How we get to this point? Part II

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ? (ภาคสอง)

ธีระ ทองสง


ภาคสอง คือเรื่องเล่าต่อจากภาคหนึ่ง ใน CCOG-2016 ในภาคหนึ่งได้มีการทบทวนความหลังของบ้านหลังนี้ ว่าเราก่อร่างสร้างบ้านมาอย่างไร บูรพาจารย์ต่างเคยทุ่มเทสักเพียงใดกว่าจะตั้งตัวเป็นภาควิชาที่มั่นคงได้ และภาคสองนี้ เป็นเรื่องเล่าว่าเราสานต่อภารกิจนี้มาอย่างไรจนกลายเป็นสูติฯล้านนาอย่างที่เรารู้จักกันในวันนี้

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ? คำถามนี้มักจะถามในเชิงการยอมรับว่าเราต้องโดดเด่น เป็นหนึ่งในเรื่องอันใดสักเรื่องหนึ่ง แต่เกรงว่านี้จะเป็นการคุย หรือยอมรับเพื่อการอวดตัวเองไปสักหน่อย ดังนั้นก่อนเริ่มต้นจำเป็นต้องแน่ใจเสียก่อนว่าเรามีดีอะไร? ถึงต้องการเล่าให้ผู้อื่นว่ามีความเป็นมาอย่างไร ปานประหนึ่งว่านี่คือตำนานที่น่าสนใจ!!!

เรามีดีอย่างไร ถึงต้องมาทบทวนเรื่องราวของพวกเรา?

กว่าสิบกว่าปีมานี้ ทุกครั้งที่สัมภาษณ์สมัครแพทย์ประจำบ้าน จะมีบางคนหรือหลายคน พูดว่าเลือกสูติเชียงใหม่ เพราะเป็นสูติฯที่มีชื่อเสียง หรือบ้างก็บอกว่าเป็นสูติฯที่ดีที่สุด อาจารย์เอาใจใส่มาก ๆ (เราไม่ได้พูดเอง) ตั้งแต่เป็นน.ศ.พ. ก็เรียนตำราสูติฯของเชียงใหม่ ฯลฯ กล่าวได้ว่าทุกปีมีการพูดในลักษณะนี้ จะเป็นเพียงการเอาใจผู้สัมภาษณ์เพื่อขอคะแนนเห็นใจ หรือรู้สึกจริง ๆ ล้วนแต่ทำให้เราต้องกลับมามองตัวเองอยู่เสมอมา

  • ยุคหลัง ๆ นี้ใคร ๆ หลายคนก็พากันมาอีเลคทีฟที่เราปีละมากมาย ไม่ว่าจะเป็นระดับนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน หรือเฟลโล่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เด่นชัดมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นี่อาจเป็นสัญญาณบอกความนิยมของคนในวงการอยู่ไม่น้อย จากสูติภูธรที่ใคร ๆ ไม่ใยดี วันนี้ต้องจองคิวล่วงหน้า ไม่ได้มากันง่าย ๆ แล้วนะ
  • หลายครั้งจากสื่อโซเชียลนศพ. เรสซิเดนท์ทางไลน์ ทางเฟส ยกให้ตำราสูติฯเชียงใหม่ เป็นเล่มแรกลำดับต้นของตำราที่ใช้ทั่วประเทศ ไม่ผิดเลยที่พูดว่าในประเทศนี้มีคนเรียนสูติ-นรีเวชส่วนมากใช้ตำราเรียนของเรา ร่วม 20 ปีแล้ว
  • เรามีผลงานวิจัยค้นคว้าจากความตั้งใจของอาจารย์อย่างมากมาย เป็นอันดับที่หนึ่งของสูติฯในประเทศไทย (อันนี้เช็คดูง่ายๆ จาก Pubmed / Scopus ยาวนานต่อเนื่องมาเป็นเวลานับกว่า 10 ปี เป็นเรื่องจริงที่เห็นเป็นรูปธรรม จนกระทั่งสกว.ประเมินแล้วให้ลงความเห็นเป็นสถาบันการศึกษาที่มีผลงานคะแนนดีเยี่ยม (ต่อเนื่องกันมา) เป็นลำดับที่หนึ่งในการประเมินมาทุกครั้งที่ผ่านมา ย่อมเป็นตัวบ่งชี้สำคัญต่อการยอมรับในวงวิชาการการพูดว่าเราคือสูติศาสตร์ที่ดีที่สุด แม้จะฟังดูน่าหมั่นไส้ แต่ก็พูดอย่างมีหลักฐานเชิงประจักษ์ อาจารย์ของเราได้รับทุนวิจัยจากองค์กรภายนอกมากมาย เป็นภาควิชาที่มีคลัสเตอร์วิจัยถึงสองคลัสเตอร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เป็นต้น ถ้าพูดถึงการนำเสนอผลงานวิชาการสูติฯ ที่ราชวิทยาลัย แล้ว ตรวจสอบจากการประชุมวิชาการประจำปีแล้ว พบว่าสูติฯเชียงใหม่เราก็มีผลงานนำเสนอมากที่สุดต่อเนื่องกันมากว่า 15 ปี เช่นกัน แสดงถึงความเป็นแหล่งวิชาการที่มั่นคง ยั่งยืนอีกหลักฐานหนึ่ง จริงไหม
  • Conference ที่หลับบ้าง ๆ ตื่นบ้าง แต่ก็ยังคงได้รับการโหวตจากแบบสอบถามของผู้ที่จบไปแล้วพูดเป็นเสียงเดียวกัน (จากแบบสอบถามผู้เรียน) ว่า morning conference เป็น conference ที่เรสซิเดนท์ได้รับประโยชน์มากที่สุด และแตกต่างจากทุกที่ จนกลายเป็นจุดเข้มแข็งโดดเด่น เป็นข่าวรับอรุณที่สร้างประสบการณ์ให้กับทุกชีวิต ซึมซับความรู้และเปลี่ยนประสบการณ์ (แม้บางท่านจะฝืนใจบ้างก็ตาม หลับตั้งแต่ morning tip) นับว่าเป็น activity ที่แตกต่างอย่างมีคุณค่า
  • ติวนอกเวลา เป็นทางเลือกที่แตกต่างยิ่งกว่า ส่วนมากต่างรู้สึกว่านี่เป็นทางเลือกที่ช่วยสร้างบรรยากาศวิชาการให้เข้มข้น ที่ทุกคนเลือกได้ ความหมายที่สำคัญที่สุดมิใช่ความรู้ที่ได้รับในแต่ละวัน แต่การสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนมิอาจนิ่งเฉยต่อวิชาการ เป็นจุดเอื้อต่อการเป็นสังคมครอบครัวใหญ่ของเรา เป็นจุดกำเนิดของความเป็นครอบครัวใหญ่มาหลาย generation ต่างจากชีวิตสูติฯ ที่อื่นๆ หรือภาควิชาอื่น ๆ ที่วัน ๆ ทำงานหนักเหนื่อยแล้วแยกย้ายกันไป แต่เราต้องได้พบปะพูดคุยกันทั้งก่อนและหลังติว จึงเป็นสูติฯใกล้ชิดที่ไม่อาจมีใครเหมือน เป็น option เสริมยามค่ำคืนที่ได้รับความนิยมสูง
  • คุณูปการทางวิชาการ แม้จะเป็นภาควิชาโลโซ เรียบง่าย แต่เราก็มีผลงานไฮโซ ไม่มีห้องเรียนอันอลังการ มันก็เป็นเพียงภายนอก หลายอย่างได้เปลี่ยนไปให้เห็นได้ในช่วงอายุคน จากอิทธิพลของวิชาการหลากหลาย แม่ชักเพราะเด็กบาร์ทบวมน้ำที่เราคุ้นเคยเมื่อสามสิบปีก่อน หายไปแล้วจากสวนดอก เด็กธาลัสซีเมียพุงป่องที่ต้องเข้าคิวกันเติมเลือดเป็นภาพที่ไม่คุ้นตากันแล้วในปัจจุบัน จำนวนเด็กดาวน์หายไปกว่าครึ่งของประชากรแถบนี้ คุณูปการของภาคฯที่สร้างองค์ความรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของคุณภาพชีวิตผู้คนในสังคมแถบนี้อย่างเป็นรูปธรรม เราเห็นชัดเจน และเห็นแล้วว่านี่คือสูติศาสตร์ที่มิใช่เพียงแค่สถานที่ทำคลอด แต่เป็นสถานบริการวิชาการเปลี่ยนแปลงสังคม เหล่านี้ล้วนได้สร้างความรู้สึกดีให้กับลูกศิษย์ทั้งใหม่เก่าตลอดมา
  • อาจารย์ที่เก่งและดี มีคุณภาพ จำนวนมาก (จากการรับเชิญเป็นวิทยากร เขียนแต่งตำรา ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมายาวนาน) เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ รางวัลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือรู้จักกันในนามรางวัลช้างทองคำ มหาวิทยาลัยจัดสรรให้ปีละครั้งแก่อาจารย์ดีอาจารย์เก่ง คณะแพทย์เราก็ได้มาหลายเชือก 10 ปีมานี้ ราว 20 เชือกแล้ว แต่สูติฯของเราคว้ามาถึง 9 เชือก นอกจากนั้นอาจารย์เราหลายท่านยังได้รับรางวัลระดับชาติมากมายเลยทีเดียว เช่น อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ อาจารย์ดีเด่น สออ. บุคคลต้นแบบของกรมอนามัย นั่นก็เป็นอีกหลักฐานที่บอกว่าสูติฯมช.เราเป็นสูติฯคุณภาพทางวิชาการจริง ๆ เราคงไม่มโนไปเอง จริงไหม
  • แบบสอบถาม feedback ของผู้ที่จบไปจำนวนมาก บอกว่าเขาภูมิใจ เต็มใจ ที่จะบอกกับใคร ๆ ว่าจบเชียงใหม่ (นี่ถือเป็นคำจำกัดความของความสำเร็จของภาควิชาก็ว่าได้)

