Non-Obstetric Vulvar & Vagina Hematoma
ก้อนเลือดคั่งบริเวณปากช่องคลอด และ ช่องคลอด ทีไม่ได้มีสาเหตุจากการคลอด


สาเหตุ

ก้อนเลือดคั่ง (hematoma)  บริเวณ ปากช่องคลอด และ ช่องคลอด อาจเกิดจากการคลอด แต่ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับการคลอด มักเกิดจากการกระทบกระแทกบริเวณนี้ เช่นจากการขี่จักรยาน ขี่ม้า หรือเล่นสกี สเกต การตกลงมาจากที่สูง หรืออุบัติเหตุทางรถยนต์ อย่างไรก็ตามก้อนเลือดครั่งนี้อาจจะเกิดจากการแตกของ เส้นเลือดดำขอด (varicose vein) บริเวณนี้ โดยเฉพาะช่วงตั้งครรภ์แก่ หรือ หลังคลอด และ อาจจะเกิดจากการถูกทารุณกรรมทางเพศก็ได้ 1,2  นอกจากนี้ยังมีรายงานเกิดจากการแตกของหลอดเลือดโป่งพอง (aneurysm) บริเวณ hypogastric artery 3

อาการ และ อาการแสดง

ผู้ป่วยจะอาการปวดบริเวณทีมีก้อนเลือดคั่งชัดเจน และถ้าเป็นในช่องคลอดผู้ป่วยจะบอกว่ารู้สึกปวดถ่วงในช่องคลอด อาจจะมีปัญหาปัสสาวะ หรือ อุจจาระลำบาก 1

การวินิจฉัย  1

ถ้าผู้ป่วยมีประวัติได้รับบาดเจ็บรุนแรงบริเวณนี้ต้องตรวจดูก่อนว่ามีกระดูกเชิงกรานหักหรือไม่  และถ้ามีการแทงบริเวณนี้ต้องตรวจดูว่ามีการฉีกขาดของกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ หรือ เยื่อบุช่องท้อง โดยถ้าได้ประวัติปัสสาวะเป็นเลือด ควรตรวจพิเศษโดยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ร่วมกับทำ voiding cystourethrogram ก่อนใส่สายสวนปัสสาวะ(Foley catheter) และอาจต้องส่องกล้องตรวจดูภายในกระเพาะปัสสาวะว่ามีรอยฉีกขาดหรือไม่ ถ้ามีต้องผ่าตัดเข้าไปเย็บซ่อมก่อน

การตรวจภายในควรทำหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยาบรรเทาปวด หรือ ถ้าจำเป็นต้องวางยาสลบก่อน การตรวจต้องดู ตำแหน่ง และ ขนาดของก้อนเลือดคั่ง ให้ทำการตรวจภายใน และ ก้น (rectovaginal examination) เพื่อประเมินบริเวณอุ้งเชิงกรานด้วย ถ้าเป็นในเด็ก การตรวจควรใช้วิธีให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ และ โก่งก้น (frog-leg position) หรือ นอนหงายแล้วยกเข่าชนหน้าอก (knee to chest position)  การประเมินในช่องคลอดอาจใช้น้ำเกลือสวนล้าง ซึ่งจะเป็นการเอาสิ่งแปลกปลอมออกมาด้วย

การรักษา  1,3

การรักษาโดยทั่วไปถ้าขนาดของก้อนเลือดคั่งไม่ใหญ่ มักไม่ต้องทำอะไรเพียงแต่รักษาตามอาการและใช้น้ำแข็งกดทับ  ให้ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ถ้าผู้ป่วยปัสสาวะเองไม่ได้ ต้องใส่สายสวนปัสสาวะไว้ โดยมีการศึกษาพบว่าการรักษาตามอาการ ได้ผลดีกว่าการรักษาโดยวิธีผ่าตัดเข้าไปเอาก้อนเลือดคั่งออก (5) แต่ถ้ามีขนาดเกิน 10 ซม และโตเร็ว ต้องสงสัยว่าอาจจะมีหลอดเลือดแดงฉีกขาดด้วย จึงอาจต้องค่อยสำรวจก้อนเลือดคั่ง หาจุดเลือดออก แล้วผูก   ถ้าไม่เห็นอาจใช้วิธีการทำ embolization 6

เอกสารอ้างอิง

  1. McWilliams GD, Hill MJ, Dietrich CS 3rd. Gynecologic emergencies. Surg Clin North Am 2008;88:265-83.
  2. Jana N, Santra D, Das D, Das AK, Dasgupta S. Nonobstetric lower genital tract injuries in rural India. Int J Gynaecol Obstet 2008;103:26-9.
  3. Egan E, Dundee P, Lawrentschuk N. Vulvar hematoma secondary to spontaneous rupture of the internal iliac artery: clinical review.  Am J Obstet Gynecol 2009 ;200:e17-8.
  4. Gianini GD, Method MW, Christman JE. Traumatic vulvar hematomas. Assessing and treating nonobstetric patients. Postgrad Med 1991 ;89:115-8.
  5. Propst AM, Thorp JM Jr. Traumatic vulvar hematomas: conservative versus surgical management. South Med J 1998;91:144-6.
  6. Kunishima K, Takao H, Kato N, Inoh S, Ohtomo K. Transarterial embolization of a nonpuerperal traumatic vulvar hematoma. Radiat Med 2008;26:168-70.