การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (Teenage pregnancy)

พ.ญ.อุษมา ช้อนนาค
รศ.ดร.นพ. วีรวิทย์ ปิยะมงคล


คำจำกัดความ

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หมายถึง การตั้งครรภ์ในสตรีที่มีอายุระหว่าง 10-19 ปี โดยถืออายุ ณ เวลาที่คลอดบุตร ซึ่งในบางการศึกษาจะแบ่งเป็นช่วงวัยรุ่นตอนต้น คือ อายุ 10-14 ปี และช่วงวัยรุ่น คืออายุ 15-19 ปี (1)

โดยปัจจัยเสี่ยงของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้นเกิดจากปัจจัยหลายด้าน เช่น การคุมกำเนิดที่ไม่เหมาะสม การศึกษาต่ำ การที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์เร็ว การเข้าถึงทางการแพทย์ไม่ดี ความเชื่อทางศาสนา หรือการที่มีประวัติครอบครัวตั้งครรภ์เมื่อวัยรุ่น

อุบัติการณ์

จากการเก็บข้อมูลทั่วโลกในปี พ.ศ.2558-2564 พบว่ามีสตรีวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 18 ปีคลอดบุตรอยู่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในประชากรกลุ่มนี้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา (1,2)

สถานการณ์การตั้งครรภ์วัยรุ่นปัจจุบัน ข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2563 พบว่าอัตราการตั้งครรภ์ในกลุ่มประชากรวัยเจริญพันธ์นั้นลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 และอัตราการตั้งครรภ์ในกลุ่มประชากรวัยรุ่นนั้นลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งมีอัตราการตั้งครรภ์อยู่ที่ 15.4 ต่อกลุ่มวัยรุ่นที่อายุ 15-19 ปี 1,000 ราย ซึ่งลดลง 8 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และลดลง 75 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2534 ที่พบว่ามีอัตราการตั้งครรภ์สูงที่สุดคือ 61.8 โดยพบว่ามีการตั้งครรภ์ซ้ำอย่างน้อยเป็นการตั้งครรภ์ครั้งที่สองในกลุ่มวัยรุ่นนี้ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ (3)

Chart, line chart Description automatically generated

ภาพที่ 1: แสดงอัตราการคลอดบุตรในกลุ่มประชากรวัยเจริญพันธุ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา (3)

ภาพที่ 2: แสดงอัตราการคลอดบุตรในกลุ่มประชากรแต่ละช่วงอายุของประเทศสหรัฐอเมริกา (3)

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ข้อมูลของกรมอนามัยพบว่า การมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอายุที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์น้อยลงไป ต่อ 1000 คน ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี

ข้อมูลจากกรมอนามัย ในปี พ.ศ.2563 (4) พบว่าอัตราการคลอดบุตรในกลุ่มตั้งครรภ์วัยรุ่นอยู่ที่ 28.7 ต่อวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีจำนวน 1,000 ราย ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกับแนวโน้มของโลก ซึ่งสาเหตุเกิดจากการที่วัยรุ่นมีการคุมกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการสอนเกี่ยวกับเรื่องเพศให้กับวัยรุ่นมากขึ้น โดยข้อมูลในจังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2563 พบว่าจำนวนหญิงตั้งครรภ์ในกลุ่มอายุ 15-19 ปี มีอัตราการคลอดอยู่ที่ 28.69 ต่อวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีจำนวน 1,000 ราย ซึ่งมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบจากปี พ.ศ. 2561 และปี พ.ศ. 2562 อยู่ที่ 16 และ 7.8 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

ซึ่งเป็นสัญชาติไทยจำนวน 52.9% และเป็นสัญชาติอื่นร่วมกับกลุ่มชนเผ่าต่างๆ อีกจำนวน 47.1%

แม้ว่าอัตราการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นจะลดลงเนื่องจาก การศึกษาที่ดีขึ้น การเข้าถึงการแพทย์ที่ดีขึ้น และการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาการตั้งครรภ์นั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของวัยรุ่น โดยมีการวัดเป็น การสูญเสียปีสุขภาวะ หรือ Disability-Adjusted Life Years (DALY) ซึ่งเป็นการวัดการสูญเสียสุขภาวะเป็นจํานวนปี ชีวิตที่ปรับด้วยพิการ มีหน่วยเป็น DALY แทนจํานวนราย พบว่าการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นนั้นเป็นสาเหตุ 1 ใน 5 อันดับของการสูญเสียปีสุขภาวะ และการเสียชีวิตของประชากรวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี (2)

ผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ต่อวัยรุ่น

ด้านมารดา

  1. ภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ (Pregnancy induced hypertension)

มีการศึกษาข้อมูลแบบ meta-analysis และ systemic review ขนาดใหญ่ เก็บข้อมูลจำนวน 70 งานวิจัย ผู้เข้าร่วมเป็นประชากรวัยรุ่นทั่วโลก จำนวน 291,247 ราย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ซึ่งจากศึกษาข้อมูลนี้พบว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้นเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษขึ้น 6.7% ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐานะที่ยากจน(6) และมีงานวิจัยที่กล่าวถึงโอกาสการเกิดความดันโลหิตสูง ที่เพิ่มขึ้นในวัยรุ่นเมื่อเทียบกับสตรีตั้งครรภ์ที่อายุมากกว่า โดยมีการพูดถึงสาเหตุที่เกิดจากการเจริญของมดลูกไม่เต็มที่(7) การเจริญของเส้นเลือดและรกที่ไม่ดี ทำให้เพิ่มอัตราการเกิดความดันโลหิตสูงในวัยรุ่นขึ้น 2.29 เท่า(7) แต่อย่างไรก็ตามมีอีกหลายงานวิจัยที่พบว่าไม่ได้แตกต่างกัน (8)

  1. ภาวะโลหิตจาง (Anemia)

ภาวะโลหิตจาง เป็นปัญหาสำคัญที่พบได้อย่างกว้างขวาง จากการศึกษาแบบ meta-analysis เปรียบเทียบกับสตรีที่อายุมากกว่า 20 ปี พบว่า relative risk เป็น 2.57 (9) สำหรับประเทศกำลังพัฒนาพบว่ามีอุบัติการณ์ของภาวะโลหิตจางในทั้งสองกลุ่มเท่า ๆ กัน แต่ความรุนแรงต่างกัน โดยส่วนใหญ่เกิดจากภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะขาดธาตุเหล็ก folic acid การติดเชื้อมาลาเรีย การมีพยาธิในลำไส้ แต่ในประเทศไทยภาวะโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย ก็เป็นอีกสาเหตุของภาวะซีดซึ่งอุบัติการณ์แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค(10)

  1. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (sexual transmitted disease)

สำหรับในสตรีวัยรุ่นเป็นวัยที่มีพฤติกรรมทางเพศสม่ำเสมอ มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น ซิฟิลิส หนองใน เป็นต้น ได้มากขึ้น ทั้งนี้การตั้งครรภ์อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพมารดาและทารก และเพิ่มโอกาสการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม(11)

  1. การเกิดภาวะทุพลภาพและเสียชีวิตของมารดา (morbidity and mortality)

พบภาวะทุพพลภาพและการตายของมารดาในประเทศกำลังพัฒนาได้สูงกว่าในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งพบในหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นได้มากกว่า สาเหตุเกิดจากการตกเลือดหลังคลอด การติดเชื้อในมดลูก และหากไม่ได้รับการฝากครรภ์จะพบอุบัติการณ์เหล่านี้ได้มากขึ้น(12) ปัจจัยส่งเสริมอื่นๆได้แก่ การมีเศรษฐสถานะต่ำ ระดับการศึกษา ความพร่องในการรับบริการสุขภาพ และการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย จากอุบัติการณ์พบว่าในกลุ่มวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์อายุ 15-19 ปี มีการทำแท้งประมาณ 29% และจากการรวบรวมของสาธารณะสุขจังหวัดเชียงใหม่พบว่า การทำแท้งประมาณ 36% ในกลุ่มตั้งครรภ์วัยรุ่น(5)

ด้านทารก

  1. การคลอดก่อนกำหนด (preterm birth)

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพบว่า เกิดการคลอดกำหนดมากขึ้น เปรียบเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่อายุ 20-30 สัปดาห์ โดยเกิดจากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการเจริญเติบโตที่ไม่เต็มที่ของวัยรุ่น ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการดูแลในระยะฝากครรภ์ที่น้อยกว่าปกติ และการฝากครรภ์ช้า(11)

  1. ทารกน้ำหนักน้อย (low birth weight)

ภาวะทารกน้ำหนักตัวน้อย เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากภาวะการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งในกลุ่มที่ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พบว่ามีอุบัติการณ์การเกิดทารกกลุ่ม extremely low birth weight (น้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,000 กรัม) มากขึ้น(11)

  1. อัตราตายปริกำเนิด (stillbirth)

อัตราตายปริกำเนิดจะเพิ่มขึ้นในสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่น จากรายงานส่วนใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา มีรายงานพบว่าอัตราการเกิดการตายปริกำเนิด เพิ่มขึ้น 4 เท่า ในสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นอายุ 10-14 ปี และอัตราการเกิดการตายปริกำเนิด เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ในกลุ่มสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี(12) ซึ่งเป็นผลจากการคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักน้อย(11)

การดูแลสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่น

ระยะก่อนคลอด

ในช่วงระยะก่อนคลอด เป็นช่วงที่สามารถลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งคือการดูแลในช่วงฝากครรภ์ ให้ดี แต่ปัญหาที่พบคือการมาฝากครรภ์ช้าและการไม่มาฝากครรภ์ ซึ่งควรให้การดูแลดังนี้

  • การให้คำแนะนำเกี่ยวกับภาวะโภชนาการอย่างเหมาะสม เช่น การได้รับธาตุเหล็กที่เหมาะสม ซึ่งในหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับธาตุเหล็กวันละ 27 มิลลิกรัม เพื่อลดการเกิดภาวะซีดระหว่างการตั้งครรภ์ และในกลุ่มวัยรุ่นควรได้รับแคลเซียม 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน (14)
  • การตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อที่จะให้การรักษาได้เร็วที่สุดและลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
  • มีการคัดกรองเรื่องการใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด คลอดก่อนกำหนด เป็นต้น เนื่องจากมีการรายงานว่าในกลุ่มสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นมีอัตราการสูบบุหรี่มากกว่าสตรีตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า (15)
  • ติดตามการเจริญเติบโตของทารกทั้งจากการตรวจร่างกาย และการตรวจอัลตราซาวน์ติดตามน้ำหนัก
  • การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการนับลูกดิ้น การสังเกตอาการของการเจ็บครรภ์คลอด
  • การดูแลสภาพจิตใจ ให้กำลังใจและคำปรึกษากับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจระหว่างการตั้งครรภ์

ระยะคลอด

การดูแลสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นในระยะคลอด ไม่แตกต่างจากสตรีตั้งครรภ์ทั่วไป จากการศึกษาส่วนใหญ่พบว่า ภาวะแทรกซ้อนในช่วงคลอดของสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นน้อยกว่าในผู้ใหญ่ ซึ่งมักเป็นภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรมในระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะโลหิตจาง เป็นต้น (8)

มีการรายงานเรื่องช่องทางคลอด(16) พบว่า ในสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นมีอัตราการไปผ่าตัดคลอดน้อยกว่าในสตรีตั้งครรภ์ผู้ใหญ่ ซึ่งข้อบ่งชี้ที่ทำให้ต้องไปผ่าตัดคลอดคือ การเกิดภาวะศีรษะของทารกไม่ได้สัดส่วนกับเชิงกรานมารดา (cephalopelvic disproportion) รองลงมาคือ การเกิดภาวะเครียดของทารกในครรภ์

ระยะหลังคลอด

  • การให้คำแนะนำ และกระตุ้นให้สตรีวัยรุ่นเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดา
  • การประเมินภาวะโภชนาการหลังคลอด เช่น การรับประทานธาตุเหล็กเสริม และการเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอ เนื่องภาวะซีดยังเป็นปัญหาต่อเนื่องจนถึงช่วงหลังคลอด และการให้นมทารก
  • การสนับสนุนให้สตรีวัยรุ่นกลับไปเข้าสู่ระบบการศึกษา และส่งเสริมให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสมตามวัย
  • การดูแลและประเมินสภาพจิตใจเป็นระยะ เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า ในสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นมีการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้มากกว่าผู้ใหญ่ประมาณ 2 เท่า ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย เช่น สภาพแวดล้อม การยอมรับของคนในครอบครัวและสังคม การจัดการกับความเครียดที่ไม่เหมาะสม โดยอาการที่จะพบได้คือ มีความเครียดในการเลี้ยงดูบุตรมากขึ้น ไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทารก รู้สึกเหนื่อยง่ากว่ายปกติ และรู้สึกไร้ค่า เป็นต้น (17)

การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น(3) พบว่า ประมาณ 85% ของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเกิดจากการที่ไม่ได้วางแผน และข้อมูลจากกรมอนามัยประเทศไทย(4) พบว่าประมาณ 7.8% ของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้นเป็นการตั้งครรภ์ซ้ำเป็นครรภ์ที่สอง เพราะฉะนั้นการคุมกำเนิดจึงเป็นการป้องกันที่สำคัญ

การป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น มีการให้ความช่วยเหลือและเปิดโอกาสให้กับหญิงตั้งครรภ์กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง สนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลการคุมกำเนิด มีการให้ความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาที่เหมาะสม การสนับสนุนให้มีการคุมกำเนิดหลังคลอดหรือหลังแท้งแก่วัยรุ่น โดยการเยี่ยมบ้านหรือนัดตรวจติดตาม เพื่อลดโอกาสการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น

การคุมกำเนิด

การคุมกำเนิดมีหลากหลายวิธีการ แต่วิธีการที่เหมาะสมในวัยรุ่น ควรต้องใช้ง่าย ไม่ต้องพบแพทย์บ่อย สามารถคุมกำเนิดได้ระยะยาว ราคาถูก และปลอดภัย

ในคำแนะนำของ American College of Obstetrics and Gynecology (ACOG) แนะนำให้การคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร (Long-acting reversible contraception) เช่น การฝังยาคุมกำเนิด การใส่ห่วงคุมกำเนิด เป็นต้น ซึ่งสามารถคุมกำเนิดได้ระยะเวลานาน และควรเริ่มคุมกำเนิดทันทีหลังคลอด ซึ่งวิธีการนี้ไม่มีผลกระทบกับการให้นมบุตร อีกทั้งควรคุมกำเกิดด้วยวิธีการ dual method คือมีการใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย เพื่อช่วยลดการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (18,19)

สำหรับประเทศไทยทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้สิทธิ์ “วัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถเข้ารับบริการคุมกำเนิดและยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย” ณ สถานบริการในเครือข่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) (20)

สรุป

ปัจจุบันอุบัติการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการสนับสนุนเรื่องของการคุมกำเนิดมากขึ้น และวัยรุ่นเข้าถึงข้อมูลเรื่องเพศศึกษาและการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกันอย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมักเป็นการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และโดยส่วนมากไม่ได้รับการดูแลครรภ์ที่เหมาะสม ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทั้งต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6.7% เกิดภาวะซีด มีโอกาสติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเกิดภาวะทุพลภาพและเสียชีวิตของมารดาได้มากกว่าการตั้งครรภ์ในผู้ใหญ่ อีกทั้งพบการเพิ่มของอุบัติการณ์การคลอดก่อนกำหนด เพิ่มอัตราการตายปริกำเนิด เพิ่มขึ้นของทารกน้ำหนักตัวน้อย ซึ่งเป็นความเกี่ยวเนื่องมาจากการคลอดก่อนกำหนด

การดูแลสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นในระยะก่อนคลอดอย่างเหมาะสม จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ เช่น การได้รับการดูแลในเรื่องของโภชนการอย่างเหมาะสม สามารถช่วยลดการเกิดภาวะซีดได้ การคัดกรองเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การคัดกรองเรื่องการใช้ยาเสพติด เป็นต้น ในระยะหลังคลอดควรมีการกระตุ้นเรื่องการให้นมบุตร การคุมกำเนิดอย่างเหมาะสม ซึ่งแนะนำเป็นการคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวร ร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัย และประเมินสภาพจิตใจ เนื่องจากมีโอกาสเกิดการภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

เนื่องจากการตั้งครรภ์เป็นปัญหาระดับประเทศ ดังนั้นการป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Ganchimeg T, Ota E, Morisaki N, et al: Pregnancy and childbirth outcomes among adolescent mothers: a World Health Organization multicountry study. BJOG. 2014, 121 Suppl 1:40-8.
  2. UNICEF: Earlychild bearing. (2021). Acessed: May 10,2022
  3. Osterman, M. J. K., Hamilton, B. E., Martin, J. A., Driscoll, A. K., & Valenzuela, C.P. (2022). Births: Final data for 2020 (National Vital Statistics Reports Volume 70, Number 17). Centers for Disease Control and Prevention.
  4. ข้อมูลหญิงคลอด อายุ 15-19 ปี และข้อมูลประชากรกลางปี พ.ศ. 2553-2563 กองยุทธศาสตร์ และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย
  5. ข้อมูลจากรายงานงานอนามัยแม่และเด็ก (ก1ก2) ปี 2564 สำนักงานสาธารณะสุข จังหวัดเชียงใหม่
  6. Macedo, T. C. Prevalence of Preeclampsia and Eclampsia in Adolescent Pregnancy: A Systematic Review and Meta-Analysis of 291,247 Adolescents Worldwide since 1969.
  7. Brosens I, Muter J, Ewington L, Puttermans P, Petraglia F, Brosens JJ, Benagiano G: Adolescent preeclampsia: pathological drivers and clinical prevention. Reprod Sci. 2019, 26:159-71
  8. Zhang T, Wang H, Wang X, et al. The adverse maternal and perinatal outcomes of adolescent pregnancy: a cross sectional study in Hebei, China. BMC Pregnancy Childbirth. 2020;20(1):339.
  9. Scholl TO, Hediger ML, Belsky DH. Prenatal care and maternal health during adolescent pregnancy: a review and meta-analysis. J Adolesc Health 1994 Sep;15(6):444-56.
  10. Sekhar DL, Murray-Kolb LE, Kunselman AR, Weisman CS, Paul IM: Differences in risk factors for anemia between adolescent and adult women. J Womens Health (Larchmt). 2016, 25:505-13.
  11. Marvin-Dowle K, Kilner K, Burley VJ, Soltani H. Impact of adolescent age on maternal and neonatal outcomes in the Born in Bradford cohort. BMJ Open. 2018, 8:e016258.
  12. Conde-Agudelo A, Belizán JM, Lammers C. Maternal-perinatal morbidity and mortality associated with adolescent pregnancy in Latin America: cross-sectional study. Am J Obstet Gynecol. 2005, 192:342-9.
  13. Wilson RE, Alio AP, Kirby RS, Salihu HM. Young maternal age and risk of intrapartum stillbirth. Arch Gynecol Obstet. 2008, 278:231-6.
  14. Institute of Medicine (U.S.).Panel on Micronutrients IoMUSFaNB. Dietary reference intakes for vitamin A, vitamin K, arsenic, boron, chromium, copper, iodine, iron, manganese, molybdenum, nickel, silicon, vanadium, and Zinc. Washington DC: National Academy Press; 2000.
  15. Australian institute of health and welfare. Teenage mothers in Australia 2015. Cat. No. PER 93. Canberra: AIHW, 2018
  16. Uzunov A, Bohiltea R, Munteanu O, Nemescu D, Cirstoiu M. A retrospective study regarding the method of delivery of adolescents in a Romanian Hospital. Exp Ther Med. Published online June 4, 2020.
  17. Goossens G, Kadji C, Delvenne V: Teenage pregnancy: a psychopathological risk for mothers and babies?. Psychiatr Danub. 2015, 27 Suppl 1:S499-503.
  18. Adolescent Pregnancy, Contraception, and Sexual Activity. Committee opinion number 699. ACOG. 2017 May; 129:e142-9
  19. Adolescent Pregnancy, Contraception, and Sexual Activity. Committee opinion number 710. ACOG. 2017 Aug; 130:e74-80
  20. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย

 

 

Read More

วงจรการทำงานของรังไข่ (ovarian cycle)

วงจรการทำงานของรังไข่ (ovarian cycle)

จัดทำโดย : พญ. ธัญธิดา เจียมพจมาน
อาจารย์ที่ปรึกษา : อ.นพ. ณัฐพัชร์ จันทรสกา


การเจริญเติบโตของเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิงหรือเซลล์ไข่ (oocyte) เกิดขึ้นตั้งแต่ในระยะตัวอ่อน (fetus) ขณะอยู่ในครรภ์มารดา และมีจำนวนสูงสุดอยู่ที่ 6-7 ล้านฟองเมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะมีการฝ่อของทั้ง oogonia และ follicular cell โดยจำนวนจะลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งทารกคลอดจะเหลือจำนวนเซลล์ไข่ 1-2 ล้านฟอง และจะไม่มีการเพิ่มจำนวนของเซลล์ไข่อีก และเมื่อเริ่มเข้าวัยเจริญพันธุ์จะเหลือเซลล์ไข่เพียง 300,000 ฟองที่สามารถตกไข่ได้ และจะมีเซลล์ไข่เพียง 400-500 ฟองเท่านั้นที่จะถูกคัดเลือกให้ตกไข่ต่อไป (1)

เซลล์ไข่ระยะแรก เรียกว่า oogonia ช่วงแรกของการพัฒนาการของเซลล์สืบพันธุ์ในตัวอ่อน (germ cell) จะมีการแยกตัวโดย somatic cell บางส่วนจะเคลื่อนไปอยู่บริเวณ gonadal ridge และเริ่มมีการแบ่งตัวต่อเนื่องแบบ mitosis ต่อมาจะมีการแบ่งตัวแบบ meiosis เมื่ออายุครรภ์ 8 สัปดาห์ และจะหยุดเจริญในระยะ late diplotene of prophase I และหยุดอยู่ระยะนี้กระทั่งมีการตกไข่ (ovulation) โดยกระบวนการหยุด หรือ meiosis stasis นี้ เชื่อว่าเกิดจากสารที่มีชื่อว่า oocyte maturation inhibitor (OMI) สร้างมาจาก granulosa cell โดยจะผ่านเข้าไปที่ oocyte ทาง gap junctions และเมื่อมี LH surge เกิดขึ้น gap junction จะถูกทำลาย ทำให้สาร oocyte maturation inhibitor (OMI) ไปออกฤทธิ์ที่ oocyte ไม่ได้ oocyte จึงไม่มีสารยับยั้งการแบ่งตัว จึงเกิดการแบ่งตัวของ oocyte ต่อไปจนถึง metaphase II และเกิดการตกไข่ (ovulation) นั่นเอง หากมีสเปิร์มมาปฏิสนธิ จะมีการแบ่งตัวต่อจนจบระยะ meiosis II (1)

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงการทำงานของรังไข่โดยละเอียดดังนี้

การพัฒนาของฟอลลิเคิล (Folliculogenesis)

การพัฒนาของฟอลลิเคิล สามารถแบ่งได้หลายระยะ ตามลักษณะของเซลล์ ดังนี้

1. Preantral follicles: ระยะที่ยังไม่มีการสร้างของ antrum การเจริญในระยะเริ่มแรกนี้เป็นไปอย่างอิสระ ไม่ขึ้นกับ gonadotropin ประกอบด้วยระยะของ primordial follicles, primary follicles และ secondary follicles

2. Antral follicles: ระยะที่มีสร้างส่วน antrum

ประกอบด้วยระยะของ tertiary และ preovulatory follicles

รูปที่ 1 แสดงการพัฒนาของฟอลลิเคิลในแต่ละระยะ

โดยลักษณะของฟอลลิเคิลในแต่ละระยะของการบวนการพัฒนานั้น มีลักษณะแตกต่างกันดังต่อไปนี้

1. Primordial follicles เซลล์ฟอลลิเคิลมีขนาด 0.03-0.05 มิลลิเมตร

ภายในประกอบด้วย primary oocyte ซึ่งหยุดการแบ่งตัวที่ระยะ prophase I โดยรอบๆจะมี granulosa cell ลักษณะแบนเรียบ จำนวนหนึ่งชั้นล้อมรอบ (1)

รูปที่ 2 แสดงลักษณะของ Primodial follicles

2. Primary follicles เซลล์ฟอลลิเคิลมีขนาดประมาณ 0.1 มิลลิเมตร

ในระยะนี้ granulosa cells ที่ล้อมรอบจากเดิมมีลักษณะแบน จะไปเปลี่ยนไปเป็นรูปลูกบาศก์ (cuboid) แต่ยังคงมีชั้นเดียว โดยลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมานี้เป็นลักษณะที่บอกว่า follicle นี้ได้รับการคัดเลือก (follicular recruitment) โดย granulosa cells จะมีการสร้างและหลั่งโปรตีนออกมาเกิดเป็น zona pellucida ล้อมรอบ primary oocyte โดย zona pellucida จะมี gap junction เพื่อให้ granulosa cells และ primary oocyte ยังสามารถแลกเปลี่ยนสารอาหารกันได้ นอกจากนี้ granulosa cells จะมีการสร้าง FSH receptors แต่เนื่องจากในระยะนี้ ยังไม่มีการสร้างเส้นเลือดในฟอลลิเคิล (follicular vascularization) ดังนั้น FSH ที่อยู่ในกระแสเลือด จะยังไม่สามารถได้มาออกฤทธิ์ในระยะนี้ได้ (1)

 

Graphical user interface, text Description automatically generated

รูปที่ 3 แสดงลักษณะของ primary follicles

3. Secondary follicles เซลล์ฟอลลิเคิลมีขนาดประมาณ 0.2 มิลลิเมตร

ระยะนี้มีการเพิ่มจำนวนชั้นของ granulosa cells ร่วมกับมี FSH receptors จำนวนมาก ส่วนของ stromal cell รอบนอกที่สัมผัสกับ granulosa cells และ basal lamina จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็น theca cell โดย theca cell จะมี LH receptor และเริ่มมีการสร้างเส้นเลือดขึ้นมา ทำให้เกิด follicular vascularization จึงทำให้ระยะนี้ FSH และ LH ในร่างกายสามารถมาจับกับ receptors ได้ จากที่กล่าวมา จึงสามารถอธิบายได้ว่า ตั้งแต่ early antral follicles พัฒนาไปจนถึง preovulatory follicles เป็นการพัฒนาแบบขึ้นกับ gonadotropin (gonadotropin dependent phase) ในทางกลับกัน การพัฒนาของ follicles ตั้งแต่ระยะแรก จนถึง secondary follicles เป็นการพัฒนาแบบไม่ขึ้นกับ gonadotropin (gonadotropin independent phase) (1)

รูปที่ 4 แสดงลักษณะของ secondary follicles

4. Tertiary follicles

เมื่อ granulosa cells หลั่งสารออกมาภายในฟอลลิเคิลมากขึ้น จะเกิดการสะสมจนเกิดเป็น antrum โดยระยะนี้สามารถแบ่งย่อยได้ดังนี้ (1)

4.1 Early tertiary follicles เซลล์ฟอลลิเคิลมีขนาดประมาณ 0.2-5 มิลลิเมตร

โดยระยะนี้ชั้นของ theca cells จะมีการแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ได้แก่ theca interna และ theca externa

4.2 Late tertiary follicles เซลล์ฟอลลิเคิลมีขนาดประมาณ 10-20 มิลลิเมตร

ส่วนของ antrum ที่ขยายใหญ่ขึ้น granulosa cell ได้ถูกแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ

  1. ส่วน granulosa cell ที่ติดกับ oocyte เรียกว่า corona radiata
  2. ส่วน granulosa cell ที่ติดกับ follicular wall เรียกว่า mural (membranous) granulosa
  3. ส่วน granulosa cell ที่เชื่อมระหว่าง corona radiata และ mural (membranous) granulosa เรียกว่า cumulus oophorus

รูปที่ 5 แสดงลักษณะของ tertiary follicles

5. Preovulatory follicles เซลล์ฟอลลิเคิลมีขนาดมากกว่า 20 มิลลิเมตร

ในระยะนี้ primary oocyte จะแบ่งตัวต่อ พัฒนาเป็น secondary oocyte โดยจะหยุดแบ่งตัวอยู่ที่ metaphase II ทั้งระยะ Late tertiary/preovulatory follicles หรือเรียกว่า Graffian follicles (1)

A picture containing diagram Description automatically generated

 

รูปที่ 6 แสดงลักษณะของ Graffian follicles

ต่อมาจะขอกล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงานภายในเซลล์แต่ละระยะของฟอลลิเคิล

  1. ระยะฟอลลิเคิลช่วงแรก (Early follicular phase)

ในระยะนี้เซลล์จะประกอบด้วย ทั้ง granulosa cells และ theca cells

โดย Theca cell จะมี LH receptor อยู่บนผิว ของเซลล์ โดยเมื่อมีฮอร์โมน LH มาจับกับ receptor จะทำให้เกิดการชักนำ cholesterol เข้าสู่ theca cell เพิ่มขึ้น และเปลี่ยนคอเลสเตอรอล (cholesterol)ไปเป็นแอนโดรเจน (androstenedione และ testosterone) โดยแอนโดรเจน ที่สร้างขึ้น จะส่งผ่าน basement membrane เข้าสู่ granulosa cell เพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นเอสโตรเจน นอกจากนี้แอนโดรเจนยังมีกลไกส่งเสริมการเจริญเติบโตของฟอลลิเคิลได้แก่ เพิ่มจำนวนของ granulosa cell เพิ่มการทำงานของ aromatase และยับยั้งการตายของเซลล์ (programme cell dealth)

ในส่วน granulosa cell มี FSH receptor เมื่อ FSH มากระตุ้น จะทำให้แอนโดรเจนเปลี่ยนไปเป็น เอสโตรเจนโดยเอนไซม์ aromatase ที่สร้างขึ้น โดยเอสโตรเจนที่เกิดขึ้นใน granulosa cell จะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่

1. Local estrogen หมายถึง เอสโตรเจนสร้างขึ้น ในบริเวณของ granulosa cell จะมีหน้าที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของฟอลลิเคิลโดย FSH ร่วมกับ local estrogen จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดการสร้างเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น, เพิ่มจำนวนของ FSH receptor และทำให้ granulosa cell เพิ่มจำนวนมากขึ้น

2. Peripheral estrogen คือ ส่วนของเอสโตรเจนที่ออกไปสู่กระแสเลือด โดยจะไปออกฤทธิ์ที่เนื้อเยื่อเป้าหมายในอวัยวะอื่นๆ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูก เต้านม และทำให้เกิด negative feedback บริเวณของ pituitary และ hypothalamus ทำให้ ระดับ FSH ลดลง

นอกจาก Theca cell จะสร้างแอนโดรเจนแล้ว ยังสร้าง IGF (insulin-like growth factor) โดยเฉพาะ IGF-II ซึ่งจะออกฤทธิ์ที่ theca cell เอง เพื่อเพิ่มการสร้าง แอนโดรเจน และยังไปออกฤทธิ์ที่ granulosa cell เพื่อเพิ่มการทำงานของ FSH ส่งผลให้เพิ่มการแบ่งตัวของ granulosa cell และสังเคราะห์เอสโตรเจนเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีหลายกลไกที่ส่งเสริมการสร้างเอสโตรเจน แต่ก็ยังสร้างได้ในปริมาณที่จำกัด โดยในระยะ preantralจะสร้างแอนโดรเจนได้โดดเด่นกว่า และฟอลลิเคิลมีหน้าที่แข่งกันสร้างเอสโตรเจน โดยฟอลลิเคิลที่เก่งกว่าจะสามารถสร้างเอสโตรเจนได้มากกว่า

จากเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้น ส่วนเอสโตรเจนที่ไปออกฤทธิ์อวัยวะข้างเคียง (peripheral estrogen) ที่ทำหน้าที่ negative feedback ทำให้ FSH มีปริมาณลดลง จึงส่งผลให้ follicular cell เจริญเติบโตได้น้อยลง ในฟอลลิเคิลที่ถูกเลือก จะมีจำนวน FSH receptor มากกว่า มีความไวต่อ FSH มากกว่า ดังนั้นจะทำให้สร้างเอสโตรเจนได้มากกว่า ในส่วนของเอสโตรเจน (local estrogen) ที่เพิ่มขึ้น จะยิ่งไปเพิ่มจำนวนของ FSH receptor และเพิ่มจำนวน granulosa cell จึงทำให้ฟอลลิเคิลที่ถูกเลือก สามารถเจริญได้มากกว่าในสภาวะที่ FSH ลดต่ำลง นอกจากนี้เอสโตรเจนเพิ่มขึ้น จะไป negative feedback ทำให้ FSH ลดต่ำลงไปอีก จะยิ่งทำให้ ฟอลลิเคิลอื่นๆที่ไม่สามารถสร้างเอสโตรเจนได้มากเท่าฟอลลิเคิลที่ถูกเลือกและเจริญได้น้อยกว่า จะฝ่อไปเองในที่สุด จากกลไกการคัดเลือกฟอลลิเคิล ที่กล่าวไปนี้ จึงทำให้ หากร่างกายมีการเพิ่มขึ้นของแอนโดรเจนเป็นเวลานาน (chronic elevation of androgens) เอนโดรเจนจะเปลี่ยนเป็นเอสโตรเจนก็จะส่งผลให้เกิดการ negative feedback ของ hypothalamus และ pituitary ไปลดปริมาณ FSH ลง จนส่งผลให้ฟอลลิเคิลที่ถูกเลือก ไม่สามารถเจริญต่อได้ จึงไม่มีการตกไข่เกิดขึ้น ด้วยเหตุผลนี้เอง หากร่างกายมีแอนโดรเจน ปริมาณมากนานๆ ก็จะทำให้เกิดภาวะไม่ตกไข่เป็นเวลานาน (chronic anovulation) และเกิดกลไกดังกล่าวซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งพบได้ในภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (polycystic ovarian syndrome)

นอกจากฮอร์โมนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ยังมีกลุ่มโปรตีนที่มาช่วยควบคุมการพัฒนาของฟอลลิเคิล (follicular development) ในระยะนี้ ได้แก่

  • Inhibin สร้างจาก granulosa cell มีสองฟอร์ม คือ inhibin A และ inhibin B ในช่วงของ follicular phase จะมี FSH เป็นตัวกระตุ้น โดย inhibin B ทำงานเป็นหลักในช่วง follicular phase ส่วน inhibin A จะทำงานเป็นหลักในช่วง luteal phase แต่ทั้ง inhibin A และ inhibin B จะทำหน้าที่ยับยั้งการสร้างและการปล่อยของ FSH (2)
  • Activin จะถูกสร้างมาคู่กับ inhibin จาก granulosa cell ช่วยกระตุ้นการหลั่ง FSH จาก pituitary และเพิ่มการออกฤทธิ์ของ FSH ในส่วนของ theca cell จะชะลอการออกฤทธิ์ของ LH ในการสร้างแอนโดรเจน และช่วยขจัดแอนโดรเจน โดยการชะลอการส่งเอนโดรเจนจาก theca cell และเร่งการเปลี่ยนเป็นเอสโตรเจนที่ granulosa cell ป้องกันไม่ให้ฟอลลิเคิลเด่นแอนโดรเจน ซึ่งจะทำให้ฝ่อในที่สุด (2)
  1. ระยะฟอลลิเคิลช่วงกลาง (Mid follicular phase)

การทำงานของ theca cell และ granulosa cell ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ FSH และเอสโตรเจนยังคงช่วยกันเพิ่ม FSH receptor และเพิ่มการแบ่งตัวของ granulosa cell ในฟอลลิเคิลที่ถูกเลือกก็จะยิ่งกลายเป็น follicle ที่เด่นเอสโตรเจน ต่อมา FSH และเอสโตรเจน (local estrogen) ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นในฟอลลิเคิลที่ถูกเลือกจะชักนำให้เกิด LH receptor ขึ้นบน granulosa cell

ในช่วงวันที่ 7 ของรอบเดือน จะมีการเลือก dominant follicle เพื่อตกไข่ในอนาคต จากที่กล่าวไปข้างต้น จะมีบางฟอลลิเคิลที่จะมีจำนวน FSH receptor มากกว่า มีความไวต่อ FSH มากกว่า จึงทำให้เจริญเติบโตได้แม้ปริมาณ FSH จะลดลง (จากเอสโตรเจน และ inhibin ที่ไป negative feedback) ขณะเดียวกันฟอลลิเคิลอื่นๆที่สร้างเอสโตรเจนได้น้อยกว่า ก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเอนโดรเจนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นฟอลลิเคิลที่เด่นเอนโดรเจน และฝ่อลงไปในที่สุด โดยท้ายที่สุดจะมีฟอลลิเคิลเดียวที่โตต่อไปจนได้ตกไข่ คือ dominant follicle (1)

  1. ระยะฟอลลิเคิลช่วงท้าย (Late follicular phase)

ในระยะนี้ ระดับของเอสโตรเจนจะสูงขึ้นมาก เมื่อเอสโตรเจนมีระดับที่สูงมากกว่า 200 พิโคกรัมต่อมิลลิลิตร และคงอยู่นานมากกว่า 48 ชั่วโมง จะชักนำให้เกิด LH surge ในขณะเดียวกันเอสโตรเจน (local estrogen) และ FSH ทำให้ LH receptor เพิ่มมากขึ้น ทั้งบน theca cell และ granulosa cell ต่อมา granulosa cell ได้หลั่ง vascular endothelial growth factor (VEGF) ทำให้มีเส้นเลือดเจริญเข้าสู่ granulosa cell ส่งผลให้คลอเรสเตอรอลสามารถเข้าสู่ granulosa cell แล้วสามารถเปลี่ยนเป็นโปรเจสเตอโรน โดยใน granulosa cell ขาดเอนไซม์ P450c17 ทำให้เปลี่ยนโปรเจสเตอโรนเป็นเอนโดรเจนไม่ได้ จึงทำให้ โปรเจสเตอโรน มีระดับสูงมากขึ้น กลไกนี้ทำให้โปรเจสเตอโรนมีระดับสูงมากขึ้น ยังได้รับความช่วยเหลือจาก IGF-II และ Activin ที่เร่งการทำงานของ LH และทำให้โปรเจสเตอโรนมีระดับสูงมากขึ้น (1)

