บทนำ

วิวเส้นเลือดใหญ่สามเส้น หรือ (three-vessel view; 3VV) เป็นวิวภาพตัดขวางทรวงอกทารกในระดับสูงกว่าหัวใจเล็กน้อย ซึ่งเป็นวิวตัดผ่านเส้นเลือดใหญ่สามเส้น คือ superior vena cava (SVC), aorta (Ao) และ pulmonary artery (PA) เป็นวิวที่ได้รับการพิสูจน์อย่างมีหลักฐานแล้วว่าช่วยในการวินิจฉัยโรคหัวใจพิการโดยกำเนิดได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 ภาพแสดงวิวมาตรฐานในการตรวจหัวใจทารกในครรภ์(fetal echocardiography) : เน้นที่ระดับ three-vessel view (Ao; descending aorta, Asc Ao; ascending aorta, LA; left atrium, LV; left ventricle, PA; pulmonary artery, RA; right atrium, RV; right ventricle; and Tra; trachea) (ที่มา : AIUM practice guideline for the performance of fetal echocardiography. J Ultrasound Med 2011 Jan;30(1):127-36.)

การตรวจ 3VV ด้วยอัลตราซาวด์สองมิติ (2D-gray scale)

เพลน 3VV เป็นเพลนตัดขวางทรวงอกทารกที่ตัดสูงขึ้นมาจากเพลน 4CV เล็กน้อย สามารถเห็นเส้นเลือดใหญ่สำคัญ 3 เส้น ได้แก่ main pulmonary artery (MPA), ascending aorta (AAo) และ superior vena cava (SVC) ซึ่งเรียงกันอย่างเป็นระบบหรือมีรูปแบบจำเพาะ มีความสัมพันธ์กันที่แน่นอน เรียงกันเป็นเส้นตรงด้านซ้ายและด้านหน้า ไปทางด้านขวาค่อนไปทางข้างหลัง โดยมี MPA อยู่ด้านหน้าสุด และซ้ายสุด AAo อยู่ตรงกลาง และ SVC อยู่ทางขวาสุด และหลังสุด

ความสัมพันธ์ที่เป็นปกติของเส้นเลือดใหญ่ทางสามเส้น เป็นดังนี้

  • จำนวนเส้นเลือด (number) 3 เส้นดังที่กล่าวมาข้างต้น
  • ขนาดเส้นเลือด (size) โดยเรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปหาขนาดเล็กคือ MPA, AAo และ SVC ตามลำดับ
  • แนวการเรียงตัวของเส้นเลือด (alignment) จะเรียงตัวเป็นเส้นตรงจากซ้ายหน้า ทอดไปยังขวา-หลัง
  • การเรียงลำดับของเส้นเลือด (arrangement) เรียงลำดับจากซ้าย-หน้า ไปยังขวา-หลัง คือ MPA, AAo และ SVC ตามลำดับ

เคล็ดลับ: ในภาพหน้าตัดของเส้นเลือดที่สงสัยว่าจะเป็น SVC ถ้าทดลองหมุน 90 องศา เส้นเลือดดังกล่าวจะยาวออกและทอดเข้าสู่ right atrium

ในยุคต้น ๆ ของการตรวจ fetal echocardiography มีการตรวจคัดกรองเน้น 4CV เป็นหลักซึ่งเชื่อว่าสามารถตรวจภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิดได้เป็นส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาได้รับการพิสูจน์ว่ามีภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด จำนวนไม่น้อยที่ตรวจไม่พบด้วยการตรวจ 4CV ต่อมาจึงแนะนำว่าในการตรวจคัดกรองขั้นต่ำจะต้องมีการตรวจ outflow tract ด้วย ในระยะหลังมีหลายรายงานพบว่าการตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจ 3VV ด้วยจะยิ่งช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และแนะนำให้ตรวจเป็นประจำในการตรวจขั้นละเอียด (specialized ultrasound)

3VV (three-vessel view) ได้มีการแนะนำและบรรยายไว้โดย Yoo และคณะ(1) เป็นครั้งแรก และต่อมา Yagel และคณะ(2) เสนอเน้นวิว 3VT (three vessel view และ tracheal view เข้าด้วยกัน) ซึ่งเป็นวิวที่อยู่ใกล้เคียงหรือชิดกับ 3VV โดยวิวเหล่านี้ง่ายต่อการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ แต่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากจึงสมควรให้ความสำคัญและฝึกปฏิบัติเป็นกิจวัตร ทั้ง 3VV และ 3VT ซึ่งวิวทั้งสองนี้อยู่ใกล้ชิดกันมากสามารถเข้าถึงได้ด้วยเพียงแค่ขยับหัวตรวจจากระดับ 4CV ขึ้นไปทางศีรษะเด็กเพียงเล็กน้อย

