การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดเพื่อรักษาสตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน

การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด (sacrocolpopexy) เพื่อรักษาสตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน

ผศ. นพ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร


  1. การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด คืออะไร?
  2. มีอะไรเกิดขึ้นกับผู้ป่วยบ้าง ขณะได้รับการผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด?
  3. การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดมีผลสำเร็จอย่างไร?
  4. ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง?
  5. ก่อนการผ่าตัดควรเตรียมตัวอย่างไร?
  6. การพักฟื้นของผู้ป่วยหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร?

อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนหรือยื่นย้อยเป็นภาวะที่พบบ่อย อันก่อให้เกิดอาการ ได้แก่ ความรู้สึกถ่วงหรือหน่วงลงมาในช่องคลอด และขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก ตลอดจนมีอาการปวดหลัง พบว่าประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องรับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะมดลูกหรือช่องคลอดยื่นย้อย

การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด คืออะไร?

การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด คือ การผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะช่องคลอดส่วนบนยื่นย้อยในผู้ป่วยสตรีที่เคยได้รับการผ่าตัดมดลูกมาก่อน รูปที่ 1 และ 2 การผ่าตัดนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ช่องคลอดกลับมามีกายวิภาคปกติและยังสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อีกต่อไป นอกจากนี้ มีการผ่าตัดที่คล้ายคลึงกันซึ่งทำในผู้ป่วยที่มีช่องคลอดหย่อนแต่ยังมีมดลูกอยู่ และไม่ต้องการตัดมดลูกทิ้ง เรียกว่า การผ่าตัดเย็บแขวนมดลูก (sacrohysteropexy)

รูปที่ 1 แสดงกายวิภาคปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของสตรีที่เคยผ่าตัดมดลูก

รูปที่ 2 แสดงภาวะช่องคลอดหย่อนในสตรีที่ได้เคยผ่าตัดมดลูก

มีอะไรเกิดขึ้นกับผู้ป่วยบ้างขณะได้รับการผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด?

ผู้ป่วยจะได้การระงับความรู้สึกโดยวิสัญญีแพทย์เหมือนเช่นการผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดสามารถกระทำได้ผ่านทางแผลเปิดหน้าท้องขนาดใหญ่ หรือผ่านแผลเล็กๆบริเวณหน้าท้องโดยใช้กล้องส่องช่องท้อง หรือใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ในขั้นแรกแพทย์จะผ่าตัดเลาะช่องคลอดให้แยกออกจากกระเพาะปัสสาวะทางด้านหน้า และไส้ตรงทางด้านหลัง แล้วใช้วัสดุปลูกถ่ายที่เป็นตาข่ายซึ่งทำจากใยสังเคราะห์ มาคลุมและเย็บยึดไว้กับผนังช่องคลอดทั้งบริเวณด้านหน้าและด้านหลัง จากนั้น จึงเย็บปลายอีกด้านของตาข่ายไปยึดกับเนื้อเยื่อด้านหน้าของกระดูกใต้กระเบนเหน็บ เพื่อแขวนช่องคลอดไว้ รูปที่ 3 แล้วเย็บเยื่อบุช่องท้องคลุมปิดตาข่ายทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้ลำไส้เข้าไปติดกับผิวตาข่ายนี้ การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดนี้สามารถทำไปพร้อมๆกับการผ่าตัดอื่นๆ ได้แก่ การผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงหรือซ่อมเสริมกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ยื่นย้อย

รูปที่ 3 แสดงการผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดหรือแขวนมดลูกยึดกับกระดูกใต้กระเบนเหน็บ
(แสดงตำแหน่งมดลูกดังเส้นประ)

การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดมีผลสำเร็จอย่างไร?

การศึกษาพบว่าร้อยละ 80-90 ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแขวนช่องคลอดนี้หายจากภาวะยื่นย้อย หลังการผ่าตัดมีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะเกิดการยื่นย้อยของช่องคลอดบริเวณอื่นๆ เช่น ผนังช่องคลอดด้านหน้าที่พยุงกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งหากเกิดขึ้นอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดต่อไปเพื่อแก้ไขต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด ไม่ว่าจะผ่าตัดผ่านทางแผลเปิดหน้าท้องหรือผ่านกล้อง ได้แก่

  • อาการปวด (เกิดขึ้นทั่วไป หรือขณะร่วมเพศ) พบได้ร้อยละ 2-3
  • การโผล่ของตาข่ายในช่องคลอด พบได้ร้อยละ 2-3
  • การบาดเจ็บของกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ หรือท่อไต พบได้ร้อยละ 1-2

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงโดยทั่วไปของการผ่าตัด ได้แก่ แผลติดเชื้อ การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ การเสียเลือดซึ่งอาจจำเป็นต้องให้เลือด และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ แพทย์ผู้ผ่าตัดและวิสัญญีแพทย์จะอภิปรายถึงความเสี่ยงใดๆที่อาจมีเพิ่มเติมซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวคุณก่อนการผ่าตัด

ก่อนการผ่าตัดควรเตรียมตัวอย่างไร?

ยาบางชนิดเช่น แอสไพริน ที่คุณอาจรับประทานเป็นประจำมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด และอาจจำเป็นต้องหยุดก่อนการผ่าตัด (ภายใต้การแนะนำของแพทย์) แพทย์บางท่านอาจแนะนำให้มีการเตรียมลำไส้ก่อนการผ่าตัด ซึ่งแพทย์ที่ดูแลคุณจะเป็นผู้สั่งการรักษานี้แก่คุณ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องงดรับประทานอาหารและดื่มน้ำเป็นเวลา 6 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด

การพักฟื้นของผู้ป่วยหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยจะได้รับการนอนพักในโรงพยาบาลอยู่ในช่วงระหว่าง 2-5 วัน ขึ้นกับว่าคุณได้รับการผ่าตัดผ่านทางแผลเปิดหน้าท้องหรือผ่านกล้อง ในระยะ 6 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัดคุณควรหลีกเลี่ยงการทำงานบ้านที่หนักหรือออกแรงยกของ เช่น หิ้วถุงหรือตะกร้าใส่ของจ่ายตลาด ยกตะกร้าใส่เสื้อผ้า ลากเครื่องดูดฝุ่น เป็นต้น หลังผ่าตัดการเดินช้าๆเป็นการออกกำลังกายที่ดี ควรเริ่มต้นเดินช้าๆประมาณ 10 นาทีต่อวัน เมื่อคุณรู้สึกว่าร่างกายคุณพร้อมแล้วจึงค่อยๆเพิ่มเวลาให้นานขึ้น ในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแบบฟิตเนส หรือแอโรบิก เป็นต้น รวมถึงการว่ายน้ำ แช่ในอ่างสปา และการร่วมเพศ โดยทั่วไปควรหยุดงานเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ และอาจนานกว่านี้ถ้างานของคุณอยู่ในประเภทที่ใช้กำลังกาย

ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

20 กรกฎาคม 2556

แก้ไขปรับปรุง 18 เมษายน 2557

เอกสารอ้างอิง

International Urogynecological Association (IUGA). Sacrocolpopexy. 2011.

Read More

การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูก ในสตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน

การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูก ในสตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน

โดย ผศ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร


  1. การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูกคืออะไร?
  2. ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?
  3. หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?
  4. การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร?
  5. มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง?
  6. เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ?

การยื่นย้อยของช่องคลอดหรือมดลูกเป็นภาวะที่พบบ่อย พบว่าร้อยละ 11 ของสตรีจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะนี้ตลอดช่วงวัยของชีวิต การยื่นย้อยดังกล่าวอาจเป็นผลจากความเสียหายของเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่พยุงมดลูกและช่องคลอดซึ่งเกิดขึ้นในขณะคลอด

อาการของการยื่นย้อยนี้ได้แก่ มีก้อนนูนออกหรือรู้สึกตึงแน่นในช่องคลอด หรือมีก้อนยื่นพ้นปากช่องคลอดออกมาด้านนอก รูปที่ 1 และ 2 อาจทำให้มีรู้สึกถ่วงๆหรือหน่วงๆลงมาในช่องคลอด หรือปวดหลังส่วนล่าง และขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก ในผู้ป่วยบางคนอาจรบกวนการมีเพศสัมพันธ์เล็กน้อยไปจนขัดขวางการมีเพศสัมพันธ์

รูปที่ 1 การยื่นย้อยของมดลูก

รูปที่ 2 การยื่นย้อยของช่องคลอดส่วนยอด (หลังผ่าตัดมดลูก)

การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูกคืออะไร?

การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูกเป็นการผ่าตัดเพื่อทำให้การพยุงของมดลูกหรือช่องคลอดส่วนบน (ส่วนยอดของช่องคลอดของผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดมดลูก) กลับคืนเป็นปกติ

เอ็นยึดมดลูก (uterosacral ligament) คือ โครงสร้างของร่างกายซึ่งแข็งแรงและทำหน้าที่พยุงมดลูกไว้ โดยยึดปากมดลูกไว้กับกระดูกใต้กระเบนเหน็บ (อยู่ที่บริเวณปลายล่างของกระดูกสันหลัง) หากเอ็นยึดมดลูกนี้อ่อนแอและยืดออก จะส่งผลให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนและยื่นย้อยลงมา

การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูก กระทำโดยการเย็บเอ็นยึดมดลูกนี้ให้กลับไปติดกับส่วนยอดหรือส่วนบนสุดของช่องคลอด ผลจึงเป็นการแขวนหรือพยุงช่องคลอดส่วนยอดให้กลับคืนสู่กายวิภาคปกติ รูปที่ 3 การผ่าตัดนี้สามารถทำได้ผ่านทางช่องคลอด ผ่านทางแผลเปิดหน้าท้อง หรือผ่านกล้องส่องช่องท้อง (ผ่านแผลเล็กๆที่หน้าท้อง) แพทย์จะอภิปรายกับคุณถึงทางเลือกเหล่านี้ที่เหมาะสมกับคุณ บางครั้งการผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูกอาจทำร่วมกับการผ่าตัดมดลูกในคราวเดียวกัน เพื่อลดความเสี่ยงของการยื่นย้อยในอนาคต และสามารถทำผ่าตัดนี้ร่วมกับหัตถการอื่นๆที่ใช้แก้ไขภาวะยื่นย้อยหรือภาวะปัสสาวะเล็ดราดได้เช่นกัน

รูปที่ 3 การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูก

ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?

คุณจะได้รับการซักประวัติถามถึงสุขภาพทั่วไปและยาที่รับประทานเป็นประจำ รวมทั้งการสืบค้นต่างๆที่จะจำเป็น ตัวอย่างเช่น การตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเอ็กซเรย์ทรวงอก นอกจากนั้น คุณจะได้รับสารสนเทศเกี่ยวกับการรับเข้าโรงพยาบาล การพักในโรงพยาบาล การผ่าตัด การดูแลก่อนและหลังผ่าตัด

หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?

เมื่อคุณตื่นฟื้นจากยาระงับความรู้สึก คุณจะได้รับการให้สารน้ำหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ และอาจใส่สายสวนปัสสาวะ แพทย์อาจใส่ผ้ากอซไว้ในช่องคลอดเพื่อช่วยกดห้ามเลือดออกในเนื้อเยื่อ ซึ่งทั้งผ้ากอซและสายสวนปัสสาวะจะได้รับการถอดออกภายในเวลา 24-48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด

ในช่วง 4 – 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด อาจมีตกขาวเป็นสีขาวอมเหลืองคล้ายครีมได้เป็นปกติ เกิดขึ้นได้เพราะว่ามีวัสดุเย็บแผลในช่องคลอด โดยตกขาวนี้จะมีปริมาณลดลงไปเรื่อยๆและหายไปในที่สุดเมื่อวัสดุเย็บถูกดูดซึมหายไป หากตกขาวของคุณมีกลิ่นเหม็นผิดปกติให้กลับมาพบแพทย์ นอกจากนี้ คุณอาจมีตกขาวปนเลือดเล็กน้อยหลังผ่าตัดทันที หรือเริ่มเกิดขึ้นหลังผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์ เลือดที่เห็นมักมีลักษณะจางๆและมีสีน้ำตาลแบบเลือดเก่าๆ ซึ่งเป็นผลจากการสลายตัวของลิ่มเลือดที่ค้างอยู่ใต้ผิวช่องคลอดไหลปนตกขาวออกมาซึ่งจะหยุดได้เอง

การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร?

กล่าวโดยทั่วไปผลการผ่าตัดมีอัตราสำเร็จอยู่ที่ร้อยละ 80-90 แต่มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำในอนาคต หรือมีช่องคลอดด้านอื่นยื่นย้อยเกิดขึ้นใหม่ซึ่งคุณอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขอีกต่อไป

มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง?

การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูกนั้นย่อมมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกชนิดที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้เสมอ ต่อไปนี้คือภาวะแทรกซ้อนทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นตามหลังการผ่าตัดใดๆก็ตาม

  • ปัญหาทางวิสัญญี ซึ่งพบน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากเครื่องดมยาสลบ ยาที่ใช้ในการระงับความรู้สึกและเครื่องมือที่ใช้เฝ้าสังเกตผู้ป่วยมีความทันสมัยขึ้นกว่าในอดีต การผ่าตัดสามารถทำได้ภายใต้การระงับความรู้สึกเฉพาะที่หรือการดมยาสลบทั่วไป วิสัญญีแพทย์ผู้ดูแลจะอภิปรายถึงวิธีที่เหมาะสมที่สุดกับคุณ
  • เลือดออกหรือมีก้อนเลือดขัง ภาวะเลือดออกที่รุนแรงและจำเป็นต้องได้รับเลือดนั้นพบน้อยหลังการผ่าตัดทางช่องคลอดทั่วไป การมีก้อนเลือดขัง คือ การมีเลือดออกและสะสมรอบๆบริเวณที่ผ่าตัดจนเป็นก้อนขึ้น ซึ่งมักระบายออกได้เอง แต่อาจเกิดการติดเชื้อขึ้นได้และจำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหรือเจาะเพื่อระบาย
  • การติดเชื้อหลังผ่าตัด แม้ว่าจะให้ยาปฏิชีวนะก่อนผ่าตัดและพยายามทุกวิถีทางที่จะให้การผ่าตัดปลอดเชื้ออย่างที่สุด แต่มีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดการติดเชื้อในช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานอยู่บ้าง อาการของการติดเชื้อได้แก่ ตกขาวมีกลิ่นเหม็นออกทางช่องคลอด ไข้และปวดในอุ้งเชิงกรานหรือไม่สบายในช่องท้อง หากคุณรู้สึกไม่ปกติให้กลับมาพบแพทย์
  • การติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ) เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 6 ของผู้ป่วยหลังผ่าตัดและพบบ่อยยิ่งขึ้นในผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะ อาการที่พบได้แก่ อาการปัสสาวะแสบหรือเจ็บเหมือนเข็มตำ ปัสสาวะบ่อยและบางครั้งน้ำปัสสาวะมีเลือดปนได้ โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ง่ายด้วยยาปฏิชีวนะ
  • ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดของขา/ปอด เป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด คุณอาจได้รับการพันขาหรือใส่ถุงน่องรัดขาเพื่อลดความเสี่ยงนี้ และในบางคนอาจได้รับการยาฉีดร่วมด้วย อย่างไรก็ดี ภาวะแทรกซ้อนนี้พบน้อยมากในผู้ป่วยชาวไทยเมื่อเทียบกับชาติตะวันตก

ต่อไปนี้คือภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับการผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูก

  • การบาดเจ็บต่อท่อไต เกิดขึ้นได้ร้อยละ 1-10 ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูก ฉะนั้นขณะทำการผ่าตัดแพทย์จึงต้องส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ เพื่อตรวจสอบว่าท่อไตยังทำงานเป็นปกติ บางครั้งเมื่อเกิดการบาดเจ็บของท่อไต อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดต่อไปในภายหลังขึ้นกับชนิดของการบาดเจ็บนั้น
  • ปวดบริเวณก้น เป็นปัญหาระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งสามารถแก้ไขด้วยการให้ยาระงับปวด
  • ท้องผูก เป็นปัญหาระยะสั้นที่พบบ่อย และแพทย์อาจสั่งยาระบายเพื่อรักษา ให้พยายามรับประทานอาหารที่มีเส้นใยและดื่มน้ำปริมาณมากจะช่วยให้อาการดีขึ้น
  • เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีชีวิตทางเพศดีขึ้นหลังจากรักษาภาวะยื่นย้อย แต่บางคนอาจมีอาการเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์เนื่องจากแผลเป็นบริเวณช่องคลอดส่วนบนได้แต่เกิดขึ้นน้อยมาก

เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ?

