• Fetal Cardiac Examination
  • การช่วยวินิจฉัยด้วยดอพเลอร์สี Color Flow Mapping

ในปี 1980 ได้เริ่มมีการใช้ color flow มาช่วยในการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจทารกในครรภ์ เพื่อตรวจการไหลเวียนเลือดที่เข้าและออกจากหัวใจ ดูทิศทางการไหลเวียนที่ผิดปกติโดยเฉพาะเส้นเลือดที่มีขนาดเล็ก ๆ และยังช่วยบอกตำแหน่งในการวาง sample gate ของ pulsed doppler อีกด้วย โดยจะต่างจาก power doppler ที่ใช้เพิ่มความสามารถในการตรวจหาเส้นเลือดขนาดเล็ก แต่ไม่ได้บอกถึงทิศทางการไหลเวียน จากการศึกษาของ Copel ในปี 1991(1) พบว่าการใช้ color flow สามารถช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตรวจหาความผิดปกติของหัวใจได้ร้อยละ 29 ในปัจจุบัน color flow mapping จึงได้ถูกนำมาใช้ในการตรวจเบื้องต้นทุกราย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้นหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น

ประโยชน์ของการใช้ Color Flow Mapping (CFM)

1. ตรวจการไหลเวียนของเลือดที่เข้าและออกจากหัวใจ
2. ตรวจทิศทางการไหลเวียนของเลือดที่ผ่าน atrial septum
3. ตรวจดูว่าไม่มีเลือดที่ไหลข้าม ventricular septum
4. ตรวจดูการไหลย้อนกลับของเลือดที่ผ่าน valve (regurgitation)
5. ตรวจหาตำแหน่งที่มี turbulence flow
6. ตรวจดูขนาดของเส้นเลือดว่าใหญ่หรือเล็กผิดปกติหรือไม่

การตั้งค่าในการตรวจด้วย CFM(2;3)

Transducer frequency

คลื่นความถี่ถ้ายิ่งสูงจะทำให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่จะไม่สามารถเห็นภาพในระยะที่ลึกมาก ๆ ได้ สำหรับการตรวจหัวใจ ซึ่งส่วนมากจะอยู่ลึกประมาณ 5-10 ซม. จากหัวตรวจ ควรเลือกใช้ช่วงความถี่ 3-7 MHz

Color box

ควรปรับขนาดให้เล็กที่สุด ให้เหมาะกับตำแหน่งที่ต้องการตรวจ เพื่อเพิ่ม frame rate ให้สูงขึ้น ค่า frame rate ในระดับตั้งแต่ 20-25 รูป/วินาที จะมีความไวมากและเหมือนจริงที่สุด (รุูปที่ 1)

รูปที่ 1 ภาพแสดงการปรับ color box ในขนาดที่ต่างกัน ภาพขวา เป็นการปรับให้มีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น ภาพซ้าย เป็นการปรับขนาดให้พอดีกับหัวใจ

Color gain

ความคมชัดของสีที่ปรากฏ การตั้งค่าจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการตรวจ ควรตั้งค่าต่ำไว้ก่อนแล้วค่อย ๆ ปรับขึ้นเพื่อให้ได้ภาพที่เหมาะสม ถ้าตั้งสูงเกินไปอาจมีภาพรบกวนได้ เช่น ถ้าดูการไหลเวียนผ่าน atrioventricular valve ของ ventricles ทั้งสองข้าง อาจมีคลื่นเสียงข้าม ventricular septum ทำให้ดูคล้ายเป็น ventricular septal defectได้
Pulse repetition frequency (PRF)
การเลือกความถี่ของความเร็วให้เหมาะสมมีความสำคัญในการตรวจด้วย color flow mapping เพราะถ้าตั้งไว้ในระดับต่ำ เช่น 10-20 ซม./วินาที จะใช้ในการตรวจ pulmonary vein, bicaval vein หรือเส้นเลือดที่มีความเร็วต่ำ แต่ถ้าดูการไหลเวียนในหัวใจ หรือ great vessel ต้องตั้งไว้ที่ ระดับ 45-50 ซม./วินาที ขึ้นไป (รุูปที่ 2)

