How we get to this point?

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
How do we get to this point?

รศ. ดร. นพ. วีรวิทย์ ปิยะมงคล


ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นภาควิชาหลักที่ก่อตั้งมาพร้อมกันกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ.2501 นักศึกษาแพทย์รุ่นแรกมีจำนวน 65 คน เรียนเตรียมแพทย์ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แล้วจึงย้ายมาเรียนที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ.2504 เมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2507 คณะแพทยศาสตร์ได้โอนย้ายจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์มาสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2508

ที่ตั้งภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาเดิมอยู่ด้านทิศตะวันออกของคณะแพทยศาสตร์ บริเวณติดกับภาควิชาจิตเวชในปัจจุบัน เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ปัจจุบันใช้งานเป็นหอพักพยาบาล หลังจากนั้นจึงย้ายมายังชั้น 3 อาคาร 7 ชั้น (อาคารบุญสม มาร์ติน) ที่อยู่ในปัจจุบัน ในวันที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เดินทางมาทำพิธีลงเสาเข็มตึกคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.พญ.สุรีย์ สิมารักษ์ กำลังทำผ่าตัด caesarean section ผู้ป่วย abdominal pregnancy ที่ตั้งครรภ์มานานหลายเดือน induction เท่าไรก็ไม่คลอดเสียที

คณาจารย์รุ่นแรกที่ร่วมก่อตั้งภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ได้แก่ ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์, ศ.พญ.ดวงเดือน คงศักดิ์, ศ.นพ.วรวุธ สุมาวงศ์ ต่อมาก็มี รศ.พญ.ศุภร ศิลปิศรโกศล และ รศ.พญ.สุรีย์ สิมารักษ์ โดย ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาฯคนแรก ภาควิชาฯได้มีความเจริญพัฒนาก้าวหน้าต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันตามลำดับ ดังนี้ ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาฯ คนแรก พ.ศ.2504-2518, ศ.พญ.ดวงเดือน คงศักดิ์ รักษาการหัวหน้าภาควิชาฯ ระหว่างที่ ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ ศึกษาต่อต่างประเทศ พ.ศ.2504-2507 (ก่อนที่จะย้ายไป รพ.ศิริราช และ รพ.รามาธิบดี), รศ.พญ.ศุภร ศิลปิศรโกศร พ.ศ.2518-2528, รศ.นพ.กำจัด สวัสดิโอ พ.ศ.2528-2536, ผศ.นพ.วิรัช เจริญเอี่ยม พ.ศ.2536-2539, รศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล พ.ศ.2539-2547, ศ.นพ.จตุพล ศรีสมบูรณ์ พ.ศ.2547-2551, รศ.นพ.ชเนนทร์ วนาภิรักษ์ พ.ศ.2551-2555, รศ.ดร.นพ.วีรวิทย์ ปิยะมงคล พ.ศ.2555-ปัจจุบัน

แพทย์ประจำบ้านรุ่นแรกได้แก่ รศ.นพ.กำจัด สวัสดิโอ และพญ.พวงเพ็ญ ริมดุสิต เริ่มฝึกอบรมในปี พ.ศ.2503 ในปีเดียวกันนั้น รศ.พญ.ศุภร ศิลปิศรโกศล ซึ่งปฎิบัติงานเป็นอาจารย์ประจำอยู่แล้ว กำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ขณะนั้นรศ.พญ.สุรีย์ สิมารักษ์ ได้จบการฝึกอบรมจาก รพ.จุฬาลงกรณ์ และสมัครเป็นอาจารย์ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ แต่ตำแหน่งเต็ม อ.นพ.วิกุล ที่ รพ.ศิริราช ได้ชวนมาเป็นอาจารย์ประจำที่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2503 จากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศในปี พ.ศ.2506 ศ.นพ.กอสิน อมาตยกุล กลับมาจาก Edinburgh มาเป็นอาจารย์ประจำ ในปี พ.ศ.2507

ในสมัยแรก ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ มีกฎว่าหัวหน้าภาควิชาฯ จะต้องเป็นคนตรวจภายในก่อนผ่าตัดแต่เพียงผู้เดียว และมีการประชุม in service meeting ร่วมกับฝ่ายพยาบาล ซึ่งมี อ.ปราณีต สวัสดิรักษา เป็นหัวหน้าพยาบาลหน่วยสูติกรรม ศ.นพ.หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและประสบการณ์ในการผ่าตัด vesico-vaginal fistula (V-V Fistula) อย่างมาก ซึ่งถ่ายทอดให้กับรศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล ในรุ่นต่อมา นอกจากนี้ ท่านยังมีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัด radical hysterectomy และ radical vulvectomy และเป็นคนแรกที่รายงานกรณีผู้ป่วย amoebic vaginitis

ศ.นพ.กอสิน อมาตยกุล เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการหมุนทารกท่าก้นให้กลับมาเป็นท่าหัว การทำหัตถการ embryotomy ในกรณีที่เกิดการคลอดติดขัด (obstructed labor) ของทารกที่อยู่ท่าขวางและเสียชีวิตแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดโดยเทคนิคผ่าตัด Marshall-Marchetti-Krantz (MMK) เป็นผู้ก่อตั้งและคณบดีคนแรกของบัณฑิตวิทยาลัยที่ดูแลการเรียนการสอนของนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกของทั้งมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการ reproductive endocrinology และริเริ่มการใช้เทคนิค radioimmunology assay

ในยุคสมัยนั้น อัตราตายของมารดาและทารกสูงมาก สตรีตั้งครรภ์มักเข้ามาในโรงพยาบาลพร้อมกับภาวะแทรกซ้อนสูง ในช่วงที่ รศ.พญ.ศุภร ศิลปิศรโกศร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ได้มอบหมายให้ รศ.พญ.สุรีย์ สิมารักษ์ แก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้ก่อตั้ง high-risk clinic ริเริ่มปรับปรุงการดูแลสตรีตั้งครรภ์ ควบคุมระบบระเบียบการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน มีระบบ first call, second call medical staffing วางแผนการดูแลผู้ป่วยครรภ์เป็นพิษอย่างเป็นระบบ ในสมัยนั้นพบโรค cardiac beriberi บ่อย ให้การรักษาโดยการฉีดวิตามินบีให้อาการก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาวะมดลูกแตกก็พบมากมาย เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อพยายามคลอดเองที่บ้านไม่สำเร็จ ซึ่งส่วนมากจะพยายามกันอยู่หลายวัน นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มให้มีการแบ่งการดูแลออกเป็นหน่วยต่างๆ ดังต่อไปนี้ 1) หน่วย Perinatology โดยมี รศ.พญ.สุรีย์ สิมารักษ์ เป็นหัวหน้าหน่วย 2) หน่วย Infertile and family planning โดยมี ผศ.นพ.ธวัชชัย ตัณสถิตย์ เป็นหัวหน้าหน่วย และ 3) หน่วย Gynaecologic oncology โดยมี ผศ.นพ.วิรัช เจริญเอี่ยม เป็นหัวหน้าหน่วย

คณาจารย์ในภาควิชาฯ ทุกท่านตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีความเป็นผู้บุกเบิกและมีชื่อเสียงในทางวิชาการทั้งด้านการเรียนการสอนและการทำหัตถการเวชปฏิบัติต่าง ๆ ทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ที่สำคัญ ได้แก่ ผศ.นพ.ธวัชชัย ตัณสถิตย์ ริเริ่มการทำ laparoscopic examination และ epidural anesthesia สำหรับ painless labor ผศ.นพ.วิโรจน์ สหพงษ์ ริเริ่มการทำหมันผ่านทางช่องคลอด ผศ.นพ.ประโยชน์ จงอยู่สุข ริเริ่มการทำหมันโดยใช้ laprocator และ falope ring ผศ.นพ.จำนง อุตวิชัย และรศ.พญ.พรรณี ศิริวัฒนาภา ริเริ่มการตรวจอัลตราซาวน์ทารกในครรภ์ รศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล หลังกลับจากการศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัย Heidelberg ประเทศเยอรมนี เป็นผู้ริเริ่มการเจาะตรวจน้ำคร่ำ (amniocentesis) โดยในยุคแรกของห้องปฎิบัติการ ศ.นพ.ต่อพงษ์ สงวนเสริมศรี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ พยายามเพาะเลี้ยงเซลล์เพื่อตรวจโครโมโซมแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ยุคต่อมา รศ.ดร.อำนาจ มีเวที ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ พยายามเลี้ยงเซลล์แต่ไม่ประสบความสำเร็จอีก จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคจาก รศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล จึงประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก และรศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล ยังเป็นผู้ริเริ่มการเจาะตรวจเนื้อรก (chorionic villus sampling, CVS) การเจาะตรวจเลือดสายสะดือทารกในครรภ์ (cordocentesis และ fetal blood sampling, FBS) ในการตรวจวินิจฉัยและการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งคลินิกให้คำปรึกษาก่อนสมรส (premarital counseling clinic)

ด้านการเรียนการสอน ผศ.นพ.สมพงษ์ คุณเลิศกิจ หลังจากจบการศึกษาต่อด้านแพทยศาสตรศึกษาจากมหาวิทยาลัย Dundee สหราชอาณาจักร ที่มีชื่อเสียงด้านแพทยศาสตร์ศึกษาเป็นอันดับหนึ่ง เป็นผู้ที่ริเริ่มและมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอน จัดการหมุนเวียนเป็น 2 สายที่ประกอบด้วย อาจารย์ แพทย์ประจำบ้าน และนักศึกษาแพทย์ ดูแลจุดบริการ 8 จุด ได้แก่ หอผู้ป่วยสูติกรรม (OB1และ OB2) หอผู้ป่วยนรีเวช ห้องผ่าตัด ห้องคลอด ห้องตรวจ OPD3, OPD4, และ OPD5 โดยผลัดเปลี่ยนกันทุก 3 เดือน การฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา จะต้องมีการสอบเพื่อวุฒิบัตรของแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งแต่เดิมประกอบด้วย 3 ส่วน คือ บันทึกรายงานผู้ป่วย 20 ราย การสอบการตรวจร่างกาย และการสอบความรู้ทางพยาธิวิทยา รศ.นพ.ชัยรัตน์ คุณาวิกติกุล เป็นผู้ที่ริเริ่มให้มีการติวเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบบอร์ดขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลสำคัญบางส่วนที่แสดงถึงความเป็นมาของภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นเลิศ ทั้งด้านการเรียนการสอนระดับก่อนและหลังปริญญา การรักษาพยาบาล ตลอดจนงานวิจัย โดยรวบรวมเรียบเรียงจากหนังสือครบรอบ 25 ปี และ 40 ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการบอกเล่าของคณาจารย์อาวุโสที่มาพบปะสังสรรค์รับประทานอาหารกลางวันที่ภาควิชาฯ กันสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีอาจารย์อีกหลายท่านที่มีส่วนในการร่วมสร้างภาควิชาฯ ให้พัฒนาก้าวหน้ามาตราบจนปัจจุบัน และอาจยังมิได้อ้างอิงในที่นี้ หากพบข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใด ผู้เขียนใคร่ขออภัยมา ณ โอกาสนี้

บรรณานุกรม

1. นิมิตร มรกต. 4 ทศวรรษ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่ : คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2542

2. วัฒนา นาวาเจริญ. 50 ปี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่ : คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2552

Read More

ภาควิชาในยุคต้น

Department of OB & GYN in the Early Age

ศ. นพ. กอสิน อมาตยกุล


ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา เชียงใหม่ของเรา ได้รับการก่อตั้งมาพร้อมกับคณะแพทยศาสตร์ในปี พ.ศ. 2552 หัวหน้าภาควิชาคนแรกคือท่านอาจารย์แพทย์หญิง ดวงเดือน คงศักดิ์ ถูกขอยืมตัวมาจากศิริราชสักระยะ ก่อนที่เราจะได้ท่าน ศ.นพ.มจ.อำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา จนกระทั่งท่านถึงแก่ชีพตักษัยได้มีการจัดการเรียนการสอน การวิจัย พร้อมทั้งการดูแลรักษาผู้ป่วย ภาควิชาสูติฯ ในสมัยแรกเริ่มได้ใช้อาคารโรงพยาบาลเก่าของเมืองเชียงใหม่ เป็นที่ตั้ง เป็นอาคารไม้ อยู่ใกล้กับประตูสวนดอก ข้างใต้เป็นคูน้ำ สูติแพทย์ท่านอื่นๆ นอกจากท่านอาจารย์หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์หัวหน้าแผนกแล้วก็มีท่านอาจารย์ศุภร, ผู้เขียน, อาจารย์วราวุธ, อาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญแข ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ รพ.รามาธิบดี กรุงเทพฯ ส่วนอาจารย์พิศิษฐ์ หลังจากได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมันนี ได้ย้ายไปปฏิบัติงานด้าน gynaecological pathology ที่ ม.ขอนแก่น

ระยะแรกไม่มีแพทย์ฝึกหัด เราต้องผลัดกันอยู่เวร แม้กระนั้นอาจารย์หมอวราวุธ ยังใช้เวลาว่างเกือบทั้งหมด ฝึกให้ น.ศ.แพทย์ เต้น ballet และอาจารย์จะจัดให้มีการแสดงอย่างยิ่งใหญ่ที่วันธนาคารเกือบทุกปี ซึ่งเป็นกิจการที่สำคัญของเชียงใหม่ นศพ.นัก ballet เท่าที่จำได้ก็มี อ.จ.ธวัชชัย ของเรา และ อ.จ.พ.ญ.บุญสม ผลประเสริฐ แผนกเด็ก นอกเหนือจากนี้ อาจารย์ให้ นศพ. ไปจับกบตัวผู้มาทำ pregnancy test ด้วยเหตุที่ว่า morning urine จากคนท้องจะมี hormone HCG อยู่เป็นจำนวนมาก และเมื่อเอามาฉีดที่หลังของกบ HCG นี้จะมีผลทางชีวะวิทยาคล้ายๆ กับ pituitary LH ทำให้กบหลั่ง sperms ออกมาในกระเพาะปัสสาวะ ดังนั้นหลังฉีด 2-3 ชั่วโมง เมื่อเราดูดปัสสาวะออกมาตรวจดูจะเห็นว่ามี sperms ว่ายอยู่เป็นจำนวนมาก มาคิดดูอาจจะเห็นได้ว่าถ้ากบตัวนี้เผอิญไปผสมกับกบตัวเมียมาตลอดคืน อาจจะไม่มี sperms เหลืออยู่เลยก็ได้ซึ่งจะให้ผลเป็น false negative ผมเลยเอา test ที่ใช้ antigens-antibodies คือ haemoagglutination-inhibition-test ที่เชื่อถือได้มาใช้แทน

นี่ก็เป็นเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้ผมเปลี่ยนศึกษาทาง Endocrinology & Reproduction เพื่อจะได้นำกลับมาใช้ในการให้บริการต่อชุมชน ก่อนที่จะขอให้อาจารย์ธีระพร ซึ่งสนใจในวิชาแขนงนี้มาทำแทน

หลังจากนั้นเรามีคนไข้ทั้งที่ตั้งครรภ์ยากและพวกที่ตั้งครรภ์ง่ายต้องการคุมกำเนิดมาปรึกษาเรามากขึ้น ทำให้ต้องการได้ความรู้ทาง hormones และ reproduction มากขึ้น เลยตัดสินใจลาไปศึกษาต่อที่ สหรัฐอเมริการวมทั้งการนำเอา culdoscope มาทำหมันผ่านทางช่องคลอด ที่เรียกว่า culdoscopic tubal ligation ทำให้ไม่ต้องดมยาหรือคนไข้ไม่มีแผลหน้าท้อง ทางสถานีโทรทัศน์ที่ลำปางได้ขอให้ไปออกรายการพร้อมกับคนไข้ที่ได้ทำหมันด้วยวิธีนี้ ได้พยายามฝึกให้อาจารย์หมอวิโรจน์ทำแทน เนื่องจากผู้เขียนต้องไปรับงานที่บัณฑิตวิทยาลัย และไปเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพตามลำดับ เลยทำให้การทำหมันวิธีนี้ลดน้อยลงจนกระทั่งหายไป หลังจากนั้นอาจารย์ธวัชชัย จึงได้นำเอา laporoscope มาใช้แทน

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนี้คงจะหาอ่านได้จากเอกสารต่างๆ ของภาควิชาและของคณะ

Read More

สารที่ก่อให้เกิดความผิดปกติและเกิดพิษแก่ทารกในครรภ์

สารที่ก่อให้เกิดความผิดปกติและเกิดพิษแก่ทารกในครรภ์ (Teratogen and fetotoxic agent)

จัดทำโดย: พญ.กานต์ทอง ศิริวัฒน์
อาจารย์ที่ปรึกษา: รศ.พญ.กุณฑรี ไตรศรีศิลป์ หมื่นพินิจ


Teratology คือการศึกษาสาเหตุการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ ส่วนคำว่า Teratogen มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก โดยคำว่า Teratos หมายถึง สัตว์ประหลาด ดังนั้นคำว่า Teratogen จึงหมายถึงปัจจัยที่มีผลกับการพัฒนาของตัวอ่อนในครรภ์ทำให้เกิดรูปลักษณ์หรือการทำงานของอวัยวะที่ผิดปกติถาวร อาจหมายรวมถึงยา สารเคมีสิ่งแวดล้อม เช่น ความร้อน หรือรังสี โรคประจำตัวของมารดา เช่น โรคอ้วนโรคเบาหวาน ภาวะติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อ Cytomegalo virus เป็นต้น

เกณฑ์ในการวินิจฉัย Teratogenicity มีดังนี้(1)

ข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องมี

  1. ความผิดปกติที่เกิดขึ้นมีลักษณะที่เฉพาะถูกกำหนดโดยนักพันธุกรรมศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องความผิดปกติของอวัยวะตั้งแต่กำเนิด
  2. มีการพิสูจน์แล้วว่าการสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดความผิดปกตินั้นอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการสร้างอวัยวะของตัวอ่อนในครรภ์ สำหรับระยะเวลาในการสร้างอวัยวะนั้นแบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ ๆ คือ
  3. Preimplantation period เป็นช่วงเวลา 2 สัปดาห์หลังจากมีการ fertilization เป็นช่วงที่เรียกได้ว่า “All or none “ คือหากมีอันตรายเกิดขึ้นกับเซลล์ในช่วงนี้ ถ้าเซลล์บาดเจ็บรุนแรงจะทำให้ตัวอ่อนตายหรือไม่สามารถเจริญเติบโตต่อได้ แต่ถ้าหากตัวอ่อนสามารถสร้างเซลล์มาทดแทนก็จะสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างสมบูรณ์
  4. Embryonic period นับตั้งแต่ช่วง 2 สัปดาห์จนถึง 8 สัปดาห์หลังจาก fertilization เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาอวัยวะ (organogenesis) หากมีปัจจัยอื่น ๆ มารบกวนอาจทำให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะนั้นอย่างรุนแรงได้ (major malformations) โดยอวัยวะที่มีการพัฒนาจนเกือบสมบูรณ์แล้วในช่วงนี้ได้แก่ หัวใจ ระยางค์ทั้งสี่ ริมฝีปาก เป็นต้น
  5. Fetal period 8 สัปดาห์เป็นต้นไปหลังจาก fetilization เป็นช่วงที่อวัยวะต่าง ๆ เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง หูตา ฟัน อวัยวะเพศ ค่อย ๆ มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาจากช่วง embryonic period หากมีปัจจัยภายนอกมารบกวนอาจทำให้เกิดความผิดปกติเพียงเล็กน้อย (minor malformations)
  6. มีรายงานในการศึกษาหรือระบาดวิทยา โดยต้องมีเงื่อนไขอย่างน้อย 2 ข้อต่อไปนี้
  7. เป็นการศึกษาที่ไม่มีอคติ
  8. มีการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องของตัวแปรกวน
  9. กลุ่มประชากรมากเพียงพอ
  10. เป็นการศึกษาแบบไปข้างหน้า
  11. ค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์มากกว่าเท่ากับ 3 หรือบางคำแนะนำใช้ค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์มากกว่าเท่ากับ 6

หรือ สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่พบได้น้อยและเกี่ยวข้องกับความผิดปกติแต่กำเนิดที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก และมีการรายงานเคสตัวอย่างอย่างน้อย 3 ราย

ข้อบ่งชี้เสริม

  1. มีข้อมูลหรือหลักฐานแสดงความเป็นไปได้ในทางชีววิทยา (biological plausibility)
  2. มีการศึกษาและทดลองในสัตว์พบว่าว่ามีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ
  3. สารเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกิดความผิดปกติที่เปลี่ยนแปลงในความรู้ในครั้งก่อน

นอกจากนี้ในประเทศไทยมีการจัดกลุ่มยาตามความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ (pregnancy category) โดยอ้างอิงจากองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (US FDA) แบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้

1. Category A : จากการศึกษาการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก พบว่าไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ และไม่มีหลักฐานแสดงว่ามีความเสี่ยงเมื่อมีการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3

2. Category B : จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่ายาไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีการศึกษาการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ หรือจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่พบผลดังกล่าวจากการศึกษาในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก และไม่มีหลักฐานแสดงว่ามีความเสี่ยงเมื่อมีการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3

3. Category C : การศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่ายามีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีการศึกษาการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ หรือไม่มีรายงานการศึกษาการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และสัตว์ทดลอง การใช้ยาในกลุ่มนี้ให้คำนึงถึงประโยชน์และความเสี่ยงของยาต่อทารกในครรภ์

4. Category D : การศึกษาการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ พบว่ามีหลักฐานที่แสดงว่ายามีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ แต่อาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ยาใช้ในภาวะช่วยชีวิต หรือยารักษาโรคที่รุนแรงซึ่งไม่มียาอื่นที่ปลอดภัยหรือมีประสิทธิภาพ

5. Category X : การศึกษาการใช้ยาในสัตว์ทดลอง พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อน หรือมีรายงานจากการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ ยากลุ่มนี้มีความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากยา ดังนั้นจึงจัดเป็นยาที่ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์หรือกำลังจะตั้งครรภ์

สารที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของทารกตั้งแต่ในครรภ์ที่ควรรู้ได้แก่

1.แอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ)

เอทานอล (ethanol) เป็นสารที่ทำให้เกิดความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หากมารดาดื่มในปริมาณมาก จะส่งผลให้ทารกมีลักษณะผิดปกติ ที่เรียกว่า Fetal Alcohol Syndrome, FAS) ซึ่งมีเกณฑ์ในการวินิจฉัยดังนี้(2)

1.มีเกณฑ์ในการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนการตั้งครรภ์มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ข้อ

