• Extern-Intern
  • Fetal Biometry for Obstetrician and General Practitioners

การวัดสัดส่วนทารกสำหรับสูติแพทย์และแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
(Fetal Biometry for Obstetrician and General Practitioners)

เฟื่องลดา ทองประเสริฐ


          การวัดสัดส่วนทารกในครรภ์เป็นขั้นตอนหนึ่งในการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางสูติศาสตร์ มีความสำคัญในการประเมินอายุและน้ำหนักของทารกในครรภ์ซึ่งสูติแพทย์และแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปจำเป็นต้องมีความรู้และทักษะในการวัดที่ถูกต้อง ในที่นี้จะนำเสนอวิธีการวัดสัดส่วนทารกในหัวข้อดังต่อไปนี้คือ

  1. การวัดความยาวของทารก (CRL)
  2. การวัดความกว้างของศีรษะทารก (BPD)
  3. การวัดเส้นรอบวงศีรษะ (HC)
  4. การวัดเส้นรอบท้อง (AC)
  5. การวัดความยาวกระดูกต้นขา (FL)
  6. การวัดน้ำคร่ำ (AFI)
  7. การคำนวณอายุครรภ์
  8. การคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์ (EFW)

1.  การวัดความยาวของทารก (Crown-Rump Length; CRL)

ความยาวของทารกคือ ระยะที่ยาวที่สุดของตัวอ่อนหรือทารก โดยวัดความยาวจากยอดศีรษะ (crown) ถึงส่วนล่างสุดของสะโพก (rump) โดยไม่วัดรวมส่วนแขนขา (limbs) และถุงไข่แดง (yolk sac) การวัดความยาวของทารกมีประโยชน์ในการทำนายอายุครรภ์ได้ดีในไตรมาสแรก ซึ่งถือว่าเป็นตัววัดที่แปรปรวนน้อยและมีความถูกต้องแม่นยำในการทำนายอายุครรภ์มากที่สุด

 

เทคนิคในการวัด

  1. ปรับภาพคลื่นเสียงความถี่สูงให้เห็นภาพตามแนวยาวของทารก
  2. วัดจากขอบนอกของจุดสูงสุดของศีรษะทารก ถึงขอบนอกของจุดต่ำสุดของสะโพก
  3. ไม่ควรวัดรวมส่วนแขนขาและถุงไข่แดง
  4. นำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานเพื่อคำนวณอายุครรภ์

 

ภาพที่ 1 แสดงเทคนิคการวัดความยาวของทารก (ดัดแปลงจาก McGahan JP. Atlas of Ultrasound Measurements. 2nd ed. Philadelphia: Mosby Elsevier; 2006.)

ความถูกต้องแม่นยำ

การวัดความยาวของทารกมีประโยชน์ในการทำนายอายุครรภ์ได้ดีโดยเฉพาะอายุครรภ์ 6 – 14 สัปดาห์ และมีความแม่นยำมากที่สุดในช่วงอายุครรภ์ 6.5 – 10 สัปดาห์ ความคลาดเคลื่อนในการทำนายอายุครรภ์จากการวัดเพียงหนึ่งครั้งเท่ากับ 4.7 วัน และหากวัดสามครั้งแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ยจะพบความคลาดเคลื่อนในการทำนายอายุครรภ์เพียง 2.7 วัน(1)

ความถูกต้องในการทำนายอายุครรภ์จะลดลงเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นเนื่องจากทารกมักจะงอตัวหรือเหยียดตัวได้บ่อยขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป และหลังอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ไปแล้วทารกจะมีขนาดยาวเกินไปจนไม่สามารถวัดได้ตลอดแนวจากภาพเดียว

2.  การวัดความกว้างของศีรษะทารก (Biparietal Diameter; BPD)

เป็นการวัดสัดส่วนของทารกที่ใช้บ่อยที่สุดตัวหนึ่งในการทำนายอายุครรภ์ สามารถวัดได้ตั้งแต่ไตรมาสที่สองเป็นต้นไป นำมาใช้เพื่อประเมินอายุครรภ์ได้อย่างแม่นยำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุครรภ์ 14 ถึง 28 สัปดาห์

