การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ (Bladder training)

ผศ.นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร


  1. การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะคืออะไร?
  2. คุณจะกลับมาควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะให้ดีเหมือนเดิมได้อย่างไร?
  3. ทำอย่างไรเพื่อเอาชนะอาการปัสสาวะบ่อย?
  4. ทำอย่างไรเพื่อเอาชนะอาการปวดปัสสาวะรีบและปัสสาวะเล็ดราด?
  5. ทำอย่างไรให้ฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะประสบความสำเร็จ?

บทนำ

สตรีจำนวนมากประสบปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะในบางช่วงของชีวิต ปัญหาที่พบบ่อยได้แก่ ปัสสาวะบ่อย ปวดปัสสาวะรีบ และปัสสาวะเล็ดราด โดยทั่วไปถือว่าปัสสาวะบ่อยเมื่อคุณต้องถ่ายปัสสาวะเป็นจำนวนเกินกว่า 7 ครั้งต่อวัน นอกจากนี้ หากคุณต้องตื่นขึ้นมาเพื่อไปถ่ายปัสสาวะในตอนกลางคืนมากกว่า 1 ครั้ง เรียกว่า ภาวะปัสสาวะบ่อยกลางคืน (nocturia) ส่วนอาการปวดปัสสาวะรีบ (urgency) คือ ความรู้สึกปวดอยากถ่ายปัสสาวะอย่างมากที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันทีและไม่สามารถรั้งรอต่อไปได้ ต้องรีบไปห้องน้ำทันที หากคุณมีปัสสาวะเล็ดราดออกมาด้วยขณะกำลังมีอาการปวดปัสสาวะรีบอยู่ เรียกว่า ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะคืออะไร?

การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะเป็นการฝึกการขับถ่ายปัสสาวะ โดยกำจัดพฤติกรรมการขับถ่ายที่ไม่ดีและเรียนรู้พฤติกรรมการขับถ่ายที่ดี เพื่อให้สามารถกลับมาควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะของตนเองได้ แทนที่จะให้กระเพาะปัสสาวะเป็นตัวควบคุมคุณและชีวิตของคุณอีกต่อไป

คุณจะกลับมาควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะให้ดีเหมือนเดิมได้อย่างไร?

1. โปรแกรมการฝึกควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะของกระเพาะปัสสาวะจะช่วยให้คุณยืดช่วงเวลาระหว่างการเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งให้นานขึ้น ช่วยเพิ่มปริมาณความจุของกระเพาะปัสสาวะที่คุณจะกลั้นอยู่ได้ และช่วยคุณควบคุมความรู้สึกปวดปัสสาวะรีบเมื่อมีการหดรัดตัวของกระเพาะปัสสาวะในเวลาที่ไม่เหมาะสม รูปที่ 1 และ 2 การฝึกควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะจึงเป็นการฝึกตนเองให้สามารถกลับมาควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้เช่นเดิม

รูปที่ 1 กระเพาะปัสสาวะปกติ ที่มีน้ำปัสสาวะอยู่ครึ่งเดียวและอยู่ในสภาพผ่อนคลาย

รูปที่ 2 ผู้ป่วยที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน มีน้ำปัสสาวะอยู่ครึ่งเดียวแต่อยู่ในสภาพหดรัดตัว ทำให้ปัสสาวะเล็ดราด

2. ส่วนหนึ่งของโปรแกรมนี้ คือ การเรียนรู้ที่จะเข้าใจถึงสัญญาณที่กระเพาะปัสสาวะส่งมายังคุณ โดยคุณจะเรียนรู้ว่าสัญญาณใดบ้างที่ต้องรับฟัง และสัญญาณใดบ้างที่สามารถเพิกเฉยได้ นอกจากนั้น การฝึกควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะของกระเพาะปัสสาวะจะช่วยให้คุณตระหนักว่าเมื่อไรที่มีน้ำปัสสาวะอยู่เต็มในกระเพาะปัสสาวะ และเมื่อไรที่ไม่มีน้ำปัสสาวะอยู่ในกระเพาะปัสสาวะของคุณ

3. กระเพาะปัสสาวะของคุณอาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ เดือน หรือปี ค่อยๆเกิดพฤติกรรมการขับถ่ายที่ไม่ดี ฉะนั้นคุณจึงไม่สามารถกลับมาควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้โดยทันที จำเป็นต้องอาศัยเวลา ความมุ่งมั่นและอดทนที่จะฝึกควบคุมกระเพาะปัสสาวะให้มีพฤติกรรมการขับถ่ายที่ดี ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยจะเริ่มสังเกตเห็นถึงการพัฒนาที่ดีขึ้นภายในเวลา 2 สัปดาห์ แม้ว่าอาจต้องใช้เวลานานถึง 3 เดือนหรือนานกว่านี้ในการกลับมาควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะได้อีกครั้ง

ทำอย่างไรเพื่อเอาชนะอาการปัสสาวะบ่อย?

1. สำรวจไดอารี่ของกระเพาะปัสสาวะประจำวันว่าคุณต้องเข้าห้องน้ำบ่อยแค่ไหนในช่วงกลางวัน ถ้าบ่อยทุกๆ 2-3 ชั่วโมงต่อครั้ง คุณควรเริ่มต้นโดยค่อยๆเพิ่มระยะเวลาระหว่างครั้งให้นานขึ้น ยกตัวอย่าง ถ้าคุณเข้าห้องน้ำบ่อยทุกๆชั่วโมง ให้เริ่มตั้งเป้าหมายของคุณไว้ที่ 1 ชั่วโมง 15 นาที หากคุณรู้สึกปวดปัสสาวะรีบก่อนเวลาที่คุณตั้งไว้ ให้ฝึกที่จะควบคุมความรู้สึกนี้โดยใช้แนวทางที่จะอธิบายต่อไป เพื่อฝึกให้กระเพาะปัสสาวะรู้จักรอคอย

2. เมื่อคุณสามารถกลั้นปัสสาวะได้จนถึงเวลาที่คุณตั้งไว้ และสามารถทำเช่นนี้ได้สำเร็จเป็นเวลา 3-4 วันต่อเนื่องกัน ให้ปรับเวลาระหว่างครั้งให้นานออกไปอีก ค่อยๆเพิ่มเวลาระหว่างการเข้าห้องน้ำนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคุณสามารถเข้าห้องน้ำบ่อยน้อยลงเป็นทุกๆ 2-3 ชั่วโมงในช่วงกลางวัน

3. พยายามที่จะเลิกการไปเข้าห้องน้ำแบบว่า “กันไว้ก่อนเผื่อว่าจะปวดปัสสาวะ” ยกตัวอย่าง คุณลองถามตัวเองว่าคุณจำเป็นต้องไปเข้าห้องน้ำทุกครั้งที่คุณจะออกจากบ้านจริงๆหรือ ถ้าคุณเพิ่งไปปัสสาวะมาเมื่อ 20 นาทีก่อนหน้านี้ เพราะว่าโดยปกติกระเพาะปัสสาวะสามารถจุได้ 400 มล. ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณเกือบ 2 ถ้วยแก้ว

สิ่งที่คุณควรรู้และทำก่อนที่จะเริ่มฝึกควบคุมกระเพาะปัสสาวะ

1. ก่อนที่จะเริ่มฝึก คุณควรได้รับการตรวจสอบว่าไม่มีภาวะติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ ซึ่งสามารถทราบได้โดยการเก็บปัสสาวะของคุณไปตรวจ ซึ่งกระทำได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งหรือคลินิกบางแห่ง