    วัฒนวิถีของภาควิชา

    เอาเป็นว่าเราคงเป็นสูติฯที่ดีระดับหนึ่ง การเติบโตสู่ความสำเร็จขององค์กรมาจากคุณภาพภายใน มิใช่การสร้างภาพด้วยตึกสวยงาม ห้องเรียนอลังการ สื่ออีเลคโทรนิคเพียบพร้อม อีเว้นต์หรู ๆ แต่อยู่ที่การเรียนการสอนอย่างทุ่มเทเสียสละ อันนำไปสู่การใฝ่รู้ไม่มีที่สิ้นสุด ปัจจัยสำคัญที่สุดของความสำเร็จ คือคุณภาพอาจารย์ ผู้ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้ศิษย์เก่งดีและมีสุข จบไปอย่างรู้สึกว่าศิษย์มีครู ภารกิจสำคัญของบ้านหลังนี้มิใช่แค่การฝึกปรือให้เขาเชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวช หากแต่คือฝึกให้เขาใฝ่รู้และใฝ่ดี ใฝ่รู้ทำให้เขาเก่ง ใฝ่ดีทำให้ความเก่งเกิดประโยชน์กับผู้คน (ใช่ตนเอง) และมีความสุข ซึ่งทำให้ความใฝ่รู้มีความยั่งยืน ไม่มีวิธีการสอนใดดีไปกว่าการทำให้เห็น เป็นให้ดู ทุกย่างก้าวของครูอยู่ในสายตาของลูกศิษย์ ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบต่องานบริการ หรือวิชาการ จะถูกจดจำ พฤติกรรมของครูมีผลต่อพฤติกรรมของผู้เรียน เชื่อว่าเรามีแบบอย่างดี ๆ เช่นนั้นมากมายให้ซึมซับจดจำ และเราจะไม่ยอมให้ใครจากไปโดยไม่ได้รับความรู้สึกดีจากบ้านหลังนี้ไป สิ่งนี้มีความหมายมาก ครูเองก็อาจไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่ครูทำ ครูเป็น ในวันนี้ มีอิทธิพลสักเพียงใดต่อใครหลายคนไปชั่วชีวิต จุดเด่นคือเรามีวัฒนธรรมการสร้างผลงานและความสุขในองค์กรที่เหมือนบ้าน ซึ่งต้องการความตั้งใจที่มุ่งมั่น ความสัมพันธ์ที่น่าอยู่ วัฒนธรรม (วิถีของคนส่วนใหญ่) ทางวิชาการของภาควิชา