 เทคนิคในการวัด

  1. ปรับภาพคลื่นเสียงความถี่สูงให้ได้ภาพตัดขวางของศีรษะทารก
  2. ปรับภาพจนเห็นลักษณะทางกายวิภาคดังต่อไปนี้
    • กะโหลกศีรษะเป็นรูปวงรี (ovoid shape)
    • เห็นเส้นแบ่งแนวกลางศีรษะ แบ่งศีรษะให้ได้สมมาตรกัน
    • เห็น falx cerebri ในแนวหน้าหลัง
    • เห็น thalamus 2 ข้าง มี third ventricle อยู่ในแนวกลาง
    • เห็น cavum septum pellucidum ที่ระดับหนึ่งในสาม (ของระยะ fronto-occipital distance) ห่างจาก frontal bone
  3. วัดเส้นผ่าศูนย์กลางของศีรษะจากขอบนอกของกระดูกกะโหลกด้านใกล้หัวตรวจ ถึงขอบในของกระดูกกะโหลกด้านห่างหัวตรวจ (outer-to-inner)
  4. ไม่วัดรวมความหนาของกะโหลกศีรษะด้านห่างหัวตรวจและหนังศีรษะ
  5. นำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานเพื่อคำนวณอายุครรภ์

 

 

ภาพที่ 2 แสดงเทคนิคการวัดความกว้างของศีรษะทารก (ดัดแปลงจาก ธีระ ทองสง. ตำราและภาพคลื่นเสียงความถี่สูงทางสูติศาสตร์ ฉบับเรียบเรียงครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: พี.บี.ฟอเรน บุ๊คส์เซนเตอร์; 2543)

ความถูกต้องแม่นยำ

ความถูกต้องแม่นยำ

ความถูกต้องของการวัดความกว้างของศีรษะทารกในการทำนายอายุครรภ์ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์และรูปร่างของศีรษะที่ผิดไปจากปกติ หากวัดก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ความคลาดเคลื่อนในการทำนายอายุครรภ์เท่ากับ 7 วัน(2) หากวัดช่วงอายุครรภ์หลัง 20 สัปดาห์ความคลาดเคลื่อนในการทำนายอายุครรภ์เท่ากับ 7 – 11 วัน หรือ 1 – 2 สัปดาห์(3) และหากวัดในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ความคลาดเคลื่อนมีได้สูงถึง 2 – 4 สัปดาห์(4, 5)

ในกรณีที่รูปร่างของศีรษะผิดไปจากปกติ เช่นในกรณีท่าก้น, น้ำคร่ำน้อย หรือมีก้อนเนื้องอกมดลูกกดเบียดศีรษะทารก อาจมีผลต่อค่าความกว้างของศีรษะทารกได้ ดังนั้นจึงควรประเมินความน่าเชื่อถือของความกว้างของศีรษะทารกก่อนที่จะนำค่าที่วัดได้นั้นมาแปลผลโดยคำนวณหาค่า cephalic index ดังนี้

 

Cephalic index (CI) คำนวณได้จาก

 

Cephalic index (CI)        =        Short axis    x  100 /  Long axis

 

โดย

  • Short axis = ค่าที่กว้างที่สุดตามแนวขวางของศีรษะทารกในระดับ BPD โดยวัดจากขอบนอกของกระดูกกะโหลกด้านหนึ่งถึงขอบนอกของกระดูกกะโหลกอีกด้านหนึ่ง (outer-to-outer)
  • Long axis = ค่าที่ยาวที่สุดตามแนวยาวของศีรษะทารกในระดับ BPDโดยวัด จากขอบนอกของกระดูกกะโหลกด้านหนึ่งถึงขอบนอกของกระดูกกะโหลกอีกด้านหนึ่ง (outer-to-outer)

 

ค่าเฉลี่ยของ CI เท่ากับ 78.3 + 4.4 โดยจะเปลี่ยนแปลงตามอายุครรภ์น้อยมาก หากค่า CI มากกว่า 1 SD จากค่าเฉลี่ย อาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของค่าความกว้างของศีรษะทารกที่วัดได้(6)

เช่น       ค่า CI < 74       =          dolicocephaly (ศีรษะรี)

ค่า CI > 83       =          brachicephaly (ศีรษะกลม)

 

หากใช้ค่า BPD แทน short axis(7) ค่าเฉลี่ยของ CI เท่ากับ 80.64 + 4.97

ดังนั้น    ค่า CI < 75.67  =          dolicocephaly (ศีรษะรี)

ค่า CI > 85.61  =          brachicephaly (ศีรษะกลม)

 

 

ภาพที่ 4  แสดงศีรษะกลม (a) และศีรษะรี (b) (ดัดแปลงจาก ธีระ ทองสง. ตำราและภาพคลื่นเสียงความถี่สูงทางสูติศาสตร์ ฉบับเรียบเรียงครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: พี.บี.ฟอเรน บุ๊คส์ เซนเตอร์; 2543)

