทำให้เลือดไหลเวียนไปขั้วประสาทตาไม่ดี ผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวมากๆ พบว่ามีความเสี่ยงในการเกิดต้อหินมากขึ้น

 

อาการของโรคต้อหินเป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยส่วนมากเป็นต้อหินชนิดเรื้อรัง ซึ่งในระยะแรกของโรคจะไม่แสดงอาการชัดเจน คือ ไม่มีอาการปวด ไม่มีตามัวหรือตาแดง โดยหากผู้ป่วยมีอาการตามัว และลานสายตาผิดปกติ เช่น มีแถบมืดดำเกิดขึ้นในลานสายตา หรือการมองเห็นแคบลง แสดงว่าโรคต้อหินนั้นเป็นระยะท้ายๆ แล้ว

ต้อหินอีกชนิดหนึ่ง คือ ต้อหินชนิดเฉียบพลัน ซึ่งจะมีอาการชัดเจน คือ ปวดตามากทันทีโดยไม่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยยาแก้ปวด ตามัวลง ตาแดง มองเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้และอาเจียนได้

โรคต้อหินอาจแบ่งตามลักษณะทางกายวิภาค โดยใช้มุมตา ซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำเลี้ยงลูกตาระบายออกจากตา ได้เป็นชนิดมุมตาเปิดและมุมตาปิดหรือแคบ โดยหากผู้ป่วยมีมุมตาปิดหรือแคบจะมีความเสี่ยงต่อการที่น้ำเลี้ยงลูกตาระบายออกจากตาไม่ได้อย่างเฉียบพลัน ทำให้เกิดต้อหินชนิดเฉียบพลันได้ และมีอาการดังกล่าวข้างต้น ส่วนต้อหินชนิดมุมตาเปิด พบว่าน้ำเลี้ยงลูกตาระบายออกจากบริเวณมุมตาได้น้อยกว่าปกติ

การรักษาโรคต้อหินทำได้อย่างไร?

โรคต้อหินไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาเป็นเพียงการยับยั้งและชะลอโรคไม่ให้มีการสูญเสียการมองเห็นเพิ่มขึ้น

การรักษาหลักของโรคต้อหิน คือ การลดความดันลูกตา โดยการหยอดและ/หรือรับประทานยา การรักษาด้วยเลเซอร์ และการผ่าตัด โดยขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคต้อหิน

 

โรคต้อหินสามารถป้องกันได้หรือไม่?  

เราไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคต้อหินได้ แต่สามารถป้องกันการเกิดภาวะตาบอดถาวรได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ดังนั้นการได้รับการตรวจวัดความดันลูกตา ตรวจขั้วประสาทตา และตรวจสุขภาพตาอื่นๆ จากจักษุแพทย์เป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

 

เมื่อไหร่จึงควรเข้ารับการตรวจตาจากจักษุแพทย์?

ประชาชนทั่วไปควรได้รับการตรวจสุขภาพตาจากจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ดังนี้

  • อายุ >40ปี
  • มีญาติเป็นโรคต้อหิน
  • เคยได้รับอุบัติเหตุรุนแรงที่ตาและบริเวณใกล้เคียง
  • เคยมีการอักเสบภายในลูกตามาก่อน
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ผู้ป่วยเบาหวานสายตาสั้นหรือยาวมากๆ
thTH