รูปที่ 2 ภาพแสดงการปรับความถี่หรือ pulse repitation frequency ภาพซ้ายตั้งค่าความเร็วไว้ที่ 38 ซม./วินาที จะเห็นลักษณะ aliasing ของ color flow ภาพขวาตั้งค่าความเร็วไว้ที่ 58 ซม./วินาที จะเห็น flow ที่ไหลผ่าน atrioventricular valves ได้ชัดเจนขึ้น

Color filter

การกรองคลื่นสัญญาณที่รบกวน เช่น การเคลื่อนไหวของผนังเส้นเลือด ที่เรียกว่า wall motion filter ค่า filter ท่ี่สูงจะเหมาะกับการตรวจบริเวณ atrioventricular valve หรือ aorta แต่ถ้าตรวจ pulmonary artery หรือ vein หรือ เส้นเลือดขนาดเล็กอื่น ๆ ใช้ค่า filter ต่ำ ๆ เพราะส่วนใหญ่ความเร็วของเลือดที่ไหลผ่านจะไม่สูงมาก (รูปที่ 3)

รูปที่ 3 ภาพแสดงการปรับ wall motion filter (WMF) ภาพซ้ายระดับ low ภาพขวาระดับ high

Aliasing

ในบริเวณที่มีความเร็วการไหลเวียนที่เร็วกว่าที่จะวัดได้ สีที่ปรากฏจะเป็นการผสมกันของสีแดงกับน้ำเงิน ให้ตรวจดูว่าตอนนั้นใช้ความถี่สูงสุดหรือยัง ถ้าใช้อยู่ให้ลดเป็นความถี่ต่ำ ถ้ายังปรากฏอยู่แสดงว่าบริเวณนั้นมีการไหลเวียนของเลือดที่ผิดปกติไป

Color Flow Mapping ในทารกปกติ

วิธีการตรวจ

ควรเริ่มต้นจากภาพ 2D หาตำแหน่งของ 4 chamber view โดยให้ interventricular septum ขนานกับลำแสงของคลื่นเสียงอัลตราซาวด์ หรือที่เรียกว่า apical 4 chamber view ตั้งค่า frame rate ให้สูง และลด 2D gain ลงให้ภาพดูมืดเล็กน้อย เริ่มใช้การทำงานของ color Doppler โดยตั้ง box ให้มีขนาดเล็กที่สุด อาจต้องปรับความถี่ของคลื่นเสียงให้เหมาะสมกับช่วงอายุครรภ์ ยิ่งอายุครรภ์มากขึ้น ควรปรับความถี่ให้สูงขึ้นบางรายอาจเกิน 50 cm/sec เพื่อลดคลื่นเสียงที่รบกวนให้เห็นเฉพาะ flow ในตำแหน่งที่ต้องการดู แต่ในรายที่สงสัยความผิดปกติ หรือดูเส้นเลือดขนาดเล็กอาจต้องลดความถี่ให้ต่ำลง

ถ้าต้องการตรวจ atrioventricular หรือ semi-lunar valves

  • เพิ่ม wall filter และ pulse repetition frequency
  • จัดภาพให้ลำคลื่นเสียงขนานกับทิศทางการไหลเวียนของเลือด เพราะถ้าตั้งฉากจะไม่เห็น color flow
  • ถ้าต้องการตรวจ pulmonary vein หรือ เส้นเลือดขนาดเล็กอื่น ๆ
  • ลดwall filter และ pulse repetition frequency

การตรวจในระดับต่าง ๆ(4)

1. ระดับท้องส่วนบน
ควรตรวจทั้งใน transverse และ sagittal plane เพื่อดูเส้นเลือดดังต่อไปนี้ คือ umbilical vein, hepatic vein, ductus venosus และ inferior vena cava ที่เปิดเข้าสู่ right atrium (รูปที่ 4)

รูปที่ 4 ภาพ cross section(ซ้าย) และ sagittal plane(ขวา) แสดง color flow ระดับท้องส่วนบน

