Workshop: Thalassemia Control

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การควบคุมและป้องกันโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย”

วันที่ 2-3 ธันวาคม 2553 ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ส่วนหนึ่งในโครงการเมธีวิจัยอาวุโส โครงการดีเด่นแห่งปี 2552 จากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา

1. หลักการและเหตุผล

โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียนับเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญประการหนึ่งของประเทศไทย การควบคุมและป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเกิดขึ้นใหม่สามารถทำได้ด้วยการตรวจคัดกรองเพื่อหาหญิงตั้งครรภ์และคู่สมรสที่มีความเสี่ยงต่อการมีลูกเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ทำการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด และให้ทางเลือกโดยยุติการตั้งครรภ์ในกรณีพบว่าทารกเป็นโรค นับเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถลดอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย และมีการพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ในการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาคู่สมรสที่เป็นคู่เสี่ยง จึงมีความจำเป็นที่แพทย์ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทั่วไปจะต้องมีความรู้ความเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้เทคนิคการตรวจคัดกรองโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียวิธีต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง หน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารก ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในด้านนี้ และเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่องค์ความรู้จากงานวิจัยจากการที่อาจารย์ประจำหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกได้รับทุนเมธีวิจัยอาวุโสในหัวข้อเรื่อง “การควบคุมและป้องกันโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย”ซึ่งในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาจากการได้รับทุนวิจัยนี้ ได้ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่และต่อยอดจากความรู้เดิม ในการนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยเน้นที่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงในทางสาธารณสุข และในส่วนที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดความรู้เพิ่มเติมต่อไป จึงได้กำหนดจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การควบคุมและป้องกันโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเชิงประยุกต์” ขึ้นเพื่อให้แพทย์ที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาสตรีตั้งครรภ์ในโรงพยาบาลทั่วไป สามารถตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาคู่สมรสที่มีความเสี่ยงต่อการมีลูกเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และได้รับความรู้จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปก่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป

2. วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม

  1. มีความรู้ความเข้าใจในโครงสร้างโครงการควบคุมและป้องกันโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย
  2. สามารถประยุกต์ใช้การตรวจคัดกรองโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเพื่อค้นหาคู่สมรสที่มีความ เสี่ยงได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
  3. สามารถนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ได้จากการศึกษาวิจัยนี้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม
  4. เพื่อสร้างบรรยากาศทางวิชาการ การวิจัย และการแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดถึงความร่วมมือของประชาคมวิจัย

3. ผู้เข้าร่วมโครงการ

วิทยากร 13 คน
สูติแพทย์ แพทย์ต่อยอดสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารก และผู้สนใจ 70 คน
แพทย์ประจำบ้านสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 30 คน
เจ้าหน้าที่ 7 คน
รวม 120 คน

 

4. วิทยากร

  1. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ ทองสง
  2. รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพรรณี ศิริวรรธนาภา
  3. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชเนนทร์ วนาภิรักษ์
  4. รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุพัตรา ศิริโชติยะกุล
  5. รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วีรวิทย์ ปิยะมงคล
  6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเฟื่องลดา ทองประเสริฐ
  7. อาจารย์แพทย์หญิงเกษมศรี ศรีสุพรรณดิฐ
  8. อาจารย์แพทย์หญิงสุชยา ลือวรรณ

วิทยากรรับเชิญ

  1. ศาสตราจารย์ ดร. วิชัย บุญแสง (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)
  2. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ต่อพงศ์ สงวนเสริมศรี (ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
  3. ศาสตราจารย์ ดร. วัชระ กสิณฤกษ์ (ภาควิชาภูมิคุ้มกันวิทยา คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
  4. รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง พิมพ์ลักษณ์ เจริญขวัญ (ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

5. สถานที่

ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

6. ระยะเวลา

วันที่ 2-3 ธันวาคม 2553

7. ผู้รับผิดชอบโครงการ

  • หน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารก ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

8. การลงทะเบียน

ไม่เก็บค่าลงทะเบียน

กำหนดการอบรมเชิงปฏิบัติการ

เรื่อง “การควบคุมและป้องกันโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย: การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาคู่เสี่ยง”
วันที่ 2-3 ธันวาคม 2553
ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารรวม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วันที่ 2 ธันวาคม 2553