โปรเจสเตอโรนที่มีระดับสูงขึ้นทำให้เกิด FSH surge และเมื่อโปรเจสเตอโรนร่วมกับเอสโตรเจนที่มีระดับสูง จะทำให้เกิด LH surge (1)

  1. ระยะตกไข่ (ovulatory phase)

การตกใข่จะเกิดขึ้นหลังจาก LH surge 10-12 ชั่วโมง และเกิดหลังจาก FSH surge 24-36 ชั่วโมง

LH surge ทำให้เกิดการ luteinization เพิ่มการสร้างโปรเจสเตอโรน LH surge ยังไปทำลาย gap junction ทำให้ไม่มีสาร oocyte maturation inhibitor (OMI) ไปยับยั้งเซลล์ไข่ ทำให้สามารถแบ่งตัวต่อไปจนถึง metaphase II ได้ และ LH surge ยังกระตุ้นการสร้าง prostaglandin ทำให้เกิดฟอลลิเคิลหดรัด ส่งเสริมให้ฟอลลิเคิลแตกออก นอกจากนี้ยังมี LH ไปเสริมฤทธ์ของ proteolytic ที่ใช้ย่อยผนังฟอลลิเคิลเพื่อช่วยเสริมการแตกออกของฟอลลิเคิลเพิ่มขึ้น

FSH surge ส่งเสริมให้ LH receptor เพิ่มจำนวนมากขึ้น ให้เพียงพอ ต่อการเกิด luteinization หรือการสร้าง โปรเจสเตอโรนในระยะ luteal phase ต่อไป นอกจากนี้ FSH ยังไปเสริมฤทธิ์ของโปรเจสเตอโรน สร้าง proteolytic enzyme เพื่อส่งเสริมให้ผนังฟอลลิเคิลแตกออก และ FSH ยังมีบทบาททำให้ส่วน oocyte-cumulus oophorus หลุดออกจากเซลล์ไข่เพื่อเกิดการตกไข่ต่อไป (1)

  1. ระยะลูเตียล (luteal phase)

เมื่อเกิดการตกไข่ ผนังของฟอลลิเคิลยุบตัวลง พับย่นเป็นลูกคลื่น มีการกระตุ้นของ vascular

endothelial growth factor (VEGF) ทำให้มีเส้นเลือดเกิดขึ้นมาก โดยจะมากที่สุดวันที่ 8-9 หลังตกไข่ ทำให้มี คลอเรสเตอรอลเข้ามาใน granulosa cell มากขึ้น ทำให้สร้างโปรเจสเตอโรนได้มากขึ้น granulosa cell มีขนาดใหญ่มากขึ้น มีการสะสมคอเรสเตอรอล จนมีลักษณะเป็นสีเหลือง เรียกว่า lutein cell

นอกจาก corpus luteum จะสร้างโปรเจสเตอโรน เพื่อมีหน้าที่คงอยู่ของเยื่อบุโพรงมดลูก ยังมีการสร้างฮอร์โมนอื่นๆอีก ได้แก่ เอสโตรเจนทำหน้าที่สร้าง progesterone receptor ในเยื่อบุโพรงมดลูก, IGF-II ช่วยเร่งการออกฤทธิ์ของ LH ทำให้สร้างโปรเจสเตอโรนได้มากขึ้น

ระยะเวลาจาก LH surge จนถึงมีระดู จะอยู่คงที่ประมาณ 14 วัน ระดับโปรเจสเตอโรนจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนสูงที่สุดในวันที่ 8 หลัง LH surge ระดับโปรเจสเตอโรนใน luteal phase อยู่ประมาณ 5-20 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร และ เอสโตรเจนหลังจากลดลงในช่วงหลังไข่ตก จะค่อยๆเพิ่มระดับขึ้นใหม่ โดยการสร้างจาก corpus luteum โดยมีระดับอยู่ประมาณ 100-300 พิโคกรัมต่อมิลลิลิตร (1)

ในช่วงระยะนี้จะมีกลไกในการยับยั้งการพัฒนาของฟอลลิเคิลใหม่ โปรเจสเตอโรนจะลด estrogen receptor ทำให้ฟอลลิเคิลใหม่ ไม่สามารถเจริญขึ้นมาได้ นอกจากนี้ ทั้งเอสโตรเจน, โปรเจสเตอโรน และ inhibin A จะไปกด gonadotropins ให้ต่ำลง ทำให้ฟอลลิเคิล ไม่สามารถเจริญได้เช่นกัน

การมี corpus luteum จะขึ้นกับระดับ LH หากไม่มี LH มากระตุ้น corpus luteum จะฝ่อลง กลายเป็น corpus albicans กลไกการฝ่อของ corpus luteum ยังไม่ทราบชัดเจน ในกรณีที่ไม่ตั้งครรภ์ corpus luteum จะฝ่อลง ประมาณวันที่ 9-11 หลังตกไข่ ส่งผลให้เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะระดับลดลง ทำให้ FSH และ LH จะมีระดับเพิ่มสูงขึ้น และทำให้เกิดการเจริญเติบโตของฟอลลิเคิลในรอบถัดไป หากในกรณีที่ตั้งครรภ์ hCG จากรก จะออกฤทธิ์ คล้าย LH โดยจะไปทำให้ corpus luteum ยังคงมีอยู่ และหลั่งโปรเจสเตอโรนต่อทำให้ เยื่อบุโพรงมดลูก เหมาะกับการฝังตัว ในกรณีเดียวกันที่ผู้ป่วยที่ได้รับการบริจาคไข่ จึงต้องได้รับโปรเจสเตอโรนเสริมไปจนถึงประมาณอายุครรภ์ 5 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะที่รกสามารถสร้างโปรเจสเตอโรนได้เพียงพอ (2)

การเปลี่ยนแปลงวงจรของเยื่อบุโพรงมดลูก (Cyclic Change of the Endometrium)

ผนังของมดลูกประกอบด้วย 3 ชั้น โดยนับจากส่วนนอกเข้าส่วนใน ได้แก่

      1. ซีโรซา (serosa or perimetric)
      2. ไมโอมีเทรียม (myometrium)
      3. เอนโดมีเทรียม (endometrium)

เอนโดมีเทรียม จะเป็นส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน โดยเอนโดมีเทรียมจะแบ่งเป็น

1. Decidua functionalis เป็นชั้นที่อยู่บนสุดของเอนโดมีเทรียม มีความหนาประมาณ 2/3 ของชั้นเอนโดมีเทรียม ทั้งหมด โดยจะเป็นชั้นที่หลุดลอกออกเป็นประจำเดือนหากไม่มีการตั้งครรภ์ ชั้นนี้จะแบ่งย่อยได้อีก 2 ชั้น ได้แก่ stratum compactum (ชั้นบน) และ stratum spongiosum (ชั้นล่าง)

2. Decidua basalis จะเป็นชั้นที่อยู่ลึกที่สุดของเอนโดมีเทรียม ชั้นนี้จะไม่ได้หลุดลอกตามรอบเดือน และเป็นส่วนที่ช่วยให้เอนโดมีเทรียม เจริญขึ้นใหม่ เมื่อหมดประจำเดือน

ระยะของโพรงมดลูกเมื่อมีประจำเดือน (Phase of endometrium)

  1. Proliferative phase

ระยะนี้จะมีการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต่อมในชั้น Decidua basalis จะทำหน้าที่ซ่อมแซมเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกไป ระดับ เอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดการแบ่งตัวแบบ mitosis มากขึ้นเรื่อยๆในชั้น Decidua functionalis เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน ในระยะแรกเริ่ม เยื่อบุโพรงมดลูกจะบางมาก (1-2 มิลลิเมตร) ในระยะนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงต่อมเยื่อบุโพรงมดลูก จากเดิมที่มีลักษณะเตี้ย,รูแคบ, บุด้วย low columnar epithelium จะพัฒนาไปเป็นต่อมเยื่อบุโพรงมดลูก ที่มีลักษณะยาวขึ้น,คดเคี้ยวมากขึ้นและบุด้วย pseudostratified epithelium ก่อนที่จะตกไข่ (1)

  1. Secretory phase

หลังจากมีการตกไข่ 48-72 ชั่วโมง จะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะเยื่อบุโพรงมดลูก ทาง histology คือมีลักษณะ eosinophilic protein-rich secretory product ใน glandular lumen ซึ่งในระยะนี้จะได้รับอิทธิพลของโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้น จะไปยับยั้ง estrogen receptor บริเวณของเอนโดรมีเทรียม ทำให้ความหนาของต่อมเยื่อบุโพรงมดลูกพอๆ กับระยะก่อนตกไข่จะคงที่อยู่ 5-6 มิลลิเมตร

ลักษณะแรกที่พบหลังเกิดการตกไข่คือ ลักษณะของต่อมเยื่อบุโพรงมดลูก ที่เรียกว่า periodic acid-Schiff positive-staining, glycogen-containing vacuoles โดยเริ่มต้น vacuoles จะอยู่บริเวณ subnuclear ต่อมาจะอยู่ทั้งใต้และเหนือต่อ nucleus และต่อมาจะแตกเข้าสู่ lumen ในช่วงวันที่ 19-20 ของ cycle นิวเคลียสอยู่ตรงกลางเซลล์ (mid-position of cell) เซลล์มีการหลั่งสารออกมาใน lumen มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะหลั่งมากที่สุดในช่วงวันที่ 6-7 หลังตกไข่ (วันที่ 20-21 ของรอบเดือน) ส่วน stroma ของเยื่อบุมดลูกจะบวมมากขึ้น เพื่อให้พร้อมต่อการให้ตัวอ่อนฝังตัว

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ stroma ของเยื่อบุมดลูกจะบวมมากในช่วง late secretory phase ส่วน spiral arteries จะยิ่งเห็นชัดมากขึ้น ยาวขึ้น และขดงอ

ในช่วงวันที่ 24 ของรอบเดือน ส่วนของเยื่อบุโพรงมดลูก หากตัดออกมาดู histology จะเห็นลักษณะ “cuffing” บริเวณ perivascular stroma เป็นลักษณะที่เรียกว่า eosinophillic-staining pattern หรือเมื่อนำไปย้อมสีจะติดสีแดงและจะเห็นลักษณะของ “pseudodecidual” โดยจะมี eosinophill มาเกาะกลุ่มกันในบริเวณ stroma ที่บวม

ในช่วงก่อนหน้าที่จะมีประจำเดือน 2 วัน มี polymorphonuclear lymphocyte ที่มาจากหลอดเลือด มาเรียงกันอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากำลังจะมีประจำเดือน (1)

  1. ประจำเดือน (Menses)

เมื่อไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อน corpus luteum จะสลายกลายเป็น corpus albicans ส่งผลให้เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดลง ทำให้ spiral artery เกิดการหดรัด (spasm) ทำให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกขาดเลือด ในขณะเดียวกันจะเกิดการสลายของ lysosomes และทำการปล่อย proteolytic enzyme ออกมา ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้น โดนทำลาย โดยชั้นที่สลายจะเป็นเพียงชั้นของ decidua functionalis จะเหลือเพียงชั้นของ decidua basalis เพื่อซ่อมแซมให้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญต่อไป นอกจากนี้ ในช่วงนี้ prostaglandin F2⍺ (PGF2⍺ ) จะมีระดับสูงขึ้นมาก ซึ่ง PGF2⍺ ทำให้เส้นเลือดและกล้ามเนื้อมดลูกเกิดการหดตัว ซึ่งทำให้ลดปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกขาดเลือด ส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูก ออกมาเป็นประจำเดือนเช่นเดียวกัน (1)

เอกสารอ้างอิง

  1. Berek, J. S., & Berek, D. L. (2020). Berek & Novak’s gynecology. Wolters Kluwer.
  2. ธีระ ทองสง, & ธีระพร วุฒยวนิช. (2559). นรีเวชวิทยา (ฉบับสอบบอร์ด). ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
  3. Mescher, A. (2021). JUNQUEIRA’S BASIC HISTOLOGY : text and atlas. Mcgraw-Hill Education.
  4. Hoffman, B. L., & J Whitridge Williams. (2016). Williams gynecology. Mcgraw-Hill Education.
  5. Molina, P. E. (2018). Endocrine physiology. Mcgraw-Hill Education.
Read More

Dysmenorrhea: ภาวะปวดประจำเดือน

Dysmenorrhea (ภาวะปวดประจำเดือน)

จัดทำโดยพญ.ปริญญาพร ดิษฐ์ประเสริฐ
อ.พญ.อุษณีย์ แสนหมี่


บทนำ

อาการปวดประจำเดือน เป็นปัญหาสำคัญของสตรีวัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีวัยเรียนและมักเป็นสาเหตุให้ขาดเรียน อีกทั้งเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตจากอาการปวดประจำเดือนรุนแรง วัยรุ่นส่วนใหญ่ที่มีอาการปวดประจำเดือน (Primary dysmenorrhea) มักไม่มีพยาธิสภาพของอุ้งเชิงกราน ทั้งนี้ได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย อาการอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนจะมีประจำเดือน หรืออาจเริ่มหลังตกไข่ และสิ้นสุดเมื่อประจำเดือนหมดในแต่ละรอบเดือน

ทั้งนี้อาการปวดประจำเดือนอาจจะต้องแยกให้ได้กับการปวดที่มีพยาธิสภาพของอุ้งเชิงกราน หรือมีสาเหตุจำเพาะ (Secondary dysmenorrhea) ซึ่งให้การรักษาที่แตกต่างกัน

กลไกการเกิดรอบเดือน (Menstrual cycle)

โดยปกติผู้หญิงเริ่มมีระดูเมื่ออายุประมาณ 12 – 15 ปี ต่อเนื่องไปจน 45 – 50 ปี การเกิดรอบระดูเกิดจากการทํางานร่วมกันของอวัยวะต่างๆ คือ สมองส่วนไฮโปทาลามัส ต่อมใต้สมอง รังไข่ ผนังชั้นในมดลูก ที่มีการเปลี่ยนแปลงในชั้น Functional layer ตามรอบระดู โดยทั่วไป 1 รอบระดูใช้เวลาเฉลี่ย 28 วัน แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้(1)

1. Menstrual phase วันที่ 1 – 5 ของการมีระดู เกิดจากไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ Corpus luteum จึงสลายตัว กลายเป็น Corpus albican ยุติหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมน ทําให้ระดับ Estrogen และ Progesterone ลดลงส่งผลให้เยื่อบุมดลูกชั้น Functional layer ของ Endometrium หลุดลอก ออกเป็นเลือดระดู แต่ Basal layer ยังคงเหลือติดอยู่ในโพรงมดลูก เพื่อผลิตชั้น Functional layer รอบต่อไป Menstrual Phase เกิดขึ้นเมื่อ 14 วันหลังไข่ตก แต่หากมีการฝังตัวของตัวอ่อน ส่วนที่จะเจริญเป็นรกจะหลั่งฮอร์โมน HCG ทําให้ Corpus luteum ทํางานต่อไปจึงไม่เกิดรอบระดูถัดไป

2. Follicular (Proliferative) phase วันที่ 5-14 ของ รอบเดือน ต่อเนื่องจากระดับ Estrogen และ Progesterone ลดลงจากระยะ Menstrual Phase เกิด Negative feedback ไปที่ไฮโปทาลามัส เพื่อกระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้าให้หลั่ง FSH เพื่อไปกระตุ้น Follicle ของไข่ในรังไข่ให้มีการเจริญ และหลั่ง Estrogen มีผลให้ ชั้น Functional layer เริ่มการ สร้าง Endometrium ในมดลูกขึ้นมาอีกรอบ โดยมีการสร้างต่อมและหลอดเลือดมากมาย เพื่อรองรับตัวอ่อน สิ้นสุดระยะ นี้ Endometrium จะหนา 0.5-5 มิลลิเมตร ประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือนนี้เอง ที่ต่อมใต้สมองส่วนหน้าจะหลั่ง LH ปริมาณสูงสุดซึ่งจะทําให้เกิดการตกไข่

3. Luteal (Secretory) phase วันที่ 15-28 ของรอบเดือน เป็นระยะหลังจากตกไข่ และอยู่ภายใต้อิทธิพล ของ Progesterone ที่หลั่งจาก Corpus luteum ซึ่ง กระตุ้นต่อมให้ขดเกลียวมากขึ้นเพื่อให้สร้างสารอาหารที่จําเป็นก่อนการฝังตัวของตัวอ่อน Endometrium ระยะนี้ จะหนาประมาณ 7-16 มิลลิเมตร นอกจากนี้ Progesterone ยังยับยั้งการหดรัดตัวของ Myometrium ซึ่งอาจรบกวน การฝังตัวของตัวอ่อนได้ ช่วงปลายระยะนี้หากไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อน หลอดเลือดส่วน Basal layer จะหยุดการไหลเวียนทําให้ชั้น Functional layer ขาดเลือดและหลุดลอกออกเป็นเลือดระดูประมาณ 30-60 มิลลิลิตร

คำจำกัดความ

ภาวะปวดระดูแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบปฐมภูมิ (Primary dysmenorrhea) และแบบทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhea) ภาวะปวดระดูปฐมภูมิมีลักษณะปวดบีบบริเวณท้องน้อยในขณะมีระดูโดยที่ไม่มีพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน ในขณะที่ภาวะปวดระดูทุติยภูมิเป็นการปวดระดู อันเกิดจากพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis)(2)

ลักษณะอาการปวดประจำเดือน (Signs & symptoms)

ภาวะปวดระดูปฐมภูมิมีลักษณะปวดบีบบริเวณท้องน้อย 2-3 ชั่วโมงก่อน หรือหลังเริ่มมีระดูอาการจะมากที่สุดในช่วงที่มีเลือดระดูออกมาก มักมีอาการอยู่ประมาณ 1 วัน แต่อาจพบมีอาการได้นานถึง 2-3 วัน อาการที่พบร่วม ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว อ่อนเพลีย มึนงง ปวดศีรษะ เป็นต้น ภาวะปวดระดูปฐมภูมิมักจะเริ่มแสดงอาการเมื่อสตรีวัยรุ่นมีการตกไข่อย่างสม่ำเสมอเกิดจากการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกจากการกระตุ้นของสารพรอสตาแกลนดินที่หลั่งออกมาในระหว่างมีระดูปัจจัยที่มีผลต่อความรุนแรงของอาการ ได้แก่ เริ่มมีระดูเร็ว ปริมาณระดูมากและระดูที่มานาน และมีประวัติปวดระดูในครอบครัว เป็นต้น หากสตรีวัยรุ่นมีอาการปวดระดูเกิดขึ้นเร็วภายใน 6 เดือนแรกของการเริ่มมีระดูซึ่งยังเป็นช่วงที่ยังไม่มีการตกไข่ ให้ตระหนักและตรวจหาถึงภาวะความผิดปกติแต่กำเนิดของอวัยวะสืบพันธุ์ชนิดที่มีการอุดตัน ส่วนอาการปวดระดูที่เกิดขึ้นในภายหลังจากการมีระดูมานานหลายปีโดยที่ไม่มีอาการปวดมาก่อน ให้คิดถึงว่าน่าจะเป็นภาวะปวดระดูทุติยภูมิ(2-7)

การซักประวัติและตรวจร่างกาย (History and physical examination)

การซักประวัติเพื่อแยกว่าเป็นภาวะปวดระดูแบบปฐมภูมิหรือแบบทุติยภูมิ ควรซักประวัติระดู ได้แก่ อายุที่เริ่มมีระดูครั้งแรก ความสม่ำเสมอของรอบระดู ความห่าง จำนวนวันและปริมาณของระดู ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการนับจากการมีระดูครั้งแรก ลักษณะอาการปวด ตำแหน่งที่ปวด ระยะเวลาที่ปวด ความรุนแรงของอาการปวด อาการปวดเพิ่มขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน หรือคุณภาพชีวิต อาการร่วมต่าง ๆ ตลอดจนความผิดปกติทางระบบปัสสาวะและการทำงานของระบบทางเดินอาหาร นอกจากนั้น ควรซักประวัติอื่น ๆ เช่น กิจกรรมทางเพศ อาการปวดลึกในอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง การคุมกำเนิด ประวัติการแท้ง การคลอด โรคทางนรีเวช โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน การผ่าตัด หรือการใช้ยาต่าง ๆ ที่เคยได้รับ ตลอดจนประวัติครอบครัวที่เกี่ยวกับโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ การตรวจร่างกายทุกระบบ เพื่อตรวจหาพยาธิสภาพที่อาจพบได้ เช่น ก้อนที่ท้องน้อย การตรวจภายในควรดูอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก เพื่อแยกภาวะ imperforate hymen โดยทั่วไปการตรวจภายในในสตรีปวดระดูปฐมภูมิจะได้ผลปกติ สำหรับแนวทางเวชปฏิบัติของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สตรีวัยรุ่นที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์และอาการปวดไม่มากอาจไม่จำเป็นต้องตรวจภายใน ยกเว้นในกรณีที่สงสัยว่าจะมีพยาธิสภาพ หรือมีความผิดปกติแต่กำเนิดของอวัยวะสืบพันธุ์ หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่เคยได้รับ ควรจะทำการตรวจภายในทุกราย เพื่อตรวจหาพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน การตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง, magnetic resonance imaging, hysteroscopy และ saline sonohysterography มักไม่จำเป็นในการวินิจฉัยภาวะปวดระดูปฐมภูมิ ไม่สามารถใช้ทดแทนการตรวจภายในได้ แต่จะเหมาะสมกับผู้ที่อาการไม่ดีขึ้นภายหลังได้รับการรักษาขั้นต้น หรือสงสัยว่ามีพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน หรือในวัยรุ่นที่ไม่สามารถตรวจภายในได้ การตรวจด้วย laparoscopy เหมาะสมในรายไม่ตอบสนองต่อการรักษาขั้นต้นและสงสัยภาวะ endometriosis โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสตรีวัยรุ่น เนื่องจากการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกจะช่วยให้พยากรณ์โรคดีขึ้น(3, 7)

พยาธิสรีรวิทยา (Pathophysiology)

Progesterone มีฤทธิ์เป็น anti-inflammatory effect ในระหว่าง Secretory phase จะยับยั้งการ activation ของ metalloproteinases และยังมีกลไกในการสังเคราะห์ prostaglandins และ leukocytes ในช่วงปลาย Luteal phase ระดับ Progesterone จะลดลง ทำให้มีการหลั่ง cellular phospholipid จะหลั่ง prostaglandins ซึ่งทำให้เกิด uterine contractions และอาจแสดงอาการทางระบบอื่นๆ ได้เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ในส่วนของ Arachidonic acid จะมีการ metabolized เป็น 2 ทาง ได้แก่ cyclooxygenase และ 5-lipoxygenase pathway โดยอันแรก คือ cyclooxygenase จะสร้าง prostaglandins (PGF2α and PGE2), prostacyclins และ thromboxane ส่วนอันที่สอง 5-lipoxygenase pathway จะสร้าง leukotrienes ซึ่งทั้ง prostacyclins และ leukotrienes เป็นสาเหตุให้เกิด vasoconstriction, เกิด uterine smooth muscle contraction เป็นเหตุให้เกิด ischemia ส่งผลให้เกิด lowering the pain threshold สุดท้ายผลลัพธ์ที่เกิดก็คือปวดเวลามีประจำเดือน ตามลำดับ (ตามแผนภาพ ที่แสดง)(8, 9)

การวินิจฉัยแยกโรค (Differential Diagnosis)(10, 11)

Primary dysmenorrhea

Secondary dysmenorrhea

  • Endometriosis
  • Adenomyosis
  • Uterine myomas
  • Cervical stenosis
    Obstructive lesions of the genital tract

Others causes of menstrual pain:

  • Pelvic inflammatory disease
  • Pelvic adhesions
  • Irritable bowel syndrome
  • Inflammatory bowel disease
  • Interstitial cystitis
  • Mood disorders
  • Myofascial pain

การรักษาปวดประจำเดือนปฐมภูมิ (Primary dysmenorrhea management)

การรักษาแบ่งเป็นการรักษาโดยการใช้ยาและไม่ใช้ยา

1. การรักษาโดยการใช้ยา (Pharmacological management)

1.1) Non hormonal treatment

– NSAIDS : ยาในกลุ่มนี้จะระงับอาการปวดประจำเดือนได้โดยการยับยั้งหรือต่อต้านฤทธิ์ของสาร Prostaglandins มักมีผลข้างเคียงในเรื่องของระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง เป็นต้น ยาในกลุ่ม NSAIDS ได้แก่ Ibuprofen, Mefenamic acid, Celecoxib, Naproxen sodium เป็นต้น

ซึ่งตาม ACOG พิจารณาว่า NSAIDS จะถูกใช้เป็น Firstline treatment และมีข้อมูลแสดงว่าการใช้ยากลุ่ม NSAIDS มีประสิทธิภาพลดปวดได้ดีกว่ากลุ่ม placebo อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การใช้ยากลุ่มนี้ต้องรับประทาน 1-2 วันก่อนมีประจำเดือน และใช้ไปตลอดจน 2-3 วันหลังมีประจำเดือนจึงจะมีประสิทธิภาพในการลดปวดประจำเดือนได้

1.2) Hormonal treatment

– Combined Estrogen and progesterone

กลไกการออกฤทธิ์คือ ยับยั้งการตกไข่ ทำให้ endometrium ฝ่อ างลง ส่งผลให้ปริมาณประจำเดือนลดลง หรือในบางรายก็ทำให้ประจำเดือนขาดหายไปเลย และลดปริมาณการสร้าง arachidonic acid ลดการสร้าง Prostaglandins ทำให้ลดอาการปวดจากการหดรัดตัวของมดลูกได้

> Transdermal and vaginal contraceptives : ยังไม่มีการศึกษาชัดเจนใน primary dysmenorrhea แต่จะมีผลของ estrogen-progestin contraceptives ที่ endometrium ทำให้ลดปวดประจำเดือนได้

– Progestin regimens

กลไกการออกฤทธิ์คือ ทำให้ endometrium ฝ่อบาง ผลข้างเคียงอาจทำให้เลือดออกกระปริดกระปรอย

  • Depot medroxyprogesterone acetate (DMPA) : การฉีดยาคุมจะทำให้ไม่มีประจำเดือน 55% ที่ 12 เดือน ไปจนถึง 68% ที่ 24 เดือน
  • Intrauterine devices (IUD) : การใส่ห่วงคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมน Levonorgestrel-IUD ช่วยลดปวดประจำเดือนได้ทั้งปวดประจำเดือนจาก Primary และ Secondary dysmenorrhea ส่วนการใส่ห่วงคุมกำเนิดแบบ Copper IUD มีผลให้การปวดประจำเดือนแย่ลง
  • Implantation contraception : สามารถลดอาการปวดท้องน้อยทั้งที่สัมพันธ์และไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน และลดอาการ dyspareunia ในผู้ป่วยที่ตรวจพบ endometriosis ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

1.3) Others

-Tocolytic drug : จาก Pathophysiology การเกิด Primary dysmenorrhea มีสาเหตุมาจาก uterine hypercontractility และเชื่อว่ายาชนิดนี้ ไปยับยั้ง contractility ซึ่งอาจจะช่วยในเรื่องของการลดปวดประจำเดือนได้ แต่ยังมีการศึกษาไม่มาก โดยเฉพะหากใช้ยากลุ่มนี้อาจมีผลข้างเคียงมากกว่า ตัวอย่างคือ Nifedipine ผลข้างเคียง เช่น ความดันต่ำ ใจสั่น ปวดหัว เป็นต้น

-Vitamins:

> Vitamin E : มีกลไกยับยั้ง phospholipase A2 และ COX activity ทำให้ลดปวดประจำเดือนได้

> Vitamin B1 : สามารถลด muscle cramps, fatigue, และ decreased pain tolerance ได้
> Omega 3: สามารถลดการสร้าง prostaglandins และ leukotrienes ทำให้ลดปวดประจำเดือนได้

2. การรักษาโดยการไม่ใช้ยา (Non-Pharmacological management)

2.1) Life style : เริ่มตั้งแต่การรับประทานอาหารที่เป็น Low fat เพราะจะลดการสร้าง arachidonic acid ซึ่งเป็นสร้างตั้งต้นทำให้เกิดกลไกการปวดประจำเดือนได้นั่นเอง ต่อมาเป็นการออกกำลังกาย ควรทำอย่างน้อย 45-60 นาที ต่อวัน อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์

2.2) Topical heat: การศึกษาใช้ถุงน้ำร้อนอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ประคบบริเวณท้องน้อย มีการศึกษาเปรียบเทียบกับการทานยา NSAIDS พบว่าประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดเทียบเท่ากับการทาน Ibuprofen และดีกว่าการทานยา paracetamol และหากทาน Ibuprofen ร่วมกับประคบอุ่นจะลดระยะเวลาการปวดได้

2.3) Acupuncture and acupressure: เป็นการกระตุ้น nerve fibers และ receptors ทำให้สาร endorphins and serotonins หลั่งเพื่อลดปวดได้ ทั้งนี้ข้อมูลการศึกษายังน้อยอยู่ จึงไม่ค่อยมีใช้ในการรักษาอาการปวดประจำเดือน

2.4) Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation (TENS):
มี 2 กลไกการลดปวดประจำเดือน

1. เพิ่ม threshold ของการปวด และการส่งสัญญาณความปวดในขณะที่เกิด uterine hypoxia & hypercontractility

2. กระตุ้นการหลั่ง endorphin ในร่างกาย แต่ไม่ได้มีผลต่อการหดรัดตัวของมดลูก ประสิทธิภาพยังต่ำกว่าการใช้ยา แต่สามารถใช้ในผู้ป่วยที่ไม่อยากรับประทานยา(3, 5, 10, 11)

Reassessment at 3-6 months

หากทำการรักษาด้วยยากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาก่อนแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยา 2 ชนิดขึ้นไป โดยทั่วไปจะใช้กลุ่ม NSAIDS ร่วมกับ Hormones แต่หากต้องเปลี่ยนชนิดของ Hormones และวิธีการบริหารยา เช่น ทานแบบ continuous หรือเปลี่ยนเป็น progestin only contraception ในผู้ป่วยที่ปวดประจำเดือนและต้องรับการรักษาทุกเดือน จำเป็นต้อง reevaluation ซ้ำ หลังได้รับการรักษาไปนาน 3-6 เดือน เพราะมีโอกาสที่จะมีภาวะ endometriosis ได้ร้อยละ 80 ควรได้รับการตรวจรักษาเพิ่มเติม(3, 5, 6, 10, 11)

ปวดประจำเดือนทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhea)

อาการมักเกิดหลังช่วงวัยรุ่นไปแล้ว กลุ่มอายุจะมากกว่ากลุ่ม Primary dysmenorrhea และลักษณะการปวดเป็นแบบ variable – achy, spasmodic ตำแหน่งการปวดไม่จำเพาะเจาะจง และระยะเวลาก็อาจปวดก่อนประจำเดือนจะมา 1-2 วันได้

อาการร่วมอื่นๆ เช่น Dyspareunia, dyschezia, infertility, urinary symptoms เป็นต้น การตรวจร่างกายอาจจะปกติได้ ในคนที่มี Endometriosis หรือ หากมีพยาธิสภาพ เช่น Adenomyosis, myoma uteri อาจตรวจร่างกายพบก้อน หรือตรวจภายในพบความผิดปกติได้ หรือในบางคนมี Uterine anomaly, มีการ obstruction ของ tract of uterus ก็อาจจะต้องใช้ imaging for diagnosis ต่อไป การ Ultrasonography ก็เป็น imaging ที่มีประโยชน์ในการช่วยแยกวินิจฉัย secondary dysmenorrhea ได้ แต่ในกรณีที่เป็น endometriosis การทำ Ultrasonography ก็อาจจะไม่ช่วย ดังนั้นการทำ diagnostic laparoscopy for dysmenorrhea หรือ chronic pain ก็จะมีประโยชน์ในการวินิจฉัยแยกโรคได้(11)

Laparoscopy for Endometriosis

การทำ laparoscopy อาจแตกต่างกันในแต่ละคน endometriotic lesions จะมี lesion ที่ clear หรือ จุดแดง และบางครั้งอาจจะยากในการดู หากผู้ทำไม่คุ้นเคย โดยปกติแล้วจะ biopsy ตำแหน่งที่สงสัยว่า endometriosis การรักษาสามารถให้ LNG-IUS หลังจากทำ Laparoscopy

การใส่ LNG-IUS สามารถลดความปวดประจำเดือนได้ทั้ง อาการปวดประจำเดือนที่ไม่ตอบสนองต่อยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน และการปวดประจำเดือนที่สัมพันธ์กับ endometriosis ถึงแม้ว่าการใช้ LNG-IUS ยังไม่ approved โดย U.S. Food and Drug Administration (FDA) ในการรักษา endometriosis associated pain(4, 5, 11)

Management of Endometriosis in Adolescents

เป้าหมายในการรักษา Endometriosis คือการลดอาการปวด ยับยั้ง progression ของโรค รวมถึง protection of future fertility ด้วย โดยการรักษาจำเป็นต้องพิจารณาข้อบ่งชี้หรือความต้องการในการใช้ฮอร์โมนในการรักษาของผู้ป่วยด้วย โดยจะต้องอธิบายถึงผลข้างเคียงของการใช้ฮอร์โมนในการรักษา

Recommended treatment สำหรับ endometriosis คือการ conservative surgical therapy เพื่อใช้ในการ diagnosis และรักษาโดยใช้ยาฮอร์โมนเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิด endometrial proliferation

First-line therapy คือการ surgically diagnosed และการกำจัด endometriosis
รวมถึงให้ฮอร์โมน progestin-only agent หรือ 52 mg of LNG-IUS

ในกรณีที่มี refractory pain จะใช้ conservative surgical therapy และ suppressive hormonal therapy : GnRH agonist therapy ร่วมกับ add-back medicine ซึ่ง GnRH Agonist มีผลให้กระดูกบาง เพราะยาจะทำให้เข้าสู่ภาวะที่คล้ายกับหมดประจำเดือน จึงจำเป็นต้องให้ยากลุ่มแคลเซียมและวิตามินดีร่วมด้วย หากใช้ยาเกิน 6 เดือน(4)

เอกสารอ้างอิง

1. เล็กสมบูรณ์ รัตนา, วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. Reviewing anatomy and physiology of the female reproductive system to understand the mechanism of pregnancy prevention. วารสารวิชาการ มอบ ปีที่ 11. 2009:25-37.

2. Rapkin AJ, Berek Novak’s Chapter 12. Pelvic pain and Dysmenorrhea. 16 ed2020.

3. Amimi S. Osayande M, Center UoTSM. Diagnosis and Initial Management of dysmenorrhea. Continuing medical education. 2014:341-6.

4. Geri D. Hewitt M, Care CoAH. Dysmenorrhea and Endometriosis in the Adolescent. ACOG Committee Opinion. 2018:249-58.

5. Guimaraes I, Rev Bras Ginecol Obstet. Primary Dysmenorrhea: Assessment and Treatment. 2020:501-7.

6. Kathryn A. McKenna M, General Health Family and Community Medicine Residency Program. Dysmenorrhea. Am Fam Physician. 2021:164-70.

7. Hugh S. Taylor M, infertility SsCGEa. Dysmenorrhea. 9 ed2020.

8. Barcikowska Z, Department of Immunobiology and Environment Microbiology. Inflammatory Markers in Dysmenorrhea and therapeutic options. Environmental Research and public Health. 2020.

9. Williams JW, Williams Obstetrics. Implantation and Placental Development Chapter 5. 25 ed2018.

10. Margaret Burnett M, Society of Obstetricians and Gynaecologists of Canada. Primary Dysmenorrhea Consensus Guideline. 2017:585-95.

11. คณะอนุกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ, RTCOG Clinical Practice Guideline. Primary Dysmenorrhea: Diagnosis and Treatment. 2014:213-24.