    กว่า 30 ปีหลังจากภาควิชาก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาโดยบูรพคณาจารย์รุ่นบุกเบิก (ดังกล่าวมาในภาคแรก) มีความก้าวหน้าในทุกสาขาวิชาเรื่อยมา ดังที่โดดเด่นมาก ๆ เช่น การพัฒนาวิชาเด็กหลอดแก้วจนเฟื่องฟู (มีอาจารย์ธีระพรเป็นแกนนำ) การผ่าตัดผ่านกล้องนานาชนิด (อาจารย์ชัยเลิศ อาจารย์โอภาส) การผ่าตัดมะเร็งขั้นเทพ (เช่น อาจารย์จตุพล อาจารย์ประภาพร) การวินิจฉัยและรักษาทารกในครรภ์หลากหลายรูปแบบ (อาจารย์พรรณี อาจารย์ชเนนทร์ เป็นต้น) ฯลฯ ในเชิงวิชาการแล้วถือว่าเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยความมุ่งมั่นของคณาจารย์ที่สานต่อปณิธานกันเรื่อยมา ในราว 15-20 ปีมานี้ เราได้แยกหน่วยย่อยสาขาวิชาหลักทั้งสาม เพื่อความสะดวกในการบริการและฝึกอบรมต่อยอด และทำให้การศึกษาค้นคว้ารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ความแกร่งทางวิชาการเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตามเราก็มีจุดด้อยบางประการเกิดควบคู่ตามกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการทำ private practice ของอาจารย์มากขึ้น บรรยากาศวิชาการและและความผูกพันในองค์กรก็ลดลง เกือบยี่สิบปีแล้วที่ความผูกพันอาจารย์กับเรสซิเดนท์จางลง นับจากวันที่อาจารย์ออกไปทำ private นอกภาควิชา (ซึ่งอาจารย์ยุคบุกเบิกไม่ทำ) ทำให้บรรยากาศความเป็นสูติฯล้านนาของเราด้อยลง สมัยก่อนถ้าอาจารย์มีเคสพิเศษก็จะทำในภาควิชา นอกเหนือจากเคสสามัญแล้ว เรายังได้เรียนรู้การดูแลเคสของอาจารย์ ช่วยอาจารย์ผ่าตัด หรือเฝ้าคลอด เป็นต้น วันนี้การเรียนรู้กับเคสอาจารย์ลดลงอย่างน่าใจหาย การมีเคสพิเศษมากกลายเป็นจุดเสื่อมของภาคฯ (อ.กำจัดกล่าวไว้ และให้ข้อคิดว่าถ้าอาจารย์หมอสูติฯ ทำคลอดเกิน 10 รายต่อเดือนจะไม่สามารถเป็นอาจารย์ที่ดีได้) ง่ายต่อการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้เราตกต่ำ อาจารย์ขาด conference ออกโอพีดีสาย ปล่อยนักเรียนอย่างเดียวดาย ปล่อยให้แพทย์ประจำบ้านลุยกันไปอย่างขาดการเอาใจใส่ เป็นชีวิตที่แห้งแล้งมากขึ้น นอกจากนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สื่อโซเชียลเข้ามามีอิทธิพลต่อมากขึ้น ดึงความใส่ใจออกไปจากหน้าที่ สมาธิสั้นลง ความสุขในการงานลดลงทุกระดับ คุณภาพงานลดลง ความห่างเหินของผู้คน และขาดความใส่ใจในการงานมากขึ้น นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้คุณภาพเรสซิเดนท์ของเราด้อยลง แต่นี่นับเป็นประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นในทุกวงการ ไม่ใช่เฉพาะที่ภาคฯเรา

    อย่างไรก็ตามโดยรวมแล้วถือว่าเราได้ set มาตรฐานของภาคฯไว้สูง เป็นแบบพิมพ์สำหรับคนรุ่นต่อไป สิ่งนี้มีความหมายมาก ครูเองก็อาจไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่ครูทำครูเป็นในวันนี้ มีอิทธิพลสักเพียงใดต่อใครหลายคนไปชั่วชีวิต โชคดีสักเพียงใด ที่เราได้มีชีวิตร่วมกันที่ภาควิชาฯ แม้ว่าเรามิใช่กลุ่มคนที่สมบูรณ์แบบ แต่ตำนานของเราได้สอนให้เห็นว่า “ความสุขในการทำงานเพื่อผู้อื่น” เป็นรากฐานสำคัญที่สุดของการพัฒนาของเรา เมื่อเป็นกลุ่มก้อนหลายท่านเข้า ความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จก็ตามมา เรามิได้วัดความสำเร็จในชีวิตด้วยจำนวน publications หรือรายได้ แต่ปิติใจในการเสียสละและเรียนรู้อย่างมีความสุข เชื่อว่า happiness-based learning เท่านั้น ที่ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

    เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

    ในยุคเปลี่ยนผ่านของรัชกาลแห่งแผ่นดิน เป็นห้วงเวลาที่ผู้คนหวนคิดถึงความดีงาม จึงขอทบทวนหนึ่งพระราชดำรัสที่ทรงตรัสแก่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในวันที่เข้าเฝ้าถวายงานครั้งแรกเมื่อปี 2524 “มาทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น” ง่าย ๆ สั้น ๆ พร้อมกับตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุดจากชีวิตพระองค์ท่านเอง ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มิได้อยู่ที่มีอะไรมากที่สุด แต่อยู่ที่เสียสละได้มากที่สุด และมีความสุขที่สุด ชัดไหม !!! อยู่เพื่อตน..อยู่แค่ตนสิ้นใจ อยู่เพื่อคนทั่วไป…อยู่ชั่วฟ้าดิน และนี่น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของเราเช่นเดียวกันว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร คำตอบคือความสุขในการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น (ไม่ใช่รายได้) เมื่อเราช่วยกันจนหลายคนคิดได้เช่นนี้เราก็กลายเป็นสูติฯล้านนาที่แตกต่าง แม้การดำเนินตามเบื้องพระยุคลบาทของเราเป็นเพียงสเกลเล็ก ๆ ในสังคมนี้ แต่ก็เชื่อว่าอย่างน้อยสักเสี้ยวหนึ่งที่เราได้ดำเนินตามปรัชญาง่าย ๆ สั้น ๆ นี้ ที่ทำให้เรามีปิติจากภายใน มิใยที่ใครจะต้องรับรู้หรือจดจำ ปรากฏการณ์ในการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น สัมผัสได้โดยตรงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ เช่น

    ความเอาใจใส่ของอาจารย์ต่อเรสซิเดนท์และเฟลโลว์มีสูง มีผลต่อเนื่องให้แพทย์ประจำบ้านเอาใจใส่น.ศ.พ.มากขึ้นด้วย อาจารย์จำนวนไม่น้อยเสียสละเพื่อลูกศิษย์โดยมิได้หวังผลตอบแทน เป็นความเหน็ดเหนื่อยที่มีความสุขในการเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ โดยเฉพาะการวิจัยแต่ละเรื่องที่ต้องร่วมใจกันสร้างสรรค์ตั้งแต่คิดโจทย์วิจัยไปจนตีพิมพ์ การรักษาผู้ป่วยที่มีอาจารย์เป็นพี่เลี้ยงเสมือนกัลยาณมิตร ตามมาช่วยผ่าตัดนอกเวลาได้อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เข้าถึงได้ง่าย (available) ซึ่งเป็นผลดีโดยตรงต่อผู้ป่วยและวิชาการของแพทย์ทุกระดับ บรรยากาศสังคมครอบครัวและพี่น้องที่สูงมาก (จากอิทธิพลวิชาการทั้งนอกและในเวลาราชการ)

