Emergency Contraception
การคุมกำเนิดฉุกเฉิน


 การคุมกำเนิดฉุกเฉิน หมายถึง การป้องกันการตั้งครรภ์ หลังการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้มีการป้องกัน หรือป้องกันแล้วล้มเหลว เช่น ถุงยางอนามัยหลุด ลืมฉีดยาฉีดคุมกำเนิด 1 เป็นต้น

            แม้ว่าโอกาสตั้งครรภ์ของการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาที่ห่างจากระยะไข่ตกมาก จะมีน้อย แต่ก็ยังแนะนำให้ใช้การคุมกำเนิดฉุกเฉินเสมอ ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์อยู่ในช่วงใดก็ตามของรอบประจำเดือน2 ทั้งนี้การคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฮอร์โมนทุกชนิดจะมีประสิทธิภาพสูงสุด หากใช้หลังการมีเพศสัมพันธ์ทันที และประสิทธิภาพจะลดลงเมื่อใช้หลังการมีเพศสัมพันธ์เป็นระยะเวลานานขึ้น อย่างไรก็ตามหากระยะเวลานั้นไม่เกิน 72 ชั่วโมงก็ถือว่ายังอยู่ในช่วงที่มีประสิทธิภาพสูง และมีบางรายงานที่ยืนยันว่าแม้ระยะเวลาเลยไปกว่า 120 ชั่วโมงก็ยังมีประสิทธิภาพค่อนข้างดีอยู่ แต่ส่วนใหญ่จะแนะนำให้เปลี่ยนไปคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัยแทนเพราะมีประสิทธิภาพสูงกว่าในช่วง 72- 120 ชั่วโมง 1

ก่อนการให้คำแนะนำเรื่องการคุมกำเนิดฉุกเฉิน ควรซักประวัติผู้รับบริการโดยละเอียด เช่น ประวัติประจำเดือน การคุมกำเนิด และโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางกรณี ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่าตั้งครรภ์อยู่ก่อน

การคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยยาฮอร์โมน

ยาฮอร์โมนจะยับยั้งการเจริญของฟองไข่ในระยะฟอลลิคูลาร์ ยับยั้งการตกไข่ มีผลต่อการเคลื่อนตัวของตัวอ่อนในท่อนำไข่ อาจทำให้มีการสร้างฮอร์โมนผิดปกติในครึ่งหลังของรอบประจำเดือน (luteal phase dysfunction) และอาจมีผลต่อเยื่อบุโพรงมดลูก จึงป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 1,3-5 โดยอาจมีโอกาสเกิดท้องนอกมดลูกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1

ทั้งนี้แม้ว่ายาฮอร์โมนคุมกำเนิดฉุกเฉินจะมีประสิทธิภาพดี แต่ก็ยังไม่ดีเท่าการคุมกำเนิดมาตรฐาน เช่น รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดทุกวัน ทั้งยังต้องใช้ฮอร์โมนขนาดสูงกว่า ดังนั้นจึงใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น

ดังกล่าวข้างต้นว่าการรับประทานยาที่มีประสิทธิภาพควรรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ แต่หากรับประทานแล้วอาเจียนออกมาภายใน 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยา ให้รับประทานยาใหม่แทนทันที 6 ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคตับรุนแรง และผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการดูดซึมของลำไส้ไม่ควรใช้การคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยฮอร์โมน1

1.  Estrogen ปริมาณสูง

เป็นวิธีที่คิดค้นในช่วงแรก แต่เนื่องจากมีผลข้างเคียงสูง (คลื่นไส้-อาเจียน ปวดศีรษะ คัดตึงเต้านม ประจำเดือนผิดปกติ) จึงไม่นิยมในปัจจุบัน สูตรที่ใช้ในการคุมกำเนิด เช่น

  1. Ethinyl estradiol (EE) 2-5 มก. ต่อวัน นาน 5 วัน มีโอกาสตั้งครรภ์ร้อยละ 0.6- 0.97
  2. Conjugated estrogen 30 มก. ต่อวัน นาน 5 วัน  มีโอกาสตั้งครรภ์ร้อยละ 1.6
  3. Diethylstilbestrol ไม่แนะนำให้ใช้เพราะอาจมีผลต่อการพัฒนาของ มดลูก ท่อนำไข่และช่องคลอดของทารก ในกรณีที่การคุมกำเนิดไม่ได้ผล 8

 2. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

วิธีนี้มักมีผลข้างเคียงที่สำคัญคือ คลื่นไส้-อาเจียน  ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการคุมกำเนิดด้วย จึงแนะนำให้ใช้ยาแก้อาการคลื่นไส้ร่วมด้วย 1