ในการตรวจ 3VV ตามข้อแนะนำของ Yoo และคณะ(1;3;4) หมายถึง ภาพตัดขวางทรวงอกที่อยู่เหนือระดับ 4CV ขึ้นไปเล็กน้อย จะเห็นเส้นเลือดใหญ่สำคัญ 3 เส้น คือ main pulmonary artery (MPA), ascending aorta (AAo) และ superior vena cava (SVC) มีรูปแบบการเรียงตัว ขนาด ลำดับที่อยู่อย่างมีรูปแบบจำเพาะ

สำหรับวิว 3VT ตามการแนะนำของ Yagel และคณะ(2) และ Vinals และคณะ(5) หมายถึงวิวที่เหนือ 3VV ของ Yoo ขึ้นไปอีกเล็กน้อย ซึ่งจะเห็น SVC และ aortic arch หรือ ductal arch พร้อมกับเห็น trachea ด้วย

จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่าระดับ 3VV อยู่ใกล้กับ 3VT และในทางปฏิบัติก็จะตรวจพร้อม ๆ กันไป หรือต่อเนื่องมาจาก 4CV ไปจนครบ เนื่องจากทั้ง 4CV, 3VV และ 3VT เป็นวิวที่ได้จากภาพตัดขวางของทรวงอกทารกในส่วน mediastinum เช่นเดียวกัน ดังนั้นทั้งวิว 3VV และ 3VT จึงควรถือว่าเป็นวิวที่ตรวจในเวลาเดียวกัน ทีมงานผู้เขียนได้รายงานการศึกษาการตรวจ 3VV และ 3VT ไว้ด้วยกัน หรืออาจเรียกว่า complete 3VV (c3VV) การกล่าวถึง 3VV ในที่นี้จึงหมายถึงการตรวจที่รวมทั้ง 3VV และ 3VT ไว้ด้วยกัน กล่าวคือจาก 4CV ซึ่งเป็นภาพตัดขวางทรวงอกทารกอยู่แล้วนี้ ให้เลื่อนขยับหัวตรวจสูงขึ้นไปจนถึงระดับ aortic arch ถือเป็นการสำรวจเส้นเลือดใหญ่ของหัวใจได้สมบูรณ์ และอาจมีการปรับเปลี่ยนท่าเล็กน้อยเพื่อทำให้ประเมินได้ดีขึ้น ทำให้ได้วิวต่าง ๆ มากขึ้นดังต่อไปนี้ (รูปที่ 2)

รูปที่ 2 รูปวาดแสดงการภาพจากการตรวจ c3VV โดยเริ่มจากการเลื่อนหัวตรวจในเพลนตัดขวางทรวงอกจากระดับ 4CV ขึ้นไปทางศีรษะทารกเล็กน้อยจะได้ 3VV (รูป ก) โดยมีลักษณะเด่นการเรียงตัวจำเพาะและมี bifurcation ของ MPA แล้วขยับขึ้นต่อไปจะได้เพลน TDA (รูป ข) เห็น ductus arteriosus ชัดที่สุด และยาวที่สุด โดยไม่เห็น right pulmonary artery หรือเห็นไม่ชัด เห็น ascending aorta ในรูปหน้าตัด เมื่อขยับขึ้นไปอีกเล็กน้อยจะได้เพลน TAA (transaortic arch) (รูป ค) เห็น aortic arch ส่วน ductal arch ไม่เห็นหรือเห็นไม่ชัด จากรูป ค ถ้าบิดหัวตรวจทางด้านซ้ายต่ำลงมาสักเล็กน้อย จะเห็นเพลน 3VT (รูป ง) คือเห็น arch ทั้งสอง และเห็น trachea(6) (PV = pulmonic valve, AoV = aortic valve, MV = mitral valve และ TV = tricuspid valve)

  • Four-chamber view (4CV)
  • Five-chamber view (5CV)
  • Three-vessel view (3VV)
  • Transductal arch view (TDA)
  • Transaortic arch view (TAA)
  • Three-vessel view and trachea view (3VT)

ทั้งสี่วิวหลังนี้ควรถือว่าเป็นวิวเดียวกันที่ต่อเนื่อง และสามารถแสดงให้เห็นได้ทั้งหมดด้วยเพียงการเอียง ขยับ หมุน หรือบิดหัวตรวจเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่นเดียวกับการตรวจ outflow tract ทั้งสองข้าง ไม่ว่าจะเป็น LVOT หรือ RVOT ควรถือว่าเป็นการตรวจวิวเดียวกันด้วยเทคนิค criss-cross maneuver ในทางปฏิบัติแล้วทั้ง 4 วิวดังกล่าวควรถือเป็น maneuver เดียวกันที่แสดงเส้นเลือดสำคัญให้เห็นในหลายวิว(3;6;7) เป็น dynamic view หรือ complete view ของ 3VV ดังนั้น 3VV ในที่นี้จึงหมายถึงการตรวจเส้นเลือดในภาพตัดขวางของทรวงอกโดยสมบูรณ์แบบ ในระดับที่เหนือ 4CV ขึ้นไปจนเห็น aortic arch และ trachea

เทคนิคในการตรวจ (รูปที่ 7-3)

