ภาวะมีบุตรยาก  (Infertility)

 นพ.โอภาส เศรษฐบุตร


คำจำกัดความ

ภาวะมีบุตรยาก หมายถึง การที่คู่สมรสไม่สามารถมีการตั้งครรภ์ได้ โดยที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกันอย่างสม่ำเสมอและไม่ได้คุมกำเนิดมาเป็นระยะเวลา 1 ปี (1) หรือระยะเวลา 6 เดือนในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหญิงที่มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป (2)

ภาวะมีบุตรยากแบบปฐมภูมิ (Primary infertility) หมายถึง ภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสที่ไม่เคยมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นมาก่อนเลย

ภาวะมีบุตรยากแบบทุติยภูมิ (Secondary infertility) หมายถึง ภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสที่เคยมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยที่ไม่ว่าการตั้งครรภ์นั้นที่เป็นการตั้งครรภ์ที่สิ้นสุดลงด้วยการแท้งหรือการคลอดก็ตาม

Fecundability หมายถึง โอกาสที่คู่สมรสจะตั้งครรภ์ในหนึ่งรอบประจำเดือน ซึ่งคู่สมรสปกติมี fecundability rate อยู่ที่ประมาณร้อยละ 20-25 และจะเป็นอัตราที่คงที่ทุกรอบเดือน

แต่จากการศึกษาพบว่า อัตราการตั้งครรภ์รวมใน 1 ปี คือ ร้อยละ 93 และภายใน 3 เดือนแรก ประมาณร้อยละ 50 ของคู่สมรสจะตั้งครรภ์ได้ แต่ในเดือนที่ 4 – 6 มีคู่สมรสเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่สามารถตั้งครรภ์ได้ อัตราดังกล่าวมานี้เป็นกุญแจสำคัญในการรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยวิธีการต่างๆที่ใช้ในการรักษาภาวะมีบุตรยากนั้น เพื่อเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ให้เท่าหรือใกล้เคียงกับคู่สมรสปกติ คือ ร้อยละ 20-25

Fecundity หมายถึง โอกาสที่คู่สมรสจะมีการตั้งครรภ์และการตั้งครรภ์นั้นสามารถดำเนินไปจนถึงการคลอดบุตรมีชีพ ภายใน 1 รอบประจำเดือน

โดยทั่วไปประมาณร้อยละ 85 ของคู่สมรสจะสามารถมีบุตรได้ภายใน 1 ปี หลังการแต่งงาน และประมาณร้อยละ 95 ของคู่สมรสจะมีบุตรได้ภายใน  2 ปี แต่ภาวะมีบุตรยากมีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหาที่เพิ่มความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากพฤติกรรมทางเพศของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป การมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน และการเปลี่ยนคู่เพศสัมพันธ์บ่อยๆ การทำแท้งผิดกฎหมายที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเกิดการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะในช่องเชิงกรานได้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะมีบุตรยาก อีกทั้งในปัจจุบันนี้สตรีมีโอกาสได้รับการศึกษาสูงขึ้น พร้อมที่จะแต่งงานและมีบุตรช้าลง ทำให้อุบัติการณ์การมีบุตรยากในปัจจุบันสูงเพิ่มมากขึ้น อุบัติการณ์ของภาวะมีบุตรยากในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาพบว่ามีประมาณร้อยละ 12 ในฝ่ายหญิงที่มีอายุ 15-44 ปี ซึ่งอุบัติการณ์ในประเทศไทยก็พบว่า มีอัตราที่ไม่แตกต่างกัน(3)

สาเหตุของภาวะมีบุตรยากนี้พบได้แตกต่างกันไปในแต่ละคู่สมรส สาเหตุอาจเกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายได้ ส่วนการรักษาเพื่อช่วยให้มีบุตรก็แตกต่างกันตามสาเหตุของแต่ละคู่สมรส ซึ่งมีได้ตั้งแต่ระดับที่ง่ายๆ ไปจนถึงการช่วยเหลือในขั้นสูงด้วยวิธีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น เด็กหลอดแก้ว การทำอิ๊กซี่ เป็นต้น