    มองไปข้างหน้าเพื่อก่อความหวัง มองไปข้างหลังเพื่อเก็บบทเรียน

    เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่สุดของการประสบความสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในวันนี้ และเป็นความหวังในวันข้างหน้าให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป คือ คุณภาพครู ดังนั้นความหวังสำคัญที่สุด คือการต้อนรับ staff ใหม่คนต่อไป (รวมไปถึงเรสซิเดนท์) ซึ่งบ้านหลังนี้ที่มีธรรมชาติสอดคล้องกับวัฒนธรรมของเรา คือ คนที่แสวงหาคุณค่ามากกว่ารายได้

    แน่นอนเรามิใช่ภาควิชาที่ดีที่สุด เป็นภาควิชาของคนธรรมดา อาจมีการทำมาหากินด้วยเหตุผลหรือความจำเป็นส่วนตัวอยู่บ้าง หมกมุ่นกับเคสพิเศษ โดด conference มากบ้าง น้อยบ้าง บางครั้งโชคร้ายไม่มีความสุขกับกิจกรรมวิชาการหรืองานสอน ฝีนใจราวด์ ออกโอพีดีสาย สอนให้เสร็จ ๆ ฯลฯ นั่นคงเป็นส่วนที่ทำให้ภาควิชามัวหมอง บูรพาจารย์ไม่ปลื้ม ลูกศิษย์ไม่ภูมิใจ ตนก็เอือมระอาตน ขาดความสุขอันพึงได้จากคุณค่าของงาน ความไม่สมบูรณ์แบบนี้คงเกิดขึ้นบ้างบางเวลา แต่เชื่อว่าในบรรยากาศวิชาการของเรา มักทำให้เราพลันคิดได้ ทบทวนตนเอง นึกถึงความสุขดั้งเดิมของชีวิตครู อันเป็นวิถีชีวิตที่เราเคยเลือกว่าดีที่สุด ย่อมเรียกศรัทธาและความรักในงานกลับมา จำกันได้ดีว่าการได้งานที่เรารัก เหมือนการพักผ่อนไปทั้งชีวิต

    ขอให้บทความนี้มีส่วนบ้างในการสร้างแรงบันดาลใจให้ใครสักคนหนึ่งในสังคมเล็ก ๆ นี้ หวังว่าภาควิชาจะเป็นแหล่งบุญของใครบางคนที่ปรารถนาจะมาเป็นครูหรือศิษย์ที่นี่ ที่ที่ได้เปิดโอกาสให้เขาได้สร้างคุณงามและความเก่งอย่างมีความสุข

    บางส่วนของที่มา:

    1. จากบทสนทนาที่โต๊ะกาแฟในห้องอาจารย์อาวุโส
    2. คำบอกเล่าของผู้คนแถวนี้ และศิษย์เก่าสูติฯมช.
    3. แบบสอบถามผู้เรียน กระบวนวิชาหลักสูตรหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก สาขาวิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    4. บทสัมภาษณ์ผู้สมัครแพทย์ประจำบ้านจำนวนมากกว่า 10 ราย ต่อปี
    5. Portfolio ของผู้สมัครแพทย์ประจำบ้านกว่า 20 ราย ที่บันทึกว่าทำไมเลือกเรียนสูติฯเชียงใหม่
    Read More

    How we get to this point?

    เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
    How do we get to this point?

    รศ. ดร. นพ. วีรวิทย์ ปิยะมงคล


    ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นภาควิชาหลักที่ก่อตั้งมาพร้อมกันกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ.2501 นักศึกษาแพทย์รุ่นแรกมีจำนวน 65 คน เรียนเตรียมแพทย์ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แล้วจึงย้ายมาเรียนที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ.2504 เมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2507 คณะแพทยศาสตร์ได้โอนย้ายจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์มาสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2508

    ที่ตั้งภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาเดิมอยู่ด้านทิศตะวันออกของคณะแพทยศาสตร์ บริเวณติดกับภาควิชาจิตเวชในปัจจุบัน เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ปัจจุบันใช้งานเป็นหอพักพยาบาล หลังจากนั้นจึงย้ายมายังชั้น 3 อาคาร 7 ชั้น (อาคารบุญสม มาร์ติน) ที่อยู่ในปัจจุบัน ในวันที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เดินทางมาทำพิธีลงเสาเข็มตึกคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.พญ.สุรีย์ สิมารักษ์ กำลังทำผ่าตัด caesarean section ผู้ป่วย abdominal pregnancy ที่ตั้งครรภ์มานานหลายเดือน induction เท่าไรก็ไม่คลอดเสียที

    คณาจารย์รุ่นแรกที่ร่วมก่อตั้งภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ได้แก่ ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์, ศ.พญ.ดวงเดือน คงศักดิ์, ศ.นพ.วรวุธ สุมาวงศ์ ต่อมาก็มี รศ.พญ.ศุภร ศิลปิศรโกศล และ รศ.พญ.สุรีย์ สิมารักษ์ โดย ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาฯคนแรก ภาควิชาฯได้มีความเจริญพัฒนาก้าวหน้าต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันตามลำดับ ดังนี้ ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาฯ คนแรก พ.ศ.2504-2518, ศ.พญ.ดวงเดือน คงศักดิ์ รักษาการหัวหน้าภาควิชาฯ ระหว่างที่ ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ ศึกษาต่อต่างประเทศ พ.ศ.2504-2507 (ก่อนที่จะย้ายไป รพ.ศิริราช และ รพ.รามาธิบดี), รศ.พญ.ศุภร ศิลปิศรโกศร พ.ศ.2518-2528, รศ.นพ.กำจัด สวัสดิโอ พ.ศ.2528-2536, ผศ.นพ.วิรัช เจริญเอี่ยม พ.ศ.2536-2539, รศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล พ.ศ.2539-2547, ศ.นพ.จตุพล ศรีสมบูรณ์ พ.ศ.2547-2551, รศ.นพ.ชเนนทร์ วนาภิรักษ์ พ.ศ.2551-2555, รศ.ดร.นพ.วีรวิทย์ ปิยะมงคล พ.ศ.2555-ปัจจุบัน

