การตรวจหาพาหะทางสูติศาสตร์
(Obstetric carrier screening)

รศ. พญ. กุณฑรี ไตรศรีศิลป์ หมื่นพินิจ


บทนำ

เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคในระดับยีนได้มากขึ้น โรคดังกล่าวสามารถถ่ายทอดไปสู่บุตรหลานได้ ดังนั้นการทราบว่าใครเป็นพาหะโรคใดบ้าง จะมีผลดีต่อการวางแผนการตั้งครรภ์และการมีบุตร เพื่อหลีกเลี่ยงการมีบุตรที่เป็นโรค นอกจากนี้ข้อมูลด้านพันธุศาสตร์จะมีประโยชน์ต่อบุคคลอื่นในครอบครัวด้วย

การตรวจหาพาหะ คือ การตรวจทางพันธุศาสตร์ในคนที่ไม่แสดงอาการของโรค เพื่อให้ทราบว่าบุคคลนั้นมีความผิดปกติของยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหรือไม่ (1) โดยสามารถตรวจหาโรคใดโรคหนึ่งหรือหลายโรคก็ได้ ทั้งนี้การตรวจหาพาหะจะทำให้แต่ละบุคคลทราบข้อมูลด้านพันธุกรรมของตนเอง เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการตั้งครรภ์หรือมีบุตร ลดความเสี่ยงที่จะมีบุตรเป็นโรค

แนวทางในการตรวจหาพาหะ (1)

  1. ตรวจโดยอาศัยข้อมูลด้านเชื้อชาติหรือถิ่นที่อยู่อาศัย (ethnic-specific) โดยอิงข้อมูลทางสถิติ และความชุกของโรคที่พบ ณ พื้นที่นั้น ๆ กล่าวคือ สภาวะโรคใดที่มีความชุกมาก โอกาสที่จะตรวจพบพาหะก็มากขึ้นไปด้วย แนวทางนี้ถือเป็นแนวทางที่ถือปฏิบัติกันมานาน จะทำการคัดกรองพาหะในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น การคัดกรองพาหะธาลัสซีเมียในประเทศไทย
  2. ตรวจโดยไม่สนใจเชื้อชาติหรือถิ่นที่อยู่ (panethnic) แต่จะตรวจหาพาหะโรคที่สนใจ (panel of disorders) ในทุกคน เนื่องจากสังคมในปัจจุบันมีความผสมผสานทางด้านเชื้อชาติ (multiracial society) ทำให้เป็นการยากที่จะระบุเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์ของคนคนหนึ่ง ดังนั้นข้อมูลความชุกของโรคจึงไม่เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน การตรวจแบบนี้จะสามารถค้นหาพาหะของโรคได้มากกว่า วิธีที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญ(2)
  3. ตรวจหลายสภาวะโรคเท่าที่ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจได้ (expanded) เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพันธุศาสตร์และราคาของการตรวจวิเคราะห์ที่เริ่มถูกลง ทำให้การตรวจหาพาหะด้วยวิธี DNA sequencing มีการกล่าวถึงมากขึ้น ทำให้สามารถหาพาหะหลาย ๆ โรคได้พร้อมกัน และมากกว่าที่แนะนำโดยองค์กรหลัก ๆ ซึ่งกลุ่มโรคที่ตรวจอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละห้องปฏิบัติการที่ให้บริการซึ่งเรียกว่า panel of disorders

โดยแต่ละสถานบริการสามารถกำหนดแนวทางการให้บริการที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง (standard approach) อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังคงต้องคำนึงถึงประวัติโรคพันธุกรรมในครอบครัว และความพึงพอใจของแต่ละบุคคลด้วย การซักประวัติโรคในครอบครัวถือเป็นการคัดกรองที่สำคัญอย่างหนึ่ง ถ้ามีประวัติโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ในครอบครัว บุคคลนั้นยิ่งควรได้รับการคัดกรองหาพาหะ หรือในทางกลับกันถ้าตรวจพบการเป็นพาหะในบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้ว คนในครอบครัวของเขาก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นพาหะ หรือการเกิดโรคเช่นเดียวกัน ซึ่งควรจะแนะนำให้มีการตรวจเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ไม่ว่าจะตรวจหาพาหะด้วยแนวทางใด สามารถทำได้ 2 ช่วง คือก่อนการตั้งครรภ์ (pre-pregnancy) และก่อนคลอด (prenatal) ซึ่งแน่นอน ถ้าสามารถตรวจก่อนการตั้งครรภ์ได้จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะหากทราบว่าเป็นคู่เสี่ยงของการเกิดโรคจะได้วางแผนเรื่องการมีบุตรต่อไป ว่าจะตั้งครรภ์มีบุตรเองหรือไม่ หรือจะใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งอาจจะเป็นการตรวจวินิจฉัยก่อนการตั้งครรภ์ (pre-implantation genetic diagnosis) หรือการใช้เซลล์สืบพันธุ์บริจาค (donor gametes) แต่หากทราบว่าเป็นคู่เสี่ยงเมื่อมีการตั้งครรภ์แล้ว ก็ยังจะมีทางเลือกสำหรับการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด (prenatal diagnosis) ซึ่งหากทราบว่าทารกในครรภ์เป็นโรค ข้อมูลที่ได้จะนำไปสู่ทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ การรักษาในครรภ์ หรือการเตรียมตัวเพื่อดูแลทารกหลังคลอดต่อไป

เนื่องจากความผิดปกติหรือโรคมีอยู่มากมาย องค์กรหลักไม่ว่าจะเป็น ACOG, SMFM และ ACMG ได้กำหนดแนวทางสำหรับการคัดเลือกโรคที่สมควรจะได้รับการตรวจหาพาหะ ดังนี้(3, 4)