ภายในระยะเวลา 1 เดือนหลังผ่าตัด คุณควรจะสามารถขับขี่และทำกิจกรรมเบาๆ เช่น การเดินเป็นระยะทางสั้นๆ ได้เป็นอย่างดี คุณควรหลีกเลี่ยงการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากและการเล่นกีฬาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์เพื่อให้แผลหายสนิทก่อน โดยทั่วไปแนะนำให้วางแผนหยุดงานนาน 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้แนะนำเรื่องนี้แก่คุณขึ้นกับประเภทของงานและชนิดของการผ่าตัดที่คุณได้รับ

คุณควรรอเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ก่อนที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ สตรีบางคนอาจจำเป็นต้องใช้สารหล่อลื่นช่วยขณะมีเพศสัมพันธ์ สารหล่อลื่นนี้สามารถซื้อหาได้ตามร้านขายยาหรือซุปเปอร์มาร์เกตทั่วไป แพทย์อาจแนะนำให้คุณใช้ยาครีมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนทาเป็นระยะเวลาหนึ่งหรือใช้ห่วงพยุงในช่องคลอด

หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาอ่านบทความเรื่อง “สตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนหรือยื่นย้อย”, “ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง”

ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
30 สิงหาคม 2556

แก้ไขปรับปรุง 18 เมษายน 2557

เอกสารอ้างอิง

International Urogynecological Association (IUGA). Uterosacral Ligament Suspension: A Guide for You. 2012.

Read More

การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูกหรือกล้ามเนื้อ

การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูกหรือกล้ามเนื้อ

โดย ผศ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร


  1. การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูกหรือกล้ามเนื้อคืออะไร?
  2. ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?
  3. หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?
  4. การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร?
  5. มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง?
  6. เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ?

การยื่นย้อยของช่องคลอดหรือมดลูกเป็นภาวะที่พบบ่อย พบว่าร้อยละ 11 ของสตรีจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะนี้ตลอดช่วงวัยของชีวิต การยื่นย้อยดังกล่าวมักเกิดจากความเสียหายของเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่พยุงมดลูกและช่องคลอดซึ่งเกิดขึ้นในขณะคลอด

อาการของการยื่นย้อยนี้ได้แก่ มีก้อนนูนออกหรือรู้สึกตึงแน่นในช่องคลอด หรือมีก้อนยื่นพ้นปากช่องคลอดออกมาด้านนอก รูปที่ 1 และ 2 อาจทำให้มีรู้สึกถ่วงๆหรือหน่วงๆลงมาในช่องคลอด หรือปวดหลังส่วนล่าง และขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก ในผู้ป่วยบางคนอาจรบกวนการมีเพศสัมพันธ์เล็กน้อยไปจนขัดขวางการมีเพศสัมพันธ์

รูปที่ 1 การยื่นย้อยของมดลูก

รูปที่ 2 ช่องคลอดส่วนยอด (หลังผ่าตัดมดลูก)หย่อนร่วมกับภาวะยื่นย้อยของกระเพาะปัสสาวะและไส้ตรง

การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูกหรือกล้ามเนื้อคืออะไร?

การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูก

เป็นการผ่าตัดเพื่อทำให้การพยุงของมดลูกหรือช่องคลอดส่วนบน (ส่วนยอดของช่องคลอดของผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดมดลูก) กลับคืนเป็นปกติ โดยผ่าตัดผ่านทางช่องคลอดเข้าไปเพื่อเย็บปากมดลูกหรือช่องคลอดส่วนยอดเข้ากับเอ็นยึดกระดูกที่แข็งแรง ซึ่งมีชื่อว่า sacrospinous ligament ซึ่งอาจทำข้างเดียวหรือสองข้าง รูปที่ 3 และ 4 โดยใช้วัสดุเย็บที่คงอยู่ถาวร หรือค่อยๆถูกดูดซึมเมื่อเวลาผ่านไปก็ได้ เพราะในที่สุดจะถูกแทนที่ด้วยเนื้อเยื่อแผลเป็น (scar) ซึ่งทำหน้าที่พยุงช่องคลอดหรือมดลูกต่อไป การผ่าตัดนี้มักทำร่วมกับการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด และ/หรือผ่าตัดอื่นๆเพื่อแก้ไขภาวะยื่นย้อยของกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ หรือแก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ดราด

รูปที่ 3 การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดส่วนยอดกับเอ็นยึดกระดูกข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง

รูปที่ 4 การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดส่วนยอดและมดลูกกับเอ็นยึดกระดูกข้างขวา

การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน

เป็นการผ่าตัดคล้ายคลึงกับการผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูก แต่เย็บแขวนช่องคลอดส่วนยอดหรือปากมดลูกกับเยื่อพังผืดที่คลุมกล้ามเนื้อชื่อว่า ileococcygeus แทนเอ็นยึดกระดูก รูปที่ 5 ผลสำเร็จของการผ่าตัดและภาวะแทรกซ้อนเฉกเช่นเดียวกับการผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูก

รูปที่ 5 การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดส่วนยอดกับกล้ามเนื้อทั้งสองข้าง

ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?

คุณจะได้รับการซักประวัติถามถึงสุขภาพทั่วไปและยาที่รับประทานเป็นประจำ รวมทั้งการสืบค้นต่างๆที่จะจำเป็น ตัวอย่างเช่น การตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเอ็กซเรย์ทรวงอก นอกจากนั้น คุณจะได้รับสารสนเทศเกี่ยวกับการรับเข้าโรงพยาบาล การพักในโรงพยาบาล การผ่าตัด การดูแลก่อนและหลังผ่าตัด

หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?

เมื่อคุณตื่นฟื้นจากยาระงับความรู้สึก คุณจะได้รับการให้สารน้ำหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ และอาจใส่สายสวนปัสสาวะ แพทย์อาจใส่ผ้ากอซไว้ในช่องคลอดเพื่อช่วยกดห้ามเลือดออกในเนื้อเยื่อ ซึ่งทั้งผ้ากอซและสายสวนปัสสาวะจะได้รับการถอดออกภายในเวลา 24-48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด

ในช่วง 4 – 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด อาจมีตกขาวเป็นสีขาวอมเหลืองคล้ายครีมได้เป็นปกติ เกิดขึ้นได้เพราะว่ามีวัสดุเย็บแผลในช่องคลอด โดยตกขาวนี้จะมีปริมาณลดลงไปเรื่อยๆและหายไปในที่สุดเมื่อวัสดุเย็บถูกดูดซึมหายไป หากตกขาวของคุณมีกลิ่นเหม็นผิดปกติให้กลับมาพบแพทย์ นอกจากนี้ คุณอาจมีตกขาวปนเลือดเล็กน้อยหลังผ่าตัดทันที หรือเริ่มเกิดขึ้นหลังผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์ เลือดที่เห็นมักมีลักษณะจางๆและมีสีน้ำตาลแบบเลือดเก่าๆ ซึ่งเป็นผลจากการสลายตัวของลิ่มเลือดที่ค้างอยู่ใต้ผิวช่องคลอดไหลปนตกขาวออกมาซึ่งจะหยุดได้เอง

การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร?

กล่าวโดยทั่วไปผลการผ่าตัดมีอัตราสำเร็จอยู่ที่ร้อยละ 80-90 แต่มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำในอนาคต หรือมีช่องคลอดด้านอื่นยื่นย้อยเกิดขึ้นใหม่ซึ่งคุณอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขอีกต่อไป

มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง?

การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูกนั้นย่อมมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกชนิดที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้เสมอ ต่อไปนี้คือภาวะแทรกซ้อนทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นตามหลังการผ่าตัดใดๆก็ตาม

  • ปัญหาทางวิสัญญี ซึ่งพบน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากเครื่องดมยาสลบ ยาที่ใช้ในการระงับความรู้สึกและเครื่องมือที่ใช้เฝ้าสังเกตผู้ป่วยมีความทันสมัยขึ้นกว่าในอดีต การผ่าตัดสามารถทำได้ภายใต้การระงับความรู้สึกเฉพาะที่หรือการดมยาสลบทั่วไป วิสัญญีแพทย์ผู้ดูแลจะอภิปรายถึงวิธีที่เหมาะสมที่สุดกับคุณ
  • เลือดออก ภาวะเลือดออกที่รุนแรงและจำเป็นต้องได้รับเลือดนั้นพบน้อยหลังการผ่าตัดทางช่องคลอดทั่วไป
  • การติดเชื้อหลังผ่าตัด แม้ว่าจะให้ยาปฏิชีวนะก่อนผ่าตัดและพยายามทุกวิถีทางที่จะให้การผ่าตัดปลอดเชื้ออย่างที่สุด แต่มีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดการติดเชื้อในช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานอยู่บ้าง อาการของการติดเชื้อได้แก่ ตกขาวมีกลิ่นเหม็นออกทางช่องคลอด ไข้และปวดในอุ้งเชิงกรานหรือไม่สบายในช่องท้อง หากคุณรู้สึกไม่ปกติให้กลับมาพบแพทย์
  • การติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ) เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 6 ของผู้ป่วยหลังผ่าตัดและพบบ่อยยิ่งขึ้นในผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะ อาการที่พบได้แก่ อาการปัสสาวะแสบหรือเจ็บเหมือนเข็มตำ ปัสสาวะบ่อยและบางครั้งน้ำปัสสาวะมีเลือดปนได้ โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ง่ายด้วยยาปฏิชีวนะ

ต่อไปนี้คือภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับการผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูกหรือกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

  • ปวดบริเวณก้น พบได้ประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดการแบบนี้ ซึ่งเกิดขึ้นในสัปดาห์แรกๆหลังผ่าตัด และอาการจะดีขึ้นได้เอง สามารถแก้ไขด้วยการให้ยาระงับปวด นอกจากนี้ ยังพบอาการเจ็บแปลบหรือแสบในไส้ตรงได้ แต่เป็นอยู่ในระยะเวลาสั้นๆ
  • ท้องผูก เป็นปัญหาระยะสั้นที่พบบ่อย และแพทย์อาจสั่งยาระบายเพื่อรักษา ให้พยายามรับประทานอาหารที่มีเส้นใยและดื่มน้ำปริมาณมากจะช่วยให้อาการดีขึ้น
  • เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ สตรีบางรายอาจมีอาการเจ็บปวดหรือรู้สึกไม่สบายในอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์หลังผ่าตัด แม้ว่าจะได้พยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นทุกวิถีทางแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี สตรีบางรายพบว่าการร่วมเพศนั้นสะดวกสบายมากขึ้นหลังผ่าตัด

เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ?

ภายในระยะเวลา 1 เดือนหลังผ่าตัด คุณควรจะสามารถขับขี่และทำกิจกรรมเบาๆ เช่น การเดินเป็นระยะทางสั้นๆ ได้เป็นอย่างดี คุณควรหลีกเลี่ยงการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากและการเล่นกีฬาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์เพื่อให้แผลหายสนิทก่อน โดยทั่วไปแนะนำให้วางแผนหยุดงานนาน 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้แนะนำเรื่องนี้แก่คุณขึ้นกับประเภทของงานและชนิดของการผ่าตัดที่คุณได้รับ

คุณควรรอเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ก่อนที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ สตรีบางคนอาจจำเป็นต้องใช้สารหล่อลื่นช่วยขณะมีเพศสัมพันธ์ สารหล่อลื่นนี้สามารถซื้อหาได้ตามร้านขายยาหรือซุปเปอร์มาร์เกตทั่วไป แพทย์อาจแนะนำให้คุณใช้ยาครีมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนทาเป็นระยะเวลาหนึ่งหรือใช้ห่วงพยุงในช่องคลอด

หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาอ่านบทความเรื่อง “สตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน”, “ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง”

ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
31 สิงหาคม 2556

แก้ไขปรับปรุง 18 เมษายน 2557

เอกสารอ้างอิง

International Urogynecological Association (IUGA). Sacrospinous Fixation/Ileococcygeus Suspension: A Guide for Women. 2011.

Read More

การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด เพื่อรักษาสตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน

การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด เพื่อรักษาสตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน

ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร


  1. ภาวะยื่นย้อยของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานคืออะไร?
  2. การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดคืออะไร?
  3. การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดทำได้อย่างไร?
  4. ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?
  5. หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?
  6. การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร?
  7. มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง?
  8. เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ?

ภาวะยื่นย้อยของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานคืออะไร?

การยื่นย้อยของมดลูกและ/หรือผนังช่องคลอดเป็นภาวะที่พบบ่อย ตลอดช่วงวัยชีวิตของสตรี พบว่าร้อยละ 11 จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะนี้ การยื่นย้อยดังกล่าวมักเกิดจากความเสียหายของเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่พยุงมดลูกกับช่องคลอดไว้เกิดการอ่อนแอลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นในขณะคลอด และเป็นผลจากการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากหรือออกแรงเบ่งมากเป็นประจำ ตัวอย่างเช่น ท้องผูกเรื้อรัง ไอเรื้อรัง โรคอ้วน นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากวัยที่สูงขึ้นทำให้เนื้อเยื่อพยุงอ่อนแอลง ในผู้ป่วยบางรายอาจมีสาเหตุทางพันธุกรรมซึ่งส่งผลให้มีการอ่อนแอของเนื้อเยื่อพยุงอวัยวะในอุ้งเชิงกราน

อาการของผู้ป่วยสตรีที่มีมดลูกหย่อน คือความรู้สึกถ่วง/หน่วงหรือตึงแน่นในช่องคลอด ในรายที่เป็นมากอาจมีก้อนยื่นย้อยจนพ้นปากช่องคลอดออกมา รูปที่ 1 และ 2

รูปที่ 1 กายวิภาคปกติ ไม่มีการยื่นย้อย
รูปที่ 2 การยื่นย้อยของมดลูก กระเพาะปัสสาวะ และไส้ตรง

การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดคืออะไร?

การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดเป็นหัตถการผ่าตัดนำมดลูกออกมาโดยผ่านทางช่องคลอด การผ่าตัดนี้มักกระทำร่วมกับการผ่าตัดซ่อมเสริมกระเพาะปัสสาวะและ/หรือไส้ตรง และการผ่าตัดใส่สายคล้องท่อปัสสาวะเพื่อแก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง

การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดทำได้อย่างไร?

การผ่าตัดนี้ทำในโรงพยาบาลภายใต้การให้ยาสลบทั่วไป การให้ยาระงับความรู้สึกทางไขสันหลัง (ร่วมหรือไม่ร่วมกับการให้ยาระงับประสาท) แพทย์จะกรีดแผลโดยรอบบริเวณปากมดลูก จากนั้นจึงค่อยๆเลาะดันให้กระเพาะปัสสาวะและไส้ตรงให้พ้นไปจากตัวมดลูก แล้วจึงหนีบ ตัดและผูกรัดหลอดเลือดที่มาเลี้ยงมดลูก และเนื้อเยื่อรอบๆมดลูก เมื่อตรวจสอบว่าไม่มีเลือดออกแล้ว จึงทำการตัดมดลูกและนำออกมา จากนั้นจึงเย็บปิดช่องคลอดด้านบนสุด ซึ่งถูกเรียกว่า ส่วนยอดช่องคลอด (vaginal vault) นรีแพทย์ส่วนใหญ่จะผ่าตัดเย็บแขวนผนังช่องคลอดส่วนยอดนี้เพื่อพยุงไม่ให้หย่อนลงมาอีกในภายหลัง รูปที่ 3 โดยอาจเลือกเย็บแขวนเข้ากับเอ็นยึดมดลูก (uterosacral ligament suspension) หรือไม่ก็ยึดกับเอ็นยึดกระดูกด้านข้างมดลูก (sacrospinous ligament suspension) หรือยึดกับกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานด้านข้าง (ileococcygeus) ก็ได้ (กรุณาอ่านบทความเรื่อง “การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูกฯ”, “การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูกหรือกล้ามเนื้อฯ” หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม) แพทย์จะอธิบายถึงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการผ่าตัดกับคุณ ส่วนรังไข่นั้นอาจเก็บไว้ได้หรือตัดออกพร้อมกับมดลูกได้ถ้าจำเป็น

รูปที่ 3 กายวิภาคปกติของช่องคลอดหลังผ่าตัดมดลูก

ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?