รูปที่ 3 ตัวอย่างภาพที่ได้จากการ sweeping ตลอดระนาบตัดขวางของทรวงอกส่วนบน เริ่มต้นจาก ก) 4CV, ข) 5CV แสดง aortic root ที่เริ่มออกจาก left ventricle, ค) 3VV ที่ตำแหน่ง bifurcation ของ pulmonary artery แตกแขนง right pulmonary artery (RPA) พันอ้อม ascending aorta (AAo) ซึ่งมีทิศทางตั้งฉากกัน, ง) วิวที่แสดง ductal arch ชัดเจนขึ้น ซึ่งสูงกว่าในระดับ ค. เล็กน้อย, จ) ระดับ aortic arch (AoA) ซึ่งอยู่สูงขึ้นไปกว่าระดับ ductal arch เล็กน้อย และ ฉ) ระดับ 3VT ซึ่งแสดง arch ทั้งสอง เป็นวิวที่ปรับหัวตรวจจาก ง. หรือ จ. ให้เฉียงไปอีกเล็กน้อย

    • 4CV-5CV : ตรวจหา ให้ได้ตามมาตรฐานเป็นลำดับแรก ซึ่งเป็นภาพตัดขวางทรวงอก
    • 3VV : เลื่อนขยับหัวตรวจเล็กน้อยไปทางศีรษะทารก โดยคงความเป็นภาพตัดขวาง หรือตั้งฉากกับแนวยาวของลำตัวเด็กไว้ เมื่อผ่าน 5CV ขึ้นไป จะเห็นองค์ประกอบสำคัญของ 3VV คือ main pulmonary artery(MPA) ในตำแหน่งที่กำลังแตกสาขา (bifurcation) ได้เป็น right pulmonary artery (RPA) และ ductus arteriosus (DA), ascending aorta (AAo) และ superior vena cava (SVC) โดย MPA อยู่ด้านหน้าและซ้ายสุด AAo อยู่กลาง และ SVC อยู่ทางขวาสุด วิวนี้ยังไม่เห็น trachea ทั้ง MPA, AAo และ SVC จะเรียงกันเป็นเส้นตรงจากหน้า-ซ้ายทอดไปทางหลัง-ขวา จำนวนเส้นเลือดใหญ่ 3 เส้น มีขนาดต่างกันเล็กน้อย โดยที่ MPA ขนาดโตที่สุด รองลงมาเป็น AAo และ SVC มีขนาดเล็กที่สุด
    • TDA (transductal arch view): ขยับหัวตรวจหรือเอียงหัวตรวจต่อจาก 3VV ขึ้นทางศีรษะอีกเล็กน้อย พ้น bifurcation ของ MPA ขึ้นไป เห็น ductal arch ทอดตรงเข้าสู่ descending aorta
    • TAA (transaortic arch view): ขยับหัวตรวจหรือเอียงหัวตรวจต่อจาก TDA ขึ้นทางศีรษะอีกเล็กน้อย จนเห็น aortic arch ตลอดแนวยาว ซึ่งจะเห็น trachea อยู่ทางขวามือ ส่วน ductal arch อาจจะไม่เห็นแล้ว หรือเห็นเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้เนื่องจาก aortic arch จะโค้งสูงขึ้นไปกว่า ductal arch
    • 3VT : จากวิว TAA ให้หมุนหัวตรวจทางด้านซ้ายมือของทารกต่ำลงมาเล็กน้อย ให้เห็น ductal arch ชัดเจนขึ้น วิวนี้จะเห็น arch ทั้งสองพุ่งมารวมกันที่ descending aorta ในลักษณะรูปตัว V รวมกันอยู่ทางด้านซ้ายของ trachea

    การปรับหมุนหัวตรวจทั้ง 4 ระดับนี้ ตรวจต่อเนื่องกันอาจเรียกว่าเป็น c3VV ซี่งต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการขยับหัวตรวจในลักษณะ micro-manipulation

    ในการตรวจ full fetal echocardiography ควรตรวจวิวทั้งหมดนี้เสมอ และควรพิจารณาผนวกการตรวจด้วย color flow mapping และ spectral Doppler study ด้วยในกรณีที่สงสัยผิดปกติ

    การวิเคราะห์ 3VV

    ข้อควรพิจารณาในการตรวจและวิเคราะห์ 3VV

    • จำนวนของเส้นเลือด
    • ขนาดของเส้นเลือด
    • ลำดับการเรียงตัวของเส้นเลือด
    • แนวการเรียงตัวของเส้นเลือด
    • ตำแหน่งซ้ายขวาของเส้นเลือดใหญ่
    • ทิศทางการไหลเวียนเลือดในแต่ละเส้น
    • ความเร็วของการไหลเวียนเลือด

    ขนาดของเส้นเลือด (size):