 

Read More

การรักษาโรคมะเร็งทางนรีเวชแบบอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์

การรักษาโรคมะเร็งทางนรีเวชแบบอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์

นพ. อนุชิต อินตา
อ. พญ. ชลัยธร นันทสุภา


ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ทำให้แนวทางการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้มีรายละเอียดแตกต่างจากการรักษาตามแบบมาตรฐานทั่วไป เนื่องจากยังต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการมีบุตรในอนาคต หลายองค์กรแนะนำว่า การให้ข้อมูลทางเลือกในการรักษาแบบอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ในสตรีอายุน้อยควรเป็นส่วนหนึ่งของการให้คำแนะนำก่อนการรักษา ทั้งนี้ ผู้ป่วยแต่ละราย ควรได้รับการประเมินที่เหมาะสมก่อนเริ่มตัดสินใจรักษาแบบอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจต้องรับการรักษาเพิ่มเติมภายหลัง หรือความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำของโรค แพทย์ควรอธิบายโอกาสที่ต้องใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (assisted reproductive technologies) และความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นเมื่อตั้งครรภ์

บทความนี้จะกล่าวถึงการรักษามะเร็งนรีเวชแบบอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก รวมถึงการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

มะเร็งปากมดลูก

ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูกมีแนวโน้มอายุที่น้อยลง ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งยังต้องการอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์(1) ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกอายุน้อยที่ตรวจพบรอยโรคอยู่เฉพาะบริเวณปากมดลูก ซึ่งเป็นระยะที่มีผลการรักษาที่ดี และมีอัตราการรอดชีวิตหลังการรักษา 5 ปีสูงถึงร้อยละ 91.8 ดังนั้นการรักษาโดยวิธีอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์จึงเป็นทางเลือกที่แพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก่อนตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา

วิธีการรักษาแบบมาตรฐาน

การรักษามะเร็งปากมดลูกระยะแรกที่เซลล์มะเร็งยังอยู่เฉพาะบริเวณปากมดลูก มักใช้การผ่าตัดรักษาเป็นหลัก มะเร็งปากมดลูกระยะ IA1 การรักษามารตรฐาน คือ การผ่าตัดมดลูกแบบปกติ (simple hysterectomy) แต่ถ้าเป็นระยะ IA2 ขึ้นไป จะรักษาด้วยการผ่าตัดมดลูกแบบกว้าง (radical hysterectomy) ร่วมกับเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน

เกณฑ์การพิจารณาเลือกกลุ่มผู้ป่วยที่จะรักษาด้วยการอนุรักษ์การเจริญพันธุ์ (selection criteria)

ผู้ป่วยที่สามารถรับการรักษาด้วยการอนุรักษ์การเจริญพันธุ์ได้ ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

  1. มะเร็งปากมดลูกระยะ IA1 ถึง IB1
  2. เป็นมะเร็งปากมดลูกชนิด squamous cell carcinoma หรือ adenocarcinoma
  3. ไม่พบรอยโรคที่สงสัยการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะที่อยู่ไกลออกไป
  4. ผู้ป่วยอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และมีความต้องการมีบุตรในอนาคต ซึ่งไม่มีข้อห้ามในการตั้งครรภ์

มะเร็งปากมดลูกชนิด squamous cell carcinoma เป็นชนิดของเซลล์มะเร็งปากมดลูกที่พบได้บ่อย และมีผลการรักษาที่ดีโดยเฉพาะเมื่อเป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้น ส่วนมะเร็งชนิด adenocarcinoma เป็นชนิดที่พบบ่อยรองลงมา ซึ่งก็พบผลการรักษาที่ดี มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำภายหลังการรักษาโดยอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ไม่แตกต่างจากชนิด squamous cell carcinoma (2) อย่างไรก็ตาม มะเร็งปากมดลูกชนิด small cell neuroendocrine, gastric type adenocarcinoma, clear cell adenocarcinoma และ adenoma malignum มักมีความรุนแรง มีโอกาสแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้มาก จึงไม่ควรรักษาโดยอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ (3)

การผ่าตัดรักษามะเร็งปากมดลูกโดยอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์

วิธีการผ่าตัดรักษามะเร็งปากมดลูก จะพิจารณาจากขนาด และระยะของมะเร็ง เมื่อมะเร็งมีระยะที่สูงขึ้น โอกาสที่เซลล์มะเร็งจะลุกลามไปในชั้นลึกของเนื้อเยื่อปากมดลูก หรือลามออกไปยังเนื้อเยื่อโดยรอบบริเวณปากมดลูกมากขึ้น ทำให้การผ่าตัดต้องทำเป็นบริเวณที่กว้างขึ้น โดยวิธีการรักษาเพื่ออนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ของมะเร็งปากมดลูกมีดังต่อไปนี้

  1. มะเร็งปากมดลูกระยะ IA1 ที่ไม่พบการลุกลามของเซลล์มะเร็งเข้าสู่หลอดเลือดหรือหลอดน้ำเหลือง (no lymphovascular space invasion)

ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะ IA1 ที่ไม่พบการลุกลามของเซลล์มะเร็งเข้าสู่หลอดเลือดหรือน้ำเหลือง ที่ยังต้องการมีบุตร สามารถให้การรักษาโดยการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย (conization) หรือการผ่าตัดปากมดลูกด้วยห่วงลวดไฟฟ้า (loop electrosurgical excision procedure: LEEP) ก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเลาะต่อมน้ำเหลือง ซึ่งทางเครือข่ายมะเร็งครบวงจรแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (National Comprehensive Cancer Network: NCCN) แนะนำให้ใช้วิธีตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยมากกว่า

จากการศึกษาพบว่า ผลการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ดีไม่แตกต่างจากการรักษาด้วยการตัดมดลูก และพบว่าร้อยละ 98 ของผู้ป่วยไม่พบการกลับเป็นซ้ำของโรคในระยะเวลา 5 ปี

หลังจากการผ่าตัดปากมดลูก ผลทางพยาธิวิทยาของชิ้นเนื้อจะถูกนำมาประเมิน เพื่อพิจารณาการดูแลต่อไป โดยถ้าไม่พบเซลล์มะเร็งที่ขอบของชิ้นเนื้อ (free margin) ร่วมกับไม่พบการลุกลามของมะเร็งเข้าสู่หลอดเลือดหรือน้ำเหลือง สามารถติดตามการรักษาหลังการผ่าตัดอย่างใกล้ชิดต่อไปได้ กรณีที่พบเซลล์มะเร็งที่ขอบของชิ้นเนื้อ (positive margin) ควรทำการผ่าตัดปากมดลูกซ้ำหรือพิจารณาทำการผ่าตัดปากมดลูกแบบกว้าง (radical trachelectomy) เพื่อยืนยันระยะของโรค

  1. มะเร็งปากมดลูกระยะ IA1 ที่พบการลุกลามของเซลล์มะเร็งเข้าสู่หลอดเลือดหรือน้ำเหลือง (positive for lymphovascular space invasion) ระยะ IA2 และระยะ IB1

การรักษาโดยอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ ในผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถปฏิบัติได้ 2 วิธี ได้แก่

  • การผ่าตัดปากมดลูกแบบกว้าง (radical trachelectomy) ร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน
  • การผ่าตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยด้วยมีด (cold knife conization) ร่วมกับเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน

ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกกลุ่มนี้ มีโอกาสแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองได้สูงขึ้น จึงควรได้รับการผ่าตัดประเมินการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองทุกราย โดยอาจพิจารณาทำด้วยวิธีผ่าตัดส่องกล้อง ร่วมกับการทำ sentinel lymph node mapping

จากการศึกษาพบว่าในผู้ป่วยมะเร็งที่มีขนาดของก้อนเล็กกว่า 2 เซนติเมตร ร่วมกับไม่พบการกระจายของมะเร็งไปต่อมน้ำเหลือง หรือกรณีที่มีการลุกลามเข้าไปในเนื้อเยื่อปากมดลูกน้อยกกว่าร้อยละ 50 นั้น พบการลุกลามของมะเร็งออกไปยังเนื้อเยื่อด้านข้าง (parametrial invasion) น้อยกว่าร้อยละ 1 (4) ทำให้การผ่าตัดในผู้ป่วยลักษณะดังกล่าว อาจพิจารณาผ่าตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย หรือสามารถพิจารณาผ่าตัดปากมดลูกแบบปกติ (simple trachelectomy) ได้ โดย พบว่ามีผลการรักษาที่ดีและมีโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จภายหลังการรักษาสูงขึ้น

  1. มะเร็งปากมดลูกระยะ IB2

การรักษามะเร็งปากมดลูกระยะ IB2 ที่ต้องการผ่าตัดเพื่ออนุรักษ์ภาวะการเจริญพันธุ์อาจทำได้ โดยการผ่าตัดปากมดลูกแบบกว้าง (radical trachelectomy) ร่วมกับผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลือง หรืออาจพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดเพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็งก่อนแล้วจึงทำการผ่าตัดเพื่ออนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ อย่างไรก็ตามควรมีการคัดเลือกผู้ป่วยในกลุ่มนี้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากมีโอกาสสูงที่ผู้ป่วยต้องกลับมารับการรักษาเพิ่มเติมภายหลังจากการผ่าตัด (adjuvant therapy) เนื่องจากผลทางพยาธิมักพบความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง อ้างอิงจาก Sedlis ดังแสดงในตารางที่ 1 นอกจากนี้ยังมีโอกาสการกระจายของมะเร็งไปต่อมน้ำเหลืองสูง

สำหรับช่องทางการผ่าตัดปากมดลูกสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดทางช่องคลอด การผ่าตัดทางหน้าท้อง หรือการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง แต่ถ้าก้อนมะเร็งมีขนาดมากกว่า 2 เซนติเมตร ควรทำการผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องเพื่อที่จะสามารถผ่าตัดเนื้อเยื่อบริเวณข้างปากมดลูกออกได้มากขึ้น เพื่อลดการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง

การรักษาเพิ่มเติมหลังการผ่าตัด

ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในระยะ IA1 ที่มีการลุกลามของเซลล์มะเร็งเข้าสู่หลอดเลือดหรือน้ำเหลือง จนถึงระยะ IB1 ที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดปากมดลูกแบบกว้างร่วมกับเลาะต่อมน้ำเหลือง ควรได้รับการประเมินผลชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา เพื่อกำหนดแนวทางการรักษาเพิ่มเติมดังนี้

  • ผลชิ้นเนื้อมีความเสี่ยงการกลับเป็นซ้ำสูง โดยเข้าได้กับเกณฑ์ของ Peter คือมีลักษณะอย่างน้อย 1 ใน 3 ข้อดังต่อไปนี้ (1) พบการลุกลามของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง (2) พบเซลล์มะเร็งที่ขอบของชิ้นเนื้อ (positive surgical margin) (3) พบการลุกลามของมะเร็งออกไปยังเนื้อเยื่อข้างปากมดลูก (parametrial invasion) การรักษาเพิ่มเติมตามมาตรฐานคือ การฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกรานร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด
  • ผลชิ้นเนื้อมีความเสี่ยงการกลับเป็นซ้ำปานกลาง โดยเข้าได้กับเกณฑ์ของ Sedlis คือมีลักษณะอย่างน้อย 2 ใน 3 ข้อดังต่อไปนี้ (1) ก้อนมะเร็งขนาดมากกว่า 4 ซม. (2) พบการลุกลามของเซลล์มะเร็งสู่หลอดเลือดหรือหลอดน้ำเหลือง (positive LVSI) (3) Deep invasion 1/3 หรือมีคุณลักษณะตามตารางที่ 1 การรักษาเพิ่มเติมตามมาตรฐานคือ การฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน อาจร่วมกับการฝังแร่

ตารางที่ 1 ปัจจัยเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งโดยอ้างอิงตามเกณฑ์ของ Sedlis’ criteria (5)

LVSI Stromal Invasion Tumor size (Clinical palpation, cm)
+ Deep 1/3 Any
+ Middle 1/3
+ Superficial 1/3
Middle or deep 1/3

หากพบว่าผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ในการฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกรานเพื่อรักษามะเร็งปากมดลูก อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อย้ายรังไข่ขึ้นไปในช่องท้องส่วนบน (ovarian transposition) เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากรังสี โดยมีการรายงานว่าสามารถช่วยคงการทำงานของรังไข่ได้ถึงร้อยละ 88.6 (6)

ภาวะการณ์เจริญพันธุ์หลังการผ่าตัด

ผู้ป่วยร้อยละ 10-15 พบว่ามีการตีบของปากมดลูกหลังจากการผ่าตัดปากมดลูกทางช่องคลอด ซึ่งถือเป็นความผิดปกติของปากมดลูกที่เป็นสาเหตุของการมีบุตรยากหลังการรักษาถึงร้อยละ 40-75 และยังมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความยาวของปากมดลูกที่เหลืออยู่ (7)

นอกจากนั้นผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์หลังจากที่ได้รับการรักษาโดยการตัดปากมดลูกมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรในไตรมาสที่สองสูงขึ้นถึงร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับร้อยละ 4 ในหญิงตั้งครรภ์ปกติ และยังมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้นถึงร้อยละ 25-34 ซึ่งขึ้นอยู่กับความยาวของปากมดลูกที่เหลืออยู่หลังจากรับการรักษา (8)

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกถูกพบได้บ่อยเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มมะเร็งทางนรีเวช และเป็นอันดับที่ 6 ในมะเร็งทั้งหมดในสตรีทั่วโลก และมีแนวโน้มจะเกิดมะเร็งชนิดนี้เพิ่มมากขึ้นทุกปีเฉลี่ยร้อยละ 1-2 ต่อปีโดยเฉพาะในปะเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกส่วนใหญ่มักมีอาการแสดง คือ เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด จึงช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษามักทำได้ตั้งแต่ระยะต้น อีกทั้งโอกาสการลุกลามแพร่กระจายของโรคค่อนข้างต่ำ จึงทำให้ส่วนใหญ่มีผลการรักษาที่ดี และทำให้โอกาสการรอดชีวิตจากมะเร็งชนิดนี้สูง

วิธีการรักษาตามมาตรฐาน

การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกตามมาตรฐาน ได้แก่ การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ทั้งสองข้างรวมถึงการประเมินต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง อย่างไรก็ตามมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในสตรีอายุน้อย สามารถรักษาแบบอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ไว้ได้ หากมีการคัดเลือกผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่พบในสตรีวัยเจริญพันธุ์มักมีความเกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรม เช่น Lynch syndrome ที่เกิดจาก germline mutation ใน mismatch repair (MMR) genes: MLH1, MSH2, MSH6, PMS2 รวมไปถึงมะเร็งรังไข่ที่อาจพบร่วมกัน (synchronous ovarian cancer) ที่สัมพันธ์กับ BRCA gene mutation อาจต้องระมัดระวังเป็นพิเศษซึ่งการพิจารณาการรักษาอาจต่างจากกรณีทั่วไป

เกณฑ์การพิจารณาเลือกกลุ่มผู้ป่วยที่จะรักษาด้วยการอนุรักษ์การเจริญพันธุ์ (selection criteria)

ผู้ป่วยที่สามารถรับการรักษาด้วยการอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ได้ ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

  1. Well-differentiated endometrioid adenocarcinoma grade 1 ซึ่งชิ้นเนื้อพยาธิที่นำไปตรวจนั้นควรมาจากการขูดมดลูก (fractional curettage) และได้ทบทวนผลทางพยาธิวิทยาโดย แพทย์พยาธิวิทยา
  2. มะเร็งจำกัดอยู่เพียงบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก ไม่มีการลุกลามเข้าชั้นกล้ามเนื้อมดลูก ซึ่งแนะนำให้ประเมินจาก การเอ๊กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
  3. ไม่พบรอยโรคที่สงสัยว่าเป็นระยะแพร่กระจายของมะเร็งจากภาพรังสีวินิจฉัย
  4. ผู้ป่วยอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และมีความต้องการมีบุตรในอนาคต ซึ่งไม่มีข้อห้ามในการตั้งครรภ์
  5. แพทย์ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การรักษาด้วยวิธีนี้ยังไม่ใช่การรักษาตามมาตรฐาน เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตรในอนาคต และยอมรับความเสี่ยงของการหลงเหลือรอยโรค หรือโอกาสกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งภายหลังการรักษาแบบอนุรักษ์การเจริญพันธุ์

นอกจากนี้ ยังไม่แนะนำวิธีการรักษาดังกล่าว ในรายที่ทราบว่าเป็น Lynch syndrome (9)

การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแบบอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์

  1. การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกด้วยฮอร์โมนโปรเจสติน (local and systemic progestins)

ฮอร์โมนโปรเจสตินถือเป็นยาที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูงในการรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแบบอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ วิธีการให้ยาฮอร์โมนโปรเจสตินที่นิยมมีอยู่ 3 แบบ คือ การให้ medroxyprogesterone acetate (MPA) 500-600 มก.ต่อวัน หรือ megestrol acetate (MA) 160 มก.ต่อวัน หรือ การใส่ห่วงคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมน Levonorgestrel (LNG) ดังแสดงในตารางที่ 2

ตารางที่ 2 วิธีการใช้ฮอร์โมน progestin ชนิดต่างๆ และผลการรักษา (10-11)

ชนิดฮอร์โมน ขนาดที่ใช้(ต่อวัน) อัตราการตอบสนองต่อโรค (ร้อยละ) อัตราการกลับเป็นซ้ำ(ร้อยละ) อัตราการตั้งครรภ์หลังการรักษา(ร้อยละ)
ขนาดที่มีการศึกษา ขนาดที่แนะนำ
MPA 10-1800 มก 200-500 มก 75-82 24-41 35-53
MA 40-400 มก 160-320 มก
LNG-IUD 20-65 มคก/วัน 20 มคก/วัน 33-73

 

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่า MA หรือ MPA มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน อย่างไรก็ตามควรคำนึงถึงประสิทธิภาพในการรักษาควบคู่ไปกับผลข้างเคียงของยาด้วยเสมอ ซึ่งได้แก่ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือด อารมณ์แปรปรวน ปวดศีรษะ น้ำหนักขึ้น และอาการปวดเต้านม ดังนั้นแนะนำว่าควรใช้ฮอร์โมนขนาดต่ำที่สุดที่จะสามารถรักษาโรคได้

การติดตามการรักษา โดยทั่วไปแพทย์ควรเก็บชิ้นเนื้อบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูกซ้ำ ในระยะเวลา 3 เดือนหลังเริ่มการรักษาด้วยฮอร์โมน และหลังจากผลพยาธิวิทยาให้ผลปกติติดต่อกัน 2 ครั้ง สามารถแนะนำให้ผู้ป่วยเริ่มการตั้งครรภ์ได้

ในรายที่ยังไม่มีความต้องการตั้งครรภ์ในขณะนั้น และยังมีความเสี่ยงต่อโรค เช่น ภาวะอ้วน สามารถใส่ห่วงคุมกำเนิดชนิดมีฮอร์โมน LNG ต่อไปได้ แต่กรณีที่ตรวจติดตามการรักษาแล้วยังพบมีเซลล์ผิดปกติที่ 3 เดือน แนะนำให้เพิ่มขนาดฮอร์โมนโปรเจสติน หลังจากปรับการรักษาแล้ว ควรเก็บชิ้นเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกซ้ำในอีก 3 เดือน ถ้ายังไม่ตอบสนองต่อการรักษา ควรพิจารณา ผ่าตัดมดลูกและกำหนดระยะโรคตามมาตรฐาน

  1. การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกด้วยการผ่าตัดแบบอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์

2.1 การผ่าตัดเนื้อมะเร็งผ่านการส่องกล้องโพรงมดลูก (hysteroscopic resection) วิธีนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดระยะเวลาในการรักษาด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินได้ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีรอยโรคเพียงรอยโรคเดียว

2.2 การผ่าตัดมดลูกโดยการเก็บรักษารังไข่ (hysterectomy with ovarian preservation) จาก สถาบันมะเร็งวิทยาแห่งทวีปยุโรป (European Society for Medical Oncology : ESMO 2018) ได้แนะนำเกณฑ์ในการพิจารณา ได้แก่ ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 45 ปี, ระยะ IA, ไม่พบการแพร่กระจายของมะเร็งนอกโพรงมดลูก และไม่มีประวัติเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ในครอบครัว (12) และทาง NCCN ได้ให้คำแนะนำว่าสามารถทำ การเก็บรักษารังไข่ ได้ในระยะต้น คือ IA และ IB (13)

มะเร็งรังไข่

มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่มักพบในสตรีวัยสูงอายุ แต่ในปัจจุบันพบว่ามีจำนวนของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ในวัยเจริญพันธุ์มากขึ้น ซึ่งถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะแรก (IA หรือ IB) ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ในวัยเจริญพันธุ์จะมีอัตรารอดชีวิตที่ 5 ปีสูงถึงร้อยละ 91 ซึ่งมากกว่าผู้ป่วยสูงอายุที่ระยะโรคเดียวกัน

วิธีการรักษาตามมาตรฐาน

โรคมะเร็งรังไข่ ควรได้รับการผ่าตัดรักษาเพื่อกำหนดระยะของโรค เรียกว่า complete surgical staging ซึ่งประกอบไปด้วย การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ทั้งสองข้างโดยพยายามไม่ให้ก้อนแตก การผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณอุ้งเชิงกรานและบริเวณรอบหลอดเลือดใหญ่ aorta ร่วมกับการเก็บตัวอย่างน้ำในช่องท้องหรือล้างน้ำในช่องท้องเพื่อส่งตรวจทางเซลล์วิทยา และการตัดเนื้อเยื่อไขมันช่องท้อง (omentectomy) หลังจากนั้นจึงพิจารณาการรักษาต่อด้วยยาเคมีบำบัด ตามความเสี่ยงของโรค

เกณฑ์การพิจารณาเลือกกลุ่มผู้ป่วยที่จะรักษาด้วยการอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ (selection criteria)

การรักษามะเร็งรังไข่เพื่ออนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ มีปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ ชนิดของมะเร็งรังไข่ โดยทั่วไปสามารถผ่าตัดรักษาได้ทั้งชนิด germ cell ที่เกิดจากส่วน sex cord หรือ stroma ทุกระยะ และในกลุ่ม borderline tumor รวมถึงในชนิดมะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ระยะ IA และ IB ซึ่งในมะเร็งไข่แต่ละชนิดอาจจะมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดรักษาเพื่ออนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไป

การรักษามะเร็งรังไข่แบบอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์

มะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว (epithelial ovarian tumors)

การผ่าตัดแบบอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ในมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว พิจารณาทำได้กรณีที่สงสัยมะเร็งรังไข่ระยะต้น (IA หรือ IB) การผ่าตัดประกอบด้วย การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ด้านที่เป็นมะเร็ง (unilateral salpingo-oophorectomy) ร่วมกับการตรวจเซลล์วิทยาของน้ำในช่องท้อง (peritoneal washing) การตัดเนื้อเยื่อไขมันช่องท้อง (omentectomy) การประเมินต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานและต่อมน้ำเหลืองรอบหลอดเลือด aorta และตัดเนื้อเยื่อบุผนังช่องท้องตำแหน่งที่พบความผิดปกติ (peritoneal biopsy)

หลังจากผ่าตัดรักษาต้องประเมินระยะของโรคและชนิดของเซลล์มะเร็งจากผลเนื้อพยาธิวิทยา เพื่อกำหนดแนวทางการรักษาหลังจากการผ่าตัด ดังนี้ (14)

  • ระยะ IA, IB Grade 2 endometrioid สามารถติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด หรือให้ยาเคมีบำบัดในกลุ่ม platinum
  • ระยะ IA, IB Grade 3 endometrioid พิจารณาให้ยาเคมีบำบัดในกลุ่ม platinum
  • ระยะ IA, IB High-grade serous carcinoma : ให้ยาเคมีบำบัดในกลุ่ม platinum
  • ระยะ IA, IB Mucinous carcinoma, grade 1 endometrioid, low-grade serous carcinoma สามารถติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดได้
  • ระยะ IA clear cell carcinoma สามารถติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด หรือให้ยาเคมีบำบัดในกลุ่ม platinum

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดภายหลังการผ่าตัด โดยพบว่ายาเคมีบำบัดมักทำให้จำนวนของ mature follicle ลดลงอย่างมาก และทำให้จำนวนของ primordial follicle ลดลงเล็กน้อย ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี มักเกิดภาวะขาดประจำเดือนในช่วงแรก และกลับมามีประจำเดือนในระยะเวลาหลายเดือน หรือหลายปีหลังจากหยุดยาเคมีบำบัดไปแล้ว แต่จากการศึกษาก็พบว่าในผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด สามารถตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีรายงานเรื่องความผิดปกติของทารก (15)

มะเร็งรังไข่ชนิด Germ cell

มะเร็งรังไข่ชนิด Germ cell พบได้ร้อยละ 3-5 ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด ซึ่งมักพบในสตรีวัยเจริญพันธุ์ อีกทั้งยังมีความจำเพาะหลายประการ ที่สำคัญคือ มะเร็งชนิดนี้มักจะมีการขยายขนาดของก้อนที่รวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้เร็ว จึงมักวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะต้น แตกต่างจากมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว

มะเร็งรังไข่ชนิด germ cell มักตรวจพบได้ในระยะต้นและมีรอยโรคจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณรังไข่เพียงข้างเดียว หากได้รับการผ่าตัดและได้รับยาเคมีบำบัดที่เหมาะสม ก็จะมีโอกาสหายจากโรคได้สูงขึ้น ในผู้ป่วยที่ต้องการมีบุตรหรือต้องการรักษาแบบอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ ควรทำการตรวจ Frozen section ของเนื้องอกในระหว่างการผ่าตัดทุกราย หากผลการตรวจยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่ชนิด germ cell ก็สามารถทำการผ่าตัดด้วยวิธีอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ได้ ซึ่งพบว่าประสิทธิภาพการรักษาใกล้เคียงกับการผ่าตัดแบบมาตรฐาน อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี สูงถึงร้อยละ 85 (16) ทั้งนี้การรักษาและการพยากรณ์โรคยังขึ้นกับชนิดและ grade ของเซลล์มะเร็ง

การรักษาหลังจากผ่าตัด

  • Dysgerminoma

ระยะ IA ไม่ต้องมีการรักษาเพิ่มเติม ให้ติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด

ระยะ IB, IC พิจารณาให้ยาเคมีบำบัดชนิด BEP regimen อย่างไรก็ตามเริ่มมีรายงานว่า dysgerminoma ทุกระยะอาจไม่ต้องได้รับยาเคมีบำบัด

  • Non-dysgerminoma

ระยะ IA grade 1 immuture teratoma ไม่ต้องมีการรักษาเพิ่มเติม ให้ติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด

ระยะ IA grade 2,3 immuture teratoma, ระยะ II-IV immuture teratoma, รวมถึงทุกระยะของ embryonal tumor และ yolk sac tumor ควรได้รับ adjuvant treatment ด้วยยาเคมีบำบัดชนิด BEP regimen

จากข้อมูลพบว่าร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ชนิดนี้เมื่อผ่าตัดแบบอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์จะพบภาวะมีบุตรยากหลังจากการรักษา เนื่องจากผลกระทบจากการผ่าตัด ยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษา และอายุผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น การเก็บเซลล์ไข่(oocyte cryopreservation) จึงเป็นสิ่งที่ควรแนะนำให้แก่ผู้ป่วย

มะเร็งรังไข่ชนิด Sex cord stromal tumor

เนื้องอกรังไข่ชนิด sex cord stromal tumors มีส่วนน้อยที่เป็นมะเร็ง ชนิดที่พบบ่อยได้แก่ granulosa cell tumor และ sertoli-leydig cell tumor เนื้องอกกลุ่มนี้มีพยากรณ์โรคที่ดี อัตรารอดชีวิตของทุกระยะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 75-90 โดยมักตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะต้น ปัจจัยที่มีผลต่ออัตรารอดชีวิต คือ เป็นระยะที่ I-II , อายุน้อยกว่า 50 ปี, ขนาดของก้อนมะเร็งน้อยกว่า 10 เซนติเมตร และไม่หลงเหลือรอยโรคหลังผ่าตัด

เนื้องอกรังไข่ชนิด sex cord stromal tumors ที่เป็นมะเร็งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดกำหนดระยะโรค (surgical staging) เพื่อบอกการดำเนินไปของโรคและเลือกวิธีการรักษาหลังการผ่าตัดที่เหมาะสม คือทำเช่นเดียวกับมะเร็งรังไข่เยื่อบุผิว แต่การเลาะต่อมน้ำเหลืองไม่มีความจำเป็น (omitted lymphadenectomy) เนื่องจากพบการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองน้อยมาก

การผ่าตัดรักษาสามารถเลือกวิธีอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ได้ แต่ต้องพิจารณาทำ endometrial sampling ในกรณีที่สงสัยมะเร็งชนิด granulosa cell เพื่อประเมินว่ามีมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกร่วมด้วยหรือไม่

แนวทางการรักษาหลังการผ่าตัด

ในกลุ่มที่ต้องการรักษาเพื่ออนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์สามารถเลือกทำได้ในกรณีที่รอยโรคจำกัดอยู่เฉพาะในรังไข่

  1. ผู้ป่วยระยะที่ I ที่มีความเสี่ยงต่ำ
  • Granulosa cell tumor IA: ไม่ต้องมีการรักษาเพิ่มเติม ให้ติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด และควรได้รับการติดตามด้วยคลื่นความถี่สูง
  • Sertoli-leydig cell IA well/intermediate differentiated tumor: ไม่ต้องให้การรักษาเพิ่มเติม ให้ติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด
  1. ผู้ป่วยระยะที่ I ที่มีความเสี่ยงสูง
  • Granulosa cell tumor IC หรืออยู่ในระยะ I แต่มีขนาดใหญ่เกิน 10 เซนติเมตร หรือเป็นชนิด poorly-differentiated tumor อาจพิจารณาให้การติดตามการรักษา หรือรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
  • Sertoli-leydig cell ระยะ I poorly differentiated tumor ควรได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
  1. ผู้ป่วยระยะ II-IV ทุกราย ควรได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ส่วนการให้รังสีรักษา (radiation therapy) เป็นทางเลือกในกรณีมีรอยโรคที่หลงเหลืออยู่ในอุ้งเชิงกรานอย่างเดียว

จากที่กล่าวมาข้างต้นผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ส่วนใหญ่จะต้องได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา จากการศึกษาพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์หลังการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา ได้แก่ อายุในช่วงที่ได้รับการรักษา ขนาดของยาเคมีบำบัด หรือปริมาณรังสีที่ใช้ ชนิดของยาเคมีบำบัด และบริเวณที่ได้รับรังสี โดยสตรีอายุน้อยที่ได้รับเคมีบำบัด มีโอกาสที่รังไข่จะกลับมาทำงานได้มากกว่าสตรีที่รับการรักษาเมื่ออายุมาก เนื่องจากยังมีปริมาณไข่อ่อนเหลือมากกว่า นอกจากนี้ การฉายรังสีบริเวณท้องและอุ้งเชิงกรานในขนาดที่มากกว่า 6-10 Gy มักทำให้ไข่อ่อนถูกทำลาย เยื่อบุโพรงมดลูกและกล้ามเนื้อมดลูกฝ่อและทำให้เกิดพังผืด โดยเฉพาะรังสีที่มีขนาดมากกว่า 20 Gy ทำให้เกิดภาวะรังไข่ทำงานบกพร่องก่อนกำหนดและไม่สามารถมีบุตรได้ในอนาคต

ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชแบบอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ นอกจากการคัดเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงของโรคแล้วนั้น แพทย์ผู้ดูแลต้องพิจารณาขั้นตอนการรักษาโดยให้ความสำคัญต่อผลของการรักษา ซึ่งไม่ควรส่งผลต่อการรักษาหลัก หรือทำให้เกิดความล่าช้าของการรักษามะเร็ง การบอกถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดเพิ่มขึ้นทั้งช่วงก่อนตั้งครรภ์จนถึงช่วงตั้งครรภ์ให้แก่ผู้ป่วยรับทราบถือเป็นข้อที่ต้องปฏิบัติ และควรให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตามการรักษาแบบอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ถือเป็นทางเลือก และเป็นหัวข้อสำคัญที่แพทย์ผู้ดูแลรักษาควรให้คำแนะนำ เพื่อความปลอดภัยและประโยชน์ที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยมากที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Wright JD, NathavithArana R, Lewin SN, et al. Fertility-conservativing surgery for young women with stage IA1 cervical cancer: safety and access. Obstet Gynecol 2010; 115:585-590.
  2. Plante M, Evolution in fertility-preservating options for early-stage cervical cancer:redical trachelectomy, simple trachelectomy , neoadjuvant chemotherapy. Int J Gynecol Cancer 2013;23:982-9.
  3. Park JY. Joo WD, Chang SJ, Kim DY, Kim JH, Kim YM, et al. Long term outcomes after fertility-sparing laparoscopic radical trachelectomy in young women with early stage cervical cancer: an Asan Gynecologic Cancer Group(AGCG) study. J Surg Oncol 2014;110:252-7.
  4. Jolley JA, Battisa L, Wing DA. Management of pregnancy after radical trachelectomy: case reports and systemic review of the literature. Am J Perinatol 2007;24:531-9.
  5. Sedlis A, Bundy BN, Rotman MZ, et al. A randomized trial of pelvic radiation therapy versus no further therapy in selected pateints with stage IB carcinoma of the cervix after radical hysterectomy and pelvic lymphadenectomy: A Gynecologic Oncology Group study. Gynecol Oncol 1999;177-183.
  6. Taylan E, Oktay K. Fertility preservation in gynecologic cancers. Gynecol Oncol 2019;155:522-9.
  7. Johensen G, Lonnerfors C, Falconer H, Persson J. Repoductive and oncologic outcome following ropot-assisted laparoscopic radical trachelectomy for early-stage cervical cancer. Gynecol Oncol 2016;141:160-5.
  8. Schmeler KM, Frumovitz M, Ramirez PT. Conservative management of early stage cervical cancer: is there a role for less radical surgery? Gynecol Oncol 2011; 120:321-5.
  9. Joshua P Kesterson M. Fertility preservation in women with endometrial carcinoma. 2019 2019 Jun 05[cited 2019 Dec 12]. In: UpToDate [Internet]. Waltham(MA), [cited 2019 Dec 12]. Available from: http://www.uptodate.com/contents/fertility-preservation-in-women-with-endometrial-carcinoma?souce=autocomplete&index=0~4&seach=fertility%20preservation.
  10. Ramirez PT, Frumovitz M, Bodurka DC et al. Hormonal therapy for the management of grade 1 endometrial adenocarcinoma: A literature review. Gynecol Oncol 2004;95:133-138.
  11. Erkani S, Ayhan A. Fertility-sparing therapy in young women with endometrial cancer: 2010 update. Int J Gynecol Cancer 2010;20:1170-1187.
  12. Columbo N, Creutzberg C, Querleu D, Barahona M, Sessa C. Appendix 5: Endometrial cancer: eUpdate published online 8 June 2017 (www.esmo.org/Guidelines/Gynaecological-Cancers). Ann Oncol 2017;28:iv153-iv6.
  13. Wright JD, Buck AM, Shah M, et al. Safety of ovarian preservation in premenopausal women with endometrial cancer. J Clin Oncol 2009;27:1214-1219.
  14. Young RC, Walton LA, Ellenberg SS, et al. Adjuvant therapy in stage I and stage II epithelial ovarian cancer. Results of two prospective randomized trials. N Engl J Med 1990;322. 1021-1027.
  15. Zapardiel I, Diestro MD, Aletti G. Conservative treatment of early stage ovarian cancer: oncological and fertility outcomes. Eur J Surg Oncol 2014;40:387-93.
  16. Jeffrey J. H. Low, Lewis C. Perrin, Alex J. Crandon, Neville F. Hacker. Conservative surgery to preserve ovarian function in pateints with malignant ovarian germ cell tumors. A review of 74 case. Cancer 2000;89:391-8.