08.30 – 09.00 น. Registration  
09.00 – 09.15 น. Opening Ceremony คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ มช.
09.15 – 10.15 น. Essential knowledge of thalassemia ร.ศ. พญ. พิมพ์ลักษณ์ เจริญขวัญ
10.15 – 10.30 น. Break  
10.30 – 11.15 น. State-of-the-art in prenatal control of severe thalassemia ศ. นพ. ต่อพงศ์ สงวนเสริมศรี
11.15 – 12.00 น. Problems of prenatal control strategy รศ. พญ. พรรณี ศิริวรรธนาภา
12.00 – 13.00 น. Lunch  
13.00 – 14.15 น. Advance in fetal diagnosis and Therapy ; invasive technique for PND;
in utero treament ; Preimplantation Genetic Diagnosis

ผศ. พญ. เฟื่องลดา ทองประเสริฐ
อ.พญ. เกษมศรี ศรีสุพรรดิฐ
รศ. ดร. นพ. วีรวิทย์ ปิยะมงคล

14.15 – 15.15 น. Exclusive summay from research:
Screening technique ; what is the best? Answer from multicenter study
ศ. ดร. วัชระ กสิณฤกษ์
รศ. นพ. ชเนนทร์ วนาภิรักษ์
รศ. พญ. สุพัตรา ศิริโชติยะกุล
15.15 – 15.30 น. Break  
15.30 – 16.00 น. Guideline for prenatal screening of severe thalasemia diseae from research to clinical application รศ. นพ. ชเนนทร์ วนาภิรักษ์

วันที่ 3 ธันวาคม 2553

08.30 – 9.45 น. Sonomarkers of HbBart’s disease ศ. นพ. ธีระ ทองสง
09.45 – 10.15 น. Basic sonomarker in predicting Hb Bart’s disease simply for general OB-Gyn;
part 1 (CT ratio, Placental thickness )
อ. พญ. ยุรี ยานาเซะ
10.15 – 10.30 น. Break  
10.30 – 11.00 น. Basic sonomarker in predicting Hb Bart’s disease simply for general OB-Gyn ;
part 2 (liver and slpeenic measurement)
อ. พญ. เกษมศรี ศรีสุพรรณดิฐ
11.00 – 12.00 Doppler study in predicting Hb Bart’s disease อ. พญ. สุชยา ลือวรรณ
12.00 – 13.00 น. Lunch  
13.00 – 14.00 น. Fetal echocardiography in Hydrops fetalis ผศ. พญ. เฟื่องลดา ทองประเสริฐ
14.00 – 14.45 น. Exclusive summary for doppler study in predicting Hb bart’s disease ศ. นพ. ธีระ ทองสง
14.45 – 15.00 น. Closing ceremony  
Read More

หนังสือภาวะฉุกเฉินทางสูติศาสตร์

หนังสือภาวะฉุกเฉินทางสูติศาสตร์

หนังสือภาวะฉุกเฉินทางสูติศาสตร์ของภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ขนาดพกพาสะดวก คณาจารย์ทางภาควิชาภายใต้การนำของอ.ประภาพร (ต่าย) ได้ทำออกมาเป็นรูปเล่มสวยงามกระทัดรัด มุ้งเน้นแก่นสำคัญที่นักศึกษาแพทย์ต้องรู้ เน้นนักศึกษาแพทย์ แม้ว่าหนังสืออ่านเยอะมากสำหรับนักศึกษาแพทย์ แต่ย้ำว่าเล่มนี้ควรอ่านอย่างยิ่ง

Read More

สัมนาภาควิชาประจำปี 2553

สัมนาภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 28-29 สิงหาคม 2553 Natural Wellness Resort & Spa อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

ภาควิชามีการจัดการสัมนานอกสถานที่ทุกปี ปีละครั้ง เป็นการพบปะกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตาภายในครอบครัวสูติ-นรีเวช มช. มีคณาจารย์ แพทย์ประจำบ้าน เจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ ในภาควิชา ซึ่งจะมีการพักค้างคืน 1 คืน มีการจัดกิจกรรมเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภาควิชาในทางที่ดีขึ้น ปีที่แล้วจัดกันที่รีสอร์ทเก๊าไม้ล้านนา สำหรับปีนี้จะจัดที่ Natural Wellness Resort & Spa อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ โดยปีนี้หัวข้อสัมนาจะเน้นเรื่องแนวทางในการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรเป็นหลัก