    ในทารกปกติเส้นเลือด MPA มีเส้นผ่าศูนย์กลางโตกว่า AAo และ AAo โตกว่า SVC ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นเลือดใหญ่มีค่าอ้างอิงสำหรับแต่ละอายุครรภ์(5;8) สำหรับใช้ในการประเมินขนาดเส้นเลือดในกรณีสงสัยว่าโตผิดปกติหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติอาจใช้กฎง่าย ๆ ทางคลินิกคือ เส้นเลือด MPA ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเท่ากับหรือเล็กกว่า AAo ถือว่าเล็กผิดปกติ และ AAo ที่มีขนาดเท่ากับหรือเล็กกว่า SVC ควรถือว่ามีขนาดเล็กผิดปกติ หรือ AAo มีขนาดเท่ากับ descending aorta ก็ถือว่ามีขนาดเล็กผิดปกติเช่นกัน ตัวอย่างสำคัญที่พบได้บ่อยของการที่เส้นเลือด AAo โตกว่า MPA ได้แก่ tetralogy of Fallot (TOF) หรือ pulmonary stenosis เป็นต้น

    ลำดับการเรียงตัวของเส้นเลือด (arrangement)

    ในทารกปกติ MPA อยู่ข้างซ้าย ascending aorta(AAo)/aortic arch(AoA) อยู่กลาง และ SVC อยู่ขวาสุด การเรียงตัวไม่ปกติอาจพบได้ในกรณี transposition of great arteries (TGA) หรือ double outlet of right ventricle (DORV) เป็นต้น

    จำนวนของเส้นเลือด (number of vessels) :

    ในทารกปกติจะมีเส้นเลือด 3 เส้นในวิวนี้ แต่ในภาวะผิดปกติจำนวนมากจะมีจำนวนเปลี่ยนไป เช่น กรณีที่มี left SVC จะมี SVC ทางข้างซ้าย เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเส้น ซึ่งถ้าไล่ทิศทางการไหลของเลือดจะสามารถติดตามไปเข้าหัวใจผ่านทาง coronary sinus บางครั้ง เห็น azygos vein ที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้นในกรณี heterotaxy หรือ anomalous venous return เป็นต้น ในความผิดปกติของหัวใจหลายอย่างจะเห็นเส้นเลือดเพียงสองเส้น โดยเส้นเลือดแดงใหญ่เหลือเพียงเส้นเดียว เช่น truncus arteriosus โดยเฉพาะในวิว 3VT ในราย interrupted aortic arch หรือ ductal atresia จะเห็นเส้นแดงใหญ่เพียงเส้นเดียวเป็นต้น

    แนวการเรียงตัวของเส้นเลือด (alignment):

    การเรียงตัวปกติจากซ้ายไปขวาคือ MPA, AAo และ SVC จะเรียงตัวกันเป็นเส้นตรง จากขวาที่ค่อนไปทางด้านหลัง (right-posterior) ไปทางซ้ายค่อนไปทางข้างหน้า (left-anterior) ในความผิดปกติของหัวใจหลายอย่าง แนวการเรียงตัวเสียไป ไม่เป็นเส้นตรงตามปกติ ซึ่งที่พบได้บ่อย ๆ ได้แก่ ใน transposition of great arteries (TGA), double outlet of right ventricle (DORV) หรือ subarterial malalignment ventricular septal defect(VSD) เป็นต้น

    ตำแหน่งซ้ายขวาของเส้นเลือดใหญ่ :

    ในทารกปกติเส้นเลือดแดงใหญ่ทั้งสอง ไปเทรวมกันที่ descending aorta ในระดับ 3VT ซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายของกระดูกสันหลัง โดยสังเกตได้ง่าย คือ รวมกันทางด้านซ้ายของ trachea ในความผิดปกติหลายอย่างมี right aortic arch ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 25-30 ของรายที่เป็น TOF จะเห็น AoA เทเข้า descending aorta ทางด้านขวาของ trachea ในบางกรณี ductal arch เทเข้าทางด้านซ้าย แต่ AoA เทเข้าทางด้านขวา ทำให้เกิดลักษณะจำเพาะที่เรียกว่า vascular ring เป็นต้น

    ทิศทางการไหลเวียนเลือดในแต่ละเส้น :

    เส้นเลือดแดงใหญ่ทั้งสองเส้นจะมี forward flow เข้าสู่ descending aorta (รูปที่ 4) แต่จะพบ reversed flow ในบางความผิดปกติ เช่น reversed flow ใน aortic arch พบได้บ่อยในกรณี aortic stenosis, hypoplastic left heart หรือ coarctation of aorta ที่รุนแรง เป็นต้น reversed flow ใน ductal arch พบได้บ่อยในราย pulmonary stenosis หรือในบางรายของ tetralogy of Fallot หรือ Ebstein’s anomaly

    รูปที่ 4 ตัวอย่างภาพ color flow mapping แสดงการไหลเวียนเลือดปกติในระดับ ductal arch, 3VT และ aortic arch

