การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูกหรือกล้ามเนื้อ

โดย ผศ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร


  1. การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูกหรือกล้ามเนื้อคืออะไร?
  2. ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?
  3. หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?
  4. การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร?
  5. มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง?
  6. เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ?

การยื่นย้อยของช่องคลอดหรือมดลูกเป็นภาวะที่พบบ่อย พบว่าร้อยละ 11 ของสตรีจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะนี้ตลอดช่วงวัยของชีวิต การยื่นย้อยดังกล่าวมักเกิดจากความเสียหายของเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่พยุงมดลูกและช่องคลอดซึ่งเกิดขึ้นในขณะคลอด

อาการของการยื่นย้อยนี้ได้แก่ มีก้อนนูนออกหรือรู้สึกตึงแน่นในช่องคลอด หรือมีก้อนยื่นพ้นปากช่องคลอดออกมาด้านนอก รูปที่ 1 และ 2 อาจทำให้มีรู้สึกถ่วงๆหรือหน่วงๆลงมาในช่องคลอด หรือปวดหลังส่วนล่าง และขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก ในผู้ป่วยบางคนอาจรบกวนการมีเพศสัมพันธ์เล็กน้อยไปจนขัดขวางการมีเพศสัมพันธ์

รูปที่ 1 การยื่นย้อยของมดลูก

รูปที่ 2 ช่องคลอดส่วนยอด (หลังผ่าตัดมดลูก)หย่อนร่วมกับภาวะยื่นย้อยของกระเพาะปัสสาวะและไส้ตรง

การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูกหรือกล้ามเนื้อคืออะไร?

การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูก

เป็นการผ่าตัดเพื่อทำให้การพยุงของมดลูกหรือช่องคลอดส่วนบน (ส่วนยอดของช่องคลอดของผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดมดลูก) กลับคืนเป็นปกติ โดยผ่าตัดผ่านทางช่องคลอดเข้าไปเพื่อเย็บปากมดลูกหรือช่องคลอดส่วนยอดเข้ากับเอ็นยึดกระดูกที่แข็งแรง ซึ่งมีชื่อว่า sacrospinous ligament ซึ่งอาจทำข้างเดียวหรือสองข้าง รูปที่ 3 และ 4 โดยใช้วัสดุเย็บที่คงอยู่ถาวร หรือค่อยๆถูกดูดซึมเมื่อเวลาผ่านไปก็ได้ เพราะในที่สุดจะถูกแทนที่ด้วยเนื้อเยื่อแผลเป็น (scar) ซึ่งทำหน้าที่พยุงช่องคลอดหรือมดลูกต่อไป การผ่าตัดนี้มักทำร่วมกับการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด และ/หรือผ่าตัดอื่นๆเพื่อแก้ไขภาวะยื่นย้อยของกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ หรือแก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ดราด

รูปที่ 3 การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดส่วนยอดกับเอ็นยึดกระดูกข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง

รูปที่ 4 การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดส่วนยอดและมดลูกกับเอ็นยึดกระดูกข้างขวา

การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน

เป็นการผ่าตัดคล้ายคลึงกับการผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูก แต่เย็บแขวนช่องคลอดส่วนยอดหรือปากมดลูกกับเยื่อพังผืดที่คลุมกล้ามเนื้อชื่อว่า ileococcygeus แทนเอ็นยึดกระดูก รูปที่ 5 ผลสำเร็จของการผ่าตัดและภาวะแทรกซ้อนเฉกเช่นเดียวกับการผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูก

รูปที่ 5 การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดส่วนยอดกับกล้ามเนื้อทั้งสองข้าง

ก่อนการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?

คุณจะได้รับการซักประวัติถามถึงสุขภาพทั่วไปและยาที่รับประทานเป็นประจำ รวมทั้งการสืบค้นต่างๆที่จะจำเป็น ตัวอย่างเช่น การตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเอ็กซเรย์ทรวงอก นอกจากนั้น คุณจะได้รับสารสนเทศเกี่ยวกับการรับเข้าโรงพยาบาล การพักในโรงพยาบาล การผ่าตัด การดูแลก่อนและหลังผ่าตัด

หลังการผ่าตัดคุณจะประสบกับอะไรบ้าง?

เมื่อคุณตื่นฟื้นจากยาระงับความรู้สึก คุณจะได้รับการให้สารน้ำหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ และอาจใส่สายสวนปัสสาวะ แพทย์อาจใส่ผ้ากอซไว้ในช่องคลอดเพื่อช่วยกดห้ามเลือดออกในเนื้อเยื่อ ซึ่งทั้งผ้ากอซและสายสวนปัสสาวะจะได้รับการถอดออกภายในเวลา 24-48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด

ในช่วง 4 – 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด อาจมีตกขาวเป็นสีขาวอมเหลืองคล้ายครีมได้เป็นปกติ เกิดขึ้นได้เพราะว่ามีวัสดุเย็บแผลในช่องคลอด โดยตกขาวนี้จะมีปริมาณลดลงไปเรื่อยๆและหายไปในที่สุดเมื่อวัสดุเย็บถูกดูดซึมหายไป หากตกขาวของคุณมีกลิ่นเหม็นผิดปกติให้กลับมาพบแพทย์ นอกจากนี้ คุณอาจมีตกขาวปนเลือดเล็กน้อยหลังผ่าตัดทันที หรือเริ่มเกิดขึ้นหลังผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์ เลือดที่เห็นมักมีลักษณะจางๆและมีสีน้ำตาลแบบเลือดเก่าๆ ซึ่งเป็นผลจากการสลายตัวของลิ่มเลือดที่ค้างอยู่ใต้ผิวช่องคลอดไหลปนตกขาวออกมาซึ่งจะหยุดได้เอง

การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร?