  1. ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าหรือเท่ากับ 6 ดื่มมาตรฐานต่อสัปดาห์ (1ดื่มมาตรฐานเท่ากับแอลกอฮอล์ 10 ถึง14 กรัม) ต่อเนื่องกันเป็นเวลามากกว่าเท่ากับ 2 สัปดาห์
  2. ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าหรือเท่ากับ 3 ดื่มมาตรฐานเป็นครั้งคราว โดยมีความถี่ในการดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้ง
  3. เมื่อทำแบบสอบถามคัดกรองการดื่มสุราแล้วพบว่าเป็นผู้ดื่มสุราแบบมีความเสี่ยง(hazardous use)(3)
  4. ผลการตรวจทางห้องปฎิบัติการพบเจอสารแอลกอฮอล์ในเลือด
  5. ดื่มแอลกอฮอล์จนทำเรื่องผิดกฎหมาย หรือ มีปัญหาในสังคม

2.มีเกณฑ์ลักษณะทางร่างกายที่ผิดปกติโดยจะต้องมีครบทุกข้อ

          • มีความผิดปกติของรูปหน้ามากกว่าหรือเท่ากับ 2 ข้อ
    1.    ช่องตาสั้น  (short palpebral fissues)
    2. ริมฝีปากบนยาวและบาง (thin vermillion border of the upper lips)
    3.    ร่องริมฝีปากบนเรียบ (smooth philtrum)
          • มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยและมีอัตราการเพิ่มน้ำหนักหลังจากคลอดน้อยกว่าเท่ากับร้อยละ 10
          • มีความผิดปกติของการพัฒนาโครงสร้างลักษณะ หรือการทำงานของสมองมากกว่าหรือเท่ากับ 1 ข้อ
  1. เส้นรอบวงศีรษะขนาดน้อยกว่า 10 เปอร์เซนไทด์
  2. โครงสร้างสมองผิดปกติ

3. มีความบกพร่องในด้านประสาทและพฤติกรรม (ค่าเฉลี่ยมาตรฐานต่ำกว่า1.5 SD)

a. เด็กอายุน้อยกว่า 3 ปีที่มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กปกติ

  1. เด็กอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ปีมีภาวะบกพร่องทางสมอง (cognitive impair) หรือมีภาวะถดถอยทางสมอง (cognitive deficit) อย่างน้อย 1 ส่วน หรือมีภาวะพฤติกรรมผิดปกติอย่างน้อย 1 ส่วน

2. ยาป้องกันชัก (Antiepileptic medications)

หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคลมชักและต้องรับประทานยาป้องกันชักต้องได้รับคำแนะนำถึงความเสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะมีมีความผิดปกติแต่กำเนิดมากขึ้นหากได้รับยากันชัก และหากได้รับยาหลายชนิดจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นถึงสองเท่า โดยความผิดปกติที่พบบ่อยได้แก่ ภาวะความผิดปกติของช่องปากและใบหน้า ปากแหว่งเพดานโหว่ หัวใจมีโครงสร้างที่ผิดปกติ(cardiac malformation) ความบกพร่องของท่อประสาท (neural tube defect) เป็นต้น โดยยาที่ใช้บ่อยได้แก่

  1. Valproic acid ทำให้เกิดความผิดปกติได้ร้อยละ 9 ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น หากได้รับยาในช่วงไตรมาสแรก หรือปริมาณยาที่ได้รับมากกว่า 1,000 มิลลิกรัมต่อวันจะมีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์มากขึ้น (4) นอกจากนี้ร้อยละ 4 ของทารกในครรภ์จะมีปัญหาความบกพร่องของท่อประสาท (neural tube defect) และเมื่อเข้าสู่วัยเรียนจะมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเพื่อนในชั้นเรียนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการได้รับยากันชักชนิดอื่น ๆ(5)
  2. Phenytoin (Dilantin) ทำให้เกิดกลุ่มอาการ fetal hydantoin syndrome หากใช้ยาชนิดนี้เพียงชนิดเดียว พบว่ามีอัตราเสี่ยงร้อยละ 4.2-25 ที่จะพบความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยความผิดปกติที่เกิดขึ้นคือมีความผิดปกติของการสร้างกระโหลกศีรษะและใบหน้า เช่น จมูกรั้นขึ้น (upturned nose) ใบหน้าส่วนกลางเล็ก (midfacial hypoplasia) ริมฝีปากบนยาวและบาง (long upper lip with thin vermis border) มีการพัฒนาของกระดูกนิ้วมือและนิ้วส่วนปลายที่น้อยกว่าปกติ และมีพัฒนาการทางสติปัญญาช้า(6)

3. ยาต้านเชื้อราและยาปฏิชีวนะ 

ยาต้านเชื้อราและยาปฏิชีวนะเป็นยาที่อาจถูกใช้ได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ ยาส่วนใหญ่มีความปลอดภัยหากใช้ในหญิงตั้งครรภ์แต่มียาบางชนิดที่ควรระวัง เช่น

  • Fluconazole : จะทำให้เกิดกลุ่มอาการ Antley-Bixler syndrome คือมีปากแหว่งเพดานโหว่ มีความผิดปกติของใบหน้า หัวใจ กะโหลกศีรษะ กระดูกท่อนยาวและข้อต่อ มีรายงานพบความผิดปกติของทารกในครรภ์ ในมารดาที่ใช้ยาอย่างต่อเนื่อง และใช้ยาปริมาณมากขนาด 400 – 800 มิลลิกรัมต่อวัน
  • Chloramphenicol : ยาชนิดนี้ไม่ใช่ teratogenic drug แต่หากเด็กทารกแรกเกิดได้รับมีโอกาสเกิดภาวะ Gray baby syndrome เนื่องจากเด็กทารกแรกเกิดไม่สามารถขับยาออกมาได้เอง อาจมีอาการท้องโตระบบหายใจผิดปกติ มีหลอดเลือดยุบตัว และ ทารกจะมีสีผิวสีเทาได้ ดังนั้นยาชนิดนี้ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สาม
  • Sulfonamides : ยาชนิดนี้เมื่อใช้ในช่วงไตรมาสแรกทารกมีโอกาสเกิดโรคหลอดอาหารอุดตันโดยสมบูรณ์แต่กำเนิด หรือเกิดไส้เลื่อนกระบังลม หากใช้ในช่วงไตรมาสที่สามอาจเกิดทารกตัวเหลืองหลังคลอดได้ นอกจากนี้สมาคมสูตินรีแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา 2017 มีคำแนะนำว่าหากไม่มียาชนิดใดใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์สามารถใช้ยาชนิดนี้ได้ในไตรมาสแรก
  • Tetracyclines : หากใช้ยาหลังช่วง 25 อาทิตย์ ทารกอาจมีสีฟันสีเหลืองน้ำตาลผิดปกติได้
  • Aminoglycosides (gentamicin or streptomycin) : ทารกคลอดก่อนกำหนดที่ได้รับยาชนิดนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทางไตและหูได้ แต่หากได้รับตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ยาชนิดนี้ไม่ทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิด

4. Diethylstilbestros(DES)

เป็นยาฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ใช้อย่างแพร่หลายในปี คศ.1940 จนถึง คศ.1971 ใช้ในการป้องกันการแท้งบุตร และป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ในปี คศ.1971 มีการศึกษาพบว่าการได้รับ DES เพิ่มโอกาสที่มารดาจะเป็นมะเร็งช่องคลอดชนิด clear cell adenocarcinoma 1 ใน 1000 เคสที่ได้รับยาชนิดนี้(7) โดยไม่สัมพันธ์กับปริมาณยาที่ได้รับ และหากทารกในครรภ์ได้รับสารนี้จากมารดาจะเพิ่มโอกาสทารกมีความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ ในเพศหญิงจะมีมดลูกที่เจริญเติบโตไม่เต็มที่ และ ลักษณะของโพรงมดลูกจะเป็นตัวที (T) , cervical collars, hoods, septa, and coxcombs หรือมีลักษณะท่อนำไข่เหี่ยว นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสเกิดวัยทองเร็วกว่าปกติและมะเร็งเต้านมได้ ในเพศชายอาจเกิดถุงน้ำในท่อพักอสุจิ (epididymal cyst), องคชาติขนาดเล็ก (microphallus), รูเปิดท่อปัสสาวะต่ำกว่าปกติ (hypospadias) ลูกอัณฑะติดค้าง (cryptorchidism) อัณฑะฝ่อ(testicular hypoplasia) เป็นต้น

5 Retinoids

คือชื่อเรียกรวมของกลุ่มอนุพันธุ์วิตามินเอ ซึ่งมีสารหลากหลาย เช่น isotretinoin, acitretin, bexarotene เป็นสารที่ก่อให้เกิดความพิการอย่างรุนแรง สารชนิดนี้จะยับยั้งการเคลื่อนที่ของ neural-crest cell ในช่วงพัฒนาการของตัวอ่อนทำให้เกิดความผิดปกติได้ เรียกความผิดปกตินี้ว่า Retinoic acid embryopathy จะมีการเพิ่มความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ใบหน้า หัวใจ ต่อมไทมัส โดยความผิดปกติที่พบบ่อยคือ ventriculomegaly, maldevelopment of the facial bones or cranium, microtia or anotia, micrognathia, cleft palate, conotruncal heart defects, and thymic aplasia or hypoplasia

สำหรับรูปแบบของยาที่ทำให้เกิดโทษต่อทารกในครรภ์นั้นจะเกิดเฉพาะในรูปแบบรับประทาน ยาอนุพันธุ์วิตามินเอรูปแบบรับประทานได้แก่ isotretinoin ใช้รักษาโรคผิวหนัง เช่น cystic nodular acne , acitretinใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินแบบรุนแรง ยาชนิดนี้มีครึ่งชีวิตที่ยาวนาน หากได้รับยากลุ่มนี้ มีความจำเป็นต้องคุมกำเนิดหลังหยุดยาอย่างน้อย 3 ปี bexarotene ใช้รักษา cutaneous T-cell lymphoma ในหญิงที่ได้รับยาชนิดนี้ควรคุมกำเนิด 1 เดือนก่อนการรักษาจนถึง 1 เดือนหลังหยุดยา ในชายที่ได้รับยาชนิดนี้หากมีเพศสัมพันธ์ควรใส่ถุงยางอนามัย จนถึง 1 เดือนหลังหยุดการรักษา

ในส่วนของรูปแบบทาเช่น tretinoin, isotretinoin, adapalene นิยมใช้มากในการรักษาสิว ยาจะดูดซึมเข้าสู่เข้าสู่ร่างกายน้อยมาก จึงไม่เพิ่มอัตราการเกิดความผิดปกติของทารก อัตราคลอดก่อนกำหนด อัตราทารกน้ำหนักน้อย และ อัตราการแท้งบุตร แต่อย่างไรก็ตามควรมีการให้คำแนะนำแก่มารดาที่ได้รับสารชนิดนี้ทุกครั้ง

6. Warfarin

ยาวาร์ฟารินจะมีกลไกในการรบกวนการทำงานของวิตามินเค วิตามินเคจะช่วยในระบบการแข็งตัวของเลือด ส่งผลให้เลือดแข็งตัวช้าลง จากกระบวนการดังกล่าวจึงช่วยป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันที่อวัยวะต่าง ๆ ได้ ยาวาร์ฟารินมีครึ่งชีวิตที่ยาวนานและสามารถผ่านรกได้ ทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ เพราะฉะนั้นยาชนิดนี้จึงเป็นข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ สำหรับความผิดปกติของทารกในครรภ์ที่ได้รับยาในช่วง 6- 9 สัปดาห์นั้นจะเพิ่มโอกาสเกิด warfarin embryopathy ทารกจะมีลักษณะสันจมูกยุบลง สันจมูกเล็ก, มีการปิดของช่องจมูกด้านหลังตั้งแต่แรกเกิด (choanal atresia) มีจุดทึบขาวในภาพถ่ายรังสีบริเวณ epiphyses ของ femurhumerus, calcanei และ distal phalanges

นอกจากนี้การใช้ยาในไตรมาสแรก ปริมาณยาที่ได้รับจะมีความสำคัญเนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ ถ้าได้รับยาน้อยกว่าเท่ากับ 5 มิลลิกรัมต่อวัน โอกาสเกิดความผิดปกติของทารกจะน้อยมาก โดยมีโอการเกิดเพียงร้อยละ 1 แต่หากได้รับยาหลังไตรมาสแรก ยาวาร์ฟารินอาจทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ นำไปสู่การเจริญเติบโตที่ผิดปกติของอวัยวะได้ เช่น มีอวัยวะที่ผิดรูปจากการมีผังผืดหลังเลือดออก เป็นต้น นอกจากนี้ยังเพิ่มความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น agenesis of the corpus callosum, cerebellar vermian agenesis (Dandy-Walker malformation), microphthalmia และ optic atrophy และเมื่อทารกเจริญเติบโตจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดตาบอด หูหนวก และมีพัฒนาการช้าได้

7. สารเสพติด

แอมเฟตามีน (Amphetamines) ไม่ใช่สารหลักที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ กลไกของสารนี้คือเพิ่มการหลั่งของโดปามีนในหลอดเลือดและยับยั้งการนำโดปามีนกลับเข้าเซลล์ มารดาที่ได้รับแอมเฟตามีนจะมีความดันโลหิตสูงจนเกิดภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูง เช่น รกลอกตัว คลอดก่อนกำหนด เป็นต้น หากทารกในครรภ์ได้รับจะก่อให้เกิดทารกตัวเล็ก หรือ ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ นอกจากนี้ในช่วงวัยเรียนจะมีปัญหาด้านพฤติกรรมได้

-กัญชา (Marijuana) : ในกัญชามีสารที่เรียกว่า แคนนาบินอยด์ เป็นสารที่จับได้กับตัวรับจำเพาะในร่างกาย นอกจากนี้ภายในร่างกายมีการผลิต cannabinoids ด้วยเช่นกัน ในสัตว์ทดลองแคนนาบินอยด์มีผลในเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาของสมอง สารสื่อประสาท การพัฒนาของเซลล์สมอง มีการศึกษาในสัตว์ว่าหากได้รับแคนนาบินอยด์จากภายนอกอาจทำให้รบกวนพัฒนาการของสมองได้ ในมนุษย์ตัวรับจำเพาะของแคนนาบินอยด์เริ่มพัฒนาตั้งแต่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ หากได้รับสารนี้จากภายนอก จะมีผลต่อการพัฒนาสมองเช่นกัน คือเมื่อเติบโตจะมีพัฒนาการทางสมองและความฉลาดทางสติปัญญาต่ำกว่าเด็กคนอื่น แต่บางการศึกษากลับไม่พบว่าการได้สารชนิดนี้จะมีผลกับสติปัญญา ดังนั้นผลต่อสมองและสติปัญญาจึงยังไม่ชัดเจน

มีหลายการศึกษาที่พบว่ากัญชานั้นไม่ทำให้เกิดความผิดปกติทางรูปร่างของทารกในครรภ์ แต่มีผลเพิ่มอัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์หลังจากอายุ 20 สัปดาห์และเพิ่มอัตราการเกิดทารกน้ำหนักน้อยคือน้อยกว่า 2500 กรัม และเพิ่มอัตราการคลอดก่อนกำหนด หากใช้กัญชาร่วมกันกับบุหรี่ผลลัพธ์ต่อการตั้งครรภ์จะยิ่งแย่ลง ในส่วนของการให้นมบุตรยังไม่มีการศึกษามากพอว่าสามารถให้ได้หรือไม่ ดังนั้นจึงควรแนะนำแก่มารดาที่ให้นมบุตรทุกคนและหญิงตั้งครรภ์ทุกคนหยุดการใช้กัญชา(8)

-คาเฟอีน(Caffeine): เป็นสารที่มีอยู่ในเครื่องดื่มหลายชนิดเช่น กาแฟ ชา ช็อคโกแลต เป็นต้น โดยปริมาณของคาเฟอีนในเครื่องดื่มแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันไปเช่น กาแฟสำเร็จรูป 8 ออนซ์มีคาเฟอีน 137 มิลลิกรัม ชาสำเร็จรูป 8 ออนซ์มีคาเฟอีน 26-36 มิลลิกรัม โดยสารคาเฟอีนนี้สามารถผ่านรกได้ และมีผลทำให้ลดการไหลเวียนของเลือดไปที่รก และ ลดการนำส่งออกซิเจนไปสู่ทารกในครรภ์ จึงมีบางการศึกษา(9)พบว่าคาเฟอีนมีผลต่อทารกในครรภ์คือทำให้ทารกมีน้ำหนักน้อย จากคำแนะนำของสมาคมสูตินรีแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า หากร่างกายได้รับคาเฟอีนน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวันไม่เพิ่มอัตราการแท้งและการคลอดก่อนกำหนด ส่วนในเรื่องของการทำให้เกิดทารกน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์นั้นจากการศึกษายังไม่กระจ่างชัด(10)

8.รังสี การแผ่รังสี (radiation) คือพลังงานหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากแหล่งกำเนิด ซึ่งมีความถี่และความยาวคลี่นต่าง ๆ กัน เช่น คลื่นแสง คลื่นเสียง  รังสีเอกซ์  รังสีแกมมา ซึ่งพลังงานเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลในร่างกาย เช่น สารพันธุกรรม (DNA) หรือสามารถสร้างอนุมูลอิสระมาทำลายเซลล์เนื้อเยื่อของร่างกายได้หน่วยเรียกที่ควรรู้ในเรื่องรังสีนี้ ได้แก่

  1. Exposure คือ ปริมาณอะตอมในอากาศที่มีประจุไฟฟ้าที่สร้างขึ้นจากรังสีเอกซ์เรย์หน่วยคือ Roentgen (R)
  2. Dose คือปริมาณพลังงานที่สะสมในเนื้อเยื่อ 1 กิโลกรัม หน่วย คือ Gray (GY) โดย 1 Gy = 100 rad
  3. Relative effective dose คือปริมาณพลังงานที่สะสมในเนื้อเยื่อ 1 กิโลกรัมที่จะมีผลทางชีววิทยา หน่วยคือ Sievert (Sv) โดย 1 SV = 100 rem

สำหรับในเรื่องรังสีวินิจฉัยนิยมใช้หน่วยเป็น เกรย์ (Gray) และแต่ละหน่วยสามารถแปลงได้ดังนี้

1 Gy = 1 Sv = 100 rad = 100 rem

อย่างที่กล่าวไปว่ารังสีเอกซ์ หรือ เอกซ์เรย์มีผลทางชีวภาพและสามารถทำลายเนื้อเยื่อได้ จึงมีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ โดยผลที่เกิดขึ้นในมนุษย์แบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ ๆ

  1. Deterministic effect คือผลที่เกิดขึ้นจากรังสีทำลายเซลล์ของร่างกายในที่นี้ผลที่เกิดขึ้น เช่น แท้งบุตร ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า มีความผิดปกติของรูปร่างตั้งแต่กำเนิด ศีรษะเล็ก ปัญญาอ่อน เป็นต้น โดยผลของรังสีกับปริมาณรังสีที่ได้รับจะแปรผันตรง ผลที่เกิดจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อปริมาณรังสีเพิ่มมากขึ้น โดยค่าที่จะไม่ทำให้เกิดความผิดปกติทางรูปร่างของทารกในครรภ์คือ น้อยกว่า 5 Rad
  2. Stochastic effects คือผลจากรังสีเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ DNA นำไปสู่การเป็นมะเร็ง และการผ่าเหล่า ผลของรังสีนี้จะคาดคะเนจากข้อมูลทางสถิติของผู้ที่ได้รับรังสี โดยโอกาสเกิดจะแปรผันตรงกับปริมาณรังสี แต่ความรุนแรงของผลกระทบไม่ขึ้นกับปริมาณรังสี โดยค่าที่เหมาะสมที่จะไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งคือ 0.1 -0.2 Sv

ในทางการแพทย์นั้นมีการนำภาพถ่ายรังสีแบบต่าง ๆ มาใช้เพื่อในการช่วยวินิจฉัยโรค ในหญิงตั้งครรภ์นั้นการสัมผัสกับรังสีอาจมีความเสี่ยงกับทารกในครรภ์ โดยความเสี่ยงนั้นขึ้นกับอายุครรภ์ และ ปริมาณรังสีที่ได้รับ โดยความผิดปกติที่เกิดแสดงในตารางที่1(11)

ตารางที่ 1 แสดงความผิดปกติของทารกที่เกิดขึ้นเมื่อสัมผัสรังสีแบ่งตามช่วงเวลาที่สัมผัส และ ปริมาณรังสีที่ได้รับ ดัดแปลงจาก ACOG : Guidelines for Diagnostic Imaging During Pregnancy and Lactation, number 723, october 2017

ช่วงอายุครรภ์ ผลลัพธ์ที่จะเกิด ปริมาณรังสีที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์
ก่อนการฝังตัว (0-2 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ) เซลล์ตายหรือไม่มีอะไรเกิดขึ้น

(all or none)

50-100 มิลลิเกรย์
ช่วงกระบวนการเปลี่ยนแปลงจนเป็นอวัยวะ(organogenesis)

(2-8 สัปดาห์หลังปฏิสนธิ)

มีความผิดปกติของอวัยวะตั้งแต่แรกเกิด

มีการเจริญเติบโตช้ากว่าเกณฑ์

200 มิลลิเกรย์

200-250มิลลิเกรย์

8-15 สัปดาห์ มีความผิดปกติทางสติปัญญาอย่างรุนแรง(ความเสี่ยงสูง)

มีความบกพร่องทางสติปัญญา

ทารกศีรษะเล็ก

60-310 มิลลิเกรย์

IQ ลดลง 25 คะแนนต่อการสัมผัสรังสี 1,000 มิลลิเกรย์

200 มิลลิเกรย์

16 – 25 อาทิตย์ มีความผิดปกติทางสติปัญญาอย่างรุนแรง(ความเสี่ยงต่ำ) 250-280 มิลลิเกรย์

การส่งภาพถ่ายทางรังสีที่พบบ่อยมีดังนี้

1.อัลตราซาวด์ (Ultrasonology) เป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นทางเลือกแรกในการใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยวินิจฉัย อัลตราซาวด์นั้นเป็นการสร้างคลื่นเสียงจึงไม่มีการสร้างประจุไอออน และไม่มีรายงานพบความเสี่ยงแก่ทารกในครรภ์ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ระบุค่าปริมาณความแรง (intensity)สูงสุดที่เกิดขึ้นบนหัวอัลตราซาวด์จะมีค่ามากที่สุดที่บริเวณกลางคลื่นและน้อยสุดที่ขอบโดยค่าจะต้องไม่เกิน 720 มิลลิวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร ที่ค่าความเข้มนี้จะเพิ่มอุณหภูมิของตัวอ่อน ประมาณ 2 องศาเซลเซียส แต่มีบางการศึกษาพบว่าค่าความแรงเสียงไม่สามารถเพิ่มอุณหภูมิของตัวอ่อนได้ โดยความเสี่ยงในการเพิ่มอุณหภูมิจะต่ำถ้าใช้ B Mode และจะมีความเสี่ยงสูงถ้าใช้ color Doppler แต่สามารถใช้ได้ถ้ามีข้อบ่งชี้

2. Magnetic Resonance Imaging (MRI) เป็นเครื่องมือที่อาศัยหลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการสร้างภาพ  ข้อดีของ MRI ที่เหนือกว่าอัลตราซาวด์คือสามารถดูเนื้อเยื่อชั้นลึกได้ดีกว่า ไม่มีประจุไอออน และความแม่นยำไม่ขึ้นกับบุคลากรที่ทำ ดังนั้นการทำ MRI จึงไม่มีข้อห้ามและไม่มีข้อควรระวังในหญิงตั้งครรภ์ สามารถทำได้ทุกไตรมาส

