Thyroid Disease in Pregnancies : โรคของต่อมธัยรอยด์ในสตรีตั้งครรภ์

นพ. ธีระ ทองสง


การเปลี่ยนแปลงการทำงานของต่อมธัยรอยด์ในสตรีตั้งครรภ์

  • ระดับของ TSH มีการเปลี่ยนแปลงไม่ชัดเจน 
  • ต่อมธัยรอยด์โตขึ้นเล็กน้อย แต่อยู่ในภาวะ euthyroid 
  • TBG เพิ่มมากขึ้น ทำให้ระดับ total T3,T4 เพิ่มขึ้น แต่ free T3 และ T4  อยู่ในระดับปกติ หลัง12-14 สัปดาห์ TBG ก็จะเพิ่มถึงระดับสูงคงที่ ซึ่ง T3,T4 ก็ขึ้นตามไปด้วยกัน
  • T3 resin uptake (RT3U) ลดลงจากร้อยละ 25-35 เป็นร้อยละ 20-25  (คล้ายกับคนไม่ตั้งครรภ์ที่เป็น hypothyroidism สะท้อนถึงส่วน TBG ที่ยังว่างจากการถูกจับมีมากขึ้น)
  • Free thyroxine index (FTI) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงถึงแม้ TBG จะเพิ่มขึ้น
  • ต่อมจับสารไอโอดีนกัมมันตรังสีได้มากขึ้น
  • BMR ในครรภ์ปกติเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20
  • Postpartum thyroiditis พบได้ประมาณ 5-10% ของสตรีหลังคลอด พบได้บ่อยมากขึ้นในรายที่ต่อมอักเสบเรื้อรังอยู่ก่อน

การส่งผ่านรกของสารที่เกี่ยวข้องกับธัยรอยด์

  • TRH ผ่านรกไดีดี
  • TSH ไม่ผ่านรก
  • T3,T4 ผ่านรกได้น้อย แต่ T3 ก็ยังผ่านได้ดีกว่า T4
  • ยาต้านธัยรอยด์ส่วนมากผ่านรกในปริมาณที่มีนัยสำคัญ methimazole ผ่านมากกว่า PTU
  • ธัยรอยด์แอนติบอดีย์ใน Graves’ disease ผ่านรก
  • ไอโอไดด์ที่มารดาได้รับมาก ๆ ผ่านรกไปทำให้ทารกมีคอพอกได้
  • ยา  amiodarone ผ่านรกทำให้ทารกเกิดภาวะพร่องธัยรอยด์  หรือคอพอกเป็นพิษได้

การให้ไอโอดีนเสริมในครรภ์ปกติ

ในภูมิภาคที่ขาดไอโอดีน พบว่าการให้ไอโอดีนเสริมในมารดา  จะทำให้ฮอร์โมนธัยรอยด์เพิ่มขึ้น และมีส่วนช่วยลดปัญหาความผิดปกติทางระบบประสาทของทารกลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

 ภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมนในสตรีตั้งครรภ์

Hypothyroidism ขณะตั้งครรภ์มีอุบัติการต่ำ ส่วนหนึ่งอาจเนื่องภาวะนี้ทำให้มีบุตรยาก ส่วนมากไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic hypothyroidism)  ซึ่งมีแอนติบอดีย์ต่อต่อมธัยรอยด์ ต่อมฝ่อลง นอกจากนี้อาจเกิดจาก Harshimoto’s disease และภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดหรือได้รับไอโอดีนกัมมันตรังสี

ผลของการตั้งครรภ์ต่อโรค

โดยทั่วไปแล้วการตั้งครรภ์ไม่มีผลต่อการดำเนินโรค

ผลของโรคต่อการตั้งครรภ์

  • มีบุตรยาก ซึ่งสัมพันธ์กับการไม่ตกไข่
  • เพิ่มการแท้งบ้าง
  • รายที่เป็นชัดเจนแต่รักษาไม่เพียงพอ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อ ความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ รกลอกตัวก่อนกำหนด โลหิตจาง ตกเลือดหลังคลอด ทารกน้ำหนักน้อย และตายคลอด

การวินิจฉัย

เหมือนคนไม่ตั้งครรภ์ แต่ต้องระวังในการแปลผลการทำงานของธัยรอยด์ขณะตั้งครรภ์  TSH  จะเพิ่มขึ้นใน primary hypothyroidism (ค่า ในซีรั่มปกติ 3-10 นก./มล.)

การรักษา

  • ให้ธัยรอยด์ฮอร์โมน (thyroxine ขนาด 0.20-0.25 มก.)
  • ภาวะพร่องธัยรอยด์ควรได้รับการทดสอบการทำงานธัยรอยด์ในครรภ์ระยะแรก เนื่องจากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยต้องการขนาดฮอร์โมนธัยรอยด์เพิ่มขึ้นเมื่อตั้งครรภ์

คอพอกเป็นพิษในสตรีตั้งครรภ์

คอพอกเป็นพิษพบได้ราว 1:500-1:2,000 ของสตรีตั้งครรภ์ ส่วนมากเกิดจาก Graves’ disease แต่อาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนจากครรภ์ไข่ปลาอุก  สำหรับ Plummer’s disease (nodular goiter) ได้ค่อนข้างน้อยในวัยเจริญพันธุ์ Graves’ disease  เกิดจากแอนติบอดีย์ thyroid stimulating  immunoglobulin (TSI) จับกับ receptor ของ TSH  และกระตุ้นต่อมธัยรอยด์ให้สังเคราะห์และหลั่งฮอร์โมนเพิ่มขึ้นและทำให้เกิดอาการของคอพอกเป็นพิษ

