โดย รศ.พญ.ประภัสสร ผาติกุลศิลา

ต้อหินเป็นโรคที่คนส่วนใหญ่ มักไม่ทราบว่าตนเป็นโรคนี้เมื่อเริ่มเป็นในระยะแรก พอทราบก็เกือบถึงขั้นตาบอดแล้ว โรคต้อหินหลายรายมักมีความดันภายในลูกตาที่สูงเกินไป ทำให้ประสาทตาถูกกด กระบวนการมักค่อยเป็นค่อยไปช้าๆ แต่ยังมีต้อหินชนิดเฉียบพลัน ซึ่งจะมีอาการปวดตา ตามัวอย่างรวดเร็วและมาพบแพทย์

ปัจจุบันโรคต้อหินเกิดได้แม้ว่าความดันลูกตาจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ ขั้วประสาทตาจะฝ่อไปเรื่อยๆ เราถือว่าความดันตาที่สูงเป็นเพียง “ปัจจัยเสี่ยง” ของการเกิดโรคต้อหิน มิใช่ส่วนหนึ่งของการวินิจฉัยโรค กล่าวง่ายๆก็คือ โรคต้อหินเป็นภาวะที่ขั้วประสาทตาถูกทำลาย โดยอาจเกี่ยวเนื่องกับความดันภายในลูกตาที่สูงขึ้นผิดปกติ หรือภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงที่ขั้วประสาทตาโดยที่ความดันตาอยู่ในระดับปกติก็ได้ และมักทำให้เกิดความผิดปกติของลานสายตา

สาเหตุของโรคต้อหิน

    สาเหตุนำเกิดจากการที่มีความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้น  ซึ่งอาจเป็นผลจากอายุที่มากขึ้น เนื่องจากเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นจะมีความเสื่อมของช่องระบายน้ำออกจากลูกตา  ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงภายในลูกตาไม่สามารถระบายได้  เกิดการคั่งภายใน  ความดันตาจึงสูงขึ้น  และความดันตาที่สูงขึ้นนี้เอง  จะไปกดทำลายขั้วประสาทตา  ทำให้ขั้วประสาทตาเสื่อมหรือฝ่อไปทีละน้อย  จนบอดไปในที่สุด นอกจากนั้นแล้ว  ในผู้สูงอายุเลนส์แก้วตาก็มักมีขนาดใหญ่ขึ้น  หรือมีต้อกระจก  และทำให้เกิดต้อหินชนิดมุมปิดขึ้นได้อีก 

การระบายน้ำที่ผิดปกติ  อาจเกิดจากโรคภายในตา  เช่นการอักเสบ  หรือโรคบางชนิดที่เป็นมาแต่กำเนิด  แม้กระทั่งการมีสัดส่วนดวงตาที่เล็กกว่าปกติ  เช่นคนที่มีสายตายาวมาก ๆ  ก็จะเกิดโรคต้อหินชนิดมุมปิดเฉียบพลันได้
นอกจากเรื่องอายุและความผิดปกติของดวงตาแล้ว  ประวัติครอบครัวก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก  เนื่องจากต้อหินสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ปัจจุบันเราทราบกันแน่นอนแล้วว่า  หากบุคคลในครอบครัวเป็นต้อหิน  คนที่เป็นพี่น้อง  หรือบุตรหลานของตระกูลนั้นจะมีโอกาสเกิดเป็นต้อหินได้มากกว่าคนอื่น
สุขภาพร่างกาย  เช่นผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน  โรคหัวใจ  และโรคความดันโลหิตสูง  ก็พบว่ามีโอกาสเป็นต้อหินได้มากขึ้นเช่นกัน

 

ต้อหินทำให้ตาบอดได้อย่างไร

ผู้ที่เป็นต้อหิน  ซึ่งมีความดันตาสูงหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น  จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงขั้วประสาทตา  เซลล์ประสาทจะตายลงทีละน้อย  ความกว้างของการมองเห็นหรือลานสายตาจะค่อย ๆ แคบลงโดยที่ไม่รู้ตัว  เนื่องจากบริเวณส่วนกลาง
ของการมองยังดีอยู่  แต่ที่เริ่มเสียไปคือบริเวณรอบนอก  ซึ่งจะค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาสู่ส่วนกลางแล้วทำให้ตาบอดได้ในที่สุด

จะทราบได้อย่างไรว่าท่านเป็นโรคต้อหิน 

ปกติเรามักไม่รู้ตัวเองว่าเป็นต้อหิน  จนกว่าจะได้รับการตรวจ  ยกเว้นคนที่มีการสังเกตค่อนข้างดี  และตรวจเช็คการมองเห็นทีละข้าง  โดยการปิดตาซ้ายและขวาสลับกัน  เนื่องจากโรคต้อหินเป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้า  ค่อยเป็นค่อยไปในคนส่วนใหญ่ (ยกเว้นเป็นต้อหินชนิดเฉียบพลันที่จะปวดตาอย่างมากและรวดเร็ว)  จึงเป็นการยากที่คนที่เป็นโรคต้อหินจะรู้ด้วยตัวเอง นอกจากการตรวจโดยจักษุแพทย์เท่านั้น