 การคำนวณค่าความกว้างของศีรษะทารกใหม่ตามรูปร่างของศีรษะคำนวณได้ดังนี้คือ(8)

 

Corrected BPD  = BPD x OFD / 1.265

 

โดย      OFD (occipito-frontal diameter) = ความยาวของศีรษะทารกในระดับ BPD โดยวัดจากขอบนอกของกระดูกกะโหลกด้านหนึ่งถึงขอบนอกของกระดูกกะโหลกอีกด้านหนึ่ง (outer-to-outer)

3. การวัดเส้นรอบวงศีรษะ (Head Circumference; HC)

นำมาใช้ประเมินอายุครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สองและสามของการตั้งครรภ์ มีความสำคัญในกรณีที่รูปร่างของศีรษะผิดไปจากปกติจนทำให้การประเมินอายุครรภ์จากความกว้างของศีรษะทารกคลาดเคลื่อนไป เนื่องจากเป็นตัววัดที่ไม่ขึ้นกับรูปร่างของศีรษะมากเท่าความกว้างของศีรษะทารก

เทคนิคในการวัด

  1. ปรับภาพคลื่นเสียงความถี่สูงให้เห็นภาพศีรษะทารกในระดับเดียวกับระดับที่วัดความกว้างของศีรษะทารก
  2. วัดเส้นรอบวงโดยวาดเส้นรอบวงตามแนวขอบนอกของกระดูกกะโหลกโดยไม่วัดรวมหนังศีรษะ หรือ
  3. วัดเส้นผ่าศูนย์กลางแนวหน้าหลังและแนวขวางของศีรษะทารกแล้วนำมาคำนวณโดยใช้สูตรคือ

 

เส้นรอบวง  =   (เส้นผ่าศูนย์กลางแนวหน้าหลัง + เส้นผ่าศูนย์กลางแนวขวาง) x 1.57

 

การวัดโดยใช้ ellipse mode ในเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงโดยทั่วไปใช้การคำนวณจากสูตรนี้(9)

4. นำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานเพื่อคำนวณอายุครรภ์

ภาพที่ 5 แสดงเทคนิคการวัดเส้นรอบศีรษะ

ความถูกต้องแม่นยำ

ค่าเส้นรอบวงศีรษะเป็นตัววัดที่น่าเชื่อถือตัวหนึ่งในการทำนายอายุครรภ์ ในทางทฤษฎีใช้ทำนายอายุครรภ์ได้ดีกว่าค่าความกว้างของศีรษะทารกเนื่องจากไม่ขึ้นกับรูปร่างของศีรษะทารก แต่ในทางปฏิบัติแล้วการวัดความกว้างของศีรษะทารกทำได้ง่ายกว่า บ่อยครั้งในการวัดเส้นรอบวงศีรษะพบเงาดำ (acoustic shadow) บดบังทำให้ภาพไม่ชัดเกิดความคลาดเคลื่อนในการวัด ทำให้ความถูกต้องแม่นยำน้อยกว่าค่าความกว้างของศีรษะทารก ความคลาดเคลื่อนในการประเมินอายุครรภ์ที่อายุครรภ์ต่างๆ มีดังนี้(5, 10)

ในช่วงอายุครรภ์ก่อน 20 สัปดาห์เท่ากับ     1          สัปดาห์

ในช่วงอายุครรภ์ก่อน 26 สัปดาห์เท่ากับ     1 – 2    สัปดาห์

ในช่วงอายุครรภ์หลัง 26 สัปดาห์เท่ากับ     2 – 3    สัปดาห์

4. การวัดเส้นรอบท้อง (Abdominal Circumference; AC)

สามารถนำมาใช้เพื่อประเมินอายุครรภ์ได้ดีพอสมควร แต่เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะโภชนาการของทารกได้จึงทำให้การทำนายอายุครรภ์คลาดเคลื่อนได้มากกว่าตัววัดอื่นๆ ดังนั้นในทางปฏิบัติจึงนิยมนำมาใช้เพื่อประเมินการเจริญเติบโตและประเมินน้ำหนักทารกในครรภ์มากกว่าใช้เพื่อทำนายอายุครรภ์

