การพักฟื้นหลังการผ่าตัดซ่อมเสริมและ/หรือผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด

เรื่องที่คุณผู้หญิงควรรู้ก่อนและหลังผ่าตัดแก้ไขภาวะยื่นย้อย

โดย ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร

  1. คุณจะประสบกับอะไรบ้างหลังหลังผ่าตัดซ่อมเสริมและหรือผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด?
  2. ความเจ็บปวด/ความไม่สะดวกสบายหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร?
  3. ป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำได้อย่างไร?
  4. การทำงานของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ในระยะหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร?
  5. การกลับคืนสู่สภาวะปกติหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร?
  6. สิ่งที่คุณควรหลีกเลี่ยงในระยะ 6 สัปดาห์หลังผ่าตัดซ่อมเสริมและหรือมดลูกทางช่องคลอด?
  7. อาหารที่คุณควรรับประทานหลังผ่าตัดซ่อมเสริมและหรือมดลูกทางช่องคลอด?
  8. คุณสามารถอาบนํ้าฝักบัวและแช่ในอ่างอาบนํ้าได้หรือไม่?
  9. หลังผ่าตัดอาการตกขาวเป็นอย่างไร?
  10. เมื่อไรคุณควรจะสอบถามเพื่อขอคำแนะนำทางการแพทย์เพิ่มเติม?
  11. เมื่อไรคุณจะสามารถกลับไปเป็นปกติหลังผ่าตัด?
  12. เมื่อไรคุณจะสามารถขับรถได้หลังผ่าตัดซ่อมเสริมและหรือมดลูกทางช่องคลอด?
  13. เมื่อไรคุณจะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อีก?
  14. เมื่อไรคุณจะกลับมาทำงานได้อีก?

คุณจะประสบกับอะไรบ้างหลังหลังผ่าตัดซ่อมเสริมและหรือผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด?

หลังผ่าตัดทันที คุณอาจมีสายสวนปัสสาวะคาอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเพื่อเป็นทางระบายนํ้าปัสสาวะลงสู่ถุงปัสสาวะ และอาจมีผ้ากอซอยู่ในช่องคลอดเพื่อกดแผลไว้ไม่ให้เลือดออก แพทย์จะผู้พิจารณาว่าควรใส่ไว้นานเท่าไร โดยทั่วไปมักอยู่ในช่วงระหว่าง 8-24 ชั่วโมง

ความเจ็บปวด/ความไม่สะดวกสบายหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร?

คุณอาจรู้สึกปวดหรือไม่สะดวกสบายบ้างที่บริเวณขาหนีบ ช่องคลอด และบริเวณท้องน้อยได้ในระยะหลังผ่าตัด ในกรณีที่คุณได้รับการผ่าตัดแขวนช่องคลอดหรือมดลูกไว้กับเอ็นยึดกระดูก คุณอาจรู้สึกเจ็บแปลบหรือปวดลึกๆในบริเวณก้นได้ ส่วนใหญ่อาการเจ็บปวดหรือไม่สบายนี้จะเริ่มดีขึ้นภายใน 1 หรือ 2 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาจนานได้หลายสัปดาห์

ขณะนอนพักในโรงพยาบาล คุณจะได้รับยาระงับปวดอย่างสมํ่าเสมอเพื่อให้คุณรู้สึกสบาย เมื่อคุณได้รับการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล คุณจะได้รับยาระงับปวดกลับไปด้วย ส่วนยาระงับปวดสามัญที่มีขายทั่วไปสามารถใช้ได้ผลดีเช่นกัน

ควรรับประทานยาระงับปวดอย่างสมํ่าเสมอในระยะหลังผ่าตัดใหม่ๆ เพื่อให้ควบคุมความเจ็บปวดได้ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องรอให้อาการปวดรุนแรงก่อนแล้วจึงเริ่มรับประทานยา การที่คุณไม่รู้สึกปวดจะช่วยให้คุณเคลื่อนไหวได้ดีและฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วกว่า หากคุณมีอาการปวดรุนแรงมากและไม่ลดลงหลังจากรับประทานยาระงับปวด กรุณากลับมาพบแพทย์

ป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำได้อย่างไร?