    ความเร็วของการไหลเวียนเลือด : การตรวจวัด peak systolic velocity (PSV) ในบางรายอาจช่วยให้มีความมั่นใจการวินิจฉัยในบางโรคได้ เช่น PSV ใน ductus arteriosus สูงมากในราย stenosis เป็นต้น

    ตัวอย่างรายงานจากประสบการณ์เบื้องต้นของทีมงานผู้เขียน (รูปที่ 7-5 ถึง 7-28)

    ได้ทำการศึกษาประโยชน์การใช้ 3VV ในการวิเคราะห์โรคหัวใจทารกในครรภ์ โดยทำการศึกษาไปข้างหน้าในรายที่วินิจฉัยทารกมีหัวใจพิการโดยกำเนิดในช่วง มกราคม 2000 ถึง กุมภาพันธ์ 2009 ซึ่งทุกรายได้ทำการตรวจ 4CV, 5CV, และ c3VV โดยในการตรวจนี้เก็บข้อมูลสำคัญในการตรวจ c3VV คือ

    1. abnormal alignment;
    2. abnormal arrangement;
    3. abnormal vessel size;
    4. abnormal number of vessels;
    5. abnormal aortic arch sidedness; และ
    6. abnormal color flow mapping (reversed or turbulent)

    รูปที่ 5 3VV: ภาพแบบฉบับของ 3VV ของทารกปกติที่มีการเรียงตัว ลำดับ ขนาด ของเส้นเลือดใหญ่ทั้งสามเส้น (PA = pulmonary artery, AAo = ascending aorta, SVC = superior vena cava และ Br = bronchus)

    รูปที่ 6 3VT: ภาพแบบฉบับของ 3VT ของทารกปกติที่มีการเรียงตัว ลำดับ ขนาด ของเส้นเลือดใหญ่ทั้งสามเส้น และความสัมพันธ์กับ trachea (DA = ductal arch, AoA = aortic arch, SVC = superior vena cava และ Tr = trachea)

    รูปที่ 7  3VT: Hypoplastic left heart syndrome : แสดง aortic arch (AoA) ขนาดเล็กเมื่อเทียบกับ ductal arch (DA) (SVC = superior vena cava และ Tr = trachea)

    รูปที่ 8  3VV: Tetralogy of Fallot (TOF) : แสดง pulmonary artery (PA) ขนาดเล็กเมื่อเทียบกับ ascending aorta (AAo) ซึ่งมีขนาดโตมากขึ้น (SVC = superior vena cava และ Tr = trachea)

    รูปที่ 9  TDA: Ductal aneurysm : แสดง ductal arch (DA) ที่มีลักษณะโป่งพอง ขนาดใหญ่มากและมีความคดเคี้ยว ascending aorta (AAo) ก็มีขนาดโตขึ้น แต่ไม่มากเท่า pulmonary artery (PA) (SVC = superior vena cava และ Tr = trachea)

    รูปที่ 10  3VT: Tetralogy of Fallot (TOF) : แสดง ductal arch (DA) ขนาดเล็กเมื่อเทียบกับ aortic arch (AoA) ซึ่งมีขนาดโตมากขึ้น (SVC = superior vena cava และ Tr = trachea)

    รูปที่ 11  3VV: Coarctation of aorta ชนิด tubular : แสดง ascending aorta (AAo) ขนาดเล็กเมื่อเทียบกับ pulmonary artery (PA) สังเกตว่าขนาด superior vena cava (SVC) โตกว่า AAo (ในวิวนี้ภาพจะเหมือน aortic stenosis)(Tr = trachea)

    รูปที่ 12  3VV: Tetralogy of Fallot (TOF) with pulmonary valve atresia: แสดง pulmonary artery (PA) และ right pulmonary artery (RPA) ขนาดใหญ่มาก เมื่อเทียบกับ ascending aorta (AAo) ซึ่งมีขนาดโตมากขึ้นเช่นกัน (SVC = superior vena cava)

    รูปที่ 13  3VV: Hypoplastic left heart syndrome : แสดง ascending aorta (AAo) ขนาดเล็กเมื่อเทียบกับ pulmonary artery (PA) สังเกตว่าขนาด superior vena cava (SVC) โตกว่า AAo

    รูปที่ 14  3VT: Pulmonary stenosis : แสดง ductal arch (DA) ที่มี ขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับ ascending aorta (AAo) ที่มีขนาดปกติ (SVC = superior vena cava และ Tr = trachea)

    รูปที่ 15  3VV: Transposition of great artery (TGA) : แสดงแนวการเรียงตัวของเส้นเลือดทั้งสามผิดไป โดยที่ ascending aorta (AAo) อยู่ในตำแหน่งหน้าต่อ pulmonary artery (PA) ซึ่งแสดงถึงการทอดออกมาจาก right ventricle ที่อยู่ทางด้านหน้าของทรวงอก (SVC = superior vena cava)

    รูปที่ 16  3VT: Double outlet right ventricle (DORV) : แสดงแนวการเรียงตัวของเส้นเลือดทั้งสามผิดไป โดยที่ ascending aorta (AAo) อยู่ในตำแหน่งหน้าต่อ pulmonary artery (PA) และรายนี้มีขนาดของ PA เล็กกว่าปกติด้วย (DA = ductal arch, SVC = superior vena cava และ Br = bronchus)

