ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงในสตรี

ผศ.นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร


  1. ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงคืออะไร?
  2. กระเพาะปัสสาวะปกติทำงานอย่างไร?
  3. สาเหตุของภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงคืออะไร?
  4. แพทย์วินิจฉัยภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงได้อย่างไร?
  5. การตรวจเพื่อสืบค้นหาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมีอะไรบ้าง?
  6. การรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมีทางเลือกอะไรบ้าง?
  7. การผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมีวิธีใดบ้าง?

ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงคืออะไร?

ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง (Stress Urinary Incontinence) หมายถึง การที่มีปัสสาวะไหลออกมาโดยไม่ตั้งใจ ขณะทำกิจกรรมที่ออกแรง เช่น ไอ จาม ยกสิ่งของ หัวเราะ หรือออกกำลังกาย อาจเรียกภาวะนี้อีกชื่อว่า ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะไอจาม สตรีอย่างน้อยร้อยละ 10-20 มีอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง และส่วนหนึ่งไม่ทราบว่าภาวะนี้สามารถรักษาได้ด้วยวิธีที่ง่ายและมีประสิทธิผล

ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของสตรีในหลายๆด้าน อาจเป็นอุปสรรคในการเข้าสังคมและการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น ตลอดจนจำกัดการทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ

กระเพาะปัสสาวะปกติทำงานอย่างไร?

เมื่อร่างกายสร้างน้ำปัสสาวะเกิดขึ้น และไหลเข้าไปเก็บกักไว้ในกระเพาะปัสสาวะ กล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะจะคลายและยืดออกเพื่อรองรับน้ำปัสสาวะ จนเมื่อมีปริมาณน้ำปัสสาวะที่เก็บกักไว้มากระดับหนึ่ง จึงเริ่มรู้สึกปวดอยากถ่ายปัสสาวะขึ้น และเมื่อความรู้สึกนี้เพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่เหมาะสม สมองจะส่งสัญญาณมาสั่งกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะให้หดตัว พร้อมๆกับสั่งหูรูดท่อปัสสาวะให้คลายตัว เพื่อให้น้ำปัสสาวะไหลออกมา โดยปกติร่างกายต้องมีการขับถ่ายปัสสาวะประมาณ 4-7 ครั้งในตอนกลางวัน และ 1-2 ครั้งในตอนกลางคืน ท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะได้รับการพยุงโดยกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน ซึ่งจะหดตัวขณะไอ จาม และออกกำลังกาย เพื่อป้องกันปัสสาวะไหลออกมา

สาเหตุของภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงคืออะไร?

  • การตั้งครรภ์และการคลอดทางช่องคลอด อาจทำให้การพยุงอุ้งเชิงกรานอ่อนแอลง
  • โรคอ้วน ภาวะไอเรื้อรัง ยกของหนักเป็นประจำ และท้องผูก เหล่านี้อาจเพิ่มแรงดันในช่องท้องและทำให้ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงรุนแรง ขึ้นได้
  • ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม

แพทย์วินิจฉัยภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงได้อย่างไร?

แพทย์จะสอบถามถึงกิจกรรมที่ทำอยู่ขณะมีอาการปัสสาวะเล็ดออกมา และทำการตรวจเพื่อค้นหาความผิดปกติอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เช่น อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน สตรีที่มีภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงอาจมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือภาวะกลั้นอุจจาระ/ผายลมไม่อยู่ร่วมด้วยได้ คุณไม่ควรรู้สึกอายที่จะเล่าปัญหาต่างๆเหล่านี้ให้แพทย์ทราบ

การตรวจเพื่อสืบค้นหาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมีอะไรบ้าง?

  • ขณะทำการตรวจ แพทย์อาจขอให้คุณออกแรงเบ่งหรือไอแรงๆ โดยที่มีปริมาณน้ำปัสสาวะอยู่ในกระเพาะปัสสาวะพอควร (ระดับที่คุณยังรู้สึกว่าทนปวดได้) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยภาวะนี้
  • คุณอาจต้องจดบันทึกความถี่และปริมาณของการปัสสาวะ (ไดอารี่การขับถ่ายปัสสาวะ) โดยจดบันทึกว่าในวันหนึ่งๆ คุณดื่ม (น้ำหรือเครื่องดื่มอื่นๆ) ในปริมาณเท่าไร ถ่ายปัสสาวะกี่ครั้ง และปริมาณน้ำปัสสาวะที่ถ่ายออกมาแต่ละครั้ง หากมีปัสสาวะเล็ดราดให้บันทึกปริมาณปัสสาวะที่เล็ดออกมาและกิจกรรมขณะนั้นด้วย
  • แพทย์อาจแนะนำให้คุณตรวจยูโรพลศาสตร์ เพื่อศึกษาความสามารถของกระเพาะปัสสาวะในการเก็บกักและขับถ่ายปัสสาวะ ตลอดจนกลไกและสาเหตุของการเกิดปัสสาวะเล็ดราด
  • แพทย์อาจตรวจสแกนกระเพาะปัสสาวะด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อหาว่ามีปริมาณน้ำปัสสาวะเหลือค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเท่าไรภายหลังการขับถ่ายปัสสาวะ และยังช่วยค้นหาว่ามีสาเหตุอื่นๆที่อาจทำให้มีอาการปัสสาวะเล็ดอีกด้วย
  • อาจมีการตรวจปัสสาวะเพื่อหาว่ามีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะหรือไม่

ผลการตรวจสืบค้นเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อการวินิจฉัยและช่วยวางแผนการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายให้ดีที่สุด

การรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมีทางเลือกอะไรบ้าง?

แพทย์จะแนะนำถึงทางเลือกต่างๆของการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ในเบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้รักษาแบบอนุรักษ์ก่อน ดังนี้

  • การปรับเปลี่ยนลีลาชีวิต
    ได้แก่ การดื่มน้ำให้เพียงพอที่ทำให้ร่างกายขับถ่ายปัสสาวะ 4-6 ครั้งต่อวัน (มักจะต้องดื่มน้ำวันละประมาณ 1.5-2 ลิตร) การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในช่วงที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงลง การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ท้องผูกและการงดสูบบุหรี่ให้ผลดีต่อภาวะนี้เช่นกัน
  • การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน (Pelvic Floor Muscle Exercises)
    การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานให้แข็งแรง เป็นวิธีที่มีประสิทธิผลต่อการบรรเทาอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง พบว่าร้อยละ 75 ของผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะเล็ดลดลงหลังได้รับการฝึกบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้ง เชิงกราน อย่างไรก็ตาม ประโยชน์สูงสุดที่ได้รับจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่นเดียวกับการทำกายบริหารอื่นๆ โดยทั่วไปการฝึกบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานนั้น จะเห็นผลดีที่สุดเมื่อมีการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอนาน 3-6 เดือน แพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยบางรายไปรับการฝึกสอนการบริหารกล้ามเนื้อพื้น อุ้งเชิงกรานโดยตรงจากนักกายภาพบำบัดเป็นการเฉพาะ หากผู้ป่วยรายใดมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ร่วมด้วย แพทย์อาจแนะนำให้ฝึกควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ (bladder training exercise) ไปพร้อมกันด้วย กรุณาอ่านบทความเรื่อง “การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ”
  • อุปกรณ์ช่วยกลั้นปัสสาวะ
    อุปกรณ์ช่วยกลั้นปัสสาวะ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดและช่วยบรรเทาอาการปัสสาวะเล็ด ผู้ป่วยสามารถใส่อุปกรณ์เหล่านี้เฉพาะตอนออกกำลังกายหรือใส่ไว้ตลอดเวลาดังเช่นในกรณีของอุปกรณ์พยุงในช่องคลอด (vaginal pessary) สตรีบางคนที่ใส่ผ้าอนามัยแบบสอดในช่องคลอดขนาดใหญ่ก่อนออกกำลังกาย อาจช่วยป้องกันหรือลดอาการปัสสาวะเล็ดได้ อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ช่วยกลั้นปัสสาวะเหล่านี้ส่วนใหญ่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะ เล็ดเพียงเล็กน้อย หรือผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอผ่าตัด

การผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมีวิธีใดบ้าง?

หากฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแล้วยังมีอาการอยู่ คุณอาจจำเป็นต้องรับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะนี้ จุดมุ่งหมายของการผ่าตัด คือ การแก้ไขความอ่อนแอของเนื้อเยื่อที่พยุงบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะ ในกรณีที่ผู้ป่วยยังต้องการตั้งครรภ์อีกในอนาคต แพทย์จำนวนมากจะชะลอการผ่าตัดออกไปก่อนจนกว่าผู้ป่วยจะมีบุตรเพียงพอแล้ว เพราะการตั้งครรภ์และคลอดอาจมีผลเสียต่อผลการผ่าตัด

การผ่าตัดใส่สายคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลาง (Midurethral sling procedures)

ก่อนหน้า พ.ศ. 2536 ส่วนใหญ่ของการรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง มักเป็นการผ่าตัดใหญ่ผ่านแผลเปิดหน้าท้อง แต่ปัจจุบันรักษาด้วยการผ่าตัดใส่สายคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลางอย่างถาวร โดยสายคล้องนี้มีลักษณะเป็นแถบตาข่ายที่ทำมาจากใยสังเคราะห์และทำหน้าที่พยุงท่อปัสสาวะไว้ขณะที่ผู้ป่วยไอ จาม หรือออกกำลังกาย การผ่าตัดนี้ทำผ่านทางช่องคลอดโดยการกรีดแผลเล็กๆที่ผิวช่องคลอดแล้วสอดแถบตาข่ายนี้เข้าไปคล้องใต้ท่อปัสสาวะในตำแหน่งที่เหมาะสมซึ่งมี 3 วิธี ดังนี้