ภาวะ  hyperemesis gravidarum ในไตรมาสแรกเป็นสาเหตุของ hyperthyroidism ที่พบได้บ่อยที่สุดในสตรีตั้งครรภ์แต่เป็นชนิดชั่วระยะสั้น ๆ สัมพันธ์กับ hCG ระดับสูง และต้องแยกจาก Graves’ disease

ผลของการตั้งครรภ์ต่อโรค:

  • โดยทั่วไปแล้วการตั้งครรภ์ไม่มีผลต่อการดำเนินโรค แต่บางรายดีขึ้นได้บ้างจากการกดระบบภูมิคุ้มกันขณะตั้งครรภ์ และกำเริบหลังคลอด
  • การตั้งครรภ์ส่งเสริมทำให้เกิดหัวใจล้มเหลวมากขึ้นในกลุ่มที่ควบคุมโรคไม่ดี
  • การวินิจฉัยอาจยากขึ้นเนื่องจากอาการของคนตั้งครรภ์คล้ายกับคอพอกเป็นพิษ (ชีพจรเร็วขึ้นเล็กน้อย ร้อนง่าย ผิวหนังอุ่น)  และการแปลผลทางห้องปฏิบัติการสับสนได้บ่อย

ผลของโรคต่อการตั้งครรภ์

  • ในรายที่ควบคุมโรคได้ไม่ดี อาจมีผลทำให้เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ การแท้งเอง  การคลอดก่อนกำหนด  และทารกน้ำหนักน้อย
  • แอนติบอดีย์ผ่านรกไปมีผลกระตุ้นให้ทารกเกิดคอพอกเป็นพิษได้  แต่อุบัติการต่ำ
  • ยารักษาคอพอกเป็นพิษในมารดาผ่านรกไปทำลายต่อมธัยรอยด์ทารกได้ ทำให้เกิดภาวะภาวะพร่องธัยรอยด์ หรือคอพอกได้

การวินิจฉัยคอพอกเป็นพิษระหว่างการตั้งครรภ์

อาศัยลักษณะทางคลินิกเช่นเดียวกับคนไม่ตั้งครรภ์ แต่อาจสับสนได้ง่ายดังที่กล่าวมาข้างต้น อาการแสดงที่ช่วยในการวินิจฉัยคอพอกเป็นพิษระหว่างการตั้งครรภ์ได้แก่

  1. ชีพจรขณะพักมากกว่า 100 ครั้ง/นาทีหรือชีพจรเร็วขณะหลับ
  2. การมี onycholysis ตาโปน ต่อมธัยรอยด์โต (ครรภ์ปกติก็อาจโตได้บ้าง)
  3. ไม่สามารถเพิ่มน้ำหนักได้อย่างครรภ์ปกติ

การวินิจฉัยที่ดีที่สุดคือระดับ free thyroid hormone เพิ่มขึ้น สำหรับ total T4 ในซีรั่มจะเพิ่มขึ้นในครรภ์ปกติ แต่ถ้ามากกว่า 15 มค./ดล. บ่งชี้ว่าเป็นคอพอกเป็นพิษ  Free thyroxine index(FTI) ก็พอจะนำมาช่วยวินิจฉัยคอพอกเป็นพิษระหว่างการตั้งครรภ์ได้ แต่ไม่แน่นอนนัก

 การดูแลรักษา

  • โดยทั่วไปแนะนำให้รักษาด้วยยา PTU เป็นลำดับแรก สำหรับ methimazole ก็ใช้ได้ดี แต่ผ่านรกมากว่า และอาจทำให้เกิด aplasia cutis ในทารกได้ โดยพยายามควบคุมให้อยู่ในภาวะ hyperthyroid เล็กน้อย (ชีพจร 100-110) ซึ่งถือว่าควบคุมโรคได้โดยใช้ยาต้านธัยรอยด์น้อยที่สุด โดยรักษาให้ระดับ FT4 อยู่ที่ระดับสูงของค่าปกติ (upper limit)
  • ไม่รักษาด้วยไอโอดีนกัมมันตรังสี เพราะมีผลทำลายต่อมธัยรอยด์ทารกด้วย (ในช่วงหลัง  thyroid organogenesis คืออายุครรภ์ 10-11 สัปดาห์)
  • การผ่าตัดควรพิจารณาเฉพาะรายที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล   หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากยารุนแรง หรือในรายที่ก้อนต่อมโตมากจนขัดขวางทางเดินหายใจ ถ้าต้องผ่าตัดควรผ่าในไตรมาสที่สองจะดีที่สุด
  • สำหรับการดำเนินการตั้งครรภ์และการคลอดปฏิบัติตามสูติศาสตร์มาตรฐานทั่วไป
  • การให้นมบุตรในมารดาที่ใช้ PTU: PTU ที่ผ่านน้ำนมไปถึงทารกน้อยกว่า  methimazole  และไม่มีผลต่อการทำงานของต่อมธัยรอยด์ทารกอย่างมีนัยสำคัญ  ถ้าต้องการจะให้นมบุตรก็สามารถให้ได้ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็น่าจะดีกว่า
  • การคุมกำเนิด: ถ้าใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม  เอสโตรเจนอาจมีผลรบกวนทดสอบการทำงานของต่อมธัยรอยด์คล้ายขณะตั้งครรภ์ จึงต้องระมัดระวังในการแปลผล
  • Propranolol เป็น betablocker ช่วยลดชีพจร  แต่ไม่ลดฮอร์โมน  เห็นผลเร็วกว่า PTU แต่การให้เป็นเวลานาน อาจทำให้รกมีขนาดเล็ก ทารกโตช้าในครรภ์