    รูปที่ 17  3VT: Vascular ring : แสดง ductal arch (DA) ที่มีลักษณะปกติ เทเข้าสู่ descending aorta (DAo) ทางข้างซ้ายของ trachea (Tr) ในขณะที่ aortic arch (AoA) เทเข้า DAo ทางด้านขวาของ trachea ทำให้มี vascular ring

    รูปที่ 18  3VT: Vascular ring : color flow mapping แสดง ductal arch (DA) เทเข้าสู่ descending aorta (DAo) ทางข้างซ้ายของ trachea (Tr) และ aortic arch (AoA) เทเข้า DAo ทางด้านขวาของ trachea (รายเดียวกับรูปที่ 7-17)

    รูปที่ 19  3VT: Vascular ring : แสดง ductal arch (DA) ที่มีลักษณะปกติ เทเข้าสู่ descending aorta (DAo) ทางข้างซ้ายของ trachea (Tr) ในขณะที่ aortic arch (AoA) เทเข้า DAo ทางด้านขวาของ trachea ทำให้มี vascular ring ทอดอยู่ข้างหลังของ trachea (ปกติจะไม่มีเส้นเลือดทอดข้างหลังของ trachea)

    รูปที่ 20  3VT: Transposition of great artery (TGA) : แสดง aortic arch (AoA) เทเข้า DAo ทางด้านขวาของ trachea (Tr) คือข้างเดียวกับ superior vena cava (SVC) ไม่เห็น ductal arch (DA) ที่วิวนี้

    รูปที่ 21  TAA: Tetralogy of Fallot (TOF) with right aortic arch (AoA): แสดง AoA เทเข้า DAo ทางด้านขวาของ trachea (Tr) คือข้างเดียวกับ superior vena cava (SVC) ไม่เห็น ductal arch (DA) ที่วิวนี้

    รูปที่ 22  3VT: Truncus arteriosus (TA) : แสดงให้เห็นมีเพียง aortic arch (AoA) เทเข้า DAo โดยที่ไม่มี ductal arch (DA) ที่ควรจะเห็นในวิวนี้ (SVC = superior vena cava และ Tr = trachea)

    รูปที่ 23  3VT: Pulmonary stenosis : แสดง ductal arch (DA) ที่มี ขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับ aortic arch (AoA) ที่มีขนาดค่อนข้างโต และมี persistent left superior vena cava (LSVC) (SVC = superior vena cava และ Tr = trachea)

    รูปที่ 24  3VT: Double outlet right ventricle (DORV) : แสดงแนวการเรียงตัวของเส้นเลือดทั้งสามผิดไป โดยที่ ascending aorta (AAo) อยู่ในตำแหน่งหน้าต่อ pulmonary artery (PA) ซึ่งมีขนาดของ PA เล็กกว่าปกติด้วย และมี persistent left superior vena cava (LSVC)

    รูปที่ 25  3VV: Transposition of great artery (TGA) : แสดงการเรียงลำดับผิดตำแหน่งโดยที่ ascending aorta (AAo) อยู่ด้านหน้าและซ้ายสุด และมี pulmonary artery (PA) ซึ่งมีขนาดเล็กอยูตรงกลาง (SVC = superior vena cava และ Tr = trachea)

    รูปที่ 26  3VV: Transposition of great artery (TGA) : แสดงการเรียงลำดับผิดตำแหน่งโดยที่ ascending aorta (AAo) อยู่ด้านหน้าและซ้ายสุด และมี pulmonary artery (PA) ซึ่งมีขนาดเล็กอยู่ตรงกลาง

    รูปที่ 27  3VT: Tetralogy of Fallot (TOF) : color flow mapping แสดง retrograde flow ใน ductal arch (DA) ซึ่งในรายนี้มี pulmonary stenosis (AoA = aortic arch, SVC = superior vena cava และ Tr = trachea)

    รูปที่ 28  3VT: Hypoplastic left heart syndrome (HLHS) : color flow mapping แสดง retrograde flow ใน aortic arch (AoA) ซึ่งมีขนาดเล็ก (DA = ductal arch และ Tr = trachea)