สำหรับสารทึบรังสีที่ใช้ร่วมกับ MRI ได้บ่อยคือ gadolinium สารนี้จะช่วยให้เห็นขอบเขตของเนื้อเยื่อที่ลึกได้ดียิ่งขึ้น แต่การนำมาใช้ในหญิงตั้งครรภ์ยังเป็นที่ถกเถียงกัน เนื่องจากสารนี้เป็นสารละลายน้ำและสามารถผ่านเข้าสู่รก อาจทำให้ทารกได้รับสารซึ่งอาจเป็นพิษได้ มีบางการศึกษา(12)รายงานว่าการใช้สารทึบรังสีเพิ่มอัตราการเกิดความผิดปกติของข้อการอักเสบของผิวหนังและเสี่ยงต่อทารกเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ดังนั้นการจะใช้สารทึบรังสีกับหญิงตั้งครรภ์หากมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สามารถพิจารณาได้เป็นบางราย รวมถึงต้องมีคำแนะนำแก่มารดาทุกครั้ง สำหรับการให้นมบุตรสามารถให้ได้เนื่องจากสารทึบรังสีชนิดนี้สามารถเข้าสู่น้ำนมได้เพียงร้อยละ 0.04 ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกที่ได้รับสาร และทารกสามารถดูดซึมได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ดังนั้นมารดาจึงสามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ

3.รังสีเอกซ์ หรือ เอกซ์เรย์ (X-ray) มีการสร้างอนุภาคไอออนอิสระจึงมีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ โดยความเสี่ยงนั้นขึ้นกับอายุครรภ์ และ ปริมาณรังสีที่ได้รับ วิทยาลัยรังสีวิทยาของอเมริกาแนะนำว่า ไม่มีรังสีวินิจฉัยใดที่ทำเพียงครั้งเดียวแล้วเกิดปัญหากับทารกในครรภ์ ยกตัวอย่างเช่น การทำภาพถ่ายรังสีทรวงอก 1 ครั้งมีรังสีที่ร่างกายดูดซึมได้ 0.0007 เกร์ย (Gy) หรือ 70 มิลลิเรด (mrad) การทำภาพถ่ายรังสีบริเวณท้อง 1 ครั้งมีรังสีที่ร่างกายดูดซึมได้ 0.001 เกร์ย (Gy) หรือ 100 มิลลิเรด(mrad) ทารกในครรภ์จึงมีโอกาสได้รับรังสีน้อยมาก

4. Computed Tomography (CT) เป็นการตรวจด้วยรังสีเอกซ์โดยการฉายรังสีเอกซ์ผ่านอวัยวะที่ต้องการตรวจ แล้วใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลสร้างภาพ หากเป็นไปได้ควรเลือกทำ MRI มากกว่า CT scan เนื่องจากปลอดภัยมากกว่า แต่หากมีความจำเป็น CT scan สามารถทำได้เนื่องจากการสร้างรังสีจาก CT scan นั้นขึ้นกับจำนวนการตัดภาพของเครื่อง สามารถลดจำนวนการตัดภาพเพื่อลดปริมารรังสีที่สัมผัสได้ เช่น การทำ CT scan บริเวณเชิงกรานสามารถสัมผัสรังสีได้สูงสุดถึง 50 มิลลิเกร์ย แต่สามารถลดให้เหลือ 2.5 มิลลิเกร์ย สำหรับการใช้สารทึบรังสีไม่แนะนำในหญิงตั้งครรภ์ สารทึบรังสีที่ใช้บ่อยคือสารทึบรังสีจากไอโอดีน (iodinated) สารไอโอดีนสามารถผ่านรกและเข้าสู่ทารกในครรภ์โดยตรงได้ผ่านทางน้ำคร่ำ จากการศึกษาในสัตว์พบว่าไม่มีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติในด้านรูปร่าง แต่มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลของไอโอดีนอิสระอาจมีผลต่อต่อมไทรอยด์ของทารกในครรภ์และยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนในมนุษย์ ดังนั้นการใช้สารทึบแสงจึงควรใช้เมื่อมีความจำเป็นและให้คำแนะนำกับมารดาก่อนเริ่มใช้

ในหญิงให้นมบุตรที่ได้รับสารทึบรังสีไอโอดีนนั้นถึงแม้ว่าสารนี้จะขับออกมาทางน้ำนมได้น้อยกว่าร้อยละ 1 และทารกในครรภ์สามารถดูดซึมได้น้อยกว่าร้อยละ 1 แต่ควรแนะนำให้หยุดการให้นมแม่ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง

5.การตรวจภาพวินิจฉัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ คือการให้ผู้ป่วยกลืนสารกัมมันตรังสีที่ติดฉลากกับสารเคมี เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปยังอวัยวะเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้สามารถนับวัดรังสีและถ่ายภาพเพื่อการวินิจฉัยโรค มักใช้ในการตรวจไทรอยด์ ปอด ไต โดยสารกัมมันตรังสีที่ใช้บ่อย เช่น

1) เทคนีเชี่ยม-99เอ็ม (Tc-99m ) เป็นสารกัมมันตรังสีที่ถูกใช้บ่อยร่วมกับการตรวจ ventilation-perfusion scan (V/Q scan) ในหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด เป็นการตรวจหาบริเวณเนื้อปอดที่มี ventilation-perfusion ผิดปกติ ซึ่งวิธีการนี้มีโอกาสได้รับรังสีน้อยกว่า 5 มิลลิเกร์ย มีการศึกษาพบว่าไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ ความเสี่ยงในการแท้งบุตร และคลอดก่อนกำหนด จึงมีความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ (11)

2) ไอโอดีน 131 (Iodine 131) เป็นสารกัมมันตรังสีที่สามารถผ่านรก และมีครึ่งชีวิตนานถึง 8 วัน การใช้ไอโอดีน 131 จะมีผลกับต่อมไทรอยด์ของทารก โดยเฉพาะหากใช้หลังอายุครรภ์ 10-12 สัปดาห์ เนื่องจากปกติต่อมไทรอยด์ของทารกจะสร้างจนสมบูรณ์เมื่ออายุ 10 -12 สัปดาห์ เริ่มจับไอโอดีนและสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน หากได้รับสารไอโอดีน 131สารนี้จะไปทำลายต่อมไทรอยด์ ทำให้เด็กมีภาวะไทรอยด์ต่ำและเป็นโรคเอ๋อได้ แต่หากได้รับสารไอโอดีน 131 ในช่วงก่อน 10 สัปดาห์พบว่าไม่มีผลกับการเกิดความผิดปกติของทารก

นอกจากนี้การใช้ไอโอดีน 131 เพื่อวินิจฉัยนั้นจะมีผลต่อทารกน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ไอโอดีน 131เพื่อการรักษาด้วยข้อบ่งชี้ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ หรือ มะเร็งต่อมไทรอยด์ เนื่องจากต้องใช้ปริมาณที่แผ่รังสีออกมามากกว่า(13) ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้ ไอโอดีน 131 ในหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงวางแผนจะตั้งครรภ์ วิทยาลัยรังสีวิทยาของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อกำหนด 4 ข้อในการป้องกันการตั้งครรภ์ในช่วงรักษาด้วยไอโอดีน 131 คือต้องมีผลการตรวจการตั้งครรภ์ด้วย beta-HCG ใน 72 ชั่วโมงเป็นลบ หรือ เคยมีประวัติตัดมดลูก หรือ มีภาวะหมดประจำเดือนมากกว่า 2 ปี หรือในเด็กที่ยังไม่มีประจำเดือนอายุน้อยกว่า 10 ปี หากมีข้อใดข้อหนึ่งจึงถือว่าไม่ตั้งครรภ์และเริ่มการรักษาด้วยไอโอดีน 131 ได้(14)

ในส่วนของหญิงให้นมบุตรควรหยุดการให้นมบุตร หากยังคงให้นมบุตรไม่ควรเริ่มการรักษา เนื่องจากหญิงให้นมบุตรจะมีเลือดมาเลี้ยงที่บริเวณเต้านมมาก สารรังสีจึงมีโอกาสมาที่เต้านมด้วย ดังนั้นเพื่อไม่ให้สารรังสีมาที่เต้านมในปริมาณมาก ควรหยุดการให้น้ำนม โดยน้ำนมจะหยุดไหลเองในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด หรือหลังหยุดให้นมบุตร(15) ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้สารกัมมันตรังสีแนะนำเป็นเทคนีเชี่ยม-99เอ็มมากกว่า

นอกจากนี้สารกัมมันตรังสีจะผ่านในน้ำนมในหลายช่วงเวลาและหลากหลายความเข้มข้นแตกต่างกันไปในแต่ละคน และแต่ละประเภทสารที่ใช้ ดังนั้นการให้นมบุตรหลังได้รับสารกัมมันตรังสี จึงควรมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องนมแม่ และ แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ก่อนที่จะเริ่มให้นมบุตร (16)

จะเห็นว่าสารก่อวิรูปมีหลายอย่าง หลายประเภท แต่ละอย่างส่งผลต่อทารกในครรภ์ที่แตกต่างกันไปตามปริมาณ หรือช่วงเวลาที่มารดาได้รับสารเหล่านี้ ดังนั้น สูติแพทย์ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลของสารก่อวิรูปดังกล่าว เพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำแก่สตรีตั้งครรภ์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

เอกสารอ้างอิง

1.Shepard TH. Agents that cause birth defects. Yonsei Med J. 1995;36(5):393-6.

2.Cunningham FG, Leveno KJ, Bloom SL, Dashe JS, Hoffman BL, Casey BM, et al. Teratology, Teratogens, and Fetotoxic Agents. Williams Obstetrics, 25e. New York, NY: McGraw-Hill Education; 2018.

3.แบบประเมินปัญหาการดื่มสุรา แนวทางปฏิบัติสำหรับสถานพยาบาลปฐมภูมิ. 2 ed ตุลาคม 2552.

4.Battino D, Tomson T. Management of epilepsy during pregnancy. Drugs. 2007;67(18):2727-46.

5.Bromley R, Weston J, Adab N, Greenhalgh J, Sanniti A, McKay AJ, et al. Treatment for epilepsy in pregnancy: neurodevelopmental outcomes in the child. Cochrane Database Syst Rev. 2014;2014(10):Cd010236.

6.Hanson JW, Myrianthopoulos NC, Harvey MA, Smith DW. Risks to the offspring of women treated with hydantoin anticonvulsants, with emphasis on the fetal hydantoin syndrome. J Pediatr. 1976;89(4):662-8.

7.Vessey MP. Epidemiological studies of the effects of diethylstilboestrol. IARC Sci Publ. 1989(96):335-48.

8.Committee Opinion No. 722: Marijuana Use During Pregnancy and Lactation. Obstetrics and gynecology. 2017;130(4):e205-e9.

9.Gleason JL, Tekola-Ayele F, Sundaram R, Hinkle SN, Vafai Y, Buck Louis GM, et al. Association Between Maternal Caffeine Consumption and Metabolism and Neonatal Anthropometry: A Secondary Analysis of the NICHD Fetal Growth Studies-Singletons. JAMA Netw Open. 2021;4(3):e213238.

10.ACOG CommitteeOpinion No. 462: Moderate caffeine consumption during pregnancy. Obstetrics and gynecology. 2010;116(2 Pt 1):467-8.

11.Committee Opinion No. 723: Guidelines for Diagnostic Imaging During Pregnancy and Lactation. Obstetrics and gynecology. 2017;130(4):e210-e6.

12.Ray JG, Vermeulen MJ, Bharatha A, Montanera WJ, Park AL. Association Between MRI Exposure During Pregnancy and Fetal and Childhood Outcomes. Jama. 2016;316(9):952-61.

13.Tran P, Desimone S, Barrett M, Bachrach B. I-131 treatment of graves’ disease in an unsuspected first trimester pregnancy; the potential for adverse effects on the fetus and a review of the current guidelines for pregnancy screening. Int J Pediatr Endocrinol. 2010;2010:858359.

14.Hyer S, Pratt B, Newbold K, Hamer C. Outcome of Pregnancy After Exposure to Radioiodine In Utero. Endocr Pract. 2011:1-10.

15.Silberstein EB, Alavi A, Balon HR, Clarke SEM, Divgi C, Gelfand MJ, et al. The SNMMI Practice Guideline for Therapy of Thyroid Disease with <sup>131</sup>I 3.0. Journal of Nuclear Medicine. 2012;53(10):1633-51.

16.Mitchell KB, Fleming MM, Anderson PO, Giesbrandt JG. ABM Clinical Protocol #30: Radiology and Nuclear Medicine Studies in Lactating Women. Breastfeed Med. 2019;14(5):290-4.

ภาคผนวก

แสดงแบบประเมินปัญหาการดื่มสุรา (Alcohol Use Identification Test หรือ AUDIT) พัฒนาโดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) เพื่อให้เป็นเครื่องมือแบบง่ายในการคัดกรองการดื่มสุราที่มากเกินไปและในการ ประเมินที่มีเวลาจำกัด

คะแนนรวมตั้งแต่ 8 ขึ้นไป บ่งชี้ว่าเป็นการดื่ม แบบเสี่ยง (hazardous) และดื่มแบบอันตราย (harmful) จนถึงดื่มแบบติด (dependence) ได้

Ref: แบบประเมินปัญหาการดื่มสุรา แนวทางปฏิบัติสำหรับสถานพยาบาลปฐมภูมิ. 2 ed ตุลาคม 2552

 

Read More

Ectopic Pregnancy

ครรภ์นอกมดลูก

ธีระ ทองสง

Ectopic Pregnancy


ความหมาย

การตั้งครรภ์นอกมดลูก คือ การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการที่ไข่ซึ่งถูกผสมแล้ว ไปฝังตัวและเจริญเป็นตัวอ่อนในตำแหน่งอื่น ที่นอกเหนือไปจากภายในโพรงมดลูกปกติ เช่น มีการฝังตัวที่ท่อนำไข่ ปากมดลูก รังไข่ ภายในช่องท้อง หรือใน rudimentary horn ของ anomalous uterus เป็นต้น

อุบัติการณ์

พบได้เกือบร้อยละ 1-2 ของการเกิดมีชีพ พบบ่อยขึ้นในถิ่นที่มีโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธุ์ชุก ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มีอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 1.3 ของการคลอด

ประมาณร้อยละ 10-15 ของครรภ์นอกมดลูกเกิดขึ้นในครรภ์แรก และมากกว่าครึ่งหนึ่งของครรภ์นอกมดลูกเกิดขึ้นในสตรีที่เคยตั้งครรภ์มาก่อนตั้งแต่สามครั้งหรือมากกว่า วัยเจริญพันธุ์ที่อายุมากขึ้น ความเสี่ยงจะสูงขึ้น พบในคนผิวดำมากกว่าผิวขาว 1.6 เท่า

ในปัจจุบันการตั้งครรภ์นอกมดลูกมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ ได้แก่

  • ความก้าวหน้าในการวินิจฉัย ทำให้ตรวจได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก ทำให้ผู้ป่วยบางรายซึ่งเดิมไม่เคยได้รับการวินิจฉัย เพราะอาการของโรคเป็นไม่มากและหายไปเอง ก็ได้รับการวินิจฉัยได้ในปัจจุบัน
  • เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น IVF มีอัตราการเกิดครรภ์นอกมดลูกได้สูงถึงร้อยละ 3 รวมทั้งเพิ่มชนิดที่พบได้น้อยด้วย เช่น ครรภ์ที่รังไข่ คอร์นู ปากมดลูก เป็นต้น
  • มีการผ่าตัดท่อนำไข่มากขึ้น เช่น ผ่าตัดครรภ์นอกมดลูกโดยเก็บท่อนำไข่ไว้ เป็นต้น
  • การแต่งงานและมีลูกช้ามีมากขึ้นในปัจจุบัน

ปัจจัยส่งเสริม

ตารางที่ 15.1 ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์นอกมดลูก

ระดับความเสี่ยง ปัจจัยเสี่ยง Odds ratio
สูง Previous ectopic pregnancy 9.3-47
Previous tubal surgery 6.0-11.5
Tubal ligation 3.0-139
Tubal pathology 3.5-25
In utero DES exposure 2.4-13
Current IUD use 1.1-45
ปานกลาง Infertility 1.1-28
Previous cervicitis (gonorrhea, chlamydia) 2.8-3.7
History of pelvic inflammatory disease 2.1-3.0
Multiple sexual partners 1.4-4.8
Smoking 2.3-3.9
ต่ำ Previous pelvic/abdominal surgery 0.93-3.8
Vaginal douching 1.1-3.1
Early age of intercourse (<18 years) 1.1-2.5
  • รอยโรคที่ท่อนำไข่: ประวัติการติดเชื้ออุงเชิงกราน รวมทั้ง salpingitis isthmica nodosa เพิ่มความเสี่ยงอย่างน้อย 3 เท่า ประวัติผ่าตัดท่อนำไข่มาก่อนเพิ่มความเสี่ยงอย่างน้อย 5 เท่า แต่การผ่าตัดอื่นในช่องท้องที่ไม่เกี่ยวกับท่อนำไข่ เช่น ผ่าท้องคลอด ตัดไส้ติ่งที่ไม่แตก ผ่าตัดรังไข่ ทำแท้ง รายที่มี สตรีที่เคยมี exposed ต่อ Diethylstilbestrol ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา มักมีความผิดปกติของท่อนำไข่ด้วย และมีความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์นอกมดลูกเพิ่มขึ้น 4-5 เท่า
  • ภาวะมีบุตรยากเพิ่มความเสี่ยงประมาณ 2 เท่า ART เพิ่มความเสี่ยงอย่างน้อย 2 เท่า
  • การตั้งครรภ์ที่เกิดจากความล้มเหลวในการคุมกำเนิด เช่น ประมาณหนึ่งในสามของการตั้งครรภ์ในรายที่ทำหมันแล้วล้มเหลวจะเป็นครรภ์นอกมดลูก ความเสี่ยงโดยรวมประมาณ 7.1 ต่อ 1000 / 10 ปีโดยความเสี่ยงสูงสุดจากการทำหมันด้วย bipolar และต่ำสุดคือการทำหมันหลังคลอด (Pomeroy) สำหรับ IUD ลดครรภ์นอกมดลูกโดยรวม แต่เมื่อตั้งครรภ์โอกาสเป็นครรภ์นอกมดลูกสูงชัดเจน
  • ฤดูกาลอาจมีผลต่อความชุก ในรายงานหนึ่งพบว่าครรภ์นอกมดลูกพบบ่อยที่สุดในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม แต่ยังไม่ทราบเหตุผล
  • เคยเป็นครรภ์นอกมดลูกมาก่อน พบว่าเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดซ้ำได้อีกราวร้อยละ 10-15
  • การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงโดยรวม 2 เท่า
  • Ovum transmigration พบคอร์ปัสลูเตียมอยู่ด้านตรงข้ามกับด้านที่มีการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ถึงร้อยละ 15-50 เชื่อว่ามีการตกไข่จากรังไข่ด้านหนึ่งเข้าไปในบริเวณ cul-de-sac และเคลื่อนไปเข้าท่อนำไข่ด้านตรงข้าม ซึ่งไข่ใบดังกล่าวอาจถูกผสมโดยอสุจิแล้ว ดังนั้นเมื่อไข่เข้ามาในท่อนำไข่จึงเกิดการฝังตัวได้เร็ว เพราะอยู่ในระยะที่พัฒนาไปมากแล้ว หรืออาจเป็นเพราะ blastocyst มีขนาดใหญ่เกินไป ไม่สามารถเดินทางผ่านส่วน interstitial ที่แคบของท่อนำไข่ได้ จึงเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกขึ้น

ตำแหน่งของการตั้งครรภ์นอกมดลูก

ตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุดคือ การตั้งครรภ์ที่ท่อนำไข่ คือมากกว่าร้อยละ 90 ของครรภ์นอกมดลูกทั้งหมด ส่วนที่พบบ่อยที่สุดคือ ampulla (ร้อยละ 75) รองลงไปเป็น isthmus (ร้อยละ 12), fimbria (ร้อยละ 11) และ interstitium (หรือคอร์นู) (ร้อยละ 2) การตั้งครรภ์ตำแหน่งอื่น ๆ ได้แก่ การตั้งครรภ์ที่รังไข่ ที่ช่องท้อง ที่ปากมดลูก ใน broad ligament ที่แผลผ่าตัดคลอดที่ตัวมดลูก

พยาธิวิทยา

เมื่อฝังตัวแล้ว conceptus ส่วนใหญ่จะเจริญอยู่ในรูของท่อนำไข่ บางส่วนจะบุกรุกชั้นเยื่อบุ lamina propia และ muscularis จนถึง serosa ได้ การตั้งครรภ์อาจดำเนินไปได้หลายรูปแบบเช่น ฝ่อไปเอง ท่อนำไข่แตก แท้งออกไปทาง fimbria (tubal abortion) ซึ่งพบได้กว่าครึ่งหนึ่งของรายที่มีอาการ หรือแท้งแล้วฝังตัวใหม่กลายเป็น secondary abdominal pregnancy เป็นต้น

มดลูกของผู้ตั้งครรภ์นอกมดลูกอาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้น อ่อนนุ่ม เนื่องจากมีการตอบสนองต่อฮอร์โมน และเลือดเลี้ยงมากขึ้น มี decidual reaction ที่เยื่อบุโพรงมดลูกได้ ส่วน decidua อาจหลุดออกมาเป็นชิ้น (decidaul cast) ซึ่งเมื่อนำไปลอยน้ำจะมีลักษณะคล้ายขนนก พบได้ร้อยละ 5-10

เยื่อบุโพรงมดลูกอาจเปลี่ยนเป็นลักษณะ Arias-Stella reaction ซึ่งเซลล์ของต่อมโตขึ้น ติดสีเข้ม มีการแบ่งตัว pleomporphism มี vacuole ในซัยโตพลาสม ขาด polarity และไม่เห็น lumen ของต่อม เพราะเซลล์มี hypertrophy เชื่อว่าเกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนมากเกินไป แต่ไม่ใช่ลักษณะจำเพาะของการตั้งครรภ์นอกมดลูก

ชิ้นเนื้อจากการขูดมดลูกในผู้ป่วยตั้งครรภ์นอกมดลูก พบว่ามี glandular hypersecretion ร้อยละ 12-60 Arias-Stella reaction ร้อยละ 10-20 proliferative pattern ร้อยละ 10-30

การวินิจฉัยการตั้งครรภ์นอกมดลูก

หลักสำคัญในการวินิจฉัยคือ ต้องนึกถึงโรคนี้เสมอในสตรีวัยเจริญพันธุ์ทุกรายที่มีอาการปวดท้องน้อยเฉียบพลัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่ร่วมกับมีเลือดออกทางช่องคลอด

ไม่มีอาการที่จำเพาะสำหรับครรภ์นอกมดลูก แต่มีอาการหลาย ๆ อย่างร่วมกัน ซึ่ง classical triad ที่สำคัญ คือ การขาดระดู มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด และเจ็บที่ปีกมดลูก

