การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด เพื่อรักษาสตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน

ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร


  1. ภาวะยื่นย้อยของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานคืออะไร?
  2. การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดคืออะไร?
  3. การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดทำได้อย่างไร?
  4. ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?
  5. หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?
  6. การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร?
  7. มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง?
  8. เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ?

ภาวะยื่นย้อยของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานคืออะไร?

การยื่นย้อยของมดลูกและ/หรือผนังช่องคลอดเป็นภาวะที่พบบ่อย ตลอดช่วงวัยชีวิตของสตรี พบว่าร้อยละ 11 จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะนี้ การยื่นย้อยดังกล่าวมักเกิดจากความเสียหายของเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่พยุงมดลูกกับช่องคลอดไว้เกิดการอ่อนแอลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นในขณะคลอด และเป็นผลจากการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากหรือออกแรงเบ่งมากเป็นประจำ ตัวอย่างเช่น ท้องผูกเรื้อรัง ไอเรื้อรัง โรคอ้วน นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากวัยที่สูงขึ้นทำให้เนื้อเยื่อพยุงอ่อนแอลง ในผู้ป่วยบางรายอาจมีสาเหตุทางพันธุกรรมซึ่งส่งผลให้มีการอ่อนแอของเนื้อเยื่อพยุงอวัยวะในอุ้งเชิงกราน

อาการของผู้ป่วยสตรีที่มีมดลูกหย่อน คือความรู้สึกถ่วง/หน่วงหรือตึงแน่นในช่องคลอด ในรายที่เป็นมากอาจมีก้อนยื่นย้อยจนพ้นปากช่องคลอดออกมา รูปที่ 1 และ 2

รูปที่ 1 กายวิภาคปกติ ไม่มีการยื่นย้อย
รูปที่ 2 การยื่นย้อยของมดลูก กระเพาะปัสสาวะ และไส้ตรง

การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดคืออะไร?

การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดเป็นหัตถการผ่าตัดนำมดลูกออกมาโดยผ่านทางช่องคลอด การผ่าตัดนี้มักกระทำร่วมกับการผ่าตัดซ่อมเสริมกระเพาะปัสสาวะและ/หรือไส้ตรง และการผ่าตัดใส่สายคล้องท่อปัสสาวะเพื่อแก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง

การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดทำได้อย่างไร?

การผ่าตัดนี้ทำในโรงพยาบาลภายใต้การให้ยาสลบทั่วไป การให้ยาระงับความรู้สึกทางไขสันหลัง (ร่วมหรือไม่ร่วมกับการให้ยาระงับประสาท) แพทย์จะกรีดแผลโดยรอบบริเวณปากมดลูก จากนั้นจึงค่อยๆเลาะดันให้กระเพาะปัสสาวะและไส้ตรงให้พ้นไปจากตัวมดลูก แล้วจึงหนีบ ตัดและผูกรัดหลอดเลือดที่มาเลี้ยงมดลูก และเนื้อเยื่อรอบๆมดลูก เมื่อตรวจสอบว่าไม่มีเลือดออกแล้ว จึงทำการตัดมดลูกและนำออกมา จากนั้นจึงเย็บปิดช่องคลอดด้านบนสุด ซึ่งถูกเรียกว่า ส่วนยอดช่องคลอด (vaginal vault) นรีแพทย์ส่วนใหญ่จะผ่าตัดเย็บแขวนผนังช่องคลอดส่วนยอดนี้เพื่อพยุงไม่ให้หย่อนลงมาอีกในภายหลัง รูปที่ 3 โดยอาจเลือกเย็บแขวนเข้ากับเอ็นยึดมดลูก (uterosacral ligament suspension) หรือไม่ก็ยึดกับเอ็นยึดกระดูกด้านข้างมดลูก (sacrospinous ligament suspension) หรือยึดกับกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานด้านข้าง (ileococcygeus) ก็ได้ (กรุณาอ่านบทความเรื่อง “การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูกฯ”, “การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูกหรือกล้ามเนื้อฯ” หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม) แพทย์จะอธิบายถึงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการผ่าตัดกับคุณ ส่วนรังไข่นั้นอาจเก็บไว้ได้หรือตัดออกพร้อมกับมดลูกได้ถ้าจำเป็น

รูปที่ 3 กายวิภาคปกติของช่องคลอดหลังผ่าตัดมดลูก

ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?