  • หาตำแหน่งของ ductus venosus เพื่อตรวจ pulsed Doppler ต่อไป โดย color flow ของ ductus venosus มักจะมี aliasing เพราะเป็นส่วนที่ต่อจาก umbilical vein และตีบแคบลง ทำให้เลือดที่ไหลผ่านมีความเร็วสูงขึ้น
  • ถ้าไม่เห็น inferior vena cava อาจเป็น interrupted inferior vena cava ที่จะเจอได้ใน left atrial isomerism

2. ระดับ four chamber view

ในระดับนี้สามารถตรวจได้ทั้ง apical (spine อยู่ชิดหัวตรวจ) และ basal (spine อยู่ด้านตรงข้าม) view ซึ่งจะเห็นทั้ง 4 chamber โดยในจังหวะการบีบและคลายตัวจะเห็นการไหลเวียนที่แตกต่างกัน (รุูปที่ 5,6)

รูปที่ 5 ภาพ four chamber view แสดง color flow ในจังหวะบีบตัว (ซ้าย) และคลายตัว(ขวา) ใน apical view

รูปที่ 6 ภาพ four chamber view แสดง color flow ในจังหวะบีบตัว(ซ้าย)และคลายตัว(ขวา) ใน transverse view

จังหวะคลายตัว (diastole)

การตรวจควรให้อยู่ในท่า apical หรือ basal view จะเห็น color flow ไหลเข้าหาหรือออกจากหัวตรวจ ซึ่งแสดงเลือดที่ไหลจาก atrium ไปยัง ventricle ทั้งสองข้าง ปริมาณและขนาดของ color flow ควรจะเท่ากัน ไม่เชื่อมกันข้าม interventricular septum ถ้าตำแหน่งของหัวใจอยู่ทางด้านข้าง ไม่ว่าจะเป็นขวาหรือซ้าย ให้หมุนหัวตรวจทางหน้าท้องแม่ ปรับให้ทิศทางการไหลเวียนเลือดกับหัวตรวจทำมุมไม่เกิน 45 องศา

ความผิดปกติที่เป็นได้กรณีเห็น color flow ทั้ง 2 ข้าง

  • Ventricular septal defect (VSD) จะเห็น color flow ทอดข้าม interventricular septum มีการเชื่อมต่อระหว่าง 2 ข้าง ส่วนมากที่เห็นในวิวนี้ เกิดจากรูรั่วของ muscular part ซึ่งถ้ามีแต่ ventricular septal defect โดยไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ จะมีเลือดไหลเวียนไปมาได้ทั้งสองทิศทาง หรือเป็น bidirectional shunt
  • Atrioventricular septal defect (AVSD) มีรูรั่วอยู่ที่ interatrial septum ส่วนล่าง, ventricular septum ส่วนบน และ septum ของ atrioventricular valve บางส่วน โดยจะมี color flow จาก atrium 2 ข้าง มารวมกันที่ crux แล้วแยกเข้าสู่ ventricle 2 ข้าง โดย flow ที่มาจาก atrium จะแยกเข้า ventricle ของด้านเดียวกันและด้านตรงข้ามด้วย ทำให้เห็นเป็น ‘H’ shape(5)
  • Double inlet ventricle with patent atrioventricular valves หรือ single ventricle จะมี color flow มาจาก atrium 2 ข้าง ผ่าน atrioventricular valves ลงมา และไปรวมกันใน ventricle เดียว
  • Hypoplastic left heart syndrome (HLHS) หรือ ในรายที่เป็น aortic stenosis ชนิดรุนแรง ร่วมกับ left ventricular dysfunction หรือ coarctation of aorta จะมีเลือดไหลเวียนผ่านลงมายัง left ventricle อยู่ เพราะ mitral valve ยังทำงานได้ แต่ปริมาณ color flow จะน้อยกว่าข้างขวา เลือดที่ไม่สามารถไหลผ่าน aortic valve ไปได้ก็จะทำให้เกิด mitral valve regurgitation แต่จะเห็นในจังหวะบีบตัว
  • Pulmonary atresia ที่ไม่มี interventricular septal defect หรือใน pulmonary stenosis ชนิดรุนแรง ทำให้ ปริมาณ color flow ข้างขวาจะน้อยกว่าข้างซ้าย ร่วมกับมีการไหลย้อนกลับผ่านทาง tricuspid valve หรือ ventriculo-coronary fistula

