การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด (sacrocolpopexy) เพื่อรักษาสตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน

ผศ. นพ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร


  1. การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด คืออะไร?
  2. มีอะไรเกิดขึ้นกับผู้ป่วยบ้าง ขณะได้รับการผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด?
  3. การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดมีผลสำเร็จอย่างไร?
  4. ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง?
  5. ก่อนการผ่าตัดควรเตรียมตัวอย่างไร?
  6. การพักฟื้นของผู้ป่วยหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร?

อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนหรือยื่นย้อยเป็นภาวะที่พบบ่อย อันก่อให้เกิดอาการ ได้แก่ ความรู้สึกถ่วงหรือหน่วงลงมาในช่องคลอด และขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก ตลอดจนมีอาการปวดหลัง พบว่าประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องรับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะมดลูกหรือช่องคลอดยื่นย้อย

การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด คืออะไร?

การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด คือ การผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะช่องคลอดส่วนบนยื่นย้อยในผู้ป่วยสตรีที่เคยได้รับการผ่าตัดมดลูกมาก่อน รูปที่ 1 และ 2 การผ่าตัดนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ช่องคลอดกลับมามีกายวิภาคปกติและยังสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อีกต่อไป นอกจากนี้ มีการผ่าตัดที่คล้ายคลึงกันซึ่งทำในผู้ป่วยที่มีช่องคลอดหย่อนแต่ยังมีมดลูกอยู่ และไม่ต้องการตัดมดลูกทิ้ง เรียกว่า การผ่าตัดเย็บแขวนมดลูก (sacrohysteropexy)

รูปที่ 1 แสดงกายวิภาคปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของสตรีที่เคยผ่าตัดมดลูก

รูปที่ 2 แสดงภาวะช่องคลอดหย่อนในสตรีที่ได้เคยผ่าตัดมดลูก

มีอะไรเกิดขึ้นกับผู้ป่วยบ้างขณะได้รับการผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด?

ผู้ป่วยจะได้การระงับความรู้สึกโดยวิสัญญีแพทย์เหมือนเช่นการผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดสามารถกระทำได้ผ่านทางแผลเปิดหน้าท้องขนาดใหญ่ หรือผ่านแผลเล็กๆบริเวณหน้าท้องโดยใช้กล้องส่องช่องท้อง หรือใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ในขั้นแรกแพทย์จะผ่าตัดเลาะช่องคลอดให้แยกออกจากกระเพาะปัสสาวะทางด้านหน้า และไส้ตรงทางด้านหลัง แล้วใช้วัสดุปลูกถ่ายที่เป็นตาข่ายซึ่งทำจากใยสังเคราะห์ มาคลุมและเย็บยึดไว้กับผนังช่องคลอดทั้งบริเวณด้านหน้าและด้านหลัง จากนั้น จึงเย็บปลายอีกด้านของตาข่ายไปยึดกับเนื้อเยื่อด้านหน้าของกระดูกใต้กระเบนเหน็บ เพื่อแขวนช่องคลอดไว้ รูปที่ 3 แล้วเย็บเยื่อบุช่องท้องคลุมปิดตาข่ายทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้ลำไส้เข้าไปติดกับผิวตาข่ายนี้ การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดนี้สามารถทำไปพร้อมๆกับการผ่าตัดอื่นๆ ได้แก่ การผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงหรือซ่อมเสริมกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ยื่นย้อย

รูปที่ 3 แสดงการผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดหรือแขวนมดลูกยึดกับกระดูกใต้กระเบนเหน็บ
(แสดงตำแหน่งมดลูกดังเส้นประ)

การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดมีผลสำเร็จอย่างไร?

การศึกษาพบว่าร้อยละ 80-90 ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแขวนช่องคลอดนี้หายจากภาวะยื่นย้อย หลังการผ่าตัดมีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะเกิดการยื่นย้อยของช่องคลอดบริเวณอื่นๆ เช่น ผนังช่องคลอดด้านหน้าที่พยุงกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งหากเกิดขึ้นอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดต่อไปเพื่อแก้ไขต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด ไม่ว่าจะผ่าตัดผ่านทางแผลเปิดหน้าท้องหรือผ่านกล้อง ได้แก่

  • อาการปวด (เกิดขึ้นทั่วไป หรือขณะร่วมเพศ) พบได้ร้อยละ 2-3
  • การโผล่ของตาข่ายในช่องคลอด พบได้ร้อยละ 2-3
  • การบาดเจ็บของกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ หรือท่อไต พบได้ร้อยละ 1-2

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงโดยทั่วไปของการผ่าตัด ได้แก่ แผลติดเชื้อ การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ การเสียเลือดซึ่งอาจจำเป็นต้องให้เลือด และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ แพทย์ผู้ผ่าตัดและวิสัญญีแพทย์จะอภิปรายถึงความเสี่ยงใดๆที่อาจมีเพิ่มเติมซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวคุณก่อนการผ่าตัด

ก่อนการผ่าตัดควรเตรียมตัวอย่างไร?

ยาบางชนิดเช่น แอสไพริน ที่คุณอาจรับประทานเป็นประจำมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด และอาจจำเป็นต้องหยุดก่อนการผ่าตัด (ภายใต้การแนะนำของแพทย์) แพทย์บางท่านอาจแนะนำให้มีการเตรียมลำไส้ก่อนการผ่าตัด ซึ่งแพทย์ที่ดูแลคุณจะเป็นผู้สั่งการรักษานี้แก่คุณ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องงดรับประทานอาหารและดื่มน้ำเป็นเวลา 6 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด

การพักฟื้นของผู้ป่วยหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยจะได้รับการนอนพักในโรงพยาบาลอยู่ในช่วงระหว่าง 2-5 วัน ขึ้นกับว่าคุณได้รับการผ่าตัดผ่านทางแผลเปิดหน้าท้องหรือผ่านกล้อง ในระยะ 6 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัดคุณควรหลีกเลี่ยงการทำงานบ้านที่หนักหรือออกแรงยกของ เช่น หิ้วถุงหรือตะกร้าใส่ของจ่ายตลาด ยกตะกร้าใส่เสื้อผ้า ลากเครื่องดูดฝุ่น เป็นต้น หลังผ่าตัดการเดินช้าๆเป็นการออกกำลังกายที่ดี ควรเริ่มต้นเดินช้าๆประมาณ 10 นาทีต่อวัน เมื่อคุณรู้สึกว่าร่างกายคุณพร้อมแล้วจึงค่อยๆเพิ่มเวลาให้นานขึ้น ในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแบบฟิตเนส หรือแอโรบิก เป็นต้น รวมถึงการว่ายน้ำ แช่ในอ่างสปา และการร่วมเพศ โดยทั่วไปควรหยุดงานเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ และอาจนานกว่านี้ถ้างานของคุณอยู่ในประเภทที่ใช้กำลังกาย

ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

20 กรกฎาคม 2556

แก้ไขปรับปรุง 18 เมษายน 2557

เอกสารอ้างอิง

International Urogynecological Association (IUGA). Sacrocolpopexy. 2011.