อาการ

  • ในระยะแรก ๆ ของการตั้งครรภ์มักจะไม่มีอาการอะไร ครรภ์ที่ท่อนำไข่มักจะแตกหรือมีอาการเร็ว โดยเฉพาะที่ isthmus
  • ปวดท้องน้อย ประมาณร้อยละ 90-100 ของผู้ป่วย ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่ก่อนที่จะมีการแตกของครรภ์นอกมดลูกก็ได้ อาการปวดมักเป็นแบบบิด ๆ อาจเป็นข้างเดียว สองข้าง หรือทั่ว ๆ ไปก็ได้ หรือในบางครั้งอาจปวดด้านตรงข้ามกับที่เป็นก็ได้ ในรายที่มีเลือดออกในช่องท้อง อาจมีอาการปวดร้าวไปที่หัวไหล่ ซึ่งเป็น referred pain จากการที่เลือดไประคายเคืองกะบังลม
  • เลือดออกทางช่องคลอด พบได้ประมาณร้อยละ 50-80 ของผู้ป่วย เลือดที่ออกมักมีจำนวนน้อย ลักษณะเป็นแบบเลือดเก่า ๆ และออกกะปริดกะปรอย แต่ในบางรายอาจไม่มีเลือดออกเลยก็ได้ โดยเฉพาะในรายที่ตัวอ่อนยังมีชีวิตอยู่ บางรายอาจให้ประวัติว่ามีชิ้นเนื้อ (decidual cast) ออกทางช่องคลอดด้วย ซึ่งอาจทำให้สับสนกับการตั้งครรภ์ในมดลูก และมีภาวะแท้ง
  • ขาดระดู พบได้ประมาณร้อยละ 75-95 ของผู้ป่วย และอาจพบมีอาการแพ้ท้องร่วมด้วย บ่อยครั้งอาจพบว่าผู้ป่วยบอกว่าไม่มีการขาดระดู แต่เมื่อซักประวัติประจำเดือนโดยละเอียด จะพบว่ารอบเดือนครั้งสุดท้ายมาน้อยกว่าปกติ หรือมาล่าช้ากว่าที่ควรเป็น ซึ่งอันที่จริงเป็นเลือดออกผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยคิดว่าเป็นระดูครั้งสุดท้าย
  • อาการหน้ามืด เป็นลม พบได้ประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วย
  • ช็อคจากการเสียเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการตาย ส่วนใหญ่ของการตายจากครรภ์นอกมดลูกเกิดขึ้นก่อนถึงโรงพยาบาล หรือช็อคมากแล้ว

อาการแสดง

  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ มีน้อยกว่าร้อยละ 10 เท่านั้นที่มีอุณหภูมิกายสูงกว่า 38 องศา
  • อาการกดเจ็บบริเวณหน้าท้องพบได้ในร้อยละ 80-95 ของผู้ป่วย ในรายที่มีเลือดออกในช่องท้องมักมี rebound tenderness จาก peritoneal irritation
  • รายที่มีเลือดออกในช่องท้องอาจพบมี orthostatic hypotension และชีพจรเร็ว ถ้ามีการเสียเลือดมากอาจมีอาการช็อค ความดันโลหิตต่ำ pulse pressure แคบ และชีพจรเร็วเบา
  • การตรวจภายในอาจพบ
    • อาการแสดงของการตั้งครรภ์ เช่นปากมดลูกมีสีคล้ำ มดลูกนุ่ม แต่อาจไม่พบก็ได้โดยเฉพาะในรายที่มีการเสียเลือดมากจนซีด
    • เจ็บเมื่อโยกปากมดลูก พบได้ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วย
    • cul-de-sac โป่งและกดเจ็บ ในรายที่มีเลือดออกในช่องท้อง
    • ส่วนใหญ่มดลูกขนาดปกติ (ร้อยละ 71) ประมาณหนึ่งในสี่มีมดลูกโตขนาด 6 ถึง 8 สัปดาห์ และมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่มีขนาดมดลูกโต 9-12 สัปดาห์อายุครรภ์
    • คลำได้ก้อนที่ปีกมดลูกด้านใดด้านหนึ่ง ประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วย และกดเจ็บ พบได้ร้อยละ 50 ของผู้ป่วย
  • Alder sign ผู้ป่วยจะมีอาการกดเจ็บที่เดิม (fixed abdominal tenderness) ในขณะที่เปลี่ยนท่าไปต่าง ๆ แต่อาการแสดงนี้พบได้น้อย

การพยากรณ์โรคจะดีในรายที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ อัตราการตั้งครรภ์โดยเฉลี่ยภายหลังการตั้งครรภ์นอกมดลูกประมาณร้อยละ 60 แต่อาจเป็นครรภ์นอกมดลูกได้สูงถึงหนึ่งในสี่

การวินิจฉัยแยกโรค

ภาวะที่อาจสับสนกับครรภ์นอกมดลูกได้บ่อย ๆ ที่สุดคือเลือดออกจากการแตกของถุงน้ำคอร์ปัสลูเตียม (โดยเฉพาะในรายที่ตั้งครรภ์) นอกจากนั้นอาจสับสนกับ ปีกมดลูกอักเสบ ภาวะแทรกซ้อนจากการแท้ง ไส้ติ่งอักเสบ การบิดขั้วของเนื้องอกรังไข่ การแตกของถุงน้ำฟอลลิเคิล เป็นต้น

การตรวจค้นเพื่อการวินิจฉัย

การตรวจค้นที่มีประโยชน์มากที่สุดคือการตรวจ TVS ร่วมกับ hCG

1. การทดสอบการตั้งครรภ์ มีคุณค่าในการช่วยวินิจฉัยครรภ์นอกมดลูกคือ

  • ยืนยันการตั้งครรภ์ (ในรายทดสอบให้ผลบวก) แต่ไม่อาจบอกได้ว่าตั้งครรภ์ในหรือนอกมดลูก
  • ตัดปัญหาครรภ์นอกมดลูกออกไปได้ถ้า beta-hCG ให้ผลลบ แต่ในกรณีนี้ต้องทดสอบด้วยวิธีที่มีความไวมากคือ serum radioimmunoassay (RIA)
  • การตรวจปัสสาวะด้วยวิธีใหม่ ๆ เช่น ELISA ที่มีความไวระดับ 10-20 มิลลิยูนิต/มล จะให้ผลบวกกว่าร้อยละ 99 ของครรภ์นอกมดลูก
  • การตรวจติดตามระดับ hCG มีประโยชน์ในรายที่ไม่แน่ใจในการวินิจฉัยหรือ PUL

3. การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ มีประโยชน์มากในการช่วยวินิจฉัยครรภ์นอกมดลูก โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับการตรวจระดับ hCG เครื่องตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด (TVS) ซึ่งอาจมีความไวในการวินิจฉัยถึงร้อยละ 80 สามารถใช้วินิจฉัยการตั้งครรภ์ภายในโพรงมดลูกได้ตั้งแต่ 4-5 สัปดาห์หลัง LMP และสามารถตรวจพบการเต้นของหัวใจเด็กที่อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ การใช้คลื่นเสียงดอพเลอร์ดูการไหลเวียนเลือดจะช่วยให้การวินิจฉัยดีขึ้นไปอีก

คุณค่าของการตรวจอัลตราซาวด์ในรายที่ผลทดสอบการตั้งครรภ์ให้ผลบวก และมีอาการหรืออาการแสดงของครรภ์นอกมดลูก หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์นอกมดลูก จะช่วยตรวจหาตำแหน่งของการตั้งครรภ์ให้ได้ว่าอยู่นอกหรือในมดลูก ซึ่งอาจให้ผลการตรวจดังนี้

1) ตัดปัญหาครรภ์นอกมดลูกออกได้ ถ้าถ้าพบว่ามีหลักฐานครรภ์ในมดลูก อย่างไรก็ตามจะต้องแยกถุงการตั้งครรภ์จริงในโพรงมดลูกต้องแยกจาก pseudogestational sac (PGS) ที่พบได้ราวร้อยละ 10-20 ของครรภ์นอกมดลูก ซึ่ง PGS ทุกรายไม่เห็น yolk sac มักมีรูปร่างผิดปกติ และไม่เห็น chorio-decidual reaction ชัดเจน แยกจากถุงการตั้งครรภ์จริงได้ไม่ยาก

2) วินิจฉัยการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ทันที โดยเห็นถุงการตั้งครรภ์ชัดเจน (yolk sac หรือเห็นตัวอ่อน) อยู่นอกโพรงมดลูก ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 20

3) ลักษณะแสดงทางอ้อมที่บ่งชี้ว่ามีโอกาสสูงที่จะเป็นครรภ์นอกมดลูก ได้แก่

  • มดลูกว่างเปล่า (empty uterus) (หรือเห็น PGS ด้วย) แต่มีโอกาสเป็นครรภ์ผิดปกติหรือครรภ์ปกติในมดลูกที่อายุครรภ์ยังน้อย อย่างไรก็ตามการพบมดลูกว่างโดยไม่พบสารน้ำในอุ้งเชิงกราน และก้อนที่ปีกมดลูก โอกาสจะเป็นครรภ์นอกมดลูกน้อย (ร้อยละ 5-10) แต่ประมาณร้อยละ 20 ของครรภ์นอกมดลูกอาจะไม่พบความผิดปกติใด ๆ ในการตรวจอัลตราซาวด์ครั้งแรก
  • ก้อนที่ปีกมดลูก (complex mass) อาจเกิดจากเนื้อเยื่อการตั้งครรภ์ และก้อนเลือดในบริเวณปีกมดลูก หรือ cul-de-sac มีความเข้มเสียงไม่สม่ำเสมอ เกิดจากก้อนครรภ์นอกมดลูก หรือก้อนเลือดซึ่งขอบเขตไม่ค่อยแน่นอน ประมาณร้อยละ 20 เห็นถุงการตั้งครรภ์อยู่นอกมดลูก (bagel sign) และอีกประมาณร้อยละ 20 สามารถเห็น yolk sac และ/หรือตัวอ่อนซึ่งอาจเห็นการเต้นของหัวใจด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งกรณีนี้ถือว่าเป็น “definite EP” ส่วนใหญ่มีความเข้มเสียงต่ำและไม่สม่ำเสมอ (inhomogeneous) ของ amorphous materials ไม่เป็นถุงน้ำ (noncystic) บางท่านเรียกว่า blob sign แยกจากก้อนรังไข่ (พบได้บ่อยที่สุด ประมาณร้อยละ 60 ของผู้ป่วย) ถือว่าเป็น “probable EP” บ่อยครั้งที่เห็นเป็นก้อนกลมในภาพตัดขวางของท่อนำไข่ ซึ่งการตรวจอย่างรอบคอบจะเห็นขอบท่อนำไข่ที่โตขึ้น (tubal ring) และอาจเห็นเป็นท่อยาวบวมเมื่อบิดหัวตรวจ ซึ่งเกิดจาก hematosalpinx การตรวจอัลตราซาวด์อาจพบก้อนได้ถึงร้อยละ 60-90 ของครรภ์นอกมดลูก จาก meta-analysis รวบรวมจาก 10 รายงานแสดงให้เห็นว่าก้อนที่ปีกมดลูกดังกล่าวทำนายการเป็นครรภ์นอกมดลูกถูกต้องโดยมีความไวร้อยละ 84 และความจำเพาะร้อยละ 99 ประมาณร้อยละ 25 ของผู้ตั้งครรภ์นอกมดลูกมาตรวจครั้งแรกให้ผลเป็น PUL และประมาณร้อยละ 7-20 ของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยขั้นต้นเป็น PUL ในที่สุดได้รับการพิสูจน์ว่าเป็น PUL
  • สารน้ำขุ่นในช่องท้อง (echogenic peritoneal free fluid) หรือมีส่วนที่เป็นก้อนเลือดด้วยหรือไม่ก็ได้ ก้อนเลือดที่เห็นมักมีความเข้มเสียงไม่สม่ำเสมอ รูปร่างแปลก ๆ ขอบเขตไม่ค่อยแน่นอน โอกาสเป็นครรภ์นอกมดลูกจะมากเกินร้อยละ 50 อย่างไรก็ตามการมีสารน้ำขุ่นนี้บ่งชี้ถึง hemoperitoneum แต่ไม่ได้บ่งชี้ว่าครรภ์นอกมดลูกแตกหรือไม่

รูปที่ 1 ครรภ์นอกมดลูกที่ท่อนำไข่ ซ้าย: ภาพอัลตราซาวด์แสดงถุงการตั้งครรภ์พร้อมทั้ง yolk sac ที่ท่อนำไข่ข้างซ้าย (ไม่ได้แสดงทารก) ขวา: ท่อนำไข่ที่แตกแล้วขณะผ่าตัด

รูปที่ 2 ครรภ์นอกมดลูกในช่องท้อง (abdominal pregnancy) ซ้าย: ภาพอัลตราซาวด์แสดงศีรษะทารกและรกที่อยู่ในช่องท้องหลังตัวมดลูก ขวา: ลักษณะครรภ์ในช่องท้องที่พบขณะผ่าตัด

รูปที่ 3  ครรภ์ที่คอร์นู (cornual pregnancy) ซ้าย: ภาพอัลตราซาวด์ตัดขวางระดับยอดมดลูกแสดงถุงการตั้งครรภ์ที่อยู่บริเวณมุมของยอดมดลูก กล้ามเนื้อมดลูกไม่หุ้มล้อมรอบถุงการตั้งครรภ์ ขวา: ลักษณะครรภ์ในช่องท้องที่พบขณะผ่าตัดเอาคอร์นูและถุงการตั้งครรภ์ออกมา

ข้อสังเกต

  • ก้อนการตั้งครรภ์ที่รังไข่มักจะสับสนกับถุงน้ำคอร์ปัสลูเตียมที่มีเลือดออก
  • การวัดความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกไม่มีประโยชน์ในการวินิจฉัยครรภ์นอกมดลูก
  • ถ้าในมดลูกว่างแบบไม่มี content เลย จะมีโอกาสเป็นครรภ์นอกมดลูกสูงขึ้นเป็น 5 เท่าของการมี content คือ น้ำคั่ง echogenic material ถุงน้ำผิดปกติ
  • การเห็น yolk sac หรือตัวอ่อนในโพรงมดลูกทำให้วินิจฉัย IUP ได้ แต่ยังสรุปว่าเป็นครรภ์ปกติไม่ได้
  • TVS พบว่า MSD มากกว่า 25 มม โดยไม่เห็นตัวอ่อน หรือ CRL มากกว่า 7 มม แล้วไม่เห็นหัวใจเต้นสรุปได้ว่าเป็นครรภ์ที่ไม่มีชีวิต
  • โอกาสเป็นครรภ์นอกมดลูกต่ำ (น้อยกว่าร้อยละ 10) ถ้าระดับ hCG ลงเร็ว (เกินครึ่งใน 1-2 วัน) และโอกาสสูง (เกือบร้อยละ 90) ถ้าลดลงช้ามาก (น้อยกว่าครึ่งในเวลา 7 วัน)

ตารางที่ 15.2 ความไวและความจำเพาะของการตรวจ TVS ในการวินิจฉัย EUP

ลักษณะทางอัลตราซาวด์ ความไว ความจำเพาะ
ไม่พบถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก 100 89
ก้อนที่ปีกมดลูก แยกจากรังไข่ (blob / bagel sign) 93 99
ก้อนที่ปีกมดลูก ร่วมกับหัวใจเต้น 20 100
ก้อนที่ปีกมดลูก ร่วมกับเห็น Yolk sac หรือตัวอ่อน 37 100
Tubal ring / yolk sac หรือตัวอ่อน 65 99
น้ำขุ่น (echogenic free fluid) 56 96
Color-flow Doppler 95 98

การตรวจอื่น ๆ

การขูดมดลูก: เลือกทำในบางรายที่แน่ใจแล้วว่าเป็นครรภ์ผิดปกติ เช่น ไม่มีการเพิ่มระดับ hCG ที่เหมาะสม หรือระดับโปรเจสเตอโรนต่ำ จะช่วยบอกว่ามีวิลไลในโพรงมดลูกหรือไม่ ถ้าไม่มี โอกาสเป็นครรภ์นอกมดลูกสูงมาก

ส่องแลพพาโรสโคป: ถือเป็นวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัยครรภ์นอกมดลูก แต่เป็นเทคนิครุกล้ำ จึงเลือกทำบางราย เฉพาะในรายที่ TVS ร่วมกับ hCG ยังวินิจฉัยได้ไม่แน่ชัด อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยครรภ์นอกมดลูกจากแลพพาโรสโคปก็อาจผิดพลาดได้ (ผลบวกหรือลบลวง) ราวร้อยละ 3

การตรวจระดับโปรเจสเตอโรน: ในครรภ์ผิดปกติทั้งในและนอกมดลูกจะมีระดับต่ำ ถ้าค่าเกิน 25 นก/มล.จะเป็นครรภ์ปกติในมดลูกร้อยละ 97.5 แต่ถ้าค่าต่ำกว่า 5 นก./มล. เป็นครรภ์ปกติได้เพียงร้อยละ 0.3 อย่างไรก็ตามผู้ป่วยครรภ์นอกมดลูกจำนวนมากมีค่าที่ระดับ 5-25 นก/มล.ซึ่งมีคุณค่าทางคลินิกน้อย

Culdocentesis: เป็นการเจาะ cul-de-sac ผ่านทางช่องคลอด ใช้วินิจฉัยภาวะเลือดออกในช่องท้อง แต่ไม่ได้บอกว่าเลือดมาจากไหน ขีดจำกัดนี้ทำให้บทบาทของ culdocentesis ลดลงมากในปัจจุบัน

แนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่สงสัยครรภ์นอกมดลูก

กลุ่มที่ vital signs ไม่ดี (unstable) เช่น มีอาการแสดงของช็อคจากการเสียเลือด ควรพิจารณาผ่าตัดทันที โดยไม่ต้องตรวจด้วยอัลตราซาวด์

กลุ่มที่ vital signs ปกติดี แนวทางในการดูแลขึ้นอยู่กับผลจากการตรวจอัลตราซาวด์ ซึ่งจำแนกได้ดังนี้

  1. Definite EP: เห็นถุงการตั้งครรภ์อยู่นอกมดลูกพร้อมกับเห็น yolk sac และ/หรือตัวอ่อนซึ่งอาจเห็นการเต้นของหัวใจด้วยหรือไม่ก็ได้ กลุ่มนี้ควรได้รับการรักษาทันที
  2. Probable EP: ก้อนที่ปีกมดลูกแยกจากรังไข่มีลักษณะ inhomogeneous / noncystic (blob sign) หรือคล้ายถุงการตั้งครรภ์นอกมดลูก กลุ่มนี้ควรได้รับการรักษาทันที หรือยืนยันการวินิจฉัยโดยเร็วด้วยแลพพาโรสโคป ขึ้นกับระดับความมั่นใจของผู้ดูแล
  3. PUL: ไม่พบลักษณะของการตั้งครรภ์ทั้งในและนอกมดลูก ซึ่งพบได้ประมาณไม่เกินร้อยละ 15 ของการตรวจ
  4. Probable IUP: ลักษณะคล้ายถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก กลุ่มนี้แนะนำให้ตรวจ TVS ติดตามเพื่อยืนยัน
  5. Definite IUP: เห็นถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูกพร้อมกับเห็น yolk sac และ/หรือตัวอ่อนซึ่งอาจเห็นการเต้นของหัวใจด้วยหรือไม่ก็ได้ กลุ่มนี้แนะนำให้ฝากครรภ์

PUL เป็นกลุ่มที่มีความยากในการดูแล ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ความสะดวกในการตรวจติดตาม การเปลี่ยนแปลของระดับ hCG เป็นต้น ควรให้คำปรึกษาแนะนำผู้ป่วยถึงทางเลือกหลากหลาย เช่น

  • ให้ดูลักษณะทางคลินิก ถ้าปวดมากอาจตรวจ hCG หรือส่องแลพพาโรสโคป ถ้าไม่ปวดให้เฝ้าติดตาม (expectant) ร่วมกับตรวจระดับ hCG ที่ 0 และที่ 48 ชั่วโมง แล้วดูแลไปตามผลระดับ hCG: เช่น
    • ลดลงมากกว่าร้อยละ 13 คาดว่าเป็น failed PUL ให้ทดสอบการตั้งครรภ์ใน 2 สัปดาห์
    • เพิ่มมากกว่าร้อยละ 66 คาดว่าเป็น IUP ปกติ ให้ตรวจ TVS ยืนยันในวันที่ 7
    • เพิ่มไม่ถึงร้อยละ 66 อาจเป็น EP ให้ตรวจ TVS ในวันที่ 7 หรือเมื่อคาดว่า hCG เกิน 1000 IU/L
    • ลดลงไม่ถึงร้อยละ 13 อาจเป็น failing PUL หรือ EP ให้ตรวจ hCG ซ้ำในวันที่ 7
  • ถ้าระดับ hCG สูง เช่น เกินระดับวิกฤติคือประมาณ 2000 IU/L (1,500-2,500) อาจเลือกขูดมดลูกเพื่อตรวจว่ามีวิลไลหรือไม่ หรือส่องแลพพาโรสโคป ซึ่งมีข้อดีข้อเสียต่างไป ถ้าระดับต่ำกว่า 2000 IU/L ตรวจติดตามระดับ hCG ในสองวัน แล้วพิจารณาดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง ถ้าลงค่อนข้างช้าให้ขูดมดลูกเพื่อดูว่ามีวิลไลหรือไม่ ถ้าลงเร็วแสดงว่าแท้งไปเอง (miscarriage) ถ้าขึ้นปกติให้ตรวจ TVS ซ้ำเมื่อ hCG > 2000 IU/L

การดูแลรักษาต้องชั่งใจหลายประการ เช่น การขูดมดลูกในรายที่ hCG ขึ้นไม่ดี ก็ยังอาจเป็นการทำแท้งโดยไม่ตั้งใจได้ เพราะโอกาสมี IUP ปกติยังคงมีอยู่ แม้จะไม่มากนัก อาจถึงร้อยละ 10 ของ IUP ปกติที่ระดับ hCG ไม่ขึ้นตามปกติ และอาจถึงร้อยละ 15-20 ของ EP ที่ระดับ hCG ขึ้นแบบปกติ รายที่ตรวจติดตามแม้ระดับ hCG บ่งชี้ว่าโอกาสเป็น EP ต่ำมาก ก็ยังอาจเป็นได้อยู่และอาจมีครรภ์นอกมดลูกแตกระหว่างกันติดตาม แม้ว่าโอกาสจะน้อยมากก็ตาม

PUL ควรได้รับการติดตามจนสรุปผลสุดท้าย ซึ่งควรจะจำแนกผลเป็น visualized EP, visualized IUP, spontaneously resolved PUL, และ persisting PUL สำหรับกลุ่มสุดท้ายควรพยายามติดตามและระบุในขั้นสุดท้ายว่าเป็นกลุ่มใดต่อไปนี้ nonvisualized EP, treated persistent PUL, resolved persistent PUL หรือ histologic IUP