Read More

โครงการวิจัยดีเด่นแห่งปี

รางวัลโครงการวิจัยดีเด่นแห่งปี 2552 จากสกว: ยุทธวิธีในการควบคุมธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงด้วยวิธีก่อนคลอด

โครงการควบคุมโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงด้วยวิธีก่อนคลอด ได้รับการคัดเลือกจากกว่า 1000 โครงการวิจัยของสกว. ในปี 2552 จากการพิจารณาถึงโครงการที่มีผลกระทบต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ก่อเกิดประโยชน์ที่นำไปใช้ได้จริง

โรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ทั้งโรคเบต้าธาลัสซีเมียเมเจอร์ โรคเบต้าธาลัสซีเมีย/ฮีโมโกลบินอี (beta-thal/HbE) และโรคฮีโมโกลบินบาร์ท เป็นปัญหาสำคัญของสาธารณสุขไทยที่ส่งผลลบในด้านเศรษฐศาสตร์สุขภาพของประเทศเป็นอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องได้รับการควบคุม ทีมเวชศาสตร์มารดาและทารกจึงได้ร่วมมือกับห้องปฏิบัติการกุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการวิจัยค้นหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการประยุกต์ใช้ในการควบคุมโรคนี้ในประชากรภูมิภาคที่มีโรคนี้ชุกชุม

การควบคุมด้วยวิธีก่อนคลอดประกอบด้วยการคัดกรองค้นหาคู่สมรสที่มีความเสี่ยงและวินิจฉัยทารกในครรภ์ ซึ่งมีหลากหลายวิธี บางวิธีมีข้อเสียที่ราคาแพง เทคโนโลยีซับซ้อน ไม่สามารถทำได้ในวงกว้าง คณะวิจัยจึงศึกษาแนวทางและทดสอบยุทธวิธีก่อนคลอดที่ดีที่สุด โดยคำนึงถึงความถูกต้องและความคุ้มทุน ราคาถูก สะดวกต่อการประยุกต์ใช้ในวงกว้าง ผลการทดสอบคัดกรองที่ได้จะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวิเคราะห์ความถูกต้องของทั้งระบบในการค้นหาโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นรูปแบบการศึกษาที่ไม่เคยมีการทำมาก่อน และนำไปสู่ยุทธวิธีการควบคุม (เชิงนโยบาย) วิเคราะห์ความคุ้มค่า เพื่อการประยุกต์ใช้ในวงกว้าง

ตัวอย่างการพัฒนายุทธวิธีในการควบคุมโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงแบบครบวงจร ได้แก่ ศึกษาวิจัยหาวิธีคัดกรองค้นหาคู่เสี่ยง (คู่สมรสที่ต่างเป็นพาหะ) ด้วยวิธีต่าง ๆ ที่ประสิทธิภาพสูง ราคาถูก ใช้ได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เช่น ศึกษาประสิทธิภาพการคัดกรองด้วย osmotic fragility test (0.45% glycerine), พัฒนา HbE screen อย่างง่าย ทดสอบนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับพาหะแอลฟ่าธาลัสซีเมีย เช่น IC strip test เป็นต้น ศึกษาวิธีการยืนยันพาหะด้วยการตรวจระดับ HbA2 (สำหรับพาหะ beta-thal และ HbE)  และ PCR (สำหรับ alpha-thal-1 SEA type) วิจัยเทคนิคและความปลอดภัยของการวินิจฉัยก่อนคลอด โดยเฉพาะการเจาะเลือดจากสายสะดือทารก และศึกษาวิจัยการวินิจฉัยจากการตรวจเลือดทารก เป็นต้น

นอกจากนี้ยังศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคฮีโมโกลบินบาร์ทด้วยอัลตราซาวด์ โดยตรวจวัดการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดของทารกในครรภ์ ทั้งในแง่การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและสรีรวิทยาของทารกในครรภ์ ทำให้ทราบถึงลักษณะจำเพาะและมาร์คเกอร์ทางอัลตราซาวด์หลายพารามิเตอร์ ซึ่งนำมาช่วยในการวินิจฉัยให้เร็วขึ้น