กล่าวโดยทั่วไปผลการผ่าตัดมีอัตราสำเร็จอยู่ที่ร้อยละ 80-90 แต่มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำในอนาคต หรือมีช่องคลอดด้านอื่นยื่นย้อยเกิดขึ้นใหม่ซึ่งคุณอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขอีกต่อไป

มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง?

การผ่าตัดเย็บแขวนเอ็นยึดมดลูกนั้นย่อมมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกชนิดที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้เสมอ ต่อไปนี้คือภาวะแทรกซ้อนทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นตามหลังการผ่าตัดใดๆก็ตาม

  • ปัญหาทางวิสัญญี ซึ่งพบน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากเครื่องดมยาสลบ ยาที่ใช้ในการระงับความรู้สึกและเครื่องมือที่ใช้เฝ้าสังเกตผู้ป่วยมีความทันสมัยขึ้นกว่าในอดีต การผ่าตัดสามารถทำได้ภายใต้การระงับความรู้สึกเฉพาะที่หรือการดมยาสลบทั่วไป วิสัญญีแพทย์ผู้ดูแลจะอภิปรายถึงวิธีที่เหมาะสมที่สุดกับคุณ
  • เลือดออก ภาวะเลือดออกที่รุนแรงและจำเป็นต้องได้รับเลือดนั้นพบน้อยหลังการผ่าตัดทางช่องคลอดทั่วไป
  • การติดเชื้อหลังผ่าตัด แม้ว่าจะให้ยาปฏิชีวนะก่อนผ่าตัดและพยายามทุกวิถีทางที่จะให้การผ่าตัดปลอดเชื้ออย่างที่สุด แต่มีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดการติดเชื้อในช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานอยู่บ้าง อาการของการติดเชื้อได้แก่ ตกขาวมีกลิ่นเหม็นออกทางช่องคลอด ไข้และปวดในอุ้งเชิงกรานหรือไม่สบายในช่องท้อง หากคุณรู้สึกไม่ปกติให้กลับมาพบแพทย์
  • การติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ) เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 6 ของผู้ป่วยหลังผ่าตัดและพบบ่อยยิ่งขึ้นในผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะ อาการที่พบได้แก่ อาการปัสสาวะแสบหรือเจ็บเหมือนเข็มตำ ปัสสาวะบ่อยและบางครั้งน้ำปัสสาวะมีเลือดปนได้ โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ง่ายด้วยยาปฏิชีวนะ

ต่อไปนี้คือภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับการผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอด/มดลูกกับเอ็นยึดกระดูกหรือกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

  • ปวดบริเวณก้น พบได้ประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดการแบบนี้ ซึ่งเกิดขึ้นในสัปดาห์แรกๆหลังผ่าตัด และอาการจะดีขึ้นได้เอง สามารถแก้ไขด้วยการให้ยาระงับปวด นอกจากนี้ ยังพบอาการเจ็บแปลบหรือแสบในไส้ตรงได้ แต่เป็นอยู่ในระยะเวลาสั้นๆ
  • ท้องผูก เป็นปัญหาระยะสั้นที่พบบ่อย และแพทย์อาจสั่งยาระบายเพื่อรักษา ให้พยายามรับประทานอาหารที่มีเส้นใยและดื่มน้ำปริมาณมากจะช่วยให้อาการดีขึ้น
  • เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ สตรีบางรายอาจมีอาการเจ็บปวดหรือรู้สึกไม่สบายในอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์หลังผ่าตัด แม้ว่าจะได้พยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นทุกวิถีทางแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี สตรีบางรายพบว่าการร่วมเพศนั้นสะดวกสบายมากขึ้นหลังผ่าตัด

เมื่อไรคุณจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติประจำ?

ภายในระยะเวลา 1 เดือนหลังผ่าตัด คุณควรจะสามารถขับขี่และทำกิจกรรมเบาๆ เช่น การเดินเป็นระยะทางสั้นๆ ได้เป็นอย่างดี คุณควรหลีกเลี่ยงการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากและการเล่นกีฬาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์เพื่อให้แผลหายสนิทก่อน โดยทั่วไปแนะนำให้วางแผนหยุดงานนาน 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้แนะนำเรื่องนี้แก่คุณขึ้นกับประเภทของงานและชนิดของการผ่าตัดที่คุณได้รับ

คุณควรรอเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ก่อนที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ สตรีบางคนอาจจำเป็นต้องใช้สารหล่อลื่นช่วยขณะมีเพศสัมพันธ์ สารหล่อลื่นนี้สามารถซื้อหาได้ตามร้านขายยาหรือซุปเปอร์มาร์เกตทั่วไป แพทย์อาจแนะนำให้คุณใช้ยาครีมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนทาเป็นระยะเวลาหนึ่งหรือใช้ห่วงพยุงในช่องคลอด

หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาอ่านบทความเรื่อง “สตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน”, “ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง”

ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร
หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
31 สิงหาคม 2556

แก้ไขปรับปรุง 18 เมษายน 2557

เอกสารอ้างอิง

International Urogynecological Association (IUGA). Sacrospinous Fixation/Ileococcygeus Suspension: A Guide for Women. 2011.