 

Read More

Osteoporosis in Menopause

Osteoporosis in Menopause

ณัฐกานต์ เสงี่ยมพร
ณัฐพัชร์ จันทรสกา


วัยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง (menopause) เป็นภาวะที่มีการทำงานของรังไข่ลดลง ซึ่งมีผลต่อการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายลดลงไปด้วย ผลจากการลดลงของฮอร์โมนดังกล่าว ทำให้เกิดภาวะ vasomotor symptoms (เช่น ร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ หนาวสั่น หงุดหงิดง่าย เป็นต้น), genitourinary symptoms (แสบร้อนช่องคลอด ช่องคลอดแห้ง ปัสสาวะเล็ด/บ่อย เป็นต้น) อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสำคัญ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease), โรคกระดูกพรุน (osteoporosis), โรคมะเร็งเต้านม (breast cancer), และโรคความจำเสื่อม (dementia) เป็นต้น ในที่นี่จะขอกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือ โรคที่มีความหนาแน่นและมวลของกระดูกลดลง ส่งผลให้กระดูกเกิดความเสื่อม เปราะบาง ผิดรูปและมีโอกาสแตกหักง่ายมากขึ้น ส่วนใหญ่โรคกระดูกพรุนมักไม่ค่อยแสดงอาการจนกว่าจะเกิดกระดูกหักขึ้น(1) ตำแหน่งที่พบว่ามีกระดูกหักบ่อย ได้แก่ กระดูกสะโพก, กระดูกสันหลัง, และกระดูกแขน โดยปกติระดับมวลกระดูกจะสูงที่สุดที่ช่วงอายุประมาณ 30 ปี(2) หลังจากนั้นมวลกระดูกจะเริ่มมีการลดลง ซึ่งจากอุบัติการณ์ของโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงไทยที่อายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป พบได้มากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งการที่กระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนนั้น ถือว่าส่งผลกระทบต่อทั้งสังคมในแง่ของค่าใช้จ่ายและส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในแง่ของการเจ็บป่วย และการเสียชีวิตอีกด้วย(3), (4)

สรีรวิทยาของกระดูก (Bone physiology)

กายวิภาคปกติของกระดูกมี 2 ส่วน ได้แก่

  1. Cortex หรือ Compact bone เป็นชั้นนอกสุดที่แข็ง หนา และอัดแน่น มีส่วนประกอบของแคลเซียมร้อยละ 80
  2. Trabecular bone เป็นชั้นที่เป็นแกนกลางของกระดูก มีลักษณะเป็นรูพรุน พื้นที่ผิวเยอะ มีส่วนประกอบของแคลเซียมอยู่พียงร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือเป็นหลอดเลือด เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และไขกระดูก ซึ่งจะตอบสนองต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง(2) กระดูกส่วนนี้จะทำหน้าที่เกี่ยว
    กับการเมตาบอลิสม์ของร่างกาย

ทั้งกระดูก cortical และ trabecular bone ต่างประกอบด้วยส่วนที่เป็นเนื้อกระดูก (matrix) และเซลล์ต่างๆ ภายในกระดูกเหมือนกัน ได้แก่ เซลล์กระดูก (osteocyte), เซลล์สร้างกระดูก (osteoblast), และเซลล์ทำลายกระดูก (osteoclast)

เซลล์กระดูก (Osteocyte)

มีต้นกำเนิดมาจาก osteoblast ซึ่งฝังตัวอยู่ใน lacuna เกิดจากการตกตะกอนของ osteoblast แต่ละเซลล์จะเชื่อมต่อกันผ่านร่างแห่ง (canaliculi) โดยจะทำหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับเซลล์อื่นๆ เรียกว่า gap junction และติดต่อกับ bone lining cell ที่อยู่บนผิวกระดูก ซึ่งจะตอบสนองต่อแรงกลที่มากระทำกับกระดูก ทำให้มีการสังเคราะห์ prostacyclin,
nitric oxide และ insulin-like growth factor เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระตุ้นให้เกิดการปรับแต่งกระดูกใหม่ (remodeling) (5)

เซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast)

Osteoblast ทำหน้าที่ผลิต collagen และผลิตสารเคมีที่มีผลควบคุมการทำงานของเซลล์กระดูก เช่น RANK-ligand, colony stimulating factor, interleukin-6 และ interleukin-11 ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาของเซลล์สลายกระดูก (osteoclast) เซลล์ osteoblast นั้นจะมีระดับของ alkaline phosphatase (ALP) สูง และมี parathyroid hormone (PTH) receptor อยู่ที่ผิวเซลล์ ส่วนภายในนิวเคลียสจะมี receptor สำหรับ estrogen และ vitamin D3 เมื่อหมดช่วงระยะเวลาสร้างกระดูก osteoblast จะตกตะกอนกลับไปเป็น flat lining cell หรือกลายเป็น osteocyte ในที่สุด (5)

เซลล์ทำลายกระดูก (Osteoclast)

Osteoclast พัฒนามาจาก mononuclear / macrophage ซึ่งมีลักษณะเฉพาะเป็นเซลล์ขนาดใหญ่มีนิวเคลียสหลายอัน (giant multinucleated cell) โดย osteoclast precursor จะมีการเจริญและพัฒนาการได้อย่างเต็มที่นั้น ต้องมีการกระตุ้น RANK receptor ที่อยู่บนผิวเซลล์ด้วย RANKL (RANK ligand) ที่สร้างมาจาก osteoblast กล่าวคือต้องมี RANK-RANKL binding เกิดขึ้น จึงจะสามารถพัฒนาไปเป็น mature osteoclast ได้

ในภาวะปกติทั้งสองเซลล์จะทำหน้าที่ในการสร้างความสมดุลของเกลือแร่ต่างๆ ภายในร่างกาย เพื่อสุขภาพของกระดูกที่แข็งแรง ซึ่งวงจรที่มีการสร้างและสลายของกระดูก เรียกว่า Bone remodeling ดังภาพ

ฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ทำหน้าที่ในการควบคุมการสร้างของ osteoblast และ osteoclast แต่เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน (menopause) จะเริ่มมีการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการควบคุมของเซลล์ทั้งสองนี้ไป ส่งผลให้มีการสร้าง osteoblast ลดลง แต่มีการสร้าง osteoclast เพิ่มมากขึ้น ผลที่เกิดขึ้นคือ มีการสลายกระดูก (bone reabsorption) มากขึ้น ทำให้เกิดโรคกระดูกบาง (osteopenia) หรือกระดูกพรุน (osteoporosis) ตามมาได้(2)

ความเสี่ยงของภาวะกระดูกพรุน (Risk factors for osteoporosis) (6) สามารถแบ่งออกได้เป็น

  • Nonmodifiable risk ได้แก่ อายุ, เชื้อชาติ (เอเชีย, ผิวขาว), รูปร่างเล็ก, หมดประจำเดือนเร็ว, มีประวัติกระดูกหักก่อนวัยอันควร, มีประวัติคนในครอบครัวเป็นกระดูกพรุน
  • Modifiable risk ได้แก่ การรับแคลเซียม/วิตามินดีไม่เพียงพอ, น้ำหนักน้อย, สูบบุหรี่, ดื่มสุรา, วิถีชีวิตแบบนั่งนอนมาก
  • Associated medical conditions เช่น chronic anovulation, hyperparathyroidism, hyperthyroidism, chronic renal disease, rheumatoid arthritis, โรคหรือภาวะใดๆ ก็ตามที่ จำเป็นต้องรับประทานคอร์ติโคสเตียรอยด์

การประเมินความเสี่ยง (Risk assessment)

เครื่องมือที่นำมาใช้ประเมินความเสี่ยงนั้นมีให้ใช้หลากหลาย แต่ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดคือ Fracture Risk Assessment Tool (FRAX) ซึ่งใช้ทำนายความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักบริเวณสะโพก หรือกระดูกหักที่ตำแหน่งสำคัญ (เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกต้นแขน และกระดูกแขน) ในระยะเวลาอีก 10 ปีข้างหน้า เครื่องมือนี้ช่วยประเมินความจำเป็นในการส่งตรวจมวลกระดูกในคนที่อายุน้อยกว่า 65 ปี และยังช่วยประเมินความจำเป็นในการเริ่มรักษาโดยการใช้ยา

ข้อมูลที่ต้องใช้ในการประเมิน ได้แก่ เชื้อชาติ, เพศ, อายุ, ส่วนสูง, น้ำหนัก, ประวัติกระดูกหักมาก่อน, ประวัติกระดูกสะโพกหักของพ่อแม่, ประวัติการใช้สเตียรอยด์, การสูบบุหรี่ และดื่มสุรา, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, และโรคกระดูกพรุนแบบทุติยภูมิ (secondary causes of bone loss) ซึ่งจะรวมข้อมูลผลตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก (bone marrow density) ไปด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเครื่องมือนี้เป็นที่นิยมใช้ เพราะใช้งานง่าย สะดวกในการเข้าถึง ใช้งานได้ตลอดเวลา ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย

โดยสามารถเข้าไปประเมินตามเว็บไซต์ https://www.sheffield.ac.uk/FRAX/

แนวทางการวินิจฉัย (Diagnosis)

ในผู้ที่ไม่มีอาการสามารถทำได้โดยการตรวจมวลกระดูก (bone marrow density; BMD) หรือภาพถ่ายรังสีของกระดูกสันหลัง (vertebral imaging) แต่ในกรณีที่มีการหักของกระดูกสะโพกหรือกระดูกสันหลังจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง จะสามารถวินิจฉัยว่ามีภาวะกระดูกพรุนได้เลยโดยไม่ต้องส่งตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องหาสาเหตุอื่นๆ ของการเกิดภาวะกระดูกพรุน นอกเหนือไปจากการขาดฮอร์โมนในวัยหมดระดู (เช่น osteomalacia, hyperparathyroidism และอื่นๆ ดังแสดงในตารางที่ 1) เพื่อที่จะได้รักษาและป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องมีการส่งตรวจเลือด และปัสสาวะเพิ่มเติม ตามภาวะหรือโรคที่สงสัย

  1. การวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone marrow density; BMD)

หน่วยของการวัดความหนาแน่นของกระดูก แบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

  • T-score เป็นค่าที่เปรียบเทียบกับกระดูกของผู้ที่อยู่ในวัย 30 ปี (อายุที่มวลกระดูกสูงที่สุด) เป็นมาตรฐาน
  • Z-score เป็นค่าที่เปรียบเทียบกับกระดูกของผู้ที่อยู่ในวัยเดียวกัน เพศเดียวกัน และเชื้อชาติเดียวกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ค่า Z-Score เพียงค่าเดียว ไม่อาจบ่งชี้ได้ว่าในระหว่าง 2 คนนั้น ผู้ใดเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วหรือไม่อย่างไร ซึ่งแตกต่างจากค่า T-Score ที่อาจใช้บ่งชี้ได้ชัดเจน

ดังนั้น การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนจึงให้ใช้ค่า T-score เป็นหลัก ส่วนค่า Z-Score มีประโยชน์ในแง่ของการเฝ้าระวังโรคกระดูก หรือช่วยบ่งชี้สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคกระดูกบางโรคที่มีมวลลดน้อยลงไปได้

WHO definition of osteoporosis by BMD

Classification T-score
Normal ≥ -1.0
Low bone mass (Osteopenia) -1.0 to -2.5
Osteoporosis ≤ -2.5
Severe or established osteoporosis ≤ -2.5 with fragility fracture

ข้อบ่งชี้ในการส่งตรวจความหนาแน่นของกระดูก(7)

แนะนำส่งตรวจความหนาแน่นของกระดูกโดยอาศัยเกณฑ์อายุและปัจจัยเสี่ยงทางคลินิก ข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

  • ผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี ซึ่งรวมถึงผู้ที่ถูกตัดรังไข่ทั้งสองข้าง
  • ผู้หญิงที่มีภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ (hypoestrogenism) ต่อเนื่องนานกว่า 1 ปี ก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยที่ได้รับ GnRH agonist หรือมี functional hypothalamic amenorrhea เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางอายุรกรรม คนที่ออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลานาน เป็นต้น โดยยกเว้นกรณีตั้งครรภ์และให้นมบุตร
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่อายุน้อยกว่า 65 ปี หรือผู้ชายที่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี ที่มีความเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
  • กำลังเริ่มยา หรือได้รับยา glucocorticoid ขนาดเทียบเท่าหรือมากกว่า prednisolone 5 มิลลิกรัมต่อวัน ต่อเนื่องกันตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป
  • มีบิดาหรือมารดากระดูกสะโพกหักจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง
  • ดัชนีมวลกายน้อยกว่า 20 กก./ตร.ม.
  • ส่วนสูงลดลงตั้งแต่ 4 ซม.ขึ้นไป เมื่อเทียบกับประวัติส่วนสูงที่สูงสุด หรือตั้งแต่ 2 ซม.ขึ้นไปจากบันทึกการวัดส่วนสูง 2 ครั้ง
  • ผู้หญิงที่ได้รับการรักษาด้วย aromatase inhibitor หรือผู้ชายที่ได้รับ androgen deprivation therapy
  • ภาพถ่ายรังสีแสดงลักษณะ radiographic osteopenia หรือกระดูกสันหลังผิดรูปจาก vertebral fracture
  • มีประวัติกระดูกหักจากอุบัติเหตุไม่รุนแรง (fragility fracture)
  • ก่อนเริ่มยารักษาโรคกระดูกพรุน และติดตามผลที่ 1-2 ปีหลังการรักษา

2. ภาพถ่ายรังสีของกระดูกสันหลัง (Vertebral imaging)

โดยส่วนใหญ่ภาวะกระดูกสันหลังหักมักจะไม่มีอาการ ดังนั้น การส่งภาพถ่ายรังสีจึงเป็นหนึ่งในช่องทางที่จะช่วยวินิจฉัยกระดูกสันหลังหักได้ อีกทั้งการที่พบว่ามีกระดูกสันหลังหักนั้นก็ยังเป็นข้อบ่งชี้ในการเริ่มรักษาโดยการใช้ยาอีกด้วยเช่นกัน

ข้อบ่งชี้ในการส่งตรวจภาพถ่ายรังสีของกระดูกสันหลัง(7) ประกอบด้วยข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

  • T-score < -1.0 ร่วมกับมีเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
  • ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป หรือผู้ชายอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป
  • ประวัติความสูงลดลงมากกว่า 4 ซม.
  • ประวัติกระดูกสันหลังหัก แต่ยังไม่มีหลักฐาน
  • ได้รับ glucocorticoid ขนาดเทียบเท่าหรือมากกว่า prednisolone 5 มก./วัน ติดต่อกันตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป
  • T-score ≤ -2.5
  • มีกระดูกหักจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง

แนวทางการรักษา (Treatment)

Universal Recommendations for all patients

  1. รับประทานแคลเซียม และวิตามินดี (Calcium and vitamin D)
  • รับประทานแคลเซียมควบคู่กับวิตามินดีอย่างเพียงพอ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหัก(8) และหากร่างกายได้แคลเซียมจากภายนอกไม่เพียงพอต่อความต้องการ ร่างกายจะมีการสลายกระดูก เพื่อคงระดับของแคลเซียมในเลือดไว้
  • ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำสำหรับหญิงที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป คือ 1200 มก./วัน (การรับประทานอาหารในแต่ละวัน จะได้รับแคลเซียมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 600-700 มก./วัน) แต่อย่างไรก็ตามการที่ได้รับแคลเซียมในปริมาณที่มากกว่า 1200-1500 มก./วัน อาจจะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วที่ไต, โรคหลอดเลือดหัวใจ, หรือโรคหลอดเลือดสมองได้
  • NOF แนะนำปริมาณวิตามินดีสำหรับผู้ที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป คือ 800-1000 ยูนิต/วัน(9) Institute of medicine dietary reference intake แนะนำให้ 600 ยูนิต/วัน ไปจนถึงอายุ 70 ปี หลังจากนั้นเพิ่มเป็น 800 ยูนิต/วัน(10)
  • ผู้ป่วยบางรายมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการขาดวิตามินดี เช่น Celiac disease, Inflammatory bowel disease, gastric bypass surgery, Chronic renal disease, Limited sun exposure เป็นต้น
  • การประเมินระดับวิตามินดีในเลือดว่าเพียงพอหรือไม่ สามารถเจาะตรวจ Serum 25(OH)D level โดยค่าปกติจะอยู่ที่ประมาณ 30 ng/ml (75 nmol/L) ในผู้ป่วยกระดูกพรุนแนะนำให้อยู่ในระดับ 30-50 ng/ml
  1. ออกกำลังกาย (Weight-bearing and Muscle strengthening exercise)
    • ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ความคล่องแคล่ว ความแข็งแรง และการทรงตัวที่ดี ลดโอกาสการลื่นล้มได้
    • ตัวอย่างของ Weight-bearing exercise เช่น การเดิน การวิ่ง การเต้น ไทเก๊ก การปีนเขา เป็นต้น
    • ตัวอย่างของ Muscle strengthening exercise เช่น Weight training, โยคะ เป็นต้น
  2. โปรตีน
  • รับประทานโปรตีนให้เพียงพอ (1-1.2 กรัม/กก./วัน) ร่วมกับออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อประโยชน์ต่อกระดูกและ กล้ามเนื้อ โดยแหล่งอาหารโปรตีนควรมาจากสัตว์และจากพืชในสัดส่วนที่เท่ากัน
  1. การป้องกันการล้ม
  • ทำได้โดยประเมินความเสี่ยงของการล้ม การออกกำลังกายตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น สร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัย (Home Safety Assessment) ลดปริมาณยาที่มีผลต่อระดับความรู้สึกตัว และแก้ไขปัญหาทางสายตา
  1. เลิกสูบบุหรี่ ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกาแฟ

Pharmacologic Therapy

ก่อนเริ่มรักษาโดยการใช้ยา อย่าลืมค้นหาสาเหตุอื่นๆ ของภาวะกระดูกพรุน (secondary causes of osteoporosis) ต่อมาควรมีการตรวจวัดมวลกระดูก ภาพถ่ายรังสีของกระดูกสันหลัง เพื่อนำไปใช้ในการติดตามผลการรักษา โดยการรักษาโดยการให้ยานั้น จะพิจารณาในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักสูงและสูงมาก โดยใช้เกณฑ์ดังนี้ (7)

เกณฑ์สำหรับความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักสูง ข้อใดข้อหนึ่งดังนี้

    1. มีกระดูกสันหลังหัก หรือกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุน
    2. T-score น้อยกว่าหรือเท่ากับ – 2.5
    3. ความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสะโพกหักในช่วงเวลา 10 ปี ซึ่งประเมิน โดย FRAX สำหรับประเทศไทย ≥ 3%
    4. T-score ระหว่าง -1.0 และ -2.5 ร่วมกับมีกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน ในตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่กระดูกสันหลัง และกระดูกสะโพก ได้แก่ กระดูกหัก ในตำแหน่ง proximal humerus, pelvis หรือ forearm

เกณฑ์สำหรับความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักสูงมาก ข้อใดข้อหนึ่งดังนี้

  1. กระดูกสันหลังหรือกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุนภายในระยะเวลา 12 เดือน ในผู้ป่วยที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ที่มี T-score ≤ -2.5
  2. มีกระดูกสันหลังหักซ้ำ หรือหักตั้งแต่ 2 ระดับขึ้นไป และมีความรุนแรงระดับปานกลางถึงรุนแรงมากทั้ง 2 ระดับ
  3. มีกระดูกสะโพกหักสองข้างจากโรคกระดูกพรุน กระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังหักจากโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนซ้ำตั้งแต่ 3 ครั้ง หรือ 3 ตำแหน่งขึ้นไป
  4. มีกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนเกิดขึ้นในระหว่างที่ได้รับยารักษาโรคกระดูกพรุนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ร่วมกับไม่พบสาเหตุอื่นของโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ
  5. ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 65 ปีหรือผู้ชายอายุตั้งแต่ 70 ปี ที่มี T-score ≤ 3.5 ที่ตำแหน่งกระดูกสันหลังหรือกระดูกสะโพก

ยาที่ได้รับการยอมรับจาก FDA ในการใช้เพื่อป้องกัน / รักษาโรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือน ได้แก่ Bisphosphonate, Calcitonin, Estrogens/Hormone therapy, Estrogen agonist/antagonist, Tissue-selective estrogen complex, Receptor activator of nuclear factor kappa-B (RANK) ligand (RANKL) inhibitor, Parathyroid hormone, Sclerostin inhibitor แบ่งตามกลไกออกได้เป็น 2 กลุ่ม(2) คือ กลุ่มที่ป้องกันการสลายของกระดูก (antiresorptive medications) ซึ่งได้แก่ Bisphosphonate, Calcitonin, Estrogens, SERM, RANK-RANKL inhibitor และกลุ่มที่ช่วยสร้างกระดูก (anabolic medications) ซึ่งได้แก่ Parathyroid hormone, Sclerostin inhibitor โดยการจะเลือกใช้ยานั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค, อายุ, ความต้องการ, อาการร่วมอื่นๆ และค่าใช้จ่ายของยา(2)

  1. Bisphosphonate
  • ยาที่ได้รับการยอมรับโดย FDA ได้แก่ Alendronate, Ibandronate, Risedronate, และ Zoledronic acid
  • ผลข้างเคียง: ปวดกระดูก/ข้อ/กล้ามเนื้อ, แคลเซียมในเลือดต่ำ, ตาอักเสบ, คลื่นไส้, ระคายเคืองทางเดินอาหาร นอกจากนี้ ยังมีผลข้างเคียงที่พบน้อยแต่รุนแรง ได้แก่ osteonecrosis of jaw และ atypical femur fracture(2)
    ซึ่งหากพบภาวะทั้งสองเกิดขึ้น ควรพิจารณาหยุดยาทันที
  • ประเมินความเสี่ยงซ้ำหลังจากเริ่มการรักษา 3-5 ปี หากยังมีความเสี่ยงสูง พิจารณาให้การรักษาต่อ แต่หากความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง จะพิจารณาหยุดการให้ Bisphosphonate เป็นระยะเวลา 2-5 ปี หรือเรียกว่า “bisphosphonate holiday” ในระหว่างนี้ให้ติดตามมวลกระดูกร่วมกับประเมินความเสี่ยงทุก 2-4 ปี หากผลแย่ลง ให้พิจารณากลับมาเริ่มรักษาอีกครั้ง (2), (11)
  1. Calcitonin(2) (ชื่อทางการค้า Miacalcin®, Fortical®)
  • เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่เกี่ยวกับเมตาบอลิซึมของกระดูก และควบคุมระดับแคลเซียมในร่างกาย
  • แนะนำให้ใช้รักษาโรคกระดูกพรุนในหญิงที่หมดประจำเดือนมานานอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป
  • ขนาดยา: 200 IU single daily intranasal spray
  • ผลข้างเคียงของยาแบบพ่น: จมูกอักเสบ, เลือดกำเดาไหล, ปวดศีรษะ, ปวดหลัง/ข้อ
  • ผลข้างเคียงของยาแบบฉีด: หน้าหรือมือแดง, ผื่น, คลื่นไส้, ปัสสาวะบ่อย
  1. Estrogen therapy / Hormone therapy(9)
  • จุดประสงค์หลักของการรักษาด้วยวิธีนี้ เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน, ลด vasomotor symptoms และ vulvovaginal atrophy ที่เกิดจากวัยหมดประจำเดือน
  • ถ้ายังมีมดลูก พิจารณาให้เป็น combined estrogen-progestin therapy เพื่อลดความเสี่ยงของมะเร็งเยื่อบุมดลูก
  • มีการศึกษาพบว่าการรักษาวิธีนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเส้นเลือดหัวใจ/เส้นเลือดสมองตีบ, มะเร็งเต้านม, ลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด, และลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก หลังรักษาเป็นระยะเวลา 5 ปี(12) แต่อีกการศึกษาหนึ่งกลับพบว่าไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ(13)
  1. Selective estrogen receptor modulators (SERMs) (Raloxifene ชื่อทางการค้า Evista®)
    • Estrogen agonist/antagonist
    • ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสันหลังหัก 30-50%, ช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านม
    • วิธีใช้: Raloxifene 60 mg 1 tab oral daily
    • ผลข้างเคียง: ร้อนวูบวาบ, ตะคริวที่ขา, เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ
  2. Tissue selective estrogen complex (TSEC) (Bazedoxifene ชื่อทางการค้า Duavee®)
    • Conjugated estrogens/bazedoxifene
    • แนะนำให้ใช้ในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่ยังมีมดลูก และมีภาวะ vasomotor symptoms ในระดับปานกลางถึงมาก
    • ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ endometrial hyperplasia ที่เกิดจากการให้ estrogen อย่างเดียว ดังนั้น การใช้ยานี้จึงไม่จำเป็นต้องได้ยา progestin เพิ่มเติม
    • วิธีใช้: Conjugated estrogens/bazedoxifene (0.45 mg/20 mg) วันละครั้ง
    • ผลข้างเคียง: เวียนศีรษะ ปวดคอ เจ็บภายในช่องปาก คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย ตะคริว
  3. RANKL / RANKL inhibitor (Denozumab ชื่อทางการค้า Prolia®)
    • ใช้สำหรับรักษาภาวะกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่ความเสี่ยงกระดูกหักสูง และแนะนำให้ใช้รักษาในหญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม และรักษาด้วยยา Aromatase inhibitor
    • วิธีใช้: Denosumab 60 mg ฉีดใต้ผิวหนัง ทุกๆ 6 เดือน
    • ผลข้างเคียง: hypocalcemia (ดังนั้น ก่อนเริ่มยาควรมีการตรวจและแก้ไขแคลเซียมในเลือด), เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผิวหนังอักเสบ (cellulitis) หรือผื่น, อาจทำให้เกิดภาวะ osteonecrosis of jaw และ atypical femur fracture
    • หลังการรักษาด้วยยากลุ่มนี้ ควรคงสภาพของมวลกระดูกต่อด้วยการให้ยาในกลุ่ม Antiresorptive
  4. Parathyroid hormone (Teriparatide ชื่อทางการค้า Forteo®)
    • ปกติกลไกของ Parathyroid hormone คือ กระตุ้นการสลายแคลเซียมออกจากกระดูก ส่งผลให้มวลกระดูกลดลง แต่ได้มีการศึกษาในปี 1997 พบว่าการให้ PTH เข้าไป กลับพบว่ามีการสร้างกระดูกขึ้น จากการที่มีการสร้าง osteoblast เพิ่มมากขึ้น และยับยั้งการสลาย osteoblast ส่งผลให้มี bone turnover และ formation เพิ่มขึ้นมาแทน(14)
    • แนะนำให้ใช้ในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีภาวะกระดูกพรุนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักสูงมาก
    • วิธีใช้: Teriparatide 20 ug ฉีดใต้ผิวหนังวันละครั้ง โดยระยะเวลาในการให้ไม่ควรเกิน 18-24 เดือน
    • หลังการรักษาด้วยยากลุ่มนี้ ควรคงสภาพของมวลกระดูกต่อด้วยการให้ยาในกลุ่ม Antiresorptive
    • ผลข้างเคียง: เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ตะคริว
    • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระดูก osteosarcoma (เช่น Paget’s disease of bone, prior radiation therapy of skeleton), bone metastasis, history of skeletal malignancy
  5. Tibolone (ชื่อทางการค้า Livial®)(11)
    • Selective tissue estrogenic activity regulator (STEAR)
    • ในยุโรปมีการใช้ยาตัวนี้เพื่อรักษา vasomotor symptoms และเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน แต่อย่าง ไรก็ตาม ยาตัวนี้ไม่ได้ถูกยอมรับจาก FDA ว่าให้ใช้ในประเทศอเมริกา และแคนาดา (9), (11)
    • แนะนำในรายที่มีความเสี่ยงกระดูกหักสูง, อายุน้อยกว่า 60 ปี หรือหมดประจำเดือนไปไม่เกิน 10 ปี, มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันขา, มีอาการของ VSM, และไม่เหมาะกับการใช้ยากลุ่ม bisphosphonate หรือ denosumab
    • ข้อห้ามในการใช้: มีประวัติโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ/ตัน หรือเส้นเลือดสมองตีบ/แตก, เป็นมะเร็งเต้านม
  6. Romosozumab (ชื่อทางการค้า Evenity®) (15)
    • Sclerostin inhibitor
    • กลไก: ยับยั้งการทำงานของ Sclerostin ซึ่งเป็น Glycoprotein ที่สร้างจากเซลล์กระดูก Sclerostin มีหน้าที่ยับยั้ง Wnt signaling ที่มีบทบาทสำคัญในการเจริญของเซลล์ osteoblast
    • แนะนำให้ใช้ในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีภาวะกระดูกพรุนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักสูงมาก
    • เพิ่มการสร้างและลดการสลายของกระดูก หลังจากรักษาไปประมาณ 1 ปีสามารถเพิ่มมวลกระดูกสันหลังและสะโพก
    • หลังการรักษาด้วยยากลุ่มนี้ ควรคงสภาพของมวลกระดูกต่อด้วยการให้ยาในกลุ่ม Antiresorptive
    • วิธีใช้: Romosozumab 210 mg ฉีดเข้าใต้ชั้นผิวหนังทุกเดือน เป็นเวลา 12 เดือน
    • ข้อระวังในการใช้: เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ/ตัน หรือ เส้นเลือดสมองตีบ/แตก

การตรวจติดตาม (Follow up & Monitoring)

วัตถุประสงค์ของการติดตาม

  • ประเมินวินัยในการรับประทานยา
  • ประเมินความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหัก
  • ส่งเสริมการรับประทานยาแคลเซียมและวิตามินดี
  • ประเมินความจำเป็นในการใช้ยาต่อ

สิ่งที่เราจะพิจารณาตรวจติดตาม ได้แก่

  1. ส่วนสูง
  2. ความหนาแน่นมวลกระดูก
  3. ภาพถ่ายรังสีของกระดูกสันหลัง

ตารางที่ 1 แสดงสาเหตุอื่นๆ ของภาวะกระดูกพรุน (Secondary causes of osteoporosis)(9)

ภาพแสดง แนวทางการดูแลรักษาโรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือน (15)

เอกสารอ้างอิง

1. Osteoporosis Prevention, Screening, and Diagnosis: ACOG Clinical Practice Guideline No. 1. Obstetrics & Gynecology. 2021;138(3):494-506.

2. Fontenot H, Harris A. Pharmacologic Management of Osteoporosis. Journal of obstetric, gynecologic, and neonatal nursing : JOGNN / NAACOG. 2014;43.

3. Sakondhavat C, Thangwijitra S, Soontrapa S, Kaewrudee S, Somboonporn W. Prevalence of osteoporosis in postmenopausal women at Srinagarind Hospital. Maturitas. 2009;63.

4. Limpaphayom KK, Taechakraichana N, Jaisamrarn U, Bunyavejchevin S, Chaikittisilpa S, Poshyachinda M, et al. Prevalence of osteopenia and osteoporosis in Thai women. Menopause. 2001;8(1):65-9.

5. Florencio-Silva R, Sasso GR, Sasso-Cerri E, Simões MJ, Cerri PS. Biology of Bone Tissue: Structure, Function, and Factors That Influence Bone Cells. Biomed Res Int. 2015;2015:421746.

6. Berek JS, Berek DL. Berek & Novak’s gynecology. Sixteenth edition. ed. Philadelphia: Wolters Kluwer; 2020.

7. มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย. คำแนะนำเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคกระดูกพรุน ฉบับย่อ 2564.

8. Larsen ER, Mosekilde L, Foldspang A. Vitamin D and calcium supplementation prevents osteoporotic fractures in elderly community dwelling residents: a pragmatic population-based 3-year intervention study. J Bone Miner Res. 2004;19(3):370-8.

9. Cosman F, de Beur SJ, LeBoff MS, Lewiecki EM, Tanner B, Randall S, et al. Clinician’s Guide to Prevention and Treatment of Osteoporosis. Osteoporos Int. 2014;25(10):2359-81.

10. Institute of Medicine Committee to Review Dietary Reference Intakes for Vitamin D, Calcium. The National Academies Collection: Reports funded by National Institutes of Health. In: Ross AC, Taylor CL, Yaktine AL, Del Valle HB, editors. Dietary Reference Intakes for Calcium and Vitamin D. Washington (DC): National Academies Press (US) Copyright © 2011, National Academy of Sciences.; 2011.

11. Shoback D, Rosen CJ, Black DM, Cheung AM, Murad MH, Eastell R. Pharmacological Management of Osteoporosis in Postmenopausal Women: An Endocrine Society Guideline Update. J Clin Endocrinol Metab. 2020;105(3).

12. Rossouw JE, Anderson GL, Prentice RL, LaCroix AZ, Kooperberg C, Stefanick ML, et al. Risks and benefits of estrogen plus progestin in healthy postmenopausal women: principal results From the Women’s Health Initiative randomized controlled trial. Jama. 2002;288(3):321-33.

13. Manson JE, Allison MA, Rossouw JE, Carr JJ, Langer RD, Hsia J, et al. Estrogen therapy and coronary-artery calcification. N Engl J Med. 2007;356(25):2591-602.

14. Lindsay R, Nieves J, Formica C, Henneman E, Woelfert L, Shen V, et al. Randomised controlled study of effect of parathyroid hormone on vertebral-bone mass and fracture incidence among postmenopausal women on oestrogen with osteoporosis. Lancet. 1997;350(9077):550-5.

15. Shoback D, Rosen CJ, Black DM, Cheung AM, Murad MH, Eastell R. Pharmacological Management of Osteoporosis in Postmenopausal Women: An Endocrine Society Guideline Update. The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism. 2020;105(3):587-94.

 

Read More

วัสดุเย็บแผล : Suture Materials

วัสดุเย็บแผล : Suture Materials

นพ. หาญณรงศ์ ชูพูล
อาจารย์ พญ. ชลัยธร นันทสุภา


การเย็บปิดแผลในมนุษย์ไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดขึ้นชัดเจนเมื่อใด คาดการณ์ว่าการเย็บแผลเกิดขึ้นครั้งแรกในการเก็บศพ mummy เมื่อ 1100 ปีก่อนคริสตกาล ต่อมา 600 ปีก่อนคริสตกาลได้มีการใช้วัสดุเย็บแผล (suture material) ที่ทำจากธรรมชาติ คือ ลินิน เอ็นของสัตว์ ขนสัตว์ และเส้นใยจากพืชอื่น มาเป็นวัสดุในการเย็บแผล และใช้ ลวดทองคำ เงิน เหล็ก ขนสัตว์มาเป็นวัสดุในการปิดแผล ซึ่งผู้ที่ใช้คำว่า suture เป็นคนแรก คือ Hippocrates บิดาแห่งการแพทย์ (The Father of Medicine)

การหายของบาดแผล (Wound healing) 1,2,3,4

การหายของบาดแผล (wound healing) เกิดขึ้นจาก 4 ระยะ ได้แก่

  1. การหยุดของเลือด (Hemostasis)
  2. การอักเสบ (Inflammation)
  3. การเจริญและแบ่งเซลล์ (Proliferation)
  4. การปรับรูปร่าง (Remodeling)

Sun BK, Siprashvili Z, Khavari PA. Uptodate. Graphic 128480 Version 1.0

Handa VL and Linda VL. Chapter 7 Incisions for Gynecologic Surgery. Te Linde’s Operative Gynecology 12th edition. 2020:129:

ระยะที่ 1. การหยุดของเลือด (Hemostasis)

เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้น จะมีการฉีกขาดของเส้นเลือด ทำให้เลือดไหล ร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อเส้นเลือด ทำให้เกิดกระบวนการ hemostasis และ clot formation ส่งผลให้เกิดการแข็งตัวของเลือดและการจับกลุ่มของเกล็ดเลือด โดยอาศัยสารเคมีจากเซลล์ที่เกิดการบาดเจ็บเป็นตัวกระตุ้น นำไปสู่กระบวนการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดหยุดและปกคลุมบาดแผลในระยะแรก และเกล็ดเลือดมีการปล่อย cytokine ต่างๆมากระตุ้นทำให้กระบวนการหายของแผลดำเนินต่อไปด้วย เช่น Platelet – Derived Growth Factor (PDGF), Transforming growth factors (TGF), Fibroblast Growth Factor -2 (FGF-2) เป็นต้น

ระยะที่ 2. การอักเสบ (Inflammation)

กระบวนการอักเสบ (inflammation) เริ่มต้นภายใน 10-30 นาทีหลังจากเกิดบาดแผล ซึ่งกระบวนการอักเสบจะไปกระตุ้นทำให้เกิดกระบวนการ vascular permeability จากนั้นเกิดการกระตุ้นสารที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัว (vasodilation complement activation) เกิดการเคลื่อนย้ายของเซลล์เม็ดเลือดขาวมายังตำแหน่งที่เกิดบาดแผล (white blood cell migration) ทำให้เกิดอาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวนแผล เม็ดเลือดขาวที่มาบริเวณแผล จะช่วยทำลายซากของเซลล์ที่เสียหาย (cell debris) เชื้อแบคทีเรีย และสารเคลือบเซลล์ (extracellular matrix) นอกจากนี้ macrophage ซึ่งเป็นเซลล์ที่สำคัญต่อการหายของแผล ยังหลั่ง growth factor มากระตุ้นการเกิด proliferation ต่อไป กรณีที่แผลไม่มีการติดเชื้อ แผลจะสามารถหายได้ภายใน 3 วัน

ระยะที่ 3. การเจริญและแบ่งเซลล์ (Proliferation)

กระบวนการแบ่งตัวของเซลล์ใหม่ ยังประกอบไปด้วยกระบวนการย่อยๆ อีก ดังนี้

การสร้าง granulation tissue คอลลาเจนและสารเคลือบเซลล์ชนิด fibronectin หรือ proteoglycan จะถูกสร้างขึ้นจาก fibroblast โดยมี cytokine มาเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการแบ่งตัวและเคลื่อนย้ายของเซลล์ fibroblast (fibroblast proliferation & migration) และเกิดการสร้างคอลลาเจน (Collagen Synthesis) สารประกอบร่วมต่างๆที่มีความสำคัญต่อกระบวนการนี้ เช่น วิตามินซี ธาตุเหล็ก ออกซิเจน

Angiogenesis การสร้างหลอดเลือดที่เกิดขึ้นในระยะนี้ ถูกกระตุ้นโดย macrophage และในภาวะที่เนื้อเยื่อมีออกซิเจนต่ำ (tissue hypoxia) Macrophage จะหลั่งสารกลุ่ม transforming growth factor มากระตุ้น endothelial cell เพื่อสร้างเส้นเลือดใหม่เกิดขึ้น

การหดรั้งตัวของบาดแผล (wound contracture) เซลล์ fibroblast มีบทบาทสำคัญในการเกิดบาดแผลหดรั้งตัว โดยเซลล์ดังกล่าวจะเคลื่อนที่ไปยังบริเวณขอบแผล และเปลี่ยนชนิดเป็น myofibroblast ซึ่งจะมีความสามารถในการหดตัวของเซลล์ และดึงขอบแผลเข้าหากัน

การสร้างเนื้อเยื่อบุผิว (epithelization) เซลล์เยื่อบุผิวชนิด keratocyte เคลื่อนตัวมาปกคลุม granulation tissue โดยที่มีการเคลื่อนตัวและเจริญมาจากบริเวณขอบแผล โดยการกระตุ้นของ growth factor ต่างๆที่หลั่งจาก macrophage เช่น Fibroblast Growth Factor, Insulin-like Growth Factor, Epidermal Growth Factor เป็นต้น การสร้างเนื้อเยื่อบุผิว เกิดได้ดีในแผลที่มีความชุ่มชื้น เซลล์เยื่อบุผิวจะแบ่งตัวและเคลื่อนตัวมาปกคลุม granulation tissue จนหมด ถึงจะหยุดกระบวนการ เรียกว่า Contract inhibition

ระยะที่ 4. การปรับรูปร่าง (Remodeling)

Remodeling phase หรือ Maturation phase เป็นระยะสุดท้ายของกระบวนการหายของแผล เริ่มประมาณ 20 วัน หลังการเกิดบาดแผลและดำเนินต่อไปจนถึงปี ระยะนี้แผลจะมีความแข็งแรงมากขึ้น (increase tensile strength) โดยมีการเกิด collagen fiber crosslink และมีการลดจำนวนเซลล์ต่างๆลง (decreasing cellularity) ซึ่งช่วงนี้แผลเป็นจะมีหลอดเลือดมาเลี้ยงลดลง การสร้างคอลลาเจนลดลง และมีการทำลายของคอลลาเจนมากขึ้น จนถึงภาวะสมดุลของการสร้างและทำลายคอลลาเจน ทำให้รอยแผลเป็นนิ่มลงแบนลง เรียบ และมีสีจาง ซึ่งกระบวนเหล่านี้ถูกควบคุมโดย macrophage

วัสดุเย็บแผล (Suture material) 1,2

วัสดุเย็บแผลในอุดมคติ

  • สามารถให้ความแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ (adequate tensile strength)
  • เกิดปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อน้อย (minimal tissue reactivity)
  • สามารถหยิบจับใช้ได้สะดวก (comfortable handling)
  • ปลอดเชื้อโรค (sterilization)
  • สามารถพยากรณ์ระยะเวลาและคุณสมบัติต่างๆได้ (predictability)

ประเภทและคุณลักษณะของวัสดุเย็บแผล (Classification and characteristics of suture materials)

    • Suture size ขนาดของวัสดุเย็บแผลในปัจจุบันมีหลากหลายขนาด โดยปัจจุบันมี 2 มาตรฐานที่ใช้อธิบายขนาดของวัสดุเย็บแผล ได้แก่ The United States Pharmacopoeia (USP) และ The European Pharmacopoeia (EP) ซึ่งนิยมใช้ระบบ USP มากกว่า EP โดย USP ใช้ 2 ตัวเลขในการบอกขนาด หากตัวเลขที่ระบุตามด้วย -0 จะหมายถึงขนาดที่เล็กลง เช่น 2-0 จะใหญ่กว่า 5-0 ในขณะที่ตัวเลขที่ระบุขนาดเป็นเลขตัวเดียว (ไม่มี -0) จะหมายถึงขนาดที่ใหญ่ขึ้น เช่น 2 จะเล็กกว่า 5

ตารางที่ 1 แสดงรหัสขนาดของวัสดุเย็บแผลตามมาตรฐาน The United States Pharmacopoeia (USP) และ The European Pharmacopoeia (EP) เส้นผ่านศูนย์กลางของไหม และค่าของแรงที่ใช้ในการดึง

Collagen suture Synthetic Suture Limits on Average Diameter (mm) Knot-Pull tensile Strength (kgf) Limit on Average min
USP Size code USP Size code EP Size Code Min Max Collagen Synthetic
8-0 0.4 0.04 0.049 0.07
8-0 7-0 0.5 0.05 0.069 0.045 0.14
7-0 6-0 0.7 0.07 0.099 0.07 0.25
6-0 5-0 1 0.10 0.149 0.18 0.68
5-0 4-0 1.5 0.15 0.199 0.38 0.95
4-0 3-0 2 0.20 0.249 0.77 1.77
3-0 2-0 3 0.30 0.339 1.25 2.68
2-0 0 3.5 0.35 0.399 2.00 3.90
0 1 4 0.40 0.499 2.77 5.08
1 2 5 0.50 0.599 3.80 6.35
EP, European Pharmacopoeia; kgf, kilogram-force; Max, maximum; Min, minimum; USP, United States Pharmacopoeia

ที่มา : Greenberg JA, Clark RM. Advances in suture material for Obstetric and Gynecologic surgery. Rev Obstet Gynecol. 2009;2(3):146-158.