วิธีการรักษา

วิธีการรักษามีหลายรูปแบบ ซึ่งเหมาะสมแตกต่างกันไปในแต่ละราย การผ่าตัด salpingostomy ผ่านแลพพาโรสโคป มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการผ่าเปิดหน้าท้อง แต่ประสบความสำเร็จต่ำกว่าเล็กน้อยเนื่องจากอัตราการมี persistent trophoblast สูงกว่า แต่แก้ปัญหานี้ได้ดีด้วยการให้ methotrexate หลังทำแลพพาโรสโคป โดยรวมแล้วการผ่าตัดผ่านแลพพาโรสโคปมีความคุ้มค่าในการรักษาดีกว่าการรักษาด้วยยา methotrexate แต่การรักษาด้วยยามีความความคุ้มกว่าถ้าระดับ hCG ตั้งต้นต่ำกว่า เช่น ต่ำกว่า 3000 มิลลิยูนิต/มล (เหมาะกับยาแบบให้หลายครั้ง) หรือระดับต่ำกว่า 1,500 มิลลิยูนิต/มล (เหมาะกับยาแบบให้ครั้งเดียว)

1. การรักษาด้วยการเฝ้าสังเกต

ครรภ์นอกมดลูกจำนวนหนึ่งฝ่อหายไปเองได้ ในรายเช่นนี้อาจเลือกรักษาด้วยการเฝ้าสังเกต ซึ่งควรเลือกผู้ป่วยที่สามารถตรวจติดตามได้อย่างใกล้ชิด รายที่ระดับ hCG ตั้งต้นต่ำ เช่น < 200 มิลลิยูนิต/มล. หรือ PUL ที่ระดับลดลงเรื่อย ๆ

2. การรักษาด้วยยา

ในทศวรรษที่ผ่านมาการรักษาด้วยยาเข้ามามีบทบาทในการรักษาครรภ์นอกมดลูกจนกลายเป็นวิธีที่ใช้บ่อยที่สุด การให้ methotrexate มี 2 วิธีหลักคือ แบบครั้งเดียว (single dose) หรือแบบหลายครั้ง (multidose) ต่างก็ให้ผลดี (ร้อยละ 75-95) แต่ให้แบบครั้งเดียวมีอัตราล้มเหลวสูงกว่า โดยเฉพาะในรายที่ระดับ hCG สูง หรือตัวอ่อนมีชีวิต ในทางปฏิบัติ มักจะเลือกแบบ single dose กับผู้ป่วยส่วนใหญ่ แต่เลือก multidose ในรายเสี่ยงต่อความล้มเหลวสูง เช่น ตั้งครรภ์ที่คอร์นูหรือที่ปากมดลูก ระดับ hCG สูง หรือตัวอ่อนมีชีวิต

ผู้ป่วยที่เหมาะสมมากในการเลือกรักษาด้วย methotrexate มีดังนี้คือ

  • ผู้ป่วยแข็งแรงดี ฮีโมไดนามิคปกติ และให้ความร่วมมือดี
  • ไม่มีความบกพร่องของระบบไต ตับ และโลหิต
  • ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการตรวจติดตามการรักษา
  • ระดับ serum hCG ต่ำกว่า 5000 มิลลิยูนิต/มล
  • ขนาดก้อนท่อนำไข่ไม่เกิน 3-4 ซม. และไม่มีหัวใจทารกเต้น

ข้อบ่งห้ามคือ ให้นมบุตร ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ติดสุรา โรคตับหรือไต การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ โรคปอดที่ตื่นตัวอยู่ แผลในกระเพาะ กรณีที่ระดับ hCG เกิน 5000 มิลลิยูนิต/มล. หรือตัวอ่อนมีชีวิต ไม่ถือเป็นข้อบ่งห้ามโดยเด็ดขาด แต่มีแนวโน้มล้มเหลวและความเสี่ยงต่อการแตกสูงขึ้น

อาการปวดท้องมากขึ้นในช่วงหลาย ๆ วัน (6-7 วัน) หลังได้ยา พบได้บ่อย (ร้อยละ 65-75) ไม่ค่อยรุนแรง มักจะเป็นไม่นาน (1-2 วัน) ให้เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ถ้าลักษณะทางคลินิกบ่งชี้ชัดว่าครรภ์นอกมดลูกแตก ให้รีบผ่าตัด

สารน้ำในช่องท้องอาจพบได้เกือบร้อยละ 40 ของครรภ์นอกมดลูกที่ยังไม่แตก การมีหรือไม่มีไม่สามารถทำนายผลการรักษาด้วยยาได้

การรักษาด้วยยาอาจพิจารณาว่าเหมาะสมเป็นพิเศษในกรณีที่มีความเสี่ยงจากการผ่าตัดสูง ได้แก่ การตั้งครรภ์ที่ปากมดลูก หรือที่ cornu ซึ่งปัจจุบันวินิจฉัยก่อนผ่าตัดได้บ่อยขึ้น

การตั้งครรภ์ที่ปากมดลูกที่ตัวอ่อนมีชีวิตแนะนำให้ฉีด KCL ให้เสียชีวิตก่อนจึงให้ methotrexate แบบ multidose

อัตรา tubal patency หลังรักษาสำเร็จพอ ๆ กับผ่าตัดทางแลพพาโรสโคป คือร้อยละ 60-85

โดยทั่วไปแล้ว ร้อยละ 50-80 ของรายที่รักษาด้วย methotrexate กลับมาตั้งครรภ์ในมดลูกปกติ และร้อยละ 10-20 เป็นครรภ์นอกมดลูกซ้ำ

Mifepristone ก็อาจใช้ได้ในการรักษาครรภ์นอกมดลูก แต่ประสิทธิภาพและคุณค่ายังไม่เป็นที่ยอมรับกัน

ตารางที่ 15-3 โปรโตคอลการให้ยา methotrexate ในการรักษาครรภ์นอกมดลูก (การทดสอบก่อนรักษา: ระดับ hCG, TVS, หมู่เลือดซึ่งรวมถึง Rh, CBC การทำงานตับ หยุดให้โฟลิค แนะนำให้หลีกเลี่ยง NSAID งดเพศสัมพันธ์และการออกกำลังหนัก)

วันที่ Single dose protocol Multiple dose protocol
1 ตรวจวัดระดับ hCG
Methotrexate 50 มก/ม2 พื้นผิวร่างกาย IM
ตรวจวัดระดับ hCG
Methotrexate 1 มก/กก น้ำหนักตัว IM หรือ IV
2 Leucovorin 0.1 มก/กก ☉
3 ตรวจวัดระดับ hCG เทียบกับวันที่ 1 ถ้า
ลด <15% ให้ methotrexate 1 มก/กก IM หรือ IV
ลด >15% ให้เริ่มตรวจ hCG สัปดาห์ละครั้ง
4 ตรวจวัดระดับ hCG Leucovorin 0.1 มก/กก ☉*
5 ตรวจวัดระดับ hCG เทียบกับวันที่ 3 ถ้า
ลด <15% ให้ methotrexate 1 มก/กก IM หรือ IV
ลด >15% ให้เริ่มตรวจ hCG สัปดาห์ละครั้ง
6 Leucovorin 0.1 มก/กก ☉*
7 ตรวจวัดระดับ hCG เทียบกับวันที่ 4 ถ้า
ลด <15% ให้ methotrexate 50 มก/ม2  IM
ลด >15% ตรวจ hCG สัปดาห์ละครั้ง
ตรวจวัดระดับ hCG เทียบกับวันที่ 5 ถ้า
ลด <15% ให้ methotrexate 1 มก/กก IM หรือ IV
ลด >15% ให้เริ่มตรวจ hCG สัปดาห์ละครั้ง
8 Leucovorin 0.1 มก/กก ☉*
14 ตรวจวัดระดับ hCG เทียบกับวันที่ 7 ถ้า
ลด <15% ให้ methotrexate 50 มก/ม2  IM
ลด >15% ตรวจ hCG สัปดาห์ละครั้ง
ตรวจวัดระดับ hCG เทียบกับวันที่ 7 ถ้า
ลด <15% ให้ methotrexate 1 มก/กก IM
(Leucovorin 0.1 มก/กก ☉)
ลด >15% ให้เริ่มตรวจ hCG สัปดาห์ละครั้ง
21& 28 ถ้าให้ครบ 3 ครั้งแล้วลดลงจากวันที่ 21 ถึงวันที่ 18 <15% ให้ผ่าตัด (แลพพาโรสโคป) ถ้าให้ครบ 5 ครั้งแล้วลดลงจากวันที่ 14 ถึงวันที่ 21 <15% ให้ผ่าตัด (แลพพาโรสโคป)

ให้ส่องแลพพาโรสโคปถ้าปวดท้องรุนแรงที่บ่งชี้ว่าเกิดจากครรภ์นอกมดลูกแตก หรืออัลตราซาวด์พบว่าน้ำในช่องท้องมากกว่า 300 มล.

ที่มา: 1) Barnhart KT. Clinical practice. Ectopic pregnancy. N Engl J Med 2009; 361:379; 2) American College of Obstetricians and Gynecologists. ACOG Practice Bulletin No. 94: Medical management of ectopic pregnancy. Obstet Gynecol 2008; 111:1479

3. รักษาด้วยการผ่าตัด

ข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยการผ่าตัด ได้แก่ สัญญาณชีพไม่ปกติ เสี่ยงสูงต่อความล้มเหลวจากการรักษาด้วยยา มีข้อบ่งห้ามในการให้ methotrexate หรือให้ยาแล้วล้มเหลว สำหรับรายที่ไม่เห็นก้อนชัดเจนจาก TVS ก็ไม่ควรผ่าตัดเนื่องจากมีโอกาสสูงที่จะผ่าแล้วไม่พบก้อนเช่นเดียวกัน

การผ่าตัดทำได้ทั้งผ่านทางแลพพาโรสโคป (ถือเป็นทางเลือกแรกถ้าสามารถทำได้) หรือผ่าหน้าท้องโดยตรง ซึ่งสามารถผ่าตัดเชิงอนุรักษ์ linear salpingostomy ได้ผลพอ ๆ กัน การผ่าตัดแบบนี้จะต้องติดตาม hCG ซึ่งควรจะให้ผลลบใน 4-6 สัปดาห์ ในรายที่ยังค้างอยู่จะต้องรักษาต่อด้วย methotrexate หรือผ่าตัดซ้ำ ซึ่งกรณีหลังนี้พบได้ประมาณร้อยละ 5

หลังทำ salpingostomy ระดับ b-hCG ลดลงรวดเร็วในไม่กี่วัน หลังจากนั้นลดต่ออย่างช้า ๆ ใช้เวลาในการหายไปโดยเฉลี่ย 20 วัน แต่การให้ methotrexate เข้ากล้าม 1 ครั้ง ระดับจะเพิ่มใน 4 วันแรก แล้วค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ ใช้เวลาในการหายโดยเฉลี่ย 27-34 วัน แต่มีรายที่ยาวนานที่สุดถึง 109 วัน

โดยรวมผลการรักษาจากการผ่าตัด อัตราการตั้งครรภ์ในมดลูกหลังผ่าตัดเชิงอนุรักษ์สูงกว่าการตัดท่อนำไข่ออก โดยอัตราการเกิดครรภ์นอกมดลูกซ้ำภายหลังไม่แตกต่างกัน

การผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออก (salpingectomy) ควรพิจารณาทำในรายที่

  • มีบุตรเพียงพอแล้ว
  • เป็นครรภ์นอกมดลูกซ้ำที่ท่อนำไข่ข้างเดิม
  • ควบคุมการเสียเลือดไม่ได้
  • ท่อนำไข่แตกหรือถูกทำลายรุนแรง

กลุ่มที่ต้องการมีบุตรอีก มีท่อนำไข่ไม่ตัน (ร้อยละ 80-90) มีครรภ์ในมดลูก (ร้อยละ 55-75) และครรภ์นอกมดลูกซ้ำ (ร้อยละ 10-15) หลังผ่าแบบแลพพาโรสโคป หรือ ผ่าเปิดหน้าท้อง พอ ๆ กัน

การรักษาครรภ์ในช่องท้อง อาศัยการผ่าตัดเป็นหลัก บางครั้งการเอารกออกอาจจะยากและต้องปล่อยทิ้งไว้ให้ค่อย ๆ ถูกดูดซึม หรือใช้ methotrexate หลังผ่าตัดช่วย (พิจารณาเฉพาะบางราย) อาจใช้หลายเทคนิคร่วมกัน เช่น embolization ก่อนผ่าตัด เป็นต้น

Persistent ectopic pregnancy พบบ่อยในรายผ่าเชิงอนุรักษ์ พบในรายผ่าผ่านแลพพาโรสโคปสูงกว่าผ่าเปิดหน้าท้องเล็กน้อย พบบ่อยขึ้นในรายอายุครรภ์น้อยกว่า 6 สัปดาห์ ก้อนครรภ์นอกมดลูกเล็กกว่า 2 ซม. ซึ่งยากที่จะแยกและตัดออกได้สมบูรณ์ วิธีที่จะวินิจฉัยดีที่สุดคือตรวจติดตามระดับ hCG แนะนำให้ตรวจวันแรกหลังผ่าตัด และทุก 3-7 วัน (แล้วแต่ระดับของการลด) ไปจนวัดไม่ได้ ระดับวันแรกหลังผ่าตัดจะบอกทำนายได้ดี ถ้าลดลงมากว่าค่าก่อนผ่าตัดมาก จะมีโอกาส persistent ต่ำ ถ้าลดลงไม่ถึงร้อยละ 50 โอกาส persist สูงเป็น 3 เท่า

การตั้งครรภ์นอกมดลูกที่ไม่ใช่ท่อนำไข่

1. การตั้งครรภ์ในช่องท้อง (abdominal pregnancy) ซึ่งพบได้น้อยคือราวร้อยละ 1.4 ของครรภ์นอกมดลูก แบ่งได้เป็นชนิด primary คือเกิดเมื่อไข่ที่ถูกผสมแล้วมีการฝังตัวในช่องท้องโดยตรง หรือ secondary ซึ่งมีการตั้งครรภ์ที่ท่อนำไข่มาก่อน แล้วหลุดไปเจริญเติบโตต่อในช่องท้อง พบได้บ่อยกว่าแบบแรก

เกณฑ์วินิจฉัยของชนิด primary (Studiford’s criteria) คือการตรวจพบ 1) ท่อนำไข่และรังไข่ปกติ โดยไม่พบร่องรอยของการตั้งครรภ์ทั้งเก่าและใหม่ 2) ไม่มีรูเชื่อมของรกและมดลูก (uteroplacental fistula) และ 3) การตั้งครรภ์ทั้งหมดอยู่ที่ผิวเยื่อบุช่องท้อง และดูใหม่ไม่เหมือนหลุดออกมาฝังต่อจากท่อนำไข่

การตั้งครรภ์ในช่องท้องอาจดำเนินไปถึงครบกำหนดได้ บางรายอาจมีชีวิตรอด แต่โดยทั่วไปจะถูกยุติการตั้งครรภ์เมื่อได้รับการวินิจฉัย เนื่องจากการรอให้ทารกโตเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อมารดา เมื่อผ่าตัดเอาทารกออกนั้น อาจจะเอารกออกด้วยถ้าคาดว่าทำไม่ยากเกินไปโดยไม่สามารถควบคุมการเสียเลือดได้ หลายรายอาจต้องทิ้งรกไว้และตรวจติดตามรอให้ดูดซึมเอง

2. การตั้งครรภ์ที่รังไข่ (ovarian pregnancy) พบได้น้อย (ร้อยละ 0.5-1 ของครรภ์นอกมดลูก) ไม่สัมพันธ์กับติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน และการใส่ห่วงอนามัย เกณฑ์การวินิจฉัย (Spiegelberg’s criteria) คือ

  1. มีการตั้งครรภ์ในตำแหน่งของรังไข่
  2. โดยที่ก้อนการตั้งครรภ์มีการติดต่อกับตัวมดลูกด้วย ovarian ligament
  3. พบเนื้อเยื่อของรังไข่อยู่บริเวณผนังของก้อน
  4. ท่อนำไข่ข้างเดียวกันกับที่ก้อนการตั้งครรภ์อยู่ต้องมีลักษณะปกติ แยกจากก้อนการตั้งครรภ์ได้ชัดเจน

3. การตั้งครรภ์ที่ปากมดลูก (cervical pregnancy) พบได้น้อยมาก (ร้อยละ 0.2 ของครรภ์นอกมดลูก) แต่พบบ่อยขึ้นจากการตั้งครรภ์เด็กหลอดแก้ว เกิดจากการฝังตัวที่ endocervix ในทางพยาธิวิทยาจะต้องเห็น cervical glands อยู่บริเวณที่มีการฝังตัวของรก รกฝังตัวต่ำกว่าระดับ uterine vessels และไม่มีส่วนของตัวอ่อนอยู่ในโพรงมดลูก

เกณฑ์การวินิจฉัยทางคลินิกได้แก่

  1. มดลูกมีขนาดเล็กกว่าปากมดลูกที่โป่งขยายตัว
  2. ปากมดลูกด้านนอก (external os) อาจจะเปิด
  3. ปากมดลูกมีลักษณะเป็นรอยโรคสีม่วงคล้ำ
  4. เลือดออกมากเมื่อนวดบีบปากมดลูก

เกณฑ์การวินิจฉัยโดยอัลตราซาวด์

  1. เห็นถุงการตั้งครรภ์และเนื้อรกอยู่ที่ปากมดลูก
  2. เยื่อบุโพรงมดลูกปกติ ไม่เห็นส่วนการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก
  3. มดลูกมีรูปลักษณ์เป็นนาฬิการทราย (hourglass) หรือรูปเลข 8 เนื่องจากปากมดลูกบวมโตออก
  4. หัวใจทารกเต้นอยู่ใต้ต่อระดับ internal os
  5. Internal os ปิด
  6. ถุงการตั้งครรภ์ไม่เขยื้อนเมื่อใช้หัวตรวจกด (TVS) หรือไม่มี sliding sign

ทางเลือกการรักษาอาจเป็นการให้ยา methotrexate แบบหลายครั้ง ถ้าหัวใจเต้นให้พิจารณาฉีด KCL เข้าหัวใจทารกก่อน ถ้าเลือดออกมากควบคุมไม่ได้ให้เลือกวิธีผ่าตัด หรือทำ uterine arterial embolization ก่อนแล้วตามด้วยการ evacuation

5. การตั้งครรภ์ที่แผลผ่าตัดคลอด (cesarean scar) สามารถเกิดขึ้นได้ประมาณ 1 ต่อ 2000 นับเป็นร้อยละ 6 ของครรภ์นอกมดลูกของสตรีที่เคยผ่าตัดคลอดมาก่อน ตัวการตั้งครรภ์ถูกหุ้มล้อมด้วยกล้ามเนื้อมดลูกและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน การวินิฉัยอาศัยภาพอัลตราซาวด์แสดงก้อนการตั้งครรภ์ที่ตำแหน่งแผล โดยปูดยื่นออกนอกแนวผนังด้านหน้าของมดลูก ไม่เห็นส่วนทารกในโพรงมดลูก ในบางรายอาจตรวจ MRI ช่วยเสริมการวินิจฉัย การวินิจฉัยแยกโรคได้แก่ การตั้งครรภ์ที่ปากมดลูก และรกติดแน่น (placenta adherens) การรักษาอาจเลือกตัดเป็นลิ่มออก (อาจผ่านทางการเปิดท้อง กล้องแลพพาโรสโคป หรือกล้องส่องโพรงมดลูก) หรือรักษาด้วยยา หรือ uterine artery embolization ซึ่งยังไม่สามารถระบุวิธีที่ดีที่สุด แต่การวินิจฉัยที่เร็วที่สุดและรักษาโดยเร็วจะมีภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด ดังนั้นการตรวจอัลตราซาวด์ในระยะแรก ๆ สตรีตั้งครรภ์ที่เคยผ่าตัดคลอดมาก่อน ควรตรวจและระบุตำแหน่งการฝังตัวให้ชัดเจน

8. Heterotropic (combined) pregnancy มีการตั้งครรภ์ทั้งในและนอกมดลูกร่วมกัน พบได้น้อยคือราว 1:4,000-30,000 การตั้งครรภ์ พบบ่อยมากขึ้นในเทคโนโลยีช่วยภาวะเจริญพันธุ์คือพบได้ถึงร้อยละ 1 ของการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้น การรักษาส่วนใหญ่ผ่าตัดท่อนำไข่ออก (แลพพาโรสโคป) การให้ยาแบบ systemic เป็นข้อบ่งห้ามเนื่องจากยาจะไปทำลายครรภ์ปกติที่อยู่โพรงมดลูก บางท่านเลือกที่จะฉีดยาเข้าไปทำลายในถุงการตั้งครรภ์ (salpingocentesis) เช่น KCl, methotrexate เป็นต้น ซึ่งอาจฉีดผ่านทางแลพพาโรสโคป หรือฉีดโดยการชี้นำด้วยอัลตราซาวด์

6. Interstial / cornual pregnancy: การตั้งครรภ์ที่ท่อนำไข่ส่วนที่ฝังอยู่ในกล้ามเนื้อมดลูก พบร้อยละ 2-3 ของครรภ์นอกมดลูก เกณฑ์การวินิจฉัยจากอัลตราซาวด์จะต้องแสดงให้เห็นว่า 1) เห็นถุงการตั้งครรภ์เอียงออกข้าง (eccentric) โพรงมดลูกว่าง (TVS ที่แสดงแนว cervical canal จะไม่เห็นถุงการตั้งครรภ์) 2) ถุงการตั้งครรภ์มีกล้ามเนื้อมดลูกบาง ๆ (น้อยกว่า 5 มม) หุ้มอยู่ และ 3) เห็น Interstitial line (เส้นเข้มเชื่อมจากโพรงมดลูกไปยังถุงการตั้งครรภ์ที่อยู่ขอบ การรักษาในกรณีที่ต้องการเก็บมดลูกไว้ให้พิจารณาการรักษาด้วยยา (multidose) ก่อน เว้นเสียแต่สภาพไม่เหมาะสมเช่นเลือดออกมาจนจำเป็นต้องผ่าตัด ซึ่งอาจผ่าตัดเอาลิ่มคอร์นู (wedge) ที่มีถุงการตั้งครรภ์ออก หรือตัดมดลูกในกรณีที่มีบุตรพอแล้ว

7. Rudimentary horn pregnancy เกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนใน horn ของ bicornuate uterus ซึ่ง ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 90) ไม่เชื่อมต่อกับตัวมดลูกปกติ ดังนั้นจึงต้องมี transperitoneal migration ของตัวอสุจิหรือไข่

8. Intraligamentous pregnancy เป็นการตั้งครรภ์ที่อยู่ระหว่าง anterior และ posterior leaves ของ broad ligament การตั้งครรภ์ชนิดนี้เป็นการฝังตัวใหม่ โดยมีการฝังตัวที่อื่นก่อน เช่น ในท่อนำไข่ แล้วต่อมาจึงแตกแทรกเข้าไปใน broad ligament