ปัจจัยที่มีผลต่อการตั้งครรภ์โดยวิธีธรรมชาติ

การตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ

  1. ฝ่ายชายสามารถสร้างตัวอสุจิที่มีจำนวน รูปร่าง และการเคลื่อนไหวในเกณฑ์ปกติ
  2. ท่อนำอสุจิของฝ่ายชายไม่มีการอุดตัน
  3. ฝ่ายชายมีการแข็งตัวของอวัยวะเพศ และสามารถหลั่งน้ำอสุจิเข้าไปในช่องคลอดได้
  4. ตัวอสุจิต้องเคลื่อนที่เข้าไปถึงปากมดลูก ผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูก และเข้าไปตามท่อนำไข่ เพื่อปฏิสนธิกับไข่ได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
  5. ฝ่ายหญิงสามารถผลิตไข่ที่ปกติได้ และมีการตกไข่เข้าไปในท่อนำไข่ได้
  6. ไข่ที่ถูกผสมเป็นตัวอ่อนที่ปกติแล้ว ต้องเคลื่อนเข้าไปในโพรงมดลูกได้ และมีการฝังตัวเข้าไปในเยื่อบุโพรงมดลูกที่พร้อมรองรับการฝังตัว
  7. ตัวอ่อนที่ฝังตัวแล้ว สามารถเจริญเป็นทารกต่อไปได้

ความสามารถในการมีบุตรของคู่สมรส

ความสามารถในการมีบุตรของคู่สมรสขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  1. อายุของฝ่ายหญิง

ฝ่ายหญิงที่มีอายุระหว่าง 21-25 ปี จะเป็นช่วงอายุที่มีความสามารถในการมีบุตรได้สูงสุด(4) และหลังจากนั้นโอกาสของการตั้งครรภ์จะค่อยๆลดลง ตามอายุที่มากขึ้น ดังนั้นหากคู่สมรสที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป และพยายามมีบุตรมาเป็นระยะเวลามากกว่า 6 เดือน ก็ควรได้รับการตรวจและรักษาภาวะมีบุตรยากได้

  1. อายุของฝ่ายชาย

ในคู่สมรสที่ฝ่ายชายมีอายุ 55 ปี ขึ้นไป จะมีความผิดปกติของอสุจิมากขึ้น(5)

  1. ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์

ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ มีผลโดยตรงต่อการตั้งครรภ์ เนื่องจากอสุจิที่สร้างขึ้นมาใหม่มีคุณภาพดีและแข็งแรงกว่าอสุจิที่สร้างมานานแล้ว และตัวอสุจิจะสามารถมีชีวิตอยู่ในท่อนำไข่ของฝ่ายหญิงได้ประมาณ 2 วัน ดังนั้นความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ที่เหมาะสมคือ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์

  1. ระยะเวลาของการแต่งงาน

ในระยะเวลา 18 เดือนแรกของการแต่งงาน อัตราการตั้งครรภ์สะสมจะเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น คือ ร้อยละ 60, 80 และ 90 หลังการแต่งงาน 6 เดือน 12 เดือน และ 18 เดือนตามลำดับ แต่หลังจากนั้นหากไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น อาจเกิดจากสาเหตุของการมีบุตรยาก ซึ่งต้องการการตรวจวินิจฉัยและการรักษา

ปัจจัยของการมีบุตรยากในคู่สมรสฝ่ายหญิง

  1. สุขภาพกาย ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอยู่ มีผลทำให้ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์น้อยลง ทำให้โอกาสของการตั้งครรภ์น้อยลงด้วย
  2. สุขภาพจิต ความเครียด ความวิตกกังวล โรคจิต โรคประสาท มีผลทำให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ มีการตกไข่นานๆครั้ง หรือไม่มีการตกไข่เลย
  3. ความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งจะมีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์โดยตรง
  4. ความผิดปกติในช่องเชิงกราน เช่น มีเยื่อพังผืด เนื้องอก ซึ่งยึดเบียดทำให้ท่อนำไข่ทำงานได้ไม่ปกติ
  5. ความผิดปกติของการทำงานของต่อมไร้ท่ออื่นๆ เช่น ไฮโปธาลามัส ต่อมใต้สมอง ต่อมธัยรอยด์ และต่อมหมวกไต เป็นต้น