    • Tensile strength ความทนต่อแรงดึง จะขึ้นอยู่กับหน้าตัดของเส้นใยไหม
    • Absorbable และ Non-absorbable suture
    • ไหมละลาย (absorbable suture) สามารถละลายได้ผ่านการย่อยของเอนไซม์ enzymatic reactions หรือ hydrolysis โดยระยะเวลาในการละลายของไหม ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการเย็บ และปัจจัยอื่นๆ ไหมละลายเหมาะสำหรับใช้ส่วนลึกหรือเนื้อเยื่อที่มีการสมานเร็ว
    • ไหมไม่ละลาย (non-absorbable suture) เหมาะสำหรับตำแหน่งที่มีการสมานของแผลช้า เช่น fascia, tendon, การเย็บหลอดเลือด เป็นต้น

ตารางที่ 2 แสดงอัตราการสลายตัวของไหมละลาย

Suture Time to 50%

Loss of Tensile Strength (d)

Time to Complete

Loss of Tensile Strength (d)

Time to Complete

Mass Absorption (d)

Plain surgical gut 3-5 14-21 70
Fast-absorbing coated polyglactin 910 (Vicryl RapideTM) 5 14 42
Polyglytone 6211 (CaprosynTM) 5-7 21 56
Poliglecaprone 25 (MonocrylTM) 7 21 91-119
Barbed poliglecaprone 25 (MonodermTM) 7-10 21 90-120
Chromic surgical gut 7-10 14-21 90-120
Coated polyglycolide (Dexon IITM) 14-21 28 60-90
Polylycomer 631 (BiosynTM) 14-21 28 90-110
Coated polyglactin 910 (VicrylTM) 21 28 56-70
Polyglyconate (MaxonTM) 28-35 56 180
Polydioxanone (PDS IITM) 28-42 90 183-238
Barbed polydioxanone (PDO) 28-42 90 180

ที่มา : Greenberg JA, Clark RM. Advances in suture material for Obstetric and Gynecologic surgery. Rev Obstet Gynecol. 2009;2(3):146-158.

 

    • Multifilament Vs Monofilament
    • ไหมแบบเส้นเดี่ยว (monofilament suture)

ข้อดี – โอกาสการติดเชื้อน้อย

– การบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อย

ข้อเสีย – คลายปมได้ง่าย

– ความสามารถในการยึดจับไม่ดี

    • ไหมแบบหลายเส้น (multifilament suture)

ข้อดี – สามารถยึดจับได้ดีและโอกาสการคลายปมน้อย

ข้อเสีย – เกิดการอักเสบต่อเนื้อเยื่อได้มากกว่าไหมแบบเส้นเดี่ยว

– เพิ่มโอกาสการติดเชื้อ

– เกิดปมขนาดใหญ่

    • Smooth Vs Barbed วัสดุเย็บแผลส่วนใหญ่มีลักษณะแบบเส้นเรียบ (smooth) จึงจำเป็นต้องมีการผูกปมเพื่อช่วยยึดเนื้อเยื่อ ไม่ให้เกิดการเลื่อนหลุดของการวัสดุเย็บ อย่างไรก็ตามวัสดุเย็บแผลที่มีลักษณะแบบเส้นที่มีเงี่ยง (barbed) ซึ่งไม่ต้องผูกปม ก็ไม่ได้ส่งผลเสียต่อการสมานของแผล

ตัวอย่างของวัสดุเย็บแผลชนิดต่างๆ

ไหมละลาย (Absorbable sutures)

    Plain gut

    • ผลิตจากลำไส้แกะและวัว
    • ความทนต่อแรงดึง 14-21 วัน
    • สามารถสลายตัวใน 70 วัน
    • เกิดกระบวนอักเสบต่อเนื้อเยื่อมากกว่า chromic gut
    • เหมาะสำหรับแผลที่มีการหายเร็ว เช่น oral mucosa perineum

    Chromic gut

    • ผลิตจากลำไส้แกะและวัว
    • Plain gut ที่มีการเคลือบด้วย Chromium salt solution ทำให้เพิ่ม ความแข็งแรง เพิ่มความทนต่อแรงดึงและลดปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อ
    • ความทนต่อแรงดึง 14-21 วัน
    • สามารถสลายตัวใน 90-120 วัน
    • เหมาะสำหรับ General closure, OB/GYN, ortho, GI surgery

    D7585 | Ethicon

    Coated Polyglactin 910 (Vicryl)

    • Synthetic braided polymer
    • ทะลุผ่านเนื้อเยื่อได้ง่าย
    • ความทนต่อแรงดึง 28 วัน
    • สามารถสลายตัวใน 56-70 วัน
    • เหมาะสำหรับการเย็บขอบแผล เพื่อคงความแข็งแรงให้แผล

    Fast-absorbing coated polyglactin 910 (Rapid vicryl)

    • ไหมละลายแบบเส้นใยหลายเส้นสังเคราะห์
    • ความทนต่อแรงดึง 14 วัน
    • สามารถสลายตัวใน 42 วัน
    • เหมาะสำหรับการเย็บ superficial soft tissue และ mucosa

    Coated polyglycolic acid (Dexon II)

     

    • ไหมละลายแบบเส้นใยหลายเส้นสังเคราะห์
    • ความทนต่อแรงดึง 28 วัน
    • สามารถสลายตัวใน 60-90 วัน
    • กระบวนการอักเสบต่อเนื้อเยื่อน้อยที่สุด
    • เหมาะสำหรับการเย็บ muscle fascia tendon และ subcuticular skin
    • Polydioxanone - an overview | ScienceDirect Topics

    Polydioxanone (PDS)

    • ไหมละลายแบบเส้นใยเส้นเดี่ยวสังเคราะห์
    • ความทนต่อแรงดึง 90 วัน
    • สามารถสลายตัวใน 183-238 วัน
    • ทะลุผ่านเนื้อเยื่อได้ง่าย
    • ปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อเล็กน้อย
    • เหมาะสำหรับการเย็บ subcuticular skin

     

    Maxon 4-0 P-11 16mm 45cm Clear Suture

      Polyglyconate ( Maxon)

      • ไหมละลายแบบเส้นใยเส้นเดี่ยวสังเคราะห์
      • ลักษณะคล้าย PDS แต่การจับดีกว่าและคลายปมไหมน้อยกว่า
      • ความทนต่อแรงดึง 56 วัน
      • สามารถสลายตัวใน 180 วัน
      • เหมาะสำหรับการเย็บ soft tissue ทุกชนิด esophageal and intestinal anastomosis และ bronchial closure

      D8839 | Ethicon

       

        Poliglecaprone 25 (Monocryl)

        • ไหมละลายแบบเส้นใยเส้นเดี่ยวสังเคราะห์
        • ความทนต่อแรงดึง 21 วัน
        • สามารถสลายตัวใน 91-119 วัน
        • ทะลุผ่านเนื้อเยื่อได้ง่าย
        • โอกาสการติดเชื้อและการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อน้อย
        • เหมาะสำหรับ plastic surgery; subcutaneous suture

        ไหมไม่ละลาย (Non-absorbable sutures)

            Silk

            • ไหมถักธรรมชาติ
            • เคลือบด้วยขี้ผึ้ง ทำให้สามารถดึงได้ง่ายขึ้น
            • ความทนต่อแรงดึง 365 วัน
            • สามารถสลายตัวใน 730 วัน
            • ปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อและการติดเชื้อมาก
            • ไหมสีดำ ทำให้ง่ายต่อการมองเห็น
            • เหมาะสำหรับ Peripheral closures

            Non Absorbable Surgical Nylon Suture - Buy Non Absorbable Suture,Non Absorbable Surgical Suture,Nylon Surgical Suture Product on Alibaba.com

              Nylon

              • Synthetic polyamide polymer
              • เนื้อสัมผัสเรียบ
              • ความทนต่อแรงดึงสูง
              • เกิดการคลายปมได้ง่าย ทำให้ต้องผูกปม 3-4 ปมขึ้นไป
              • เหมาะสำหรับการเย็บชั้นผิวหนังมากสุด และการเย็บเพื่อการแนบชิดกันของชั้นเนื้อเยื่ออ่อน

              Nonabsorbable Suture Material - an overview | ScienceDirect Topics

                Polypropylene (Prolene)

                • ไหมไม่ละลายแบบเส้นใยเส้นเดี่ยว
                • เนื้อสัมผัสเรียบ
                • การจับและความแข็งแรงดี
                • มีสภาพพลาสติกสูง (High plasticity)
                • ไหมในอุดมคติของการการเย็บชั้นผิวหนัง

                  D7005 | Ethicon

                  Stainless steel

                  • ความทนต่อแรงดึงสูงที่สุด
                  • ปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อน้อยที่สุด
                  • การจับไม่ดีและทำลายเนื้อเยื่อ
                  • เหมาะสำหรับ orthopedic and thoracic operation

                    ตารางที่ 3 แสดงคุณสมบัติของไหมละลายและไหมไม่ละลาย

                    Suture Tensile strength/Absorption
                    Time to loss of 50% tensile (d) Time to loss of 100% tensile (d) Time to complete absorption (d) Absorption rate Tissue reaction/

                    degradation

                    Handling
                    Absorbable Multifilament
                    – Plain gut (twisted) 3-5 14-21 70 unpredictable high/proteolysis Fair
                    – Chromic gut (twisted) 7-10 14-21 90-120 unpredictable high/proteolysis Fair
                    – Polyglactin 910 (braided)

                    (Vicryl rapid)

                    5 14 42 predictable low/hydrolytic Best
                    – Coated polyglactin 910 (braided) (Vicryl) 21 28 56-70 predictable low/hydrolytic Best
                    – Coated polyglycolide

                    (braided) (Dexon II)

                    14-21 28 60-90 predictable low/hydrolytic Best
                    Absorbable Monofilament
                    – Polyglytone 6211

                    (Caprosyn)

                    5-7 21 56 predictable low/hydrolytic Good
                    – Poliglecaprone 25 (Monocryl) 7 21 91-119 predictable low/hydrolytic Good
                    – Polyglyconate (Maxon) 28-35 56 180 predictable low/hydrolytic Fair
                    – Polydioxanone (PDS II) 28-42 90 183-238 predictable low/hydrolytic Fair
                    – Poliglecaprone 25

                    (Monoderm)

                    7-10 21 90-120 predictable low/hydrolytic Good
                    – Polydioxanone (PDO) 28-42 90 180 predictable low/hydrolytic Fair
                    Nonabsorbable Multifilament
                    – Silk 180 365 730 unpredictable high/hydrolytic Best
                    – Cotton 180 >730 N/A unpredictable high/hydrolytic Best
                    – polyester N/A N/A N/A N/A low/none Good
                    Nonabsorbable Monofilament
                    – Polypropylene (Prolene) N/A N/A N/A N/A low to none/none Poor
                    – Nylon N/A N/A N/A unpredictable low/hydrolytic Good
                    – Polybutester (Novafil) N/A N/A N/A N/A low/none Good
                    – Stainless steel N/A N/A N/A N/A low to none/none Fair

                    คุณลักษณะของเนื้อเยื่อและหัตถการการผ่าตัดทางสูตินรีเวช (Tissue and procedural characteristics in Obstetric Gynecologic surgery) 1

                    ระยะเวลาการหายของแผลในเนื้อเยื่อต่างๆ (Healing time for different tissues)

                    ตารางที่ 4 แสดงระยะเวลาการหายของแผลในเนื้อเยื่อแต่ละชนิด

                    Tissue Healing time
                    Skin 1-2 weeks
                    Subcutaneous tissue 2 weeks
                    Peritoneum 4-10 days
                    Uterus 8 days
                    Vagina and perineum 8-10 days
                    Bladder 5 days
                    Ligament tendons 6 weeks

                    ที่มา : RCOG. Suture and needles presentation.

                      • แผลฝีเย็บ (Perineal repairs): แผลฝีเย็บเป็นบริเวณที่มีหลอดเลือดเลี้ยงเยอะ ทำให้การหายของแผลใช้เวลาสั้น วัสดุเย็บแผลที่นิยมเลือกใช้จึงเป็นไหมละลาย เช่น Chromic gut ในปัจจุบันมีการพัฒนา synthetic material มาใช้ในการเย็บแผลฝีเย็บ จาก Kettle and Johanson at Cochrane Database in 2001 ซึ่งพบว่า synthetic material เช่น Dexon and Vicryl ช่วยลดกระบวนการอักเสบได้มากกว่า chromic gut และยังช่วยลดอาการปวดหลังคลอดได้ แต่ใช้เวลาในการสลายตัวนานกว่า นอกจากนั้นพบว่าการใช้ fast-absorbing polyglactin 910 (Rapid vicryl) ในการเย็บแผลฝีเย็บ ช่วยลดอาการปวดหลังคลอดและสามารถกลับมามีเพศสัมพันธ์ได้เร็วขึ้น ดังนั้น fast-absorbing polyglactin 910 (Rapid vicryl) จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับ การเย็บแผลฝีเย็บหลังคลอด
                      • กล้ามเนื้อหน้าท้อง (Rectus fascia reapproximation): rectus fascia หลังผ่าตัดเปิดหน้าท้อง สามารถกลับมาแข็งแรงเทียบเท่าปกติ ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ซึ่งระหว่างนี้หากเกิดการแยกของแผล อาจเพิ่มโอกาสการเกิดไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัด (incision hernia) ได้ จาก meta-analysis by Hodgson and colleagues พบว่าโอกาสการเกิด ไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัด เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อใช้ไหมชนิด polyglycolic acid sutures (PGA) ในทางตรงกันข้ามพบว่า polydioxanone (PDS II) กับ non-absorbable nylon มีโอกาสการเกิดไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัดไม่แตกต่างกันทางสถิติ ต่อมาในการศึกษานี้ พบว่าทั้งไหมละลาย และ ไหมไม่ละลาย สามารถเกิด ไส้เลื่อน และเกิดภาวะปวดแผลทั้งคู่ ดังนั้นการเลือกวัสดุเย็บแผลเพื่อปิด rectus fascia คือ delayed absorption monofilament material เช่น polydioxanone (PDS) และ polyglyconate (Maxon)
                      • แผลมดลูก (Uterine reapproximation): พิจารณาใช้ Chromic suture ขนาด 0 หรือ 1 หรือไหมชนิด synthetic absorbable suture ในการเย็บมดลูก สำหรับ chromic gut suture มีข้อดีที่สำคัญ 2 อย่าง ที่ช่วยสนับสนุนในการใช้เย็บมดลูก คือ

                    1. Knotted tensile strength ของ chromic gut ขนาด 0 เพียงพอที่จะทนต่อแรงที่ทำให้เกิดการแยกของแผล

                    2. ความทนต่อแรงดึง 14-21 วัน และอัตราการสลายตัวของไหม เพียงพอต่อการหายของแผลมดลูกในกรณีผ่าตัดคลอด

                    สำหรับการเย็บมดลูกในสตรีที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ สามารถใช้ได้ทั้ง chromic gut, polydioxanone (PDS) หรือ polyglyconate (Maxon)

                      • แผลช่องคลอด (Vaginal Cuff closure): บริเวณรอยต่อช่องคลอดเป็นตำแหน่งที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อได้ง่าย เช่น vaginal cuff cellulitis และ ฝีหนองในอุ้งเชิงกราน หลังการผ่าตัดมดลูก (pelvic abscess) เป็นต้น นอกจากนี้ สามารถเกิด persistent granulation tissue ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหลังผ่าตัด มีตกขาวหรือเลือดออกผิดปกติได้ และยังสามารถเกิดแผลแยกได้ จากการไอ จาม เบ่ง และอื่นๆ ทำให้ควรเลือกใช้วัสดุเย็บแผลที่มีความแข็งแรงยาวนาน
                      • วัสดุเย็บแผลในอุดมคติสำหรับการเย็บแผลช่องคลอด
                      • ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย (Inhibit bacterial growth)
                      • ปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อน้อย (Minimal tissue reactivity)
                      • มีความยืดหยุ่น (Be pliable)
                      • ความทนต่อแรงดึงอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ (Maintain tensile strength)

                    J. I. Einarsson และคณะ แนะนำ barbed PDO suture (V-Loc) สำหรับการเย็บแผลช่องคลอดหลังการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง

                    Reference

                    1. Greenberg JA, Clark RM. Advances in suture material for Obstetric and Gynecologic surgery. Rev Obstet Gynecol. 2009;2(3):146-158.
                    2. Handa VL and Linda VL. Chapter 7 Incisions for Gynecologic Surgery. Te Linde’s Operative Gynecology 12th edition. 2020:144-5
                    3. Brunicardi FC, Anderson DK, Billiar TR and et al. Wound Healing. Schwartz’s Principles of Surgery 10th Edition. 1999:241-6.
                    4. อัจฉริย สาโรวาท. Wound healing and wound care. [cited 2022 Mar 1]. Available from: https://www.rama.mahidol.ac.th/surgery/sites
                    5. David M deLemos. Skin laceration repair with sutures. Uptodate. 2021
                    6. RCOG. Suture and needles presentation. [cited 2022 Feb 26] Available from: https://elearning.rcog.org.uk//general-principles/suture-and-needles/suture-and-needles-presentation
                    7. F. Gary Cunningham, Kenneth J. Leveno and et. al. Chapter 30 Cesarean Delivery and peripartum Hysterectomy. Williams OBSTETRICS 25th edition. 2018:567-590
                    Read More

                    การให้ฮอร์โมนรักษาอาการวัยทองในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งทางนรีเวชวิทยา

                    การให้ฮอร์โมนรักษาอาการวัยทองในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งทางนรีเวชวิทยา
                    Hormonal Replacement Therapy in Gynecological Cancer Patient

                    จัดทำโดย นพ.จิรัฏฐ์ เดชศรีสุวรรณ์
                    อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ แพทย์หญิง รัฐิญา เพียรพิเศษ


                    ประมาณร้อยละ 40 ของสตรีที่ถูกวินิจฉัยเป็นมะเร็งนรีเวช เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งปากมดลูก หรือแม้แต่ มะเร็งเต้านมนั้น อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ หรือวัยใกล้หมดระดู1 ซึ่งการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ มีแนวทางการรักษาที่หลากหลาย การรักษาหลักๆได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี และ การให้เคมีบำบัด การรักษาเหล่านี้สามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงได้ และทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะวัยทองเร็วกว่าในกลุ่มประชากรปกติ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อหลายระบบในร่างกาย โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงในระบบเส้นเลือดและหัวใจ (cardiovascular system) เพิ่มความความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis) และมีอาการที่สัมพันธ์กับภาวะวัยทอง โดยที่พบบ่อยได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ (hot flush/vasomotor symptoms) และอาการทางระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ (genitourinary symptoms of menopause; GUSM)2 โดยภาวะวัยทองที่เกิดจากการรักษานี้ มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้อาการวัยทองรุนแรงกว่าสตรีที่เข้าสู่ภาวะวัยทองตามธรรมชาติ3

                    ปัจจุบันการใช้ฮอร์โมนเพื่อรักษาอาการของภาวะวัยทองนั้นมีการศึกษาและรับรองการใช้อย่างแพร่หลาย แต่การรักษาภาวะวัยทองในผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงอายุ ชนิดและระยะของมะเร็ง โรคร่วมอื่นๆ รวมถึงประวัติการรักษาโดยใช้ยาต้านเอสโตรเจนร่วมด้วย เนื่องจากมะเร็งนรีเวชหลายชนิดมีการตอบสนองต่อฮอร์โมนซึ่งอาจทำให้เกิดการกลับเป็นซ้ำ หรือพยากรณ์โรคแย่ลงได้ ดังนั้น การใช้ฮอร์โมนในคนไข้กลุ่มนี้ จึงต้องมีการดูแลแบบสหสาขา และวางแผนการใช้ตามพื้นฐานความเสี่ยงของแต่ละบุคคล บทความนี้ จะกล่าวถึงการใช้ฮอร์โมนเพื่อรักษาอาการของภาวะวัยทอง ในผู้ป่วยมะเร็งนรีเวช แยกตามชนิดของมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ

                    มะเร็งเต้านม (Breast Cancer)

                    มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในสตรีทั่วโลก โดยมีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่เพิ่มมากขึ้นประมาณ 2.2 ล้านคนในปี พ.ศ. 2563 คิดเป็นร้อยละ 25 ของมะเร็งสตรีทั้งหมด และมีอัตราตายสูงถึง 6 แสนคนต่อปี พบบ่อยที่สุดในกลุ่มวัยหมดประจำเดือน อย่างไรก็ตามประมาณร้อยละ 25 พบได้ในสตรีวัยก่อนหมดประจำเดือน4 การรักษาโดยการให้เคมีบำบัดในกลุ่ม cyclophosphamide สามารถทำให้เกิดภาวะขาดประจำเดือน หรือรังไข่หยุดทำงาน (ovarian failure) ได้ นอกจากนี้ การรักษาด้วย tamoxifen, aromatase inhibitor หรือ การตัดรังไข่ทั้งสองข้างซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการรักษา จะทำให้ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 95 มีอาการวัยทองที่รุนแรงกว่าในกลุ่มที่ไม่มีประวัติของมะเร็งเต้านม5 ดังนั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักต้องการได้รับฮอร์โมนทดแทน ผู้รักษาจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลของฮอร์โมนต่อตัวโรคและการกลับเป็นซ้ำ

                    จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลของงานวิจัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีทั้งงานวิจัยแบบสุ่มและงานวิจัยโดยการสังเกต พบว่า อายุเฉลี่ยของสตรีในงานวิจัยแบบสุ่ม 2 เรื่องที่นำเข้ามาศึกษานั้น อยู่ที่ 55.5 ปี ระยะเวลาการใช้ฮอร์โมนทดแทน 19.9 เดือน ทำการติดตามไปจนถึง 25.2 เดือนโดยเฉลี่ย กลุ่มที่ได้ฮอร์โมนพบการกลับเป็นซ้ำมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ 3 เท่า ส่วนผลของงานวิจัยโดยสังเกตพบว่า อายุเฉลี่ยของสตรีที่ศึกษา อยู่ที่ 59.7 ปี ระยะเวลาการใช้ฮอร์โมนทดแทน 28 เดือน ทำการติดตามไปจนถึง 57.1 เดือนโดยเฉลี่ย กลุ่มที่ได้ฮอร์โมนพบการกลับเป็นซ้ำน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ (RR 0.64, 95% CI 0.50-0.82) แต่เนื่องจากลักษณะของการศึกษามีการใช้ฮอร์โมนทั้งชนิดเอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสเตอโรน และ เอสโตรเจนตัวเดียว ทำให้ไม่เอื้อต่อการเปรียบเทียบว่า ชนิดของฮอร์โมนที่ได้รับ ขนาดยา หรือวิธีใช้ฮอร์โมน มีผลต่อการกลับเป็นซ้ำหรือไม่ รวมถึงการศึกษาแบบสังเกตุยังอาจมีอคติในการแปลผลได้ ผู้เขียนจึงสรุปตามผลของงานวิจัยแบบสุ่มว่า ไม่แนะนำให้ใช้ฮอร์โมนในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม6

                    มีการศึกษาขนาดใหญ่ของสวีเดน คือ HABITS trial (Hormonal Replacement Therapy After Breast Cancer-Is it Safe?) ศึกษาถึงการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านม พบว่า การใช้ฮอร์โมนทดแทน สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของมะเร็งเต้านมที่ 2 ปี และ 4 ปี หลังจากเริ่มศึกษาเป็น 3.3 และ 2.4 เท่าตามลำดับ ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยในการศึกษานี้ได้รับ ฮอร์โมนรวมชนิดเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนกินต่อเนื่อง แต่ประชากรที่ศึกษามีความแตกต่างกันเล็กน้อย คือ ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้ฮอร์โมนทดแทนมีตัวรับเอสโตรเจน (estrogen receptor) มากกว่า และเมื่อเทียบระหว่างกลุ่มที่มี และไม่มีตัวรับเอสโตรเจน พบว่า กลุ่มที่มีตัวรับเอสโตรเจน มีการกลับเป็นซ้ำมากกว่า (2.6 และ 1.8 เท่า ตามลำดับ)7, 8

                    อีกการศึกษาหนึ่งของสวีเดน คือ Stockholm study ให้ผลการศึกษาที่ต่างกัน เนื่องจาก การศึกษานี้ไม่ได้พบว่าอัตราการกลับเป็นซ้ำที่ 4 ปี ในผู้ป่วยที่ใช้ฮอร์โมนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ในการศึกษานี้ผู้ป่วยใช้ฮอร์โมนรวมชนิด estradiol 2 มิลลิกรัม 21 วันต่อรอบ ร่วมกับ medroxyprogesterone acetate (MPA) 10 มิลลิกรัม ในช่วง 10 วันหลัง จากนั้นเว้น 7 วัน หรือใช้ estradiol 84 วันต่อรอบ ร่วมกับ MPA ในช่วง 14 วันหลัง หากอายุมากกว่า 55 ปี9 ผู้เขียนพยายามหาเหตุผลของผลการวิจัยที่ต่างกันใน 2 งานวิจัยนี้ พบว่า ผู้ป่วยใน Stockholm study มีการใช้ tamoxifen มากกว่า และสันนิษฐานว่า การใช้ฮอร์โมนแบบเป็นรอบๆ (cyclic) เพื่อลดระยะเวลาการใช้โปรเจสติน อาจมีผลทำให้เพิ่มการตายของเซลล์มะเร็ง (apoptosis)9

                    มีการศึกษาแบบสุ่ม LIBERATE trial (Livial Intervention Following Breast Cancer: Efficacy, Recurrence and Tolerability Endpoint) ใช้ tibolone ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจนที่กระดูกและช่องคลอด แต่ออกฤทธิ์คล้ายโปรเจสเตอโรนที่เยื่อบุโพรงมดลูก พบว่าการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในกลุ่มผู้ป่วยอายุ 40 ถึง 49 ปี และ 50 ถึง 59 ปี จึงยุติการศึกษาก่อนกำหนด

                    จากข้อมูลทั้งหมดนี้ ทำให้สมาคมวัยทองของอเมริกาเหนือ (The North American Menopause Society; NAMS) ไม่แนะนำให้ใช้ฮอร์โมนทดแทน ในสตรีที่มีประวัติมะเร็งเต้านม10

                    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาการทางระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ของสตรีวัยทองนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลงอย่างมาก จึงได้มีการศึกษาการใช้เอสโตรเจนปริมาณต่ำทางช่องคลอด (Low-dose vaginal estrogen) พบว่าการใช้เอสโตรเจนปริมาณต่ำทางช่องคลอด มีผลกระทบต่อปริมาณเอสโตรเจนในกระแสเลือดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยระดับฮอร์โมนในเลือดจะสูงที่สุดที่ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นระดับจะลดลงมาจนเทียบเท่ากับระดับของสตรีที่เข้าวัยทองตามธรรมชาติ11 ซึ่งไม่เพิ่มโอกาสเกิด เยื่อบุโพรงมดลูกหนา หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก12

                    ยังไม่มีการศึกษาขนาดใหญ่ที่รายงานความปลอดภัยของการใช้ฮอร์โมนทดแทน ในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่ม aromatase inhibitor หรือ tamoxifen แต่มีการศึกษาของอังกฤษ ศึกษาการใช้เอสโตรเจนปริมาณต่ำทางช่องคลอดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ พบว่า ไม่ได้มีผลต่ออัตราการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมเมื่อติดตามไป 3.5 ปี13 ด้วยข้อมูลข้างต้นนี้ ทำให้สมาคมวัยทองของอเมริกาเหนือ (NAMS) รับรองให้ใช้เอสโตรเจนปริมาณต่ำทางช่องคลอด เพื่อรักษาอาการระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ ในสตรีที่มีประวัติมะเร็งเต้านม ที่ใช้ยากลุ่มที่ไม่มีฮอร์โมนแล้วไม่ได้ผล10

                    ชนิดของโปรเจสตินอาจจะมีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบพบว่า การใช้เอสโตรเจนร่วมกับ micronized progesterone ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมเมื่อติดตามไป 5 ปี14 อีกการศึกษาหนึ่งพบว่า การใช้ micronized progesterone หรือ dydrogesterone ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ตรงข้ามกับการใช้ยากลุ่ม medroxyprogesterone acetate, norethisterone หรือ levonorgestrel ที่เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมได้15 ข้อมูลจากหลายการศึกษาพบว่า ความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ฮอร์โมนทดแทนนั้น น่าจะมาจากฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสตินเป็นหลัก โดยการใช้ micronized progesterone มีความเสี่ยงน้อยกว่าการใช้โปรเจสตินสังเคราะห์ และการให้โปรเจสเตอโรนแบบเป็นรอบ มีความปลอดภัยกว่าการให้แบบต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

                    มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer)

                    ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณ 600,000 คนต่อปี4 โดยราวร้อยละ 40 เกิดก่อนอายุ 45 ปี16 มะเร็งปากมดลูกสามารถแบ่งตามชนิดของเซลล์ที่พบบ่อยได้เป็นกลุ่ม Squamous Cell Carcinoma (SCCA) และ Adenocarcinoma17 แม้ว่ามะเร็งชนิด Adenocarcinoma นั้นจะสามารถพบตัวรับเอสโตรเจน อยู่บ้าง แต่การมีหรือไม่มีตัวรับเอสโตรเจนนั้น ไม่ได้มีผลต่อการกลับเป็นซ้ำ หรือระยะการรอดชีวิตแต่อย่างใด ส่วนชนิด SCCA นั้น ไม่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเลย ด้วยสาเหตุนี้ จึงไม่มีข้อห้ามของการใช้ฮอร์โมนในผู้ป่วยกลุ่มนี้18

                    แนวทางการรักษามะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันขึ้นอยู่กับระยะของโรคและทรัพยากรของแต่ละสถาบัน ผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกนั้นจะได้รับการรักษาโดยพยายามสงวนภาวะเจริญพันธุ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นการตัดปากมดลูก หรือการตัดมดลูกโดยเก็บรังไข่เอาไว้ เนื่องจากโอกาสมีมะเร็งกระจายไปที่รังไข่น้อยกว่าร้อยละ 219 ส่วนในระยะลุกลามการรักษาหลักจะเป็นการฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งอาจมีการพิจารณาผ่าตัดแขวนรังไข่ไว้ในบริเวณช่องท้องส่วนบนในผู้ป่วยที่อายุน้อย เพื่อหลีกเลี่ยงปริมาณรังสีที่จะทำให้รังไข่หยุดทำงานก่อนวัย20 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการป้องกันอย่างเต็มที่แล้ว ผู้ป่วยส่วนหนึ่งก็ยังเกิดภาวะรังไข่หยุดทำงานได้ ทั้งจากการผ่าตัดที่อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงรังไข่ได้ไม่ดี หรือจากการฉายรังสี ดังนั้น จึงแนะนำให้ใช้ฮอร์โมนทดแทนในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่เข้าสู่วัยทองก่อนวัยจากการรักษาโรคมะเร็ง18 จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบพบว่า ยังขาดหลักฐานที่น่าเชื่อถืออยู่ แต่จากที่มีหลักฐานพบว่า การให้ฮอร์โมนทดแทนในผู้ป่วยกลุ่มนี้ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ทั้งในแง่ของการลดภาวะกระดูกพรุนและการลดอาการวัยทอง โดยไม่ได้มีผลต่ออัตรารอดชีวิต21, 22

                    สมาคม European Menopausal and Andropause Society และ A society of Gynecologic Oncology ได้แนะนำให้ใช้ฮอร์โมนชนิดรวม (เอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสเตอโรน) ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยไม่ได้ตัดมดลูก เพื่อป้องกันการกระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูกที่อาจยังหลงเหลืออยู่23, 24

                    มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer )

                    มากกว่าร้อยละ 90 ของมะเร็งรังไข่เป็นชนิดเยื่อบุผิว ซึ่งประกอบด้วย high- และ low-grade serous, endometrioid, mucinous และ clear cell ส่วนที่เหลือ ได้แก่ ชนิด germ cell และ sex cord stromal นอกจากนี้ ยังมีเนื้องอกรังไข่ชนิดก้ำกึ่ง (borderline) อีกด้วย17 การพิจารณาการให้ฮอร์โมนทดแทนในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ จะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งรังไข่นั้นๆ18

                    จากการเก็บข้อมูล Cochrane Review ในปี ค.ศ.2020 เกี่ยวกับการให้ฮอร์โมนรักษาในมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวนั้น ยังไม่มีข้อมูลที่คุณภาพดีและปริมาณมากพอที่จะสรุปเป็นแนวทางปฏิบัติ เนื่องจากไม่สามารถวิเคระห์ข้อมูลกลุ่มย่อยของแต่ละชนิดของมะเร็งรังไข่ได้ รวมถึงมีความหลากหลายของฮอร์โมนที่ใช้อีกด้วย แต่โดยรวมแล้ว ไม่พบว่ามีผลเสียต่อการกลับเป็นซ้ำหรือการรอดชีพ อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานทั้งหมด ก็มิได้บ่งบอกว่าการใช้ฮอร์โมนช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มนี้แต่อย่างใด25

                    แนวทางการให้การให้ฮอร์โมนรักษาอาการวัยทองในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ จะแบ่งตามชนิดของมะเร็ง ดังนี้18, 23, 24

                    1. Serous ovarian cancer
                      1. High-grade serous ovarian cancer ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะออกแนวทางการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มนี้
                      2. Low-grade serous ovarian cancer เนื่องจากมะเร็งในกลุ่มนี้มีตัวรับเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน และการรักษาต่อเนื่องโดยการใช้ยาต้านฮอร์โมนยังเป็นแนวทางการรักษามาตรฐานอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ฮอร์โมนทดแทนในผู้ป่วยกลุ่มนี้
                    2. Non-serous epithelial ovarian cancer การศึกษาแบบเก็บข้อมูลย้อนหลังพบว่า การให้ฮอร์โมนทดแทน ไม่ได้มีผลต่ออัตราการกลับเป็นซ้ำในมะเร็งชนิดนี้ แม้ว่าผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ในการศึกษา จะเป็นชนิด endometrioid ที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนก็ตาม อย่างไรก็ดี แนะนำให้พิจารณาการใช้ฮอร์โมนเป็นรายๆไป และระวังการใช้ฮอร์โมนในรายที่มีรอยโรคระยะลุกลามเนื่องจากอาจมีรอยโรคที่ตอบสนองต่อฮอร์โมนหลงเหลือ
                    3. Mucinous และ Clear cell ovarian cancer สามารถให้ฮอร์โมนทดแทนได้หากมีความจำเป็น เนื่องจากมะเร็งในกลุ่มนี้ไม่ได้มีการตอบสนองต่อยาต้านฮอร์โมน เช่น aromatase inhibitor อย่างไรก็ตาม มะเร็งในกลุ่ม clear cell มีความสัมพันธ์กับการเกิดเส้นเลือดดำอุดตันมากขึ้น ซึ่งอาจถูกกระตุ้นจากการใช้ฮอร์โมนได้ด้วย มีการเสนอให้ใช้เอสโตรเจนชนิดแผ่นแปะเพื่อลดผลข้างเคียง แต่ก็ยังไม่สามารถระบุเป็นแนวทางการรักษาได้
                    4. Sex-cord stromal tumor ไม่แนะนำให้ใช้ฮอร์โมนทดแทนในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพราะแม้ว่าหลักฐานเชิงประจักษ์จะยังมีน้อย แต่ด้วยธรรมชาติของเนื้องอกกลุ่มนี้ที่ตอบสนองต่อฮอร์โมน และการรักษาอาจมีการใช้ยาต้านฮอร์โมนด้วย จึงไม่เหมาะแก่การให้ฮอร์โมนทดแทน
                    5. Germ cell tumor โดยส่วนมากพบบ่อยในกลุ่มอายุน้อย การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมุ่งเน้นไปที่การสงวนภาวะเจริญพันธุ์อยู่แล้ว จึงอาจไม่มีปัญหาเรื่องวัยทองมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่จะเก็บรังไข่อีกข้างหนึ่งไว้ แต่หากจำเป็นการให้ฮอร์โมนทดแทนในผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถทำได้อย่างเหมาะสม
                    6. Borderline ovarian tumor ในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 45 ปี ที่เข้ารับการรักษาเนื้องอกรังไข่ชนิดก้ำกึ่ง ควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับข้อบ่งชี้ของการรับฮอร์โมนทดแทน เพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจ และกระดูกพรุน ในรายที่เป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดก้ำกึ่งชนิด mucinous สามารถใช้ฮอร์โมนทดแทนได้ เนื่องจากเป็นเนื้องอกที่ไม่ไวต่อฮอร์โมน แต่หากเป็นเนื้องอกชนิด serous ที่มี invasive implant การให้ฮอร์โมนทดแทนต้องให้ด้วยความระมัดระวัง และเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียเป็นรายๆไป เนื่องจากเป็นเนื้องอกที่ไวต่อฮอร์โมน ปัจจัยที่จะช่วยในการตัดสินใจไม่ให้ฮอร์โมนได้แก่ invasive implant, micropapillary pattern, อายุค่อนข้างมาก หากพิจารณาแล้วมีความเสี่ยงดังกล่าว แนะนำให้เป็นเอสโตรเจนทางช่องคลอด หรือรักษาอาการโดยไม่ใช้ฮอร์โมนแทน แต่หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว สามารถให้ฮอร์โมนได้ด้วยความระมัดระวัง นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนทดแทนในกลุ่มเนื้องอกชนิด endometrioid เนื่องจากเอสโตรเจนสามารถทำให้เนื้องอกชนิดนี้โตขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการทดสอบแล้วว่ามีตัวรับเอสโตรเจน26
                    7. สตรีที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 และ BRCA2 สตรีกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่เพิ่มขึ้น จึงมีการแนะนำให้ตัดปีกมดลูกทั้งสองข้างเพื่อป้องกัน ตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป ทำให้เข้าสู่วัยหมดระดูเร็วขึ้น หลักฐานในการใช้ฮอร์โมนทดแทนในผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังค่อนข้างน้อย การใช้ฮอร์โมนในระยะสั้นค่อนข้างปลอดภัยในรายที่ไม่ได้มีประวัติมะเร็งเต้านมร่วมด้วย แต่ในรายที่มีประวัติมะเร็งเต้านม ควรหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนทดแทนเนื่องจากมีหลักฐานว่าสามารถกระตุ้นการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมได้โดยเฉพาะในรายที่เป็นมะเร็งเต้านมชนิด triple negative เพราะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำสูง

                    มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Cancer)

                    มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกส่วนใหญ่ มักเกิดในสตรีวัยหมดประจำเดือน แต่ก็มีบางกรณี ที่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่อายุน้อย เช่น ในกลุ่มคนที่มีกลุ่มอาการลินช์ (Lynch syndrome) มีภาวะอ้วน หรือภาวะไข่ไม่ตกจากโรคถุงน้ำรังไข่ (Polycystic ovarian syndrome) ส่วนมากจะวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะต้น และมักจะมีอัตราการรอดชีวิตที่สูงถึงร้อยละ 85 การรักษาหลักคือการตัดมดลูก และรังไข่ทั้งสองข้าง23

                    จากการศึกษา Cochrane Systematic Review ปีค.ศ. 2018 สรุปว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะแนะนำให้ใช้ฮอร์โมนทดแทนในผู้ป่วยกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษานี้ไม่พบอันตรายที่รุนแรงจากการใช้ฮอร์โมนในคนไข้ที่เป็นมะเร็งระยะต้น ที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอในกลุ่มโรคระยะลุกลาม27

                    National Comprehensive Cancer Network (NCCN), North American Menopause Society และ A Society of Gynecologic Oncology ได้แนะนำว่าการให้ฮอร์โมนทดแทนในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำต่ำ เช่น ระยะที่ I-II และเกรดของมะเร็งต่ำสามารถทำได้ โดยพิจารณาเป็นรายๆไปในกรณีที่รักษาด้วยยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมนแล้วไม่ได้ผล และควรมีการให้ข้อมูลผู้ป่วยอย่างละเอียดก่อน หากผู้ป่วยได้รับการรักษาเพิ่มเติม การเริ่มฮอร์โมนควรเว้นระยะ 6-12 เดือนจากการรักษา อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยกลุ่มนี้บางรายสามารถรักษาโดยการเก็บรังไข่ไว้ได้ เช่น กรณีที่เป็นระยะที่ I ไม่มีการลุกลามของเนื้อมะเร็งเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อมดลูก ไม่มีรอยโรคนอกมดลูก และไม่มีประวัติโรคทางพันธุกรรมในครอบครัว ซึ่งในกรณีนี้ จะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนของการเกิดอาการวัยทองก่อนวัยได้10, 20, 24

                    ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำสูง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีรอยโรคระยะลุกลาม หรือเกรดของมะเร็งสูง รวมถึงเนื้องอกชนิดซาร์โคมา (Sarcoma) อาจตอบสนองต่อฮอร์โมนได้ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำ ดังนั้นในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ควรพิจารณาการใช้ยารักษาอาการชนิดที่ไม่มีฮอร์โมนแทน10, 24

                    มีการศึกษาการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทางช่องคลอด พบว่า ในกลุ่มประชากรทั่วไป การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทางช่องคลอด ไม่เพิ่มอัตราการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก28 และจากการศึกษาแบบย้อนหลังพบว่า ความเสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำในผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะต้นค่อนข้างต่ำ คือร้อยละ 2.4 และระยะลุกลาม ร้อยละ 4.7 อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้มีประชากรเพียง 127 ราย เท่านั้น จึงยังไม่สามารถสรุปเป็นแนวทางการรักษาได้29

                    ยังไม่มีการศึกษาถึงผลระยะยาวของการให้ฮอร์โมนทดแทน ในสตรีที่มีกลุ่มอาการลินช์ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดอื่นร่วมด้วย แม้ว่า สตรีกลุ่มนี้มักได้รับการป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกโดยการผ่าตัดซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะวัยทองในขณะอายุยังน้อย23 แต่มีการวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัย Prostate, Lung, Colorectal, and Ovarian Cancer Screening Trial พบว่า ในกลุ่มสตรีที่ได้รับฮอร์โมนทดแทน มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ลดลง และมีอัตราตายโดยรวมลดลงอีกด้วย สมาคม Society of Gynecologic Oncology จึงได้แนะนำว่า ในรายที่ได้รับการตัดมดลูกเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็ง สามารถให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อบรรเทาอาการวัยทองได้ แต่ในรายที่ยังไม่ได้ตัดมดลูก ไม่แนะนำให้ให้เอสโตรเจนโดยไม่ให้โปรเจสตินร่วมด้วย เนื่องจากเพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก24

                    ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Atypical endometrial hyperplasia) ที่ได้รับการรักษาด้วยการตัดมดลูกไปแล้ว ไม่ได้มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนทดแทน23

                    บทสรุป

                    แม้ว่าจะมีการวิจัยมากมายเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และประโยชน์ของยาฮอร์โมนทดแทนในผู้ป่วยวัยทอง ทั้งในแง่ป้องกันภาวะกระดูกพรุน การลดอาการร้อนวูบวาบ หรืออาการทางระบบปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ รวมถึงยังป้องกันความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ การให้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชยังถือว่าค่อนข้างน้อย อาจเนื่องจากความกังวลต่อผลข้างเคียงของฮอร์โมนต่อการกลับเป็นซ้ำของโรค บทความนี้ได้รวบรวมหลักฐานและข้อแนะนำต่างๆในการใช้ฮอร์โมน แยกตามประเภทของมะเร็ง เพื่อให้แพทย์ผู้ดูแลได้พิจารณาเลือกใช้ในรายที่เหมาะสม เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งดีขึ้น

                    เอกสารอ้างอิง

                    1. Del Carmen MG, Rice LW. Management of menopausal symptoms in women with gynecologic cancers. Gynecol Oncol. 2017;146(2):427-35.

                    2. Faubion SS, Kuhle CL, Shuster LT, Rocca WA. Long-term health consequences of premature or early menopause and considerations for management. Climacteric. 2015;18(4):483-91.

                    3. Hinds L, Price J. Menopause, hormone replacement and gynaecological cancers. Menopause Int. 2010;16(2):89-93.

                    4. Ferlay J EM, Lam F, Colombet M, Mery L, Piñeros M, Znaor A, Soerjomataram I, Bray F (2020). Global Cancer Observatory: Cancer Today. Lyon, France: International Agency for Research on Cancer. Available from: https://gco.iarc.fr/today, accessed February 2, 2022. [

                    5. Vincent AJ. Management of menopause in women with breast cancer. Climacteric. 2015;18(5):690-701.

                    6. Col NF, Kim JA, Chlebowski RT. Menopausal hormone therapy after breast cancer: a meta-analysis and critical appraisal of the evidence. Breast Cancer Res. 2005;7(4):R535-40.

                    7. Holmberg L, Anderson H. HABITS (hormonal replacement therapy after breast cancer–is it safe?), a randomised comparison: trial stopped. Lancet. 2004;363(9407):453-5.

                    8. Holmberg L, Iversen OE, Rudenstam CM, Hammar M, Kumpulainen E, Jaskiewicz J, et al. Increased risk of recurrence after hormone replacement therapy in breast cancer survivors. J Natl Cancer Inst. 2008;100(7):475-82.

                    9. von Schoultz E, Rutqvist LE. Menopausal hormone therapy after breast cancer: the Stockholm randomized trial. J Natl Cancer Inst. 2005;97(7):533-5.

                    10. Harris BS, Bishop KC, Kuller JA, Ford AC, Muasher LC, Cantrell SE, et al. Hormonal management of menopausal symptoms in women with a history of gynecologic malignancy. Menopause. 2020;27(2):243-8.

                    11. Falk SJ, Bober S. Vaginal Health During Breast Cancer Treatment. Curr Oncol Rep. 2016;18(5):32.

                    12. Constantine GD, Graham S, Lapane K, Ohleth K, Bernick B, Liu J, et al. Endometrial safety of low-dose vaginal estrogens in menopausal women: a systematic evidence review. Menopause. 2019;26(7):800-7.

                    13. Le Ray I, Dell’Aniello S, Bonnetain F, Azoulay L, Suissa S. Local estrogen therapy and risk of breast cancer recurrence among hormone-treated patients: a nested case-control study. Breast Cancer Res Treat. 2012;135(2):603-9.

                    14. Stute P, Wildt L, Neulen J. The impact of micronized progesterone on breast cancer risk: a systematic review. Climacteric. 2018;21(2):111-22.

                    15. Yang Z, Hu Y, Zhang J, Xu L, Zeng R, Kang D. Estradiol therapy and breast cancer risk in perimenopausal and postmenopausal women: a systematic review and meta-analysis. Gynecol Endocrinol. 2017;33(2):87-92.

                    16. Brennan A, Brennan D, Rees M, Hickey M. Management of menopausal symptoms and ovarian function preservation in women with gynecological cancer. Int J Gynecol Cancer. 2021;31(3):352-9.

                    17. Female genital tumours. 5th ed. Lyon (France): International Agency for research on cancer; 2020.

                    18. Brennan A, Hickey M. The use of menopausal hormone therapy after cancer. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol. 2021.

                    19. Tabata M, Ichinoe K, Sakuragi N, Shiina Y, Yamaguchi T, Mabuchi Y. Incidence of ovarian metastasis in patients with cancer of the uterine cervix. Gynecol Oncol. 1987;28(3):255-61.

                    20. https://www.nccn.org/professionals/physician_gls/pdf/cervical.pdf. Accessed February 2, 2022. NCCNNNCPGiOCcVONCCNAf. [

                    21. Vargiu V, Amar ID, Rosati A, Dinoi G, Turco LC, Capozzi VA, et al. Hormone replacement therapy and cervical cancer: a systematic review of the literature. Climacteric. 2021;24(2):120-7.

                    22. Brennan A, Rees M. Menopausal hormone therapy in women with benign gynaecological conditions and cancer. Best Pract Res Clin Endocrinol Metab. 2021;35(6):101575.

                    23. Rees M, Angioli R, Coleman RL, Glasspool R, Plotti F, Simoncini T, et al. European Menopause and Andropause Society (EMAS) and International Gynecologic Cancer Society (IGCS) position statement on managing the menopause after gynecological cancer: focus on menopausal symptoms and osteoporosis. Maturitas. 2020;134:56-61.

                    24. Sinno AK, Pinkerton J, Febbraro T, Jones N, Khanna N, Temkin S, et al. Hormone therapy (HT) in women with gynecologic cancers and in women at high risk for developing a gynecologic cancer: A Society of Gynecologic Oncology (SGO) clinical practice statement: This practice statement has been endorsed by The North American Menopause Society. Gynecol Oncol. 2020;157(2):303-6.

                    25. Saeaib N, Peeyananjarassri K, Liabsuetrakul T, Buhachat R, Myriokefalitaki E. Hormone replacement therapy after surgery for epithelial ovarian cancer. Cochrane Database Syst Rev. 2020;1(1):Cd012559.

                    26. Bourdel N, Huchon C, Abdel Wahab C, Azaïs H, Bendifallah S, Bolze PA, et al. Borderline ovarian tumors: Guidelines from the French national college of obstetricians and gynecologists (CNGOF). Eur J Obstet Gynecol Reprod Biol. 2021;256:492-501.

                    27. Edey KA, Rundle S, Hickey M. Hormone replacement therapy for women previously treated for endometrial cancer. Cochrane Database Syst Rev. 2018;5(5):Cd008830.

                    28. Pinkerton JV, Kaunitz AM, Manson JE. Vaginal estrogen in the treatment of genitourinary syndrome of menopause and risk of endometrial cancer: an assessment of recent studies provides reassurance. Menopause. 2017;24(12):1329-32.

                    29. Chambers LM, Herrmann A, Michener CM, Ferrando CA, Ricci S. Vaginal estrogen use for genitourinary symptoms in women with a history of uterine, cervical, or ovarian carcinoma. Int J Gynecol Cancer. 2020;30(4):515-24.

                     

                    Read More

                    Intra-amniotic infection

                    Intra-amniotic infection

                    นพ.ธนวิชญ์ พูลสิน
                    อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.นพ.ภูดิศ เจต๊ะวรรณ


                    Intra-amniotic infection หรือชื่อเดิมเรียกว่า Chorioamnionitis คือการอักเสบติดเชื้อในหลายบริเวณรวมกันเช่น น้ำคร่ำ(Amniotic fluid), รก (Placenta), ทารก(Fetus) หรือ Fetal membrane ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายๆชนิด ไม่ว่าจะมาจากเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดที่เกิดการติดเชื้อเข้าสู่ภายในมดลูก (Ascending infection) ในผู้ที่ถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว ซึ่งเป็นช่องทางที่พบได้บ่อยที่สุด หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือดเข้าไปในโพรงมดลูกซึ่งเกิดขึ้นได้น้อยกว่า มีการศึกษาพบว่าหญิงตั้งครรภ์มีภาวะ Intra-amniotic infection ถึงร้อยละ 3.9 ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด และพบมากที่สุดในการติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์(1) โดยเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือเชื้อ Ureaplasma urealyticum และ Mycoplasma hominis โดยเชื้อแบคทีเรีย Gardnerella vaginalis และ group B Streptococcus สามารถพบได้เช่นกัน(2)

                    Terminology and definitions(3)

                    ในปีค.ศ. 2015 National Institute of Child Health and Human Development ร่วมกับ American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG), the American Academy of Pediatrics, Society for Maternal-Fetal Medicine ได้ร่วมกันออกคำแนะนำใหม่ โดยแนะนำให้เปลี่ยนการเรียกชื่อ Clinical chorioamnionitis เป็น “Intrauterine inflammation or infection of both” หรือ “Tripple I” เนื่องจากคำว่า “Chorioamnionitis” นั้นจะสื่อไปถึงการติดเชื้อเพียงอย่างเดียว โดยที่การวินิจฉัยและการตัดสินใจให้ยาปฏิชีวนะนั้นขึ้นอยู่กับอาการทางคลินิกเป็นหลักโดยที่ยังทราบได้แน่ชัดถึงการติดเชื้อภายในมดลูก การใช้คำว่า “Intrauterine inflammation or infection of both” นั้นสามารถสื่อความหมายได้ชัดเจนกว่า โดยได้แบ่งแยกย่อยออกเป็น Isolated maternal fever, Suspected triple I หรือ Presumptive diagnosis of intra-uterine infection, confirmed triple I หรือ confirmed diagnosis of intra-uterine infection ซึ่งมีเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้

                    1. Isolated maternal fever หมายถึงมีไข้อุณหภูมิมากกว่าหรือเท่ากับ 39 องศาเซลเซียสหรือมากกว่าในการวัด1 ครั้ง หรือ มีไข้อุณหภูมิ 38.0 ถึง 38.9 องศาเซลเซียสในการวัด 2 ครั้ง ห่างกัน 30 นาที
                    2. Suspected triple I หมายถึง มีไข้ดังที่กล่าวมาข้างต้นโดยไม่สามารถระบุสาเหตุอื่นๆได้ ร่วมกับ 1 ใน 3 ข้อดังนี้
                    • Maternal leukocytosis โดยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวมากกว่า 15,000/mm3
                    • Purulent cervical discharge
                    • Fetal tachycardia โดยมี baseline fetal heart rate มากกว่า 160 ครั้งต่อนาที
                    1. Confirm triple I เพิ่มเติมจากเกณฑ์ข้างต้น โดยการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียในน้ำคร่ำไม่ว่าจะจากการตรวจ Gram stain หรือเพราะเชื้อ หรือผลทางพยาธิวิทยาพบการอักเสบติดชื้อที่บริเวณรก ถุงน้ำคร่ำ หรือบริเวณสายสะดือ

                    ซึ่งเกณฑ์การวินิจฉัยจะแตกต่างจากเกณฑ์การวินิจฉัย Clinical chorioamnionitis เดิมดังนี้(4) ได้แก่

                    มีไข้อุณหภูมิ 37.8 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับ 2 ใน 5 ข้อดังต่อไปนี้

                    • Maternal tachycardia โดยมีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที
                    • Fetal tachycardia โดยมี baseline fetal heart rate มากกว่า 160 ครั้งต่อนาที
                    • Uterine tenderness
                    • Purulent or foul-smell amniotic fluid or discharge
                    • Maternal leukocytosis โดยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวมากกว่า 15,000/mm3

                    มีการศึกษาแบบ Retrospective เปรียบเทียบระหว่างการใช้เกณฑ์การวินิจฉับแบบเดิมและแบบใหม่ในการรักษา พบว่าอัตราการติดเชื้อหลังคลอดไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ(5)

                    Risk factor(6)

                    เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้มากที่สุดคือการเกิด Ascending infection ร่วมกับถุงน้ำคร่ำแตกเป็นเวลานาน รวมถึงการดำเนินคลอดเป็นไปด้วยเวลานาน ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิด Intra-amniotic infection ได้แก่จำนวนครั้งของการตรวจภายในโดยเฉพาะในผู้ที่ถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว, การใช้ Internal uterine fetal monitor, มีภาวะ Meconium-stained amniotic fluid, หรือมีการติดเชื้อภายในช่องคลอดอื่นๆเช่น Group B streptococcus infection หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ

                    มีการศึกษาแบบ Retrospective ถึงจำนวนครั้งของการตรวจภายในในช่วงระยะคลอดของผู้ที่ตั้งครรภ์มากกว่า 37 สัปดาห์ พบว่าการตรวจภายในตั้งแต่ 5 ครั้งขึ้นไป สัมพันธ์กับการมีไข้ในช่วงระยะคลอดอย่างมีนัยสำคัญ(7)

                    Maternal morbidity(8)

                    ภาวะ Intra-amniotic infection สามารถส่งผลกระทบต่อการดำเนินคลอดได้ เช่นเพิ่มอัตราการผ่าตัดทำคลอด การตกเลือดหลังคลอดจากมดลูกไม่แข็งตัว รวมถึงเพิ่มอัตราการติดเชื้อหลังคลอดได้โดยเฉพาะการผ่าตัดทำคลอด ไม่ว่าจะแผลผ่าตัดติดเชื้อหรือติดเชื้อภายในมดลูกหลังคลอด อาจจะเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้

                    Neonatal morbidity

                    ภาวะ Intra-amniotic infection สามารถส่งผลกระทบต่อทารกได้มากขึ้น 2 ถึง 3.5 เท่าของภาวะปกติ(9) รวมถึงส่งผลกระทบได้หลายประการ เช่น เพิ่มโอกาสในการเกิด Early-onset neonatal sepsis, Neonatal pneumonia หรือเพิ่มอัตราการเสียชีวิตได้ รวมถึงส่งผลกระทบในระยะยาวต่อทารกได้ เช่นภาวะ Bronchopulmonary dysplasia หรือภาวะ Cerebral palsy

                    Management of isolated maternal fever

                    ในปีค.ศ.2017 American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) ได้ออกคำแนะนำใหม่อีกครั้ง โดยเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การวินิจฉัยถ้าหากมีไข้มากกว่าหรือเท่ากับ 39.0 องศาเซลเซียส โดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ให้ถือปฏิบัติตามแนวทางของ Suspected triple I เนื่องจากไข้ที่สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียสนั้น มีความเป็นได้ได้ที่จะเกิดจากการติดเชื้อมากกว่า รวมถึงอาจทำให้การรักษา Confirmed Intra-amniotic infection ได้ครอบคลุมมากขึ้น(10)

                    ตารางแสดงการเปรียบเทียบเกณฑ์การวินิจฉัยระหว่าง American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) และ National Institutes of Health (NIH) (11) Table Description automatically generated with medium confidence

                    ที่มา Jones C, Titus H, Belongilot CG, Soviravong S, Stansfield BK. Evaluating definitions for maternal fever as diagnostic criteria for intraamniotic infection in low-risk pregnancies. Birth. 2021;48(3):389-96.

                    สาเหตุหลักๆของไข้ระหว่างการคลอดนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุทั้งจากการติดเชื้อ และไม่ใช่จากการติดเชื้อ หากพบหญิงตั้งครรภ์มีไข้ ควรได้รับการซักประวัติและตรวจร่างการเพิ่มเติม รวมถึงหาสาเหตุของไข้ โดยถ้ามีปัจจัยเสี่ยงและเข้าได้กับเกณฑ์การวินิจฉัยของ Intra-amniotic infection สามารถรักษาตามแนวทางที่จะกล่าวถึงต่อไป ถ้าพบสาเหตุอื่นๆของไข้เช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรืออื่นๆ สามารถรักษาตามสาเหตุได้เลย สำหรับสาเหตุอื่นๆของการเกิดไข้ในหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ อาจเกิดจากการใช้ Epidural anesthesia ได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาที่มากพอถึงแนวทางการรักษาและการให้ยาในภาวะ Isolated maternal fever ที่ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน แต่เนื่องจากอาการไข้นั้นเป็นอาการนำที่สำคัญของ Intra-amniotic infection ซึ่งไม่สามารถแยกจากไข้ที่เกิดจากการใช้ Epidural anesthesia ได้ ร่วมกับมีการศึกษาถึงภาวะการมีไข้ระหว่างตั้งครรภ์กับผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกับทารก(12) การให้ยาปฏิชีวนะในภาวะ Isolated maternal fever ที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้อาจให้ประโยชน์มากกว่า หรือในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีหลักฐานถึงการติดเชื้อ Group B streptococcus infection สามารถให้ยาปฏิชีวนะตามแนวทางได้(13)

                    Management of Suspected or confirmed triple I

                    Laboratory testing

                    ควรส่งตรวจ CBC ในทุกผู้ป่วยที่สงสัยภาวะ Intra-amniotic infection ทุกราย รวมถึงส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆเพื่อหาสาเหตุของการติดเชื้ออื่นๆที่อาจเป็นสาเหตุของไข้ได้

                    Amniotic fluid testing

                    การตรวจเพราะเชื้อจากน้ำคร่ำหรือการตรวจทางพยาธิวิทยาของรกเป็น gold standard ในการวินิจฉัยภาวะ Intra-amniotic infection แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะดำเนินการหลังจากคลอดทารกแล้ว และใช้เวลานานในการออกผลตรวจ เนื่องจากการรักษาภาวะ Suspected triple I หรือ Confirmed triple I มีแนวทางการรักษาที่เหมือนกัน โดยส่วนใหญ่แล้ว การตัดสินใจรักษาขึ้นอยู่กับอาการทางคลินิกและปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังที่กล่าวมาทั้งหมด

                    การตรวจวิเคราะห์น้ำคร่ำอาจทำได้โดยการเจาะน้ำคร่ำทางหน้าท้อง (Transabdominal amniocentesis) ซึ่งไม่ได้รับความนิยมในปัจจุบันเนื่องจากหัตถการมีความเสี่ยงสูง การตรวจวิธีนี้ อาจใช้ในกรณีผู้ป่วยเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor) หรือภาวะน้ำเดินในผู้ป่วยเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด (PPROM) เพื่อแยกภาวะ Intra-amniotic infection และภาวะการณ์ติดเชื้ออื่นๆ(14) มีการศึกษาพบว่า การใช้เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะ Suspected triple I ในผู้ป่วย Preterm labor หรือ PPROM อาจไม่แม่นยำมากพอในการตัดสินใจรักษาภาวะ Intra-amniotic infection(15)

                    Intrapartum antibiotic Management

                    การให้ยาปฏิชีวนะเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาภาวะ Intra-amniotic infection ควรเริ่มให้เลยเมื่ออาการเข้าได้กับ suspected triple I การให้ยาปฏิชีวนะสามารถลดอุบัติการณ์ของการติดเชื้อหรือความเสี่ยงอื่นๆของการตั้งครรภ์รวมถึงลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล รวมถึงลดอัตราการติดเชื้อของทารกหลังคลอด, American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) ได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับการให้ยาปฏิชีวนะในระยะคลอดดังนี้(10)

                    Primary regimen
                    Recommended antibiotics ขนาดยา
                    • Ampicillin

                    และ

                    • Gentamycin
                    • 2 mg IV every 6 hours
                    • 2 mg/kg IV load followed by 1.5 mg/kg every 8 hours หรือ 5 mg/kg IV every 24 hours
                    กรณีแพ้ยากลุ่ม penicillin เล็กน้อย ขนาดยา
                    • Cefazolin
                      และ
                    • Gentamycin
                    • 2 g IV every 8 hours
                    • 2 mg/kg IV load followed by 1.5 mg/kg every 8 hours หรือ 5 mg/kg IV every 24 hours
                    กรณีแพ้ยากลุ่ม penicillin รุนแรง ขนาดยา
                    • Clindamycin
                      หรือ
                    • Vancomycin
                      และ
                    • Gentamycin
                    • 900 mg IV every 8 hours
                    • 1 g IV every 12 hours
                    • 2 mg/kg IV load followed by 1.5 mg/kg every 8 hours หรือ 5 mg/kg IV every 24 hours
                    Alternative regimen
                    • Ampicillin–sulbactam
                    • Piperacillin–tazobactam
                    • Cefotetan
                    • Cefoxitin
                    • Ertapenem
                    • 3 g IV every 6 hrs
                    • 3.375 g IV every 6 hrs or 4.5 g IV every 8 hrs
                    • 2 g IV every 12 hrs
                    • 2 g IV every 8 hrs
                    • 1 g IV every 24 hrs

                    ดัดแปลงจาก Committee Opinion No. 712: Intrapartum Management of Intraamniotic Infection. Obstet Gynecol. 2017;130(2):e95-e101.

                    จะเห็นได้ว่าคำแนะนำจาก ACOG สามารถให้ยา Gentamycin ได้ทั้ง 2 แบบ ทั้งวันละ 1 ครั้ง และวันละ 3 ครั้ง มีการศึกษาระหว่างการให้ยาปฏิชีวนะ Ampicillin ควบคู่กับ Gentamycin วันละ 3 ครั้งเปรียบเทียบกับการให้ยา Ampicillin ควบคู่กับ Gentamycin วันละ 1 ครั้ง พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันในแง่ของการติดเชื้อของมดลูกหลังคลอด (Postpartum endometritis) และการติดเชื้อในทารกหลังคลอด(Neonatal sepsis)(16, 17) ดังนั้นการให้ยา Gentamycin วันละ 1 ครั้ง จึงมีประสิทธิภาพมากกว่าในแง่ของการบริหารจัดการการให้ยา

                    สำหรับผู้ที่กำลังจะได้รับการผ่าตัดทำคลอด ได้มีการศึกษาถึงการให้ยา Metronidazole 500 mg IV every 8 hrs หรือ Clindamycin 900 mg iv every 8 hrs เสริมจากการให้ยา Ampicillin และ Gentamycin สามารถลดอัตราการติดเชื้อหลังผ่าตัดได้(18) แต่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากคำแนะนำจาก ACOG ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

                    Postpartum antibiotic Management

                    ยังไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนถึงการให้ยาปฏิชีวนะหลังคลอด มีการศึกษาถึงการให้ยา Ampicillin และ Gentamycin เปรียบเทียบกับ Placebo ในช่วงหลังคลอดของผู้ที่คลอดทางช่องคลอด พบว่าอัตราการมีไข้หลังคลอด และอัตราการติดเชื้อหลังคลอดไม่ได้แตกต่างกัน(19) รวมถึงได้มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการให้ยาปฏิชีวนะหลังคลอดในผู้ที่คลอดทางช่องคลอดต่อเนื่องจนไม่มีไข้ครบ 24 ชั่วโมงหลังคลอดเปรียบเทียบกับให้เพียง 1 ครั้งหลังคลอดพบว่าผลการรักษาไม่แตกต่างกัน(20)

                    สำหรับการผ่าตัดทำคลอดนั้น ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการให้ยาปฏิชีวนะต่อหลังคลอดจนไม่มีไข้ครบ 24 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับไม่ให้ยาปฏิชีวนะใดๆ(21) และมีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการให้ยาปฏิชีวนะหลังผ่าตัดทำคลอดเพียง 1 ครั้งเปรียบเทียบกับไม่ให้ยาปฏิชีวนะใดๆ(22) พบว่าทั้งสองการศึกษาพบว่าอัตราการเกิดการติดเชื้อหลังคลอดหรือแผลผ่าตัดติดเชื้อไม่ได้แตกต่างกันระหว่างให้หรือไม่ให้ยาปฏิชีวนะ

                    จะเห็นได้ว่ามีการศึกษาค่อนข้างหลากหลาย แต่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนถึงการให้ยาปฏิชีวนะหลังคลอดทั้งขนาดยาและระยะเวลาการให้ยา แต่จากการศึกษาต่างๆ แสดงให้เห็นว่าการให้ยาปฏิชีวนะหลังคลอดไม่มีความจำเป็นทั้งการคลอดทางช่องคลอดและการผ่าตัดทำคลอดถ้าไม่มีอาการหรือความเสี่ยง ในทางเวชปฏิบัติจริงๆแล้ว มีการให้ยาปฏิชีวนะหลังคลอดที่หลากหลาย แพทย์หลายๆท่านให้ยาปฏิชีวนะหลังคลอดต่อเนื่องไปจนไม่มีไข้ครบ 24 ชั่วโมง

                    American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) ได้มีคำแนะนำถึงการให้ยาปฏิชีวนะหลังคลอด โดยไม่ควรให้ยาปฏิชีวนะต่อหลังจากคลอด โดยแนวทางของการคลอดทางช่องคลอดและการผ่าตัดทำคลอดจะแตกต่างกันเล็กน้อยดังนี้

                    • หลังการคลอดทางช่องคลอด (Post vaginal delivery) ไม่จำเป็นต้องในยาปฏิชีวนะหลังคลอด
                    • หลังการผ่าตัดทำคลอด (Post cesarean deliver) ให้ยาปฏิชีวนะหลังคลอด 1 ครั้ง ร่วมกับเพิ่มยา Clindamycin 900 mg IV หรือ Metronidazole 500 mg IV อย่างน้อย 1 ครั้ง

                    อย่างไรก็ตาม อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่องหลังคลอดได้ตามความเหมาะสมในกรณีที่ปัจจัยเสี่ยงเช่น ยังคงมีไข้หลังคลอด หรือมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(10)

                    Labor and delivery(4)

                    การให้ยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียวไม่สามารถรักษาภาวะ Intra-amniotic infection ให้หายขาดได้ Definite treatment ในผู้ป่วย Intra-amniotic infection ไม่ว่าจะกรณี Suspected triple I หรือ confirmed triple I คือนำต้นเหตุของการติดเชื้อออกไปก็คือการให้คลอด ดังนั้น เมื่อวินิจฉัยภาวะ Intra-amniotic infection หลังจากการให้ยาปฏิชีวนะจึงควรได้รับการชักนำคลอดหรือการเร่งคลอดไม่ว่าอายุครรภ์เท่าใดก็ตาม

                    Route of delivery

                    แนะนำให้คลอดทางช่องคลอดมากกว่าการผ่าตัดคลอด การผ่าตัดคลอดนั้นควรทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางสูติศาสตร์เท่านั้น ไม่แนะนำให้ผ่าตัดคลอดเพื่อลดระยะเวลาของการคลอด มีการศึกษาแบบ Retrospective ถึงผลของภาวะ Chorioamnionitis หรือ Intra-amniotic infection ต่อภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์เปรียบเทียบระหว่างการคลอดทางช่องคลอดและการผ่าตัดคลอด พบว่าการผ่าตัดคลอดส่งผลต่อภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์มากกว่าการคลอดทางช่องคลอด ไม่ว่าจะเป็นอัตราการให้เลือดหลังคลอด(Postpartum transfusion), การติดเชื้อหลังคลอด(Postpartum endometritis) หรือ แผลติดเชื้อ ที่มากกว่าการคลอดทางช่องคลอดอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงระยะเวลาของการคลอดที่ยาวนานมากขึ้น ไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์แต่อย่างใด(23) ดังนั้นยังไม่มีคำแนะนำให้คลอดทันทีที่วินิจฉัย Intra-amniotic infection ซึ่งอาจจะนำไปสู่การผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งระหว่างผ่าตัดคลอดและหลังคลอดได้มากกว่า

                    Antipyretics

                    ภาวการณ์มีไข้ระหว่างการคลอดนั้น (Intrapartum fever) จะส่งผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจของทารกทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น (Fetal tachycardia) รวมถึงอาจส่งผลต่อ Fetal acidosis และ neonatal encephalopathy ได้(24) โดยยาลดไข้ Acetaminophen หรือ Paracetamol ที่มีการใช้อย่างกว้างขวางสามารถลดไข้ในระยะคลอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถลดอัตราการเต้นของหัวใจสู่ภาวะปกติในขณะที่ไข้ลดลงได้ แต่อย่างไรก็ตามการให้ยา Acetaminophen ในระหว่างการคลอดนั้นยังไม่สามารถลดลดภาวะแทรกซ้อนทั้งมารดาและทารกได้อย่างชัดเจน(25) แต่การให้ยาลดไข้ระหว่างการคลอดนั้น สามารถลดอัตราการเต้นของหัวใจทารกได้ รวมถึงลดอัตราการผ่าตัดคลอดจากภาวะ Fetal non-reassuring ได้

                    Use of antenatal corticosteroid

                    การให้ antenatal corticosteroid หรือ Dexamethasone นั้น มีการใช้อย่างกว้างขวางเพื่อกระตุ้นการเจริญของปอดของทารกในครรภ์สำหรับการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดที่อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ถึง 33+6 สัปดาห์ รวมถึงพิจารณาให้ได้ในการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดที่อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ถึง 36+6 สัปดาห์ ที่มีโอกาสคลอดภายใน 7 วันและยังไม่เคยได้รับยามาก่อน แต่การให้ Corticosteroid นั้น อาจส่งผล Immunosuppressive ได้ อาจทำให้การติดเชื้อที่มีอยู่เดิม หรือการติดเชื้อที่ซ่อนอยู่นั้น มีความรุนแรงมากขึ้นได้ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในทารกหลังคลอด การให้ Corticosteroid ในผู้ป่วย Intra-amniotic infection นั้นอาจต้องพิจารณาถึงประโยชน์ที่จะได้รับและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีการศึกษาแบบ Meta-analysis หลายๆการศึกษาถึงผลของการให้ Corticosteroid ในอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ต่อภาวะแทรกซ้อนของทารกหลังคลอด พบว่าการให้ Corticosteroid ตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไปสามารถลดอัตราการเกิด neonatal sepsis, respiratory distress และ intraventricular hemorrhage ได้อย่างมีนัยสำคัญ(26, 27) แต่ยังไม่มีการศึกษามากพอถึงผลของ Corticosteroid ต่อภาวะแทรกซ้อนของมารดา จากคำแนะนำของ American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) แนะนำให้ Corticosteroid ในอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ถึง 33+6 สัปดาห์ แต่ไม่มีข้อบ่งชี้ในการให้ Corticosteroid ในช่วงอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ขึ้นไปที่สงสัยภาวะ Intra-amniotic infection(28) จากคำแนะนำและการศึกษาต่างๆ โดยสรุปแล้วควรให้ Antenatal corticosteroid อย่างน้อย 1 ครั้งในผู้ป่วย Intra-amniotic infection ที่อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ถึง 33+6 สัปดาห์ แต่การคลอดจำเป็นต้องดำเนินต่อไป ไม่ควรยับยั้งการคลอดเพื่อรอให้ยาครบทั้งหมด

                    Prevention(29)

                    เนื่องจากการเกิด Intra-amniotic infection นั้น มีปัจจัยเสี่ยงหลายๆอย่างดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น อย่างเช่น หากถุงน้ำคร่ำแตก (Rupture of membrane) ในครรภ์ครบกำหนด ควรได้รับการเร่งคลอดเพื่อลดระยะเวลาการคลอด ลดจำนวนครั้งในการตรวจภายใน โดยเฉพาะในภาวะน้ำเดินในครรภ์ก่อนกำหนด (PPROM) อาจพิจารณาตรวจภายในด้วย Speculum แทนการใช้นิ้วมือ รวมถึงการใช้ Intra-uterine fetal monitor ควรพิจารณาถึงข้อบ่งชี้ให้รอบคอบ เนื่องจากเพิ่มโอกาสให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น นอกจากการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆแล้ว การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องการการติดเชื้อตามข้อบ่งชี้ต่างๆ เช่น ยืดอายุครรภ์ (Prolong latency period) ในภาวะน้ำเดินในครรภ์ก่อนกำหนด (PPROM) หรือเพื่อป้องกันการติดเชื้อ Group B Streptococcus(GBS) เช่น ผลเพาะเชื้อจากช่องคลอดพบเชื้อ GBS, ทารกครรภ์ก่อนหน้ามีภาวะ GBS infection, ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด, ถุงน้ำคร่ำแตกเป็นเวลานานเกิน 18 ชั่วโมง สามารถลดโอกาสในการเกิด Intra-amniotic infection ได้เช่นกัน(13)

                    Conclusion

                    โดยสรุปแล้ว ภาวะ Intra-amniotic infection นั้นเป็นการติดเชื้อที่พบได้บ่อยในการตั้งครรภ์ โดยเกิดขึ้นได้บ่อยในภาวะถุงน้ำคร่ำแตกเป็นเวลานาน รวมถึงการทำหัตถการต่างๆทางช่องคลอด การตรวจภายในที่บ่อยครั้งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด Intra-amniotic infection ได้มากขึ้น ซึ่งรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะและการคลอด การวินิจฉัยส่วนใหญ่จะวินิจฉัยตามอาการทางคลินิกร่วมกับผลตรวจเลือดเบื้องต้นเป็นหลัก ถึงแม้ว่าการตรวจเพาะเชื้อจากน้ำคร่ำจะเป็น Gold standard แต่ไม่นิยมในทางปฏิบัติ การรักษาและการป้องกันการเกิดภาวะ Intra-amniotic infection ดังที่กล่าวไปข้างต้นควรปฏิบัติอย่างเหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆทั้งต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกหลังคลอด เช่น การติดเชื้อหลังคลอด การติดเชื้อในทารกแรกคลอด

                    เอกสารอ้างอิง

                    1. Woodd SL, Montoya A, Barreix M, Pi L, Calvert C, Rehman AM, et al. Incidence of maternal peripartum infection: A systematic review and meta-analysis. PLoS Med. 2019;16(12):e1002984.