ภายหลังผ่าตัด คุณมีความเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำของขาเพิ่มขึ้น แพทย์อาจให้ใส่ถุงน่องหรือใช้ผ้าพันรัดขาทั้งสองข้าง และอาจให้ฉีดยาทุกวันเพื่อช่วยลดความเสี่ยงนี้

ขณะที่นอนพักบนเตียงคุณควรทำกายบริหารง่ายๆ โดยการหมุนข้อเท้าเป็นวง งอและเหยียดขาเป็นพักๆทุกๆชั่วโมง หลีกเลี่ยงการไขว้ขา ให้คุณเริ่มบริหารหลังผ่าตัดโดยเร็ว (ภายใต้การแนะนำ) บางครั้งอาจแนะนำให้ใช้วิธีป้องกันอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณมีปัญหาสุขภาพที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด แพทย์จะอภิปรายกับคุณถึงความเสี่ยงนี้

การทำงานของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ในระยะหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร?

หลังผ่าตัดซ่อมเสริมช่องคลอด คุณอาจสังเกตว่าในระยะแรกปัสสาวะจะไหลช้าและคุณต้องใช้เวลานานกว่าปกติในการปัสสาวะให้หมด พบว่าร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยอาจมีปัสสาวะไม่หมดหลังผ่าตัด และอาจจำเป็นต้องสวนปัสสาวะช่วยจนกว่าเนื้อเยื่อจะยุบลงและกระเพาะปัสสาวะกลับมาทำงานปกติก่อน (ปกติมักใช้เวลา 1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัด)

อาการท้องผูก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยหลังการผ่าตัด ฉะนั้น ในระยะก่อนและหลังผ่าตัดคุณจึงควรรับประทานผักผลไม้และอาหารที่มีเส้นใยร่วมกับดื่มนํ้าให้มากเพียงพอซึ่งจะทำให้อุจจาระนุ่ม หลังผ่าตัดมักให้รับประทานยาระบายประเภทที่ช่วยให้อุจจาระนุ่มเพื่อช่วยแก้ปัญหาท้องผูก ให้คุณรับประทานยานี้ให้สมํ่าเสมอในระยะแรกหลังกลับไปบ้าน เพราะการหลีกเลี่ยงการออกแรงเบ่งอย่างมากที่ทำให้มีแรงดันต่อแผลที่เย็บไว้ในช่องคลอด บางรายมีอาการปวดแปลบๆหรือแสบๆในไส้ตรงภายหลังการผ่าตัดซึ่งจะหายไปได้เองภายในไม่กี่วัน

การกลับคืนสู่สภาวะปกติหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร?

หลังผ่าตัดคุณจะยังรู้สึกอ่อนเพลียได้ง่ายกว่าปกติ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณควรพักผ่อนให้มากเพียงพอและสังเกตว่าร่างกายของคุณตอบสนองคุณอย่างไร

ให้คุณเริ่มเดินรอบๆบ้านก่อน และเมื่อรู้สึกว่าร่างกายพร้อมจึงเพิ่มกิจกรรมซึ่งรวมถึงการเดินเป็นระยะทางสั้นๆในชีวิตประจำวันของคุณ การเดินเป็นการออกกำลังกายที่ดีเพราะว่ามีแรงดันต่อแผลผ่าตัดซ่อมเสริมน้อยมาก ในช่วงอย่างน้อย 6 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด ให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่เพิ่มความฟิตของร่างกาย ตัวอย่างเช่น การวิ่งเหยาะๆ (jogging) การเดินเร็วๆที่ใช้กำลังมาก การเต้นแอโรบิก เป็นต้น การขมิบหรือบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานนั้นสามารถเริ่มทำได้เมื่อคุณรู้สึกพร้อม โดยทั่วไปมักเริ่มหลังผ่าตัด 1-2 สัปดาห์ (กรุณาอ่านบทความเรื่อง “การขมิบหรือบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่ถูกต้อง” หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม)

สิ่งที่คุณควรหลีกเลี่ยงในระยะ 6 สัปดาห์หลังผ่าตัดซ่อมเสริมและหรือมดลูกทางช่องคลอด?