คุณจะได้รับการซักประวัติถามถึงสุขภาพทั่วไปและยาต่างๆที่รับประทานในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งการสืบค้นต่างๆที่จำเป็น ตัวอย่าง เช่น การตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเอ็กซเรย์ทรวงอก นอกจากนั้น คุณจะได้รับสารสนเทศเกี่ยวกับการรับเข้าโรงพยาบาล การพักในโรงพยาบาล การผ่าตัด การดูแลก่อนและหลังผ่าตัด ถ้าคุณรับประทานยาที่มีผลต่อการเกิดลิ่มเลือดเช่น แอสไพริน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกง่ายและเกิดรอยจ้ำได้ทั้งระหว่างและหลังผ่าตัด คุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะอาจจำเป็นต้องหยุดยาก่อนผ่าตัด เป็นเวลา 7-10 วัน แพทย์บางคนอาจแนะนำให้คุณเตรียมลำไส้ก่อนการผ่าตัด

หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?

เมื่อคุณตื่นฟื้นจากยาระงับความรู้สึก คุณจะได้รับการให้สารน้ำหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ และอาจใส่ท่อสวนปัสสาวะ แพทย์อาจใส่ผ้ากอซไว้ในช่องคลอดเพื่อช่วยกดห้ามเลือดออกในเนื้อเยื่อ ซึ่งทั้งผ้ากอซและท่อสวนปัสสาวะจะได้รับการถอดออกภายในเวลา 24-48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยจะสามารถรับประทานอาหารและดื่มได้เกือบทันทีหลังผ่าตัด คุณจะได้รับยาระงับปวดและยาแก้คลื่นไส้อาเจียนโดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือรับประทานตามความจำเป็น

การเคลื่อนไหวตัวของผู้ป่วยหลังผ่าตัดมีความสำคัญในการที่จะลดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำที่ขา คุณสามารถเดินและทำงานบ้านเบาๆได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากกว่า 10 กิโลกรัมในระยะหลังผ่าตัด 6 สัปดาห์แรก คุณอาจรู้สึกเหนื่อยเพลียง่ายภายหลังผ่าตัดซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา ฉะนั้นคุณควรจัดตารางชีวิตให้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้นในระยะสัปดาห์แรกๆหลังผ่าตัด

คุณสามารถคาดหวังได้ว่าระยะเวลานอนพักในโรงพยาบาลนาน 1-3 วัน ในช่วง 4 – 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด อาจมีตกขาวเป็นสีขาวอมเหลืองถึงสีน้ำตาลหรือมีเลือดปนเล็กน้อยเกิดขึ้นได้ เพราะว่ามีวัสดุเย็บแผลในช่องคลอด โดยตกขาวนี้จะมีปริมาณลดลงไปเรื่อยๆและหายไปในที่สุดเมื่อวัสดุเย็บถูกดูดซึมหายไป

การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร?

ร้อยละ 85 ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดเพื่อแก้ไขมดลูกหย่อนจะหายจากโรคนี้ถาวร อีกร้อยละ 15 ของผู้ป่วยจะเกิดภาวะยื่นย้อยของช่องคลอดส่วนยอดในเวลาหลายเดือนหรือหลายปีต่อมาภายหลังผ่าตัดครั้งแรก ขึ้นกับความรุนแรงของภาวะยื่นย้อยเดิมก่อนผ่าตัด ยิ่งความรุนแรงของการยื่นย้อยมากยิ่งมีความเสี่ยงของการเกิดซ้ำสูงตามไปด้วย

มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง?

การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดนั้นย่อมมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกชนิดที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้เสมอ ต่อไปนี้คือภาวะแทรกซ้อนทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นตามหลังการผ่าตัดใดๆก็ตาม

  • ปัญหาทางวิสัญญี ซึ่งพบน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากเครื่องดมยาสลบ ยาที่ใช้ในการระงับความรู้สึกและเครื่องมือที่ใช้เฝ้าสังเกตผู้ป่วยมีความ ทันสมัยขึ้นกว่าในอดีต
  • ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดของขา/ปอด เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบน้อยมากเกิดซึ่งอาจเกิดตามหลังการผ่าตัดทุกชนิดในอุ้งเชิงกราน สามารถลดโอกาสเสี่ยงของโรคนี้ลงได้โดยการใส่ถุงน่องหรือพันขา และให้ยาห้ามการเกิดลิ่มเลือด
  • เลือดออกรุนแรงและก้อนเลือดขังที่แผลผ่าตัด ภาวะเลือดออกที่รุนแรงและจำเป็นต้องได้รับเลือดนั้นพบน้อย (ร้อยละ 0-10) ขึ้นกับชนิดของผ่าตัดอื่นๆร่วมที่คุณได้รับ ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยมีการสะสมจนเกิดเป็นก้อนเลือดขังที่บริเวณช่องคลอดส่วนยอด ซึ่งมักจะระบายได้เองออกมาทางช่องคลอดจนยุบได้เองหลังผ่าตัด 7-10 วัน บางครั้งอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อช่วยระบายเลือดออก
  • การติดเชื้อหลังผ่าตัด แม้ว่าจะให้ยาปฏิชีวนะก่อนผ่าตัดและพยายามทุกวิถีทางที่จะให้การผ่าตัดปลอดเชื้ออย่างที่สุด แต่มีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดการติดเชื้อในช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานอยู่บ้าง อาการของการติดเชื้อ ได้แก่ ตกขาวมีกลิ่นเหม็นออกทางช่องคลอดและหรือมีไข้ การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 6-20 ของผู้ป่วยหลังผ่าตัดทางช่องคลอด และพบบ่อยยิ่งขึ้นในผู้ป่วยที่ใส่สายท่อสวนปัสสาวะ อาการที่พบ ได้แก่ อาการปัสสาวะแสบหรือเจ็บเหมือนเข็มตำ ปัสสาวะบ่อย ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าคุณมีการติดเชื้อเกิดขึ้นหรือไม่ ให้มาพบแพทย์
  • การบาดเจ็บของอวัยวะข้างเคียง พบได้ถึงร้อยละ 2 ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอดที่มีการบาดเจ็บของกระเพาะปัสสาวะ ท่อไตหรือไส้ตรง ส่วนรูรั่วของช่องคลอดนั้นอาจพบได้แต่เกิดขึ้นน้อยมาก
  • ภาวะปัสสาวะคั่ง ในช่วงวันแรกๆหลังผ่าตัด อาจเกิดอาการปัสสาวะลำบากขึ้นได้ร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วย ทำให้มีปัสสาวะคั่ง คุณอาจจำเป็นต้องได้รับการสวนหรือคาสายสวนปัสสาวะในช่วงไม่กี่วันหลังผ่าตัดนี้ไปจนกว่าจะสามารถขับถ่ายปัสสาวะได้เอง

เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ?

ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังผ่าตัด คุณควรจะสามารถขับขี่และทำกิจกรรมเบาๆ เช่น การเดินเป็นระยะทางสั้นๆ ได้เป็นอย่างดี คุณควรหลีกเลี่ยงการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากและการเล่นกีฬาเป็นเวลาอย่าง น้อย 6 สัปดาห์เพื่อให้แผลหายสนิทก่อน โดยทั่วไปแนะนำให้วางแผนหยุดงานนาน 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้แนะนำเรื่องนี้แก่คุณขึ้นกับประเภทของงานและชนิดของการผ่าตัดที่คุณได้รับ โดยทั่วไปคุณสามารถเริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้โดยปลอดภัยหลังผ่าตัดผ่านไปแล้ว 6 สัปดาห์

ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
9 กันยายน 2556

แก้ไขปรับปรุง 10 เมษายน 2557

เอกสารอ้างอิง

International Urogynecological Association (IUGA). Vaginal Hysterectomy for Prolapse: A Guide for Women. 2011.

Read More

กลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือโอเอบี

กลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือโอเอบี

ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร


  1. กระเพาะปัสสาวะปกติทำงานอย่างไร?
  2. กระเพาปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือโอเอบี คืออะไร?
  3. สาเหตุของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือโอเอบี คืออะไร?
  4. คุณจะได้รับการตรวจสืบค้นอะไรบ้าง?
  5. การรักษาผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการนี้มีอะไรบ้าง?

กระเพาปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (overactive bladder) หรือโอเอบี (OAB) เป็นปัญหาที่พบบ่อย และก่อให้เกิดอาการต่างๆที่สร้างความกังวลและความยุ่งยากในชีวิตประจำวันแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง อาทิ เช่น ทำให้คุณต้องคอยวิ่งเข้าห้องน้ำอย่างเร่งรีบหลายๆครั้ง ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน บางครั้งมีปัสสาวะเล็ดราดออกมาก่อนไปถึงห้องน้ำ ข้อมูลสารทนเทศในบทความนี้มุ่งที่จะอธิบายว่ากลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินนี้คืออะไร และมีอะไรเป็นสาเหตุ ตลอดจนมีวิธีใดบ้างที่จะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ลง

กระเพาะปัสสาวะปกติทำงานอย่างไร?

กระเพาะปัสสาวะมีลักษณะคล้ายลูกโป่ง เมื่อน้ำปัสสาวะถูกสร้างขึ้นและไหลลงมาเก็บกักในกระเพาะปัสสาวะ ผนังกระเพาะปัสสาวะจะยืดขยายตัวออกเพื่อรองรับปริมาณน้ำปัสสาวะที่ไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น น้ำปัสสาวะจะถูกเก็บกักไว้ในกระเพาะปัสสาวะได้ เพราะมีหูรูดท่อปัสสาวะซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นลิ้นปิดเปิด ปกติหูรูท่อปัสสาวะจะปิดอยู่ตลอดเวลา และจะเปิดเมื่อคุณรู้สึกปวดปัสสาวะและไปถึงห้องน้ำเรียบร้อยพร้อมที่จะขับถ่ายปัสสาวะออกมา กลไกการทำงานเสมือนลิ้นปิดเปิดนี้ ได้รับการช่วยเหลือส่วนหนึ่งจากกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่คอยพยุงอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งจะตึงตัวขึ้นเมื่อคุณไอหรือจามเพื่อป้องกันไม่ให้ปัสสาวะเล็ดราดออกมา รูปที่ 1 เมื่อกระเพาะปัสสาวะยืดขยายออกเรื่อยๆ จากน้ำปัสสาวะที่ไหลเพิ่มขึ้น คุณจะรู้สึกว่าเริ่มปวดอยากขับถ่ายปัสสาวะแต่ยังกลั้นได้อยู่ เมื่อคุณต้องการที่จะขับถ่ายปัสสาวะ นั่นคือ คุณอยู่ภายในห้องน้ำและพร้อมแล้ว สมองจะส่งสัญณาณมาสั่งให้กล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะบีบรัด เพื่อขับปัสสาวะออกมา ขณะเดียวกันนั้น หูรูดกระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานจะคลายตัวเพื่อปล่อยให้น้ำปัสสาวะไหลออกมา โดยทั่วไป กระเพาะปัสสาวะมักจำเป็นต้องขับถ่ายประมาณ 4-7 ครั้งต่อวัน และไม่เกินหนึ่งครั้งหลังเข้านอน

รูปที่ 1 กระเพาะปัสสาวะปกติและอยู่ในสภาพผ่อนคลาย มีน้ำปัสสาวะอยู่ครึ่งเดียว

กระเพาปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือโอเอบี คืออะไร?

กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือโอเอบี เป็นคำที่ใช้วินิจฉัยในผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการดังต่อไปนี้

• ปวดปัสสาวะรีบ (urgency) คือ ความรู้สึกปวดอยากถ่ายปัสสาวะอย่างมากที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและไม่สามารถรั้งรอต่อไปได้ ต้องรีบไปห้องน้ำทันที อาการนี้เกิดขึ้นทั้งๆที่มีน้ำปัสสาวะเพียงเล็กน้อยในกระเพาะปัสสาวะ บางครั้งอาจมีปัสสาวะเล็ดราดออกมาในขณะมีอาการปวดปัสสาวะรีบ ก่อนที่จะไปถึงห้องน้ำ เรียกว่า ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (urge incontinence)

• ปัสสาวะบ่อย คือ การที่ต้องไปถ่ายปัสสาวะหลายครั้งเกินไปในตอนกลางวัน (มักบ่อยเกินกว่า 7 ครั้ง)

• ปัสสาวะบ่อยกลางคืน คือ การที่ต้องตื่นขึ้นมาเพื่อไปถ่ายปัสสาวะมากเกินกว่าหนึ่งครั้งในตอนกลางคืน

กลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินนี้ พบในสตรี (และบุรุษ) ได้ในทุกๆช่วงอายุ ภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะว่าสูงวัยขึ้นเท่านั้น

สาเหตุของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือโอเอบี คืออะไร?

กลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือโอเอบี เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัว เพื่อขับถ่ายน้ำปัสสาวะออกมาในเวลาที่ไม่เหมาะสม บ่อยครั้งที่เกิดขึ้นฉับพลันโดยไม่มีสัญญาณเตือน และในเวลาที่คุณไม่ตั้งใจที่จะปัสสาวะ รูปที่ 2

รูปที่ 2 กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินและอยู่ในสภาพบีบรัดตัว แม้มีน้ำปัสสาวะอยู่ครึ่งเดียว แต่ทำให้ปัสสาวะเล็ดราด

แพทย์หรือพยาบาลจะเก็บปัสสาวะของคุณเพื่อส่งตรวจหาการติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการนี้ คุณอาจได้รับการตรวจอื่นๆเพื่อหาว่ามีนิ่วหรือเนื้องอกผิดปกติในกระเพาะปัสสาวะ กลุ่มอาการนี้ยังอาจเกิดได้จากภาวะอื่นๆที่มีผลทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติไป ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมาก่อน อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คุณมีกลุ่มอาการนี้ได้ นอกจากนั้น ปริมาณและชนิดของเครื่องดื่มที่คุณดื่มมีผลต่ออาการต่างๆ ตัวอย่าง เข่น เครื่องดื่มประเภทที่มีคาเฟอีนจะทำให้อาการของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี ในสตรีจำนวนมาก ไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงของกลุ่มอาการนี้ได้ แต่กระนั้นก็ตาม มีการรักษาหลากหลายวิธีที่จะช่วยให้คุณจัดการกับกลุ่มอาการเหล่านี้

คุณจะได้รับการตรวจสืบค้นอะไรบ้าง?

แพทย์จะซักถามคุณเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะ ปริมาณและชนิดของสารน้ำที่ดื่ม ตลอดจนสุขภาพทั่วไปของคุณ

หลังจากนั้นคุณจะได้รับการตรวจทางนรีเวชวิทยาเพื่อค้นหาปัญหา ที่อาจเป็นสาเหตุของกลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน คุณอาจต้องจดบันทึก “ไดอารี่การขับถ่ายปัสสาวะ” ของคุณมาให้แพทย์ดู โดยจดบันทึกว่าในวันหนึ่งๆ คุณดื่ม (น้ำหรือเครื่องดื่มอื่นๆ) ในปริมาณเท่าไร ถ่ายปัสสาวะกี่ครั้ง และปริมาณน้ำปัสสาวะที่ถ่ายออกมาแต่ละครั้ง หากมีปัสสาวะเล็ดราดให้บันทึกปริมาณปัสสาวะที่เล็ดออกมาและกิจกรรมขณะนั้นด้วย ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำหรับวิเคราะห์ว่าคุณดื่มเข้าไปเป็นปริมาณเท่าไร และปริมาณน้ำปัสสาวะที่กระเพาะปัสสาวะของคุณสามารถกลั้นอยู่ได้เป็นเท่าไร โปรดสอบถามแพทย์หรือเจ้าหน้าที่เพื่อขอตัวอย่างแบบบันทึก “ไดอารี่การขับถ่ายปัสสาวะ”

นอกจากนี้ คุณอาจได้รับการตรวจสืบค้นดังต่อไปนี้

  • การตรวจปัสสาวะ เป็นการเก็บตัวอย่างน้ำปัสสาวะเพื่อตรวจการติดเชื้อหรือเลือดออกในทางเดินปัสสาวะ
  • การตรวจวัดปัสสาวะตกค้างหลังถ่ายปัสสาวะ เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสแกน หรือใช้ท่อเล็กๆสวนปัสสาวะภายหลังถ่ายปัสสาวะ เพื่อหาปริมาณน้ำปัสสาวะที่ตกค้างเหลืออยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
  • การตรวจยูโรพลศาสตร์หรือยูโรไดนามิกส์ (urodynamics) ใช้เพื่อตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะขณะที่มีการเติมน้ำเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ การตรวจนี้จะบอกว่ากล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวอย่างไม่เหมาะสมเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ามีการบีบตัวเกิดขึ้น เรียกว่า กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (detrusor overactivity) นอกจากนี้ ยังใช้ตรวจว่ามีภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง และมีการขับถ่ายปัสสาวะได้หมดหรือมีปัสสาวะตกค้างหรือไม่

การรักษาผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการนี้มีอะไรบ้าง?

การรักษากลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินมีหลายวิธีต่างๆกัน ควรเริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนลีลาชีวิตของคุณก่อน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการต่างๆลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำชา โคล่า จะทำให้อาการต่างๆแย่ลง ฉะนั้น การลดเครื่องดื่มเหล่านี้ลงอาจช่วยได้ เครื่องดื่มที่มีฟองซ่าอย่างโซดา น้ำผลไม้ และแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดกลุ่มอาการนี้เช่นกัน คุณควรพิจารณาจาก “ไดอารี่การขับถ่ายปัสสาวะ” ว่าเครื่องดื่มใดบ้างที่ทำให้อาการของคุณแย่ลง แล้วลองเปลี่ยนไปดื่มน้ำ ชาสมุนไพร และเครื่องดื่มที่สกัดคาเฟอีนออกไปแล้วแทน คุณควรดื่มน้ำประมาณวันละ 1.5 ถึง 2 ลิตร หรือ ประมาณครึ่งแกลลอน

การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ

คุณอาจสังเกตว่าตนเองมีนิสัยชอบไปห้องน้ำบ่อยๆ เพื่อถ่ายปัสสาวะ คุณจึงพยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปยังสถานที่ซึ่งไม่มีห้องน้ำหรืออยู่ไกลจากห้องน้ำ พฤติกรรมเช่นนี้จะทำให้อาการของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินแย่ลงไปอีก เพราะว่ากระเพาะปัสสาวะของคุณจะยิ่งไม่ทนต่อน้ำปัสสาวะในปริมาณที่น้อยลงเรื่อยๆ การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยให้คุณกลั้นปัสสาวะนานขึ้น โดยฝึกให้กระเพาะปัสสาวะทนได้กับน้ำปัสสาวะในปริมาณที่มากขึ้น ช่วยให้คุณไปเข้าห้องน้ำด้วยความถี่น้อยลง การฝึกฝนนี้ทำได้โดยให้คุณค่อยๆ ยืดระยะระหว่างการเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งให้นานออกไป เมื่อมีอาการปวดปัสสาวะรีบและอยากขับถ่ายปัสสาวะ ให้คุณพยายามที่จะกลั้นปัสสาวะให้ได้นานขึ้นอีกเล็กน้อยก่อนที่จะไปห้องน้ำเพื่อถ่ายปัสสาวะ แพทย์และนักกายภาพบำบัดจะให้ข้อมูลแก่คุณเกี่ยวกับการฝึกนี้ (กรุณาอ่านบทความเรื่อง “การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ” หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม)

การรักษาด้วยยา

ยาที่ใช้ในการรักษามีหลายชนิดที่ช่วยบรรเทากลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน แม้ว่าจะแพทย์จะสั่งจ่ายยาเหล่านี้แก่คุณ แต่การควบคุมการดื่มและฝึกควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะของคุณยังเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต้องทำควบคู่กันไป ยาช่วยให้คุณกลั้นปัสสาวะได้นานขึ้น ลดความถี่ของการเข้าห้องน้ำลง (ทั้งตอนกลางวันและกลางคืน) และลดอาการปัสสาวะเล็ดราด แต่ยาอาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ทำให้ปากคอแห้งในผู้ป่วยบางคน บางครั้งคุณอาจจำเป็นต้องลองยาหลายๆชนิดก่อนเพื่อหาว่ายาชนิดใดเหมาะกับคุณ ภาวะท้องผูกเป็นอีกปัญหาที่พบได้จากการใช้ยา แต่สามารถบรรเทาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนการรับประทาอาหารและใช้ยาระบาย หลังรับประทานยาไปได้สองสามเดือน อาการของคุณอาจดีขึ้น จนบางครั้งสามารถหยุดยาได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลายรายยังจำเป็นต้องรับประทานยาต่อไปในระยะยาว เพื่อควบคุมอาการต่างๆ

การรักษาอื่นๆ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายหรือดีขึ้นจากกลุ่มอาการนี้โดยการปรับเปลี่ยนปริมาณและชนิดของสารน้ำที่ดื่ม การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ และการใช้ยา อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะมีอาการคงอยู่ทั้งๆที่ได้รับการรักษาดังกล่าว ในกรณีเช่นนี้ อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • การฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน (botulinum toxin) เข้าไปในผนังกระเพาะปัสสาวะผ่านทางกล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ ภายใต้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ ผลที่เกิดคือกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะเกิดการคลายตัว ช่วยให้อาการปวดปัสสาวะรีบลดลง และกระเพาะปัสสาวะสามารถเก็บกักน้ำปัสสาวะได้เพิ่มขึ้น แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ทราบถึงผลระยะยาวของการฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน แต่เชื่อว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิผล (อัตราการหายสูงถึงร้อยละ 80) แต่ผลของการรักษาอยู่ได้นานไม่เกิน 9 เดือน จึงอาจจำเป็นต้องได้รับการฉีดซ้ำ อย่างไรก็ดี ภายหลังฉีดร้อยละ 20 ของผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาถ่ายปัสสาวะลำบาก และอาจต้องได้รับการสวนปัสสาวะ แพทย์สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่คุณในเรื่องนี้
  • การกระตุ้นเส้นประสาททิเบียล (Tibial nerve stimulation) เป็นการกระตุ้นเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะทางอ้อมผ่านทางเส้นประสาททิเบียลซึ่งทอดผ่านบริเวณข้อเท้า ทำได้โดยการแทงเข็มขนาดเล็กมากๆ ผ่านผิวหนังที่บริเวณใกล้ข้อเท้าเข้าไป แล้วเชื่อมต่อปลายอีกข้างของเข็มเข้ากับอุปกรณ์ที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นเส้นประสาท การกระตุ้นนี้เป็นการฝึกเส้นประสาทให้กลับมาควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้อีก
  • การกระตุ้นเส้นประสาทใต้กระเบ็นเหน็บ (Sacral nerve stimulation) เป็นการกระตุ้นเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะโดยตรง โดยผ่าตัดฝังอุปกรณ์กระตุ้นเส้นประสาทไว้ในร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งทำได้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น ดังนั้น จึงเลือกใช้การรักษาวิธีนี้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและรักษาด้วยวิธีอื่นๆไม่ได้ผล

แพทย์ที่ดูแลคุณจะให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนเกี่ยวกับการรักษาที่เหมาะสมกับคุณมากที่สุด แม้ว่าการรักษานั้นๆอาจไม่สามารถทำให้คุณหายขาดจากกลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินนี้ อย่างไรก็ดี หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณตระหนักว่ายังมีการรักษาอีกหลากหลายวิธีที่อาจช่วยคุณในการจัดการกับปัญหานี้ และปลดเปลื้องชีวิตอิสระของคุณไม่ให้ถูกจำกัดโดยกระเพาะปัสสาวะของคุณเอง

ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

13 เมษายน 2557

เอกสารอ้างอิง

International Urogynecological Association (IUGA). Overactive bladder: A Guide for Women. 2011.

Read More

การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ (Bladder training)

การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ (Bladder training)

ผศ.นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร


  1. การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะคืออะไร?
  2. คุณจะกลับมาควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะให้ดีเหมือนเดิมได้อย่างไร?
  3. ทำอย่างไรเพื่อเอาชนะอาการปัสสาวะบ่อย?
  4. ทำอย่างไรเพื่อเอาชนะอาการปวดปัสสาวะรีบและปัสสาวะเล็ดราด?
  5. ทำอย่างไรให้ฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะประสบความสำเร็จ?

บทนำ

สตรีจำนวนมากประสบปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะในบางช่วงของชีวิต ปัญหาที่พบบ่อยได้แก่ ปัสสาวะบ่อย ปวดปัสสาวะรีบ และปัสสาวะเล็ดราด โดยทั่วไปถือว่าปัสสาวะบ่อยเมื่อคุณต้องถ่ายปัสสาวะเป็นจำนวนเกินกว่า 7 ครั้งต่อวัน นอกจากนี้ หากคุณต้องตื่นขึ้นมาเพื่อไปถ่ายปัสสาวะในตอนกลางคืนมากกว่า 1 ครั้ง เรียกว่า ภาวะปัสสาวะบ่อยกลางคืน (nocturia) ส่วนอาการปวดปัสสาวะรีบ (urgency) คือ ความรู้สึกปวดอยากถ่ายปัสสาวะอย่างมากที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันทีและไม่สามารถรั้งรอต่อไปได้ ต้องรีบไปห้องน้ำทันที หากคุณมีปัสสาวะเล็ดราดออกมาด้วยขณะกำลังมีอาการปวดปัสสาวะรีบอยู่ เรียกว่า ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะคืออะไร?

การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะเป็นการฝึกการขับถ่ายปัสสาวะ โดยกำจัดพฤติกรรมการขับถ่ายที่ไม่ดีและเรียนรู้พฤติกรรมการขับถ่ายที่ดี เพื่อให้สามารถกลับมาควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะของตนเองได้ แทนที่จะให้กระเพาะปัสสาวะเป็นตัวควบคุมคุณและชีวิตของคุณอีกต่อไป

คุณจะกลับมาควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะให้ดีเหมือนเดิมได้อย่างไร?

1. โปรแกรมการฝึกควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะของกระเพาะปัสสาวะจะช่วยให้คุณยืดช่วงเวลาระหว่างการเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งให้นานขึ้น ช่วยเพิ่มปริมาณความจุของกระเพาะปัสสาวะที่คุณจะกลั้นอยู่ได้ และช่วยคุณควบคุมความรู้สึกปวดปัสสาวะรีบเมื่อมีการหดรัดตัวของกระเพาะปัสสาวะในเวลาที่ไม่เหมาะสม รูปที่ 1 และ 2 การฝึกควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะจึงเป็นการฝึกตนเองให้สามารถกลับมาควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้เช่นเดิม

รูปที่ 1 กระเพาะปัสสาวะปกติ ที่มีน้ำปัสสาวะอยู่ครึ่งเดียวและอยู่ในสภาพผ่อนคลาย

รูปที่ 2 ผู้ป่วยที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน มีน้ำปัสสาวะอยู่ครึ่งเดียวแต่อยู่ในสภาพหดรัดตัว ทำให้ปัสสาวะเล็ดราด

2. ส่วนหนึ่งของโปรแกรมนี้ คือ การเรียนรู้ที่จะเข้าใจถึงสัญญาณที่กระเพาะปัสสาวะส่งมายังคุณ โดยคุณจะเรียนรู้ว่าสัญญาณใดบ้างที่ต้องรับฟัง และสัญญาณใดบ้างที่สามารถเพิกเฉยได้ นอกจากนั้น การฝึกควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะของกระเพาะปัสสาวะจะช่วยให้คุณตระหนักว่าเมื่อไรที่มีน้ำปัสสาวะอยู่เต็มในกระเพาะปัสสาวะ และเมื่อไรที่ไม่มีน้ำปัสสาวะอยู่ในกระเพาะปัสสาวะของคุณ

3. กระเพาะปัสสาวะของคุณอาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ เดือน หรือปี ค่อยๆเกิดพฤติกรรมการขับถ่ายที่ไม่ดี ฉะนั้นคุณจึงไม่สามารถกลับมาควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้โดยทันที จำเป็นต้องอาศัยเวลา ความมุ่งมั่นและอดทนที่จะฝึกควบคุมกระเพาะปัสสาวะให้มีพฤติกรรมการขับถ่ายที่ดี ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยจะเริ่มสังเกตเห็นถึงการพัฒนาที่ดีขึ้นภายในเวลา 2 สัปดาห์ แม้ว่าอาจต้องใช้เวลานานถึง 3 เดือนหรือนานกว่านี้ในการกลับมาควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะได้อีกครั้ง

ทำอย่างไรเพื่อเอาชนะอาการปัสสาวะบ่อย?

1. สำรวจไดอารี่ของกระเพาะปัสสาวะประจำวันว่าคุณต้องเข้าห้องน้ำบ่อยแค่ไหนในช่วงกลางวัน ถ้าบ่อยทุกๆ 2-3 ชั่วโมงต่อครั้ง คุณควรเริ่มต้นโดยค่อยๆเพิ่มระยะเวลาระหว่างครั้งให้นานขึ้น ยกตัวอย่าง ถ้าคุณเข้าห้องน้ำบ่อยทุกๆชั่วโมง ให้เริ่มตั้งเป้าหมายของคุณไว้ที่ 1 ชั่วโมง 15 นาที หากคุณรู้สึกปวดปัสสาวะรีบก่อนเวลาที่คุณตั้งไว้ ให้ฝึกที่จะควบคุมความรู้สึกนี้โดยใช้แนวทางที่จะอธิบายต่อไป เพื่อฝึกให้กระเพาะปัสสาวะรู้จักรอคอย

2. เมื่อคุณสามารถกลั้นปัสสาวะได้จนถึงเวลาที่คุณตั้งไว้ และสามารถทำเช่นนี้ได้สำเร็จเป็นเวลา 3-4 วันต่อเนื่องกัน ให้ปรับเวลาระหว่างครั้งให้นานออกไปอีก ค่อยๆเพิ่มเวลาระหว่างการเข้าห้องน้ำนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคุณสามารถเข้าห้องน้ำบ่อยน้อยลงเป็นทุกๆ 2-3 ชั่วโมงในช่วงกลางวัน

3. พยายามที่จะเลิกการไปเข้าห้องน้ำแบบว่า “กันไว้ก่อนเผื่อว่าจะปวดปัสสาวะ” ยกตัวอย่าง คุณลองถามตัวเองว่าคุณจำเป็นต้องไปเข้าห้องน้ำทุกครั้งที่คุณจะออกจากบ้านจริงๆหรือ ถ้าคุณเพิ่งไปปัสสาวะมาเมื่อ 20 นาทีก่อนหน้านี้ เพราะว่าโดยปกติกระเพาะปัสสาวะสามารถจุได้ 400 มล. ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณเกือบ 2 ถ้วยแก้ว

สิ่งที่คุณควรรู้และทำก่อนที่จะเริ่มฝึกควบคุมกระเพาะปัสสาวะ

1. ก่อนที่จะเริ่มฝึก คุณควรได้รับการตรวจสอบว่าไม่มีภาวะติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ ซึ่งสามารถทราบได้โดยการเก็บปัสสาวะของคุณไปตรวจ ซึ่งกระทำได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งหรือคลินิกบางแห่ง

2. สิ่งที่ต้องทำลำดับถัดมาคือการบันทึกไดอารี่ของกระเพาะปัสสาวะ รูปที่ 3 จากบันทึกไดอารี่ของกระเพาะปัสสาวะคุณจะเห็นว่าคุณขับถ่ายปัสสาวะบ่อยครั้งเท่าไร ปริมาณความจุของกระเพาะปัสสาวะที่คุณสามารถกลั้นได้ ปริมาณและชนิดของน้ำหรือเครื่องดื่มที่คุณดื่ม อาการปวดปัสสาวะรีบและมีปัสสาวะเล็ดราดเพราะกลั้นไม่อยู่รบกวนคุณบ่อยเพียงใด นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้ไดอารี่กระเพาะปัสสาวะตอนเริ่มต้นของการรักษาเปรียบเทียบกับภายหลังรักษาไปแล้วว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด

{tabulizer:style[gr.alterora.elemental_1_blue_green.css]}

เวลา ดื่ม ปริมาณปัสสาวะ อาการปวดปัสสาวะรีบ ปัสสาวะเล็ดและกิจกรรมขณะเล็ด การเปลี่ยนผ้าอนามัย การเปลี่ยนชุดชั้นใน การเปลี่ยนชุดที่สวมใส่
6:00 300 ซีซี x ขณะลุกขึ้นจากที่นอน x
7:00 น้ำชา 150 ซีซี
7:15 50 ซีซี
8:10 กาแฟ 150 ซีซี

รูปที่ 3 ตัวอย่างบางส่วนของไดอารี่ของกระเพาะปัสสาวะ

ทำอย่างไรเพื่อเอาชนะอาการปวดปัสสาวะรีบและปัสสาวะเล็ดราด?

