การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูก ในสตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน

โดย ผศ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร


  1. การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูกคืออะไร?
  2. ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?
  3. หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?
  4. การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร?
  5. มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง?
  6. เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ?

การยื่นย้อยของช่องคลอดหรือมดลูกเป็นภาวะที่พบบ่อย พบว่าร้อยละ 11 ของสตรีจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะนี้ตลอดช่วงวัยของชีวิต การยื่นย้อยดังกล่าวอาจเป็นผลจากความเสียหายของเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่พยุงมดลูกและช่องคลอดซึ่งเกิดขึ้นในขณะคลอด

อาการของการยื่นย้อยนี้ได้แก่ มีก้อนนูนออกหรือรู้สึกตึงแน่นในช่องคลอด หรือมีก้อนยื่นพ้นปากช่องคลอดออกมาด้านนอก รูปที่ 1 และ 2 อาจทำให้มีรู้สึกถ่วงๆหรือหน่วงๆลงมาในช่องคลอด หรือปวดหลังส่วนล่าง และขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก ในผู้ป่วยบางคนอาจรบกวนการมีเพศสัมพันธ์เล็กน้อยไปจนขัดขวางการมีเพศสัมพันธ์

รูปที่ 1 การยื่นย้อยของมดลูก

รูปที่ 2 การยื่นย้อยของช่องคลอดส่วนยอด (หลังผ่าตัดมดลูก)

การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูกคืออะไร?

การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูกเป็นการผ่าตัดเพื่อทำให้การพยุงของมดลูกหรือช่องคลอดส่วนบน (ส่วนยอดของช่องคลอดของผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดมดลูก) กลับคืนเป็นปกติ

เอ็นยึดมดลูก (uterosacral ligament) คือ โครงสร้างของร่างกายซึ่งแข็งแรงและทำหน้าที่พยุงมดลูกไว้ โดยยึดปากมดลูกไว้กับกระดูกใต้กระเบนเหน็บ (อยู่ที่บริเวณปลายล่างของกระดูกสันหลัง) หากเอ็นยึดมดลูกนี้อ่อนแอและยืดออก จะส่งผลให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนและยื่นย้อยลงมา

การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูก กระทำโดยการเย็บเอ็นยึดมดลูกนี้ให้กลับไปติดกับส่วนยอดหรือส่วนบนสุดของช่องคลอด ผลจึงเป็นการแขวนหรือพยุงช่องคลอดส่วนยอดให้กลับคืนสู่กายวิภาคปกติ รูปที่ 3 การผ่าตัดนี้สามารถทำได้ผ่านทางช่องคลอด ผ่านทางแผลเปิดหน้าท้อง หรือผ่านกล้องส่องช่องท้อง (ผ่านแผลเล็กๆที่หน้าท้อง) แพทย์จะอภิปรายกับคุณถึงทางเลือกเหล่านี้ที่เหมาะสมกับคุณ บางครั้งการผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูกอาจทำร่วมกับการผ่าตัดมดลูกในคราวเดียวกัน เพื่อลดความเสี่ยงของการยื่นย้อยในอนาคต และสามารถทำผ่าตัดนี้ร่วมกับหัตถการอื่นๆที่ใช้แก้ไขภาวะยื่นย้อยหรือภาวะปัสสาวะเล็ดราดได้เช่นกัน

รูปที่ 3 การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูก

ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?

คุณจะได้รับการซักประวัติถามถึงสุขภาพทั่วไปและยาที่รับประทานเป็นประจำ รวมทั้งการสืบค้นต่างๆที่จะจำเป็น ตัวอย่างเช่น การตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเอ็กซเรย์ทรวงอก นอกจากนั้น คุณจะได้รับสารสนเทศเกี่ยวกับการรับเข้าโรงพยาบาล การพักในโรงพยาบาล การผ่าตัด การดูแลก่อนและหลังผ่าตัด

หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?

เมื่อคุณตื่นฟื้นจากยาระงับความรู้สึก คุณจะได้รับการให้สารน้ำหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ และอาจใส่สายสวนปัสสาวะ แพทย์อาจใส่ผ้ากอซไว้ในช่องคลอดเพื่อช่วยกดห้ามเลือดออกในเนื้อเยื่อ ซึ่งทั้งผ้ากอซและสายสวนปัสสาวะจะได้รับการถอดออกภายในเวลา 24-48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด

ในช่วง 4 – 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด อาจมีตกขาวเป็นสีขาวอมเหลืองคล้ายครีมได้เป็นปกติ เกิดขึ้นได้เพราะว่ามีวัสดุเย็บแผลในช่องคลอด โดยตกขาวนี้จะมีปริมาณลดลงไปเรื่อยๆและหายไปในที่สุดเมื่อวัสดุเย็บถูกดูดซึมหายไป หากตกขาวของคุณมีกลิ่นเหม็นผิดปกติให้กลับมาพบแพทย์ นอกจากนี้ คุณอาจมีตกขาวปนเลือดเล็กน้อยหลังผ่าตัดทันที หรือเริ่มเกิดขึ้นหลังผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์ เลือดที่เห็นมักมีลักษณะจางๆและมีสีน้ำตาลแบบเลือดเก่าๆ ซึ่งเป็นผลจากการสลายตัวของลิ่มเลือดที่ค้างอยู่ใต้ผิวช่องคลอดไหลปนตกขาวออกมาซึ่งจะหยุดได้เอง

การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร?

กล่าวโดยทั่วไปผลการผ่าตัดมีอัตราสำเร็จอยู่ที่ร้อยละ 80-90 แต่มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำในอนาคต หรือมีช่องคลอดด้านอื่นยื่นย้อยเกิดขึ้นใหม่ซึ่งคุณอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขอีกต่อไป

มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง?

การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูกนั้นย่อมมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกชนิดที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้เสมอ ต่อไปนี้คือภาวะแทรกซ้อนทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นตามหลังการผ่าตัดใดๆก็ตาม

  • ปัญหาทางวิสัญญี ซึ่งพบน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากเครื่องดมยาสลบ ยาที่ใช้ในการระงับความรู้สึกและเครื่องมือที่ใช้เฝ้าสังเกตผู้ป่วยมีความทันสมัยขึ้นกว่าในอดีต การผ่าตัดสามารถทำได้ภายใต้การระงับความรู้สึกเฉพาะที่หรือการดมยาสลบทั่วไป วิสัญญีแพทย์ผู้ดูแลจะอภิปรายถึงวิธีที่เหมาะสมที่สุดกับคุณ
  • เลือดออกหรือมีก้อนเลือดขัง ภาวะเลือดออกที่รุนแรงและจำเป็นต้องได้รับเลือดนั้นพบน้อยหลังการผ่าตัดทางช่องคลอดทั่วไป การมีก้อนเลือดขัง คือ การมีเลือดออกและสะสมรอบๆบริเวณที่ผ่าตัดจนเป็นก้อนขึ้น ซึ่งมักระบายออกได้เอง แต่อาจเกิดการติดเชื้อขึ้นได้และจำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหรือเจาะเพื่อระบาย
  • การติดเชื้อหลังผ่าตัด แม้ว่าจะให้ยาปฏิชีวนะก่อนผ่าตัดและพยายามทุกวิถีทางที่จะให้การผ่าตัดปลอดเชื้ออย่างที่สุด แต่มีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดการติดเชื้อในช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานอยู่บ้าง อาการของการติดเชื้อได้แก่ ตกขาวมีกลิ่นเหม็นออกทางช่องคลอด ไข้และปวดในอุ้งเชิงกรานหรือไม่สบายในช่องท้อง หากคุณรู้สึกไม่ปกติให้กลับมาพบแพทย์
  • การติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ) เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 6 ของผู้ป่วยหลังผ่าตัดและพบบ่อยยิ่งขึ้นในผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะ อาการที่พบได้แก่ อาการปัสสาวะแสบหรือเจ็บเหมือนเข็มตำ ปัสสาวะบ่อยและบางครั้งน้ำปัสสาวะมีเลือดปนได้ โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ง่ายด้วยยาปฏิชีวนะ
  • ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดของขา/ปอด เป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด คุณอาจได้รับการพันขาหรือใส่ถุงน่องรัดขาเพื่อลดความเสี่ยงนี้ และในบางคนอาจได้รับการยาฉีดร่วมด้วย อย่างไรก็ดี ภาวะแทรกซ้อนนี้พบน้อยมากในผู้ป่วยชาวไทยเมื่อเทียบกับชาติตะวันตก

ต่อไปนี้คือภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับการผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูก

  • การบาดเจ็บต่อท่อไต เกิดขึ้นได้ร้อยละ 1-10 ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูก ฉะนั้นขณะทำการผ่าตัดแพทย์จึงต้องส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ เพื่อตรวจสอบว่าท่อไตยังทำงานเป็นปกติ บางครั้งเมื่อเกิดการบาดเจ็บของท่อไต อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดต่อไปในภายหลังขึ้นกับชนิดของการบาดเจ็บนั้น
  • ปวดบริเวณก้น เป็นปัญหาระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งสามารถแก้ไขด้วยการให้ยาระงับปวด
  • ท้องผูก เป็นปัญหาระยะสั้นที่พบบ่อย และแพทย์อาจสั่งยาระบายเพื่อรักษา ให้พยายามรับประทานอาหารที่มีเส้นใยและดื่มน้ำปริมาณมากจะช่วยให้อาการดีขึ้น
  • เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีชีวิตทางเพศดีขึ้นหลังจากรักษาภาวะยื่นย้อย แต่บางคนอาจมีอาการเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์เนื่องจากแผลเป็นบริเวณช่องคลอดส่วนบนได้แต่เกิดขึ้นน้อยมาก

เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ?

ภายในระยะเวลา 1 เดือนหลังผ่าตัด คุณควรจะสามารถขับขี่และทำกิจกรรมเบาๆ เช่น การเดินเป็นระยะทางสั้นๆ ได้เป็นอย่างดี คุณควรหลีกเลี่ยงการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากและการเล่นกีฬาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์เพื่อให้แผลหายสนิทก่อน โดยทั่วไปแนะนำให้วางแผนหยุดงานนาน 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้แนะนำเรื่องนี้แก่คุณขึ้นกับประเภทของงานและชนิดของการผ่าตัดที่คุณได้รับ

คุณควรรอเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ก่อนที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ สตรีบางคนอาจจำเป็นต้องใช้สารหล่อลื่นช่วยขณะมีเพศสัมพันธ์ สารหล่อลื่นนี้สามารถซื้อหาได้ตามร้านขายยาหรือซุปเปอร์มาร์เกตทั่วไป แพทย์อาจแนะนำให้คุณใช้ยาครีมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนทาเป็นระยะเวลาหนึ่งหรือใช้ห่วงพยุงในช่องคลอด

หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาอ่านบทความเรื่อง “สตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนหรือยื่นย้อย”, “ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง”

ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
30 สิงหาคม 2556

แก้ไขปรับปรุง 18 เมษายน 2557

เอกสารอ้างอิง

International Urogynecological Association (IUGA). Uterosacral Ligament Suspension: A Guide for You. 2012.