เอกสารอ้างอิง

  1. ACOG Practice Bulletin No. 94: Medical management of ectopic pregnancy. Obstet Gynecol 2008 Jun;111(6):1479-85.
  2. Alkatout I, Honemeyer U, Strauss A, Tinelli A, Malvasi A, Jonat W, et al. Clinical diagnosis and treatment of ectopic pregnancy. Obstet Gynecol Surv 2013 Aug;68(8):571-81.
  3. Barnhart K, van Mello NM, Bourne T, Kirk E, Van CB, Bottomley C, et al. Pregnancy of unknown location: a consensus statement of nomenclature, definitions, and outcome. Fertil Steril 2011 Mar 1;95(3):857-66.
  4. Barnhart KT, Gosman G, Ashby R, Sammel M. The medical management of ectopic pregnancy: a meta-analysis comparing “single dose” and “multidose” regimens. Obstet Gynecol 2003 Apr;101(4):778-84.
  5. Barnhart KT. Clinical practice. Ectopic pregnancy. N Engl J Med 2009 Jul 23;361(4):379-87.
  6. Brown DL, Doubilet PM. Transvaginal sonography for diagnosing ectopic pregnancy: positivity criteria and performance characteristics. J Ultrasound Med 1994 Apr;13(4):259-66.
  7. Callahan R, Yacobson I, Halpern V, Nanda K. Ectopic pregnancy with use of progestin-only injectables and contraceptive implants: a systematic review. Contraception 2015 Sep 10.
  8. Capmas P, Bouyer J, Fernandez H. Treatment of ectopic pregnancies in 2014: new answers to some old questions. Fertil Steril 2014 Mar;101(3):615-20.
  9. Cole LA. Individual deviations in human chorionic gonadotropin concentrations during pregnancy. Am J Obstet Gynecol 2011 Apr;204(4):349-7.
  10. Condous G, Timmerman D, Goldstein S, Valentin L, Jurkovic D, Bourne T. Pregnancies of unknown location: consensus statement. Ultrasound Obstet Gynecol 2006 Aug;28(2):121-2.
  11. Condous G, Kirk E, Lu C, Van CB, Van HS, Timmerman D, et al. There is no role for uterine curettage in the contemporary diagnostic workup of women with a pregnancy of unknown location. Hum Reprod 2006 Oct;21(10):2706-10.
  12. Doubilet PM, Benson CB, Bourne T, Blaivas M, Barnhart KT, Benacerraf BR, et al. Diagnostic criteria for nonviable pregnancy early in the first trimester. N Engl J Med 2013 Oct 10;369(15):1443-51.
  13. Feng C, Chen ZY, Zhang J, Xu H, Zhang XM, Huang XF. Clinical utility of serum reproductive hormones for the early diagnosis of ectopic pregnancy in the first trimester. J Obstet Gynaecol Res 2013 Feb;39(2):528-35.
  14. Fritz MA, Speroff L. Clinical gynecologic endocrinology and infertility. 8 ed. Philadelphia: Wolters Kluwer | Lippincott Williams & Wilkins; 2011.
  15. Heard MJ, Buster JE. Ectopic pregnancy. In: Scott JR, Gibbs RS, Karlan BY, Haney AF, editors. Danforth’s obstetrics and gynecology. 9th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2003. p. 89-104.
  16. Jurkovic D, Hillaby K, Woelfer B, Lawrence A, Salim R, Elson CJ. First-trimester diagnosis and management of pregnancies implanted into the lower uterine segment Cesarean section scar. Ultrasound Obstet Gynecol 2003 Mar;21(3):220-7.
  17. Kirk E, Papageorghiou AT, Condous G, Tan L, Bora S, Bourne T. The diagnostic effectiveness of an initial transvaginal scan in detecting ectopic pregnancy. Hum Reprod 2007 Nov;22(11):2824-8.
  18. Kirk E, Bottomley C, Bourne T. Diagnosing ectopic pregnancy and current concepts in the management of pregnancy of unknown location. Hum Reprod Update 2014 Mar;20(2):250-61.
  19. Ko JK, Cheung VY. Time to revisit the human chorionic gonadotropin discriminatory level in the management of pregnancy of unknown location. J Ultrasound Med 2014 Mar;33(3):465-71.
  20. Kung FT, Lin H, Hsu TY, Chang CY, Huang HW, Huang LY, et al. Differential diagnosis of suspected cervical pregnancy and conservative treatment with the combination of laparoscopy-assisted uterine artery ligation and hysteroscopic endocervical resection. Fertil Steril 2004 Jun;81(6):1642-9.
  21. Larrain D, Marengo F, Bourdel N, Jaffeux P, Aublet-Cuvelier B, Pouly JL, et al. Proximal ectopic pregnancy: a descriptive general population-based study and results of different management options in 86 cases. Fertil Steril 2011 Mar 1;95(3):867-71.
  22. Lobo RA. Ectopic pregnancy. In: Katz VL, Lobo RA, Lentz G, Gershenson D, editors. Comprehensive gynecology. 5th ed. St. Louis, Mo: Mosby; 2007. p. 389-418.
  23. Moawad NS, Mahajan ST, Moniz MH, Taylor SE, Hurd WW. Current diagnosis and treatment of interstitial pregnancy. Am J Obstet Gynecol 2010 Jan;202(1):15-29.
  24. Mol F, Mol BW, Ankum WM, van d, V, Hajenius PJ. Current evidence on surgery, systemic methotrexate and expectant management in the treatment of tubal ectopic pregnancy: a systematic review and meta-analysis. Hum Reprod Update 2008 Jul;14(4):309-19.
  25. Stovall TG. Early pregnancy loss and ectopic pregnancy. In: Berek JS, editor. Berek & Novak’s gynecology. 14th ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2007. p. 601-36.
  26. Voedisch A, Frederick CE, Nicosia AF, Stovall TG. Early pregnancy loss and ectopic pregnancy. In: Berek JS, editor. Berek & Novak’s gynecology. 15 ed. Philadelphia: Wolters Kluwer Health | Lippincott Williams & Wilkins; 2012. p. 619-45.
  27. Weibel HS, Alserri A, Reinhold C, Tulandi T. Multidose methotrexate treatment of cervical pregnancy. J Obstet Gynaecol Can 2012 Apr;34(4):359-62.
  28. Wu G, Yang J, Xu W, Yin T, Zou Y, Wang Y. Serum beta human chorionic gonadotropin levels on day 12 after in vitro fertilization in predicting final type of clinical pregnancy. J Reprod Med 2014 Mar;59(3-4):161-6.
  29. Xiao-Yan C, Jie L, Dang J, Tao L, Xin-Ru L, Guang-Lun Z. A highly sensitive electrochemiluminescence immunoassay for detecting human embryonic human chorionic gonadotropin in spent embryo culture media during IVF-ET cycle. J Assist Reprod Genet 2013 Mar;30(3):377-82.
  30. Zee J, Sammel MD, Chung K, Takacs P, Bourne T, Barnhart KT. Ectopic pregnancy prediction in women with a pregnancy of unknown location: data beyond 48 h are necessary. Hum Reprod 2014 Mar;29(3):441-7.
Read More

Orawee Chinthakanan

Orawee04

อ.พญ. อรวี  ฉินทกานันท์

ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ. 2553 – 2559

ย้ายไปเป็นอาจารย์ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Orawee Chinthakanan

อ. พญ. อรวี ฉินทกานันท์

Family NameChinthakanan
First Name:Orawee
SexFemale
TitleInstructor
NationalityThai
Birth placeBangkok, Thailand
Birth dateMarch 31st, 1982
Education2004M.D. Chiulalongkorn University, Thailand
2008Diploma in Clinical Science (OB&GYN)
2009Diploma of Thai Board of OB & GYN
2014Diploma in Urogynecology, Division of Female Pelvic Medicine and Reconstructive Surgery, Department of Gynecology and Obstetrics, Emory University, Atlanta, Georgia.
Career PositionInstructor
SubspecialtyFamily planning, Menopause
E-mail:orawee_pui@yahoo.com
Publications

Read More

Somsak Chaovisitsaree

รศ. นพ. สมศักดิ์  เชาวิศิษฐ์เสรี

ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ. 2535 – 2558

ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

Somsak Chaovisitsaree

รศ. นพ. สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี

Family NameChaovisitsaree
First Name:Somsak
SexMale
TitleAsociate Professor
NationalityThai
Birth placeBangkok, Thailand
Birth dateOctober 5th , 1962
Education1988M.D. (Hons) (Chiang Mai University, Thailand)
1989Diploma in Clinical Science (OB&GYN)
1992Diploma of Thai Board of OB & GYN
Career PositionHead of Family Planning Unit
SubspecialtyFamily planning, Menopause
E-mail:somsak.chao@cmu.ac.th
Publications
Read More

Intira Sriprasert

อ.พญ. อินทิรา  ศรีประเสริฐ

ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ. 2553 – 2558

ย้ายไปเป็นอาจารย์และนักวิจัยที่ Department of Preventive Medicine, Keck School of Medicine, University of Southern California, Los Angeles, CA, USA.

Intira Sriprasert

อ. พญ. อินทิรา ศรีประเสริฐ

Family NameSriprasert
First Name:Intira
SexFemale
TitleInstructor
NationalityThai
Birth placeChiang Mai, Thailand
Birth dateJuly 31, 1983
Education2006M.D. (Chiang Mai University, Thailand)
2011Diploma in Clinical Science (OB&GYN)
2011Diploma of Thai Board of OB&GYN
Career Position2010Instructor
SubspecialtyReproductive Medicine
E-mail:oum4445@hotmail.com
Membership1. Member of Thai Medical Council
2. Member of Medical Association of Thailand
3. Member of The Royal Thai College of Obstetricians and Gynaecologists
Publications
Read More

Chumnan Kietpeerakool

รศ.นพ. ชำนาญ เกียรติพีระกุล

ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ. 2548 – 2552

ย้ายไปเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Chumnan Kietpeerakool

รศ. นพ. ชำนาญ เกียรติพีรกุล

Family NameKietpeerakul
First Name:Chumnan
SexMale
TitleInstructor
NationalityThai
Birth placeUbonrachathanee, Thailand
Birth date
Education1999M.D. (Khonkaen University, Thailand)
2001Doploma in Clinical Science (OB&GYN)
2003Diploma of Thai Board of OB&GYN
2005Diploma of Thai Subboard of Gynecologic Oncology
Career Position2003Instructor
SubspecialtyGynecologic Oncology
E-mail:ckietpee@mail.med.cmu.ac.th
Publications
Read More

Amnor-Svast Svastivatana

ศ. นพ. อำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์

หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ. 2504 – 2518

(ศ. พญ. ดวงเดือน คงศักดิ์ รักษาการแทนช่วง 2504-2507 เนื่องจาก อ. ท่านฯ ไปศึกษาต่อต่างประเทศ)

Amnor-Svast Svastivatana

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์

พระประวัติ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ มีฐานันดรศักดิ์ระดับเจ้านายชั้นอนุวงศ์ เป็นพระโอรสองค์ 41 ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา, ต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์) กับหม่อมเร่ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม: บุนนาค) ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2466 มีพระพี่น้องร่วมหม่อมมารดา 10 องค์ และเป็นพระอนุชาร่วมพระชนกของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ เสกสมรสกับหม่อมฉลวย สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม: เอกรัตน์) มีบุตร-ธิดาด้วยกันสองคน

  1. หม่อมราชวงศ์พันธุ์เทพสวัสดิ์ สวัสดิวัตน์
  2. หม่อมราชวงศ์จิตติพัณณา สวัสดิวัตน์

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ สิ้นชีพิตักษัย เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2429 พระชันษาได้ 63 ปี

การศึกษาและการทรงงาน

หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ ทรงเข้ารับการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ณ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทรงเข้าศึกษาต่อ ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (รุ่นที่ 3 พ.ศ. 2483) ในระดับชั้นอุดมศึกษาทรงศึกษาต่อที่ โรงเรียนเตรียมแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในอีก 2 ปีต่อมา ทรงสอบเข้าเพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล (ขณะนั้น) โดยทรงเป็นแพทย์ศิริราชรุ่นที่ 54 เมื่อสำเร็จการศึกษา ทรงรับราชการแพทย์เป็นเวลา 1 ปี (พ.ศ.2491-2492) ก่อนจะเสด็จไปศึกษาต่อในด้านเวชศาสตร์เขตร้อน ณ เมืองดับลิน, ไอร์แลนด์ เมื่อสำเร็จการศึกษา ทรงกลับมารับราชการแพทย์ ณ คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ จากนั้นเสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในเป็นเวลาประมาณ 2 ปี จึงกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ในปี พ.ศ. 2507 ทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2518 ต่อมาทรงลาออกจากราชการ ก่อนถึงเวลาเกษียณอายุราชการเพียงเล็กน้อย

อาจารย์ท่านฯ กับภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาพร้อมกับการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ เชียงใหม่ โดยมีหัวหน้าภาควิชาท่านแรก คือ ศ. นพ. หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ เมื่อได้รับการแต่งตั้งท่านต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้มีการแต่งตั้ง ศ. พญ. ดวงเดือน คงศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ทำหน้าที่รักษาการแทนหัวหน้าภาควิชาไปก่อน (พ.ศ. 2504-2507) และมี ศ. นพ. วราวุธ สุมาวงศ์ ศ. พญ. เพ็ญแข พิทักษ์ไพรวัลย์ และ ศ. พญ. พวงเพ็ญ ริมดุสิต เดินทางมาช่วยปฏิบัติงานด้วย ร่วมกับ รศ. พญ. สุรีย์ สิมารักษ์ และ นพ. สิริพงศ์ วินิจฉัยกุล

ในปี พ.ศ. 2504 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา เริ่มมีแพทย์ประจำบ้าน โดยแพทย์ประจำบ้าน 2 ท่านแรกของภาควิชา คือ รศ.นพ. กำจัด สวัสดิโอ และ ศ. พญ. พวงเพ็ญ ริมดุสิต ซึ่งในปีนั้นโรงพยาบาลมีแพทย์ประจำบ้านทั้งหมดรวม 8 ท่าน แต่ในระยะแรกแพทย์ประจำบ้านของภาควิชาฯ จะได้รับวุฒิบัตรทางด้านสูติ-นรีเวช โดยไม่ต้องมีการสอบ ส่วนการสอบวุฒิบัตร เริ่มมีครั้งแรกในปี พ.ศ. 2514 แพทย์ที่สอบรุ่นแรกคือ ผศ.นพ. วิโรจน์ สหพงษ์ และ รศ. พญ.สังวาลย์ รักเผ่า ซึ่งเป็นแพทย์เชียงใหม่รุ่นที่ 7

เมื่อ ศ.นพ. หม่อมเจ้าอำนอร์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ กลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2507 และได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าภาควิชา อาจารย์ทั้ง 3 ท่านจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จึงเดินทางกลับ แต่ภาควิชาฯก็ได้อาจารย์เพิ่มมาใหม ่คือ ศ.นพ.กอสิน อมาตยกุล ซึ่งย้ายมาจากสถาบันเซนต์หลุยส์ และในปี พ.ศ. 2507 เดียวกันนี้ รศ.นพ.กำจัด สวัสดิโอ ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางภาควิชาก็ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยด์ ส่ง Dr. Zelenik ซึ่งมาทำงานอยู่ที่สถาบันเซนต์หลุยส์ ให้มาเป็นอาจารย์พิเศษช่วยสอนที่ภาควิชาอยู่เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี

สร้างภาคฯสร้างคน

ขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาคฯ อ.ท่านฯได้ทรงบุกเบิกก่อร่างสร้างภาควิชาในยุคที่เริ่มต้นจากศูนย์ เป็นจุดต้นกำเนิดให้เติบโตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อ.ท่านฯ เปรียบเสมือนแม่ทัพภาควิชาสูติฯยุคต้น ทำการรวบรวมสรรพกำลังขุนพลสร้างภาคฯให้เป็นปึกแผ่น เช่น อ. วราวุธ สุมาวงศ์ อ. ศุภร ศิลปิศรโกศล อ. สุรีย์ สิมารักษ์ อ. กอสิน อมาตยกุล เป็นต้น เพื่อให้บริการแก่ชุมชน และสร้างคนให้ภาคแข็งแกร่ง เช่น อ. กำจัด อ. สังวาล อ.วิโรจน์ และอีกมากมาย ด้วยความทุ่มเท อุตสาหะ ท่ามกลางความทุรกันดารของภูมิภาค ขีดจำกัดของศักยภาพโรงพยาบาล และทรัพยากรทางการแพทย์ ประวัติศาสตร์หน้านั้นได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับอนุชนในรุ่นต่อมาอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

ประวัติศาสตร์ในวงวิชาการ

ในยุคเริ่มต้นของภาควิชา นอกจากงานบริการทางสูติกรรม และการเรียนการสอนนักศึกษาที่เป็นงานหลัก เช่นเดียวกับทุกภาควิชาฯ แล้ว อ.ท่านฯ ทรงศึกษาค้นคว้าปัญหาเฉพาะถิ่นในยุคนั้นด้วยการรายงานผู้ป่วยน่าสนใจจำนวนมาก โดยเฉพาอย่างยิ่ง amoebic vaginitis ซึ่งพบได้บ่อยในถิ่นแถบนี้

ในสมัยนั้น การคลอดส่วนมากทำโดยหมอตำแย และมีส่วนหนึ่งที่มีปัญหาการคลอดยาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่ได้รับการดูแลล่าช้า การคลอดติดขัดหรือ prolonged labor มีอุบัติการณ์สูง ผลที่ตามมาพบว่ามี V-V fistula ตามหลังการคลอดสูง อ.ท่านฯ ได้ทำการผ่าตัดซ่อม V-V fistula จำนวนมาก ทั้งชนเผ่า และชาวพม่า หลายรายมีรูรั่วขนาดใหญ่มากจนต้องเย็บซ่อมแล้วซ่อมอีกหลายครั้งให้ขนาดเล็กลง ซึ่งทำการเย็บซ่อมในท่าผู้ป่วยนอนคว่ำ มีรายหนึ่งที่ต้องผ่าตัดเย็บซ่อมถึง 11 ครั้ง ถึงจะปิดสนิท ซึ่งการเย็บซ่อม VV fistula ถือเป็นหัตการที่มีชื่อเสียงมากของอ.ท่านฯ โดยมีอ.ชัยรัตน์ทำการสืบทอดการทำหัตถการนี้จากอ.ท่านฯสู่ชนรุ่นต่อมา

การคลอดอย่างยากเป็นประสบการณ์ของอาจารย์แพทย์ยุคก่อนที่พบเห็นได้บ่อยมาก ประวัติศาสตร์ของเราได้จดจำถึงอ.ท่านฯ ในการทำคลอดด้วยคีมนานาชนิด การหมุนกลับท่าเด็กที่เป็นท่าขวางให้เป็นท่าหัว หมุนกลับในมดลูก (internal podalic version) ภาพการคลอดท่าขวางที่แขนโผล่ออกมานอกช่องคลอดและอ.ท่านฯได้ทำการหมุนกลับภายในให้คลอดได้อย่างปลอดภัย ยังคงเป็นภาพติดตาที่ถ่ายทอดสู่รุ่นลูกหลานโดยไม่จำเป็นต้องมีภาพบันทึกใด ๆ

อ.ท่านฯ ถือเป็นต้นตำรับของ difficult vaginal operative births เช่น การทำหัตถการทำลายเด็กที่เสียชีวิตแล้วซึ่งเกิดจากการคลอดติดขัดเป็นเวลานานที่ถูกส่งตัวมาล่าช้า การใช้ cephalotribe บีบ Simpson’s perforator เจาะ หรือการทำ decapitation ซึ่งไม่ได้เห็นกันแล้วในปัจจุบัน แต่คือทางรอดที่ปลอดภัยด้วยทักษะระดับสูง เพื่อแก้ไขปัญหาการคลอดที่เลวร้ายแบบไม่มีทางเลือกในสมัยนั้น

อีกหนึ่งความทรงจำของบัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์เป็นหนึ่งในคณะที่เป็นปึกแผ่น ก้าวหน้า อย่างรวดเร็วในยุคต้น อ.ท่าน นับเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของคณะมาตั้งแต่เริ่มต้น ทรงมีความตั้งใจจริงและทรงปฏิบัติงานอย่างเอาจริงเอาจัง ทรงรับหน้าที่เป็นหัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยามาตั้งแต่เริ่มแรก ไม่เพียงแต่ความเป็นครู และแพทย์ที่ดีเยี่ยมของชาวสวนดอกเท่านั้น ท่านยังทรงเป็นผู้ที่ชาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รู้จักดี โดยที่ท่านได้ทรงเป็นหัวหน้าฝ่ายพิธีการในงานรับพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีของมหาวิทยาลัยตั้งแต่แรก และได้ทรงทำหน้าที่ติดต่อกันมาหลายปี ท่านทรงรับหน้าที่ในการจัดฝึกซ้อมบัณฑิต กำหนดพิธีการต่าง ๆ ตลอดจนทรงทำหน้าที่เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาบัตรต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อพระราชทานต่อบัณฑิต บัณฑิตทุกรุ่นในยุคโน้นจะจำท่านได้ดี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • 5 ธันวาคม 2498 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย
  • 5 ธันวาคม 2500 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก
  • 5 ธันวาคม 2510 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย
  • 5 ธันวาคม 2512 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย
  • 5 ธันวาคม 2518 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก
  • 5 ธันวาคม 2521 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย, เหรียญจักรพรรดิมาลา
  • 5 ธันวาคม 2524 ประถมาภรณ์ช้างเผือก

ที่มาของข้อมูล

ม.ร.ว. จิตติพัณณา สวัสดิวัตน์
งานบริการงานบุคคล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คำบอกเล่าจากภาพความทรงจำของอาจารย์อาวุโส และเอกสารเก่า ๆ ในภาควิชาฯ

Read More

Fetal Growth Restriction

ทันยุคกับทารกโตช้าในครรภ์
Update in Fetal Growth Restriction

ธีระ ทองสง


คำจำกัดความ

ทารกโตช้าในครรภ์ (fetal growth restriction; FGR) ส่วนมากถือเอาเกณฑ์ที่ทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10(1, 2) ซึ่งตามคำจำกัดความนี้ควรจะเป็น small-for-gestational age; SGA มากกว่าบ่งชี้ถึงขนาดทารกมากกว่าความผิดปกติในการเติบโต ซึ่งควรเน้นถึงภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition)

ทารกที่มีขนาดเล็กกว่าอายุครรภ์ (SGA) แบ่งออกได้เป็นสามกลุ่มตามสาเหตุคือ

  1. ทารกพันธุ์เล็ก หมายถึงทารกขนาดเล็กตามธรรมชาติ (constitutionally small) เนื่องจากมารดาตัวเล็ก หรือปัจจัยทางพันธุกรรม แต่มิได้มีปัญหาเนื่องจากการเติบโตผิดปกติ
  2. ทารกเป็นโรค (disorders / anomaly) เช่น trisomy 18 หรือติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (CMV) เป็นต้น
  3. ทารกขาดอาหาร หรือเจริญเติบโตช้าในครรภ์ (fetal growth restriction; FGR) เน้นถึงภาวะทุพโภชนาการเป็นหลัก (เด็กผอม) ซึ่งสัมพันธ์กับการทำงานของรกไม่ดี (placental insufficiency) โดยมิได้คำนึงถึงเพียงขนาดของทารกเพียงอย่างเดียว