เทคนิคในการวัด

  1. ปรับภาพคลื่นเสียงความถี่สูงให้เห็นภาพตัดขวางที่ระดับท้องของทารก
  2. ปรับภาพให้เห็นลักษณะทางกายวิภาคดังต่อไปนี้
    • รูปร่างท้องกลม หรือค่อนข้างกลม
    • เห็นกระดูกไขสันหลังอยู่ที่ตำแหน่ง 3 หรือ 9 นาฬิกา
    • เห็นกระเพาะอาหารอยู่ทางซีกซ้ายของช่องท้อง
    • เห็นแนวซี่โครง 2 ข้างสมมาตรกัน
    • เห็นจุดที่ portal vein ซ้ายและขวาเชื่อมต่อกันเป็นส่วนโค้งสั้นๆ หากเห็นลักษณะของ  portal vein เป็นท่อนยาวแสดงว่าเอียงหัวตรวจต่ำลงไปทางด้านหน้าชิดสะดือมากเกินไป จะทำให้ท้องมีรูปร่างรีเกิดความคลาดเคลื่อนในการวัดได้
  3. วัดเส้นรอบวงโดยวาดเส้นรอบท้องโดยตรง หรือ
  4. วัดเส้นผ่าศูนย์กลางแนวหน้าหลังและแนวขวางของท้องทารกแล้วนำมาคำนวณโดยใช้สูตรคือ
    • เส้นรอบวง  =   (เส้นผ่าศูนย์กลางแนวหน้าหลัง + เส้นผ่าศูนย์กลางแนวขวาง) x 1.57
  5. นำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานเพื่อคำนวณอายุครรภ์

 

ภาพที่ 6  แสดงระดับที่เหมาะสมในการวัดเส้นรอบท้องทารก (a) และแสดงการเอียงหัวตรวจต่ำชิดสะดือทารกมากเกินไป (b) (ดัดแปลงจาก ธีระ ทองสง. ตำราและภาพคลื่นเสียงความถี่สูงทางสูติศาสตร์ ฉบับเรียบเรียงครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: พี.บี.ฟอเรน บุ๊คส์ เซนเตอร์; 2543)

ความถูกต้องแม่นยำ

การวัดเส้นรอบท้องเป็นการวัดที่มีความคลาดเคลื่อนมากที่สุด เนื่องจากเทคนิคการวัดให้ได้ภาพที่ดีทำได้ยาก บางครั้งรูปร่างของท้องไม่กลม หรือบิดเบี้ยวไปจากการมีแขนขาทารกกดหน้าท้อง การใช้หัวตรวจกดหน้าท้องมารดาแรงเกินไป หรือวางหัวตรวจเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เป็นต้น นอกจากนี้หากทารกอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสม เช่น ทารกนอนคว่ำ ตำแหน่งของกระดูกไขสันหลังอยู่ที่ 12 นาฬิกา จะทำให้เกิดเงาดำ (acoustic shadow) บดบังอวัยวะภายในทำให้มองไม่เห็นลักษณะสำคัญต่างๆ ดังกล่าว

ความคลาดเคลื่อนในการประเมินอายุครรภ์ที่อายุครรภ์ต่างๆ มีดังนี้(5, 11)

ในช่วงอายุครรภ์ก่อน 24 สัปดาห์เท่ากับ     2          สัปดาห์

ในช่วงอายุครรภ์ก่อน 24 สัปดาห์เท่ากับ     2 – 4    สัปดาห์

จะเห็นได้ว่าการวัดเส้นรอบท้องนำมาใช้ในการประเมินอายุครรภ์ได้ไม่ดีนัก แต่สามารถนำมาใช้ในการประเมินการเจริญเติบโตและน้ำหนักของทารกในครรภ์ได้ดีเนื่องจากขนาดเส้นรอบท้องมีความสัมพันธ์โดยตรงกับขนาดตัวของทารก

5. การวัดความยาวกระดูกต้นขา (Femur Length; FL)

กระดูกท่อนยาวทุกท่อนสามารถนำมาใช้เพื่อทำนายอายุครรภ์ได้ แต่กระดูกต้นขาเป็นกระดูกที่นิยมวัดเพื่อใช้ประเมินอายุครรภ์มากที่สุด

เทคนิคในการวัด

  1. ปรับภาพคลื่นเสียงความถี่สูงให้เห็นภาพกระดูกต้นขายาวตลอดแนวยาว
  2. ปรับหัวตรวจให้ตั้งฉากกับแนวยาวของกระดูกต้นขา
  3. วัดความยาวจากจุดตรงกลางของขอบปลายสุดของกระดูกด้านหนึ่งไปยังจุดตรงกลางของขอบปลายสุดของกระดูกอีกด้านหนึ่ง
  4. นำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานเพื่อคำนวณอายุครรภ์