2. สิ่งที่ต้องทำลำดับถัดมาคือการบันทึกไดอารี่ของกระเพาะปัสสาวะ รูปที่ 3 จากบันทึกไดอารี่ของกระเพาะปัสสาวะคุณจะเห็นว่าคุณขับถ่ายปัสสาวะบ่อยครั้งเท่าไร ปริมาณความจุของกระเพาะปัสสาวะที่คุณสามารถกลั้นได้ ปริมาณและชนิดของน้ำหรือเครื่องดื่มที่คุณดื่ม อาการปวดปัสสาวะรีบและมีปัสสาวะเล็ดราดเพราะกลั้นไม่อยู่รบกวนคุณบ่อยเพียงใด นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้ไดอารี่กระเพาะปัสสาวะตอนเริ่มต้นของการรักษาเปรียบเทียบกับภายหลังรักษาไปแล้วว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด

{tabulizer:style[gr.alterora.elemental_1_blue_green.css]}

เวลา ดื่ม ปริมาณปัสสาวะ อาการปวดปัสสาวะรีบ ปัสสาวะเล็ดและกิจกรรมขณะเล็ด การเปลี่ยนผ้าอนามัย การเปลี่ยนชุดชั้นใน การเปลี่ยนชุดที่สวมใส่
6:00 300 ซีซี x ขณะลุกขึ้นจากที่นอน x
7:00 น้ำชา 150 ซีซี
7:15 50 ซีซี
8:10 กาแฟ 150 ซีซี

รูปที่ 3 ตัวอย่างบางส่วนของไดอารี่ของกระเพาะปัสสาวะ

ทำอย่างไรเพื่อเอาชนะอาการปวดปัสสาวะรีบและปัสสาวะเล็ดราด?

ลองใช้แนวทางต่อไปนี้เพื่อควบคุมอาการปวดปัสสาวะรีบและฝึกให้กระเพาะปัสสาวะรู้จักรอคอย สังเกตว่าแนวทางใดได้ผลดีที่สุดสำหรับคุณ เพื่อที่คุณจะได้เลือกใช้ในยามที่คุณต้องการ

  1. ขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานให้แรงที่สุดเท่าที่คุณสามารถทำได้และให้กล้ามเนื้อหดรัดตัวค้างไว้ให้นานที่สุดเท่าที่คุณสามารถทำได้เช่นกัน ให้ทำเช่นนี้ไปจนกว่าคุณจะรู้สึกว่าอาการปวดปัสสาวะรีบหายไปหรือกล่าวได้ว่าคุณสามารถควบคุมอาการนี้ได้แล้ว อนึ่ง การขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานช่วยรัดบริเวณท่อปัสสาวะให้ปิดแน่นเพื่อกันไม่ให้ปัสสาวะเล็ดราดออกมา
  2. ขมิบกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานแบบเร็วและแรงที่สุดเท่าที่คุณสามารถทำได้แล้วผ่อนคลายทันที ทำซ้ำๆหลายครั้งติดต่อกัน ในสตรีบางคนวิธีนี้ได้ผลมากกว่าการขมิบให้กล้ามเนื้อหดรัดตัวค้างไว้
  3. กดที่บริเวณอวัยวะเพศภายนอก คุณสามารถทำได้โดยการไขว้ขาหรือนั่งบนพื้นผิวที่แข็ง การกดที่บริเวณอวัยวะเพศภายนอกเป็นการส่งสัญญาณผ่านทางเส้นประสาทไปยังกระเพาะปัสสาวะให้รับรู้ว่าบริเวณทางออกของกระเพาะปัสสาวะยังปิดอยู่ ต้องรอคอยต่อไปก่อนที่จะขับถ่ายปัสสาวะออกมา
  4. พยายามเบี่ยงเบนจิตใจของคุณออกไปจากอาการปวดปัสสาวะรีบ ยกตัวอย่าง บางคนเริ่มนับถอยหลังจาก 100 ลงมา อย่างไรก็ดี วิธีการอื่นๆที่ช่วยดึงความสนใจหรือผ่อนคลายล้วนใช้ได้ดีทั้งสิ้น
  5. เปลี่ยนท่าของคุณหากการทำเช่นนี้ช่วยลดความรู้สึกปวดปัสสาวะรีบลงได้ ในบางคนการนั่งโน้มตัวไปข้างหน้าอาจช่วยได้บ้าง
  6. อยู่นิ่งๆเมื่อคุณประสบกับอาการปวดปัสสาวะรีบและต้องการควบคุมอาการนี้ให้ได้ เพราะว่าคุณไม่สามารถกลั้นและควบคุมอาการนี้ได้ ในขณะที่คุณวิ่งไปห้องน้ำในเวลาเดียวกัน
  7. พยายามไม่รุกรี้รุกลนหรือผุดลุกผุดนั่ง เพราะการเคลื่อนไหวเช่นนี้อาจทำให้ปัญหาแย่ลง