  1. Yuzpe regimen คือการนำยาเม็ดคุมกำเนิดที่ประกอบด้วย ethinyl estradiol (EE) 100 ไมโครกรัม และ dl-norgestrel 1 มก. (หรือยาเม็ดOvral R 2   เม็ด) รับประทานทันที และรับประทานยาขนาดเดียวกันซ้ำในอีก 12 ชั่วโมงต่อมา  วิธีนี้มีโอกาสตั้งครรภ์ร้อยละ 0.4- 3.2 และมีผลข้างเคียงมาก (ร้อยละ 50- 70) 7-10
  2. ยาคุมกำเนิดชนิดที่มี EE 30 ไมโครกรัม และ progestin ชนิดอื่น รับประทานทันที 4 เม็ด และรับประทานยาขนาดเดียวกันซ้ำในอีก 12 ชั่วโมง วิธีนี้มีโอกาสตั้งครรภ์ร้อยละ 2.3- 48-10(มีรายงานว่าผู้ที่ตั้งครรภ์มักจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน จึงรับประทานยาไม่ครบจำนวน) วิธีนี้จึงใช้ทดแทนในกรณีที่ไม่มียา Ovral R

3. Levonorgestrel ปริมาณสูง

เป็นการใช้ levonorgestrel ขนาด 1.5 มก. โดยอาจแบ่งเป็น 0.75 มก.. รับประทาน 2 ครั้งห่างกัน 12 ชั่วโมง หรือรับประทานครั้งเดียว 1.5 มก.11 มีชื่อทางการค้าเช่น Postinor-2 R, Plan B R ,Levonelle-2 R , Levonelle one step R เป็นต้น

การใช้ levonorgestrel มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาสูตร Yuzpe (คลื่นไส้ ร้อยละ15 และมีประจำเดือนผิดปกติ ร้อยละ 30)11 ทั้งยังมีประสิทธิภาพสูงกว่า โดยมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง ร้อยละ 0.4- 1.13,10-13 จึงเป็นที่นิยมมาก นอกจากนี้ไม่พบมีรายงานทารกที่เกิดขึ้นถ้าใช้ levonorgestrel   แล้วล้มเหลวว่ามีความผิดปกติ 14

ทั้งนี้ ในการผลิตยา levonorgestrel จำเป็นต้องใส่สารประกอบอื่นด้วย เช่น lactose ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาการดูดซึม lactose 1

4. RU 486 (Mifepristone)

Mifepristone เป็นยาต้านโปรเจสเตอโรนร่วมกับ มีฤทธิ์ต้านเอสโตรเจนและต้านกลูโคคอร์ติคอยด์ ด้วย เมื่อใช้ยานี้ในสัปดาห์ที่ 2 หลังมีประจำเดือนจึงสามารถยับยั้ง หรือเลื่อนการตกไข่ได้ และหากใช้ยานี้ในช่วงต้นระยะลูเตียล จะทำให้เกิดการพร่องฮอร์โมนในระยะลูเตียล 8,12

การทดลองใช้ Mifepristone 600 มก. เพื่อคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินในหญิง 400 และ 300 คน ไม่พบการตั้งครรภ์เลย (ร้อยละ 0) ทั้งยังมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาสูตร Yuzpe  (คลื่นไส้ประมาณร้อยละ 40) แต่ทำให้ประจำเดือนเลื่อนออกได้มากกว่า 8,12 จึงมีผู้ลองลดขนาดยาลงเป็น 25-50 มก. และพบว่าป้องกันการตั้งครรภ์ได้ผลดีเช่นกัน 13

ปัญหาของการใช้ Mifepristone คือ ราคาแพง และเป็นยาที่ใช้ทำแท้งได้ผลดี จึงมีการควบคุมการใช้ในหลายประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย)

 5. Danazol

Danazol คือ androgenic progestogen  ซึ่งเมื่อใช้ในขนาด 800-1,200 มก. ภายใน 120 ชั่วโมง หลังมีเพศสัมพันธ์ จะมีอัตราการตั้งครรภ์ร้อยละ 0.9- 7.6 ทั้งนี้ เนื่องจากยามีฤทธิ์ androgen ผู้เชี่ยวชาญบางท่านจึงเกรงว่ายาจะมีผลต่อพัฒนาการทางเพศของทารกที่เกิดขึ้นหลังการล้มเหลวของ danazol 8 แต่ในทางทฤษฎี การให้ยาเพียงระยะสั้นในช่วงที่ยังไม่มีพัฒนาการทางเพศของตัวอ่อน ไม่น่าจะมีผลกระทบ อย่างไรก็ตามไม่นิยมใช้ danazol เพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉินเนื่องจาก ประสิทธิภาพไม่ดีนักและราคาแพง

การคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยห่วงอนามัย

ห่วงที่ใช้ในการคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นห่วงชนิดทองแดง มีกลไกป้องกันการตั้งครรภ์ โดย ป้องกันการปฏิสนธิ จากการที่มีทองแดงซึ่งเป็นพิษต่ออสุจิและไข่ มีผลต่อมูกปากมดลูก และทำให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบของเยื่อบุโพรงมดลูกจึงไม่เอื้อต่อการฝังตัว1 ทั้งนี้มีรายงานว่าตัวอ่อนจะฝังตัวในโพรงมดลูกหลังการปฏิสนธิ 5- 7 วัน (ในบางกรณีอาจช้าถึง 12 วัน) 15,16 การใช้ห่วงในกรณีฉุกเฉินจึงยังมีประสิทธิภาพดีหลังการมีเพศสัมพันธ์ถึง 120 ชั่วโมง โดยมีอัตราการตั้งครรภ์เพียง ร้อยละ 0.1-11,5,8 นอกจากนี้ห่วงอนามัยยังสามารถใช้ต่อเนื่องเป็นการคุมกำเนิดระยะยาวและ สามารถใช้ในหญิงที่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมน

ผลข้างเคียงของการใช้ห่วงอนามัยคือ อาจมีเลือดออกผิดปกติและปวดท้องน้อย

สำหรับห่วงอนามัยชนิดใหม่ที่มีการบรรจุฮอร์โมน levonorgestrel เข้าไปในห่วง (ชื่อการค้า Mirena R )ไม่แนะนำให้ใช้เพื่อคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยรองรับ และในทางทฤษฎีพบว่า นอกจากห่วงจะไม่มีพิษของทองแดงในมดลูกแล้ว ยังมีระดับฮอร์โมนน้อยจนไม่น่าจะใช้ได้ผลดีในการคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน 17,18

อย่างไรก็ตาม ห่วงอนามัยมีข้อห้ามในหญิงที่กำลังมีโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ แต่ หญิงอายุน้อยหรือไม่เคยมีบุตรแม้จะใส่ห่วงอนามัยได้ยาก ก็ไม่เป็นข้อห้ามในการใช้ห่วงอนามัย

การติดตามหลังคุมกำเนิดฉุกเฉิน

ผู้รับบริการอาจมีประจำเดือนผิดปกติ หรือเว้นระยะห่าง เพราะความเครียดและผลจากฮอร์โมนที่ได้รับ อย่างไรก็ตามแนะนำให้ตรวจปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์หากประจำเดือนเว้นห่างนานกว่าวันที่คาดไว้ 7 วัน1

เอกสารอ้างอิง

  1. Black KI. Developments and challenges in emergency contraception. Best Pract Res Clin Obstet Gyneacol 2009; 23: 221-31.
  2. Espinos JJ, Rodriquez-Espinosa J, Senosiain R, Aura M, Vanrell C, Gispert M, Vega C, et al. The role of matching menstrual data with hormonal measurements in evaluating effectiveness of postcoital contraception 1999:60:243-7.
  3. Fontenot HB, Harris AL. The latest advances in hormonal contraception. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2008;37:369-74.
  4.  Baird DT. Emergency contraception: how does it work? Reprod Biomed Online 2009;18(S1): 32-6.
  5. Brunton J, Beal MW. Current issues in emergency contraception: An overview for providers. Jour Midwifery  Womens Health 2006;51:457-68.
  6. Faculty of  Family Planning and Reproductive Health Care. FFPRHC guidance emergency contraception. J Family Plann Reprod Health Care 2006;29:9-15.
  7. van Santen MR, Haspels AA. A comparison of high-dose estrogens versus low-dose ethinyl estradiol and norgesttrel combination in post coital interception: a study in 493 women. Fertil Steril 1985;43:206-13.
  8. Derman SG, Peralta LM. Postcoital contraception: present and future options. J Adolesc Health 1995;16:6-11.
  9. Ellertson C, Webb A, Blanchard K, Bigrigg A, Haskell S, Shochet T, Trussell J. Modifying the Yuzpe regimen of emergence contraception: a multicenter randomized controlled trial. Obstet Gynecol 2003;101:1160-7.
  10. Levonorgestrel: new preparation. Emergency contraceptive. Prescrire Int 2000;9:202-4.
  11. von Hertzen H, Piaggia G, Ding J et al. Low dose mifepristone and two regimens of levonorgestrel for emergency contraception: a WHO multicentre randomized trial. Lancet 2002:360:1803-10.
  12. Haspels AA. Emergency contraception: a review. Contraception 1994;50:101-8.
  13. Cheng L, Gulmezoglu AM, Piaggio G, Ezcurra E, Van Look PF. Interventions for emergency contraception. Cochrane Database Syst Rev 2008; 16: CD001324.
  14. Zhang L, Chen J, Wang Y, Ren F, Yu W, Cheng L. Pregnancy outcome after levonorgestrel- only emergence contraception failure: a prospective cohort study Hum Reprod 2009;24:1605-11.
  15. Navot D, Scott RT, Droesch K, Veeck LL, Liu HC, Rosenwaks Z. The window of embryo transfer and the efficiency of human conception in vitro. Fertil Steril 1991; 55:114-8.
  16. Wilcox AJ, Baird DD, Weinberg CR. Time of implantation of the coneptus and loss of pregnancy. New Engl J Med 1999;340:1796-9.
  17. ESHRE Capri Workshop Group. Intrauterine devices and intrauterine systems. Hum Reprod Update 2008;14:197-208.
  18. Jensen JT. Contraceptive and therapeutic effects of the levonorgestrel intrauterine system: an overview.Obstet Gynecol Surv 2005;60:604-12.