ลองใช้แนวทางต่อไปนี้เพื่อควบคุมอาการปวดปัสสาวะรีบและฝึกให้กระเพาะปัสสาวะรู้จักรอคอย สังเกตว่าแนวทางใดได้ผลดีที่สุดสำหรับคุณ เพื่อที่คุณจะได้เลือกใช้ในยามที่คุณต้องการ

  1. ขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานให้แรงที่สุดเท่าที่คุณสามารถทำได้และให้กล้ามเนื้อหดรัดตัวค้างไว้ให้นานที่สุดเท่าที่คุณสามารถทำได้เช่นกัน ให้ทำเช่นนี้ไปจนกว่าคุณจะรู้สึกว่าอาการปวดปัสสาวะรีบหายไปหรือกล่าวได้ว่าคุณสามารถควบคุมอาการนี้ได้แล้ว อนึ่ง การขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานช่วยรัดบริเวณท่อปัสสาวะให้ปิดแน่นเพื่อกันไม่ให้ปัสสาวะเล็ดราดออกมา
  2. ขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานแบบเร็วและแรงที่สุดเท่าที่คุณสามารถทำได้แล้วผ่อนคลายทันที ทำซ้ำๆหลายครั้งติดต่อกัน ในสตรีบางคนวิธีนี้ได้ผลมากกว่าการขมิบให้กล้ามเนื้อหดรัดตัวค้างไว้
  3. กดที่บริเวณอวัยวะเพศภายนอก คุณสามารถทำได้โดยการไขว้ขาหรือนั่งบนพื้นผิวที่แข็ง การกดที่บริเวณอวัยวะเพศภายนอกเป็นการส่งสัญญาณผ่านทางเส้นประสาทไปยังกระเพาะปัสสาวะให้รับรู้ว่าบริเวณทางออกของกระเพาะปัสสาวะยังปิดอยู่ ต้องรอคอยต่อไปก่อนที่จะขับถ่ายปัสสาวะออกมา
  4. พยายามเบี่ยงเบนจิตใจของคุณออกไปจากอาการปวดปัสสาวะรีบ ยกตัวอย่าง บางคนเริ่มนับถอยหลังจาก 100 ลงมา อย่างไรก็ดี วิธีการอื่นๆที่ช่วยดึงความสนใจหรือผ่อนคลายล้วนใช้ได้ดีทั้งสิ้น
  5. เปลี่ยนท่าของคุณหากการทำเช่นนี้ช่วยลดความรู้สึกปวดปัสสาวะรีบลงได้ ในบางคนการนั่งโน้มตัวไปข้างหน้าอาจช่วยได้บ้าง
  6. อยู่นิ่งๆเมื่อคุณประสบกับอาการปวดปัสสาวะรีบและต้องการควบคุมอาการนี้ให้ได้ เพราะว่าคุณไม่สามารถกลั้นและควบคุมอาการนี้ได้ ในขณะที่คุณวิ่งไปห้องน้ำในเวลาเดียวกัน
  7. พยายามไม่รุกรี้รุกลนหรือผุดลุกผุดนั่ง เพราะการเคลื่อนไหวเช่นนี้อาจทำให้ปัญหาแย่ลง

ทำอย่างไรให้ฝึกควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะแล้วประสบความสำเร็จ?

การฝึกควบคุมกระเพาะปัสสาวะและการฝึกบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอย่างถูกต้อง ช่วยแก้ปัญหาในสตรีที่มีปัสสาวะเล็ดราดได้ 1 คนในทุกๆ 2-3 คน พึงระลึกว่าเมื่อคุณฝึกจนประสบความสำเร็จแล้ว คือมีนิสัยการขับถ่ายที่ดีแล้ว คุณยังจำเป็นที่จะต้องฝึกนิสัยเช่นนี้ให้คงอยู่ไปตลอดชีวิต

ข้อแนะนำเพิ่มเติมที่ช่วยการควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ

บางครั้งการเปลี่ยนแปลงอื่นๆอาจช่วยให้คุณควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ดีขึ้น ถ้าคุณมีน้ำหนักตัวมาก ไอมาก (เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบ) หรือท้องผูก คุณควรแจ้งให้แพทย์ นักกายภาพบำบัดหรือผู้ดูแลทราบ เพราะทั้งหมดข้างต้นเป็นปัจจัยที่ทำให้ปัสสาวะเล็ดราดแย่ลง ยาบางชนิดมีผลทำให้ควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ยากขึ้น คุณควรตรวจสอบกับแพทย์ที่ดูแลหากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้

ดื่มน้ำปกติ วันละอย่างน้อย 6-8 ถ้วยแก้ว (1,000-1,500 มล.) หากแพทย์ไม่ได้แนะนำเป็นอย่างอื่น อย่าพยายามหยุดดื่มน้ำเพียงเพราะคุณคิดว่ามันจะทำให้หายจากปัสสาวะเล็ดราด เพราะว่าถ้าคุณดื่มน้อยเกินไป จะทำให้น้ำปัสสาวะเข้มข้นขึ้น ซึ่งทำให้ระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะและรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้นแม้ว่าจะมีปริมาณเล็กน้อย นอกจากนี้การขาดน้ำยังนำไปสู่การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ

อย่าดื่มน้ำในคราวเดียวกันมากๆ ให้เว้นช่วงการดื่มของคุณในเวลากลางวัน ถ้าคุณดื่มปริมาณมากๆในครั้งเดียว ย่อมคาดหวังได้เลยว่าคุณต้องไปห้องน้ำในเวลาไม่นานหลังจากดื่ม

เครื่องดื่มบางประเภทมีผลระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะและทำให้คุณต้องไปห้องน้ำบ่อยๆ ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีอัลกอฮอล์และคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำชา โคล่า ช็อกโกแลต เครื่องดื่มชูกำลัง หรือน้ำอัดลม พยายามลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนลงให้เหลือเพียงวันละ 1-2 ถ้วย

หลีกเลี่ยงการดื่มในช่วงเวลา 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพราะว่าอาจทำให้คุณต้องลุกมาปัสสาวะตอนกลางคืน

ผศ.นพ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

12 มิถุนายน 2556

แก้ไขปรับปรุง
10 เมษายน 2557

เอกสารอ้างอิง

International Urogynecological Association (IUGA). Bladder Training: A Guide for Women. 2011.

Read More

ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงในสตรี

ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงในสตรี

ผศ.นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร


  1. ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงคืออะไร?
  2. กระเพาะปัสสาวะปกติทำงานอย่างไร?
  3. สาเหตุของภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงคืออะไร?
  4. แพทย์วินิจฉัยภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงได้อย่างไร?
  5. การตรวจเพื่อสืบค้นหาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมีอะไรบ้าง?
  6. การรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมีทางเลือกอะไรบ้าง?
  7. การผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมีวิธีใดบ้าง?

ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงคืออะไร?

ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง (Stress Urinary Incontinence) หมายถึง การที่มีปัสสาวะไหลออกมาโดยไม่ตั้งใจ ขณะทำกิจกรรมที่ออกแรง เช่น ไอ จาม ยกสิ่งของ หัวเราะ หรือออกกำลังกาย อาจเรียกภาวะนี้อีกชื่อว่า ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะไอจาม สตรีอย่างน้อยร้อยละ 10-20 มีอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง และส่วนหนึ่งไม่ทราบว่าภาวะนี้สามารถรักษาได้ด้วยวิธีที่ง่ายและมีประสิทธิผล

ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของสตรีในหลายๆด้าน อาจเป็นอุปสรรคในการเข้าสังคมและการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น ตลอดจนจำกัดการทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ

กระเพาะปัสสาวะปกติทำงานอย่างไร?

เมื่อร่างกายสร้างน้ำปัสสาวะเกิดขึ้น และไหลเข้าไปเก็บกักไว้ในกระเพาะปัสสาวะ กล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะจะคลายและยืดออกเพื่อรองรับน้ำปัสสาวะ จนเมื่อมีปริมาณน้ำปัสสาวะที่เก็บกักไว้มากระดับหนึ่ง จึงเริ่มรู้สึกปวดอยากถ่ายปัสสาวะขึ้น และเมื่อความรู้สึกนี้เพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่เหมาะสม สมองจะส่งสัญญาณมาสั่งกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะให้หดตัว พร้อมๆกับสั่งหูรูดท่อปัสสาวะให้คลายตัว เพื่อให้น้ำปัสสาวะไหลออกมา โดยปกติร่างกายต้องมีการขับถ่ายปัสสาวะประมาณ 4-7 ครั้งในตอนกลางวัน และ 1-2 ครั้งในตอนกลางคืน ท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะได้รับการพยุงโดยกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน ซึ่งจะหดตัวขณะไอ จาม และออกกำลังกาย เพื่อป้องกันปัสสาวะไหลออกมา

สาเหตุของภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงคืออะไร?

  • การตั้งครรภ์และการคลอดทางช่องคลอด อาจทำให้การพยุงอุ้งเชิงกรานอ่อนแอลง
  • โรคอ้วน ภาวะไอเรื้อรัง ยกของหนักเป็นประจำ และท้องผูก เหล่านี้อาจเพิ่มแรงดันในช่องท้องและทำให้ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงรุนแรง ขึ้นได้
  • ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม

แพทย์วินิจฉัยภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงได้อย่างไร?

แพทย์จะสอบถามถึงกิจกรรมที่ทำอยู่ขณะมีอาการปัสสาวะเล็ดออกมา และทำการตรวจเพื่อค้นหาความผิดปกติอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เช่น อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน สตรีที่มีภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงอาจมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือภาวะกลั้นอุจจาระ/ผายลมไม่อยู่ร่วมด้วยได้ คุณไม่ควรรู้สึกอายที่จะเล่าปัญหาต่างๆเหล่านี้ให้แพทย์ทราบ

การตรวจเพื่อสืบค้นหาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมีอะไรบ้าง?

  • ขณะทำการตรวจ แพทย์อาจขอให้คุณออกแรงเบ่งหรือไอแรงๆ โดยที่มีปริมาณน้ำปัสสาวะอยู่ในกระเพาะปัสสาวะพอควร (ระดับที่คุณยังรู้สึกว่าทนปวดได้) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยภาวะนี้
  • คุณอาจต้องจดบันทึกความถี่และปริมาณของการปัสสาวะ (ไดอารี่การขับถ่ายปัสสาวะ) โดยจดบันทึกว่าในวันหนึ่งๆ คุณดื่ม (น้ำหรือเครื่องดื่มอื่นๆ) ในปริมาณเท่าไร ถ่ายปัสสาวะกี่ครั้ง และปริมาณน้ำปัสสาวะที่ถ่ายออกมาแต่ละครั้ง หากมีปัสสาวะเล็ดราดให้บันทึกปริมาณปัสสาวะที่เล็ดออกมาและกิจกรรมขณะนั้นด้วย
  • แพทย์อาจแนะนำให้คุณตรวจยูโรพลศาสตร์ เพื่อศึกษาความสามารถของกระเพาะปัสสาวะในการเก็บกักและขับถ่ายปัสสาวะ ตลอดจนกลไกและสาเหตุของการเกิดปัสสาวะเล็ดราด
  • แพทย์อาจตรวจสแกนกระเพาะปัสสาวะด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อหาว่ามีปริมาณน้ำปัสสาวะเหลือค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเท่าไรภายหลังการขับถ่ายปัสสาวะ และยังช่วยค้นหาว่ามีสาเหตุอื่นๆที่อาจทำให้มีอาการปัสสาวะเล็ดอีกด้วย
  • อาจมีการตรวจปัสสาวะเพื่อหาว่ามีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะหรือไม่

ผลการตรวจสืบค้นเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อการวินิจฉัยและช่วยวางแผนการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายให้ดีที่สุด

การรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมีทางเลือกอะไรบ้าง?

แพทย์จะแนะนำถึงทางเลือกต่างๆของการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ในเบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้รักษาแบบอนุรักษ์ก่อน ดังนี้

  • การปรับเปลี่ยนลีลาชีวิต
    ได้แก่ การดื่มน้ำให้เพียงพอที่ทำให้ร่างกายขับถ่ายปัสสาวะ 4-6 ครั้งต่อวัน (มักจะต้องดื่มน้ำวันละประมาณ 1.5-2 ลิตร) การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในช่วงที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงลง การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ท้องผูกและการงดสูบบุหรี่ให้ผลดีต่อภาวะนี้เช่นกัน
  • การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน (Pelvic Floor Muscle Exercises)
    การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานให้แข็งแรง เป็นวิธีที่มีประสิทธิผลต่อการบรรเทาอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง พบว่าร้อยละ 75 ของผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะเล็ดลดลงหลังได้รับการฝึกบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้ง เชิงกราน อย่างไรก็ตาม ประโยชน์สูงสุดที่ได้รับจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่นเดียวกับการทำกายบริหารอื่นๆ โดยทั่วไปการฝึกบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานนั้น จะเห็นผลดีที่สุดเมื่อมีการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอนาน 3-6 เดือน แพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยบางรายไปรับการฝึกสอนการบริหารกล้ามเนื้อพื้น อุ้งเชิงกรานโดยตรงจากนักกายภาพบำบัดเป็นการเฉพาะ หากผู้ป่วยรายใดมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ร่วมด้วย แพทย์อาจแนะนำให้ฝึกควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ (bladder training exercise) ไปพร้อมกันด้วย กรุณาอ่านบทความเรื่อง “การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ”
  • อุปกรณ์ช่วยกลั้นปัสสาวะ
    อุปกรณ์ช่วยกลั้นปัสสาวะ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดและช่วยบรรเทาอาการปัสสาวะเล็ด ผู้ป่วยสามารถใส่อุปกรณ์เหล่านี้เฉพาะตอนออกกำลังกายหรือใส่ไว้ตลอดเวลาดังเช่นในกรณีของอุปกรณ์พยุงในช่องคลอด (vaginal pessary) สตรีบางคนที่ใส่ผ้าอนามัยแบบสอดในช่องคลอดขนาดใหญ่ก่อนออกกำลังกาย อาจช่วยป้องกันหรือลดอาการปัสสาวะเล็ดได้ อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ช่วยกลั้นปัสสาวะเหล่านี้ส่วนใหญ่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะ เล็ดเพียงเล็กน้อย หรือผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอผ่าตัด

การผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมีวิธีใดบ้าง?

หากฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแล้วยังมีอาการอยู่ คุณอาจจำเป็นต้องรับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะนี้ จุดมุ่งหมายของการผ่าตัด คือ การแก้ไขความอ่อนแอของเนื้อเยื่อที่พยุงบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะ ในกรณีที่ผู้ป่วยยังต้องการตั้งครรภ์อีกในอนาคต แพทย์จำนวนมากจะชะลอการผ่าตัดออกไปก่อนจนกว่าผู้ป่วยจะมีบุตรเพียงพอแล้ว เพราะการตั้งครรภ์และคลอดอาจมีผลเสียต่อผลการผ่าตัด

การผ่าตัดใส่สายคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลาง (Midurethral sling procedures)

ก่อนหน้า พ.ศ. 2536 ส่วนใหญ่ของการรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง มักเป็นการผ่าตัดใหญ่ผ่านแผลเปิดหน้าท้อง แต่ปัจจุบันรักษาด้วยการผ่าตัดใส่สายคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลางอย่างถาวร โดยสายคล้องนี้มีลักษณะเป็นแถบตาข่ายที่ทำมาจากใยสังเคราะห์และทำหน้าที่พยุงท่อปัสสาวะไว้ขณะที่ผู้ป่วยไอ จาม หรือออกกำลังกาย การผ่าตัดนี้ทำผ่านทางช่องคลอดโดยการกรีดแผลเล็กๆที่ผิวช่องคลอดแล้วสอดแถบตาข่ายนี้เข้าไปคล้องใต้ท่อปัสสาวะในตำแหน่งที่เหมาะสมซึ่งมี 3 วิธี ดังนี้

1. สายคล้องสอดหลังกระดูกหัวหน่าว (Retropubic Slings) วิธีนี้สายคล้องลอดผ่านด้านหลังของกระดูกหัวหน่าวออกมาที่ผิวหนัง บริเวณเหนือกระดูกหัวหน่าว 2 ตำแหน่ง รูปที่ 1

รูปที่ 1 สายคล้องสอดหลังกระดูกหัวหน่าว

2. สายคล้องสอดผ่านขาหนีบ (Transobturator slings) วิธีนี้สายคล้องลอดผ่านออกที่ผิวหนังบริเวณขาหนีบ 2 ตำแหน่ง รูปที่ 2

รูปที่ 2 สายคล้องสอดผ่านขาหนีบ

3. สายคล้องสอดแผลเดียว (Single incision sling) วิธีนี้เหมือนวิธีที่ 1 หรือ 2 แต่สายคล้องฝังอยู่ภายในเนื้อเยื่อโดยไม่ผ่านออกมา ที่ผิวหนัง

ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใส่สายคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลางแบบสอดหลังกระดูกหัวหน่าว หรือแบบสอดผ่านขาหนีบ พบว่าร้อยละ 80-90 จะมีอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงหายขาดหรือดีขึ้นหลังผ่าตัด ส่วนแบบสายคล้องสอดแผลเดียวนั้นยังเป็นวิธีค่อนข้างใหม่ การศึกษาเกี่ยวกับการผ่าตัดวิธีนี้ยังมีน้อยกว่าสองวิธีแรก ยังคงต้องติดตามอัตราสำเร็จหลังผ่าตัดอยู่

แม้ว่าการผ่าตัดใส่สายคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลางนี้ไม่ได้มุ่งรักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรืออาการของภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน แต่พบว่าประมาณร้อยละ 50 ของสตรีที่ได้รับการผ่าตัดมีอาการของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินลดลง อย่างไรก็ดี สตรีส่วนหนึ่งแม้เป็นจำนวนน้อยอาจมีอาการมากขึ้นได้

ส่วนใหญ่ของสตรีที่ได้รับการผ่าตัดใส่สายคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลาง จะฟื้นตัวกลับเป็นปกติภายใน 2-4 สัปดาห์หลังการผ่าตัด บางรายอาจมีอาการเจ็บหรือเคืองๆที่บริเวณขาหนีบในระยะ 2 สัปดาห์แรก มีน้อยรายที่อาจมีเลือดออกทางช่องคลอดได้ในระยะ 7-10 วันหลังผ่าตัดได้

การผ่าตัดแขวนช่องคลอดเพื่อพยุงท่อปัสสาวะ (Burch colposuspension)

การผ่าตัดวิธีนี้เคยถือเป็นวิธีหลักในการแก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงในอดีต ซึ่งอาจทำผ่านแผลเปิดหน้าท้องยาว 10-12 ซม. หรือผ่านกล้อง (ทางแผลเล็กๆบริเวณหน้าท้อง) ก็ได้ เป็นการเย็บเนื้อเยื่อของช่องคลอดที่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะไปแขวนยึดกับด้าน หลังของกระดูกหัวหน่าวด้วยวัสดุเย็บที่ไม่ละลาย เพื่อพยุงบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะไว้ เพื่อแก้ไขอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง การผ่าตัดผ่านแผลเปิดหน้าท้องมีอัตราสำเร็จในระยะยาวเท่ากับการผ่าตัดใส่สายคล้องแบบสอดหลังกระดูกหัวหน่าว ส่วนการผ่าตัดผ่านกล้องมีอัตราสำเร็จใกล้เคียงเช่นกัน ถ้าได้รับการผ่าตัดโดยแพทย์ผ่าตัดที่มีทักษะและประสบการณ์สูง

การฉีดสารเพิ่มขนาด (Bulking agents)

เป็นการฉีดสารเข้าไปที่บริเวณรอบๆคอกระเพาะปัสสาวะและหูรูดท่อปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะ เพื่อให้นูนหนาขึ้นจนท่อปัสสาวะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลดลง สารที่ใช้ฉีดมีหลายชนิดรวมทั้งไขมันและคอลลาเจน สามารถทำการฉีดสารเหล่านี้ได้ที่คลินิกผู้ป่วยนอกได้โดยไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล อาจทำภายใต้การให้ยาสลบหรือให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ หลังฉีดผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะแสบหรือเจ็บเหมือนเข็มตำเวลาปัสสาวะได้ บางครั้งอาจจำเป็นต้องฉีดซ้ำอีกหลายครั้ง ภาวะแทรกซ้อนที่พบขึ้นกับประเภทของสารที่ฉีด ฉะนั้นคุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนเกี่ยวกับการใช้สารต่างๆเหล่านี้

ผศ.นพ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

10 สิงหาคม 2555
แก้ไขปรับปรุง10 เมษายน 2557

เอกสารอ้างอิง

International Urogynecological Association (IUGA) Stress Urinary Incontinence: A Guide for Women. 2011.

Read More

การพักฟื้นหลังการผ่าตัดซ่อมเสริมและ/หรือผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด

การพักฟื้นหลังการผ่าตัดซ่อมเสริมและ/หรือผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด

เรื่องที่คุณผู้หญิงควรรู้ก่อนและหลังผ่าตัดแก้ไขภาวะยื่นย้อย

โดย ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร

  1. คุณจะประสบกับอะไรบ้างหลังหลังผ่าตัดซ่อมเสริมและหรือผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด?
  2. ความเจ็บปวด/ความไม่สะดวกสบายหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร?
  3. ป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำได้อย่างไร?
  4. การทำงานของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ในระยะหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร?
  5. การกลับคืนสู่สภาวะปกติหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร?
  6. สิ่งที่คุณควรหลีกเลี่ยงในระยะ 6 สัปดาห์หลังผ่าตัดซ่อมเสริมและหรือมดลูกทางช่องคลอด?
  7. อาหารที่คุณควรรับประทานหลังผ่าตัดซ่อมเสริมและหรือมดลูกทางช่องคลอด?
  8. คุณสามารถอาบนํ้าฝักบัวและแช่ในอ่างอาบนํ้าได้หรือไม่?
  9. หลังผ่าตัดอาการตกขาวเป็นอย่างไร?
  10. เมื่อไรคุณควรจะสอบถามเพื่อขอคำแนะนำทางการแพทย์เพิ่มเติม?
  11. เมื่อไรคุณจะสามารถกลับไปเป็นปกติหลังผ่าตัด?
  12. เมื่อไรคุณจะสามารถขับรถได้หลังผ่าตัดซ่อมเสริมและหรือมดลูกทางช่องคลอด?
  13. เมื่อไรคุณจะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อีก?
  14. เมื่อไรคุณจะกลับมาทำงานได้อีก?

คุณจะประสบกับอะไรบ้างหลังหลังผ่าตัดซ่อมเสริมและหรือผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด?

หลังผ่าตัดทันที คุณอาจมีสายสวนปัสสาวะคาอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเพื่อเป็นทางระบายนํ้าปัสสาวะลงสู่ถุงปัสสาวะ และอาจมีผ้ากอซอยู่ในช่องคลอดเพื่อกดแผลไว้ไม่ให้เลือดออก แพทย์จะผู้พิจารณาว่าควรใส่ไว้นานเท่าไร โดยทั่วไปมักอยู่ในช่วงระหว่าง 8-24 ชั่วโมง

ความเจ็บปวด/ความไม่สะดวกสบายหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร?

คุณอาจรู้สึกปวดหรือไม่สะดวกสบายบ้างที่บริเวณขาหนีบ ช่องคลอด และบริเวณท้องน้อยได้ในระยะหลังผ่าตัด ในกรณีที่คุณได้รับการผ่าตัดแขวนช่องคลอดหรือมดลูกไว้กับเอ็นยึดกระดูก คุณอาจรู้สึกเจ็บแปลบหรือปวดลึกๆในบริเวณก้นได้ ส่วนใหญ่อาการเจ็บปวดหรือไม่สบายนี้จะเริ่มดีขึ้นภายใน 1 หรือ 2 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาจนานได้หลายสัปดาห์

ขณะนอนพักในโรงพยาบาล คุณจะได้รับยาระงับปวดอย่างสมํ่าเสมอเพื่อให้คุณรู้สึกสบาย เมื่อคุณได้รับการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล คุณจะได้รับยาระงับปวดกลับไปด้วย ส่วนยาระงับปวดสามัญที่มีขายทั่วไปสามารถใช้ได้ผลดีเช่นกัน

ควรรับประทานยาระงับปวดอย่างสมํ่าเสมอในระยะหลังผ่าตัดใหม่ๆ เพื่อให้ควบคุมความเจ็บปวดได้ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องรอให้อาการปวดรุนแรงก่อนแล้วจึงเริ่มรับประทานยา การที่คุณไม่รู้สึกปวดจะช่วยให้คุณเคลื่อนไหวได้ดีและฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วกว่า หากคุณมีอาการปวดรุนแรงมากและไม่ลดลงหลังจากรับประทานยาระงับปวด กรุณากลับมาพบแพทย์

ป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำได้อย่างไร?

ภายหลังผ่าตัด คุณมีความเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำของขาเพิ่มขึ้น แพทย์อาจให้ใส่ถุงน่องหรือใช้ผ้าพันรัดขาทั้งสองข้าง และอาจให้ฉีดยาทุกวันเพื่อช่วยลดความเสี่ยงนี้

ขณะที่นอนพักบนเตียงคุณควรทำกายบริหารง่ายๆ โดยการหมุนข้อเท้าเป็นวง งอและเหยียดขาเป็นพักๆทุกๆชั่วโมง หลีกเลี่ยงการไขว้ขา ให้คุณเริ่มบริหารหลังผ่าตัดโดยเร็ว (ภายใต้การแนะนำ) บางครั้งอาจแนะนำให้ใช้วิธีป้องกันอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณมีปัญหาสุขภาพที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด แพทย์จะอภิปรายกับคุณถึงความเสี่ยงนี้

การทำงานของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ในระยะหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร?

หลังผ่าตัดซ่อมเสริมช่องคลอด คุณอาจสังเกตว่าในระยะแรกปัสสาวะจะไหลช้าและคุณต้องใช้เวลานานกว่าปกติในการปัสสาวะให้หมด พบว่าร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยอาจมีปัสสาวะไม่หมดหลังผ่าตัด และอาจจำเป็นต้องสวนปัสสาวะช่วยจนกว่าเนื้อเยื่อจะยุบลงและกระเพาะปัสสาวะกลับมาทำงานปกติก่อน (ปกติมักใช้เวลา 1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัด)

อาการท้องผูก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยหลังการผ่าตัด ฉะนั้น ในระยะก่อนและหลังผ่าตัดคุณจึงควรรับประทานผักผลไม้และอาหารที่มีเส้นใยร่วมกับดื่มนํ้าให้มากเพียงพอซึ่งจะทำให้อุจจาระนุ่ม หลังผ่าตัดมักให้รับประทานยาระบายประเภทที่ช่วยให้อุจจาระนุ่มเพื่อช่วยแก้ปัญหาท้องผูก ให้คุณรับประทานยานี้ให้สมํ่าเสมอในระยะแรกหลังกลับไปบ้าน เพราะการหลีกเลี่ยงการออกแรงเบ่งอย่างมากที่ทำให้มีแรงดันต่อแผลที่เย็บไว้ในช่องคลอด บางรายมีอาการปวดแปลบๆหรือแสบๆในไส้ตรงภายหลังการผ่าตัดซึ่งจะหายไปได้เองภายในไม่กี่วัน

การกลับคืนสู่สภาวะปกติหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร?

หลังผ่าตัดคุณจะยังรู้สึกอ่อนเพลียได้ง่ายกว่าปกติ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณควรพักผ่อนให้มากเพียงพอและสังเกตว่าร่างกายของคุณตอบสนองคุณอย่างไร

ให้คุณเริ่มเดินรอบๆบ้านก่อน และเมื่อรู้สึกว่าร่างกายพร้อมจึงเพิ่มกิจกรรมซึ่งรวมถึงการเดินเป็นระยะทางสั้นๆในชีวิตประจำวันของคุณ การเดินเป็นการออกกำลังกายที่ดีเพราะว่ามีแรงดันต่อแผลผ่าตัดซ่อมเสริมน้อยมาก ในช่วงอย่างน้อย 6 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด ให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่เพิ่มความฟิตของร่างกาย ตัวอย่างเช่น การวิ่งเหยาะๆ (jogging) การเดินเร็วๆที่ใช้กำลังมาก การเต้นแอโรบิก เป็นต้น การขมิบหรือบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานนั้นสามารถเริ่มทำได้เมื่อคุณรู้สึกพร้อม โดยทั่วไปมักเริ่มหลังผ่าตัด 1-2 สัปดาห์ (กรุณาอ่านบทความเรื่อง “การขมิบหรือบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่ถูกต้อง” หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม)

สิ่งที่คุณควรหลีกเลี่ยงในระยะ 6 สัปดาห์หลังผ่าตัดซ่อมเสริมและหรือมดลูกทางช่องคลอด?

  1. การยกสิ่งของที่มีนํ้าหนักมากและทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก คุณไม่ควรยกหรือหิ้วสิ่งของที่มีนํ้าหนักเกิน 5-7 กิโลกรัม การยกสิ่งของที่มีนํ้าหนักทำให้มีแรงดันกระทำต่อแผลผ่าตัดซ่อมเสริมและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการยื่นย้อยเป็นซํ้า
  2. การอุ้มเด็กเล็ก การไปจ่ายตลาดอย่างหนัก การทำสวน และทำงานบ้านหนักๆ เข่น การดูดฝุ่น การยกตะกร้าเสื้อผ้า การเคลื่อนย้ายเครื่องเรือน เป็นต้น
  3. การออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก เช่น การออกกำลังแบบแอโรบิก วิ่ง ขี่ม้า ฟิตเนส และการยกนํ้าหนัก เพราะการออกกำลังกายเหล่านี้ทำให้มีแรงกดดันที่บริเวณพื้นอุ้งเชิงกราน
  4. หยุดสูบบุหรี่ เพราะว่าทำให้การหายของแผลช้าลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อแผลติดเชื้อ

อาหารที่คุณควรรับประทานหลังผ่าตัดซ่อมเสริมและหรือมดลูกทางช่องคลอด?

คุณสามารถรับประทานและดื่มได้ตามปกติหลังผ่าตัด เมื่อความอยากรับประทานอาหารของคุณกลับมาปกติ เป้าหมายของการรับประทานอาหารคือเพื่อให้คุณได้รับสารอาหารทั้งหมดที่ร่างกายต้องการ อาหารที่รับประทานควรมีเส้นใยมากเช่น อาหารที่มีส่วนผสมของธัญพืช ผลไม้จำพวกพลัมแห้ง กีวี เป็นต้น และควรดื่มนํ้าให้ได้ปริมาณ 2-2.5 ลิตรต่อวันเพื่อให้การขับถ่ายเป็นปกติ

คุณสามารถอาบนํ้าฝักบัวและแช่ในอ่างอาบนํ้าได้หรือไม่?

โดยทั่วไปผู้ป่วยจะรู้สึกสบายที่จะอาบนํ้าในวันแรกหลังผ่าตัด ในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด แนะนำให้อาบนํ้าฝักบัวมากกว่าการนอนแช่ในอ่างอาบนํ้า เพราะว่าวัสดุเย็บยังคงปรากฏอยู่ในช่องคลอด

หลังผ่าตัดอาการตกขาวเป็นอย่างไร?

หลังผ่าตัดอาจมีเลือดออกบ้างทางช่องคลอด ตามด้วยมีตกขาวปกติสีขาวอมเหลืองคล้ายครีม ซึ่งอาจเป็นได้นานถึง 6 เดือนเพราะวัสดุเย็บแผลจะค่อยๆถูกดูดซึมไป ในระยะแรกเลือดที่ออกจะมีสีแดงสดแล้วต่อมาจะมีสีคลํ้าขึ้นเป็นสีนํ้าตาล ปริมาณเลือดที่ออกแปรปรวนไปในแต่ละวัน ถ้าคุณมีเลือดออกมากเป็นเลือดสดๆหรือเป็นลิ่มจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ให้กลับมาพบแพทย์

ในช่วง 6 สัปดาห์แรกแนะนำให้ใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นเท่านั้น ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอดในช่องคลอด

เมื่อไรคุณควรจะสอบถามเพื่อขอคำแนะนำทางการแพทย์เพิ่มเติม?

ถ้าคุณมีปัญหาตกขาวจำนวนมากหรือมีกลิ่นผิดปกติหรือมีเลือดออกทางช่องคลอด, มีปัสสาวะแสบหรือเจ็บเหมือนเข็มตำเวลาปัสสาวะ, ปวดท้องมากขึ้น, อาเจียน, ไข้, ขามีอาการปวดบวม, หายใจขัดหรือเจ็บหน้าอก ให้กลับมาพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม

เมื่อไรคุณจะสามารถกลับไปเป็นปกติหลังผ่าตัด?