  1. ความชุกของพาหะ (carrier frequency) ควรมากกว่า 1 ใน 100 หรือเทียบเคียงกับความชุกของโรคที่พบ 1 ต่อ 40,000 ที่แนะนำเช่นนี้เพื่อจะได้เป็นการตรวจหาโรคที่พบบ่อยจริง ๆ
  2. การตรวจหาพาหะสำหรับโรคที่มีความชุกน้อย ถ้าทำการตรวจหาหลายโรคมาก ๆ อาจทำให้พบพาหะมากขึ้น จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรเป็นพาหะของโรคใดโรคหนึ่งหรือหลายโรค(5) ซึ่งส่งผลให้ต้องมีการตรวจคู่สมรสมากขึ้น อาจเพิ่มความวิตกกังวลให้กับรายที่ตรวจพบ
  3. ลักษณะการแสดงออกของโรคที่ต้องการตรวจต้องชัดเจน (well-defined phenotype)
  4. โรคนั้นมีผลเสียต่อคุณภาพชีวิต
  5. โรคนั้นมีผลต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ (cognitive) และกายภาพ (physical) ที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัด
  6. โรคนั้นแสดงออกตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต (early in life)
  7. โรคนั้นสามารถให้การตรวจวินิจฉัยก่อนคลอดได้ เมื่อทราบว่าคู่สมรสเป็นคู่เสี่ยง
  8. เมื่อทราบว่าเป็นโรค จะต้องมีการทำหัตถการบางอย่าง (antenatal intervention) ที่จะทำให้ผลลัพธ์การตั้งครรภ์หรือการคลอดดีขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงการดูแลระหว่างคลอดเพื่อให้ทารกมีผลลัพธ์ที่ดี หรือเป็นการเตรียมพ่อแม่เพื่อการดูแลทารกหลังคลอด
  9. ไม่ควรตรวจหาโรคที่แสดงอาการเมื่อเป็นผู้ใหญ่ (adult onset)
  10. โรคที่มีการแสดงออกหลากหลาย (variable expressivity) การถ่ายทอดไม่สมบูรณ์ (incomplete penetrance) สามารถเป็นทางเลือกในการตรวจได้ (optional)
  11. แต่ละโรคที่จะตรวจนั้นควรทราบยีนที่เป็นสาเหตุ การกลายพันธุ์ของยีน และความถี่ของแต่ละการกลายพันธุ์ในกลุ่มประชากรที่จะทำการตรวจ เพื่อประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงที่เหลืออยู่ เมื่อการคัดกรองให้ผลลบ

ตารางที่ 1 ตัวอย่างโรคที่เหมาะสมในการตรวจหาพาหะ

โรคที่คัดกรอง ความถี่ของพาหะในประชากรทั่วไป ความถี่ของพาหะที่จำเพาะในแต่ละเชื้อชาติ
Alpha-thalassemia Unknown African: 1 : 3

Mediterranean: 1 : 30

Southeast Asian and Middle Eastern: 1 : 20

Beta-thalassemia Unknown African American: <1 : 8

Ashkenazi Jewish: varied

Asian: 1 : 20

Mediterranean: 1 : 7

Bloom syndrome < 1 : 500 Ashkenazi Jewish: 1 : 100
Canavan disease < 1 : 150 Ashkenazi Jewish: 1 : 41
Cystic fibrosis Unknown African American: 1 : 61

Ashkenazi Jewish: 1 : 24

Asian: 1 : 94

Caucasian: 1 : 25

Hispanic: 1 : 58

Familial dysautonomia < 1 : 500 Ashkenazi Jewish: 1 : 31
Familial hyperinsulinism < 1 : 150 Ashkenazi Jewish: 1 : 52
Fanconi anemia C < 1 : 790 Ashkenazi Jewish: 1 : 89
Fragile X syndrome 1 : 259
Galactosemia 1 : 87 Ashkenazi Jewish: 1 : 127
Gaucher disease < 1 : 100 Ashkenazi Jewish: 1 : 15
Glycogen storage disease type 1A < 1 : 150 Ashkenazi Jewish: 1 : 71
Joubert syndrome < 1 : 500 Ashkenazi Jewish: 1 : 92
Medium-chain acyl-coA dehydrogenase deficiency Unknown Caucasian: 1 : 50
Maple syrup urine disease type 1A and 1B 1 : 240 Ashkenazi Jewish: 1 : 81 (type IB)

Mennonite: 1 : 10 (type 1A)

Mucolipidosis IV < 1 : 500 Ashkenazi Jewish: 1 : 96
Niemann-Pick disease type A < 1 : 500 Ashkenazi Jewish: 1 : 90
Phenylketonuria Unknown Caucasian: 1 : 50

Irish: 1 : 34

Sickle cell anemia Unknown African American: 1 : 10
Smith-Lemli-Opitz syndrome Unknown Caucasian: 1 : 70
Spinal muscular atrophy Unknown African American: 1 : 66

Ashkenazi Jewish: 1 : 41

Asian: 1 : 53

Caucasian: 1 : 35

Hispanic: 1 : 117

Tay-Sachs disease 1 : 300 Ashkenazi Jewish: 1 : 30

French Canadian and Cajun: 1 : 30

ที่มา Committee on Genetics. Committee Opinion No. 690: Carrier Screening in the Age of Genomic Medicine. Obstet Gynecol. 2017;129:e35-e40.

อย่างไรก็ตามการตรวจหาทุกโรค (expanded screening) จะทำให้ตรวจพบบุคคลที่เป็นพาหะมากขึ้น แม้ว่าความชุกของโรคจะน้อย แต่เมื่อตรวจหาหลายโรคมาก ๆ ทำให้พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรเป็นพาหะของโรคใดโรคหนึ่งหรือหลายโรค(2, 5) ซึ่งส่งผลให้ต้องมีการตรวจคู่สมรสมากขึ้น และอาจเพิ่มความวิตกกังวลให้กับรายที่ตรวจพบ ในที่สุดจะต้องการการให้คำปรึกษาทางพันธุศาสตร์ที่ดีซึ่งยังเป็นการบริการที่ขาดแคลนในประเทศไทย ดังนั้นหากอ้างอิงตาม ACOG มีคำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจดังนี้(6)

  1. ให้ตรวจ 3 โรค ได้แก่ cystic fibrosis, spinal muscular atrophy, thalassemia และ hemoglobinopathies ในทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ
  2. ตรวจหาพาหะเพิ่มเติมได้ตามประวัติครอบครัว หรือความเสี่ยงตามเชื้อชาติ (risk-based carrier screening)
  3. ตรวจ fragile X premutation ในผู้หญิงที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคที่เกี่ยวกับ fragile X (fragile X-related disorder) หรือมีปัญหาด้านสติปัญญาที่อาจเข้าได้กับโรค fragile X หรือในผู้หญิงที่มีประวัติ ovarian insufficiency โดยไม่ทราบสาเหตุก่อนอายุ 40 ปี

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาเรื่องการตรวจหาพาหะมีดังนี้ (3, 6)