คุณจะได้รับการซักประวัติถามถึงสุขภาพทั่วไปและยาต่างๆที่รับประทานในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งการสืบค้นต่างๆที่จำเป็น ตัวอย่าง เช่น การตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเอ็กซเรย์ทรวงอก นอกจากนั้น คุณจะได้รับสารสนเทศเกี่ยวกับการรับเข้าโรงพยาบาล การพักในโรงพยาบาล การผ่าตัด การดูแลก่อนและหลังผ่าตัด ถ้าคุณรับประทานยาที่มีผลต่อการเกิดลิ่มเลือดเช่น แอสไพริน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกง่ายและเกิดรอยจ้ำได้ทั้งระหว่างและหลังผ่าตัด คุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะอาจจำเป็นต้องหยุดยาก่อนผ่าตัด เป็นเวลา 7-10 วัน แพทย์บางคนอาจแนะนำให้คุณเตรียมลำไส้ก่อนการผ่าตัด

หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?

เมื่อคุณตื่นฟื้นจากยาระงับความรู้สึก คุณจะได้รับการให้สารน้ำหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ และอาจใส่ท่อสวนปัสสาวะ แพทย์อาจใส่ผ้ากอซไว้ในช่องคลอดเพื่อช่วยกดห้ามเลือดออกในเนื้อเยื่อ ซึ่งทั้งผ้ากอซและท่อสวนปัสสาวะจะได้รับการถอดออกภายในเวลา 24-48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยจะสามารถรับประทานอาหารและดื่มได้เกือบทันทีหลังผ่าตัด คุณจะได้รับยาระงับปวดและยาแก้คลื่นไส้อาเจียนโดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือรับประทานตามความจำเป็น

การเคลื่อนไหวตัวของผู้ป่วยหลังผ่าตัดมีความสำคัญในการที่จะลดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำที่ขา คุณสามารถเดินและทำงานบ้านเบาๆได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากกว่า 10 กิโลกรัมในระยะหลังผ่าตัด 6 สัปดาห์แรก คุณอาจรู้สึกเหนื่อยเพลียง่ายภายหลังผ่าตัดซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา ฉะนั้นคุณควรจัดตารางชีวิตให้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้นในระยะสัปดาห์แรกๆหลังผ่าตัด

คุณสามารถคาดหวังได้ว่าระยะเวลานอนพักในโรงพยาบาลนาน 1-3 วัน ในช่วง 4 – 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด อาจมีตกขาวเป็นสีขาวอมเหลืองถึงสีน้ำตาลหรือมีเลือดปนเล็กน้อยเกิดขึ้นได้ เพราะว่ามีวัสดุเย็บแผลในช่องคลอด โดยตกขาวนี้จะมีปริมาณลดลงไปเรื่อยๆและหายไปในที่สุดเมื่อวัสดุเย็บถูกดูดซึมหายไป

การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร?

ร้อยละ 85 ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดเพื่อแก้ไขมดลูกหย่อนจะหายจากโรคนี้ถาวร อีกร้อยละ 15 ของผู้ป่วยจะเกิดภาวะยื่นย้อยของช่องคลอดส่วนยอดในเวลาหลายเดือนหรือหลายปีต่อมาภายหลังผ่าตัดครั้งแรก ขึ้นกับความรุนแรงของภาวะยื่นย้อยเดิมก่อนผ่าตัด ยิ่งความรุนแรงของการยื่นย้อยมากยิ่งมีความเสี่ยงของการเกิดซ้ำสูงตามไปด้วย

มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง?

การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดนั้นย่อมมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกชนิดที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้เสมอ ต่อไปนี้คือภาวะแทรกซ้อนทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นตามหลังการผ่าตัดใดๆก็ตาม

  • ปัญหาทางวิสัญญี ซึ่งพบน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากเครื่องดมยาสลบ ยาที่ใช้ในการระงับความรู้สึกและเครื่องมือที่ใช้เฝ้าสังเกตผู้ป่วยมีความ ทันสมัยขึ้นกว่าในอดีต
  • ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดของขา/ปอด เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบน้อยมากเกิดซึ่งอาจเกิดตามหลังการผ่าตัดทุกชนิดในอุ้งเชิงกราน สามารถลดโอกาสเสี่ยงของโรคนี้ลงได้โดยการใส่ถุงน่องหรือพันขา และให้ยาห้ามการเกิดลิ่มเลือด
  • เลือดออกรุนแรงและก้อนเลือดขังที่แผลผ่าตัด ภาวะเลือดออกที่รุนแรงและจำเป็นต้องได้รับเลือดนั้นพบน้อย (ร้อยละ 0-10) ขึ้นกับชนิดของผ่าตัดอื่นๆร่วมที่คุณได้รับ ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยมีการสะสมจนเกิดเป็นก้อนเลือดขังที่บริเวณช่องคลอดส่วนยอด ซึ่งมักจะระบายได้เองออกมาทางช่องคลอดจนยุบได้เองหลังผ่าตัด 7-10 วัน บางครั้งอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อช่วยระบายเลือดออก
  • การติดเชื้อหลังผ่าตัด แม้ว่าจะให้ยาปฏิชีวนะก่อนผ่าตัดและพยายามทุกวิถีทางที่จะให้การผ่าตัดปลอดเชื้ออย่างที่สุด แต่มีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดการติดเชื้อในช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานอยู่บ้าง อาการของการติดเชื้อ ได้แก่ ตกขาวมีกลิ่นเหม็นออกทางช่องคลอดและหรือมีไข้ การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 6-20 ของผู้ป่วยหลังผ่าตัดทางช่องคลอด และพบบ่อยยิ่งขึ้นในผู้ป่วยที่ใส่สายท่อสวนปัสสาวะ อาการที่พบ ได้แก่ อาการปัสสาวะแสบหรือเจ็บเหมือนเข็มตำ ปัสสาวะบ่อย ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าคุณมีการติดเชื้อเกิดขึ้นหรือไม่ ให้มาพบแพทย์
  • การบาดเจ็บของอวัยวะข้างเคียง พบได้ถึงร้อยละ 2 ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอดที่มีการบาดเจ็บของกระเพาะปัสสาวะ ท่อไตหรือไส้ตรง ส่วนรูรั่วของช่องคลอดนั้นอาจพบได้แต่เกิดขึ้นน้อยมาก
  • ภาวะปัสสาวะคั่ง ในช่วงวันแรกๆหลังผ่าตัด อาจเกิดอาการปัสสาวะลำบากขึ้นได้ร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วย ทำให้มีปัสสาวะคั่ง คุณอาจจำเป็นต้องได้รับการสวนหรือคาสายสวนปัสสาวะในช่วงไม่กี่วันหลังผ่าตัดนี้ไปจนกว่าจะสามารถขับถ่ายปัสสาวะได้เอง

เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ?

ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังผ่าตัด คุณควรจะสามารถขับขี่และทำกิจกรรมเบาๆ เช่น การเดินเป็นระยะทางสั้นๆ ได้เป็นอย่างดี คุณควรหลีกเลี่ยงการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากและการเล่นกีฬาเป็นเวลาอย่าง น้อย 6 สัปดาห์เพื่อให้แผลหายสนิทก่อน โดยทั่วไปแนะนำให้วางแผนหยุดงานนาน 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้แนะนำเรื่องนี้แก่คุณขึ้นกับประเภทของงานและชนิดของการผ่าตัดที่คุณได้รับ โดยทั่วไปคุณสามารถเริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้โดยปลอดภัยหลังผ่าตัดผ่านไปแล้ว 6 สัปดาห์

ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
9 กันยายน 2556

แก้ไขปรับปรุง 10 เมษายน 2557

เอกสารอ้างอิง

International Urogynecological Association (IUGA). Vaginal Hysterectomy for Prolapse: A Guide for Women. 2011.