    แพทย์ประจำบ้านรุ่นแรกได้แก่ รศ.นพ.กำจัด สวัสดิโอ และพญ.พวงเพ็ญ ริมดุสิต เริ่มฝึกอบรมในปี พ.ศ.2503 ในปีเดียวกันนั้น รศ.พญ.ศุภร ศิลปิศรโกศล ซึ่งปฎิบัติงานเป็นอาจารย์ประจำอยู่แล้ว กำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ขณะนั้นรศ.พญ.สุรีย์ สิมารักษ์ ได้จบการฝึกอบรมจาก รพ.จุฬาลงกรณ์ และสมัครเป็นอาจารย์ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ แต่ตำแหน่งเต็ม อ.นพ.วิกุล ที่ รพ.ศิริราช ได้ชวนมาเป็นอาจารย์ประจำที่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2503 จากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศในปี พ.ศ.2506 ศ.นพ.กอสิน อมาตยกุล กลับมาจาก Edinburgh มาเป็นอาจารย์ประจำ ในปี พ.ศ.2507

    ในสมัยแรก ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ มีกฎว่าหัวหน้าภาควิชาฯ จะต้องเป็นคนตรวจภายในก่อนผ่าตัดแต่เพียงผู้เดียว และมีการประชุม in service meeting ร่วมกับฝ่ายพยาบาล ซึ่งมี อ.ปราณีต สวัสดิรักษา เป็นหัวหน้าพยาบาลหน่วยสูติกรรม ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและประสบการณ์ในการผ่าตัด vesico-vaginal fistula (V-V Fistula) อย่างมาก ซึ่งถ่ายทอดให้กับรศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล ในรุ่นต่อมา นอกจากนี้ ท่านยังมีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัด radical hysterectomy และ radical vulvectomy และเป็นคนแรกที่รายงานกรณีผู้ป่วย amoebic vaginitis

    ศ.นพ.กอสิน อมาตยกุล เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการหมุนทารกท่าก้นให้กลับมาเป็นท่าหัว การทำหัตถการ embryotomy ในกรณีที่เกิดการคลอดติดขัด (obstructed labor) ของทารกที่อยู่ท่าขวางและเสียชีวิตแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดโดยเทคนิคผ่าตัด Marshall-Marchetti-Krantz (MMK) เป็นผู้ก่อตั้งและคณบดีคนแรกของบัณฑิตวิทยาลัยที่ดูแลการเรียนการสอนของนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกของทั้งมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการ reproductive endocrinology และริเริ่มการใช้เทคนิค radioimmunology assay

    ในยุคสมัยนั้น อัตราตายของมารดาและทารกสูงมาก สตรีตั้งครรภ์มักเข้ามาในโรงพยาบาลพร้อมกับภาวะแทรกซ้อนสูง ในช่วงที่ รศ.พญ.ศุภร ศิลปิศรโกศร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ได้มอบหมายให้ รศ.พญ.สุรีย์ สิมารักษ์ แก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้ก่อตั้ง high-risk clinic ริเริ่มปรับปรุงการดูแลสตรีตั้งครรภ์ ควบคุมระบบระเบียบการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน มีระบบ first call, second call medical staffing วางแผนการดูแลผู้ป่วยครรภ์เป็นพิษอย่างเป็นระบบ ในสมัยนั้นพบโรค cardiac beriberi บ่อย ให้การรักษาโดยการฉีดวิตามินบีให้อาการก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาวะมดลูกแตกก็พบมากมาย เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อพยายามคลอดเองที่บ้านไม่สำเร็จ ซึ่งส่วนมากจะพยายามกันอยู่หลายวัน นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มให้มีการแบ่งการดูแลออกเป็นหน่วยต่างๆ ดังต่อไปนี้ 1) หน่วย Perinatology โดยมี รศ.พญ.สุรีย์ สิมารักษ์ เป็นหัวหน้าหน่วย 2) หน่วย Infertile and family planning โดยมี ผศ.นพ.ธวัชชัย ตัณสถิตย์ เป็นหัวหน้าหน่วย และ 3) หน่วย Gynaecologic oncology โดยมี ผศ.นพ.วิรัช เจริญเอี่ยม เป็นหัวหน้าหน่วย

    คณาจารย์ในภาควิชาฯ ทุกท่านตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีความเป็นผู้บุกเบิกและมีชื่อเสียงในทางวิชาการทั้งด้านการเรียนการสอนและการทำหัตถการเวชปฏิบัติต่าง ๆ ทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ที่สำคัญ ได้แก่ ผศ.นพ.ธวัชชัย ตัณสถิตย์ ริเริ่มการทำ laparoscopic examination และ epidural anesthesia สำหรับ painless labor ผศ.นพ.วิโรจน์ สหพงษ์ ริเริ่มการทำหมันผ่านทางช่องคลอด ผศ.นพ.ประโยชน์ จงอยู่สุข ริเริ่มการทำหมันโดยใช้ laprocator และ falope ring ผศ.นพ.จำนง อุตวิชัย และรศ.พญ.พรรณี ศิริวัฒนาภา ริเริ่มการตรวจอัลตราซาวน์ทารกในครรภ์ รศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล หลังกลับจากการศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัย Heidelberg ประเทศเยอรมนี เป็นผู้ริเริ่มการเจาะตรวจน้ำคร่ำ (amniocentesis) โดยในยุคแรกของห้องปฎิบัติการ ศ.นพ.ต่อพงษ์ สงวนเสริมศรี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ พยายามเพาะเลี้ยงเซลล์เพื่อตรวจโครโมโซมแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ยุคต่อมา รศ.ดร.อำนาจ มีเวที ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ พยายามเลี้ยงเซลล์แต่ไม่ประสบความสำเร็จอีก จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคจาก รศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล จึงประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก และรศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล ยังเป็นผู้ริเริ่มการเจาะตรวจเนื้อรก (chorionic villus sampling, CVS) การเจาะตรวจเลือดสายสะดือทารกในครรภ์ (cordocentesis และ fetal blood sampling, FBS) ในการตรวจวินิจฉัยและการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งคลินิกให้คำปรึกษาก่อนสมรส (premarital counseling clinic)