  1. ควรให้ข้อมูลการตรวจหาพาหะแก่สตรีทุกรายที่วางแผนจะมีบุตรหรือกำลังตั้งครรภ์อยู่ ในแง่ของโรคที่จะทำการตรวจคัดกรองว่ามีอะไรบ้าง ประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อทำการตรวจ และข้อจำกัดของการตรวจ
  2. โรคบางโรคที่ตรวจ มีลักษณะแสดงออกไม่ชัดเจน หากต้องการตรวจจะต้องมีการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร
  3. หลายโรคที่ตรวจเป็นโรคที่พบได้น้อย ซึ่งความชุกของโรค ความถี่ของการกลายพันธุ์ (mutation frequency) และอัตราการตรวจพบ (detection rate) อาจจะมีความแม่นยำไม่มากพอ
  4. การตรวจหาพาหะนี้ ถือเป็นทางเลือก (optional) เมื่อบุคคลนั้นได้รับข้อมูลและการให้คำปรึกษาทางพันธุศาสตร์แล้วจะทำการตรวจหาพาหะหรือไม่ก็ได้ หรือจะเลือกตรวจเฉพาะบางโรคที่ต้องการก็ได้
  5. หากบุคคลใดต้องการตรวจหาพาหะต่อโรคหรือสภาวะใด ที่ผู้ให้บริการไม่ได้แนะนำ ผู้ให้บริการควรจะทำการตรวจเพิ่มเติมให้
  6. คู่สมรสที่มีการแต่งงานในเครือญาติ ควรได้รับคำปรึกษาเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะถ่ายทอดโรคยีนด้อย (recessive condition) ไปยังบุตรมากขึ้นกว่าประชากรทั่วไป ซึ่งการตรวจหาพาหะจะมีประโยชน์ทำให้ทราบว่าเป็นคู่เสี่ยงจริงหรือไม่
  7. เมื่อผลการคัดกรองเป็นลบ โอกาสที่จะเป็นพาหะ และมีบุตรเป็นโรคจะลดลง แต่ยังคงมีความเสี่ยงเหลืออยู่ (residual risk) เสมอ เพราะด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคของห้องปฏิบัติการที่ไม่สามารถคัดกรองได้ทุกการกลายพันธุ์ของโรคที่ตรวจ เช่น โรคหนึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ได้ 30 แบบ แต่ชุดตรวจครอบคลุมเพียง 20 การกลายพันธุ์ หรือบางรายเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ (de novo mutation) นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อโรคอื่นที่ไม่ได้คัดกรอง
  8. เมื่อผลคัดกรองเป็นบวก แนะนำให้ตรวจคู่สมรสต่อ หากไม่สามารถตรวจได้ ต้องคำนวณความเสี่ยง หรือความน่าจะเป็นที่ทารกจะเป็นโรคโดยอาศัยข้อมูลความชุกในกลุ่มประขากรนั้น เพื่อประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการมีบุตร หรือการตรวจทารกในครรภ์ต่อไป
  9. เนื่องจากเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เมื่อผลคัดกรองเป็นบวก ควรทำการตรวจสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ ด้วย
  10. ในรายที่มีประวัติการเกิดโรคในครอบครัว การตรวจหาการกลายพันธุ์ (specific familial mutation) จะตรงประเด็นกว่าการตรวจหาพาหะ เพราะเมื่อทราบการกลายพันธุ์ จะนำไปสู่การตรวจวินิจฉัยก่อนคลอดได้อย่างจำเพาะและรวดเร็ว

ถ้าพิจารณาตามความชุกของพาหะดังตารางที่ 1 โรคที่ควรได้รับการตรวจหาพาหะในประเทศไทยคือ thalassemia และ hemoglobinopathies, cystic fibrosis, spinal muscular atrophy และ fragile X syndrome

ธาลัสซีเมีย (Thalassemia)

ธาลัสซีเมีย (thalassemia) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมของเม็ดเลือดแดง เป็นโรคที่พบมากในประชากรไทย อาการของโรคมีตั้งแต่โลหิตจางเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก หรือเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือช่วงสั้น ๆ หลังคลอด การควบคุมธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงด้วยยุทธวิธีก่อนคลอดจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยและค่าใช้จ่ายในการรักษา แนวคิดในการป้องกันและควบคุมโดยวิธีคัดกรองและวินิจฉัยก่อนคลอด ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูง(7) ประกอบด้วยหลักการสำคัญคือ

1) ให้ความรู้ โดยเน้นความเป็นพาหะ ความเป็นคู่เสี่ยง และความเสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรค เน้นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง 3 โรคคือ homozygous alpha-thalassemia (Hb Bart’s disease), homozygous beta-thalassemia และ beta-thalassemia/Hb E disease

2) การตรวจคัดกรองหาพาหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งถ้าสตรีเป็นพาหะ ต้องคัดกรองสามีดูว่าเป็นพาหะด้วยหรือไม่

3) การให้คำปรึกษาทางพันธุศาสตร์ ให้คู่สมรสเข้าใจถึงความเสี่ยง ธรรมชาติของโรค การหลีกเลี่ยงการมีบุตรที่เป็นโรค

4) การวินิจฉัยก่อนคลอด (ในรายที่เป็นคู่เสี่ยง)

5) การให้ทางเลือกแก่คู่สมรส ในการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ หรือเตรียมพร้อมกับการดูแลบุตรที่เป็นโรค

แนวทางป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมียก่อนคลอดดังกล่าวจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและลดค่าใช้จ่ายของประเทศได้ทางหนึ่ง ซึ่งยุทธวิธีการควบคุมมีหลายรูปแบบ มีความเหมาะสมแตกต่างกันไปตามยุคสมัย หรือภูมิภาคที่มีความชุกและเศรษฐานะแตกต่างกัน


ภาพที่ 1
ยุทธวิธีในการควบคุมธาลัสซีเมียชนิดร้ายแรง

จากยุทธวิธีการควบคุมที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการตรวจคัดกรองพาหะนับเป็นส่วนสำคัญมากของการควบคุมโรคโดยวิธีก่อนคลอด ซึ่งแนวทางการคัดกรองที่ใช้กันแพร่หลายมีดังต่อไปนี้

การคัดกรองค้นหาคู่เสี่ยง (Detection of couples at risk)

วิธีค้นหาคู่เสี่ยงประกอบด้วยสองวิธีหลัก คือ

  1. Retrospective screening (complete history review) อาศัยการซักประวัติเกี่ยวกับโรคเลือด ซึ่งที่สำคัญคือ การมีบุตรคนก่อนเป็นโรคธาลัสซีเมีย หรือทารกบวมน้ำจาก Hb Bart’s disease หรือทราบว่าเป็นพาหะมาก่อนแล้วจากการคัดกรองในครรภ์ก่อน หรือคัดกรองมาจากที่อื่น เป็นต้น
  2. Prospective screening เป็นการคัดกรองในสตรีฝากครรภ์ทั่วไปที่ไม่ทราบความเสี่ยง มีวิธีการสำคัญคือ การตรวจคัดกรองพาหะเบื้องต้น (screening test for carrier) ซึ่งในรายที่ให้ผลบวกจะทำการทดสอบยืนยันการเป็นพาหะ (diagnostic test for carrier)

การตรวจคัดกรองพาหะ (Screening test)