 

การวินิจฉัยโรคต้อหินทำอย่างไร

ต้องตรวจตาอย่างละเอียด  โดยการวัดระดับสายตา  วัดความดันตา  ตรวจมุมตา  และตรวจดูขั้วประสาทตา  นอกจากนี้ ปัจจุบัน ยังมีการวิเคราะห์ขั้วประสาทตาด้วยคอมพิวเตอร์    ซึ่งจะทำให้การวินิจฉัยได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น  บางรายจะเป็นต้องอาศัยการถ่ายภาพขั้วประสาทตาด้วย เหล่านี้เป็นหน้าที่ของจักษุแพทย์

 

โรคต้อหินจะรักษาให้หายขาดได้หรือไม่

แม้ว่าต้อหินส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้  แต่ก็สาม้ารถควบคุมมิให้ลุกลามมากขึ้นได้  แต่โรคต้อหินบางชนิด  เช่นที่เกิดจากมุมตาแคบ  เป็นโรคต้อหินแบบเฉียบพลัน  สามารถรักษาให้หายขาดได้  ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

 

ชนิดของโรคต้อหิน  ที่พบบ่อย มี 4 ชนิดได้แก่

  1. ต้อหินมุมปิด  มี 2 แบบ คือชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง  ถ้าเป็นเฉียบพลัน  จะมีอาการปวดตา ตามัว  ตาแดง  มองเห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ  อาการอาจรุนแรงมากจนคลื่นไส้  อาเจียน  หากเป็นแบบเรื้อรัง  บางรายอาจปวดเล็กน้อย  เป็นครั้งคราว  มักได้รับการรักษาแบบโรคปวดศีรษะมาเป็นเวลานานโดยไม่ทราบว่าเป็นโรคต้อหิน
  2. ต้อหินมุมเปิดเรื้อรัง  เป็นชนิดที่พบบ่อย  มี 2 แบบคือชนิดความดันลูกตาสูง และความดันลูกตาปกติ  ทั้งสองแบบจะไม่มีอาการปวดตาหรือตาแดง  ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว  หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาล่าช้า  ก็ทำให้ตาบอดได้    แต่ถ้าเริ่มรักษาตั้งแต่แรก ก็มักจะรักษาสายตาไว้ได้
  3. ต้อหินแทรกซ้อน  เกิดจากความผิดปกติอื่น ๆ ของดวงตา  เช่นการอักเสบ  ต้อกระจกที่สุกมากเกินไป  อุบัติเหตุต่อดวงตา  เนื้องอก  การใช้ยาหยอดตาบางชนิด  และเกิดตามหลังการผ่าตัดตา
  4. ต้อหินในเด็กและทารก  เกิดจากความผิดปกติของดวงตาตั้งแต่แรกคลอด  อาจมีความผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกายด้วย  มารดาอาจสังเกตเห็นว่าลูกน้อยมีอาหารน้ำตาไหล  กลัวแสง  หรือมีขนาดตาดำที่โตผิดปกติ  หรือมีการขุ่นขาวของกระจกตาดำ  ต้องรีบรักษาโดยจักษุแพทย์

การรักษาต้อหินทำได้อย่างไร

มักเริ่มด้วยยาหยอดตา  ซึ่งเป็นยาที่ลดความดันตา  ในปัจจุบันมียารักษาต้อหินใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงหลายชนิด  ทำให้ลดความจำเป็นในการผ่าตัดได้มาก  บางรายอาจใช้เลเซอร์ร่วมด้วย  แต่หากไม่สามารถควบคุมโรคได้  อาจต้องรับการผ่าตัด  ซึ่งมีหลายเทคนิค  ที่จักษุแพทย์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย  บางรายไม่ได้ผล  อาจต้องผ่าตัดใส่ท่อระบาย ซึ่งทำจากวัสดุสังเคราะห์พิเศษ

 

การปฏิบัติตัวของท่านที่เป็นโรคต้อหิน ง่าย ๆ  คือ

  • 1. หยอดยาตามแพทย์สั่ง
  • 2. อย่าปล่อยให้ขาดยา  ควรไปซื้อยาก่อนที่ยาจะหมด
  • 3. ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  • 4. ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง  ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
  • 5. ไม่สูบบุหรี่
  • 6. ไม่ซื้อยาหยอดตาใช้เองโดยไม่ได้ปรึกษาจักษุแพทย์ของท่าน
  • 7. พาสมาชิกครอบครัวของท่านตรวจสุขภาพตาโดยละเอียดกับจักษุแพทย์  ว่ามีต้อหินหรือไม่  หากพบจะได้เริ่มรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

Update 10/05/2564

thTH