    ด้านการเรียนการสอน ผศ.นพ.สมพงษ์ คุณเลิศกิจ หลังจากจบการศึกษาต่อด้านแพทยศาสตรศึกษาจากมหาวิทยาลัย Dundee สหราชอาณาจักร ที่มีชื่อเสียงด้านแพทยศาสตร์ศึกษาเป็นอันดับหนึ่ง เป็นผู้ที่ริเริ่มและมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอน จัดการหมุนเวียนเป็น 2 สายที่ประกอบด้วย อาจารย์ แพทย์ประจำบ้าน และนักศึกษาแพทย์ ดูแลจุดบริการ 8 จุด ได้แก่ หอผู้ป่วยสูติกรรม (OB1และ OB2) หอผู้ป่วยนรีเวช ห้องผ่าตัด ห้องคลอด ห้องตรวจ OPD3, OPD4, และ OPD5 โดยผลัดเปลี่ยนกันทุก 3 เดือน การฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา จะต้องมีการสอบเพื่อวุฒิบัตรของแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งแต่เดิมประกอบด้วย 3 ส่วน คือ บันทึกรายงานผู้ป่วย 20 ราย การสอบการตรวจร่างกาย และการสอบความรู้ทางพยาธิวิทยา รศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล เป็นผู้ที่ริเริ่มให้มีการติวเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบบอร์ดขึ้น

    ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลสำคัญบางส่วนที่แสดงถึงความเป็นมาของภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นเลิศ ทั้งด้านการเรียนการสอนระดับก่อนและหลังปริญญา การรักษาพยาบาล ตลอดจนงานวิจัย โดยรวบรวมเรียบเรียงจากหนังสือครบรอบ 25 ปี และ 40 ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการบอกเล่าของคณาจารย์อาวุโสที่มาพบปะสังสรรค์รับประทานอาหารกลางวันที่ภาควิชาฯ กันสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีอาจารย์อีกหลายท่านที่มีส่วนในการร่วมสร้างภาควิชาฯ ให้พัฒนาก้าวหน้ามาตราบจนปัจจุบัน และอาจยังมิได้อ้างอิงในที่นี้ หากพบข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใด ผู้เขียนใคร่ขออภัยมา ณ โอกาสนี้

    บรรณานุกรม

    1. นิมิตร มรกต. 4 ทศวรรษ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่ : คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2542

    2. วัฒนา นาวาเจริญ. 50 ปี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่ : คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2552

    Read More

    ภาควิชาในยุคต้น

    Department of OB & GYN in the Early Age

    ศ. นพ. กอสิน อมาตยกุล


    ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา เชียงใหม่ของเรา ได้รับการก่อตั้งมาพร้อมกับคณะแพทยศาสตร์ในปี พ.ศ. 2552 หัวหน้าภาควิชาคนแรกคือท่านอาจารย์แพทย์หญิง ดวงเดือน คงศักดิ์ ถูกขอยืมตัวมาจากศิริราชสักระยะ ก่อนที่เราจะได้ท่าน ศ.นพ.มจ.อำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา จนกระทั่งท่านถึงแก่ชีพตักษัยได้มีการจัดการเรียนการสอน การวิจัย พร้อมทั้งการดูแลรักษาผู้ป่วย ภาควิชาสูติฯ ในสมัยแรกเริ่มได้ใช้อาคารโรงพยาบาลเก่าของเมืองเชียงใหม่ เป็นที่ตั้ง เป็นอาคารไม้ อยู่ใกล้กับประตูสวนดอก ข้างใต้เป็นคูน้ำ สูติแพทย์ท่านอื่นๆ นอกจากท่านอาจารย์หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์หัวหน้าแผนกแล้วก็มีท่านอาจารย์ศุภร, ผู้เขียน, อาจารย์วราวุธ, อาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญแข ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ รพ.รามาธิบดี กรุงเทพฯ ส่วนอาจารย์พิศิษฐ์ หลังจากได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมันนี ได้ย้ายไปปฏิบัติงานด้าน gynaecological pathology ที่ ม.ขอนแก่น

    ระยะแรกไม่มีแพทย์ฝึกหัด เราต้องผลัดกันอยู่เวร แม้กระนั้นอาจารย์หมอวราวุธ ยังใช้เวลาว่างเกือบทั้งหมด ฝึกให้ น.ศ.แพทย์ เต้น ballet และอาจารย์จะจัดให้มีการแสดงอย่างยิ่งใหญ่ที่วันธนาคารเกือบทุกปี ซึ่งเป็นกิจการที่สำคัญของเชียงใหม่ นศพ.นัก ballet เท่าที่จำได้ก็มี อ.จ.ธวัชชัย ของเรา และ อ.จ.พ.ญ.บุญสม ผลประเสริฐ แผนกเด็ก นอกเหนือจากนี้ อาจารย์ให้ นศพ. ไปจับกบตัวผู้มาทำ pregnancy test ด้วยเหตุที่ว่า morning urine จากคนท้องจะมี hormone HCG อยู่เป็นจำนวนมาก และเมื่อเอามาฉีดที่หลังของกบ HCG นี้จะมีผลทางชีวะวิทยาคล้ายๆ กับ pituitary LH ทำให้กบหลั่ง sperms ออกมาในกระเพาะปัสสาวะ ดังนั้นหลังฉีด 2-3 ชั่วโมง เมื่อเราดูดปัสสาวะออกมาตรวจดูจะเห็นว่ามี sperms ว่ายอยู่เป็นจำนวนมาก มาคิดดูอาจจะเห็นได้ว่าถ้ากบตัวนี้เผอิญไปผสมกับกบตัวเมียมาตลอดคืน อาจจะไม่มี sperms เหลืออยู่เลยก็ได้ซึ่งจะให้ผลเป็น false negative ผมเลยเอา test ที่ใช้ antigens-antibodies คือ haemoagglutination-inhibition-test ที่เชื่อถือได้มาใช้แทน

    นี่ก็เป็นเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้ผมเปลี่ยนศึกษาทาง Endocrinology & Reproduction เพื่อจะได้นำกลับมาใช้ในการให้บริการต่อชุมชน ก่อนที่จะขอให้อาจารย์ธีระพร ซึ่งสนใจในวิชาแขนงนี้มาทำแทน

    หลังจากนั้นเรามีคนไข้ทั้งที่ตั้งครรภ์ยากและพวกที่ตั้งครรภ์ง่ายต้องการคุมกำเนิดมาปรึกษาเรามากขึ้น ทำให้ต้องการได้ความรู้ทาง hormones และ reproduction มากขึ้น เลยตัดสินใจลาไปศึกษาต่อที่ สหรัฐอเมริการวมทั้งการนำเอา culdoscope มาทำหมันผ่านทางช่องคลอด ที่เรียกว่า culdoscopic tubal ligation ทำให้ไม่ต้องดมยาหรือคนไข้ไม่มีแผลหน้าท้อง ทางสถานีโทรทัศน์ที่ลำปางได้ขอให้ไปออกรายการพร้อมกับคนไข้ที่ได้ทำหมันด้วยวิธีนี้ ได้พยายามฝึกให้อาจารย์หมอวิโรจน์ทำแทน เนื่องจากผู้เขียนต้องไปรับงานที่บัณฑิตวิทยาลัย และไปเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพตามลำดับ เลยทำให้การทำหมันวิธีนี้ลดน้อยลงจนกระทั่งหายไป หลังจากนั้นอาจารย์ธวัชชัย จึงได้นำเอา laporoscope มาใช้แทน

    เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนี้คงจะหาอ่านได้จากเอกสารต่างๆ ของภาควิชาและของคณะ

    Read More

    Executive Summary

    Department of Obstetrics and Gynecology (Ob & Gyn)

    The department is a leading medical teaching center in the field of Ob / Gyn. Each year, we welcome a large number of visiting students, residents, and fellows from various institutes. We are also research leaders in the field of maternal-fetal medicine, gynecologic oncology, and assisted reproductive technology. The department extensively does research on health problems of this region and now it is world-recognized as a pioneer and outstanding center in prenatal screening and control of thalassemia as well as a fetal diagnostic center. The department has the highest number of publications (in Scopus / Pubmed databases) in the field of Ob/Gyn in Thailand, for more than two decades.

    Read More

    สรุปรายงานการเยี่ยมสำรวจ TQA ภาควิชา 2553

    รายงานการตรวจเยี่ยมเพื่อประเมินตนเอง
    ตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพ (TQA)
    ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    วันพุธ ที่ 25 สิงหาคม 2553 ณ. ห้องเรียน อ.กำจัด

    ********************

    กรรมการตรวจเยี่ยม

    1. รศ.พญ อภิชนา โฆวินทะ
    2. รศ.ดร. พรงาม เดชเกรียงไกรกุล
    3. ผศ.นพ. วัฒนา ชาติอภิศักดิ์
    4. อ.พญมนธนา ปุกหุต

    ผู้เข้าร่วมประชุม

    1. รศ.นพ.ชเนนทร์   วนาภิรักษ์
    2. ผศ.นพ.โอภาส  เศรษฐบุตร
    3. ศ.นพ.ธีระ      ทองสง
    4. รศ.พญ.สุพัตรา   ศิริโชติยะกุล      
    5. รศ.พญ.ประภาพร   สู่ประเสริฐ
    6. ผศ.นพ.ชัยเลิศ    พงษ์นริศร
    7. ผศ.นพ.ฉลอง  ชีวเกรียงไก
    8. ผศ.พญ.เฟื่องลดา  ทองประเสริฐ
    9. อ.นพ.ชำนาญ   เกียรติพีรกุล
    10. อ.พญ.สุชยา ลือวรรณ
    11. อ.พญ.เกษมศรี  ศรีสุพรรณดิฐ  
    12. 12 .นส.รัตติยา รัตนเดชากร
    13. 13. นส.สุรพร  ประจงแสงศรี
    14. 14. นางสายทิม  นิมะรังกูล
    15. 15. นางวราภรณ์ จันทรวงศ์
    16. 16. นางนริสา  ศรีบัณฑิตมงคล
    17. 17. นางรุ่งอรุณ  เศรษฐบุตร
    18. 18. นส. สุกัญญา  ยะนันโต

    เริ่มประชุมเวลา 13.30 น.

                                    อ. ชเนนทร์ กล่าวต้อนรับคณะกรรมการตรวจเยี่ยมฯ พร้อมนำเสนอ Power point แนะนำภาควิชาฯ (รายละเอียดตามรายงานการประเมินตนเอง (TQA) ภาควิชาฯ ประจำปีการศึกษา 2552)

                                    อ. ธีระ นำเสนอการจัดการฐานข้อมูลหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพชั้นสูง โดยได้พัฒนาในทุกด้านของพันธกิจภาควิชาฯ ซึ่งใช้วิธีการกำหนด user name และ password ในการ log in เข้าระบบ  

     สรุปผลการประเมินจากคณะกรรมการตรวจเยี่ยม มีดังนี้

    ด้าน OP

                    1. คณะกรรมการกล่าวชื่นชม อ. ธีระ ที่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถดีเยี่ยม   สมควรให้เป็นอาจารย์ต้นแบบแก่แพทย์รุ่นต่อไป และควรหาคนมาถอดแบบเพื่อให้มีอาจารย์ต้นแบบโดยยั่งยืนและถาวร

                    2. ภาควิชาฯ ควรจะมีค่านิยมขององค์กรเสริมจากค่านิยมของคณะฯ ที่เป็นหลัก

                    3.   ในรายงานการประเมินตนเอง (TQA) หน้า 9 ในตารางที่ 3 ไม่มีข้อมูลตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยของสาย ก.

                    4. ในรายงานการประเมินตนเอง (TQA) หน้า 10 ในช่องความต้องการ ความคาดหวังที่สำคัญ   รายละเอียดยังไม่ชัดเจน ควรจะมีการระบุความคาดหวังให้ชัดเจนกว่านี้ โดยการวางแผนระยะสั้นและระยะยาว และควรเพิ่มรายละเอียดของแผนการดำเนินงานภาควิชาฯ ลงในภาคผนวกของรายงานการประเมินตนเองของภาควิชาฯ

                    5.   ควรจะแยกความคาดหวังในแต่ละชั้นปีให้ชัดเจนและละเอียดมากกว่านี้

                    6.   การเรียนการสอนแบบ PBL และ POL ของภาควิชาฯ มีความแตกต่างกันอย่างไร

                    7.   การแยก Segment แต่ละสายงาน ภาควิชาฯ เพื่ออะไร และมีการวางแผนไว้อย่างไรบ้าง เช่น ตำแหน่งที่เกษียณแล้ว มีกลยุทธ์จะหาคนมาทดแทนได้อย่างไร

                    8.   การใช้คำศัพท์ สำหรับการกล่าวถึงสถาบันสมทบ จะใช้คำว่า partner หรืออะไร ควรกำหนดให้ชัดเจน และคำว่า แพทย์ประจำบ้านต่อยอด และ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ควรกำหนด term

                    9. จากปัญหาในกลุ่มสตรีศึกษาที่ยังไม่มีกลุ่มใดจับ เพราะเหตุใดจึงมีเรื่อง stem cell ในภาควิชาฯ

                    10. หัวข้อความท้าทายเชิงกลยุทธ์ ในรายงานการประเมินตนเอง (TQA) ยังคงเขียนไม่ถูกต้อง เพราะที่เขียนเป็นสถานการณ์ ไม่ใช่ความท้าทาย เช่น ทำอย่างไรให้จำนวนคลอดเพิ่มขึ้น และ จะทำอย่างไรหาก อ.ธีระ ต้องการที่จะ early retry