เป็นการคัดกรองพาหะในสตรีตั้งครรภ์ วิธีคัดกรองพาหะ แอลฟ่า-ธาลัสซีเมีย-1 และ เบต้า-ธาลัสซีเมีย เช่น osmotic fragility (OF) test (8) หรือ mean corpuscular volume (MCV) (9) ซึ่งขอเรียกว่า thal screen และวิธีคัดกรองพาหะฮีโมโกลบิน อี เช่น dichlorophenolindolphenol precipitation test (DCIP test) (10) (โดยเฉพาะ KKU-DCIP ที่ผลิตโดยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) หรือ Hb E screen test (10) (ที่พัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ซึ่งขอเรียกว่า Hb E screen การคัดกรองพาหะต้องตรวจ thal screen ร่วมกับ Hb E screen เนื่องจาก OF / MCV คัดกรองฮีโมโกลบิน อี ได้ไม่สมบูรณ์ คือประมาณกว่าหนึ่งในสามของพาหะฮีโมโกลบิน อี ให้ผล OF / MCV ปกติได้ (11)

ในทางปฏิบัติจะเจาะเลือดคู่สมรสทั้งคู่ขณะมาฝากครรภ์ครั้งแรก

ถ้า thal screen ให้ผลเป็นลบ (ปกติ) ทั้งสตรีตั้งครรภ์และสามี แปลว่า ไม่ใช่คู่เสี่ยง (แม้จะไม่ทราบผล Hb E screen)

ถ้าทั้ง thal screen และ Hb E screen ของสตรีตั้งครรภ์หรือสามี คนใดคนหนึ่ง ให้ผลเป็นลบ แปลว่าไม่ใช่คู่เสี่ยง (แม้ว่าจะทราบผลของฝ่ายเดียว)

ถ้า thal screen หรือ Hb E screen ของคนใดคนหนึ่งให้ผลบวก จะทำการตรวจเลือดคู่สมรสต่อ ถ้ามีผลเป็นบวกอย่างใดอย่างหนึ่ง แปลว่า เป็นคู่เสี่ยง ก็จะทำการตรวจยืนยันด้วย diagnostic test ต่อไป

การตรวจวินิจฉัยพาหะ (Diagnostic test)

เป็นการตรวจเพื่อยืนยันการเป็นพาหะแอลฟ่า-ธาลัสซีเมีย-1 (SEA type และ THAI type) ด้วย PCR และพาหะเบต้า-ธาลัสซีเมีย หรือพาหะฮีโมโกลบิน อี ด้วยการวัดระดับ HbA2 ซึ่งอาจตรวจด้วยวิธี Hb typing มาตรฐาน หรือ microcolumn chromatography หรือ HPLC (high performance liquid chromatography)

มีการพัฒนาเทคนิคต่าง ๆ ในการวินิจฉัยพาหะอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านวิเคราะห์ดีเอ็นเอ หรืออิมมูโนวิทยา แต่ละวิธีใหม่ ๆ จะพยายามหาเทคนิคราคาถูก สะดวกในทางปฏิบัติ และมีใช้แพร่หลายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การพัฒนา IC (immunochromatographic) strip (12) เป็นเทคนิคตรวจหาฮีโมโกลบินบาร์ทปริมาณเล็กน้อยซึ่งพบในผู้ที่เป็นพาหะของแอลฟ่า-ธาลัสซีเมีย-1 มีความไวสูงมาก ราคาถูกกว่าการตรวจยีนด้วย PCR แต่ความจำเพาะไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับทดสอบในรายที่ thal screen ให้ผลบวก ซึ่งถ้า IC strip ให้ผลลบ แปลว่าไม่เป็นพาหะแอลฟ่า-ธาลัสซีเมีย-1 ไม่จำเป็นต้องตรวจ PCR แต่ถ้าให้ผลบวกมีส่วนหนึ่ง (กว่าร้อยละ 10) เป็นผลบวกลวง จึงค่อยยืนยันต่อด้วย PCR การตรวจ IC strip ซึ่งเป็น secondary screening ก่อนทำ PCR ช่วยลดค่าใช้จ่ายลง แต่เพิ่มขั้นตอน หรือสร้างความยุ่งยากในกระบวนการทางคลินิกได้ อาจไม่เหมาะกับการใช้ในวงกว้าง

ประสบการณ์ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ใช้เทคนิค PCR สำหรับตรวจยืนยันแอลฟ่า-ธาลัสซีเมีย-1 (SEA type) ซึ่งได้พัฒนามาจากวิธีของ Chang และคณะ (13) โดยเปลี่ยนแปลง primer ตัวที่เป็นตัวกำหนดสำหรับแอลฟ่า-ธาลัสซีเมีย-1 ใหม่ ทำให้ในคนปกติมี PCR product ที่มี 314 คู่เบสอย่างเดียว ขณะที่ผู้ที่เป็นพาหะของแอลฟ่า-ธาลัสซีเมีย-1 จะพบ PCR product ที่มี 314 และ 188 คู่เบส ในประสบการณ์การคัดกรองกว่า 40,000 รายพบว่าสามารถคัดกรองทารกฮีโมโกลบินบาร์ทได้เกือบทั้งหมด มีเพียงจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 1 เท่านั้นที่เป็นโรคฮีโมโกลบินบาร์ทจากการกลลายพันธุ์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่ SEA type ที่หลุดจากการคัดกรองได้ จะเห็นได้ว่าการคัดกรองแต่ละภูมิภาคจำเป็นต้องทราบความชุกและชนิดของปัญหาที่พบบ่อยและปรับยุทธวิธีให้เหมาะสมกับภูมิภาคของตนเอง หรือในภูมิภาคที่ความชุกของโรคฮีโมโกลบินบาร์ทต่ำมาก การตรวจคัดกรองและควบคุมอาจไม่คุ้มกับความสิ้นเปลืองที่ต้องลงทุนก็ได้

Sickle cell disease

เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมด้วยยีนด้อย เกิดจากการแทนที่ของนิวคลิโอไทด์ 1 ตัว (single nucleotide substitution) ในเบต้า-โกลบินยีน จาก glutamic acid เป็น valine กลายเป็นฮีโมโกลบิน เอส (hemoglobin S) ถ้าบุคคลใดเกิดกลายพันธุ์ทั้ง 2 allele (homozygous hemoglobin S, hemoglobin SS) จะเกิดโรคที่เรียกว่า sickle anemia นอกจากนี้หากเป็น compound heterozygous ระหว่างฮีโมโกลบิน เอส กับกลายพันธุ์ของเบต้า-โกลบินยีนอื่น ๆ เช่น hemoglobin S/ beta-thalassemia, hemoglobin SC จะมีอาการเช่นเดียวกับ hemoglobin SS ได้ ลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ เม็ดเลือดแดงผิดรูป ส่งผลให้เลือดเหนียวข้นขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของหลอดเลือดอุดตัน (vesoocclusive crisis) โดยเฉพาะในหลอดเลือดเล็ก ๆ ทำให้มีอาการปวดรุนแรงทั้งฉับพลันและเรื้อรัง และอวัยวะต่าง ๆ ขาดออกซิเจนได้ เม็ดเลือดแตกสลายง่าย ทำให้ร่างกายเกิดภาวะซีด(14)