  1. การยกสิ่งของที่มีนํ้าหนักมากและทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก คุณไม่ควรยกหรือหิ้วสิ่งของที่มีนํ้าหนักเกิน 5-7 กิโลกรัม การยกสิ่งของที่มีนํ้าหนักทำให้มีแรงดันกระทำต่อแผลผ่าตัดซ่อมเสริมและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการยื่นย้อยเป็นซํ้า
  2. การอุ้มเด็กเล็ก การไปจ่ายตลาดอย่างหนัก การทำสวน และทำงานบ้านหนักๆ เข่น การดูดฝุ่น การยกตะกร้าเสื้อผ้า การเคลื่อนย้ายเครื่องเรือน เป็นต้น
  3. การออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก เช่น การออกกำลังแบบแอโรบิก วิ่ง ขี่ม้า ฟิตเนส และการยกนํ้าหนัก เพราะการออกกำลังกายเหล่านี้ทำให้มีแรงกดดันที่บริเวณพื้นอุ้งเชิงกราน
  4. หยุดสูบบุหรี่ เพราะว่าทำให้การหายของแผลช้าลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อแผลติดเชื้อ

อาหารที่คุณควรรับประทานหลังผ่าตัดซ่อมเสริมและหรือมดลูกทางช่องคลอด?

คุณสามารถรับประทานและดื่มได้ตามปกติหลังผ่าตัด เมื่อความอยากรับประทานอาหารของคุณกลับมาปกติ เป้าหมายของการรับประทานอาหารคือเพื่อให้คุณได้รับสารอาหารทั้งหมดที่ร่างกายต้องการ อาหารที่รับประทานควรมีเส้นใยมากเช่น อาหารที่มีส่วนผสมของธัญพืช ผลไม้จำพวกพลัมแห้ง กีวี เป็นต้น และควรดื่มนํ้าให้ได้ปริมาณ 2-2.5 ลิตรต่อวันเพื่อให้การขับถ่ายเป็นปกติ

คุณสามารถอาบนํ้าฝักบัวและแช่ในอ่างอาบนํ้าได้หรือไม่?

โดยทั่วไปผู้ป่วยจะรู้สึกสบายที่จะอาบนํ้าในวันแรกหลังผ่าตัด ในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด แนะนำให้อาบนํ้าฝักบัวมากกว่าการนอนแช่ในอ่างอาบนํ้า เพราะว่าวัสดุเย็บยังคงปรากฏอยู่ในช่องคลอด

หลังผ่าตัดอาการตกขาวเป็นอย่างไร?

หลังผ่าตัดอาจมีเลือดออกบ้างทางช่องคลอด ตามด้วยมีตกขาวปกติสีขาวอมเหลืองคล้ายครีม ซึ่งอาจเป็นได้นานถึง 6 เดือนเพราะวัสดุเย็บแผลจะค่อยๆถูกดูดซึมไป ในระยะแรกเลือดที่ออกจะมีสีแดงสดแล้วต่อมาจะมีสีคลํ้าขึ้นเป็นสีนํ้าตาล ปริมาณเลือดที่ออกแปรปรวนไปในแต่ละวัน ถ้าคุณมีเลือดออกมากเป็นเลือดสดๆหรือเป็นลิ่มจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ให้กลับมาพบแพทย์

ในช่วง 6 สัปดาห์แรกแนะนำให้ใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นเท่านั้น ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอดในช่องคลอด

เมื่อไรคุณควรจะสอบถามเพื่อขอคำแนะนำทางการแพทย์เพิ่มเติม?