ความผิดปกติที่เป็นได้กรณีเห็น color flow ข้างเดียว

  • Hypoplastic left heart syndrome ในรายที่เป็นมากจะไม่มีเลือดไหลผ่านลงใน ventricle ได้เลย ทำให้เห็น color flow ทางด้านขวาข้างเดียว
  • Mitral atresia ร่วมกับ ventricular septal defect จะมีลักษณะคล้าย HLHS เพราะเลือดไม่สามารถผ่าน mitral valve ลงมาได้ แต่อาจจะเห็น color flow ใน left ventricle ที่ผ่านมาทาง ventricular septal defect ในช่วงท้ายของจังหวะที่หัวใจคลายตัวได้ (end-diastole)
  • Pulmonary atresia ที่ไม่มี ventricular septal defect จะเหมือนกับใน HLHS แต่จะเห็น color flow ที่ left ventricle ข้างเดียว ไม่เห็น flow ไหลผ่านทางข้างขวา
  • Tricuspid atresia ร่วมกับ ventricular septal defect จะเห็น color flow ที่ left ventricle ข้างเดียว แต่อาจจะเห็น color flow ใน right ventricle ที่ผ่านมาทาง ventricular septal defect ได้
  • Atrioventricular septal defect ขนาดใหญ่ จะเห็นเป็นแถบของ color flow ที่กว้าง ที่มีเลือดจาก atrium อันเดียวลงไปยัง ventricle 2 ข้าง แต่ ventricular septal defect มีขนาดใหญ่จึงไม่เห็นแยกเป็น 2 ข้างเหมือนปกติ
  • Double inlet ventricle with one atretic valve มี 2 atrium ที่เปิดคร่อมอยู่บน ventricle แต่มีเพียงข้างเดียวที่ atrioventricular valve ทำงานได้ดี อีกข้างหนึ่งไม่สามารถเปิดปิดได้ตามปกติ ทำให้เห็น color flow ผ่านเข้า ventricle เพียงข้างเดียว

จังหวะบีบตัว (systole)

ในจังหวะบีบตัวนี้ atrioventricular valve จะปิดและไม่ควรเห็น color flow ไหลผ่าน ยกเว้นในรายที่มี valve regurgitation จะเห็น color flow ไหลจาก ventricle เข้ามาใน atrium อาจพบร่วมกับ atrium ที่โตขึ้น ในช่วงกึ่งกลางการตั้งครรภ์ ซึ่งทารกปกติจะมี tricuspid regurgitation ชนิดไม่รุนแรงได้ ร้อยละ 3-5 ส่วนมากเกิดในช่วง early systole และความเร็วสูงสุดไม่เกิด 200 ซม./วินาที

รูปที่ 7 ภาพ four chamber view ในรายที่มี valve regurgitation แสดง color flow ในจังหวะบีบตัว(ซ้าย)ในทิศทางตรงกันข้ามกับจังหวะคลายตัว(ขวา) แสดงว่ามีการไหลย้อนกลับของเลือด

  • Tricuspid valve insufficiency เช่น Ebstein’s anomaly หรือ tricuspid valve dysplasia จะพบว่า right atrium จะโตขึ้น ตำแหน่งที่เกาะของ valve leaflet จะอยู่ต่ำกว่าปกติและจะมี color flow พุ่งขึ้นจาก ventricle ย้อนกลับเข้าสู่ atrium (รุูปที่ 7)
  • Pulmonary atresia และ pulmonary stenosis จะสัมพันธ์กับ tricuspid valve insufficiency หรือ constriction ductus arteriosus
  • Atrioventricular valve regurgitation อาจเกิดในภาวะต่าง ๆ ดังนี้ ได้แก่ Atrioventricular septal defect, Hypoplastic left heart syndrome และ aortic coarctation จากที่ right heart โตขึ้น เพราะ volume overload ทำให้มีการไหลย้อนกลับของเลือด
  • Mitral valve insufficiency พบไม่บ่อยนัก แต่อาจเจอได้ ใน aortic atresia หรือ severe aortic stenosis ที่ mitral valve ยังทำงานได้ตามปกติ หรือ ใน septum primum defect (ASD I) ที่ทำให้ mitral valve มีรอยแยก อาจเกิด mitral regurgitation ได้