ผู้ป่วยแต่ละคนมีอัตราเร็วของการฟื้นตัวหลังผ่าตัดแตกต่างกันขึ้นกับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ สุขภาพและความฟิตของร่างกายก่อนผ่าตัด การมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น และชนิดของการผ่าตัดเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณควรสังเกตร่างกายของคุณ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าพยายามฝืนร่างกายให้ทำงานจนหนักเกินไป โดยทั่วไปใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ที่ร่างกายจะค่อยๆได้รับการเยียวยาจนหาย และพลังของคุณจะค่อยๆกลับคืนมาเช่นเดิม

เมื่อไรคุณจะสามารถขับรถได้หลังผ่าตัดซ่อมเสริมและหรือมดลูกทางช่องคลอด?

คุณไม่ควรขับขี่รถถ้าคุณรับประทานยาระงับปวดที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน หรือคุณยังไม่มีความมั่นใจว่าคุณสามารถหยุดรถอย่างกะทันหันตามต้องการได้ทันที โดยทั่วไปแนะนำให้หลีกเลี่ยงการขับขี่เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ ถ้าไม่แน่ใจให้สอบถามแพทย์ก่อน บริษัทประกันสุขภาพบางแห่งห้ามผู้เอาประกันขับขี่รถในระยะหลังผ่าตัด กรุณาตรวจสอบรายละเอียดในกรมธรรม์ของคุณเอง

เมื่อไรคุณจะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อีก?

แนะนำให้คุณงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลานาน 6 สัปดาห์หลังจากผ่าตัด ในช่วงแรกการมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้คุณปวดหรือรู้สึกไม่สบายเล็กน้อย จึงควรใช้ความนุ่มนวลและค่อยเป็นค่อยไป การใช้สารหล่อลื่นช่องคลอดอาจช่วยได้ถ้าคุณมีรู้สึกว่าช่องคลอดแห้ง ถ้าอาการปวดหรือรู้สึกไม่สบายขณะมีเพศสัมพันธ์ยังคงมีอยู่หลังผ่าตัดผ่านไปแล้ว 3-4 เดือน แม้ว่าจะพยายามมีเพศสัมพันธ์อย่างสมํ่าเสมอ ให้กลับมาพบปรึกษาแพทย์

เมื่อไรคุณจะกลับมาทำงานได้อีก?

การที่คุณจะกลับมาทำงานได้อีกขึ้นกับชนิดของงานและจำนวนชั่วโมงการทำงานของคุณ ตลอดจนคุณไปกลับจากที่ทำงานได้อย่างไร แพทย์จะช่วยคุณตัดสินใจว่าควรหยุดงานนานเท่าไร ผู้ป่วยส่วนใหญ่หยุดพักงานนาน 2-6 สัปดาห์ ในระยะแรกที่กลับไปทำงาน แนะนำให้คุณพยายามจัดตารางงานของคุณให้เวลาทำงานลดลงและเริ่มต้นด้วยงานเบาๆก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้างานของคุณเกี่ยวข้องกับการยืนหรือยกสิ่งของหนัก

ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3 กันยายน 2556

แก้ไขปรับปรุง 7 มีนาคม 2557

เอกสารอ้างอิง International Urogynecological Association (IUGA). Recovery following vaginal repair surgery/vaginal hysterectomy: a guide for women. 2011.

Read More

การขมิบหรือบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่ถูกต้อง

การขมิบหรือบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่ถูกต้อง

  1. พื้นอุ้งเชิงกรานคืออะไร ?
  2. กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานทำหน้าที่อะไร ?
  3. ถ้ากล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอ่อนแอจะเป็นอย่างไร ?
  4. สาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอ่อนแอมีอะไรบ้าง ?
  5. วิธีบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานทำอย่างไร?
  6. เมื่อไรจะเห็นผลของการบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน?
  7. ถ้าไม่สามารถทำให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานหดตัวได้ จะมีวิธีช่วยอย่างไร?

พื้นอุ้งเชิงกรานคืออะไร?

พื้นอุ้งเชิงกรานประกอบขึ้นด้วยเส้นใยกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน มีรูปร่างเป็นแผ่นบางๆที่ขึงอยู่ใต้กระดูกเชิงกราน โดยด้านหน้ายึดติดกับกระดูกหัวหน่าว และด้านหลังยึดติดกับกระดูกสันหลังส่วนใต้กระเบนเหน็บหรือก้นกบ รูปที่ 1

รูปที่ 1 แสดงกายวิภาคปกติไม่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน

กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานทำหน้าที่อะไร?

กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานทำหน้าที่ดังต่อไปนี้

  • หดรัดตัวเมื่อคุณไอ จาม หรือออกแรงเบ่ง เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัสสาวะเล็ดโดยไม่ได้ตั้งใจ
  • ช่วยพยุงอวัยวะในช่องท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณอยู่ในท่ายืน
  • ช่วยปกป้องอวัยวะในอุ้งเชิงกรานจากความเสียหายภายนอก
  • ช่วยยึดอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น กระเพาะปัสสาวะ ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
  • ช่วยควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ ลม และการเคลื่อนไหวของลำไส้
  • มีบทบาทหน้าที่ทางเพศขณะมีเพศสัมพันธ์ กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานจำเป็นต้องแข็งแรงและมีความตึง หรือกำลังที่ เพียงพอเหมือนเช่นกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆของร่างกาย จึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้ากล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอ่อนแอจะเป็นอย่างไร?

การมีกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอ่อนแอ อาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆหรือทำให้ปัญหาที่เป็นอยู่แย่ลงได้ ปัญหาเหล่านี้ ได้แก่

  1. อาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง (stress urinary incontinence) คือ อาการที่มีปัสสาวะไหลออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจขณะออกแรงหรือใช้กำลังทางกายภาพ เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ไอ หรือจาม เป็นต้น
  2. อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (urge urinary incontinence) คือ อาการที่มีปัสสาวะไหลออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจและเกิดร่วมกับอาการปวดปัสสาวะรีบ (urgency) ซึ่งเป็นความรู้สึกปวดอยากปัสสาวะที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันทีและไม่สามารถรั้งรอต่อไปได้
  3. อาการผสมของปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ร่วมกัน (mixed urinary incontinence) คือ อาการที่มีปัสสาวะไหลออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ เกิดขึ้นทั้งขณะออกแรงหรือใช้กำลังทางกายภาพ และเกิดร่วมกับความรู้สึกปวดปัสสาวะรีบดังอธิบายมาแล้วข้างต้น
  4. อวัยวะในอุ้งเชิงกรานยื่นย้อย เกิดเป็นก้อนนูนออกในช่องคลอดหรือโผล่พ้นออกมานอกช่องคลอด อวัยวะในอุ้งเชิงกรานที่หย่อน ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ มดลูกและปากมดลูก
  5. สูญเสียความรู้สึกทางเพศหรือรู้สึกว่าช่องคลอดไม่กระชับ

สาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอ่อนแรงมีอะไรบ้าง?

  1. การใช้งานน้อยเกินไป กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานต้องการการบริหารเช่นเดียวกับกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆของร่างกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและทำงานได้ดี ฉะนั้น การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอย่างเข้มข้น สมํ่าเสมอ และต่อเนื่องตลอดไป (ไม่ใช่ทำเพียงแค่ระยะหลังคลอดบุตรเท่านั้น) เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง
  2. การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร อาจทำให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานได้รับความเสียหาย
  3. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในสตรีวัยหมดระดู อาจมีส่วนทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอลงได้ แต่บทบาทด้านนี้ของฮอร์โมนยังคงมีข้อโต้แย้งกันอยู่
  4. วัยที่สูงมากขึ้น ทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง
  5. กล้ามเนื้อเสียหายจากการออกแรงเบ่งมากเป็นประจำเนื่องจากท้องผูก หรือมีภาวะไอเรื้องรัง หรือโรคอ้วน

บทบาทของการบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน

การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอย่างเข้มข้นและสมํ่าเสมอ จะช่วยให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานมีการหดตึงขึ้นสลับกับการยืดคลายตัว ส่งผลให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นและทำหน้าที่พยุงได้ดี โดยกล้ามเนื้อไม่หดรัดจนเกินไป สตรีที่ได้เรียนรู้และฝึกบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอย่างถูกต้องและมีประสิทธิผล ส่วนใหญ่จะมีอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงบรรเทาลงหรือหายขาด จนไม่ต้องรับการผ่าตัดหรืออาจชะลอการผ่าตัดออกไปได้

วิธีบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานทำอย่างไร?

คุณควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้วิธีบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่ถูกต้อง และหมั่นตรวจสอบเป็นครั้งคราวว่าตนเองยังบริหารกล้ามเนื้อดังกล่าวได้ถูกต้องหรือไม่โดย แพทย์ พยาบาลหรือนักกายภาพบำบัด ซึ่งจะใช้แผนภาพ ภาพวาด หุ่นจำลอง หรือวิดีทัศน์ เพื่อช่วยอธิบายให้คุณเข้าใจถึงวิธีบริหารกล้ามเนื้อที่ถูกต้อง ดังต่อไปนี้

  1. นั่งเก้าอี้สบายๆโดยแยกเท้าและเข่าทั้งสองข้างให้ห่างออกจากกัน โน้มตัวไปข้างหน้า วางข้อศอกแต่ละข้างไว้บนเข่าด้านเดียวกัน พึงระลึกว่าควรหายใจเข้าออกเป็นจังหวะอย่างต่อเนื่อง (ไม่กลั้นหายใจ) รวมทั้งผ่อนคลายกล้ามเนื้อหน้าท้อง ขา และแก้มก้น (กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวต้องไม่ตึงขึ้นขณะบริหารกล้ามเนื้อ)
  2. จินตนาการว่าคุณกำลังพยายามกลั้นไม่ให้ผายลม พร้อมๆกับพยายามหยุดไม่ให้นํ้าปัสสาวะไหลจากออกจากกระเพาะปัสสาวะ ขณะที่จินตนาการนั้น คุณควรรู้สึกได้ว่ามีการยกขึ้นและตึงตัวบริเวณรอบๆช่องคลอดและทวารหนัก
  3. การฝึกสังเกตกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานขณะบริหาร เป็นวิธีที่มีประสิทธิผลในการช่วยให้คุณตรวจสอบว่าบริหารกล้ามเนื้อได้ถูกวิธี โดยนอนราบลงบนเตียง งอเข่าและแยกขาออก แล้ววางกระจกเงาไว้บนเตียงระหว่างขาทั้งสองข้างเพื่อใช้สังเกต เมื่อคุณบริหารหรือขมิบยกกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน คุณควรเห็นทวารหนักและปากช่องคลอดขยับยกขึ้นและหดจากเดิมเข้าไป

ข้อควรระวัง

หากคุณมองจากกระจกเงาเห็นปากช่องคลอดขยายออกกว้างขึ้น แสดงว่าคุณกำลังเบ่งลงแทนที่จะขมิบขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน นอกจากนั้น ถ้ามีปัสสาวะเล็ดหรือผายลมเกิดขึ้นขณะบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน เป็นไปได้ว่าคุณกำลังเบ่งลงแทนที่จะขมิบเพื่อยกกล้ามเนื้อขึ้นเช่นกัน ในระยะแรก คุณอาจไม่สามารถขมิบกล้ามเนื้อให้หดตัวได้ในทันที และกล้ามเนื้ออาจคลายตัวได้ไม่เต็มที่ อย่าเพิ่งท้อถอย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถฝึกขมิบเพื่อหดและคลายกล้ามเนื้อได้ในภายหลัง ถ้าพยายามหาเวลาฝึกบริหารกล้ามเนื้อเองต่อที่บ้าน

ควรฝึกบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอย่างไร?

ขั้นแรก กำหนด “จุดเริ่มต้น” ของตนเองเสียก่อน ซึ่งแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ดังนี้

  • ขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานให้กระชับตึงได้นานที่สุด โดยแก้มก้น กล้ามเนื้อต้นขา หรือกล้ามเนื้อหน้าท้องต้องไม่ตึงแข็งขึ้นดังที่อธิบายก่อนหน้านี้ ขมิบกล้ามเนื้อให้เกร็งค้างไว้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ (อาจนานได้มากที่สุด 10 วินาที) แล้วจดไว้ในสมุดบันทึก เช่น คุณสามารถขมิบกล้ามเนื้อให้หดเกร็งค้างไว้ได้นานที่สุดเพียงใด? นาน_____วินาที
  • คลายกล้ามเนื้อและหยุดพักนานอย่างน้อยเท่ากับเวลาที่หดเกร็งกล้ามเนื้อได้ ทำซํ้าๆเป็นจังหวะ “ขมิบ เกร็งค้างและคลาย” ให้ได้มากครั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ (อาจทำได้มากที่สุด 8-12 ครั้ง) แล้วจดไว้ในสมุดบันทึก เช่น คุณสามารถ “ขมิบ เกร็งค้างและคลาย” กล้ามเนื้อซํ้าๆต่อเนื่องกัน ได้กี่ครั้ง? จำนวน_____ ครั้ง

ตัวอย่าง เช่น นาน 2 วินาที จำนวน 4 ครั้ง

ใช้ระยะเวลาและจำนวนครั้งที่ทำได้เป็น “จุดเริ่มต้น” ของตนเองในบริหารกล้ามเนื้อแต่ละรอบ ให้ได้วันละ 4 ถึง 6 รอบ การฝึกบริหารกล้ามเนื้อเช่นนี้อย่างสมํ่าเสมอ จะช่วยให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานของคุณแข็งแรงขึ้น มีผลทำให้ “จุดเริ่มต้น” ของการบริหารกล้ามเนื้อในครั้งถัดๆไป ของคุณเปลี่ยนไป

ตัวอย่าง เช่น นาน 4 วินาที จำนวน 6 ครั้ง

และให้คุณเปลี่ยนมาบริหารกล้ามเนื้อโดยใช้ “จุดเริ่มต้น” ใหม่นี้แทนของเดิม

โปรแกรมการบริหารแบบนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานมีความคงทนขึ้น สามารถทำงานหนักและเป็นระยะเวลานานยิ่งขึ้น เมื่อคุณฝึกมาจนถึงขั้นนี้ได้ ให้คุณฝึกขมิบให้กล้ามเนื้อหดแรงแน่นขึ้นโดยไม่ต้องเกร็งค้าง วิธีนี้เรียกว่าการขมิบกล้ามเนื้ออย่างเร็ว ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างรวดเร็ว ขณะคุณหัวเราะ ไอจาม ออกกำลังกาย หรือยกสิ่งของ

ควรฝึกขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานจำนวนกี่ครั้ง?

คุณควรตั้งเป้าหมายของการบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานคือ การฝึกขมิบกล้ามเนื้อให้ได้จำนวน 8 -12 ครั้งต่อรอบ ทำวันละ 3 รอบทุกวัน เป็นเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งดูเหมือนไม่ได้ยากอะไร แต่สิ่งที่ยากกว่าคือทำอย่างไรไม่ให้ลืมที่จะฝึกบริหารอย่างสมํ่าเสมอมากกว่า ต่อไปนี้คือเคล็ดลับที่อาจช่วยกระตุ้นเตือนความจำของคุณได้

  1. สวมนาฬิกาที่ข้อมือด้านที่ไม่ได้ใส่เป็นประจำ เพื่อช่วยเตือนเวลาที่คุณมองดูเวลา
  2. ติดสติกเกอร์เตือนไว้ตามบริเวณต่างๆ ที่สะดุดตา (เช่น ที่กระจกในห้องนํ้า โทรศัพท์ ตู้เย็น กระติกนํ้าร้อน หรือที่พวงมาลัยรถยนต์)
  3. บริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานเป็นกิจวัตรหลังถ่ายปัสสาวะ
  4. บริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานโดยไม่จำกัดว่าอยู่ในท่าทางหรืออิริยาบถใดก็ตาม

เมื่อไรจะเห็นผลของการบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน?

คุณจะยังไม่รู้สึกว่าควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ดีขึ้น จนกว่าจะฝึกบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานต่อเนื่องเป็นเวลานาน 3 ถึง 6 สัปดาห์ แต่บางกรณีอาจต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือนจึงจะเห็นผล ฉะนั้น อย่ายอมแพ้ !!