ความถูกต้องแม่นยำ

ความคลาดเคลื่อนในช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์เท่ากับ 1 – 2 สัปดาห์ และความคลาดเคลื่อนในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์เท่ากับ 2 – 3 สัปดาห์(5, 12) แต่ในบางการศึกษาพบความคลาดเคลื่อน 2 – 3 สัปดาห์ตลอดทุกอายุครรภ์(13)

ความคลาดเคลื่อนจากการวัดความยาวของกระดูกต้นขาอาจเกิดจากหัวตรวจที่วัดไม่ตั้งฉากกับแนวยาวของกระดูกต้นขา ทำให้ค่าที่ได้สั้นกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้เชื้อชาติยังมีผลต่อค่าความยาวของกระดูกต้นขา ในคนไทยพบว่า FL สั้นกว่าชาวตะวันตกในทุกอายุครรภ์(14)

 

ภาพที่ 7 แสดงเทคนิคการวัดความยาวกระดูกขาทารก (ดัดแปลงจาก ธีระ ทองสง. ตำราและภาพคลื่นเสียงความถี่สูงทางสูติศาสตร์ ฉบับเรียบเรียงครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: พี.บี.ฟอเรน บุ๊คส์ เซนเตอร์; 2543)

6. การวัดน้ำคร่ำ (Amniotic Fluid Index; AFI)

คือการประเมินน้ำคร่ำในเชิงปริมาณ แตกต่างจากการประเมินด้วยความรู้สึก (subjective) หรือการใช้ประสบการณ์ของผู้ตรวจประเมินว่ามีน้ำคร่ำมาก น้อยหรือปกติ ซึ่งใช้เวลาน้อยแต่ต้องอาศัยทักษะและมีความแปรปรวนระหว่างบุคคลมาก และเมื่อรู้สึกว่าน้ำคร่ำผิดปกติต้องตรวจยืนยันด้วยการวัดน้ำคร่ำในเชิงปริมาณต่อไป

 เทคนิคในการวัด

1. Single deepest pocket (SDP)

  1. ปรับภาพคลื่นเสียงความถี่สูงให้เห็นตำแหน่งของแอ่งน้ำคร่ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
  2. วางหัวตรวจให้ขนานกับ sagittal plane ของมารดาโดยไม่กดหัวตรวจมากจนเกินไป
  3. วัดระยะที่ลึกที่สุดของแอ่งน้ำคร่ำโดยไม่รวมสายสะดือและแขนขาของทารก
  4. นำค่าที่ได้มาแปลผลดังนี้(15, 16)

SDP < 2 cm.     =          oligohydramnios

SDP > 8 cm.     =          mild polyhydramnios

SDP > 12 cm.   =          moderate polyhydramnios

SDP > 16 cm.   =          severe polyhydramnios

     5. หรือนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน

2. Amniotic fluid index (AFI)

  1. แบ่งมดลูกออกเป็น 4 ส่วนโดยใช้ linea nigra และสะดือมารดาเป็นเส้นแบ่ง
  2. ปรับภาพคลื่นเสียงความถี่สูงให้เห็นตำแหน่งของแอ่งน้ำคร่ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของมดลูกแต่ละส่วน
  3. วางหัวตรวจให้ขนานกับ sagittal plane ของมารดาโดยไม่กดหัวตรวจมากจนเกินไป
  4. วัดระยะที่ลึกที่สุดของแอ่งน้ำคร่ำโดยไม่รวมสายสะดือและแขนขาของทารกจนครบทั้ง 4 ส่วน นำมาคำนวณดังนี้

 

AFI          =       Q1 + Q2 + Q3 + Q4

 

5.  นำค่าที่ได้มาแปลผลดังนี้

AFI < 5 cm.      =          oligohydramnios(17)

AFI > 25 cm.    =          polyhydramnios(18)

     6.  หรือนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน

ความถูกต้องแม่นยำ

การวัดปริมาณน้ำคร่ำด้วย single deepest pocket (SDP) และ amniotic fluid index (AFI)เป็นวิธีที่มีความถูกต้องแม่นยำใกล้เคียงกัน โดยมีความไวในการวินิจฉัยภาวะน้ำคร่ำผิดปกติไม่มากนัก แต่จะมีความแม่นยำสูงในการวินิจฉัยภาวะน้ำคร่ำปกติ (83% – 94%)(19) นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้ค่ามาตรฐานในแต่ละอายุครรภ์ (gestational age-specific percentiles) ไม่ได้ทำนายภาวะน้ำคร่ำผิดปกติได้แม่นยำไปกว่าการใช้ค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ (fixed cut-off values) ดังกล่าวข้างต้น