ในรายที่มี mitral valve หรือ tricuspid valve regurgitation ควรต้องสืบค้นโรคอื่นเพิ่มเติม เช่น ถ้าเกิดใน dilated cardiomyopathy อาจสัมพันธ์กับมารดาที่เป็น systemic lupus erythematosus หรือ volume overload ที่เกิดจาก tachycardia, arteriovenous fistula, anemia, หรือ recipient fetus ใน twin–twin transfusion syndrome รวมถึงต้องแยกออกจาก infective myocarditis และ การติดเชื้อ cytomegalovirus

3. ระดับ five chamber view

เป็น plane ที่ดูได้ทั้งเลือดที่ไหลเข้าและไหลออกจาก left ventricle ผ่านทาง mitral valve และ aorta โดยถ้าดูจาก apical view จะเห็นเลือดที่ไหลเข้า ventricle เป็นสีแดง ไหลออกทาง aorta เป็นสีน้ำเงิน โดยที่ขอบของ color flow จะต่อเนื่องกันไปตลอดแนวของ ventricular septum และ aorta แต่ถ้าดูใน basal view จะเห็น color flow สีแดง ไหลจาก ventricle ขึ้นไปตาม aorta ที่พุ่งขึ้นด้านบน ซึ่งจังหวะบีบตัวของหัวใจนี้ไม่ควรเห็น turbulence flow และในจังหวะคลายตัวก็ไม่ควรมีเลือดไหลผ่าน aortic valve ด้วยเช่นกัน (รุูปที่ 8,9)

รูปที่ 8 ภาพ five chamber view แสดง color flow ในจังหวะบีบตัว(ซ้าย)และคลายตัว(ขวา) ใน apical view จะเห็น color flow ไหลผ่าน aorta ในจังหวะบีบตัว

รูปที่ 9 ภาพ five chamber view แสดง color flow ในจังหวะบีบตัว(ซ้าย)และคลายตัว(ขวา) ใน transverse view จะเห็น color flow ไหลผ่าน aorta ในจังหวะบีบตัว

จังหวะบีบตัว (systole)

  • มี turbulence flow โดยที่ไม่มีรูรั่วที่ interventricular septum บ่งชี้ว่าน่าจะมีการตีบของ aortic valve เป็น aortic stenosis
  • มี color flow ข้าม interventricular septum ระหว่าง ventricle ทั้งสองข้าง แต่ไม่ได้ขึ้นไปหา aorta บ่งชี้ว่าน่าจะมี ventricular septal defect ที่ตำแหน่งใกล้กับ aorta ที่มาเปิด ส่วนใหญ่จะเป็น perimembranous ventricular septal defect
  • ไม่มี color flow ไหลผ่าน aortic valve เลย บ่งชี้ว่าน่าจะเป็น aortic atresia หรือ อาจเกิดจากไม่มีเลือดผ่านเข้ามาใน left ventricle ตั้งแต่แรก หรือมีน้อยมากจาก left heart hypoplasia ก็เป็นได้
  • มี color flow พุ่งเข้าหา aorta จาก 2 ทิศทาง คือ จาก left ventricle และ right ventricle ลักษณะคล้ายตัว Y จะพบร่วมกับ ventricular septal defect บ่งชี้ว่าน่าจะเป็น overriding of aorta(5) ซึ่งแบ่งเป็น
    • ventricular septal defect ชนิดรุนแรง ร่วมกับ overriding of aorta ใน Trisomy 18
    • Tetralogy of Fallot ที่มี pulmonary atresia aorta จะโตขึ้น ในขณะที่ pulmonary trunk จะเล็กลง แต่ valve ยังทำงานได้ดี ไม่จำเป็นต้องมี turbulent flow ภายใน ความเร็วสูงสุดมักไม่เกิน 180 ซม./วินาที
    • Pulmonary atresia with ventricular septal defect จะพบว่า pulmonary trunk มีขนาดเล็กร่วมการปิดของ pulmonic valve อาจรุนแรงจนไม่เห็น pulmonary trunk ได้ หรือมีการไหลย้อนกลับของเลือดจาก color flow ใน ductus arteriosus
    • Absent pulmonary valve syndrome ใน severe dysplasia หรือ ไม่มี valve leaflets ร่วมกับมี stenosis หรือ insufficiency จะไม่เห็น ductus arteriosus แต่ aortic arch ที่ขยายใหญ่จะอยู่ทางด้านขวา และ pulmonary artery ขยายขึ้นจนถึง 10 มิลลิเมตรในช่วงครึ่งหลังตั้งครรภ์
    • Truncus arteriosus communis Type I จะพบว่า pulmonary trunk และ aorta ออกมาจากบริเวณเดียวกัน