ความสำคัญ

ทารกตัวเล็กโดยรวมมีความเสี่ยงต่อการตายปริกำเนิดและอัตราทุพพลภาพสูงกว่าทารกที่น้ำหนักเหมาะสมตามอายุครรภ์ (1-4) เช่น การศึกษาใหญ่แบบ cohort ในทารกไม่พิการกว่า 90,000 ราย พบว่า FGR ที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตที่พบได้มากที่สุด โดยกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตถึง 19.8 (ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตรวม 4.2) ปัญหาระยะยาวทางด้านพัฒนาการทางสมองด้วย คะแนนไอคิวต่ำกว่าผู้ใหญ่ทั่วไป แม้จะมีการให้สเตียรอยด์ทั้งก่อนและหลังคลอด แต่ทารก SGA ที่อายุครรภ์อ่อนมากยังคงมีปัญหากลุ่มอาการหายใจลำบากในทารกแรกเกิด (respiratory distress syndrome) มากอยู่ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่น่าเชื่อว่าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ยังมีความเสี่ยงต่อโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคไตเรื้อรังจะพบได้บ่อยขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับ SGA (1, 2)

แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1. สาเหตุจากตัวทารกเอง (fetal causes)มักเป็นชนิดsymmetrical FGR หรือตัวเล็กทุกส่วน

  • การติดเชื้อในครรภ์ เช่น cytomegalovirus, rubella, toxoplasma gondiiวัณโรค listeriosisการติดเชื้อมาเลเรียในประเทศแถบตะวันออก เพิ่มโอกาส FGR ได้มาก
  • ความผิดปกติของโครโมโซม เช่นtrisomy 18,trisomy 13, trisomy 22 และ triploidy (ต้นกำเนิดจากฝ่ายมารดา)(5)
  • ความพิการโดยกำเนิด เช่น หัวใจพิการแต่กำเนิดหรือ gastroschisis เป็นต้น

2.สาเหตุจากมารดา (maternal causes)เป็น extrinsic factors มักสัมพันธ์กับ asymmetrical FGR

  • โรคทางหลอดเลือดในมารดา เช่น ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ความดันสูงจากการตั้งครรภ์ โรคทางคอลลาเจน โรคหลอดเลือดจากเบาหวาน มีความสัมพันธ์ผกผันระหว่างการเติบโตของทารกกับความดันโลหิตของมารดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความดันโลหิตสูงที่เป็นสาเหตุของ preclampsia (6)
  • ภาวะขาดอาหาร เช่น ทุพโภชนาการ หรือมารดามีโรคเรื้อรังที่ทำให้การดูดซึมสารอาหารผิดปกติไป เช่น แผลเรื้อรังในทางเดินอาหาร หรือการตั้งครรภ์ที่ติดกันมากเกินไป เป็นต้น
  • มารดาตัวเล็ก (BMI ต่ำ) หรือมารดาที่น้ำหนักขึ้นน้อย ซึ่งมารดาไม่สามารถปรับตัวเพิ่มปริมาตรเลือดขณะตั้งครรภ์ได้เท่าที่ควร
  • ภาวะโลหิตจางรุนแรง เช่น beta-thalassemia/HbE disease หรือ HbH disease เป็นต้น
  • ภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง เช่น อยู่ในถิ่นภูมิประเทศสูง หรือมารดามี cyanosis จากโรคหัวใจ
  • โรคไตบางชนิดที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หรือมีการสูญเสียโปรตีน
  • ยาและสารอันตราย เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ โคเคน phenytoin trimethadioneเป็นต้น
  • ครรภ์แฝด มักทำให้มวลรกต่อทารกแต่ละคนลดลง ทำให้สารอาหารที่ไปยังทารกแต่ละคนลดลง
  • Antiphospholipid antibody syndrome ทำให้เกิดการจับตัวกันของเกล็ดเลือด และมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดเล็ก ๆ โดยเฉพาะในรก

3. สาเหตุจากรก (placental causes) และสายสะดือ ทำให้การแลกเปลี่ยนสารอาหารที่รกลดลง ได้แก่

  • รกเสื่อมสภาพหรือขาดเลือด (placental infarction) ลิ่มเลือดที่รก อักเสบ หรือโครงสร้างหลอดเลือดของรกและทารกพัฒนาไม่ดีตั้งแต่ครรภ์ระยะแรก ดังที่พบว่าระดับ sFlt-1 สูง ซึ่งสะท้อนถึงพัฒนาการรกไม่ดี จะสัมพันธ์กับ FGR ซึ่งอาจสัมพันธ์กับโรคในมารดาอีกต่อหนึ่ง
  • รกเกาะต่ำ หรือรกลอกตัวก่อนกำหนดเป็นหย่อม ๆ
  • chorioangioma
  • รกผิดปกติ เช่นcircumvallate placenta และ marginal หรือ velamentous insertion ของสายสะดือ
  • สายสะดือผูกเป็นปม (true knot) ก็สามารถทำให้ขัดขวางเลือดและเกิด FGR ได้
  • ระดับฮอร์โมนจากรกหลายตัวต่ำกว่าทารกปกติ เช่น hCG, PAPP-A หรือซีรั่มมาร์คเกอร์สำหรับคัดกรองดาวน์ในไตรมาสที่สองก็ค่อนข้างต่ำในทารก FGR

การจำแนก FGR (7)

  1. Early-onset FGRทารกโตช้าที่วินิจฉัยได้ก่อนอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ นับเป็นร้อยละ 30 ของ FGR มักจะสัมพันธ์กับพัฒนาการของรกที่ผิดปกติตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย รกมีความต้านทานสูง ซึ่งเสี่ยงสูงต่อการเกิด preeclampsiaและ FGR และยังสัมพันธ์กับกับความผิดปกติของโครโมโซมหรือการติดเชื้อในครรภ์ระยะแรก เช่น หัดเยอรมัน
  2. Late-onset FGR ทารกโตช้าที่วินิจฉัยได้ที่ 32 สัปดาห์หรือมากกว่า นับเป็นร้อยละ 70 ของ FGRมักจะสัมพันธ์กับปัจจัยภายนอกตัวทารก หรือโรคของมารดา ได้แก่ ความดันโลหิตสูง หรือภาวะใดๆที่มีผลให้รกเสื่อมและทำให้การส่งออกซิเจนและสารอาหารไปยังทารกลดลง

ตารางที่ 1 ลักษณะสำคัญทางคลินิกของ early-onset และ late-onsetFGR

ลักษณะ Early-onset FGR Late-onset FGR
ความท้าทายสำคัญทางคลินิก การดูแลรักษา การตรวจพบ
ความชุก ร้อยละ 30 ร้อยละ 70
อายุครรภ์ที่แสดง ก่อน 32 สัปดาห์ มากกว่าหรือเท่ากับ 32 สัปดาห์
ลักษณะทางอัลตราซาวด์ ทารกอาจจะเล็กมาก ทารกไม่จำเป็นต้องมีขนาดเล็กมาก
คลื่นเสียงดอพเลอร์ การเปลี่ยนแปลงของรูปคลื่นดอพเลอร์ในUA, MCA และ DV ปรับเปลี่ยนการกระจายตัวใหม่ของการไหลเวียนในเส้นเลือดสมอง
Biophysical profile อาจผิดปกติ อาจผิดปกติ
ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ พบบ่อย พบไม่บ่อย
การตรวจพบทางพยาธิวิทยาของรก การฝังตัวของรกไม่ดี ผิดปกติของเส้นเลือดแดง spiral และเส้นเลือดของมารดาส่งผ่านออกซิเจนไม่ดี ลักษณะทางพยาธิของรกไม่ค่อยจำเพาะ ที่เปลี่ยนแปลงหลักคือการซึมผ่านที่เปลี่ยนไป
การตายปริกำเนิด สูง ต่ำ
สภาวะการไหลเวียนเลือดในแม่ Cardiac output ต่ำ แรงต้านทานรอบนอกสูง ไม่ค่อยชัดเจน

Doppler Velocimetry

ทารก FGR มีความสัมพันธ์กับการลดลงของการไหลเวียนเลือดที่รก มักมีความต้านทานที่รกสูงกว่าปกติ ค่า systolic / diastolic (S/D) ratio และ pulsatility index (PI) ของหลอดเลือดแดงสายสะดือสูงขึ้น umbilical RI เป็นสัดส่วนกับหลอดเลือดที่ผิดปกติในรกด้วย (เช่นมีการหนาตัว อุดตัน) ซึ่งแสดงถึงความต้านทานที่สูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของ umbilical S/D ratio อาจเกิดนำมาก่อนการโตช้า และเมื่อตรวจพบว่าโตช้า ความต้านทานใน aorta และ renal artery ก็เพิ่มขึ้น การไหลเวียนเลือดที่ไตลดลง น้ำคร่ำน้อยลง ขณะเดียวกันมีการกระจายเลือดชดเชยด้วยการเพิ่มการไหลเวียนเลือดที่สมอง (cephalization) end-diastolic flow ของ middle cerebral artery (MCA) มากขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับการอิ่มตัวของออกซิเจน (oxygen saturation) ที่ลดลง คลื่นเสียงดอปเลอร์ (Doppler) ใช้วินิจฉัย FGR (ทารกตัวเล็กหรือน้ำหนักน้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10) ได้ไม่ดี คือไม่มีความไวพอ แต่ในทางตรงกันข้ามดอปเลอร์มีประโยชน์มากในการประเมินความเสี่ยงของทารกที่วินิจฉัย FGR จากวิธีอื่น (real-time ultrasound) ความผิดปกติของ umbilical S/D ratio อาจทำนายภาวะทุพพลภาพของทารกแรกคลอดได้ดีกว่า NST ภาวะ absent end diastolic velocity (AEDV) (รูปที่ 1) ที่พบในรายโตช้าสัมพันธ์กับการมี fetal distress ในระยะคลอดและการตายปริกำเนิดอย่างชัดเจน ทารก FGR ที่มีดอปเพลอร์ปกติจะมีความเสี่ยงน้อย แต่ความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อดอปเพลอร์ของหลอดเลือดแดงสายสะดือผิดปกติ (เช่น ความต้านทานมากขี้นเมื่อตรวจซ้ำ หรือมี AEDV) ซึ่งสัมพันธ์กับความต้านทานใน MCA เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อความต้านทานใน MCA กลับลดลงมาในภายหลัง และความเสี่ยงสูงสุดเมื่อหัวใจล้มเหลวมีการไหลย้อนกลับใน ductus venosus (รูปที่ 2) และ inferior vena cava มี pulsatile umbilical vein(8) (รูปที่ 3)

ในบรรดาทารกที่เป็น FGR แต่ดอปเพลอร์ปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสุขภาพถี่ บางการศึกษาสนับสนุนว่าทารกที่สงสัย FGR แต่ umbilical Doppler ปกติ และน้ำคร่ำปกติ อาจไม่จำเป็นต้องทดสอบสุขภาพทารกในครรภ์ เนื่องจากไม่พบว่ามี metabolic acidemia หรือ chronic asphyxia ในระยะคลอด ในขณะที่การไหลเวียนเลือดที่หลอดเลือดสายสะดือยังลดลงไม่มากแต่ cerebroplacental ratio ผิดปกติแล้ว พยากรณ์จะแย่กว่ารายที่อัตราส่วนนี้ปกติอยู่ อัตราส่วนนี้ช่วยให้ทำนายผลลัพธ์การตั้งครรภ์ได้ดีกว่า umbilical Doppler เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะในรายอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์

ค่า Doppler จะปกติในทารกขนาดตัวเล็กโดยธรรมชาติแต่ไม่เป็น FGR แต่จะผิดปกติเฉพาะในรายที่เป็น FGR อันเนื่องจากการเสื่อมของหลอดเลือดบริเวณรก Doppler จึงช่วยทำนาย FGR มากกว่า SGA(9) และ Doppler ยังช่วยบอกถึงความสามารถของทารก FGR ในการปรับตัวด้วย รายที่ปรับตัวด้วยการพัฒนาเพิ่ม capillary angiogenesis และพัฒนา terminal villi จะยังคงมี end-diastolic flow ให้เห็น ต่างกับรายที่ไม่พัฒนาดังกล่าวจะพบ reverse หรือ AEDV(10)

ใน FGR จะมีความผิดปกติในการไหลเวียนเลือดเกิดนำมาก่อนที่จะทารกจะผอมลงอย่างชัดเจน กระบวนการนี้อาจเริ่มต้นตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย เช่นมีการศึกษาพบว่า Doppler flow ของหลอดเลือดแดงมดลูกและสายสะดือที่ผิดปกติตั้งแต่ 12-16 สัปดาห์สามารถช่วยทำนายการเกิด pre-eclampsia และ FGR ในภายหลังได้(11) ซึ่งความผิดปกติดังกล่าวบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการปรับตัวในการไหลเวียนเลือดที่รกตั้งแต่ระยะครรภ์เริ่มแรก

สรุป: การวัดสัดส่วนของทารกสามารถทำนายขนาดทารกได้ดีที่สุด ในขณะที่ความผิดปกติทาง Doppler velocimetry (โดยเฉพาะอย่างการไม่มี end-diastolic flow) เป็นตัวทำนายสรีรวิทยาของทารก หรือผลการตั้งครรภ์ที่แย่ได้ดีกว่า ดังนั้นแพทย์ส่วนมากจึงนิยมใช้ร่วมกันระหว่างการวัดด้วย real-time และ Doppler velocimetry มากกว่าที่จะใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง

รูปที่ 1 Doppler waveforms ของหลอดเลือดแดงสายสะดือ (umbilical artery) แสดงภาวะปกติมีเลือดไหลไปข้างหน้ามากขณะที่สิ้นสุดการการคลายตัว (ซ้ายบน) และทารกโตช้าที่การไหลเวียนขณะสิ้นสุดการคลายตัวน้อยลง (ขวาบน), AEDV (absent end-diastolic velocity: ซ้ายล่าง) และ  REDV (reversed end-diastolic velocity) ซึ่งมีการไหลย้อนกลับของเลือดขณะ end diastole ของทารกโตช้าในครรภ์

รูปที่ 2 Doppler waveforms ของ ductus venosus แสดงภาวะปกติที่มี a-wave (รูปบน) และภาวะทารกโตช้าจนมี AEDV (absent end-diastolic velocity: ซ้ายล่าง) และ REDV (reversed end-diastolic velocity: ขวาล่าง) ซึ่งมีการไหลย้อนกลับของเลือดขณะมี atrial contraction

รูปที่ 3 Doppler waveforms ของหลอดเลือดดำสายสะดือ (umbilical vein) แสดงการไหลเวียนเลือดเป็นจังหวะตามการบีบตัวของหัวใจ (venous pulsations) ของทารกโตช้าในระยะที่ทนต่อภาวะขาดออกซิเจนได้ยากมาก

 

ในทารก FGR ที่มีปัญหา uteroplacental insufficiency (UPI) การไหลเวียนเลือดที่รกแย่ลง umbilical artery pulsatility index (UA-PI) จะมีค่าสูงขึ้น (แสดงถึงความต้านทานที่รกมากขึ้น) และการมี brain sparing effect ซึ่งมีทำให้ค่า MCA-PI มีค่าสูงขึ้น ค่าอัตราส่วน MCA-PI /UA-PI หรือ cerebroplacental ratio  (CPR) การวัดค่านี้จะช่วยให้ความมั่นใจในการวินิจฉัย FGR มากขึ้น ในทารกปกติค่า UA-PI ต่ำกว่า MCA-PI หรือค่า CPR มากกว่า 1.0 ในกรณีที่ความต้านทานในหลอดเลือดสมองลดลงต่ำกว่าความต้านทานในหลอดเลือดรก CPR มีค่าต่ำกว่า 1.0 เป็นปรากฏการณ์ขโมยเลือดไปเลี้ยงสมอง ซึ่งสะท้อนถึงระบบการปรับตัวในการเพิ่มการไหลเวียนเลือดที่สมองในภาวะที่รกเสื่อมลง (cephalization)(12) ค่าดังกล่าวสะท้อนว่าทารกมีความเสี่ยงมากขึ้นแล้วและทำนายผลลัพธ์ที่ไม่ดี ต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ในการศึกษา PORTO trial(13) พบว่าอัตราผลเสียร้ายแรงต่อทารกแรกคลอด (เช่น hypoxic ischaemic encephalopathy; HIE, Necrotizing enterocolitis; NEC การเสียชีวิต) ในรายที่ CPR ต่ำกว่า 1 พบสูงร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับร้อยละ 2 ในกลุ่มที่ค่า CPR สูงกว่า 1 ในกรณีที่ UA-PI มีค่ามากกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 95 การใช้ CPR จะมีประโยชน์มากในการทำนายผลลัพธ์ที่รุนแรง และยังทำนายผลลัพธ์ที่ไม่ดีได้พอ ๆ กับ UA-AEDV/REDV ด้วย รายงานอื่น ๆ ก็สนับสนุนว่า CPR ที่ผิดปกติสัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่ไม่ดีเช่นเดียวกัน(14-18) อย่างไรก็ตามการใช้ CPR เป็นกิจวัตรยังไม่ได้เพิ่มคุณค่าการทำนายเหนือไปกว่าการตรวจ UA-PI อย่างเดียว(19)

การวัด Doppler indices ในทารก FGR ได้มีการศึกษากันอย่างกว้างขวาง และขยายออกไปถึงหลอดเลือดอื่น ๆ นอกจากหลอดเลือดแดงสายสะดือ เช่น การไหลเวียนเลือดผิดปกติใน ductus venosus (DV) และ umbilical vein (UV) บ่งชี้ถึงภาวะเครียดของทารก ยังบ่งชี้ถึงปัญหาระบบหัวใจและหลอดเลือดของทารกเองด้วย reverse flow ที่ DV สัมพันธ์กับผลการตั้งครรภ์ที่ไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายโตช้าตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย(20, 21) DV Doppler อาจมีการเปลี่ยนแปลงก่อนที่ทารกจะเกิดภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย (hypoxia) จริง ๆ (โดยที่ fetal heart rate tracing ปกติอยู่ได้) การศึกษา TRUFFLE ก็สนับสนุนปรากฏการณ์ดังกล่าว (22, 23) แต่ช่วงเวลาดังกล่าวมีผลเสียต่อพัฒนาการของสมอง สมองตายหรือไม่ ยังยากที่จะตอบได้ในปัจจุบัน

เมื่อรกเสื่อมลงเป็นลำดับ ความผิดปกติของ Doppler ก็มักแสดงความรุนแรงเป็นลำดับดังนี้ (24-26)

  • ปริมาณเลือดในหลอดเลือดดำสายสะดือ (UV) ลดลง ซึ่งเกิดเร็วและเกิดนำมาก่อนเห็นการโตที่ช้าลงในทางคลินิก
  • เลือดใน UV มีการกระจายของเลือดใหม่ (redistribution) โดยลดปริมาณจากตับไปเพิ่มเข้าหัวใจ ขนาดตับลดลง เส้นรอบท้องลดลง ซึ่งเป็นการตรวจวัดที่พบได้เป็นครั้งแรก
  • DI ในหลอดเลือดแดงสายสะดือ (UA) จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการไหลเวียนขณะ end diastolic flow น้อยลง ซึ่งเป็นผลจากความต้านทานในรกมากขึ้น
  • DI ใน MCA ลดลง (เพิ่ม end diastolic flow) เนื่องจากการกระจายเลือดไปสมองมากขึ้นจาก brain sparing effect
  • วิลไลฝ่อและเพิ่มความต้านทานในรกที่เป็นมากขึ้นจะก่อให้เกิด AEDV/REDV ใน UA
  • การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติเนื่องจากขาดออกซิเจนและอาหารอย่างเรื้อรัง เพิ่มความดันในหลอดเลือดแดงของรกและทารก ส่งผลให้เพิ่มค่า DI ใน DV ขณะที่สมรรถนะของหัวใจ (cardiac performance) แย่ลง ทำให้เกิด AEDV / REDV ใน DV และมี pulsatile UV ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ระยะใกล้เสียชีวิต
  • ในระยะนี้จะมีคะแนน BPP ต่ำ NST ให้ผล non-reactive และมี late deceleration

ข้อพิจารณาในเชิงคลินิก

การตรวจวัดความสูงมดลูกเป็นเพียงการคัดกรองเบื้องต้น แต่ยังไม่มีหลักฐานว่ามีประสิทธิภาพสูงในการทำนาย FGR เป็นการตรวจคัดกรองคร่าว ๆ ที่มีอัตราการตรวจพบความผิดปกติในการเจริญเติบโตค่อนข้างต่ำ แต่ก็ยังมีประโยชน์ และแม้ในรายที่มารดาอ้วนก็ยังใช้ได้ จึงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าถ้าตรวจครรภ์พบว่ามดลูกขนาดเล็กกว่าที่ควรจะเป็นให้ตรวจประเมินด้วยอัลตราซาวด์

เนื่องจากทารกบางรายมีโอกาสน้ำหนักน้อยตามธรรมชาติ ทั้งที่มีสุขภาพดี การใช้แผนภูมิบันทึกการเติบโต (growth chart) สำหรับทารกทั่วไปอาจไม่เหมาะสม จึงมีบางท่านแนะนำให้ใช้ customized growth chart ซึ่งนำเอาปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ต่อน้ำหนักทารกมาช่วยคะเนน้ำหนักที่ควรจะเป็นด้วย ได้แก่ น้ำหนัก/ส่วนสูงของมารดา เชื้อชาติ จำนวนครั้งของครรภ์ เป็นต้น(27) เช่นมารดาชาวไทย ที่น้ำหนักน้อย จะถูกคาดว่าทารกมีน้ำหนักน้อยกว่าชาวตะวันตกเป็นปกติ จะมีการปรับค่าน้ำหนักปกติที่ต่ำกว่าเป็นต้น การใช้ customized growth chart จะทำให้อัตราการวินิจฉัย FGR ลดลง และการใช้ค่า cut-off ที่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 5 น่าจะดีกว่าที่ 10(28, 29) การใช้ customize growth chart ตรวจวัดอย่างต่อเนื่องช่วยให้วินิจฉัยทารกตัวเล็กได้ดีขึ้น(30) อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานชัดเจนถึงประโยชน์ของการ customized growth chart และการศึกษาเบื้องต้นพบว่าทำนายผลลัพธ์การปริกำเนิดที่แย่ได้ไม่ดีนัก(28) อนึ่ง เนื่องจากประเทศต่าง ๆ มิได้มีการสร้าง growth chart ที่เหมาะสมสำหรับประชากรตนเอง จึงมักจะอาศัย growth chart ที่แพร่หลายของประเทศทางตะวันตก ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินการเติบโตของทารกในครรภ์ได้ไม่แม่นยำนักเมื่อใช้กับกลุ่มประชากรที่มีน้ำหนักมารดาและเชื้อชาติที่แตกต่างกัน องค์การอนามัยโลกจึงได้พัฒนา fetal growth chart ในการทำนายน้ำหนักทารกโดยอัลตราซาวด์มาร์คเกอร์ที่ใช้อยู่เป็นประจำ(31) เชื่อว่าจะทำให้การวินิจฉัยการเจริญเติบโตของทารกมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