                    11. พยาบาลวิจัย ควรมีรายละเอียด บาทบาทหน้าที่ให้ชัดเจนมากขึ้น และควรมีการวิเคราะห์ Steak Holder ในส่วนของพยาบาลสูติฯ ให้ชัดเจน

                     12. จำนวนอาจารย์ที่ได้เลื่อนตำแหน่งใหม่ต่อปี Balanced scorecard

                    13. การเขียนรายงานการประเมินตนเอง (TQA) ภาควิชาเป็นแบบเชิงบรรยายทำให้อ่านยาก ควรจะโดยใช้ table หรือ bullets

                    14. พันธกิจด้านบริการวิชาชีพ คณะฯ ได้ปรับเปลี่ยนเป็น ด้านสุขภาพ แทน

                    15.   หัวข้อพันธกิจด้านวิชาชีพและวิชาการ ใช้คำว่า โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และพยาบาล Ward คำนี้กว้างไป

                    16.   กลไกการสื่อสาร ควรจะมีการระบุรายละเอียดให้ลึกมากกว่านี้

                    17.   ระดับความสัมพันธ์ ควรระบุให้ชัดเจน เช่น แพทย์ที่จบจากที่เราไปแล้ว ยังอยากกลับมาเยี่ยมเยือนที่ภาควิชาฯ หรือถ้าหากมีลูก ก็ยังคงต้องการให้ลูกศึกษาเป็นสูติแพทย์

                    18. term ในการใช้คำศัพท์ ที่ยังคงเปลี่ยนไปมา

                    19. อะไรคือความท้าทายเชิงกลยุทธ์ และควรมีการเรียงลำดับความสำคัญด้วย เช่นหุ่นจำลองไม่ใช่ของจริงจะแก้ไขอย่างไร หรือจะทำอย่างไรถึงจะเพิ่มจำนวนหัตถการการทำคลอด

                    20. แบบประเมินที่ใช้ประเมินอาจารย์โดยแพทย์ประจำบ้านดีแล้ว

                    21. ควรมีการ Benchmark ของภาควิชาฯ กับมหาลัยภายนอกอื่น ๆ

                    22. จุดเด่น หรือ ตลาดของภาควิชา ที่เป็นวิกฤตควรนำกลับมาเป็นโอกาส

    หมวด 1

                    23. หมวดแต่ละหมวด บางหมวดไม่สอดคล้องหรือสัมพันธ์กับพันธกิจ อาจจะมีคำขวัญของภาควิชาฯ ไปสอดคล้องกับค่านิยมของภาควิชาฯ

                    24. ภาควิชาฯ มีการแต่งตั้งกรรมการแต่ละฝ่ายและสอดคล้องกับทุก Segment ของภาควิชาฯ

                    25. การประเมินผล ยังขาดสาย ข. และ สาย ค. เข้าร่วมประเมินด้วยเพราะสาย ข. และ ค. ก็คงเป็นกลุ่ม steak holder ด้วยเช่นกัน

                    26. การจดรายงานการประชุมควรเป็นหน้าที่ของเลขานุการ ไม่ใช่หน้าที่ของอาจารย์

                    27. ภาควิชาฯ ควรจัดทำ Lead indicator ด้วย

                    28. การสร้างความผูกพัน ควรจะมีอย่างอื่นเพิ่มเติมอีกนอกเหนือจากการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ของภาควิชาฯ

                    29. ควรมีการกำหนดตัวชี้วัดที่สะท้อนไปสู่กลไก

                    30. แบบประเมินแพทย์ประจำบ้าน หน้า 78 ให้แก้ไข   พฤตินัย เป็น เจตคติ และแยกส่วนที่เป็น max, min, median , average และ standardize มาไว้ต่างหากจะจัดทำเป็น ตาราง หรือ bullets แทน

                    31. ควรมีความคิดเห็นของบุคลากรสาย ข. และ สาย ค. บ้างในการประชุมของอาจารย์

                    32. กรรมการยังมองไม่เห็นข้อมูลอ้างอิงด้านการศึกษาของภาควิชาฯ

    หมวด 2-6

    1. 33.ยังไม่ได้กำหนดความท้าทายที่ชัดเจน
    2. 34.แผนปฏิบัติการมักเป็นแต่แผนกิจกรรม และไม่ได้ attach แผนมาด้วย
    3. 35.ไม่ได้กำหนดเป้าหมายหลักและรอง
    4. 36.มีการเปิดช่องทางการสื่อสาร
    5. 37.มีเจ้าหน้าที่ช่วยในการติดตามพฤติกรรมของนักศึกษาแพทย์แต่ละชั้นปี
    6. 38.บทบาทของอาจารย์ยังขาดบทบาทในความเป็นครู
    7. 39.ควรทำแผนภาพให้มีเส้นเปรียบเทียบระดับ และมีลูกศรชี้เพื่อให้เห็นการเปรียบเทียบที่ชัดเจนมากขึ้น
    8. 40.เทคนิคในการทำ M Power ทำอย่างไร
    9. 41.การแบ่ง Gap เป็น 5 ด้าน ยังไม่มี standard , การส่งมอบ และ service

    คำชื่นชม

                    ภาควิชาสูติฯ เป็นภาควิชาที่มีคุณภาพ มีอาจารย์ที่เป็นต้นแบบหลายท่าน มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงควรที่จะมาเรียนรู้ร่วมกัน เวลา 16.00 น. อ.ชเนนทร์ กล่าวขอบคุณคณะกรรมการตรวจเยี่ยมที่สละเวลามาตรวจสอบแลให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ภาควิชาฯ เพื่อทีจะได้นำไปปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป

    เลิกประชุมเวลา 16.00 น..

    (นางสาวรัตติยา รัตนเดชากร)                                                                                        

    ผู้จดรายงานการประชุม 1                

     (นส.สุรพร ประจงแสงศรี)

    ผู้จดรายงานการประชุม   2

     (รศ.พญ.สุพัตรา ศิริโชติยะกุล)

    ผู้ตรวจรายงานการประชุม                                                          

     

     

    Read More

    TQA

    รายงาน TQA ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ประจำปี พ.ศ.2551-2552

    รายงาน TQA ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ประจำปี พ.ศ.2552-2553

    รายงาน TQA ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ประจำปี พ.ศ.2553-2554

    รายงาน TQA ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ประจำปี พ.ศ.2554-2555

    บางภาพตัวอย่างจากการเยี่ยมสำรวจ
    เมื่อวันที่พุธที่ 25 สิงหาคม 2553 

     

    Read More