จังหวะคลายตัว (diastole)

  • ในจังหวะนี้ aortic valve จะปิด ในภาวะปกติไม่ควรมี color flow ไหลผ่าน แต่ถ้ามีจะไหลในทิศทางตรงข้ามกับปกติ คือไหลออกจาก aorta ทำให้เห็นสี color flow เป็นสีแดง ใน apical view และ สีน้ำเงินใน basal view บ่งชี้ว่าน่าจะมี aortic root regurgitation ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับ aortic valve dysplasia หรือใน truncus arteriosus ที่อาจร่วมกับมี aortic stenosis ถ้าดูแล้วมี aortic root ที่โตขึ้นร่วมกับ aortic regurgitation ให้นึกถึง Marfan syndrome ในรายที่อายุครรภ์น้อย อาจเห็น color flow ไหลย้อนไป-มาผ่าน aortic valve ได้

4. ระดับ three vessel view (3VV)

ใน plane นี้ จะแสดงให้เห็นการไหลเวียนของเลือดใน pulmonary artery ที่ผ่าน valve มาจนถึง bifurcation แยกเป็น right และ left pulmonary artery (รุูปที่ 10) และจาก plane นี้ถ้าเอียงไปเล็กน้อยจะเห็นส่วนที่เป็น ductus arteriosus แยกออกมาจาก pulmonary trunk นอกจากนี้ยังเห็น aortic arch, aortic isthmus และ superior vena cava ด้วย โดยที่ aorta และ pulmonary trunk จะทอดยาวเป็นเส้นตรงและมารวมกันที่ทรวงอกด้านซ้ายและอยู่ทางด้านขวาต่อ trachea, ขนาดของ pulmonary trunk ใหญ่กว่า aorta เล็กน้อย ลักษณะของ color flow จะพุ่งจาก pulmonary และ aorta ไปยัง descending aorta ทางด้านหลัง เห็นลักษณะเป็นรูปตัว “V”(6) ซึ่งจะเจอได้ในระดับ three-vessel tracheal view เช่นเดียวกัน (รุูปที่ 11)

รูปที่ 10 ภาพ three vessel view แสดง color flow ในจังหวะบีบตัว(ซ้าย)และคลายตัว (ขวา)ในตำแหน่ง bifurcation ของ pulmonary artery

รูปที่ 11 ภาพ three vessels trachea view แสดง color flow ในจังหวะบีบตัว(ซ้าย)และคลายตัว(ขวา)

    ใน plane ที่สูงขึ้นไปกว่านี้เล็กน้อย ถ้าลด gain ในตำแหน่งที่อยู่ด้านหลังต่อ thymus อาจเห็น innominate vein ต่อกับ left jugular vein และ superior vena cava ซึ่งจะทอดอยู่ในแนวนอน ขนานกับ sternum โดยทิศทางของ color flow จะพุ่งไปทางด้านขวา