สำหรับในครรภ์แฝดมีการวัดปริมาณน้ำคร่ำได้หลายวิธี เช่นวัด single deepest pocket แยกของแต่ละถุงการตั้งครรภ์(20) วัด AFI ของทั้งมดลูก(21) หรือวัด AFI แยกของแต่ละถุงการตั้งครรภ์(22) โดยมีค่ามาตรฐาน

7. การคำนวณอายุครรภ์

การคำนวณอายุครรภ์จากการวัดสัดส่วนทารกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงจะมีความแม่นยำมากในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ และจะมีความคลาดเคลื่อนสูงมากขึ้นในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ ดังนั้นหากไม่แน่ใจในอายุครรภ์ควรตรวจวัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวัดความยาวของทารกในไตรมาสแรกซึ่งมีความแม่นยำในการคำนวณอายุครรภ์มากที่สุด

การเลือกใช้ตัววัดแต่ละตัวในการคำนวณอายุครรภ์มีความสำคัญ เนื่องจากตัววัดแต่ละตัวมีความถูกต้องแม่นยำในการคำนวณอายุครรภ์แต่ละช่วงแตกต่างกันไป ตัววัดที่มีความแม่นยำและนิยมใช้ในการคำนวณอายุครรภ์ในแต่ละช่วงมีดังต่อไปนี้(23)

  • อายุครรภ์ 7 – 10 สัปดาห์                  CRL
  • อายุครรภ์ 10 – 14 สัปดาห์                CRL, BPD, FL, HL (humerus length)
  • อายุครรภ์ 15 – 28 สัปดาห์                BPD, FL, HL, HC, binocular distance
  • อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป                FL, HL, binocular distance, BPD, HC

 

การคำนวณอายุครรภ์ในไตรมาสที่สองขึ้นไปควรประเมินจากตัววัดหลายตัวจะมีความถูกต้องแม่นยำมากกว่าการประเมินจากตัววัดตัวเดียว แต่ตัววัดแต่ละตัวที่นำมาใช้ร่วมกันนั้นต้องมีความถูกต้องในด้านเทคนิคของการวัดและไม่ถูกกระทบจากความผิดปกติของทารก เช่นการนำค่าเส้นรอบท้องมาใช้ทำนายอายุครรภ์ในกรณีทารกตัวโตผิดปกติหรือมีภาวะโตช้าในครรภ์, การนำค่าความยาวกระดูกต้นขามาใช้คำนวณอายุครรภ์ในกรณีทารกเป็นโรค skeletal dysplasia หรือการนำค่าความกว้างศีรษะทารกและค่าเส้นรอบศีรษะทารกมาใช้คำนวณอายุครรภ์ในกรณีทารกมีภาวะ hydrocephalus จะทำให้การคำนวณอายุครรภ์ผิดพลาดได้

การคำนวณอายุครรภ์จากการวัดสัดส่วนทารกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น หากทราบอายุครรภ์จากการปฏิสนธิแน่นอนควรนับอายุครรภ์ตามนั้นไม่ควรเปลี่ยนแปลงอายุครรภ์ไปตามการวัดสัดส่วนทารกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง และหากเคยได้รับการคำนวณอายุครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงในช่วงแรกของการตั้งครรภ์มาเป็นอย่างดีแล้ว ควรนับอายุครรภ์ตามนั้นไม่ควรเปลี่ยนแปลงอายุครรภ์ไปตามการวัดทางคลี่นเสียงความถี่สูงในครั้งต่อๆ มา เนื่องจากความคลาดเคลื่อนจากเทคนิคการวัดมีมากขึ้นและได้รับผลกระทบจากการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

8. การคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์ (Estimated Fetal Weight; EFW)

การคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์ใช้การวัดสัดส่วนต่างๆ ของทารกมาคำนวณ โดยมีสูตรที่ใช้ตัววัดหลายตัวร่วมกันดังต่อไปนี้