ทำอย่างไรให้ฝึกควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะแล้วประสบความสำเร็จ?

การฝึกควบคุมกระเพาะปัสสาวะและการฝึกบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอย่างถูกต้อง ช่วยแก้ปัญหาในสตรีที่มีปัสสาวะเล็ดราดได้ 1 คนในทุกๆ 2-3 คน พึงระลึกว่าเมื่อคุณฝึกจนประสบความสำเร็จแล้ว คือมีนิสัยการขับถ่ายที่ดีแล้ว คุณยังจำเป็นที่จะต้องฝึกนิสัยเช่นนี้ให้คงอยู่ไปตลอดชีวิต

ข้อแนะนำเพิ่มเติมที่ช่วยการควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ

บางครั้งการเปลี่ยนแปลงอื่นๆอาจช่วยให้คุณควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ดีขึ้น ถ้าคุณมีน้ำหนักตัวมาก ไอมาก (เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบ) หรือท้องผูก คุณควรแจ้งให้แพทย์ นักกายภาพบำบัดหรือผู้ดูแลทราบ เพราะทั้งหมดข้างต้นเป็นปัจจัยที่ทำให้ปัสสาวะเล็ดราดแย่ลง ยาบางชนิดมีผลทำให้ควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ยากขึ้น คุณควรตรวจสอบกับแพทย์ที่ดูแลหากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้

ดื่มน้ำปกติ วันละอย่างน้อย 6-8 ถ้วยแก้ว (1,000-1,500 มล.) หากแพทย์ไม่ได้แนะนำเป็นอย่างอื่น อย่าพยายามหยุดดื่มน้ำเพียงเพราะคุณคิดว่ามันจะทำให้หายจากปัสสาวะเล็ดราด เพราะว่าถ้าคุณดื่มน้อยเกินไป จะทำให้น้ำปัสสาวะเข้มข้นขึ้น ซึ่งทำให้ระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะและรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้นแม้ว่าจะมีปริมาณเล็กน้อย นอกจากนี้การขาดน้ำยังนำไปสู่การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ

อย่าดื่มน้ำในคราวเดียวกันมากๆ ให้เว้นช่วงการดื่มของคุณในเวลากลางวัน ถ้าคุณดื่มปริมาณมากๆในครั้งเดียว ย่อมคาดหวังได้เลยว่าคุณต้องไปห้องน้ำในเวลาไม่นานหลังจากดื่ม

เครื่องดื่มบางประเภทมีผลระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะและทำให้คุณต้องไปห้องน้ำบ่อยๆ ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีอัลกอฮอล์และคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำชา โคล่า ช็อกโกแลต เครื่องดื่มชูกำลัง หรือน้ำอัดลม พยายามลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนลงให้เหลือเพียงวันละ 1-2 ถ้วย

หลีกเลี่ยงการดื่มในช่วงเวลา 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพราะว่าอาจทำให้คุณต้องลุกมาปัสสาวะตอนกลางคืน

ผศ.นพ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

12 มิถุนายน 2556

แก้ไขปรับปรุง
10 เมษายน 2557

เอกสารอ้างอิง

International Urogynecological Association (IUGA). Bladder Training: A Guide for Women. 2011.