ปัจจัยของการมีบุตรยากในคู่สมรสฝ่ายชาย

  1. ปัญหาทั่วๆไป เช่น มีโรคประจำตัว ทำงานหนัก มีคู่เพศสัมพันธ์หลายคน ติดสุรา บุหรี่ ยาเสพติด ทำให้การมีเพศสัมพันธ์ห่างและการสร้างตัวอสุจิน้อยลง
  2. ภาวะจิตใจ ความเครียด กังวล ตื่นเต้น มีผลทำให้อวัยวะไม่แข็งตัว (impotent) หรือภาวะมีการหลั่งอสุจิเร็วเกินไป (premature ejaculation)
  3. ความผิดปกติแต่กำเนิดของอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น ลูกอัณฑะไม่ลงในถุง หรือเซลสร้างตัวอสุจิไม่เจริญ
  4. การสร้างอสุจิ หรือการผ่านออกของน้ำอสุจิผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นมาแต่กำเนิดหรือจากการอักเสบของอัณฑะ เช่น คางทูม กามโรค
  5. ความผิดปกติของการทำงานของต่อมไร้ท่ออื่นๆ เช่น ไฮโปธาลามัส ต่อมใต้สมอง ต่อมธัยรอยด์ และต่อมหมวกไต เป็นต้น

หลักสำคัญในดูแลคู่สมรสมีบุตรยาก

  1. ตรวจค้นหาและแก้ไขสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก โดยการประเมินและให้การรักษาที่เหมาะสม ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วสตรีมักจะสามารถตั้งครรภ์ได้
  2. ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์และภาวะมีบุตรยาก และลบล้างความเชื่อและข้อมูลที่ได้รับผิดพลาดมา
  3. ให้คำแนะนำปรึกษาและการรักษาเพื่อให้มีบุตร
  4. ให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจควบคู่ไปกับด้านร่างกาย รวมทั้งให้คำแนะนำแก่คู่สมรสว่าเมื่อใดควรจะหยุดการสืบค้นและรักษา ให้การพยากรณ์โรคและคำแนะนำทางเลือก เช่น การรับบุตรบุญธรรม

การประเมินภาวะมีบุตรยาก

  1. การซักประวัติ ได้แก่ ประวัติครอบครัวและสังคมของคู่สมรสทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ประวัติการเจ็บป่วยและการรักษาด้วยยาและการผ่าตัดที่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะมีบุตรยาก ประวัติรอบเดือนของคู่สมรสฝ่ายหญิง ประวัติการคุมกำเนิด การใช้สารหล่อลื่นในการมีเพศสัมพันธ์ ประวัติการคุมกำเนิด ประวัติที่เกี่ยวข้องกับภาวะความผิดปกติของระบบฮอร์โมนสืบพันธุ์สตรี เช่น ภาวะน้ำนมไหล ภาวะขนดก ภาวะบุรุษเพศ การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว
    1. การตรวจร่างกาย ได้แก่ การตรวจร่างกายทั่วไปอย่างละเอียด รวมทั้งความสูง น้ำหนัก ความยาวของแขนจากปลายมือข้างหนึ่งถึงปลายมืออีกข้างหนึ่งในขณะกางแขน การกระจายของขน การพัฒนาของเต้านม การมีน้ำนมไหล การตรวจภายในสตรี และการตรวจอวัยวะเพศชาย เพื่อดูขนาด รูปร่าง และลักษณะของอัณฑะทั้งสองข้าง การตรวจคลำเพื่อหาภาวะเส้นเลือดขอดในถุงอัณฑะ และรูเปิดของท่อปัสสาวะ
    2. การตรวจหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก ในปัจจุบันการตรวจที่มีหลักฐานว่ามีประโยชน์ในการดูแลรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยาก มีอยู่ 3 อย่าง คือ