  1. AC
  2. AC, BPD
  3. AC, HC
  4. AC, FL
  5. AC, BPD, FL
  6. AC, HC, BPD, FL

โดยสามารถนำมาคำนวณโดยใช้สูตรที่มีในเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ทั่วไป หรือใช้ตารางค่ามาตรฐานในการเปรียบเทียบ จะเห็นได้ว่าทุกสูตรจะใช้ค่าเส้นรอบท้องเป็นพื้นฐานในการคำนวณร่วมกับตัววัดมาตรฐานอื่นๆ ความแม่นยำในการคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์จึงขึ้นอยู่กับการวัดสัดส่วนทารกที่ถูกต้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งการวัดเส้นรอบท้อง, การวัดความกว้างของศีรษะ และการวัดเส้นรอบศีรษะ จะมีผลอย่างมากในการคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์

การคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์มักจะทำนายน้ำหนักได้มากกว่าความเป็นจริงในกรณีทารกตัวโตกว่าอายุครรภ์ แต่ในกรณีทารกตัวเล็กหรือมีภาวะน้ำคร่ำเดินก่อนกำหนดมักจะทำนายน้ำหนักได้น้อยกว่าความเป็นจริง(24) ปัจจัยหลักที่มีผลต่อความแม่นยำในการทำนายน้ำหนักทารกในครรภ์มีดังต่อไปนี้คือ

  1. ความผิดพลาดในการประเมินอายุครรภ์
  2. ความผิดพลาดในการวัด
  3. ขีดจำกัดในการประเมินความหนาแน่นของเนื้อเยื่อทารก (fetal density) เนื่องจากความหนาแน่นของเนื้อเยื่อทารกนี้จะมีค่าระหว่าง 0.8333 – 1.012 g/ml(25) ทำให้เกิดความผิดพลาดในการทำนายน้ำหนักทารกในครรภ์เนื่องจากความแตกต่างในความหนาแน่นดังกล่าวนี้ได้ถึง 8% – 21%(26)

การคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์ของประชากรไทยพบว่าการใช้สูตรที่ประกอบด้วยค่าเส้นรอบท้องและค่าความกว้างของศีรษะทารกมีความสะดวก และแม่นยำในการทำนายพอๆ กับการใช้ค่าความยาวกระดูกต้นขาร่วมด้วย และไม่มีความแตกต่างกับการใช้สูตรของ Shepard [Log10 EFW = -1.7492 + 0.166(BPD) + 0.046(AC) – 0.002546(BPD)] ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย(27) แต่ขีดจำกัดของสูตรนี้คือ ค่าความกว้างของศีรษะทารกมีความแปรปรวนตามรูปร่างของศีรษะมากกว่าค่าเส้นรอบศีรษะทารก การใช้ค่าเส้นรอบศีรษะทารกแทนจึงน่าจะให้ความถูกต้องแม่นยำมากกว่าดังเช่นสูตรของ Hadlock [Log10 EFW = 1.3596 + 0.0064(HC) + 0.0424(AC) + 0.174(FL) + 0.00061(BPD)(AC) – 0.00386(AC)(FL)] ใช้ค่าเส้นรอบศีรษะทารก, ค่าความยาวกระดูกต้นขา และค่าเส้นรอบท้องทารก ทำให้ลดความคลาดเคลื่อนในการทำนายน้ำหนักทารกในครรภ์จากค่าความกว้างของศีรษะทารกลงได้(28)