ถ้าคุณมีปัญหาตกขาวจำนวนมากหรือมีกลิ่นผิดปกติหรือมีเลือดออกทางช่องคลอด, มีปัสสาวะแสบหรือเจ็บเหมือนเข็มตำเวลาปัสสาวะ, ปวดท้องมากขึ้น, อาเจียน, ไข้, ขามีอาการปวดบวม, หายใจขัดหรือเจ็บหน้าอก ให้กลับมาพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม

เมื่อไรคุณจะสามารถกลับไปเป็นปกติหลังผ่าตัด?

ผู้ป่วยแต่ละคนมีอัตราเร็วของการฟื้นตัวหลังผ่าตัดแตกต่างกันขึ้นกับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ สุขภาพและความฟิตของร่างกายก่อนผ่าตัด การมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น และชนิดของการผ่าตัดเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณควรสังเกตร่างกายของคุณ พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าพยายามฝืนร่างกายให้ทำงานจนหนักเกินไป โดยทั่วไปใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ที่ร่างกายจะค่อยๆได้รับการเยียวยาจนหาย และพลังของคุณจะค่อยๆกลับคืนมาเช่นเดิม

เมื่อไรคุณจะสามารถขับรถได้หลังผ่าตัดซ่อมเสริมและหรือมดลูกทางช่องคลอด?

คุณไม่ควรขับขี่รถถ้าคุณรับประทานยาระงับปวดที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน หรือคุณยังไม่มีความมั่นใจว่าคุณสามารถหยุดรถอย่างกะทันหันตามต้องการได้ทันที โดยทั่วไปแนะนำให้หลีกเลี่ยงการขับขี่เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ ถ้าไม่แน่ใจให้สอบถามแพทย์ก่อน บริษัทประกันสุขภาพบางแห่งห้ามผู้เอาประกันขับขี่รถในระยะหลังผ่าตัด กรุณาตรวจสอบรายละเอียดในกรมธรรม์ของคุณเอง

เมื่อไรคุณจะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อีก?

แนะนำให้คุณงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลานาน 6 สัปดาห์หลังจากผ่าตัด ในช่วงแรกการมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้คุณปวดหรือรู้สึกไม่สบายเล็กน้อย จึงควรใช้ความนุ่มนวลและค่อยเป็นค่อยไป การใช้สารหล่อลื่นช่องคลอดอาจช่วยได้ถ้าคุณมีรู้สึกว่าช่องคลอดแห้ง ถ้าอาการปวดหรือรู้สึกไม่สบายขณะมีเพศสัมพันธ์ยังคงมีอยู่หลังผ่าตัดผ่านไปแล้ว 3-4 เดือน แม้ว่าจะพยายามมีเพศสัมพันธ์อย่างสมํ่าเสมอ ให้กลับมาพบปรึกษาแพทย์

เมื่อไรคุณจะกลับมาทำงานได้อีก?

การที่คุณจะกลับมาทำงานได้อีกขึ้นกับชนิดของงานและจำนวนชั่วโมงการทำงานของคุณ ตลอดจนคุณไปกลับจากที่ทำงานได้อย่างไร แพทย์จะช่วยคุณตัดสินใจว่าควรหยุดงานนานเท่าไร ผู้ป่วยส่วนใหญ่หยุดพักงานนาน 2-6 สัปดาห์ ในระยะแรกที่กลับไปทำงาน แนะนำให้คุณพยายามจัดตารางงานของคุณให้เวลาทำงานลดลงและเริ่มต้นด้วยงานเบาๆก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้างานของคุณเกี่ยวข้องกับการยืนหรือยกสิ่งของหนัก

ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3 กันยายน 2556

แก้ไขปรับปรุง 7 มีนาคม 2557

เอกสารอ้างอิง International Urogynecological Association (IUGA). Recovery following vaginal repair surgery/vaginal hysterectomy: a guide for women. 2011.