หลังจากที่คุณฝึกบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานสำเร็จเห็นผลแล้ว สิ่งที่สำคัญคือการรักษาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานไว้ให้คงอยู่ตลอดไป โดยการฝึกบริหารอย่างสมํ่าเสมอให้ได้สัปดาห์ละ 2 วัน วันละ 3 รอบ รอบละ 3 ชุด ชุดละ 8 -12 ครั้งก็เพียงพอต่อการนี้ พยายามผสมผสานการบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานนี้ให้เข้ากับกิจวัตรประจำวัน ถ้าคุณเริ่มไม่แน่ใจว่าบริหารกล้ามเนื้อได้ถูกวิธีหรือไม่ ควรสอบถามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบาบัดที่ดูแลอยู่เพื่อช่วยตรวจสอบให้คุณได้

ถ้าไม่สามารถทำให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานหดตัวได้ จะมีวิธีช่วยอย่างไร?

ถ้าคุณไม่สามารถขมิบเกร็งกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานได้ด้วยตนเอง แพทย์อาจแนะนำวิธีช่วยอื่นๆแก่คุณได้ ดังนี้

ไบโอฟีดแบ็ก (biofeedback)

การรักษาวิธีนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยระบุตำแหน่งและบริหารหรือขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานให้หดและคลายได้ตามต้องการ โดยอาศัยสัญญาณการตอบสนองจากร่างกายของตนเอง ตัวอย่างหนึ่งของไบโอฟีดแบ็กคือการใช้นิ้วมือคลำสัมผัสกล้ามเนื้อของตนเองขณะขมิบ ส่วนวิธีการอื่นๆ เช่น การติดแผ่นอิเล็ดโตรด (electrode) เล็กๆไว้บริเวณหน้าท้องและแก้มก้น หรือการสอดหัวตรวจชนิดสอดในช่องคลอด (intra vaginal probe) หรือหัวตรวจชนิดสอดผ่านทวารหนักเข้าไปในไส้ตรง (intra rectal probe) แล้วเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถมองเห็นผ่านหน้าจอว่าขณะขมิบนั้น กล้ามเนื้อหดตัวมีความแรงและระยะเวลานานเพียงใด ซึ่งที่คลินิกสตรีปัสสาวะเล็ดและอุ้งเชิงกราน หน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ มีเครื่องดังกล่าว รูปที่ 2 ไว้สำหรับช่วยฝึกผู้ป่วยที่ไม่สามารถบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานได้ดีพอด้วยตนเอง

รูปที่ 2 เครื่องช่วยผู้ป่วยฝึกบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน

การรักษาโดยการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า (electrical stimulation therapy)

ในบางกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถ (หรือยังไม่สามารถ) ขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานได้ เนื่องจากเส้นประสาทได้รับความเสียหาย เช่น จากการคลอดบุตรหรือหลังการผ่าตัด การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าจะช่วยให้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานเกิดการหดตัวแบบเทียมขึ้น ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวแข็งแรงได้ วิธีการนี้ไม่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่สามารถขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานได้เอง แม้ว่าการขมิบนั้นไม่ค่อยจะมีแรงก็ตาม

ข้อควรจำ

  1. กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่อ่อนแอ ก่อให้เกิดปัญหาในการควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้บ่อย
  2. การบริหารหรือขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่ถูกต้องอย่างเข้มข้น ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวแข็งแรง ขึ้น ทำให้การควบคุมกระเพาะปัสสาวะดีขึ้น
  3. สอบถามแพทย์ พยาบาล หรือนักกายภาพบาบัดที่ดูแล ว่าคุณบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานได้ถูกต้องหรือไม่
  4. ควรขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานให้หดเกร็งทุกครั้ง ก่อนไอ จาม กระโดด หรือยกสิ่งของต่างๆ เพื่อป้องกันปัสสาวะ ลม หรืออุจจาระเล็ดออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดการหย่อนของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานด้วย
  5. พยายามควบคุมนํ้าหนักตัวคุณให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

23 เมษายน 2556

แก้ไขปรับปรุง 7 กุมภาพันธ์ 2557

เอกสารอ้างอิง International Urogynecological Association (IUGA) Pelvic Floor Exercises: A Guide for Women. 2011.

Read More

การผ่าตัดรีแพร์หรือซ่อมเสริมผนังช่องคลอดด้านหลังและฝีเย็บ

การผ่าตัดรีแพร์หรือซ่อมเสริมผนังช่องคลอดด้านหลังและฝีเย็บ

เรื่องที่คุณผู้หญิงควรรู้เมื่อมีปัญหาช่องคลอดไม่กระชับและ/หรือกลั้นอุจจาระไม่อยู่

โดย ผศ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร

  1. การยื่นย้อยของผนังช่องคลอดด้านหลังคืออะไร?
  2. การผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหลังคืออะไร?
  3. เพราะเหตุใดจึงควรทำการผ่าตัดนี้?
  4. การผ่าตัดนี้ทำอย่างไร?
  5. ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?
  6. หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?
  7. การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร?
  8. มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง?
  9. เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ?

การยื่นย้อยของผนังช่องคลอดด้านหลัง

ประมาณ 1 ใน 10 ของสตรีที่เคยคลอดบุตรต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขช่องคลอดหย่อน การยื่นย้อยของผนังช่องคลอดด้านหลังมักเกิดจากการอ่อนแอของชั้นเนื้อเยื่อ(พังผืด)ที่พยุงและแยกช่องคลอดจากลำไส้ส่วนล่างที่เรียกว่าไส้ตรง การอ่อนแอนี้อาจเป็นสาเหตุของการถ่ายอุจจาระลำบาก การรู้สึกว่าถ่วงหรือหน่วงลงช่องคลอด หรือการมีก้อนยื่นพ้นปากช่องคลอดออกมาและก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายบริเวณดังกล่าว ความผิดปกติของผนังช่องคลอดด้านหลังนี้อาจเรียกชื่อตามอวัยวะส่วนที่หย่อนลงมา ได้แก่ ไส้ตรงเลื่อน (rectocele) และ ไส้เลื่อน (enterocele) รูปที่ 1

รูปที่ 1 แสดงกายวิภาคของอุ้งเชิงกรานในสตรีปกติและในผู้ป่วยที่มีไส้ตรงเลื่อน

การผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหลังคืออะไร?

การผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหลัง หรือ posterior colporrhaphy คือหัตถการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมหรือเสริมความแข็งแรงของชั้นเนื้อเยื่อซึ่งอยู่ระหว่างช่องคลอดและไส้ตรง เพื่อทำหน้าที่พยุงช่องคลอดไว้ ส่วนการรีแพร์ฝีเย็บ (perineorrhaphy) คือ คำที่ใช้เรียกการผ่าตัดเพื่อซ่อมเสริมบริเวณฝีเย็บ

เพราะเหตุใดจึงควรทำการผ่าตัดนี้?

เป้าหมายของการผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหลังคือ เพื่อแก้ไขอาการที่มีก้อนยื่นลงมาในช่องคลอด และ/หรือช่องคลอดไม่กระชับ และเพื่อทำให้การทำงานของลำไส้ โดยเฉพาะการขับถ่ายเป็นปกติ และไม่รบกวนต่อการมีเพศสัมพันธ์

การผ่าตัดนี้ทำอย่างไร?

การผ่าตัดนี้สามารถทำได้ภายใต้การให้ยาสลบทั่วไป การให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน หรือการให้ยาชาเฉพาะที่ แพทย์ผู้ดูแลคุณจะอภิปรายถึงวิธีที่เหมาะสมกับคุณ การผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหลังมีหลากหลายวิธี ต่อไปนี้จะกล่าวถึงวิธีที่นิยมใช้กันทั่วไป รูปที่ ก, ข และ ค

  • กรีดแผลเปิดในแนวกึ่งกลางของผนังช่องคลอดด้านหลัง เริ่มจากปากช่องคลอดขึ้นไปจนเกือบถึงช่องคลอดส่วนยอด
  • เลาะแยกผิวช่องคลอดออกจากชั้นเนื้อเยื่อ(พังผืด)ที่พยุงอยู่ทางด้านล่าง จากนั้นเย็บซ่อมชั้นเนื้อเยื่อส่วนที่อ่อนแอนี้ด้วยวัสดุเย็บที่ละลายได้ ซึ่งจะถูกดูดซึมหายไปภายในเวลา 4 สัปดาห์ – 5 เดือนขึ้นกับชนิดของวัสดุเย็บที่ใช้
  • อาจซ่อมแซมฝีเย็บโดยการเย็บกล้ามเนื้อที่อยู่ลึกใต้ฝีเย็บเข้าหากันเพื่อสร้างบริเวณฝีเย็บขึ้นใหม่
  • เย็บปิดผิวช่องคลอดด้วยวัสดุเย็บที่ละลายได้ ซึ่งจะถูกดูดซึมหายไปภายในเวลา 4-6 สัปดาห์ โดยไม่ต้องตัดไหมออก
  • ในบางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้วัสดุเสริมความแข็งแรงในบริเวณที่ผ่าตัดซ่อมเสริม ได้แก่ แผ่นตาข่ายทำจากใยสังเคราะห์ถาวร (ไม่ถูกดูดซึม) หรือชีวภาพ (ถูกดูดซึมได้) ตาข่ายดังกล่าวนี้มักใช้ในรายที่เคยผ่าตัดมาก่อนหรือมีการยื่นย้อยลงมาอย่างมาก
  • หลังผ่าตัดเสร็จ อาจมีการใส่ผ้ากอซในช่องคลอดเพื่อกดห้ามเลือดและลดรอยฟกชํ้าหลังผ่าตัด ร่วมกับใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้ ซึ่งทั้งหมดจะถูกถอดออกภายใน 3- 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด
  • อาจมีการผ่าตัดอื่นที่ทำร่วมกับการผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหลังอยู่บ่อยๆ เช่น การผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด การผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหน้า หรือ การผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ด

 

รูปที่ 2 ก. การยื่นย้อยของผนังช่องคลอดด้านหลัง ข. การเย็บซ่อมแซมชั้นเนื้อเยื่อพังผืด ค. การเย็บซ่อมแซมผิวช่องคลอด

ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?

คุณจะได้รับการซักประวัติถามถึงสุขภาพทั่วไปและยาที่รับประทานเป็นประจำ รวมทั้งการสืบค้นต่างๆที่จะจำเป็น ตัวอย่างเช่น การตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเอ็กซเรย์ทรวงอก นอกจากนั้น คุณจะได้รับสารสนเทศเกี่ยวกับการรับเข้าโรงพยาบาล การพักในโรงพยาบาล การผ่าตัด การดูแลก่อนและหลังผ่าตัด

หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?

เมื่อคุณตื่นฟื้นจากยาระงับความรู้สึก คุณจะได้รับการให้สารนํ้าหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ และอาจใส่สายสวนปัสสาวะ แพทย์อาจใส่ผ้ากอซไว้ในช่องคลอดเพื่อช่วยกดห้ามเลือดออกในเนื้อเยื่อ ซึ่งทั้งผ้ากอซและสายสวนปัสสาวะจะได้รับการถอดออกภายในเวลา 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด

ในช่วง 4 – 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด อาจมีตกขาวเป็นสีขาวอมเหลืองคล้ายครีมได้เป็นปกติ เกิดขึ้นได้เพราะว่ามีวัสดุเย็บแผลในช่องคลอด โดยตกขาวนี้จะมีปริมาณลดลงไปเรื่อยๆและหายไปในที่สุดเมื่อวัสดุเย็บถูกดูดซึมหายไป หากตกขาวของคุณมีกลิ่นเหม็นผิดปกติให้กลับมาพบแพทย์ นอกจากนี้ คุณอาจมีตกขาวปนเลือดเล็กน้อยหลังผ่าตัดทันที หรือเริ่มเกิดขึ้นหลังผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์ เลือดที่เห็นมักมีลักษณะจางๆและมีสีนํ้าตาลแบบเลือดเก่าๆ ซึ่งเป็นผลจากการสลายตัวของลิ่มเลือดที่ค้างอยู่ใต้ผิวช่องคลอดไหลปนตกขาวออกมาซึ่งจะหยุดได้เอง

การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร?

กล่าวโดยทั่วไปผลการผ่าตัดมีอัตราสำเร็จอยู่ที่ร้อยละ 80-90 แต่มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซํ้าในอนาคต หรือมีช่องคลอดด้านอื่นยื่นย้อยเกิดขึ้นใหม่ซึ่งคุณอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขอีกต่อไป

อย่างไรก็ดี ประมาณร้อยละ 50 ของสตรีที่มีอาการเช่นขับถ่ายอุจจาระไม่หมดหรือท้องผูกจะมีอาการดังกล่าวดีขึ้นภายหลังการผ่าตัด

มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง?

การผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหลังนั้นย่อมมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกชนิดที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้เสมอ ต่อไปนี้คือภาวะแทรกซ้อนทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นตามหลังการผ่าตัดใดๆก็ตาม

  • ปัญหาทางวิสัญญี ซึ่งพบน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากเครื่องดมยาสลบ ยาที่ใช้ในการระงับความรู้สึกและเครื่องมือที่ใช้เฝ้าสังเกตผู้ป่วยมีความทันสมัยขึ้นกว่าในอดีต
  • เลือดออก ภาวะเลือดออกที่รุนแรงและจำเป็นต้องได้รับเลือดนั้นพบไม่บ่อย เกิดขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 1 ของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดทางช่องคลอด
  • การติดเชื้อหลังผ่าตัด แม้ว่าจะให้ยาปฏิชีวนะก่อนผ่าตัดและพยายามทุกวิถีทางที่จะให้การผ่าตัดปลอดเชื้ออย่างที่สุด แต่มีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดการติดเชื้อในช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานอยู่บ้าง
  • การติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ) เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 6 ของผู้ป่วยหลังผ่าตัดและพบบ่อยยิ่งขึ้นในผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะ อาการที่พบได้แก่ อาการปัสสาวะแสบหรือเจ็บเหมือนเข็มตำ ปัสสาวะบ่อยและบางครั้งนํ้าปัสสาวะมีเลือดปนได้ โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ง่ายด้วยยาปฏิชีวนะ

ต่อไปนี้คือภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับการผ่าตัดรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหลัง

  • ท้องผูก เป็นปัญหาที่พบบ่อยหลังผ่าตัด และแพทย์อาจสั่งยาระบายเพื่อรักษา พยายามรับประทานอาหารที่มีเส้นใยและดื่มนํ้าปริมาณมากจะช่วยให้อาการดีขึ้น
  • สตรีบางรายอาจมีอาการเจ็บปวดหรือรู้สึกไม่สบายในอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์หลังผ่าตัด แม้ว่าจะได้พยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นทุกวิถีทางแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี สตรีบางรายพบว่าการร่วมเพศนั้นสะดวกสบายมากขึ้นหลังผ่าตัด
  • การบาดเจ็บต่อไส้ตรงขณะผ่าตัด เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยอย่างยิ่ง

เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ?

ในช่วงหลังผ่าตัดใหม่ๆ คุณควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมต่างๆที่ส่งผลให้มีแรงกดดันไปยังบริเวณที่ผ่าตัดซ่อมแซม เช่น การยกของหนัก การออกแรงเบ่งมาก การออกกำลังกายหนัก การไอ ท้องผูก แผลผ่าตัดจะหายดีและมีความแข็งแรงสูงสุดต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ในช่วงดังกล่าวนี้จึงไม่ควรยกของที่มีนํ้าหนักเกิน 10 กิโลกรัมหรือ 25 ปอนด์

โดยทั่วไปแนะนำให้วางแผนหยุดงานนาน 2-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้แนะนำเรื่องนี้แก่คุณขึ้นกับประเภทของงานและชนิดของการผ่าตัดที่คุณได้รับ

หลังผ่าตัด 3-4 สัปดาห์ คุณควรจะสามารถขับขี่และทำกิจกรรมเบาๆ เช่น การเดินเป็นระยะทางสั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

คุณควรรอเป็นเวลา 5-6 สัปดาห์ ก่อนที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ สตรีบางคนอาจจำเป็นต้องใช้สารหล่อลื่นช่วยขณะมีเพศสัมพันธ์ สารหล่อลื่นนี้สามารถซื้อหาได้ตามร้านขายยาหรือซุปเปอร์มาร์เกตทั่วไป

ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

28 สิงหาคม 2556

แก้ไขปรับปรุง 7 มีนาคม 2557

เอกสารอ้างอิง International Urogynecological Association (IUGA). Posterior Vaginal Wall & Perineal Body Repair: A Guide for Women. 2011.

Read More