พบบ่อยในประชากรที่มีถิ่นกำเนิดจาก African โดยพบว่า 1 ใน 10 ของชาว African American เป็นพาหะ (sickle cell trait)(15) และยังพบได้บ่อยในเชื้อชาติอื่น ๆ รวมทั้งเอเชียด้วย การคัดกรองทำได้หลายวิธี เช่น sickle solubility testing, hemoglobin electrophoresis, high-performance liquid chromatography (HPLC) และ isoelectric focusing (IEF) โดยแต่ละวิธีมีจุดเด่นและข้อจำกัดแตกต่างกัน(16)

โรคนี้สามารถตรวจคัดกรองและให้การวินิจฉัยด้วย hemoglobin electrophoresis โดยจะพบว่าเกือบทั้งหมดจะเป็น HbS มี HbA2 และ HbF เล็กน้อย(16)

Cystic fibrosis (CF)

เป็นโรคที่พบบ่อยในประชากรกลุ่ม non-Hispanic white อุบัติการณ์อยู่ที่ 1 ต่อ 3,000 การเกิดมีชีพ(17) พบน้อยลงในเชื้อชาติอื่น อย่างไรก็ตามในสังคมปัจจุบันการระบุเชื้อชาติทำได้ยาก เนื่องจากความหลากหลายทางสังคม ดังนั้น ACOG จึงแนะนำให้ตรวจหาพาหะ CF ในสตรีทุกรายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548(18) เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน cystic fibrosis transmembrane regulator (CFTR) บนโครโมโซมคู่ที่ 7 ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย เป็นโรคที่มีความผิดปกติของหลายระบบ ที่สำคัญคือ ปอด ทางเดินอาหาร และตับอ่อน อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 42 ปี โดยสาเหตุการเสียชีวิตคือระบบหายใจล้มเหลว ร้อยละ 95 ของผู้ชายที่เป็นโรคนี้จะมีปัญหามีบุตรยากเนื่องจากไม่มี vas deferens(17) แม้ว่าในปัจจุบันมีการค้นพบกลายกลายพันธุ์ของยีนดังกล่าวมากกว่า 2,000 ชนิด(19) แต่การตรวจหาพาหะแนะนำว่าควรได้รับการคัดกรองอย่างน้อย 23 ชนิด ซึ่งรวมเอาการกลายพันธุ์ที่พบบ่อย(20) ซึ่งความไวในการตรวจจะแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติ หรือความชุกของพาหะ ดังนั้นแม้การตรวจจะให้ผลเป็นลบ ความเสี่ยงที่จะเป็นพาหะลดลง แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่ ดังแสดงในตารางที่ 2 อย่างไรก็ตามการตรวจ CFTR ยีน ด้วย DNA sequencing ซึ่งสามารถหาการกลายพันธุ์ได้ครอบคลุมกว่า ไม่แนะนำให้ใช้เป็นการตรวจคัดกรอง แต่อาจพิจารณาตรวจในรายที่ 1)ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรค หรือมีประวัติโรคในครอบครัว แต่ตรวจคัดกรองพาหะด้วยการกลายพันธุ์ที่พบบ่อยแล้วให้ผลเป็นลบ 2)ผู้ชายที่ไม่มี vas deferens ทั้งสองข้างมาแต่กำเนิด

ตารางที่ 2 ความไวในการตรวจคัดกรอง cystic fibrosis จากชุดตรวจ 23 การกลายพันธุ์ และอัตราการเป็นพาหะก่อนและหลังการตรวจ

กลุ่มเชื้อชาติ อัตราการ
ตรวจพบ (%)
ความเสี่ยงต่อการเป็นพาหะก่อนการทดสอบ ความเสี่ยงต่อการเป็นพาหะหลังการทดสอบเป็นผลลบ
Ashkenazi Jewish 94 1 : 24 1 : 380
Non-Hispanic white 88 1 : 25 1 : 200
Hispanic white 72 1 : 58 1 : 200
African American 64 1 : 61 1 : 170
Asian American 49 1 : 94 1 : 180

ที่มา Committee on Genetics. Committee Opinion No. 691: Carrier Screening for Genetic Conditions. Obstet Gynecol. 2017

Spinal muscular atrophy (SMA)

อุบัติการณ์ของโรคอยู่ที่ 1 ต่อ 11,000 การคลอดมีชีพ(21) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในทารก และเป็นโรคที่ไม่มีการรักษา เกิดจากการกลายพันธุ์ของ survival motor neuron gene (SMN1) ที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย (autosomal recessive)(21, 22) ทำให้เกิดการเสื่อมของ motor neurons ที่ไขสันหลัง (degeneration of spinal cord motor neurons) โดยความถี่ของพาหะ (carrier frequency) ในประชากรทั่วไปอยู่ที่ 1 ต่อ 40 ถึง 1 ต่อ 60 แตกต่างกันไปตามเชื้อชาติดังแสดงในตารางที่ 3(23) อย่างไรก็ตามประมาณร้อยละ 2 ของทารกที่เป็นโรคนี้เกิดจากการกลายพันธุ์ขึ้นมาเอง

เนื่องจากความซับซ้อนของยีน ทำให้การตรวจหาความผิดปกติ และการทำนายอาการแสดง (phenotype) ทำได้ยาก เพราะมียีนที่หน้าตาคล้ายกันมาก คือ SMN1 และ SMN2 โดย SMN1 เป็นตัวที่ทำงานเป็นหลัก ร้อยละ 94 ของผู้ป่วยเกิดจากการกลายพันธุ์ของ SMN1 ทั้งสอง allele ซึ่งปกติ SMN1 หนึ่ง copy จะอยู่บนแต่ละโครโมโซม แต่อาจมีบางรายที่ทั้งสอง copy ของ SMN1 อยู่บนโครโมโซมเดียวกัน (23) (ภาพที่ 2) นอกจากนี้ลักษณะแสดงออกยังขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นมี SMN2 ยีนหรือไม่ ซึ่ง SMN2 ยีน ปกติมีได้ตั้งแต่ 0 ถึง 3 copies สามารถผลิต survival motor neuron protein ได้ในปริมาณน้อย ๆ ทดแทนการทำงานที่เสียไปของ SMN1 ได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น ถ้าบุคคลนั้นมี SMN2 copies มาก อาการแสดงจะดีกว่าหรือรุนแรงน้อยกว่าคนที่ไม่มี SMN2 ยีน เนื่องจากเมื่อมีการกลายพันธุ์ของ SMN1 SMN2 จะทำหน้าที่ทดแทนได้บางส่วน (22, 24) แต่อย่างไรก็ตามไม่สามารถใช้จำนวน SMN2 มาทำนายอาการแสดงของโรคได้อย่างแม่นยำ (24)