3.1.   การตรวจอสุจิ

3.2.  การตรวจหาความผิดปกติของการตกไข่ โดยการวัดระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในระยะ midluteal

3.3.  การตรวจท่อนำไข่

ส่วนการตรวจอื่น เช่น การตรวจปัจจัยด้านปากมดลูกหรือการทำ postcoital test  การตรวจวัด basal body temperature หรือ BBT chart การตรวจการทำงานของอสุจิหรือ sperm function tests  นั้นไม่มีหลักฐานว่ามีประโยชน์ต่อการดูแลรักษา จึงไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน

การตรวจอสุจิ

การตรวจน้ำอสุจิ ซึ่งเป็นการตรวจที่สามารถให้คำตอบและบอกแนวทางการรักษาได้ทันที เมื่อเปรียบเทียบการสืบค้นหาสาเหตุในฝ่ายหญิงที่ค่อนข้างยุ่งยากกว่า และอาจมีความเสี่ยง เช่น การตรวจดูการอุดตันของท่อนำไข่ด้วยการฉีดสีและเอ็กซ์เรย์หรือการเจาะท้องส่องกล้อง การตรวจควรแนะนำให้คู่สมรสงดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันตรวจเป็นเวลา 2-7 วัน และนำน้ำอสุจิส่งตรวจภายใน 1 ชั่วโมงภายหลังที่เก็บได้ โดยการเก็บด้วยตนเองใส่ภาชนะที่เตรียมให้เท่านั้น ไม่แนะนำให้มีการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแล้วหลั่งข้างนอกเพื่อเก็บน้ำอสุจิ เนื่องจากอาจมีการสูญเสียน้ำอสุจิส่วนต้นๆที่มีความเข็มข้นของตัวอสุจิสูงไป หรือใช้ถุงยางอนามัยเนื่องจากอาจมีสารที่ทำลายอสุจิได้ และสำหรับผลการตรวจที่ผิดปกติไม่ได้หมายความว่า คู่สมรสจะไม่สามารถมีการตั้งครรภ์ได้เลย เนื่องจากประมาณร้อยละ 20-25 ของคู่สมรสมีบุตรยาก ที่ฝ่ายชายมีความเข้มข้นของตัวอสุจิน้อยกว่าร้อยละ 20 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร สามารถมีการตั้งครรภ์ได้เอง แต่ระยะเวลาจนกว่าจะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นอาจนานกว่าคู่สมรสปกติ

        แนวทางการประเมินการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ

ตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกณฑ์ของการวิเคราะห์น้ำอสุจิที่ถือว่าปกติต้องผ่านเกณฑ์ดังต่อไปนี้

ปริมาตร (volume) มากกว่า หรือเท่ากับ 2 มิลลิลิตร
ความหนาแน่นของตัวอสุจิ  (sperm concentration) มากกว่าหรือเท่ากับ 20 ล้านตัวต่อมิลลิลิตรหรือ
จำนวนของตัวอสุจิทั้งหมด (total sperm concentration) มากกว่า หรือเท่ากับ 40 ล้านตัว
การเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ (sperm motility) มากกว่า หรือเท่ากับร้อยละ 50 มีการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า
รูปร่าง ลักษณะ (morphology) มากกว่า หรือเท่ากับร้อยละ 14 มีรูปร่างลักษณะปกติ
จำนวนเม็ดเลือดขาว (WBC) น้อยกว่า 1 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร
ความเป็นกรด-ด่าง (pH) 7.2 หรือมากกว่า
การมีชีวิต (vitality) มากกว่า หรือเท่ากับร้อยละ 75