    5. ระดับ three-vessel trachea view

    การตรวจด้วย color flow ในวิวนี้ส่วนใหญ่ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของ out flow tract ไม่ว่าจะเป็น pulmonary artery หรือ aorta ที่มี atresia หรือ stenosis โดยดูจากขนาดของ flow ที่ไหลผ่านเส้นเลือด และทิศทางการไหลเวียนว่าเป็น antegrade หรือ retrograde flow ใน plane นี้จะคล้ายกับ three-vessel view(3VV) ปกติ ซึ่ง color flow mapping มีประโยชน์ในการช่วยวินิจฉัยความผิดปกติของเส้นเลือดใหญ่(7) เช่น pulmonary stenosis, aortic stenosis, vascular ring หรือ right aortic arch เป็นต้น

    ความผิดปกติที่เป็นได้กรณีเห็น color flow ในเส้นเลือดใหญ่ทั้ง 2 เส้น ในทิศทางปกติ

    • Pulmonary artery ขนาดโตขึ้น และมี turbulence flow ภายใน มักพบใน isolated pulmonary stenosis โดยที่จะพบ aliasing ในตำแหน่ง valve ร่วมกับมีการขยายของหลอดเลือดหลังตำแหน่งที่มีการตีบ ในรายที่รุนแรงอาจมีการไหลย้อนกลับของ color flow มาทาง ductus arteiosus ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นชนิด ductus dependent pulmonary circulation หลังคลอด
    • Pulmonary artery ขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับ aorta บ่งชี้ว่าน่าจะเป็น pulmonary stenosis ใน tetralogy of Fallot หรือ Ebstein anomaly หรือ tricuspid atresia ที่มี ventricular septal defect หรือ double outlet of right ventricle ที่มี pulmonary stenosis ร่วมด้วย ถ้า flow ใน ductus arteriosus ไหลในทิศทางปกติ จัดเป็นกลุ่ม non-ductus dependent pulmonary circulation หลังคลอด
    • Aortic arch มีขนาดโตขึ้นและมี turbulence flow ภายใน พบได้ใน aortic stenosis ที่ left ventricle ยังดีอยู่ มักมีการขยายของหลอดเลือดหลังตำแหน่งที่มีการตีบของเส้นเลือด
    • Aortic arch ขนาดเล็กมาก บ่งชี้ว่าน่าจะเป็น coarctation of aorta ที่มี tubular hypoplasia ถ้าดูจาก 2D อัลตราซาวด์จะเห็น aortic arch ขนาดเล็กหรือคดไปมา
    • ถ้า trachea อยู่ผิดตำแหน่ง ไม่ได้อยู่ทางด้านซ้ายของ pulmonary artery และ aorta แต่เห็น aorta ทอดไปทางด้านขวาของ spine และ pulmonary artery อยู่ทางด้านซ้าย โดยมี trachea อยู่ตรงกลาง มี ductus arteiosus มาเปิดเข้า aorta ด้านหลังต่อ trachea จะเห็นเป็นรูปตัว U แสดงว่าเป็น right-sided aortic arch(4)
    • Constriction of ductus arteiosus จะเห็น continuous flow ตลอด cardiac cycle และจะมี tuburlent flow บริเวณที่มีการตีบ