ตารางที่ 3 ความเสี่ยงของการเป็นพาหะโรค SMA ตามเชื้อชาติ และความเสี่ยงหลังการตรวจคัดกรองเป็นลบ

กลุ่มเชื้อชาติ อัตราการ
ตรวจพบพาหะ (%)
ความเสี่ยงต่อการเป็นพาหะ ความเสี่ยงต่อการเป็นพาหะหลังการทดสอบเป็นผลลบ
Caucasian 95 1 : 35 1 : 632
Ashkenazi Jewish 90 1 : 41 1 : 350
Asian 93 1 : 53 1 : 628
African American 71 1 : 66 1 : 121
Hispanic 91 1 : 117 1 : 1,061

ที่มา Hendrickson BC, Donohoe C, Akmaev VR, Sugarman EA, Labrousse P, Boguslavskiy L, et al. Differences in SMN1 allele frequencies among ethnic groups within North America. J Med Genet. 2009;46:641-4.[/vc_column_text][/vc_column][/vc_row]

ภาพที่ 2 ยีน SMN1 ในคนปกติ พาหะ และคนที่เป็นโรค (ที่มา Committee on Genetics. Committee Opinion No. 691: Carrier Screening for Genetic Conditions. Obstet Gynecol. 2017)

ลักษณะอาการแบ่งตามอายุที่แสดงอาการดังนี้ (22)

  • ชนิดที่ 0 แสดงอาการตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยจะได้ประวัติทารกดิ้นน้อยลง เมื่อแรกคลอดทารกจะอ่อนแรง ไม่มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และมีปัญหาข้อติด เสียชีวิตภาพใน 6 เดือนแรก ด้วยระบบหายใจล้มเหลว
  • ชนิดที่ 1 Werdnig-Hoffman เริ่มแสดงอาการที่อายุ 6 เดือน มักจะเสียชีวิตในอายุ 2 ปีแรก ด้วยระบบหายใจล้มเหลว
  • ชนิดที่ 2 เริ่มแสดงอาการก่อนอายุ 2 ปี เด็กที่เป็นโรคจะนั่งได้ แต่มีน้อยรายที่จะยืน หรือเดินได้เองโดยไม่ต้องช่วย มักจะเสียชีวิตในช่วงวัยรุ่น ด้วยระบบหายใจล้มเหลว
  • ชนิดที่ 3 Kugelberg-Welander เริ่มแสดงอาการหลังอายุ 1 ปีครึ่ง ลักษณะอาการหลากหลายมีได้ตั้งแต่ นั่งล้อเข็น หรือสามารถเคลื่อนไหวได้โดยไม่ต้องช่วย แต่อาจมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงเล็กน้อย อายุขัยเฉลี่ยเท่ากับคนทั่วไป
  • ชนิดที่ 4 พบได้น้อยที่สุด น้อยกว่าร้อยละ 5 ของคนที่เป็นโรค มีอาการอ่อนแรงเพียงเล็กน้อย เริ่มแสดงอาการในวัยผู้ใหญ่ หลังอายุ 30 ปี

การตรวจคัดกรองพาหะทำได้โดยวิธี quantitative polymerase chain reaction assay (Q-PCR) เป็นการวัด SMN1 copy number หรือ dosage analysis ความไวอยู่ที่มากกว่าร้อยละ 90 อย่างไรก็ตามร้อยละ 3-4 ของประชากร SMN1 ทั้งสอง copy อยู่บนโครโมโซมเดียวกัน และอีกข้างหนึ่งไม่มียีนนี้ ทำให้ตรวจด้วย Q-PCR ให้ผลเป็นลบเนื่องจากมี copy number เท่ากับคนปกติ (ภาพที่ 2) แต่สามารถเป็นพาหะส่งผ่าน allele ที่ไม่มียีนได้ ดังนั้นในการให้คำปรึกษาควรเน้นย้ำถึงข้อจำกัดตรงนี้ด้วยว่า แม้การตรวจหาพาหะให้ผลลบ ยังอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นพาหะได้อยู่

Fragile X syndrome

เป็นกลุ่มอาการที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (intellectual disability) ซึ่งเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม (hereditary) ที่พบบ่อยที่สุด คือประมาณ 1 ต่อ 2,500-5,000 ของเพศชาย และ 1 ใน 2,500-8,000 ของเพศหญิง(25) โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบ X-linked disorder สาเหตุเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน fragile X mental retardation-1 (FMR1) บนโครโมโซม Xq27.3 โดยมีการซ้ำเป็นชุด ๆ ของลำดับนิวคลิโอไทด์ 3 ตัว (trinucleotide repeats) ชนิด CGG (cytosine-guanine-guanine) ซึ่งจำนวนซ้ำจะแตกต่างกันไปในแต่บุคคล มีลักษณะทางคลินิกหลากหลายตั้งแต่เล็กน้อย ปานกลาง หรือรุนแรง ทั้งในด้านการเรียนรู้ ระดับสติปัญญา และพฤติกรรม เช่น พูดช้า พัฒนาการช้าในด้านการเคลื่อนไหวแบบหยาบ และแบบละเอียด หรือมีลักษณะคล้ายโรคออทิสซึม (autism) สมาธิสั้น (attention deficit) ซนมากหรือไม่อยู่นิ่ง (hyperactivity) รูปลักษณ์ภายนอกที่มีรูปแบบจำเพาะคือ รูปหน้ายาวแคบ (long-narrow face) ใบหูใหญ่ (prominent ears) แต่ลักษณะเหล่านี้จะเห็นชัดขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น การวินิจฉัยในเด็กแรกคลอดหรือทารกอาจทำได้ยาก อัณฑะมีขนาดใหญ่ (macroorchidism) ข้อต่อของร่างกายมีความยืดหยุ่นมากกว่าปกติ (joint, skin laxity) ความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลง (hypotonia) อาจพบ mitral valve prolapse ได้(25) โดยลักษณะดังกล่าวในผู้ชายจะมีความรุนแรงมากกว่าผู้หญิง

Fragile X syndrome แบ่งเป็น 4 กลุ่มตามความมากน้อยของจำนวน trinucleotide repeats (26)

  1. จำนวนซ้ำของ CGG 5-44 ชุด พบได้ในคนปกติ (unaffected) เมื่อถ่ายทอดไปยังบุตรจำนวนซ้ำไม่เพิ่มขึ้น
  2. จำนวนซ้ำของ CGG 45-54 ชุด พบในคนที่ไม่มีอาการ แต่จำนวนซ้ำของ CGG มากขึ้นได้เมื่อมีการถ่ายทอดไปยังบุตร เรียกว่า intermediate หรือ gray zone
  3. จำนวนซ้ำของ CGG 55-200 ชุด พบในคนที่เป็นพาหะ เรียกว่า premutation ไม่แสดงอาการของโรค fragile X แต่เพิ่มความเสี่ยงของกลุ่มอาการสั่นและเดินเซ (fragile X associated tremor/ataxia syndrome หรือ FXTAS) การแสดงออกจะพบมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เฉลี่ยอายุที่แสดงออกคือมากกว่า 50 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง(27) สำหรับผู้หญิงเพิ่มความเสี่ยงของรังไข่หยุดทำงานก่อนวัย (premature ovarian failure) โดยพบร้อยละ 20 ของคนที่เป็นพาหะ(28)
  4. จำนวนซ้ำของ CGG มากกว่า 200 ชุด พบในคนที่เป็นโรค เรียกว่า full mutation ลักษณะแสดงออก ดังกล่าวข้างต้น