เอกสารอ้างอิง

  1. Robinson HP, Fleming JE. A critical evaluation of sonar “crown-rump length” measurements. Br J Obstet Gynaecol 1975; 82: 702-10.
  2. Hadlock FP, Harrist RB, Martinez-Poyer J. How accurate is second trimester fetal dating? J Ultrasound Med 1991; 10: 557-61.
  3. Hadlock FP, Deter RL, Harrist RB, Park SK. Fetal biparietal diameter: rational choice of plane of section for sonographic measurement. AJR Am J Roentgenol 1982; 138: 871-4.
  4. Hadlock FP, Deter RL, Harrist RB, Park SK. Fetal biparietal diameter: a critical re-evaluation of the relation to menstrual age by means of real-time ultrasound. J Ultrasound Med 1982; 1: 97-104.
  5. Benson CB, Doubilet PM. Sonographic prediction of gestational age: accuracy of second- and third-trimester fetal measurements. AJR Am J Roentgenol 1991; 157: 1275-7.
  6. Hadlock FP, Deter RL, Carpenter RJ, Park SK. Estimating fetal age: effect of head shape on BPD. AJR Am J Roentgenol 1981; 137: 83-5.
  7. Jeanty P, Cousaert E, Hobbins JC, Tack B, Bracken M, Cantraine F. A longitudinal study of fetal head biometry. Am J Perinatol 1984; 1: 118-28.
  8. Doubilet PM, Greenes RA. Improved prediction of gestational age from fetal head measurements. AJR Am J Roentgenol 1984; 142: 797-800.
  9. Chitty LS, Altman DG, Henderson A, Campbell S. Charts of fetal size: 2. Head measurements. Br J Obstet Gynaecol 1994; 101: 35-43.
  10. Hadlock FP, Deter RL, Harrist RB, Park SK. Fetal head circumference: relation to menstrual age. AJR Am J Roentgenol 1982; 138: 649-53.
  11. Hadlock FP, Deter RL, Harrist RB, Park SK. Fetal abdominal circumference as a predictor of menstrual age. AJR Am J Roentgenol 1982; 139: 367-70.
  12. Hadlock FP, Harrist RB, Deter RL, Park SK. Fetal femur length as a predictor of menstrual age: sonographically measured. AJR Am J Roentgenol 1982; 138: 875-8.
  13. Jeanty P, Rodesch F, Delbeke D, Dumont JE. Estimation of gestational age from measurements of fetal long bones. J Ultrasound Med 1984; 3: 75-9.
  14. Tongsong T, Wanapirak C, Takapijitr A. Ultrasound fetal femur length in normal pregnant Thai women. Thai J Obstet Gynaecol 1991; 3: 79-83.
  15. Manning FA. Dynamic ultrasound-based fetal assessment: the fetal biophysical profile score. Clin Obstet Gynecol 1995; 38: 26-44.
  16. Hill LM, Breckle R, Thomas ML, Fries JK. Polyhydramnios: ultrasonically detected prevalence and neonatal outcome. Obstet Gynecol 1987; 69: 21-5.
  17. Magann EF, Sanderson M, Martin JN, Chauhan S. The amniotic fluid index, single deepest pocket, and two-diameter pocket in normal human pregnancy. Am J Obstet Gynecol 2000; 182: 1581-8.
  18. Phelan JP, Park YW, Ahn MO, Rutherford SE. Polyhydramnios and perinatal outcome. J Perinatol 1990; 10: 347-50.
  19. Magann EF, Doherty DA, Chauhan SP, Busch FW, Mecacci F, Morrison JC. How well do the amniotic fluid index and single deepest pocket indices (below the 3rd and 5th and above the 95th and 97th percentiles) predict oligohydramnios and hydramnios? Am J Obstet Gynecol 2004; 190: 164-9.
  20. Chau AC, Kjos SL, Kovacs BW. Ultrasonographic measurement of amniotic fluid volume in normal diamniotic twin pregnancies. Am J Obstet Gynecol 1996; 174: 1003-7.
  21. Porter TF, Dildy GA, Blanchard JR, Kochenour NK, Clark SL. Normal values for amniotic fluid index during uncomplicated twin pregnancy. Obstet Gynecol 1996; 87: 699-702.
  22. Hill LM, Krohn M, Lazebnik N, Tush B, Boyles D, Ursiny JJ. The amniotic fluid index in normal twin pregnancies. Am J Obstet Gynecol 2000; 182: 950-4.
  23. Jeanty P. Fetal biometry. 6th ed. Fleischer A, Manning FA, Jeanty P, Romero R, editors. Stamford: McGraw-Hill; 2001.
  24. Ben-Haroush A, Yogev Y, Bar J, Mashiach R, Kaplan B, Hod M, et al. Accuracy of sonographically estimated fetal weight in 840 women with different pregnancy complications prior to induction of labor. Ultrasound Obstet Gynecol 2004; 23: 172-6.
  25. Thompson TR, Manning FA. Estimation of volume and weight of the perinate: relationship to morphometric measurement by ultrasonography. J Ultrasound Med 1983; 2: 113-6.
  26. Manning FA. Intrauterine Growth Retardation-Etiology, Petrophysiology, Diagnosis, and Treatment. Stamford, Conn: Appleton and Lang; 1995.
  27. Tongsong T, Piyamongkol W, Sreshthaputra O. Accuracy of ultrasonic fetal weight estimation: a comparison of three equations employed for estimating fetal weight. J Med Assoc Thai 1994; 77: 373-7.
  28. Hadlock FP, Harrist RB, Sharman RS, Deter RL, Park SK. Estimation of fetal weight with the use of head, body, and femur measurements–a prospective study. Am J Obstet Gynecol 1985; 151: 333-7.