                    2. Romero R, Miranda J, Kusanovic JP, Chaiworapongsa T, Chaemsaithong P, Martinez A, et al. Clinical chorioamnionitis at term I: microbiology of the amniotic cavity using cultivation and molecular techniques. J Perinat Med. 2015;43(1):19-36.

                    3. Higgins RD, Saade G, Polin RA, Grobman WA, Buhimschi IA, Watterberg K, et al. Evaluation and Management of Women and Newborns With a Maternal Diagnosis of Chorioamnionitis: Summary of a Workshop. Obstet Gynecol. 2016;127(3):426-36.

                    4. Conde-Agudelo A, Romero R, Jung EJ, Garcia Sánchez Á J. Management of clinical chorioamnionitis: an evidence-based approach. Am J Obstet Gynecol. 2020;223(6):848-69.

                    5. Smith MM, Daifotis HA, DeNoble AE, Dotters-Katz SK. Using the new definition of intraamniotic infection – is there morbidity among the women left out? J Matern Fetal Neonatal Med. 2021;34(24):4148-52.

                    6. Soper DE, Mayhall CG, Dalton HP. Risk factors for intraamniotic infection: a prospective epidemiologic study. Am J Obstet Gynecol. 1989;161(3):562-6; discussion 6-8.

                    7. Gluck O, Mizrachi Y, Ganer Herman H, Bar J, Kovo M, Weiner E. The correlation between the number of vaginal examinations during active labor and febrile morbidity, a retrospective cohort study. BMC Pregnancy Childbirth. 2020;20(1):246.

                    8. Rouse DJ, Landon M, Leveno KJ, Leindecker S, Varner MW, Caritis SN, et al. The Maternal-Fetal Medicine Units cesarean registry: chorioamnionitis at term and its duration-relationship to outcomes. Am J Obstet Gynecol. 2004;191(1):211-6.

                    9. Venkatesh KK, Jackson W, Hughes BL, Laughon MM, Thorp JM, Stamilio DM. Association of chorioamnionitis and its duration with neonatal morbidity and mortality. J Perinatol. 2019;39(5):673-82.

                    10. Committee Opinion No. 712: Intrapartum Management of Intraamniotic Infection. Obstet Gynecol. 2017;130(2):e95-e101.

                    11. Jones C, Titus H, Belongilot CG, Soviravong S, Stansfield BK. Evaluating definitions for maternal fever as diagnostic criteria for intraamniotic infection in low-risk pregnancies. Birth. 2021;48(3):389-96.

                    12. Greenwell EA, Wyshak G, Ringer SA, Johnson LC, Rivkin MJ, Lieberman E. Intrapartum temperature elevation, epidural use, and adverse outcome in term infants. Pediatrics. 2012;129(2):e447-54.

                    13. Prevention of Group B Streptococcal Early-Onset Disease in Newborns: ACOG Committee Opinion, Number 797. Obstet Gynecol. 2020;135(2):e51-e72.

                    14. Tita AT, Andrews WW. Diagnosis and management of clinical chorioamnionitis. Clin Perinatol. 2010;37(2):339-54.

                    15. Maki Y, Furukawa S, Nakayama T, Oohashi M, Shiiba N, Furuta K, et al. Clinical chorioamnionitis criteria are not sufficient for predicting intra-amniotic infection. J Matern Fetal Neonatal Med. 2022;35(1):52-7.

                    16. Chapman E, Reveiz L, Illanes E, Bonfill Cosp X. Antibiotic regimens for management of intra-amniotic infection. Cochrane Database Syst Rev. 2014(12):Cd010976.

                    17. Lyell DJ, Pullen K, Fuh K, Zamah AM, Caughey AB, Benitz W, et al. Daily compared with 8-hour gentamicin for the treatment of intrapartum chorioamnionitis: a randomized controlled trial. Obstet Gynecol. 2010;115(2 Pt 1):344-9.

                    18. Mackeen AD, Packard RE, Ota E, Speer L. Antibiotic regimens for postpartum endometritis. Cochrane Database Syst Rev. 2015;2015(2):Cd001067.

                    19. Berry C, Hansen KA, McCaul JF. Abbreviated Antibiotic Therapy for Clinical Chorioamnionitis: A Randomized Trial. Journal of Maternal-Fetal Medicine. 1994;3(5):216-8.

                    20. Goldberg A, Malik M. Post-partum Management of Chorioamnionitis: Efficacy of Continuation of Antibiotics After Delivery [13OP]. Obstetrics & Gynecology. 2017;129(5).

                    21. Turnquest MA, How HY, Cook CR, O’Rourke TP, Cureton AC, Spinnato JA, et al. Chorioamnionitis: is continuation of antibiotic therapy necessary after cesarean section? Am J Obstet Gynecol. 1998;179(5):1261-6.

                    22. Shanks AL, Mehra S, Gross G, Colvin R, Harper LM, Tuuli MG. Treatment Utility of Postpartum Antibiotics in Chorioamnionitis Study. Am J Perinatol. 2016;33(8):732-7.

                    23. Venkatesh KK, Glover AV, Vladutiu CJ, Stamilio DM. Association of chorioamnionitis and its duration with adverse maternal outcomes by mode of delivery: a cohort study. Bjog. 2019;126(6):719-27.

                    24. Impey LW, Greenwood CE, Black RS, Yeh PS, Sheil O, Doyle P. The relationship between intrapartum maternal fever and neonatal acidosis as risk factors for neonatal encephalopathy. Am J Obstet Gynecol. 2008;198(1):49.e1-6.

                    25. Burgess APH, Katz JE, Moretti M, Lakhi N. Risk Factors for Intrapartum Fever in Term Gestations and Associated Maternal and Neonatal Sequelae. Gynecol Obstet Invest. 2017;82(5):508-16.

                    26. Ryu YH, Oh S, Sohn J, Lee J. The Associations between Antenatal Corticosteroids and In-Hospital Outcomes of Preterm Singleton Appropriate for Gestational Age Neonates according to the Presence of Maternal Histologic Chorioamnionitis. Neonatology. 2019;116(4):369-75.

                    27. Been JV, Degraeuwe PL, Kramer BW, Zimmermann LJ. Antenatal steroids and neonatal outcome after chorioamnionitis: a meta-analysis. Bjog. 2011;118(2):113-22.

                    28. Committee Opinion No. 713: Antenatal Corticosteroid Therapy for Fetal Maturation. Obstet Gynecol. 2017;130(2):e102-e9.

                    29. Hastings-Tolsma M, Bernard R, Brody MG, Hensley J, Koschoreck K, Patterson E. Chorioamnionitis: prevention and management. MCN Am J Matern Child Nurs. 2013;38(4):206-12; quiz 13-4.

                     

                    Read More

                    Surgical treatment of Endometriosis

                    Surgical treatment of Endometriosis

                    นพ.กรกช วัฒนศิริ
                    อ.นพ.มนัสวี มะโนปัญญา


                    1.นิยามของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Definition)

                    คือ การที่มีเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเหมือนเยื่อบุโพรงมดลูก (ทั้งต่อมหรือเนื้อเยื่อ) ออกนอกมดลูก เช่นบริเวณอุ้งเชิงกราน เยื่อบุหัวใจ ปอด หรือแม้กระทั่งสมอง ซึ่งสามารถทำให้เปิดภาวะ ปวดท้องน้อย(pelvic pain) และมีบุตรยาก (Infertility)(1)

                    2.ระบาดวิทยา (Epidemiology)

                    ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่สามารถเจอได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มาด้วยอาการปวดหน่วงท้องน้อยหรือมีบุตรยากสามารถพบได้ถึง 20 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ (1)

                    ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คือ การได้รับสาร Diethylstilbetrol (DES), น้ำหนักตัวน้อยช่วงแรกเกิดและ ประจำเดือนมาเร็ว ส่วนในช่วงวัยรุ่นปัจจัยที่ส่งเสริมคือ ช่วงประจำเดือนสั้น, ดัชนีมวลกายต่ำ, มีบุตรน้อย (2) มีการศึกษาที่พบความสัมพันธ์ระหว่างภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่กับมะเร็งรังไข่ชนิด clear cell และ endometrioid (meta-analytic odd ratio 1.42)(3)

                    ปัจจัยที่ป้องกันการเกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คือ มีบุตรหลายคน, การให้นมบุตร, ดัชนีมวลกายเพิ่ม, การรับประทานผักและผลไม้(1)

                    3.กลไกการเกิดโรค (Etiology)

                    กลไกการเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เกี่ยวข้องกับระบบต่อมไร้ท่อ ระบบภูมิคุ้มกัน สารก่อการอักเสบ และการก่อเกิดเส้นเลือด(Figure 1) (3) โดยมีทฤษฎีอยู่ทั้งหมด 3 ข้อ

                    1.Retrograde menstruation คือ การมีเศษซากของประจำเดือนที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ไหลย้อนกลับไปทางท่อนำไข่ไปที่อุ้งเชิงกราน(4) มีการศึกษาที่สนับสนุนทฤษฎีคือการศึกษาความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้จากการมีประจำเดือนสั้นและมีการอุดตันของทางเดินของประจำเดือน

                    2.Coelomic metaplasia คือ เป็นการที่เซลล์ที่จะพัฒนาไปเป็นเยื่อบุช่องท้องเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นต่อมของเบื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งจะสนับสนุนทฤษฎีดีในผู้หญิงที่มีภาวะท่อมูลเลอเลียน (Mullerian duct defect)(5)

                    3.Lymphatic and vascular metastasis คือ การที่เซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกหลุดและเคลื่อนที่ไปตามท่อน้ำเหลืองและเส้นเลือดเป็นทฤษฎีที่ถูกคิดขึ้นมาสำหรับภาวะเบื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญนอกอุ้งเชิงกราน(6)

                    4.การวินิจฉัย (Diagnosis)

                    การวินิจฉัยภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ยังคงมีความยาก ยังไม่มีสารชีวะโมเลกุลที่จะบ่งชี้หรือแยกภาวะนี้ได้อย่างชัดเจน(7) โดยตำแหน่งของรอยโรคจะเด่นในช่องท้อง และขนาดค่อนข้างเล็ก จึงทำให้การมองเห็นรอยโรคโดยตรงโดยการส่องกล้อง(โดยการมีผลทางพยาธิยืนยัน)ยังคงเป็นวิธีการที่ได้มาตรฐาน(8)โดยการใช้รังสีในการวินิจฉัยยังคงพบรอยโรคได้น้อยในกรณีที่เป็นรอยโรคที่พื้นผิวผนังอุ้งเชิงกราน(9) อย่างไรก็ตาม ก้อนช๊อคโกแลตซีสส์ (Endometrioma) ยังคงสามารถที่จะพบได้โดยการอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอด (Transvaginal ultrasound) หรือ Magnetic resonance imaging (MRI) โดยมี Sensitivity และ Specitivity ที่ 90 เปอร์เซ็นต์(9)

                    5.อาการแสดงของโรค (Clinical presentation)

                    อาการโดยส่วนใหญ่ของภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คือ ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) มีบุตรยาก (infertility) ปวดลึกๆขณะมีเพศสัมพันธ์ (Dyspareunia) หรือปวดท้องเรื้อรัง (Chronic pelvic pain) โดยอาจจะไม่มีอาการแสดงก็ได้ อาจจะสัมพันธ์กับอาการทางระบบทางเดินอาหารเช่น ปวดท้อง อาเจียนหรือ อืดท้อง

                    อาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) มักจะเป็นอาการสำคัญของภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โดยมักจะมีอาการปวดก่อนจะเริ่มมีประจำเดือนและปวดต่อเนื่องตลอดรอบเดือน อาการปวดจะพบได้หลายแบบแต่มักจะปวดทั้งสองข้าง โดยผู้หญิงบางคนที่มีรอยโรคใหญ่อาจจะไม่มีอาการปวดในขณะที่ผู้หญิงที่มีรอยโรคขนาดเล็กอาจจะมีอาการปวดขั้นรุนแรง โดยอาการปวดอาจจะมาจากการอักเสบบริเวณของผนังคลุมหน้าท้อง หรือการที่มีการรุกรามของรอยโรคไปที่เนื้อเยื้อข้างเคียง และรูปแบบของผังพืด

                    ภาวะมีบุตรยาก เมื่อรอยโรคของภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกในระดับปานกลางถึงรุนแรงและรุกลามถึงรังไข่ จะทำให้เกิดผังพืดขึ้นบริเวณท่อนำไข่ส่งผลให้ปิดกั้นทางผ่านและการเคลื่อนตัวของไข่ ทำให้สัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยาก

                    มีการศึกษาความเกี่ยวข้องการแท้งบุตรซ้ำซาก (recurrent pregnancy loss) กับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กัน และการรักษาภาวะเบื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ทั้งโดยยาหรือการผ่าตัดไม่ได้ลดภาวะแท้งบุตร(1)

                    5.การแบ่งระดับความรุนแรงของภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่(1)

                    1. American Society for Reproductive Medicine staging (ASRM)

                    การแบ่งโดยวิธีนี้จะใช้ลักษณะของรอยโรค ขนาด และความลึกที่ฝังในเยื่อบุอุ้งเชิงกรานและรังไข่ โดยจะบรรยายลักษณะของรอยโรคเป็น สีแดง,สีขาวและสีดำ โดยการแบ่งวิธีนี้ค่อนข้างจะเป็นนามอธรรมและไม่ค่อยสัมพันธ์กับความเจ็บปวดและภาวะมีบุตรยาก

                    รูปภาพประกอบด้วย โต๊ะ คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

                    2. Endometriosis Fertility Index (EFI)

                    การแบ่งวิธีนี้จะช่วยทำนายความสามารถในการตั้งครรภ์โดยไม่ใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์หลังจากที่ทำการรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แล้ว โดยจะขึ้นกับประวัติ(Historical factors)เช่น อายุ, ระยะเวลาที่เกิดภาวะมีบุตรยากและประวัติการตั้งครรภ์ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด(Surgical factor)คือ คะแนนรวมของ ASRM

                    3. ENZIAN Classification

                    การแบ่งวิธีนี้จะช่วยสนับสนุนการแบ่งโดย rASRM ซึ่งจะเจาะจงไปที่ตำแหน่งและการลุกลานของรอยโรคที่ลุกลามไปถึงอุ้งเชิงกรานส่วนหลัง (Retroperitoneal structures) หรืออวัยวะอื่นๆ

                    6. การรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ด้วยการผ่าตัด(Surgical Treatment)

                    มีวัตถุประสงค์เพื่อ

                    1.แก้ไขให้กายวิภาคของท่อนำไข่และรังไข่กลับมาเหมือนปกติ

                    2.ตัดหรือทำลายรอยโรคที่เห็นทั้งหมด

                    3.ป้องกันหรือชะลอการกลับเป็นซ้ำของโรค

                    การผ่าตัดถือเป็นการรักษาอันดับแรกในรายที่มี endometriotic cyst ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 3 เซนติเมตร การผ่าตัดเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการแก้ไขภาวะมีบุตรยาก การรักษาด้วยยาสามารถรักษาอาการปวดได้ดี แต่ไม่ช่วยให้ความสามารถในการมีบุตรดีขึ้น ซึ่งการผ่าตัดนั้นจะช่วยทำให้ความสามารถในการบุตรดีขึ้นได้ และยังช่วยรักษาอาการปวดจากโรคให้ดีขึ้นด้วย ในรายที่สงสัยที่สงสัยว่ามีความรุนแรวระยะ 3-4 หรือการใช้กล้องส่องตรวจช่องท้องพบว่ามีความรุนแรงของโรคระยะนี้ ซึ่งมีกายวิภาคของระบบสืบพันธุ์ที่ผิดปกติ (Distorted reproductive anatomy) ซึ่งการรักษาด้วยยาไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาทางกายวิภาคอันนี้ได้ นอกจากนี้ การผ่าตัดนั้นมักจะเป็นวิธีการรักษาในผู้ป่วยที่มีภาวะดื้อต่อฮอร์โมน (Hormone-resistant) ในการลดอาการเจ็บ(8) การผ่าตัดส่องกล้องจะเป็นที่นิยมกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้องเนื่องจากประสิทธิภาพของการผ่าตัดทั้งสองวิธีเท่ากันแต่การผ่าตัดส่องกล้องจะใช้เวลาฟื้นฟูเร็วกว่า ความสวยงามมากกว่า ความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดน้อยกว่า ลดค่าใช้จ่าย ลดภาวะแทรกซ้อนและลดผังพืดจากการผ่าตัด(10)

                    6.1การผ่าตัดแบบอนุรักษ์ (Conservative surgery)(1)

                    6.1.1 การผ่าตัดรอยโรคที่เยื่อบุช่องท้อง (Peritoneal endometriosis)

                    รอยโรคที่เยื่อบุช่องท้องที่ฝังตัวลึกไม่เกิน 5 มิลลิเมตร (superficial peritoneal lesion) สามารถรักษาโดยการจี้ทำลายรอยโรค (ablation) ซึ่งทำได้ด้วยการจี้ไฟฟ้า (electric cauterization) หรือยิงเลเซอร์ (laser vaporization) และการใช้กรรไกรหรือมีดไฟฟ้าตัดออก (excision) โดยยังไม่มีการศึกษาว่าวิธีการใดที่มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน แต่การตัดรอยโรคออกมามีข้อดีที่จะได้ชิ้นเนื้อส่งตรวจเพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา

                    ในกรณีของรอยโรคที่ฝังลึกมากกว่า 5 มิลลิเมตร (deeply infiltrating endometriosis, DIE) การจี้ด้วยไฟฟ้าหรือเลเซอร์จะทำลายรอยโรคได้ไม่หมด ทำให้มีการกลับเป็นซ้ำของรอยโรคเกิดขึ้นเร็ว ควรทำการผ่าตัดออก เนื่องจากสามารถประมเนความลึกของรอยโรคได้ ในกรณีที่มีพังผืด (adhesion) จากโรคที่ทำให้กายวิภาคผิดปกติไป ควรจะตัดเอาพังผืดออกมาด้วย เนื่องจากในพังผืดมักจะมีเซลล์เยื่อบุมดลูกอยู่ภายใน

                    6.1.2 การผ่าตัดสำหรับรอยโรคที่เป็นถุงน้ำรังไข่ (Ovarian endometriotic cyst)

                    สามารถทำการผ่าตัดโดยเลาะผนังถุงน้ำออก (cystectomy) หรือทำการเจาะถุงน้ำเพื่อระบายร่วมกับการจี้ทำลายผนังถุงน้ำดานใน (drainage with ablation of the internal cyst wall) ทั้งสองวิธีจะให้ผลการรักษาในระยะแรกได้พอๆกันและมีรอยโรคเหลือน้อยกว่าการระบายอย่างเดียว (drainage alone) ในกรณี endometriotic cyst มีขนาดมากกว่า 3 เซนติเมตร หรือมี deeply infiltrating nodule ควรทำการเลาะผนังถุงน้ำและผ่าตัดเอารอยโรค DIE ออก เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดอื่นที่อาจจะเป็นมะเร็งได้ (11)การเจาะถุงน้ำเพื่อระบายร่วมกับการจี้ทำลายผนังถุงน้ำด้านใน จะช่วยอนุรักษ์เนื้อรังไข่ที่ปกติได้มากกว่า (12, 13)แต่พบการกลับเป็นซ้ำมากกว่า นอกจากนี้ยังพบว่าทำให้มีอัตราการตั้งครรภ์เอง (spontaneous pregnancy rate) สูงกว่า(14) และพบว่าการกระตุ้นไข่ด้วย gonadotropin หลังการเลาะผนังถุงน้ำยังคงได้ผลดี ดังนั้นในปัจจุบันจึงแนะนำให้ทำการเลาะถุงน้ำออก อย่าเลาะเอาเนื้อเยื่อของรังไข่ออกมา ซึ่งจะทำให้มีปริมาณสำรองของรังไข่(ovarian reserve) เหลือมากที่สุด

                    โดยในปี 2557 ESHRE แนะนำให้ทำการเลาะผนังถุงน้ำออก ก่อนทำ ART (assisted reproductive technology) ในรายที่มี endometriotic cyst ที่มีขนาดโตกว่า 3 เซนติเมตร เพื่อรักษาอาการปวดที่สัมพันธ์กับโรคเยื่อบุมดลูกต่างที่ (endometriosis related pain) และช่วยทำให้เก็บไข่ได้ง่ายขึ้น (accessibility of follicles) แต่ควรระวังในรายที่เคยได้รับการผ่าตัดรังไข่มาก่อนแล้ว จะทำให้ ovarian reserve ยิ่งลดลงไปอีก(8)

                    6.1.3 การผ่าสำหรับ deeply infiltrating endometriosis

                    ในรายที่โรคมีความรุนแรงในระยะที่ 3-4 มักมี DIE ที่ cul de sac และ uterosacral ligament อาจมี obliterate cul de sac แบะมีเยื่อบุมดลูกต่างที่ใน rectovaginal (RV) septum ซึ่งมีลักษณะคล้าย nodule ของ adenomyosis คือ มีกล้ามเนื้อเรียบมาก แต่มี endometrial gland และ stroma น้อยจึงไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษาด้วยตัวยา จำเป็นต้องทำการผ่าตัดอย่างกว้างขวาง (extensive)(15) และควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัด การผ่าตัดมีภาวะแทรกซ้อนได้สูง พบภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัด (intraoperative complication) ได้ร้อยละ 13.9 เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงน้อย (minor complication) ร้อยละ 9.5 และเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมาก (major complication) ได้ร้อยละ 4.6(16) ก่อนทำการผ่าตัดบริเวณรอยโรคควรต้องทำการเลาะเพื่อหาท่อไตทั้งสองข้าง และกันออกไปให้ไกลจากบริเวณที่จะผ่าตัดเอาออก การผ่าตัดจะต้องเลาะแยกผนังด้านหน้าของไส้ตรงออกจากผนังด้านหลังของช่องคลอด การผ่าตัด DIE ที่ไส้ตรง ควรต้องทำร่วมกับศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญการผ่าตัดผ่านกล้องส่องทางหน้าท้องเช่นกัน หรือไม่เช่นนั้นต้องทำการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดรอยโรคบริเวณลำไส้ใหญ่นี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการทะลุหรือรั่วของลำไส้ใหญ่ได้และมีความเสี่ยงที่จะต้องทำศัลยกรรมทำรูเปิดลำไส้ใหญ่ (colostomy) ซึ่งต้องให้ข้อมูลเรื่องนี้ต่อผู้ป่วยก่อนผ่าตัดเสมอ(17)

                    6.1.4 การผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวด

                    การผ่าตัดเพื่อทำลายเส้นประสาทที่รับความรู้สึกจากมดลูกและอุ้งเชิงกรานเพื่อรักษาอาการปวดระดูแบะอาการปวดท้องน้อยตรงกลางที่เกิดจากโรคเยื่อบุมดลูกต่างที่ (midline pelvic pain) มี 2 เทคนิคคือ Laparoscopic uterine nerve ablation (LUNA) และ Presacral neurectomy (PSN)

                    Presacral neurectomy หมายถึง การตัดเส้นประสาท. Sympathetic ของมดลูกที่ระดับ superior hypogastric plexus ส่วน LUNA จะทำลายบริเวณ mid portion ของ uterosacral ligament

                    ผู้ป่วยที่เหมาะสำหรับการรักษาด้วยวิธี presacral neurectomy และ LUNA ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องน้อยตรงกบางอย่างรุนแรง หรือมีอาการปวดระดู (dysmenorrhea) มากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดแบบอนุรักษ์

                    โดยมีการศึกษาพบว่าการทำหัตถการชนิดนี้ไม่ควรทำร่วมกับการผ่าตัดสลายเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เนื่องจากไม่พบผลประโยชน์ หัตการชนิดนี้ต้องการทักษะในการผ่าตัดอย่างมาก ผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้คือ เลือดออก(Bleeding) ท้องผูก(Constipation) ปัสสาวะเร่งด่วน (Urinary urgency) และอาการุปวดในช่วงเจ็บครรภ์คลอดระยะแรกลดลง (Less pain in first stage of labor) ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการทำการรักษาด้วยวิธีนี้แนะนำให้ทำเป็น presacral neurectomy(8, 18)

                    7.การผ่าตัดแบบถอนรากถอนโคน (Radical surgery)

                    ในผู้ป่วยที่มีอาการมากและไม่ต้องการมีบุตร หรือมีบุตรเพียงพอแล้ว หรือผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาและการผ่าตัดแบบอนุรักษ์แล้วไม่ได้ผล จำเป็นต้องทำการผ่าตัดแบบถอนรากถอนโคน หรือ radical surgery คือการผ่าตัดมดลูก (hysterectomy) และรังไข่ทั้งสองข้างออก (bilateral salpingo-oophorectomy) รวมทั้งรอยโรคของเยื่อบุมดลูกต่างที่ที่มองเห็นทั้งหมด (all visible endometriosis lesions)(8) การผ่าตัดแบบนี้ ต้องพิจารณาและอธิบายทำความเข้าใจกับผู้ป่วยให้ดีก่อน ในรายที่ไม่มีรอยโรคที่รังไข่ อาจจะทำการตัดมดลูกเพียงอย่างเดียวก็ได้ แต่ความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำของโรคจะสูงกว่ากลุ่มที่ทำการตัดรังไข่ทั้งสองข้างออกด้วยถึง 6 เท่า และมีความเสี่ยงที่จะต้องผ่าตัดซ้ำเพิ่มขึ้น 8 เท่า(19) ถ้าไม่ได้ให้การรักษาต่อด้วยฮอร์โมนในระยะยาว ผลจากการศึกษาติดตามผู้ป่วยหลังผ่าตัดในระยะยาว (long-term follow up) พบว่าในกลุ่มที่ตัดมดลูกและรังไข่ทั้งสองข้างมีอัตราการปลอดจากการผ่าตัดซ้ำ ที่ 2,5 และ 7 ปี เท่ากับร้อยละ 96, 92, และ 92 ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มที่ตัดมดลูกอย่างเดียวมีอัตราการปลอดจากการผ่าตัดซ้ำ ที่ 2,5, และ 7 ปีเท่ากับร้อยละ 96, 87 และ 77 ตามลำดับ ในกลุ่มที่เก็บรังไข่ไว้มีความเสี่ยงที่จะต้องผ่าตัดซ้ำสูงกว่ากลุ่มที่ผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง 2.44 เท่า แต่ในกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 40 ปี พบว่าอัตราการผ่าตัดซ้ำไม่แตกต่างกันระหว่างทั้งสองกลุ่ม ดังนั้น ในกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 40 ปี ควรพิจารณาเก็บรังไข่ที่ปกติเอาไว้ และให้การรักษาด้วยยาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ(20)

                    8.การป้องกันพังผืด (Adhesion prevention)

                    สำหรับการผ่าตัดแบบอนุรักษณ์ นอกจากการตัดเอารอยโรคออกหรือจี้ทำลายแล้ว การป้องกันการเกิดพังผืดภายหลังการผ่าตัดมีความสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคต และการรักษาภาวะมีบุตรยากรวมถึงหากต้องมีการผ่าตัดในอนาคต จากการศึกษาวัสดุกันพังผืดที่ละลายได้ (absorbable adhesion barrier) ภายหลังผ่าตัดผ่านกล้องส่องทางหน้าท้องแบบอนุรักษณ์โดยใช้ Interceed ซึ่งเป็น oxidized regenerated cellulose compound วางคลุมบริเวณที่ทำผ่าตัด ในการศึกษานี้ได้ทำการส่องกล้องตรวจในช่องท้องอีกครั้งหลังผ่าตัดไป 12-14 สัปดาห์ พบว่ามีการลดการเกิดพังผืดใหม่ได้อย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่ใช้ Interceed(21)

                    4% Icodextrin solution (Adept) เป็นสารที่เป็นของเหลวใช้เคลือบบริเวณผ่าตัดเพื่อป้องกันการเกิดพังผืดเพียงชนิดเดียวที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้ป้องกันการเกิดพังผืดในการผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง จากการศึกษาแบบ RCT เปรียบเทียบการใส่ Linger lactate solution ภายหลังการผ่าตัดผ่านกล้องส่องหน้าท้องแบบอนุรักษณ์ พบว่าเมื่อทำการส่องกล้องตรวจในช่องท้องอีกครั้งหลังผ่าตัดไป 4-8 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ได้ icodextrin พบพังผืดน้อยกว่ากลุ่มที่ได้ Linger lactate solution(22)

                    Oriplex เป็น viscoelastic gel ใช้สำหรับป้องกันพังผืดและช่วยหยุดเลือดได้ด้วย จากการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการใส่และไม่ใส่ Oriplex ภายหลังการผ่าตัดผ่านกล้องส่องทางหน้าท้องแบบอนุรักษณ์ พบว่ากลุ่มที่ใส่ Oriplex มีพังผืดลดลง ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ใส่ Oriplex มีพังผืดเพิ่มขึ้น(23)

                    9.ผลการประเมินการรักษาด้วยการผ่าตัด

                    9.1 ผลต่ออาการปวด

                    การผ่าตัดแบบอนุรักษณ์สามารถบรรเทาอาการปวดได้ 75-100(24) ภายหลังการผ่าตัดพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 60-100 มีอาการปวดดีขึ้นทันที(25) การศึกษาแบบ RCT ซึ่งเปรียบเทียบผลการผ่าตัดผ่านกล้องกับการไม่ให้การรักษา หรือการผ่าตัดหลอก พบว่าภายในระยะ 6 เดือนแรกหลังผ่าตัด ร้อยละ 63-80 ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการจี้ทำลายโรค (ablation) หรือตัดรอยโรคออก (excision) มีอาการดีขึ้นหรืออาการปวดหายไป ในขณะที่ร้อยละ 23-32 ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับกาจี้ทำลายรอยโรคมีอาการดีขึ้น(26, 27) จากการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) 10 รายงานการศึกษาแบบ RCT (Cochrane review) ในปี พ.ศ.2557(28) พบว่าการผ่าตัดผ่านกล้องส่องหน้าท้องเพื่อทำการผ่าตัดแบบอนุรักษณ์ช่วยลดอาการปวดโดยรวม (overall pain) ได้ดีกว่าการส่องกล้องตรวจในช่องท้องเพื่อการวินิจฉัยโรคอย่างเดียว (diagnostic laparoscopy only) และพบว่าการจี้ทำลายรอยโรค หรือตัดรอยโรคออกได้พบในการรักษาอาการปวดไม่แตกต่างกัน แต่ผลการวิเคราะห์อภิมานอีกการศึกษาในปี พ.ศ.2560(29) ที่เปรียบเทียบการจี้ทำลายรอยโรคและการตัดรอยโรคออก ณ เวลา 12 เดือนหลังผ่าตัดพบว่าทั้งสองกลุ่มอาการปวดดีขึ้น

                    การกลับเป็นซ้ำของโรคและอาการปวดภายหลังการผ่าตัดแบบอนุรักษณ์ใกล้เคียงกับการรักษาด้วยยาโดยมีการกลับเป็นซ้ำที่ 1 ปีหลังผ่าตัดร้อยละ 10 และหลังผ่าตัด 5-7 ปีพบได้ร้อยละ 40-50 การเลาะผนังถุงน้ำออกมีผลในการบรรเทาอาการปวดในระยะยาวได้ดีกว่าการเจาะถุงน้ำเพื่อระบายร่วมกับการจี้ทำลายผนังถุงน้ำด้านใน

                    การตัดมดลูกและรังไข่ทั้งสองข้างมีประสิทธิภาพสูงมากในการรักษาอาการปวดที่สัมพันธ์กับโรคเยื่อบุมดลูกต่างที่ที่ได้รับการรักษาด้วยยาและการผ่าตัดแบบอนุรักษณ์ไม่ได้ผล แต่พบว่าโรคยังคงมีอยู่ได้ โดยเฉพาะรอยโรคแบบ DIE และอาจจะมีการกลับเป็นซ้ำได้ในผู้ป่วยบางราย ในรายที่ผ่าตัดทำได้ยาก อาจจะมีเนื้อเยื่อรังไข่ที่ทำงานหลงเหลืออยู่ ทำให้ผู้ป่วยยังคงมีอาการปวด เรียกว่ากลุ่มอาการ ovarian remnant (ovarian remnant syndrome)(30-32) โดยปัจจัยเสี่ยงสำหรับการคงอยู่และการกลับเป็นซ้ำของโรคและอาการปวดภายหลังการผ่าตัดมดลูกได้แก่ การเก็บรังไข่ไว้ การผ่าตัดเอารอยโรคออกไม่หมด และการให้เอสโทรเจนหลังผ่าตัด(33) โดยพบได้ร้อยละ 10 และต้องได้รับการผ่าตัดซ้ำ ร้อยละ 3.7

                     

                    10.ผลต่อความสามารถในการมีบุตร

                    ผลของการผ่าตัดต่อความสามารถในการมีบุตรของผู้ป่วยที่มีรอยโรคระยะ 1-2 ได้มาจากการศึกษาแบบ RCT 2 การศึกษาในปี 2553 ในประเทศแคนนาดาและอิตาลี(34, 35) พบว่าช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ทางคลีนิค (clinical pregnancy rate) และมีรายงานการวิเคราะห์อภิมานอีกการศึกษาในปี พ.ศ.2557 พบว่าการผ่าตัดผ่านกล้องส่องทางหน้าท้อวเพื่อทำการผ่าตัดแบบอนุรักษณ์ช่วยให้อัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการส่องกล้องตรวจในช่องท้องเพื่อการวินิจฉัยโรคอย่างเดียว สำหรับผู้ป่วยในระยะ 3-4 ไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการผ่าตัดกับการรักษาด้วยยาหรือการไม่รักษา มีเพียงรายงานผู้ป่วย (case series) พบว่า อัตราการตั้งครรภ์สะสมใน 1-3 ปีหลังการรักษาโดยการผ่าตัดประมาณร้อยละ 50 สำหรับผู้ป่วยที่มี endometriotic cyst(36) และ ประมาณร้อยละ 30 สำหรับผู้ป่วยที่มี complete cul de sac obliteration(36)

                    สำหรับ endometriotic cyst การเลาะผนังถุงน้ำออกมีประสิทธิภาพมากกว่าการเจาะถุงน้ำเพื่อระบายร่วมกับการจี้ทำลายผนังถุงน้ำด้านใน โดยในกลุ่มที่ทำการเลาะผนังถุงน้ำออกมีอัตราการตั้งครรภ์ร้อยละ 61 ในขณะในกลุ่มที่ที่ทำการเจาะถุงน้ำเพื่อระบายร่วมกับการจี้ทำลายผนังถุงน้ำด้านในมีอัตราการตั้งครรภ์ ร้อยละ 23(37) การใช้ adhesion barrier ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าสามารถเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์หลังผ่าตัด

                    อ้างอิง(Reference)

                    1. Arne Vanhie TMDH. Berek & Novak’s Gynecology.2020 16th.

                    2. Kalaitzopoulos DR, Lempesis IG, Samartzis N, Kolovos G, Dedes I, Daniilidis A, et al. Leptin concentrations in endometriosis: A systematic review and meta-analysis. Journal of Reproductive Immunology. 2021;146:103338.

                    3. Wang C, Liang Z, Liu X, Zhang Q, Li S. The association between endometriosis, tubal ligation, hysterectomy and epithelial ovarian cancer: meta-analyses. International journal of environmental research and public health. 2016;13(11):1138.

                    4. Sampson JA. Peritoneal endometriosis due to menstrual dissemination of endometrial tissue into the peritoneal cavity. Am J Obstet Gynecol. 1927;14:422-69.

                    5. Suginami H. A reappraisal of the coelomic metaplasia theory by reviewing, endometriosis occurring in unusual sites and instances. American journal of obstetrics and gynecology. 1991;165(1):214-8.

                    6. Jerman LF, Hey-Cunningham AJ. The role of the lymphatic system in endometriosis: a comprehensive review of the literature. Biology of reproduction. 2015;92(3):64, 1-10.