1. สายคล้องสอดหลังกระดูกหัวหน่าว (Retropubic Slings) วิธีนี้สายคล้องลอดผ่านด้านหลังของกระดูกหัวหน่าวออกมาที่ผิวหนัง บริเวณเหนือกระดูกหัวหน่าว 2 ตำแหน่ง รูปที่ 1

รูปที่ 1 สายคล้องสอดหลังกระดูกหัวหน่าว

2. สายคล้องสอดผ่านขาหนีบ (Transobturator slings) วิธีนี้สายคล้องลอดผ่านออกที่ผิวหนังบริเวณขาหนีบ 2 ตำแหน่ง รูปที่ 2

รูปที่ 2 สายคล้องสอดผ่านขาหนีบ

3. สายคล้องสอดแผลเดียว (Single incision sling) วิธีนี้เหมือนวิธีที่ 1 หรือ 2 แต่สายคล้องฝังอยู่ภายในเนื้อเยื่อโดยไม่ผ่านออกมา ที่ผิวหนัง

ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใส่สายคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลางแบบสอดหลังกระดูกหัวหน่าว หรือแบบสอดผ่านขาหนีบ พบว่าร้อยละ 80-90 จะมีอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงหายขาดหรือดีขึ้นหลังผ่าตัด ส่วนแบบสายคล้องสอดแผลเดียวนั้นยังเป็นวิธีค่อนข้างใหม่ การศึกษาเกี่ยวกับการผ่าตัดวิธีนี้ยังมีน้อยกว่าสองวิธีแรก ยังคงต้องติดตามอัตราสำเร็จหลังผ่าตัดอยู่

แม้ว่าการผ่าตัดใส่สายคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลางนี้ไม่ได้มุ่งรักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรืออาการของภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน แต่พบว่าประมาณร้อยละ 50 ของสตรีที่ได้รับการผ่าตัดมีอาการของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินลดลง อย่างไรก็ดี สตรีส่วนหนึ่งแม้เป็นจำนวนน้อยอาจมีอาการมากขึ้นได้

ส่วนใหญ่ของสตรีที่ได้รับการผ่าตัดใส่สายคล้องใต้ท่อปัสสาวะส่วนกลาง จะฟื้นตัวกลับเป็นปกติภายใน 2-4 สัปดาห์หลังการผ่าตัด บางรายอาจมีอาการเจ็บหรือเคืองๆที่บริเวณขาหนีบในระยะ 2 สัปดาห์แรก มีน้อยรายที่อาจมีเลือดออกทางช่องคลอดได้ในระยะ 7-10 วันหลังผ่าตัดได้

การผ่าตัดแขวนช่องคลอดเพื่อพยุงท่อปัสสาวะ (Burch colposuspension)

การผ่าตัดวิธีนี้เคยถือเป็นวิธีหลักในการแก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงในอดีต ซึ่งอาจทำผ่านแผลเปิดหน้าท้องยาว 10-12 ซม. หรือผ่านกล้อง (ทางแผลเล็กๆบริเวณหน้าท้อง) ก็ได้ เป็นการเย็บเนื้อเยื่อของช่องคลอดที่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะไปแขวนยึดกับด้าน หลังของกระดูกหัวหน่าวด้วยวัสดุเย็บที่ไม่ละลาย เพื่อพยุงบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะไว้ เพื่อแก้ไขอาการปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง การผ่าตัดผ่านแผลเปิดหน้าท้องมีอัตราสำเร็จในระยะยาวเท่ากับการผ่าตัดใส่สายคล้องแบบสอดหลังกระดูกหัวหน่าว ส่วนการผ่าตัดผ่านกล้องมีอัตราสำเร็จใกล้เคียงเช่นกัน ถ้าได้รับการผ่าตัดโดยแพทย์ผ่าตัดที่มีทักษะและประสบการณ์สูง

การฉีดสารเพิ่มขนาด (Bulking agents)

เป็นการฉีดสารเข้าไปที่บริเวณรอบๆคอกระเพาะปัสสาวะและหูรูดท่อปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะ เพื่อให้นูนหนาขึ้นจนท่อปัสสาวะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลดลง สารที่ใช้ฉีดมีหลายชนิดรวมทั้งไขมันและคอลลาเจน สามารถทำการฉีดสารเหล่านี้ได้ที่คลินิกผู้ป่วยนอกได้โดยไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล อาจทำภายใต้การให้ยาสลบหรือให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ หลังฉีดผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะแสบหรือเจ็บเหมือนเข็มตำเวลาปัสสาวะได้ บางครั้งอาจจำเป็นต้องฉีดซ้ำอีกหลายครั้ง ภาวะแทรกซ้อนที่พบขึ้นกับประเภทของสารที่ฉีด ฉะนั้นคุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนเกี่ยวกับการใช้สารต่างๆเหล่านี้

ผศ.นพ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

10 สิงหาคม 2555
แก้ไขปรับปรุง10 เมษายน 2557

เอกสารอ้างอิง

International Urogynecological Association (IUGA) Stress Urinary Incontinence: A Guide for Women. 2011.