Department of OB & GYN in the Early Age

ศ. นพ. กอสิน อมาตยกุล


ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา เชียงใหม่ของเรา ได้รับการก่อตั้งมาพร้อมกับคณะแพทยศาสตร์ในปี พ.ศ. 2552 หัวหน้าภาควิชาคนแรกคือท่านอาจารย์แพทย์หญิง ดวงเดือน คงศักดิ์ ถูกขอยืมตัวมาจากศิริราชสักระยะ ก่อนที่เราจะได้ท่าน ศ.นพ.มจ.อำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา จนกระทั่งท่านถึงแก่ชีพตักษัยได้มีการจัดการเรียนการสอน การวิจัย พร้อมทั้งการดูแลรักษาผู้ป่วย ภาควิชาสูติฯ ในสมัยแรกเริ่มได้ใช้อาคารโรงพยาบาลเก่าของเมืองเชียงใหม่ เป็นที่ตั้ง เป็นอาคารไม้ อยู่ใกล้กับประตูสวนดอก ข้างใต้เป็นคูน้ำ สูติแพทย์ท่านอื่นๆ นอกจากท่านอาจารย์หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์หัวหน้าแผนกแล้วก็มีท่านอาจารย์ศุภร, ผู้เขียน, อาจารย์วราวุธ, อาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญแข ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ รพ.รามาธิบดี กรุงเทพฯ ส่วนอาจารย์พิศิษฐ์ หลังจากได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมันนี ได้ย้ายไปปฏิบัติงานด้าน gynaecological pathology ที่ ม.ขอนแก่น

ระยะแรกไม่มีแพทย์ฝึกหัด เราต้องผลัดกันอยู่เวร แม้กระนั้นอาจารย์หมอวราวุธ ยังใช้เวลาว่างเกือบทั้งหมด ฝึกให้ น.ศ.แพทย์ เต้น ballet และอาจารย์จะจัดให้มีการแสดงอย่างยิ่งใหญ่ที่วันธนาคารเกือบทุกปี ซึ่งเป็นกิจการที่สำคัญของเชียงใหม่ นศพ.นัก ballet เท่าที่จำได้ก็มี อ.จ.ธวัชชัย ของเรา และ อ.จ.พ.ญ.บุญสม ผลประเสริฐ แผนกเด็ก นอกเหนือจากนี้ อาจารย์ให้ นศพ. ไปจับกบตัวผู้มาทำ pregnancy test ด้วยเหตุที่ว่า morning urine จากคนท้องจะมี hormone HCG อยู่เป็นจำนวนมาก และเมื่อเอามาฉีดที่หลังของกบ HCG นี้จะมีผลทางชีวะวิทยาคล้ายๆ กับ pituitary LH ทำให้กบหลั่ง sperms ออกมาในกระเพาะปัสสาวะ ดังนั้นหลังฉีด 2-3 ชั่วโมง เมื่อเราดูดปัสสาวะออกมาตรวจดูจะเห็นว่ามี sperms ว่ายอยู่เป็นจำนวนมาก มาคิดดูอาจจะเห็นได้ว่าถ้ากบตัวนี้เผอิญไปผสมกับกบตัวเมียมาตลอดคืน อาจจะไม่มี sperms เหลืออยู่เลยก็ได้ซึ่งจะให้ผลเป็น false negative ผมเลยเอา test ที่ใช้ antigens-antibodies คือ haemoagglutination-inhibition-test ที่เชื่อถือได้มาใช้แทน

นี่ก็เป็นเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้ผมเปลี่ยนศึกษาทาง Endocrinology & Reproduction เพื่อจะได้นำกลับมาใช้ในการให้บริการต่อชุมชน ก่อนที่จะขอให้อาจารย์ธีระพร ซึ่งสนใจในวิชาแขนงนี้มาทำแทน

หลังจากนั้นเรามีคนไข้ทั้งที่ตั้งครรภ์ยากและพวกที่ตั้งครรภ์ง่ายต้องการคุมกำเนิดมาปรึกษาเรามากขึ้น ทำให้ต้องการได้ความรู้ทาง hormones และ reproduction มากขึ้น เลยตัดสินใจลาไปศึกษาต่อที่ สหรัฐอเมริการวมทั้งการนำเอา culdoscope มาทำหมันผ่านทางช่องคลอด ที่เรียกว่า culdoscopic tubal ligation ทำให้ไม่ต้องดมยาหรือคนไข้ไม่มีแผลหน้าท้อง ทางสถานีโทรทัศน์ที่ลำปางได้ขอให้ไปออกรายการพร้อมกับคนไข้ที่ได้ทำหมันด้วยวิธีนี้ ได้พยายามฝึกให้อาจารย์หมอวิโรจน์ทำแทน เนื่องจากผู้เขียนต้องไปรับงานที่บัณฑิตวิทยาลัย และไปเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพตามลำดับ เลยทำให้การทำหมันวิธีนี้ลดน้อยลงจนกระทั่งหายไป หลังจากนั้นอาจารย์ธวัชชัย จึงได้นำเอา laporoscope มาใช้แทน

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนี้คงจะหาอ่านได้จากเอกสารต่างๆ ของภาควิชาและของคณะ