ผลงานวิจัยนี้เป็นแนวทางและต้นแบบในการกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ เพื่อนำไปใช้ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ซึ่งมีผลทำให้อุบัติการณ์ของโรคธาลัสซีเมียรายใหม่ในภูมิภาคแถบนี้ลดลงอย่างมากในปัจจุบัน เด็กรายใหม่ที่ต้องมาเติมเลือดจากโรคธาลัสซีเมียลดลงอย่างมาก และเป็นครั้งแรกในวงการสาธารณสุขไทยที่อันตรายจากภาวะทารกบวมน้ำจากโรคฮีโมโกลบินบาร์ทได้ลดลงอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่นภาวะนี้ได้หายไปเลยจากกลุ่มสตรีที่มาฝากครรภ์และคัดกรองที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ผลดังกล่าวได้นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูผู้เป็นโรคลงได้ในจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ยังสามารถสร้างบุคลากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อเป็นกำลังสำคัญของการวิจัยเกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทยอีกด้วย

ดำเนินการวิจัยโดย: ทีมงานเวชศาสตร์มารดาและทารก สูติ-นรีเวช มช.

Read More

ข่าวดีในภาควิชาปี 53

มีเรื่องที่น่ายินดีเกิดขึ้นมากมายในภาควิชาในปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่จะมีหน่วยงานใดได้รับรางวัลช้างทองคำทั้งสองประเภทในปีเดียวกัน เหมือนกับเราได้รับในปีนี้

นักวิจัยดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2552

รศ.นพ.ชเนนทร์ วนาภิรักษ์  ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “ช้างทองคำ”

นักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2552

ผศ.นพ.กิตติภัต เจริญขวัญ  ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่“ช้างทองคำ”

โล่รางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว.ประจำปี 2552

คณาจารย์ประจำหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารก ได้รับโล่รางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว.ประจำปี 2552
เรื่อง “ยุทธวิธีการควบคุมโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงก่อนคลอด” จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

  • ศ.นพ.ธีระ ทองสง
  • รศ.พญ.พรรณี ศิริวรรธนาภา
  • รศ.นพ.ชเนนทร์ วนาภิรักษ์
  • รศ.พญ.สุพัตรา ศิริโชติยะกุล
  • รศ.นพ.วีรวิทย์ ปิยะมงคล
  • ผศ.พญ.เฟื่องลดา ทองประเสริฐ
  • อ.พญ.เกษมศรี ศรีสุพรรณดิฐ
  • อ.พญ.สุชยา ลือวรรณ

IJGO Prize Paper Award Honorable Mention 2009

อ.พญ.สุชยา  ลือวรรณ  อ.พญ.เกษมศรี  ศรีสุพรรณดิฐ  ศ.นพ.ธีระ ทองสง ได้รับรางวัล International Journal of GYNECOLOGY & OBSTETRICS John J. Sciarra IJGO Prize Paper Award Honorable Mention 2009  จากผลงานวิจัย “Outcomes of pregnancies complicated by beta-thalassemia/hemoglobin E disease”

(Best Clinical Research Article from a Low/Middle-Income Country)

Read More

ปรับปรุงเว็บไซต์ภาควิชา

Big Move: ทีมงานด้านสารสนเทศของภาควิชาได้ทำการปรับปรุงเว็บไซต์ของภาควิชาเสียใหม่ ซึ่งเปลี่ยนไปสู่เว็บไดนามิค โดยมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างดังนี้

  • มีระบบ login เพื่อให้คณาจารย์ แพทย์ประจำบ้าน หรือเจ้าหน้าที่ ได้เข้าสู่ระบบที่เข้าถึงข้อมูลสำคัญภายในภาควิชา
  • คณาจารย์สามารถ submit บทความสำคัญ เอกสารคำสอน หรือ powerpoints ให้นักศึกษาแพทย์ดาวน์โหลดผ่านเว็บได้อย่างรวดเร็ว
  • มีฐานข้อมูลสำคัญของภาควิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึง fulltext ของงานวิจัยที่ภาควิชาทำมาตลอดอายุภาควิชาได้ตลอดเวลา (ผ่านระบบ login) ซึ่งผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกจะเห็นเพียงหัวข้องานวิจัย
  • มีระบบ update ข่าวคราวอย่างรวดเร็ว
  • หนังสือแจ้งเวียนภายในภาคที่นำไปสู่ระบบ paperless มากขึ้น
  • มีระบบเว็บบอร์ด ที่เชิญชวนมาให้พี่น้องแสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างสรรค์ภาควิชา
  • เพิ่มข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับภาควิชา เช่น ประวัติความเป็นมา ประวัติอาจารย์อาวุโส
Read More