                    7. Nisenblat V, Bossuyt PM, Shaikh R, Farquhar C, Jordan V, Scheffers CS, et al. Blood biomarkers for the non‐invasive diagnosis of endometriosis. Cochrane Database of Systematic Reviews. 2016(5).

                    8. Dunselman G, Vermeulen N, Becker C, Calhaz-Jorge C, D’Hooghe T, De Bie B, et al. ESHRE guideline: management of women with endometriosis. Human reproduction. 2014;29(3):400-12.

                    9. Nisenblat V, Bossuyt PM, Farquhar C, Johnson N, Hull ML. Imaging modalities for the non‐invasive diagnosis of endometriosis. Cochrane Database of Systematic Reviews. 2016(2).

                    10. Adamson GD, Pasta DJ. Endometriosis fertility index: the new, validated endometriosis staging system. Fertility and sterility. 2010;94(5):1609-15.

                    11. Kennedy S, Bergqvist A, Chapron C, D’Hooghe T, Dunselman G, Greb R, et al. ESHRE guideline for the diagnosis and treatment of endometriosis. Human reproduction. 2005;20(10):2698-704.

                    12. Hemmings R, Bissonnette F, Bouzayen R. Results of laparoscopic treatments of ovarian endometriomas: laparoscopic ovarian fenestration and coagulation. Fertility and sterility. 1998;70(3):527-9.

                    13. Donnez J, Wyns C, Nisolle M. Does ovarian surgery for endometriomas impair the ovarian response to gonadotropin? Fertility and sterility. 2001;76(4):662-5.

                    14. Hart RJ, Hickey M, Maouris P, Buckett W. Excisional surgery versus ablative surgery for ovarian endometriomata. Cochrane database of systematic reviews. 2008(2).

                    15. Donnez J, Pirard C, Smets M, Jadoul P, Squifflet J. Surgical management of endometriosis. Best practice & research Clinical obstetrics & gynaecology. 2004;18(2):329-48.

                    16. Kondo W, Bourdel N, Tamburro S, Cavoli D, Jardon K, Rabischong B, et al. Complications after surgery for deeply infiltrating pelvic endometriosis. BJOG: An International Journal of Obstetrics & Gynaecology. 2011;118(3):292-8.

                    17. Donnez J, Squifflet J. Complications, pregnancy and recurrence in a prospective series of 500 patients operated on by the shaving technique for deep rectovaginal endometriotic nodules. Human Reproduction. 2010;25(8):1949-58.

                    18. Latthe P, Proctor M, Farquhar C, Johnson N, Khan K. Surgical interruption of pelvic nerve pathways in dysmenorrhea: a systematic review of effectiveness. Acta obstetricia et gynecologica Scandinavica. 2007;86(1):4-15.

                    19. Namnoum AB, Hickman TN, Goodman SB, Gehlbach DL, Rock JA. Incidence of symptom recurrence after hysterectomy for endometriosis. Fertility and sterility. 1995;64(5):898-902.

                    20. Falcone T, Flyckt R. Clinical management of endometriosis. Obstetrics & Gynecology. 2018;131(3):557-71.

                    21. Mais V, Ajossa S, Marongiu D, Peiretti RF, Guerriero S, Melis GB. Reduction of adhesion reformation after laparoscopic endometriosis surgery: a randomized trial with an oxidized regenerated cellulose absorbable barrier. Obstetrics & Gynecology. 1995;86(4):512-5.

                    22. Brown CB, Luciano AA, Martin D, Peers E, Scrimgeour A, Group AARS. Adept (icodextrin 4% solution) reduces adhesions after laparoscopic surgery for adhesiolysis: a double-blind, randomized, controlled study. Fertility and sterility. 2007;88(5):1413-26.

                    23. Coad J, Donnez J. Clinical evaluation of endometriosis and differential response to surgical therapy with and without application of Oxiplex/AP* adhesion barrier gel. Fertility and sterility. 2007;87(3):485-9.

                    24. Nezhat C, Hood J, Winer W, Nexhat F, Crowgey S, Garrison C. Videolaseroscopy and laser laparoscopy in gynaecology. British journal of hospital medicine. 1987;38(3):219-24.

                    25. Adamson D, editor Surgical management of endometriosis. Seminars in reproductive Medicine; 2003: Copyright© 2003 by Thieme Medical Publishers, Inc., 333 Seventh Avenue, New ….

                    26. Schattman GL. Treatment of chronic pelvic pain in patients with endometriosis. Human Reproduction. 2002;17(4):1128-9.

                    27. Abbott J, Hawe J, Hunter D, Holmes M, Finn P, Garry R. Laparoscopic excision of endometriosis: a randomized, placebo-controlled trial. Fertility and sterility. 2004;82(4):878-84.

                    28. Juhasz-Böss I, Laschke M, Müller F, Rosenbaum P, Baum S, Solomayer E, et al. Endometriosis: survey of current diagnostic and therapeutic options and latest research work. Geburtshilfe und Frauenheilkunde. 2014;74(08):733-42.

                    29. Pundir J, Omanwa K, Kovoor E, Pundir V, Lancaster G, Barton-Smith P. Laparoscopic excision versus ablation for endometriosis-associated pain: an updated systematic review and meta-analysis. Journal of minimally invasive gynecology. 2017;24(5):747-56.

                    30. Clayton R, Hawe J, Love J, Wilkinson N, Garry R. Recurrent pain after hysterectomy and bilateral salpingo‐oophorectomy for endometriosis: evaluation of laparoscopic excision of residual endometriosis. BJOG: An International Journal of Obstetrics & Gynaecology. 1999;106(7):740-4.

                    31. Dmowski W, Radwanska E, Rana N. Recurrent endometriosis following hysterectomy and oophorectomy: the role of residual ovarian fragments. International Journal of Gynecology & Obstetrics. 1988;26(1):93-103.

                    32. Rana N, Rotman C, Hasson HM, Redwine DB, Dmowski WP. Ovarian remnant syndrome after laparoscopic hysterectomy and bilateral salpingo-oophorectomy for severe pelvic endometriosis. The Journal of the American Association of Gynecologic Laparoscopists. 1996;3(3):423-6.

                    33. Matorras R, Elorriaga MA, Pijoan JI, Ramón O, Rodrı́guez-Escudero FJ. Recurrence of endometriosis in women with bilateral adnexectomy (with or without total hysterectomy) who received hormone replacement therapy. Fertility and sterility. 2002;77(2):303-8.

                    34. Marcoux S, Maheux R, Bérubé S, Endometriosis CCGo. Laparoscopic surgery in infertile women with minimal or mild endometriosis. New England Journal of Medicine. 1997;337(4):217-22.

                    35. Parazzini F. Ablation of lesions or no treatment in minimal-mild endometriosis in infertile women: a randomized trial. Gruppo Italiano per lo Studio dell’Endometriosi. Human Reproduction (Oxford, England). 1999;14(5):1332-4.

                    36. Adamson GD, Pasta DJ. Surgical treatment of endometriosis-associated infertility: meta-analysis compared with survival analysis. American journal of obstetrics and gynecology. 1994;171(6):1488-505.

                    37. Vercellini P, Somigliana E, Vigano P, Abbiati A, Barbara G, Crosignani PG. Surgery for endometriosis-associated infertility: a pragmatic approach. Human Reproduction. 2009;24(2):254-69.

                     

                    Read More

                    Medical Nutrition Therapy in Pregnancy with Gestational Diabetes Mellitus

                    Medical Nutrition Therapy in Pregnancy with Gestational Diabetes Mellitus
                    โภชนบำบัดทางการแพทย์ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

                    นพ.ศิรวิทย์ ทองสุก
                    อาจารย์ที่ปรึกษา รศ.พญ.เฟื่องลดา ทองประเสริฐ


                    โภชนบำบัดทางการแพทย์ หรือ medical nutritional therapy (MNT) คือ กระบวนการวางแผนการปรับเปลี่ยนอาหารให้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานโดยขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน และปัจจัยต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เป็นต้น ซึ่งสตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้นควรต้องได้รับคำแนะนำทางด้านโภชนาการกับนักโภชนากรเพื่อให้ได้เป้าหมายดังนี้(1)

                    1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย
                    2. ป้องกันการเกิดภาวะคีโตนในเลือดสูง
                    3. ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเพียงพอต่อความต้องการของมารดาและทารกในครรภ์
                    4. น้ำหนักมารดาขึ้นตามเกณฑ์ของดัชนีมวลกาย
                    5. ทารกในครรภ์และหลังคลอดมีสุขภาพที่ดี

                    จากการศึกษาแบบ meta-analysis พบว่าการให้คำแนะนำด้านโภชนบำบัดทางการแพทย์ให้แก่สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ช่วยลดระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร (fasting glucose) ได้ 24.07 มก/ดล และลดระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหาร (postprandial glucose) ได้ 27.78 มก/ดล ซึ่งถือว่าลดได้อย่างมากและมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังช่วยลดความต้องการการรักษาด้วยยา ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักน้อยกว่า และลดอัตราการเกิดภาวะทารกน้ำหนักเกินเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม(2) นอกจากนี้ข้อแนะนำขององค์กรต่าง ๆ เช่น the Australasian Diabetes in Pregnancy Society (ADIPS), the American Dietetic Association (ADA)(3), the Canadian Diabetes Association (CDA), the National Institute for Health and Care Excellence (NICE)(4) และสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย(5) แนะนำให้ MNT เป็นทางเลือกแรกในการดูแลรักษาภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และ MNT ควรทำโดยนักกำหนดอาหาร (dietitian) หรือบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการรักษาภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (a qualified professional with experience in the management of GDM)(6)

                    ความสำคัญของภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

                    ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus; GDM) เป็นภาวะแทรกซ้อนทางอายุรศาสตร์ที่พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วน ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันโลกได้มีการพัฒนาไปมากในด้านการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรมอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปอาหารต่าง ๆ การยืดอายุอาหารได้นานขึ้น และมีความสะดวกสบายในการเข้าถึงแหล่งอาหารได้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารฟาสต์ฟู้ดย่อมส่งผลต่อสุขภาพตามมาอย่างแน่นอน จากการเก็บรวบรวมสถิติในปี ค.ศ. 2015 ทั่วโลกมีสตรีตั้งครรภ์มีภาวะเบาหวานจำนวน 199.5 ล้านคน และคาดว่าปี ค.ศ. 2030 อาจเพิ่มจำนวนสูงขึ้นถึง 313.3 ล้านคน(7)ในประเทศไทยจากการเก็บรวบรวมข้อมูลในปี ค.ศ. 2016 พบภาวะเบาหวานในสตรีตั้งครรภ์ร้อยละ 16.2(8)

                    การที่สตรีตั้งครรภ์มีภาวะเบาหวานเกิดขึ้นนั้นย่อมส่งผลต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตัวอย่างผลกระทบต่อมารดา เช่น เบาหวานเข้าจอประสาทตา โรคไตจากเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ติดเชื้อง่าย และมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตด้วย ส่วนผลกระทบต่อทารก เช่น ภาวะแท้ง คลอดก่อนกำหนด มีความผิดปกติทางกายภาพ ภาวะทารกตัวโต ภาวะตายในครรภ์ไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น(9) อย่างไรก็ตามภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์เป็นภาวะที่สามารถตรวจพบได้จากการประเมินความเสี่ยงร่วมกับการตรวจคัดกรองโดยใช้น้ำตาลกลูโคส 50 กรัม(10) ซึ่งหากตรวจพบภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้เร็วก็จะสามารถให้การดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ดังตัวอย่างข้างต้น นำมาซึ่งการคลอดที่ปลอดภัยทั้งมารดาและทารก(11) เป้าหมายของการดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวานนั้นคือการควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติซึ่งสตรีตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควบคุมอาหาร(12)

                    ดังนั้นสตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรได้รับแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและบริโภคอาหารในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามการควบคุมอาหารที่เคร่งครัดหรือจำกัดปริมาณมากเกินไปอาจนำไปสู่การเกิดภาวะคีโตนในร่างกายสูง ภาวะน้ำตาลต่ำในสตรีตั้งครรภ์ หรือเกิดภาวะการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ช้ากว่าเกณฑ์ได้(13) ดังนั้นการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สตรีตั้งครรภ์มีภาวะเบาหวานจึงเป็นเรื่องสำคัญ

                    ในปัจจุบันมีการศึกษาและการใช้โภชนบำบัดทางการแพทย์มาช่วยในการให้ความรู้แก่สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวาน จากหลายการศึกษาพบว่าการใช้โภชนบำบัดทางการแพทย์ร่วมกับการออกกำลังกายและการตรวจวัดระดับน้ำตาลเป็นประจำ สามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อนในมารดาและในทารกได้ระหว่างตั้งครรภ์ได้ทั้งในเชิงระยะสั้นและระยะยาว (ตารางที่1)(14) แต่อย่างไรก็ตามการตระหนักถึงความสำคัญของภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ของสตรีตั้งครรภ์และครอบครัวก็เป็นปัจจัยนึงที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษาเช่นกัน

                    ตารางที่ 1 แสดงภาวะแทรกซ้อนต่อมารดาและทารกในสตรีที่มีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์

                    ระยะเวลา ภาวะแทรกซ้อนต่อมารดา ภาวะแทรกซ้อนต่อทารก
                    ระยะสั้น
                    • ภาวะครรภ์เป็นพิษ
                    • ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
                    • การคลอดก่อนกำหนด
                    • ความเสี่ยงต่อการผ่าตัดคลอด
                    • ภาวะน้ำคร่ำเกิน
                    • ภาวะตกเลือดหลังคลอด
                    • การติดเชื้อขณะตั้งครรภ์
                    • การบาดเจ็บจากการคลอด
                    • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
                    • ภาวะเลือดข้น
                    • ความผิดปกติของหัวใจ
                    • ภาวะตายคลอด
                    ระยะยาว
                    • ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ในครรภ์ต่อไป
                    • โรคเบาหวานหลังคลอด
                    • ความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคเบาหวานในอนาคต
                    • ภาวะน้ำหนักเกิน

                    ข้อแนะนำในการใช้โภชนบำบัดการทางแพทย์ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

                    จากที่กล่าวไปข้างต้นการใช้โภชนบำบัดการทางแพทย์มาร่วมใช้ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่เหมาะสมแก่สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้นจึงมีความจำเป็นเพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อมารดาและทารก โดยมีคำแนะนำเกี่ยวกับพลังงานและสารอาหารในแต่ละประเภทดังนี้(14)

                    1. ปริมาณพลังงาน (calories intake) (6, 15, 16)

                    แม้ว่ามีข้อมูลการศึกษาที่จำกัดในการระบุปริมาณพลังงาน (แคลอรี่) ที่เหมาะสมที่สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรได้รับ แต่มีข้อมูลชัดเจนว่าไม่แนะนำให้มีการลดน้ำหนักในสตรีตั้งครรภ์ เนื่องจากการควบคุมและการจำกัดอาหารอย่างเข้มงวดนั้นอาจจะส่งผลต่อการเปลี่ยนไปใช้กรดไขมันปริมาณมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะคีโตนสูงในร่างกายและส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านสมองของทารกในอนาคตได้ นอกจากนี้การเพิ่มน้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์ให้เหมาะสมตามอายุครรภ์แต่ละไตรมาสเป็นสิ่งที่ควรแนะนำให้สตรีตั้งครรภ์ทุกรายรวมไปถึงสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ด้วย ปริมาณพลังงานที่สตรีตั้งครรภ์ควรได้รับและน้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นแสดงในตารางที่ 2

                    ตารางที่ 2 แสดงปริมาณพลังงานที่สตรีตั้งครรภ์ควรได้รับและน้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นในแต่ละไตรมาส

                    Table Description automatically generated

                    1. คาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) (17-19)

                    การควบคุมการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตถือเป็นเรื่องที่ยอมรับในสตรีตั้งครรภ์มีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากมีหลายการศึกษาสนับสนุนว่าการควบคุมอาหารจำพวกอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตสามารถลดภาวะเบาหวานในระยะยาวของสตรีตั้งครรภ์และลดภาวะการเกิดทารกตัวโตและการตายคลอดได้อย่างมีนัยสำคัญ จากการศึกษาของ Jovanovic-Peterson พบว่าการจำกัดคาร์โบไฮเดรตสำหรับการรักษาสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ลดความเสี่ยงต่อการกำเนิดทารกตัวโต (20) แต่ในปีค.ศ. 2018 มีการศึกษาการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) จากการศึกษาวิจัยจำนวน 18 การศึกษาพบว่าการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารโดยที่ไม่ได้จำกัดการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตก็สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลหลังอาหารในเลือดและน้ำหนักทารกได้ โดยชนิดของอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่แนะนำคือ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต เป็นต้น ซึ่งมีผลการศึกษาพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรต(18)โดยสมาคมโรคเบาหวานประเทศสหรัฐอเมริกา (the american diabetes association, ADA) แนะนำให้สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้รับปริมาณคาร์โบไฮเดรตอย่างน้อย 175 กรัมต่อวันซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 35-50 ของปริมาณแคลอรี่ทั้งหมด(7)

                    การแบ่งมื้ออาหาร มีหลายการศึกษาสนับสนุนการแบ่งอาหารออกเป็นหลาย ๆ มื้อ เนื่องจากพบว่าการกระจายมื้ออาหารนั้นสามารถควบคุมระดับในตาลในกระแสเลือดมารดาซึ่งส่งผลต่อทารกเช่นเดียวกันได้ดีกว่าการไม่แบ่งมื้ออาหาร แต่ทั้งนี้จะแบ่งเป็นกี่มื้อนั้นขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ดัชนีมวลกายของสตรีตั้งครรภ์ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ระดับน้ำตาลในเลือดทั้งก่อนและหลังอาหาร การเกิดภาวะคีโตนในเลือด เป็นต้น โดยคำแนะนำทั่วไปมักจะแบ่งมื้ออาหารออกเป็น 3 มื้อหลัก คือ มื้อเช้า กลางวัน และมื้อเย็น โดยแบ่งอัตราส่วนของอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ต้องบริโภคต่อวันในแต่ละมื้อเป็นร้อยละ เช่น ร้อยละ 10-20 ในมื้อเช้า, ร้อยละ 20-30 ในมื้อกลางวัน และร้อยละ 30-40 ในมื้อเย็น ตามลำดับ และบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตประมาณร้อยละ 5-10 ในมื้ออาหารว่างอีก 3 มื้อต่อวัน จากอัตราส่วนการแบ่งมื้ออาหารดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในมื้อเช้ามีอัตราส่วนของการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับมื้ออื่น ๆ เนื่องจากในช่วงเช้าโดยทั่วไปร่างกายจะมีการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ซึ่งจะส่งผลเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดค่อนข้างมาก ดังนั้นการลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตลงประมาณ 15-30 กรัม จะช่วยลดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงของสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะหวานได้

                    อาหารประเภทค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (low glycemic index food) การรับประทานอาหารประเภทค่าดัชนีน้ำตาลต่ำเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่แนะนำในสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวาน การแบ่งชนิดของอาหารตามค่าดัชนีน้ำตาลต่ำนั้นเป็นการจัดลำดับอาหารกลุ่มแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตว่ามีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดมากน้อยเพียงใดหลังจากที่กินอาหารชนิดนั้น ๆ ไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง โดยกำหนดค่าดัชนีน้ำตาล (glycemic index; GI) เป็นระดับตั้งแต่ 0-100 อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง (high glycemic index) หรือมีค่าดัชนีน้ำตาลมากกว่า 70 จะถูกดูดซึมได้เร็วและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงและเร็วกว่าอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (low glycemic index) หรือมีมีค่าดัชนีน้ำตาลน้อยกว่า 55 ซึ่งจะถูกย่อยช้าและกลูโคสถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือดอย่างช้า ๆ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นช้ากว่าและคงอยู่ในกระแสเลือดนานไปด้วย ชนิดของอาหารตามค่าดัชนีน้ำตาลแสดงในตารางที่ 3

                    ตารางที่ 3 แสดงชนิดของอาหารตามค่าดัชนีน้ำตาล

                    อาหารชนิดดัชนีน้ำตาลต่ำ

                    (< 55)

                    อาหารชนิดดัชนีน้ำตาลกลาง

                    (55-69)

                    อาหารชนิดดัชนีน้ำตาลสูง

                    (70-100)

                    นม โยเกิร์ต นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ น้ำมันมะกอก ข้าวกล้อง สตรอว์เบอร์รี แอปเปิล ชมพู่ แก้วมังกร แครอท มะเขือเทศ ข้าวโพด บรอกโคลี ดอกกะหล่ำ มันหวานต้ม เป็นต้น กล้วย สับปะรด ลูกเกด น้ำส้ม น้ำผึ้ง เป็นต้น ข้าวขัดสี ขนมปังขาว น้ำนมข้าว แตงโม มันฝรั่ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เค้ก คุ้กกี้ ของหวาน ลูกอม และน้ำหวาน เป็นต้น

                    จากการศึกษาของ Grant และคณะพบว่าการรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่ายและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหารให้ได้ตามเป้าหมายมากกว่ากลุ่มควบคุม(21) การศึกษาของ Mahajan และคณะพบว่าการรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาล สามารถช่วยให้ผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ต่อมารดาและทารกดี และยังทำให้สตรีตั้งครรภ์สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวโดยไม่เกิดภาวะเครียดจากการควบคุมอาหารมากเกินไป(22) การศึกษาของ Louie และคณะพบว่าการรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าการรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลปานกลาง (moderate glycemic index)(23) นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำยังช่วยลดการใช้อินซูลินระหว่างตั้งครรภ์โดยไม่ทำให้ผลลัพธ์การตั้งครรภ์แย่ลง(24) และช่วยลดระดับไขมันในเลือดอีกด้วย(25)

                    อาหารประเภทกากใย (fiber) สมาคมโรคเบาหวานประเทศสหรัฐอเมริกา (the american diabetes association, ADA) แนะนำให้บริโภคอาหารประเภทกากใยอย่างน้อย 28 กรัมต่อวัน เนื่องจากอาหารประเภทกากใยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารได้ดี มีการศึกษาพบว่าการบริโภคอาหารประเภทกากใยประมาณ 80 กรัมต่อวัน สามารถลดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะทารกตัวโต และมีผลต่อระบบทางเดินอาหารน้อย(26) ตัวอย่างอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ธัญพืช ผัก ผลไม้ เป็นต้น

                    1. โปรตีน (protein)(14)

                    โปรตีนเป็นประเภทอาหารที่ความสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ สมาคมโรคเบาหวานประเทศสหรัฐอเมริกา (the american diabetes association, ADA) แนะนำว่าสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรบริโภคโปรตีนอย่างน้อย 71 กรัมต่อวัน จากการศึกษาวิจัยความต้องการของโปรตีนของสตรีตั้งครรภ์ในแต่ละช่วงอายุครรภ์พบว่ามีการต้องการของโปรตีนเพิ่มขึ้นเมื่ออายุครรภ์เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 1.2 กรัม/กิโลกรัม/วัน ที่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ เพิ่มเป็น 1.52 กรัม/กิโลกรัม/วัน เมื่ออายุครรภ์มากกว่านั้น ตัวอย่างอาหารประเภทโปรตีนที่แนะนำในสตรีตั้งครรภ์ เช่น ไข่ ถั่วเหลือง ถั่ว เนื้อที่ไร้มัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเลและปลา ซึ่งอุดมไปด้วยเหล็ก โปรตีน โอเมกาสาม (omega 3) ซึ่งช่วยส่งเสริมเกี่ยวกับการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ด้วย แต่ทั้งนี้อาหารทะเลอาจจะต้องเลือกรับประทานอย่างระมัดระวังเนื่องจากอาจมีโลหะหนักปนมากับอาหารทะเล(27) ซึ่งส่งผลเสียต่อทั้งมารดาและทารกได้

                    1. ไขมัน (fat)

                    การบริโภคอาหารประเภทไขมันนั้นแนะนำให้บริโภคเท่าที่จำเป็นโดยคิดเป็นร้อยละ 20-35 ของพลังงานทั้งหมดต่อวัน และไม่แนะนำให้บริโภคอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acid) และกรดไขมันทรานส์ (trans fatty acid) จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าควรบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสมโดยไม่จำกัดปริมาณมากเกินไป ซึ่งจะทำให้สตรีตั้งครรภ์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปบริโภคอาหารประเภทไขมันแทนในปริมาณที่มากขึ้น และการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงปริมาณมากนั้นจะส่งผลทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินตามมา นอกจากนี้มีการศึกษาพบว่าการมีระดับไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) และกรดไขมันอิสระ (free fatty acid) ในเลือดสูงมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะทารกตัวโต เนื่องจากไตรกลีเซอไรด์และกรดไขมันอิสระสามารถส่งผ่านรกไปหาทารกได้(28)

                    อาหารประเภท DASH (Dietary Approaches to Stop Hypertension) เป็นการรับประทานอาหารที่ช่วยให้ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดียิ่งขึ้น โดยจะเน้นการกินผัก ผลไม้ ธัญพืช และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการรับประทานอาหารประเภท DASH นั้นสามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์และกรดไขมันอิสระในเลือดลงได้ รวมถึงลดระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) ลดความดันโลหิต และช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ด้วย(29)

                    1. วิตามินและแร่ธาตุ (vitamins and minerals)(30, 31)

                    ภาวะตั้งครรภ์นั้นถือเป็นช่วงเวลามีความต้องการวิตามินและแร่ธาตุสูงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่น ๆ ในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรดโฟลิค (folic acid) ซึ่งแนะนำให้สตรีตั้งครรภ์ทุกรายได้รับอย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน และ 4 มิลลิกรัมต่อวันในสตรีตั้งครรภ์ที่เคยมีลูกเป็นโรคในกลุ่ม neural tube defects (NTDs) เนื่องจากมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาการด้านสมองของทารกในครรภ์ โดยแนะนำให้รับประทานก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือนจนถึงประมาณอายุครรภ์ 12 สัปดาห์

                    วิตามินซีและอี (vitamin C and E) จะมีส่วนช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ คล้ายกับการทำลายสารพิษหรือของเสียที่เกิดขึ้นในตัวทารก และพบว่าวิตามันซีและอียังช่วยลดการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้อีกด้วย (เพิ่ม reference)

                    วิตามินดี (vitamin D) จากการศึกษาของ Asemmi และคณะศึกษาเปรียบเทียบระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างกลุ่มที่ได้รับวิตามินดีกับกลุ่มควบคุมพบว่ากลุ่มที่ได้รับวิตามินดี 50,000 IU ปริมาณ 2 โดส เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหาร และลดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้อย่างมีนัยสำคัญ(32)

                    แคลเซียม (calcium) มีความจำเป็นอย่างมากในระยะตั้งครรภ์เนื่องจากมีประโยชน์ต่อการสร้างกระดูกของมารดาและทารกโดยแนะนำให้บริโภคอย่างน้อย 900-1000 มิลลิกรัมต่อวัน และรับประทานพร้อมกับมื้ออาหารเพื่อประสิทธิภาพในการดูดซึม

                    1. สารอาหารประเภทอื่น ๆ

                    สารทดแทนความหวาน (sweeteners) สตรีตั้งครรภ์สามารถบริโภคสารทดแทนความหวานที่ผ่านการรับรองจากองค์กรอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา (United states food and drug administration, US-FDA) ได้ แต่ควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม โดยชนิดของสารทดแทนความหวานที่ได้รับการรับรองว่าสามารถใช้ได้และปลอดภัยต่อมารดาและทารก เช่น Aspartame, Sucralose, Neotame, Advantame, Xylitol, Sorbitol และ Stevia เป็นต้น ดังแสดงในตารางที่ 4

                    ตารางที่ 4 แสดงชนิดของสารทดแทนความหวานและปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวันในสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์(33)

                    Table Description automatically generated with medium confidence

                    คาเฟอีน (caffeine) ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวานนั้นสามารถบริโภคได้แต่ควรจำกัดปริมาณไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน

                    1. อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
                    2. ไม่กินเนื้อสัตว์ติดมัน เช่น หมูสามชั้น คอหมู หนังไก่ หนังเป็ด ไส้กรอก เป็นต้น
                    3. ไม่กินขนมที่มีรสหวาน เช่น ไอศกรีม หวานเย็น ช็อคโกแลต หมากฝรั่ง ลูกอม เยลลี่ เป็นต้น
                    4. ไม่ดื่มเครื่องดื่มรสหวาน เช่น น้ำอัดลม ชาเย็นน้ำปั่น น้ำผลไม้รสเปรี้ยว
                    5. ไม่กินขนม เช่น เค้ก พายโดนัท
                    6. ไม่เติมเครื่องปรุงรสเค็ม เช่น น้ำปลา ซีอิ๊วดำ แมกกี้
                    7. ไม่เติมน้ำตาลในอาหาร
                    8. ไม่กินของหมักดอง
                    9. ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

                    การติดตามระดับน้ำตาลและเป้าหมายของระดับน้ำตาลในเลือด(7)

                    การติดตามระดับน้ำตาลด้วยตัวเอง (self-monitoring of blood glucose; SMBG) เป็นสิ่งที่สตรีตั้งครรภ์สามารถทำได้เองที่บ้าน ทำได้โดยการเจาะเลือดปลายนิ้วเพื่อตรวจระดับน้ำตาลก่อนรับประทานอาหาร และที่ 1 หรือ 2 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร โดยเป้าหมายของระดับน้ำตาลไม่ควรสูงกว่า 95, 140, 120 มก/ดล ตามลำดับ หรืออาจตรวจติดตามโดยการนัดเจาะเลือดในสถานพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุก 2-4 สัปดาห์ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับระดับการควบคุมน้ำตาลในเลือด และหากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย ควรปรึกษาอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ

                    นอกจากนี้การบันทึกอาหารที่รับประทานในสมุดบันทึกอาหาร (food record form) เป็นรูปแบบของการวัดผลของการควบคุมอาหารเพื่อที่จะได้ทราบถึงชนิดและปริมาณอาหารที่บริโภคกับผลลัพธ์ที่ได้จากการตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้สตรีตั้งครรภ์สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายอย่างทันท่วงที

                    เอกสารอ้างอิง (References)

                    1. Bantle JP, Wylie-Rosett J, Albright AL, Apovian CM, Clark NG, Franz MJ, et al. Nutrition recommendations and interventions for diabetes: a position statement of the American Diabetes Association. Diabetes care. 2008;31:S61-S78.

                    2. Hernandez TL, Brand-Miller JC. Nutrition therapy in gestational diabetes mellitus: time to move forward. Diabetes Care. 2018;41(7):1343-5.

                    3. Rudland VL, Price SA, Hughes R, Barrett HL, Lagstrom J, Porter C, et al. ADIPS 2020 guideline for pre‐existing diabetes and pregnancy. Australian and New Zealand Journal of Obstetrics and Gynaecology. 2020;60(6):E18-E52.

                    4. Lazzerini M, Armocida B, Valente EP, Berdzuli N. Antenatal screening practices in the WHO European Region: a mixed methods study. Journal of Global Health. 2020;10(2).

                    5. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน ส. 2560.

                    6. Moreno-Castilla C, Mauricio D, Hernandez M. Role of medical nutrition therapy in the management of gestational diabetes mellitus. Current diabetes reports. 2016;16(4):22.

                    7. Association AD. 14. Management of diabetes in pregnancy: Standards of Medical Care in Diabetes—2021. Diabetes Care. 2021;44(Supplement 1):S200-S10.

                    8. ประภัทร วานิชพงษ์พันธุ์ ตเ. ตำราสูติศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: กรุงเทพฯ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล; 2560.

                    9. Cunningham FG, Leveno KJ, Bloom SL, Dashe JS, Hoffman BL, Casey BM, et al. Obstetrícia de Williams-25: McGraw Hill Brasil; 2021.

                    10. Mellitus GD. ACOG practice bulletin. ACOG: Washington, DC, USA. 2018.

                    11. Cao X, Wang Z, Yang C, Mo X, Xiu L, Li Y, et al. Comprehensive intensive therapy for Chinese gestational diabetes benefits both newborns and mothers. Diabetes technology & therapeutics. 2012;14(11):1002-7.

                    12. Dornhorst A, Nicholls JS, Probst F, Paterson CM, Hollier KL, Elkeles RS, et al. Calorie restriction for treatment of gestational diabetes. Diabetes. 1991;40(Supplement 2):161-4.

                    13. Magee MS, Knopp RH, Benedetti TJ. Metabolic effects of 1200-kcal diet in obese pregnant women with gestational diabetes. Diabetes. 1990;39(2):234-40.

                    14. Vasile FC, Preda A, Ștefan AG, Vladu MI, Forțofoiu M-C, Clenciu D, et al. An Update of Medical Nutrition Therapy in Gestational Diabetes Mellitus. Journal of Diabetes Research. 2021;2021.

                    15. Kleinwechter H, Schäfer-Graf U, Bührer C, Hoesli I, Kainer F, Kautzky-Willer A, et al. German Association for Gynaecology and Obstetrics. Gestational diabetes mellitus (GDM) diagnosis, therapy and follow-up care: Practice Guideline of the German Diabetes Association (DDG) and the German Association for Gynaecologyand Obstetrics (DGGG). Exp Clin Endocrinol Diabetes. 2014;122(7):395-405.

                    16. Qian M, Wu N, Li L, Yu W, Ouyang H, Liu X, et al. Effect of Elevated Ketone Body on Maternal and Infant Outcome of Pregnant Women with Abnormal Glucose Metabolism During Pregnancy. Diabetes, Metabolic Syndrome and Obesity: Targets and Therapy. 2020;13:4581.

                    17. Jovanovic-Peterson L, Peterson CM. Dietary manipulation as a primary treatment strategy for pregnancies complicated by diabetes. Journal of the American College of Nutrition. 1990;9(4):320-5.

                    18. Yamamoto JM, Kellett JE, Balsells M, Garcia-Patterson A, Hadar E, Solà I, et al. Gestational diabetes mellitus and diet: a systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials examining the impact of modified dietary interventions on maternal glucose control and neonatal birth weight. Diabetes Care. 2018;41(7):1346-61.

                    19. Louie JC-Y, Flood V, Turner N, Everingham C, Gwynn J. Methodology for adding glycemic index values to 24-hour recalls. Nutrition. 2011;27(1):59-64.

                    20. Jovanovic-Peterson L, Peterson CM, Reed GF, Metzger BE, Mills JL, Knopp RH, et al. Maternal postprandial glucose levels and infant birth weight: the Diabetes in Early Pregnancy Study. American journal of obstetrics and gynecology. 1991;164(1):103-11.

                    21. Grant SM, Wolever TM, O’Connor DL, Nisenbaum R, Josse RG. Effect of a low glycaemic index diet on blood glucose in women with gestational hyperglycaemia. Diabetes research and clinical practice. 2011;91(1):15-22.

                    22. Mahajan A, Donovan LE, Vallee R, Yamamoto JM. Evidenced-based nutrition for gestational diabetes mellitus. Current diabetes reports. 2019;19(10):1-10.

                    23. Louie JCY, Markovic TP, Perera N, Foote D, Petocz P, Ross GP, et al. A randomized controlled trial investigating the effects of a low–glycemic index diet on pregnancy outcomes in gestational diabetes mellitus. Diabetes care. 2011;34(11):2341-6.

                    24. Moses RG, Barker M, Winter M, Petocz P, Brand-Miller JC. Can a low–glycemic index diet reduce the need for insulin in gestational diabetes mellitus?: A randomized trial. Diabetes care. 2009;32(6):996-1000.

                    25. Ma W-J, Huang Z-H, Huang B-X, Qi B-H, Zhang Y-J, Xiao B-X, et al. Intensive low-glycaemic-load dietary intervention for the management of glycaemia and serum lipids among women with gestational diabetes: a randomized control trial. Public Health Nutrition. 2015;18(8):1506-13.

                    26. Reece E, Hagay Z, Gay L, Oconnor T, DeGennaro N, Homko C, et al. A RANDOMIZED CLINICAL-TRIAL OF A FIBER-ENRICHED DIABETIC DIET VS THE STANDARD AMERICAN-DIABETES-ASSOCIATION RECOMMENDED DIET IN THE MANAGEMENT OF DIABETES-MELLITUS IN PREGNANCY. Journal of Maternal-Fetal Investigation. 1995;5(1):8-12.

                    27. Storelli M, Marcotrigiano G. Fish for human consumption: risk of contamination by mercury. Food Additives & Contaminants. 2000;17(12):1007-11.

                    28. DiPietro L, Buchner DM, Marquez DX, Pate RR, Pescatello LS, Whitt-Glover MC. New scientific basis for the 2018 US Physical Activity Guidelines. Journal of sport and health science. 2019;8(3):197.

                    29. Asemi Z, Samimi M, Tabassi Z, Esmaillzadeh A. The effect of DASH diet on pregnancy outcomes in gestational diabetes: a randomized controlled clinical trial. European journal of clinical nutrition. 2014;68(4):490-5.

                    30. Blumer I, Hadar E, Hadden DR, Jovanovič L, Mestman JH, Murad MH, et al. Diabetes and pregnancy: an endocrine society clinical practice guideline. The journal of clinical endocrinology & Metabolism. 2013;98(11):4227-49.

                    31. Fu Z-m, Ma Z-z, Liu G-j, Wang L-l, Guo Y. Vitamins supplementation affects the onset of preeclampsia. Journal of the Formosan Medical Association. 2018;117(1):6-13.

                    32. Asemi Z, Tabassi Z, Samimi M, Fahiminejad T, Esmaillzadeh A. Favourable effects of the Dietary Approaches to Stop Hypertension diet on glucose tolerance and lipid profiles in gestational diabetes: a randomised clinical trial. British journal of nutrition. 2013;109(11):2024-30.

                    33. Food U, Administration D. Additional information about high-intensity sweeteners permitted for use in food in the United States. US Food and Drug Administration: Silver Spring, MD, USA. 2018.

                     

                    Read More