    ความผิดปกติที่เป็นได้กรณีเห็น color flow ในเส้นเลือดใหญ่ 1 เส้น

    • ในรายที่เห็น color flow เพียงอันเดียว และขนาดปกติ ให้หมุนหัวตรวจ 90 องศา เพื่อดูเส้นเลือดใหญ่ทั้งสองเส้นในแนวยาวว่ามีการทอดคู่ขนานกันมาหรือไม่ ถ้าเห็นเพียงเส้นเดียว บ่งชี้ว่าน่าจะมีภาวะ hypoplasia ของเส้นเลือดอีกเส้นหนึ่ง
    • Color flow แสดงทิศทางการไหลของเลือดใน aorta ปกติ แต่มีการไหลย้อนกลับใน pulmonary artery ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับ aorta พบได้ใน pulmonary atresia ที่อาจมีหรือไม่มี ventricular septal defect ร่วมด้วยก็ได้ หรือใน pulmonary stenosis ซึ่งทำให้ pulmonary artery มีขนาดเล็กหรือหายไป ร่วมกับ ductus arteriosus ที่คดเคี้ยว
    • Color flow แสดงการไหลของเลือดในทิศทางปกติ ใน pulmonary artery และ ductus arteriosus แต่มีการไหลย้อนกลับของเลือดใน aorta ไปในทิศทางตรงกันข้าม พบได้ใน aortic atresia หรือ severe aortic stenosis ที่จะเห็น aortic arch มีขนาดเล็กและมีลักษณะเป็นเส้นตรงไม่โค้งเหมือนปกติ หรืออาจะพบร่วมกับ hypoplastic left heart syndrome
    • ใน pulmonary artery จะเห็น color flow ในทิศทางปกติ แต่ ไม่เห็น flow ไหลผ่าน aortic arch แสดงว่ามี interrupted aortic arch หรือ severe coarctation
    • ใน transposition of great arteries, double outlet of right ventricle และ malpositioning anomalies ของเส้นเลือดอื่น ๆ จะเห็น color flow ของเส้นเลือดเพียงเส้นเดียว แต่ถ้าหมุนหัวตรวจ 90 องศา เปลี่ยนเป็นแนวยาว จะเห็น เส้นเลือดอีกเส้นใน plane นี้
    • ความผิดปกติอื่น ๆ ของเส้นเลือดดำ (venous anomalies) เช่น azygos ที่มาเปิดเข้า superior vena cava จาก interrupted inferior vena cava ใน left isomerism แต่ถ้าปริมาณ flow เพิ่มขึ้นมักเกิดจาก intracranial arteriovenous fistulae เช่น vein of Galen aneurysm
    • ถ้าเห็น เส้นเลือดเพิ่มมาอีก 1 เส้น ทางด้านซ้ายของ pulmonary artery มักเกิดจากมี left superior vena cava

    สรุป

    Color flow mapping มีประโยชน์ในการช่วยยืนยันการวินิจฉัยภาวะผิดปกติ ซึ่งในบางครั้งไม่สามารถเห็นได้จาก 2D mode แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าให้เหมาะสม เพราะอาจทำให้เกิดภาพลวงจาก color flow ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดควรใช้ร่วมกับการตรวจ 2D ในทุก view รวมถึงใช้ร่วมกับ pulse Doppler ด้วย

    เอกสารอ้างอิง

    1) Copel JA, Morotti R, Hobbins JC, Kleinman CS. The antenatal diagnosis of congenital heart disease using fetal echocardiography: is color flow mapping necessary? Obstet Gynecol 1991 Jul;78(1):1-8.
    2) Abuhamad A, Chaoui R. A Practical Guide to Fetal Echocardiography: Normal and Abnormal Hearts. Lippincott Williams & Wilkins; 2009.
    3) Allan LD, Cook AC, Huggon IC. Fetal Echocardiography: A Practical Guide. Cambridge University Press; 2009.
    4) Chaoui R, McEwing R. Three cross-sectional planes for fetal color Doppler echocardiography. Ultrasound Obstet Gynecol 2003 Jan;21(1):81-93.
    5) Chaoui R, Bollmann R. [Fetal color Doppler echocardiography. Part 2: Abnormalities of the heart and great vessels]. Ultraschall Med 1994 Jun;15(3):105-11.
    6) Vinals F, Tapia J, Giuliano A. Prenatal detection of ductal-dependent congenital heart disease: how can things be made easier? Ultrasound Obstet Gynecol 2002 Mar;19(3):246-9.
    7) Tongsong T, Tongprasert F, Srisupundit K, Luewan S. The complete three-vessel view in prenatal detection of congenital heart defects. Prenat Diagn 2010 Jan;30(1):23-9.