การถ่ายทอดไปยังบุตรขึ้นกับว่า allele นั้นถ่ายทอดมาจากพ่อหรือแม่ กล่าวคือจำนวนซ้ำ CGG จะไม่เปลี่ยนแปลงในกระบวนการสร้างอสุจิ (spermatogenesis) ดังนั้นถ้าพ่อเป็นพาหะ (premutation) บุตรจะไม่เป็นโรค หรือบุตรจะเกิดโรคเฉพาะรายที่พ่อเป็นโรคเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามจำนวนซ้ำ CGG จะเพิ่มขึ้นในกระบวนการสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย (oogenesis) ทำให้สตรีที่เป็นพาหะจะมีโอกาสให้บุตรเป็นโรคมากขึ้น ดังแสดงในตารางที่ 4(29)

ตารางที่ 4 โอกาสที่จะเกิด full mutation เมื่อสตรีถ่ายทอด premutation allele ไปยังบุตร

จำนวนซ้ำของนิวคลิโอไทด์
ในมารดา
สถานภาพของการกลายพันธุ์ โอกาสที่บุตรจะเกิด full mutation expansion (%)
น้อยกว่า 45 unaffected
45-54 Intermediate/ gray zone
55-59 premutation 4
60-69 premutation 5
70-79 premutation 31
80-89 premutation 58
90-99 premutation 80
100-200 premutation 98
มากกว่า 200 full mutation 100

ที่มา Nolin SL, Brown WT, Glicksman A, Houck GE, Jr., Gargano AD, Sullivan A, et al. Expansion of the fragile X CGG repeat in females with premutation or intermediate alleles. Am J Hum Genet. 2003;72:454-64.

การตรวจหาพาหะ หรือ premutation นั้นแนะนำให้ทำ 2 กรณีคือ

  1. สตรีที่มีประวัติครอบครัวของความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของยีน FMR1 (fragile X -related disorder) หรือมีความบกพร่องทางสติปัญญาที่คาดว่าจะเกิดจาก fragile X syndrome
  2. สตรีที่มีประวัติรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร คือก่อนอายุ 40 ปีที่หาสาเหตุไม่ได้ (unexplained ovarian insufficiency)

สรุป

การตรวจหาพาหะมีประโยชน์สำหรับการวางแผนการตั้งครรภ์ และการมีบุตร แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วควรจะมีการให้คำปรึกษาทางพันธุศาสตร์ที่ดีทั้งก่อนและหลังการตรวจ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดแก่สตรีตั้งครรภ์และครอบครัว โดยไม่เพิ่มความวิตกกังวลมากเกินไป ในส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าการซักประวัติการตั้งครรภ์และประวัติครอบครัวยังมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากสำหรับบริบทในประเทศไทย เนื่องจากการเข้าถึงการบริการที่จำกัด ประวัติดังกล่าวจะทำให้สามารถหากลุ่มเสี่ยงที่ควรจะได้รับการตรวจคัดกรองจริง ๆ

สำหรับ panethnic ก็ยังมีประโยชน์ในสังคมปัจจุบันที่มีความผสมผสานทางเชื้อชาติซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการตรวจ ส่วน expanded นั้น น่าจะต้องการการศึกษาเพิ่มเติมอีกมากก่อนที่จะนำมาประยุกต์ใช้จริงในทางปฏิบัติ โดยสรุปการตรวจคัดกรองพาหะมีข้อพิจารณา ดังนี้(1, 6)

  1. ให้ข้อมูลการตรวจหาพาหะแก่สตรีทุกรายที่วางแผนจะมีบุตรหรือกำลังตั้งครรภ์อยู่ ซึ่งในทางอุดมคติควรจะได้รับการตรวจก่อนการตั้งครรภ์
  2. แนะนำว่าให้ตรวจคัดกรองโดยตรวจคนใดคนหนึ่งก่อน ถ้าเป็นพาหะ ค่อยตรวจคู่สมรส แต่หากตั้งครรภ์แล้วและมีข้อจำกัดเรื่องเวลาหรืออายุครรภ์ สามารถตรวจทั้งสามีและภรรยาไปพร้อมกันได้
  3. สามารถตรวจได้ทั้ง 3 แนว (ethnic-specific, panethnic หรือ expanded) แล้วแต่บริบทของแต่ละที่
  4. การตรวจหาพาหะนี้ ถือเป็นทางเลือก (optional) เมื่อบุคคลนั้นได้รับข้อมูลและการให้คำปรึกษาทางพันธุศาสตร์แล้วจะทำการตรวจหาพาหะหรือไม่ก็ได้ หรือจะเลือกตรวจเฉพาะบางโรคก็ได้
  5. หากบุคคลใดต้องการตรวจหาพาหะต่อโรคหรือสภาวะใด ที่ผู้ให้บริการไม่ได้แนะนำ ผู้ให้บริการควรจะทำการตรวจเพิ่มเติมให้ โดยไม่ต้องคำนึงเชื้อชาติ ประวัติครอบครัว หรือความเสี่ยง
  6. คู่สมรสที่มีการแต่งงานในเครือญาติ ควรได้รับคำปรึกษาเกี่ยวกับความเสี่ยงที่มีโอกาสจะถ่ายทอดโรคยีนด้อยไปยังบุตรมากขึ้นกว่าประชากรทั่วไป
  7. ในรายที่มีประวัติการเกิดโรคในครอบครัว การตรวจหาการกลายพันธุ์ในคนที่เป็นโรค และพ่อแม่ของคนที่เป็นโรคนั้น จะตรงประเด็นกว่าการตรวจหาพาหะ เพราะเมื่อทราบการกลายพันธุ์ จะนำไปสู่การตรวจวินิจฉัยก่อนคลอดได้อย่างจำเพาะและรวดเร็ว
  8. หลายโรคที่ตรวจเป็นโรคที่พบได้น้อย ซึ่งความชุกของโรค ความถี่ของการกลายพันธุ์ ส่งผลต่ออัตราการตรวจพบ
  9. เมื่อผลการคัดกรองเป็นลบ โอกาสที่จะเป็นพาหะ และมีบุตรเป็นโรคลดลง แต่ยังคงมีความเสี่ยงเหลืออยู่ เสมอ เพราะด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคของห้องปฏิบัติการที่ไม่สามารถคัดกรองได้ทุกการกลายพันธุ์ของโรคที่ตรวจ บางรายเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ หรืออาจมีความเสี่ยงของโรคที่ไม่ได้คัดกรอง

เอกสารอ้างอิง

1. Committee on Genetics. Committee Opinion No. 690: Carrier Screening in the Age of Genomic Medicine. Obstet Gynecol 2017;129:e35-e40.