    พบว่าจากการทำการตรวจ 118 ราย ที่วินิจฉัยหัวใจพิการโดยกำเนิด มีอยู่ 12 รายซึ่งถูกตัดออกจากการนำมาวิเคราะห์เนื่องจากผลการวินิจฉัยขั้นสุดท้ายไม่แน่นอน พบว่า 75 รายมีความผิดปกติของ c3VV อย่างน้อยหนึ่งอย่าง โดย c3VV มีอัตราการตรวจพบความผิดปกติได้กว่าร้อยละ 70 ของทารกหัวใจพิการ ถ้าไม่รวมรายที่มีความผิดปกติเฉพาะ VSD จะมีอัตราการตรวจพบเพิ่มเป็นร้อยละ 89 ประมาณสองในสามของทารกที่เป็น tetralogy of Fallot (TOF) จะแสดงความผิดปกติของ c3VV โดยเฉพาะขนาดความไม่ได้สัดส่วนของ MPA กับ AAo ทุกรายของ transposition of great artery (TGA), aortic stenosis, pulmonary stenosis, truncus arteriosus และ ductal aneurysm แสดงความผิดปกติของ c3VV นอกจากนี้ความผิดปกติของ c3VV ยังสามารถเห็นได้ในเกือบทุกรายของ double-outlet right ventricles (DOVR), Ebstein’s anomaly และ tricuspid atresia ในบรรดาทารกหัวใจพิการทั้ง 75 รายที่มีความผิดปกติของ c3VV บางรายมีหลายความผิดปกติอยู่ เช่น DORV มักจะพบว่ามี anterior alignment ของ AAo มีขนาดผิดปกติ และบางครั้งมีการเรียงลำดับผิดในรายเดียวกันเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่ การเรียงลำดับผิดปกติของเส้นเลือดทั้งสามเส้นใน 3VV แต่จะเห็นเพียง 2 เส้นในวิว 3VT ซึ่งเกิดใน TGA ทั้ง 5 ราย นอกจากนั้นความผิดปกติของ c3VV ยังตรวจพบในทุกรายของ truncus arteriosus และหนึ่งในสามของทารกที่เป็น DORV

    หลักฐานความผิดปกติใน c3VV ที่นำไปสู่การวินิจฉัยโรคบ่อย ๆ ได้แก่

    • การหายไปของเส้นเลือดใหญ่หนึ่งเส้น ซึ่งอาจเป็น pulmonary หรือ aorta สามารถเห็นได้ง่ายจาก c3VV ซึ่งจะชวนให้สงสัยถึงภาวะ truncus arteriosus, TOF ที่มี pulmonary atresia หรือ pulmonary stenosis ที่เล็กมาก ๆ
    • การเรียงลำดับผิดไปจากปกติและเห็นได้ชัดทั้ง สามเส้นที่ใน 3VV แต่เห็นเพียงสองเส้นใน 3VT มีโอกาสสูงที่จะเป็น TGA ซึ่งใน 3VT มักจะเห็นเพียง aortic arch เนื่องจาก ductal arch จะออกมาจาก pulmonary trunk ที่อยูทางด้านหลังกว่าปกติ และอยู่ใต้ต่อ aortic arch
    • การพบแนวการเรียงตัวผิดปกติ โดยที่มี anterior AAo ในวิว 3VV พบได้แทบทุกรายของทารกที่เป็น TGA
    • การตรวจพบเส้นเลือดใหญ่ 4 เส้น มักจะเกิดจาก persistent left SVC เป็นความผิดปกติที่ตรวจได้ง่าย แต่มักจะส่อความผิดปกติรุนแรงซ่อนอยู่ด้วย(1;3;9)
    • โดยทั่วไปแล้วการตรวจพบ right aortic arch อาจจะยากในการวินิจฉัยก่อนคลอด แต่ 3VT จะช่วยให้การวินิจฉัยนี้ง่ายขึ้นมาก ซึ่งแสดงให้เห็นได้ด้วยความสัมพันธ์กับ trachea ก็จะสามารถให้การวินิจฉัยได้ ถ้าอยู่ข้างซ้ายของ trachea ซึ่งมักจะมีแนวทอดทำมุมกับ ductal arch เป็นรูปตัว V จะเป็น left aortic arch ที่พบเป็นปกติ แต่ในรายที่ aortic arch อยู่ทางขวาของ trachea หรือ right aortic arch จะมีแนวการทอดเชื่อมกับ ductal arch เป็นรูปตัว U โดยคล้อง trachea อาจจะเรียกว่าเป็น vascular ring ซึ่งการพบลักษณะนี้นับว่ามีประโยชน์ในการช่วยวินิจฉัยความพิการโดยกำเนิดหลาย ๆ โรค(10-17) ผู้เขียนพบว่าประมาณหนึ่งในสามของ TOF มี right aortic arch และยังพบว่า vascular ring นี้สัมพันธ์กับ aberrant left subclavian artery
    • จากประสบการณ์ของทีมงานผู้เขียน บ่งชี้ว่าการตรวจ c3VV ช่วยให้การวินิจฉัยหัวใจพิการโดยกำเนิดได้มากขึ้น ในทางปฏิบัติผู้เขียนแนะนำว่า c3VV เป็นการสำรวจเส้นเลือดในส่วนบนของทรวงอกได้อย่างทั่วถึง เป็นไดนามิควิว ที่ให้ข้อมูลครบถ้วนมากกว่าเพียงการตรวจ 3VV หรือ 3VT เพียงอย่างเดียว ผู้เขียนแนะนำว่าในการตรวจคัดกรองด้วย 2D-US ถ้าเป็นไปได้ควรตรวจภาพตัดขวาง 3 ไดนามิคเพลนสำคัญ คือ
    • 4CV เช็คความปกติตามเกณฑ์มาตรฐาน
    • 5CV ซึ่งควรรวมการแสดง criss-cross action ในการแสดง outflow tract ทั้งซ้ายขวา และ aortic valve และ pulmonary valve
    • c3VV ซึ่งควรได้เห็นรูปแบบหรือความสัมพันธ์ของเส้นเลือดทั้งสามเส้นเหนือระดับหัวใจขึ้นไปจนเทเข้าสู่ descending aorta ซึ่งคือการรวมทั้ง 3VV, TDA, TAA และ 3VT เข้าด้วยกัน