การตรวจความผิดปกติของการตกไข่

ในปัจจุบันการตรวจความผิดปกติของการตกไข่ที่เป็นที่ยอมรับว่ามีประโยชน์คือ การตรวจวัดระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในในกระแสเลือดที่กึ่งกลางของระยะลูเทียล (midluteal serum progesterone level) โดยจะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจในช่วงประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนที่ประจำเดือนมา ระดับของโปรเจสเตอโรนที่มากกว่า 5 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตรแสดงว่ามีการตกไข่ในรอบนั้น ส่วนระดับที่มากกว่า 10 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร นอกจากจะบอกว่ามีการตกไข่แล้วยังช่วยยืนยันถึงการทำงานที่ปกติของคอร์ปัสลูเตียมด้วย

ส่วนการตรวจวัด basal body temperature และการตรวจหาฮอร์โมน LH ในปัสสาวะนั้น ไม่พบว่ามีประโยชน์มากกว่าการมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ  2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ การตรวจหาฮอร์โมน LH ในปัสสาวะอาจมีประโยชน์ในรายที่สามีภรรยาอยู่คนละที่และจำเป็นต้องหาช่วงที่จะมีเพศสัมพันธ์ให้ใกล้เคียงกับช่วงตกไข่

การประเมินท่อนำไข่ มดลูก และอวัยวะในอุ้งเชิงกราน

ความผิดปกติที่ท่อนำไข่พบว่าเป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยากได้ประมาณร้อยละ 30-50 ซึ่งส่วนใหญ่ของภาวะอุดตันของท่อนำไข่มักเกิดภายหลังการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ภาวะไส้ติ่งอักเสบและมีการแตกของไส้ติ่งร่วมด้วย การติดเชื้อจากการทำแท้ง ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ รวมทั้งในรายที่เคยมีการผ่าตัดในอุ้งเชิงกรานมาก่อน สำหรับความผิดปกติของมดลูกที่เป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยากนั้นพบได้น้อย เพียงประมาณร้อยละ 2 เท่านั้น ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น bicornuate uterus หรือ septate uterus หรือเกิดภายหลังก็ได้ เช่น ภาวะเนื้องอกมดลูก หรือพังผืดในโพรงมดลูก  ส่วนความผิดปกติภายในอุ้งเชิงกราน เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือ พังผืดในอุ้งเชิงกราน

การตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของท่อนำไข่ โพรงมดลูก และอุ้งเชิงกรานนั้นสามารถตรวจได้ด้วยวิธีการฉีดสารทึบรังสีและเอ็กซ์เรย์ (hysterosalpingogram; HSG) และการส่องกล้อง (endoscopy) ในการตรวจด้วยวิธี HSG นั้นทำโดยการฉีดสารทึบรังสี 5-10 มิลลิลิตรผ่านปากมดลูกแล้วทำการถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์ ซึ่งจะทำให้เห็นเงารูปร่างของโพรงมดลูกและท่อนำไข่ ทำให้สามารถบอกพยาธิสภาพในโพรงมดลูก เช่น submucous leiomyoma, endometrial polyp หรือ intrauterine adhesion ได้ และสามารถบอกได้ว่าท่อนำไข่อุดตันหรือไม่ได้ แต่ไม่สามารถบอกพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานบางอย่าง เช่น endometriosis ได้ ในขณะที่การส่องกล้องเพื่อตรวจพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน (laparoscopy) ร่วมกับการฉีดสี เช่น indigo carmine หรือ methylene  blue ทำให้สามารถตรวจการอุดตันของท่อนำไข่ และตรวจพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานได้ และการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (hysteroscopy) ก็สามารถตรวจความผิดปกติในโพรงมดลูก นอกจากนี้การส่องกล้องยังสามารถผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติทั้งในอุ้งเชิงกรานและในโพรงมดลูกได้ในคราวเดียวกัน แต่การส่องกล้องก็มีข้อด้อยคือเป็นการตรวจที่ invasive มากกว่า มีความเสี่ยงทั้งจากการให้การระงับความเจ็บปวดและจากตัวหัตถการเอง และยังมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการฉีดสารทึบรังสีและเอ็กซ์เรย์อีกด้วย ในทางปฏิบัติในรายที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีพยาธิสภาพ เช่น เคยมีประวัติการอักเสบในอุ้งเชิงราน การผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน ประวัติปวดประจำเดือนชนิด progressive หรือปวดท้องน้อยเรื้อรัง อาจเริ่มโดยการตรวจด้วยวิธีการฉีดสารทึบรังสีและเอ็กซ์เรย์แทนที่จะเป็นวิธีการส่องกล้อง

ภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ (Unexplained infertility)

คู่สมรสมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ คือคู่สมรสมีบุตรยากที่ได้รับการตรวจหาสาเหตุของการมีบุตรยากแล้วจนครบตามมาตรฐานแล้ว เช่น การประเมินการตกไข่ การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ การประเมินการอุคตันของท่อนำไข่ แต่ไม่พบความผิดปกติ โดยจะพบได้ร้อยละ 10 – 15 ของคู่สมรสทั้งหมด แต่ในกลุ่มนี้อาจพบสาเหตุได้หลังจากได้ทำการรักษาไปแล้ว เช่นพบปัญหาในการปฏิสนธิจากการทำเด็กหลอดแก้ว เป็นต้น

หลักการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยทั่วไป

หลักการรักษาภาวะมีบุตรยากนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละคู่สมรส ซึ่งจะขึ้นกับสาเหตุและความผิดปกติที่พบ โดยแนวทางการรักษาโดยทั่วไปมีดังตาราง(6)

สาเหตุ แนวทางการรักษา
ความผิดปกติของท่อนำไข่ การผ่าตัดแก้ไข หรือการทำเด็กหลอดแก้ว
รังไข่ทำงานผิดปกติ การชักนำให้ไข่ตก
การมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้คำแนะนำ

กระตุ้นไข่และฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูก

การทำเด็กหลอดแก้ว

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ การผ่าตัด การทำเด็กหลอดแก้ว
ความผิดปกติของอสุจิ ให้คำแนะนำ

กระตุ้นไข่และฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูก

การทำเด็กหลอดแก้ว หรือการทำ ICSI

สรุป

หลักสำคัญในการดูแลรักษาคู่สมรสมีบุตรยากซึ่งมีแนวโน้มที่จะพบสูงขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน คือต้องประเมินหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในแต่ละคู่ และให้การรักษาที่เหมาะสมตามสาเหตุนั้นๆ อีกทั้งควรให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องแก่คู่สมรส เพื่อช่วยในการตัดสินใจรับการรักษาของคู่สมรส และนอกจากนี้ต้องให้การดูแลด้านจิตใจควบคู่ไปกับด้านร่างกายด้วยเสมอ

เอกสารอ้างอิง

1. Practice Committee of the American Society for Reproductive Medicine. Definition of “infertility”. Fertil Steril. 2006 Nov;86(5 Suppl 1): S228.

2. American Society for Reproductive Medicine. Definitions of infertility and recurrent pregnancy loss. Fertil Steril 2008; 89: 1603.

3. Tuntiseranee P, Olsen J, Chongsuvivatwong V, Limbutara S. Fecundity in Thai and European regions: result based on waiting time to pregnancy. Hum Reprod 1998; 471-7.

4. Federation C, Schwartz D, Mayaux MJ. Female fecundity as a function of age: results of articial insemination in 2193 nulliparous women with azoospermic husbands. N ENgl J Med 1982; 306: 404-6.

5. Levitas E, Lunenfeld E, Weisz N, Friger M, Potashnik G. Relationship between age and semen parameters in men with normal sperm concentration: analysis of 6022 semen samples. Andrologia 2007 Apr; 39(2): 45-50.

6. อร่าม โรจนสกุล. บทบาทของการปฏิสนธินอกร่างกายในการดูแลรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยาก.ใน: อร่าม โรจนสกุล, สมพร ชินสมบูรณ์, editors. การปฏิสนธินอกร่างกายทางคลินิก.กรุงเทพฯ: เยลโล่การพิมพ์; 2539. หน้า 5.