2. Haque IS, Lazarin GA, Kang HP, Evans EA, Goldberg JD, Wapner RJ. Modeled Fetal Risk of Genetic Diseases Identified by Expanded Carrier Screening. JAMA 2016;316:734-42.

3. Edwards JG, Feldman G, Goldberg J, Gregg AR, Norton ME, Rose NC, et al. Expanded carrier screening in reproductive medicine-points to consider: a joint statement of the American College of Medical Genetics and Genomics, American College of Obstetricians and Gynecologists, National Society of Genetic Counselors, Perinatal Quality Foundation, and Society for Maternal-Fetal Medicine. Obstet Gynecol 2015;125:653-62.

4. Grody WW, Thompson BH, Gregg AR, Bean LH, Monaghan KG, Schneider A, et al. ACMG position statement on prenatal/preconception expanded carrier screening. Genet Med 2013;15:482-3.

5. Grody WW. Where to Draw the Boundaries for Prenatal Carrier Screening. JAMA 2016;316:717-9.

6. Committee on Genetics. Committee Opinion No. 691: Carrier Screening for Genetic Conditions. Obstet Gynecol 2017;129:e41-e55.

7. Tongsong T, Charoenkwan P, Sirivatanapa P, Wanapirak C, Piyamongkol W, Sirichotiyakul S, et al. Effectiveness of the model for prenatal control of severe thalassemia. Prenat Diagn 2013;33:477-83.

8. Sirichotiyakul S, Tantipalakorn C, Sanguansermsri T, Wanapirak C, Tongsong T. Erythrocyte osmotic fragility test for screening of alpha-thalassemia-1 and beta-thalassemia trait in pregnancy. Int J Gynaecol Obstet 2004;86:347-50.

9. Sirichotiyakul S, Wanapirak C, Srisupundit K, Luewan S, Tongsong T. A comparison of the accuracy of the corpuscular fragility and mean corpuscular volume tests for the alpha-thalassemia 1 and beta-thalassemia traits. Int J Gynaecol Obstet 2009;107:26-9.

10. Wanapirak C, Sirichotiyakul S, Luewan S, Srisupundit K, Tongsong T. Comparison of the accuracy of dichlorophenolindophenol (DCIP), modified DCIP, and hemoglobin E tests to screen for the HbE trait in pregnant women. Int J Gynaecol Obstet 2009;107:59-60.

11. Sanguansermsri T, Steger HF, Sirivatanapa P, Wanapirak C, Tongsong T. Prevention and control of severe thalassemia syndrome : Chiang Mai Strategy. Thai J Hematol Transf Med 1998;8:207-14.

12. Tayapiwatana C, Kuntaruk S, Tatu T, Chiampanichayakul S, Munkongdee T, Winichagoon P, et al. Simple method for screening of alpha-thalassaemia 1 carriers. Int J Hematol 2009;89:559-67.

13. Chang JG, Lee LS, Lin CP, Chen PH, Chen CP. Rapid diagnosis of alpha-thalassemia-1 of southeast Asia type and hydrops fetalis by polymerase chain reaction. Blood 1991;78:853-4.

14. Azar S, Wong TE. Sickle Cell Disease: A Brief Update. Med Clin North Am 2017;101:375-93.

15. Hassell KL. Population estimates of sickle cell disease in the U.S. Am J Prev Med 2010;38:S512-21.

16. Naik RP, Haywood C, Jr. Sickle cell trait diagnosis: clinical and social implications. Hematology Am Soc Hematol Educ Program 2015;2015:160-7.

17. O’Sullivan BP, Freedman SD. Cystic fibrosis. Lancet 2009;373:1891-904.

18. Committee on Genetics ACoO, Gynecologists. ACOG Committee Opinion. Number 325, December 2005. Update on carrier screening for cystic fibrosis. Obstet Gynecol 2005;106:1465-8.

19. Bell SC, Mall MA, Gutierrez H, Macek M, Madge S, Davies JC, et al. The future of cystic fibrosis care: a global perspective. Lancet Respir Med 2019.

20. Watson MS, Cutting GR, Desnick RJ, Driscoll DA, Klinger K, Mennuti M, et al. Cystic fibrosis population carrier screening: 2004 revision of American College of Medical Genetics mutation panel. Genet Med 2004;6:387-91.

21. Sugarman EA, Nagan N, Zhu H, Akmaev VR, Zhou Z, Rohlfs EM, et al. Pan-ethnic carrier screening and prenatal diagnosis for spinal muscular atrophy: clinical laboratory analysis of >72,400 specimens. Eur J Hum Genet 2012;20:27-32.

22. Kolb SJ, Kissel JT. Spinal Muscular Atrophy. Neurol Clin 2015;33:831-46.

23. Hendrickson BC, Donohoe C, Akmaev VR, Sugarman EA, Labrousse P, Boguslavskiy L, et al. Differences in SMN1 allele frequencies among ethnic groups within North America. J Med Genet 2009;46:641-4.

24. Mailman MD, Heinz JW, Papp AC, Snyder PJ, Sedra MS, Wirth B, et al. Molecular analysis of spinal muscular atrophy and modification of the phenotype by SMN2. Genet Med 2002;4:20-6.

25. Ramirez-Cheyne JA, Duque GA, Ayala-Zapata S, Saldarriaga-Gil W, Hagerman P, Hagerman R, et al. Fragile X syndrome and connective tissue dysregulation. Clin Genet 2019;95:262-7.

26. Monaghan KG, Lyon E, Spector EB, erican College of Medical G, Genomics. ACMG Standards and Guidelines for fragile X testing: a revision to the disease-specific supplements to the Standards and Guidelines for Clinical Genetics Laboratories of the American College of Medical Genetics and Genomics. Genet Med 2013;15:575-86.

27. Hagerman RJ, Leavitt BR, Farzin F, Jacquemont S, Greco CM, Brunberg JA, et al. Fragile-X-associated tremor/ataxia syndrome (FXTAS) in females with the FMR1 premutation. Am J Hum Genet 2004;74:1051-6.

28. Sherman SL. Premature ovarian failure in the fragile X syndrome. Am J Med Genet 2000;97:189-94.

29. Nolin SL, Brown WT, Glicksman A, Houck GE, Jr., Gargano AD, Sullivan A, et al. Expansion of the fragile X CGG repeat in females with premutation or intermediate alleles. Am J Hum Genet 2003;72:454-64.