    ข้อพึงระวัง ความผิดปกติเดี่ยว ๆ ในหัวใจ บางรายอาจไม่แสดงความผิดปกติของ c3VV ได้ โดยเฉพาะ isolated ventricular septal defect หรือ atrial septal defect เป็นต้น

    เอกสารอ้างอิง

    1) Yoo SJ, Lee YH, Kim ES, Ryu HM, Kim MY, Choi HK, et al. Three-vessel view of the fetal upper mediastinum: an easy means of detecting abnormalities of the ventricular outflow tracts and great arteries during obstetric screening. Ultrasound Obstet Gynecol 1997 Mar;9(3):173-82.

    2) Yagel S, Arbel R, Anteby EY, Raveh D, Achiron R. The three vessels and trachea view (3VT) in fetal cardiac scanning. Ultrasound Obstet Gynecol 2002 Oct;20(4):340-5.

    3) Yoo SJ, Lee YH, Cho KS, Kim DY. Sequential segmental approach to fetal congenital heart disease. Cardiol Young 1999 Jul;9(4):430-44.

    4) Yoo SJ, Lee YH, Cho KS. Abnormal three-vessel view on sonography: a clue to the diagnosis of congenital heart disease in the fetus. AJR Am J Roentgenol 1999 Mar;172(3):825-30.

    5) Vinals F, Heredia F, Giuliano A. The role of the three vessels and trachea view (3VT) in the diagnosis of congenital heart defects. Ultrasound Obstet Gynecol 2003 Oct;22(4):358-67.

    6) Tongsong T, Tongprasert F, Srisupundit K, Luewan S. The complete three-vessel view in prenatal detection of congenital heart defects. Prenat Diagn 2010 Jan;30(1):23-9.

    7) Yagel S, Cohen SM, Achiron R. Examination of the fetal heart by five short-axis views: a proposed screening method for comprehensive cardiac evaluation. Ultrasound Obstet Gynecol 2001 May;17(5):367-9.

    8) Moon MH, Cho JY, Park EJ, Min JY, Kim JA, Jung SI, et al. Three-vessel view of the fetal heart: in utero development of the great vessels. Prenat Diagn 2007 Feb;27(2):158-63.

    9) Vinals F, Ascenzo R, Poblete P, Comas C, Vargas G, Giuliano A. Simple approach to prenatal diagnosis of transposition of the great arteries. Ultrasound Obstet Gynecol 2006 Jul;28(1):22-5.

    10) Achiron R, Rotstein Z, Heggesh J, Bronshtein M, Zimand S, Lipitz S, et al. Anomalies of the fetal aortic arch: a novel sonographic approach to in-utero diagnosis. Ultrasound Obstet Gynecol 2002 Dec;20(6):553-7.

    11) Berg C, Bender F, Soukup M, Geipel A, xt-Fliedner R, Breuer J, et al. Right aortic arch detected in fetal life. Ultrasound Obstet Gynecol 2006 Dec;28(7):882-9.

    12) Bronshtein M, Lorber A, Berant M, Auslander R, Zimmer EZ. Sonographic diagnosis of fetal vascular rings in early pregnancy. Am J Cardiol 1998 Jan 1;81(1):101-3.

    13) Chaoui R, Schneider MB, Kalache KD. Right aortic arch with vascular ring and aberrant left subclavian artery: prenatal diagnosis assisted by three-dimensional power Doppler ultrasound. Ultrasound Obstet Gynecol 2003 Dec;22(6):661-3.

    14) Gardiner HM. Mind the gap! What we don’t know about right aortic arches and aberrant branches. Ultrasound Obstet Gynecol 2006 Dec;28(7):868-9.

    15) Patel CR, Lane JR, Spector ML, Smith PC. Fetal echocardiographic diagnosis of vascular rings. J Ultrasound Med 2006 Feb;25(2):251-7.

    16) Yoo SJ, Min JY, Lee YH, Roman K, Jaeggi E, Smallhorn J. Fetal sonographic diagnosis of aortic arch anomalies. Ultrasound Obstet Gynecol 2003 Nov;22(5):535-46.

    17) Zidere V, Tsapakis EG, Huggon IC, Allan LD. Right aortic arch in the fetus. Ultrasound Obstet Gynecol 2006 Dec;28(7):876-81.