เนื่องจากการวินิจฉัย FGR ส่วนใหญ่ถือกันตามขนาดทารก แทนที่จะประเมินสภาวะการขาดอาหาร (malnutrition) หรือไม่ ทารกตัวเล็ก (SGA) มิได้หมายความว่าทารกเหล่านั้นจะมีการโตที่ผิดปกติในแง่ของการขาดอาหาร ซึ่งเล็กโดยธรรมชาติไม่ถือว่ามีความเสี่ยงในแง่สุขภาพ แต่เป็นเพียงความแปรปรวนในขนาดทารกที่ย่อมแตกต่างกันได้ เช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วไป

การศึกษาในแง่นี้ควรจะย้ำลงไปว่าการเจริญเติบโตผิดปกติ อาจไม่ใช่ SGA ก็ได้ เช่นทารกตัวโตโดยธรรมชาติ แต่พอถึงระยะท้ายของการตั้งครรภ์มีภาวะขาดอาหารเกิดขึ้นจากรกเสื่อมสภาพ มีความเสี่ยงต่อการขาดออกซิเจน แต่การตรวจวัดทางคลื่นเสียงความถี่สูงอาจพบว่าอยู่ที่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 50 ทำนายว่าไม่เล็ก ไม่เป็น SGA แต่แท้จริงแล้วเป็น FGR ได้

การตรวจวัดทางคลื่นเสียงความถี่สูง มักจะเป็นการวัด SGA มากกว่า FGR แม้ว่าส่วนใหญ่จะใช้เป็นคำคำเดียวกันก็ตาม เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่ของ FGR ตกอยู่ต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 ดังนั้นเมื่อวินิจฉัย SGA ก็น่าจะเป็น FGR ไปด้วย ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษในฐานะที่มีความเสี่ยงสูง การแยกระหว่าง SGA และ FGR จึงอาจจะยาก แต่ก็ควรได้รับการตรวจระวังเหมือนกัน ทั้งในแง่ของการได้รับออกซิเจน และการเติบโตต่อไป

ประมาณร้อยละ 80 ของรายที่สงสัย SGA พบว่ามีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 และความแม่นยำจะยิ่งถูกต้องมากขึ้นในกลุ่มที่น้ำหนักต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 5 และกลุ่มนี้มีโอกาสสูงที่จะต้องรับไว้ใน NICU และมีภาวะแทรกซ้อนสูงกว่ากลุ่มที่มีน้ำหนักอยู่ระหว่างเปอร์เซ็นไทล์ที่ 5-9(32)

การวัดทางคลื่นเสียงความถี่สูง (fetal biometry) เป็นเพียงความพยายามที่จะบอกขนาดเด็ก แต่มิได้บอกสุขภาพเด็ก ในทางตรงกันข้าม Doppler หรือ non stress test (NST), biophysical profile (BPP), oxytocin challenge test (OCT) และปริมาณน้ำคร่ำบอกถึงสุขภาพเด็ก แต่ไม่บอกขนาดเด็ก ทารกที่มีความเสี่ยงควรได้รับการตรวจทั้งขนาดและสุขภาพด้วย

เมื่อตรวจพบ หรือทำนายว่าทารกเป็น SGA และได้รับการตรวจสุขภาพแล้วพบว่าปกติ ก็มิได้หมายความว่าไม่ขาดอาหาร อาจเป็นรายที่ขาดอาหารแต่ยังไม่ถึงกับรุนแรงจนถึงขั้นขาดออกซิเจนขั้นวิกฤต การติดตามการเจริญเติบโต และสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ตราบใดก็ตามที่กราฟการเติบโตยังคงขนาน (ไปด้วยกันกับ normal curve) ไม่ว่าจะตกอยู่ที่เปอร์เซนไทล์เท่าใด ควรถือว่าเป็นการเติบโตที่เหมาะสม(33)

แม้ว่าการตรวจวัดทางคลื่นเสียงความถี่สูง จะบอกขนาดทารกว่าเป็น SGA หรือไม่ แต่ก็อาจให้ข้อมูลที่บ่งขี้ว่าน่าจะเป็น FGR หรือเล็กโดยธรรมชาติอย่างเดียว เช่น HC/AC ผิดปกติน่าจะบ่งชี้ว่าทารกผอมจากการขาดอาหารมากกว่าเล็กโดยธรรมชาติ เพราะผิดสัดส่วนคือ หัวโตท้องเล็ก เป็นต้น

SGA ที่บ่งชี้ว่าน่าจะเป็น FGR ได้แก่

  • น้ำคร่ำน้อย
  • สัดส่วนผิดปกติ เช่น อัตราส่วน HC/AC, FL/AC, TCD/AC ผิดปกติ ท้องเล็กแบบไม่ได้สัดส่วน
  • อัตราการเติบโตของทารกช้า ซึ่งประเมินได้ด้วยการตรวจติดตามซ้ำใน 2-4 สัปดาห์ต่อมา
  • Doppler studies ผิดปกติ
  • มีความผิดปกติในการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์อื่น ๆ
  • ทารก FGR มีพฤติกรรมต่างไปจากทารกที่เติบโตปกติ (ทั้งกระตุ้นและไม่กระตุ้น) เช่น การดิ้นการตอบสนองต่อการกระตุ้นด้วยเสียง เป็นต้น ซึ่งอาจวิเคราะห์รูปแบบพฤติกรรมด้วยคอมพิวเตอร์ หรือการเฝ้าสังเกตธรรมดาก็ได้(34)

SGA ที่น้ำคร่ำปกติ ไดัสัดส่วน สุขภาพปกติ อาจจะเป็นเพียงเล็กโดยธรรมชาติ ซึ่งควรติดตามสุขภาพต่อไป แต่อาจไม่จำเป็นต้องรีบให้ยุติการตั้งครรภ์

ควรทำความเข้าใจว่าการวัดคลื่นเสียงความถี่สูงด้วยตัววัดต่าง ๆ มุ่งจะทำนายน้ำหนักว่าต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 หรือไม่ มิได้บอกสุขภาพทารกโดยตรงว่าสมบูรณ์หรืออ่อนแอ อย่างไรก็ตามโดยรวมแล้ว SGA ย่อมมีความเสี่ยงต่อภาวะอ่อนแอมากกว่าทารกน้ำหนักปกติ ประมาณร้อยละ 80 ของรายที่สงสัย SGA จะมีน้ำหนักคลอดต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 จริง และความถูกต้องยิ่งสูงขึ้นในกลุ่มต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 5 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในทารกแรกคลอดสูง (32)

คลอดเมื่อไหร่ดี: เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เมื่อมีหลักฐานว่าทารกอยู่ในครรภ์ด้วยความยากลำบาก ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่อันตราย และปอดสมบูรณ์พอที่จะอยู่ในโลกภายนอกได้อย่างไม่ลำบาก ก็สมควรให้คลอด อย่างไรก็ตามในรายที่ปอดสมบูรณ์แล้ว (มากกว่า 37 สัปดาห์) ทารกที่สงสัยโตช้า แต่ยังไม่มีท่าทีทุกข์ร้อน การไหลเวียนเลือดยังไม่บกพร่อง (reassuring fetal well-being) สามารถเลือกที่ให้คลอด หรือติดตามอย่างใกล้ชิดด้วยความระมัดระวัง ก็สามารถให้ผลลัพธ์การตั้งครรภ์ที่พอ ๆ กัน ทั้งในระยะคลอด หลังคลอดใหม่ ๆ(35) หรือในระยะยาว(36) National Institute of Child Health and Human Development, the Society for Maternal-Fetal Medicine, and the American College of Obstetricians and Gynecologists(37) แนะนำว่าในกรณีที่เป็น FGR เดี่ยว ๆ ที่ไม่มีปัญหาอื่น ๆ และสุขภาพทารกดี ให้คลอดที่อายุครรภ์ 38 0/7–39 6/7 สัปดาห์ และกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมต่อผลลัพธ์ที่ไม่ดี เช่น น้ำคร่ำน้อย Doppler ของหลอดเลือดแดงสายสะดือผิดปกติ มีความเสี่ยงอื่นในมารดา 2) ให้คลอดที่ 34 0/7–37 6/7 สัปดาห์ ส่วนกรณีที่คาดว่าจะคลอดก่อน 34 สัปดาห์ (เช่น Doppler ผิดปกติ และการทดสอบ BPP บ่งชี้ไม่ดี เป็นต้น) ควรวางแผนให้คลอดในศูนย์ที่มีความพร้อมของทารกแรกคลอด และถ้าเป็นไปได้ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM specialist) การตัดสินใจยากคือรายที่อายุครรภ์น้อย โดยเฉพาะก่อน 32 สัปดาห์ (ซึ่งศักยภาพในการเลี้ยงทารกดังกล่าวก็แตกต่างกันไประหว่างสถาบัน) แต่โดยทั่วไปแล้วมีอัตราการตายสูง ระหว่าง 26 – 29 สัปดาห์ มีอัตราการรอดเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 1-2%(20) ปัจจัยที่บอกว่าถ้าเป็นไปได้ควรให้คลอดเลย ได้แก่ ductus venosus Doppler ผิดปกติ หรือการมี UA-AEDV และ UA-REDV ในกรณีที่อายุครรภ์มากกว่า 34 หรือ 32 สัปดาห์ตามลำดับ ควรให้คลอด ในรายที่ยอมรับการตรวจติดตามหลัง 36 สัปดาห์ ควรให้คลอดช่วง 37-38 สัปดาห์ หลัง 40 สัปดาห์ไปแล้วอัตราการเสียชีวิตจะสูงขึ้นชัดเจน สำหรับกรณีปากมดลูกไม่พร้อม ไม่ควรเป็นเหตุผลในการไม่ชักนำคลอด สามารถทำปากมดลูกให้สุกได้ด้วยพรอสตาแกลนดิน หรือวิธีบอลลูนเป็นต้น

แนวทางการดูแลรักษา (1, 2, 7, 37, 38)

  • การป้องกัน แนะนำให้หลีกเลี่ยงหรือรักษาปัจจัยเสี่ยง เช่น ควบคุมความดันโลหิตสูง เป็นต้น สำหรับการใช้ยาป้องกัน เช่น sildelnafil (เพิ่มการไหลเวียนที่รก) มีส่วนช่วยเพิ่มน้ำหนักทารกในรายที่รกเสื่อม (39) แต่ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม
  • แนะนำให้ตรวจอัลตราซาวด์ขั้นละเอียดสูง โดยเฉพาะในราย early-onset
  • แนะนำให้ตรวจโครโมโซม รวมถึง CMA (chromosomal microarray) ในรายที่ทารกพิการ น้ำคร่ำมาก โดยไม่คำนึงอายุครรภ์ หรือ early-onset (แม้ไม่พบความผิดปกติอื่น) ในกรณีที่ตรวจโครโมโซมปกติ การตรวจ CMA ทำให้ทราบสาเหตุเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 6
  • การติดเชื้อ TORCHไม่แนะนำให้ตรวจเป็นกิจวัตร แต่อาจทำในรายเสี่ยงสูง เช่น มีมาร์คเกอร์ทางอัลตราซาวด์ เป็นต้น ในรายที่ตรวจหา แนะนำให้ตรวจ PCR สำหรับ CMV จากการเจาะน้ำคร่ำ
  • UA-Doppler ทุกสัปดาห์ถ้ามี EDV ลดลง (PI > 95 เปอร์เซ็นไทล์) หรือเป็นรุนแรง (EFW <เปอร์เซ็นไทล์ที่ 3)
  • UA-Doppler 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ในราย AEDV
  • ในราย REDV ให้รับไว้ในโรงพยาบาล ตรวจ CTG วันละอย่างน้อย 1-2 ครั้ง
  • FGR ที่ไม่มี AEDV/REDV ให้ตรวจ CTG สัปดาห์ละครั้ง (ระยะที่เลี้ยงรอดแล้ว)
  • ให้สเตียรอยด์เร่งปอดในรายที่คาดว่าจะคลอดก่อน 33+6สัปดาห์ หรือรายที่อายุครรภ์ 34-36+6 ที่คาดว่าจะคลอดใน 7 วัน โดยไม่มีข้อบ่งห้าม และไม่ได้รับสเตียรอยด์มาก่อน
  • รายที่คลอดก่อน 32 สัปดาห์ พิจารณาให้ magnesium sulfate ในระยะคลอดสำหรับ neuroprotection
  • อายุครรภ์ที่พิจารณาให้คลอดในกรณีที่ CTG (cardiotocography)ปกติ
  • UA-Doppler ปกติ : 38-39 สัปดาห์
  • UA-Doppler ปกติแต่ FGR รุนแรง (<เปอร์เซ็นไทล์ที่ 3) : 37 สัปดาห์
  • UA-Doppler มีค่า (PI >เปอเซ็นไทล์ที่ 95) : 37 สัปดาห์
  • UA-AEDV : 33-34 สัปดาห์
  • UA-REDV : 30-32 สัปดาห์
  • FGR ที่วินิจฉัยก่อน 24-25 สัปดาห์ให้พิจารณาเป็นราย ๆ ไป (เช่น ให้ทางเลือกยุติการตั้งครรภ์)

บางองค์กรแนะนำเพิ่มรายละเอียดปลีกย่อยเช่น ISUOG(7, 21) แนะนำให้ตรวจ DV-Doppler / computerized CTG (short term variations: STV) ในรายที่มี AEDV/REDV (แตกต่างกันในวิธี surveillance) และให้คลอดถ้ามีหลักฐานว่าทารกอยู่ในขีดอันตราย เช่น late deceleration หรือ absent / reversed DV a-wave หรือ BPP คะแนนต่ำกว่า 6 เป็นต้น

  • ในรายที่มารดามีปัญหามาก อาจมีความจำเป็นต้องให้ยุติการตั้งครรภ์ด้วยข้อบ่งชี้ทางมารดาเช่นโรคครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง (severe preeclampsia)เป็นต้น
  • ระยะคลอด : ติดตามสุขภาพทารกระยะคลอดแบบต่อเนื่อง แจ้ง/ปรึกษากุมารแพทย์ทารกแรกคลอด
  • วิธีการคลอดโดยทั่วไปแล้วให้คลอดตามปกติ ผ่าตัดเมื่อมีข้อบ่งชี้เช่น fetal distressถ้ามีเพียงปัญหา FGR ไม่ควรถือเป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอด

ระยะหลังคลอด

มีความเตรียมพร้อมสำหรับช่วยแก้ไขและป้องกันภาวะแทรกซ้อนมาตั้งแต่ก่อนคลอด ทันทีที่คลอดในรายที่น้ำคร่ำมีขี้เทาปนต้องดูดออกจากช่องจมูกและ oropharynx ให้มากที่สุดก่อนคลอดลำตัว ร่วมกับการทำ tracheal suction ทาง endotracheal tube หรือป้องกันและลดความรุนแรงของภาวะ meconium aspiration syndrome (MAS) และ birth asphyxia นอกจากนั้นต้องระมัดระวังภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อุณหภูมิต่ำ ความเข้มข้นเลือดสูง และติดตามการเจริญเติบโตระยะยาวต่อไป

การพยากรณ์โรค

นอกเหนือจากการเพิ่มปัญหา acidosis ภาวะทุพพลภาพและการตายปริกำเนิดแล้ว FGR อาจพบมี neurological และ intellectual deficit มากกว่าทารกปกติ โดยเฉพาะในรายที่เป็นรุนแรง ในระยะยาวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคทางเมตาบอลิซึมมากขึ้น กลุ่ม early-onset FGR จะยังคงมีการเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่เป็นปัจจัยภายใน (intrinsic factors) ส่วนกลุ่ม late-onset FGR มักมีพยากรณ์ที่ดีกว่า ถ้าได้รับการดูแลเหมาะสมจะมีการเจริญเติบโตปกติหลังคลอดซึ่งการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมองไม่แตกต่างจากทารกปกติ มีหลักฐานการศึกษาว่าการเพิ่มความระมัดระวังของการตรวจ SGA ให้ได้มีส่วนสำคัญในการช่วยลดอัตราการตายคลอดหรือการตายปริกำเนิดได้อย่างมีนัยสำคัญ (40)

การเป็นซ้ำและการป้องกัน

มีโอกาสให้กำเนิดทารกเป็น FGR ในครรภ์ต่อไปเป็น 2 เท่า ถ้าเคยมีบุตรเป็น FGR มา 2 คนแล้วมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่ายังไม่มีวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับทุกราย แต่สำหรับรายที่มีปัจจัยเสี่ยง แนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ เป็นต้น ในรายที่เป็น FGR ที่สัมพันธ์กับ preeclampsia การกินแอสไพรินขนาดต่ำจะมีประโยชน์ในการป้องกัน preeclampsia ในครรภ์ต่อไป และช่วยลดความเสี่ยง FGR ลงด้วยเช่นกัน (relative risk 0.56, 95% CI 0.44-0.70)(41)

เอกสารอ้างอิง

1. Resnik R. Intrauterine Growth Restriction. In: Resnik R, Lockwood CJ, Moore TR, Greene MF, Copel JA, Silver RM, editors. Creasy & Resnik’s Maternal-Fetal Medicine: Principles and Practice. 8 ed. Philadelphia: Elsevier, Inc.; 2019. p. 798-809.

2. Cunningham FG, Leveno KJ, Bloom SL, Dashe JS, Hoffman BL, Casey BM, et al. Williams Obstetrics. 25 ed. New York: McGraw-Hill Education; 2018.

3. Barker DJ. Early growth and cardiovascular disease. Arch Dis Child. 1999;80(4):305-7.

4. Carmody JB, Charlton JR. Short-term gestation, long-term risk: prematurity and chronic kidney disease. Pediatrics. 2013;131(6):1168-79.

5. Lugthart MA, Horenblas J, Kleinrouweler EC, Engels M, Knegt AC, Huijsdens K, et al. Prenatal sonographic features can accurately determine parental origin in triploid pregnancies. Prenat Diagn. 2020;40(6):705-14.

6. Mateus J, Newman RB, Zhang C, Pugh SJ, Grewal J, Kim S, et al. Fetal growth patterns in pregnancy-associated hypertensive disorders: NICHD Fetal Growth Studies. Am J Obstet Gynecol. 2019;221(6):635.e1-.e16.

7. Lees CC, Stampalija T, Baschat A, da Silva Costa F, Ferrazzi E, Figueras F, et al. ISUOG Practice Guidelines: diagnosis and management of small-for-gestational-age fetus and fetal growth restriction. Ultrasound Obstet Gynecol. 2020;56(2):298-312.

8. Turan OM, Turan S, Gungor S, Berg C, Moyano D, Gembruch U, et al. Progression of Doppler abnormalities in intrauterine growth restriction. Ultrasound Obstet Gynecol. 2008;32(2):160-7.

9. Bates JA, Evans JA, Mason G. Differentiation of growth retarded from normally grown fetuses and prediction of intrauterine growth retardation using Doppler ultrasound. Br J Obstet Gynaecol. 1996;103(7):670-5.

10. Todros T, Sciarrone A, Piccoli E, Guiot C, Kaufmann P, Kingdom J. Umbilical Doppler waveforms and placental villous angiogenesis in pregnancies complicated by fetal growth restriction. Obstet Gynecol. 1999;93(4):499-503.

11. Harrington K, Carpenter RG, Goldfrad C, Campbell S. Transvaginal Doppler ultrasound of the uteroplacental circulation in the early prediction of pre-eclampsia and intrauterine growth retardation. Br J Obstet Gynaecol. 1997;104(6):674-81.

12. Morales-Rosello J, Khalil A. Fetal cerebral redistribution: a marker of compromise regardless of fetal size. Ultrasound Obstet Gynecol. 2015;46(4):385-8.

13. Flood K, Unterscheider J, Daly S, Geary MP, Kennelly MM, McAuliffe FM, et al. The role of brain sparing in the prediction of adverse outcomes in intrauterine growth restriction: results of the multicenter PORTO Study. Am J Obstet Gynecol. 2014;211(3):288 e1-5.

14. Khalil AA, Morales-Rosello J, Morlando M, Hannan H, Bhide A, Papageorghiou A, et al. Is fetal cerebroplacental ratio an independent predictor of intrapartum fetal compromise and neonatal unit admission? Am J Obstet Gynecol. 2015;213(1):54 e1-10.

15. Khalil AA, Morales-Rosello J, Elsaddig M, Khan N, Papageorghiou A, Bhide A, et al. The association between fetal Doppler and admission to neonatal unit at term. Am J Obstet Gynecol. 2015;213(1):57 e1-7.

16. Regan J, Masters H, Warshak CR. Estimation of the growth rate in fetuses with an abnormal cerebroplacental ratio compared to those with suspected growth restriction without evidence of centralization of blood flow. J Ultrasound Med. 2015;34(5):837-42.

17. Conde-Agudelo A, Villar J, Kennedy SH, Papageorghiou AT. Predictive accuracy of cerebroplacental ratio for adverse perinatal and neurodevelopmental outcomes in suspected fetal growth restriction: systematic review and meta-analysis. Ultrasound Obstet Gynecol. 2018;52(4):430-41.

18. Vollgraff Heidweiller-Schreurs CA, De Boer MA, Heymans MW, Schoonmade LJ, Bossuyt PMM, Mol BWJ, et al. Prognostic accuracy of cerebroplacental ratio and middle cerebral artery Doppler for adverse perinatal outcome: systematic review and meta-analysis. Ultrasound Obstet Gynecol. 2018;51(3):313-22.

19. Vollgraff Heidweiller-Schreurs CA, van Osch IR, Heymans MW, Ganzevoort W, Schoonmade LJ, Bax CJ, et al. Cerebroplacental ratio in predicting adverse perinatal outcome: a meta-analysis of individual participant data. Bjog. 2021;128(2):226-35.

20. Baschat AA, Cosmi E, Bilardo CM, Wolf H, Berg C, Rigano S, et al. Predictors of neonatal outcome in early-onset placental dysfunction. Obstet Gynecol. 2007;109(2 Pt 1):253-61.

21. Ganzevoort W, Thornton JG, Marlow N, Thilaganathan B, Arabin B, Prefumo F, et al. Comparative analysis of 2-year outcomes in GRIT and TRUFFLE trials. Ultrasound Obstet Gynecol. 2020;55(1):68-74.

22. Lees CC, Marlow N, van Wassenaer-Leemhuis A, Arabin B, Bilardo CM, Brezinka C, et al. 2 year neurodevelopmental and intermediate perinatal outcomes in infants with very preterm fetal growth restriction (TRUFFLE): a randomised trial. Lancet. 2015;385(9983):2162-72.

23. Vora NL, Chescheir N. Delivery of the growth restricted preterm fetus. Lancet. 2015;385(9983):2126-8.

24. Ferrazzi E, Bozzo M, Rigano S, Bellotti M, Morabito A, Pardi G, et al. Temporal sequence of abnormal Doppler changes in the peripheral and central circulatory systems of the severely growth-restricted fetus. Ultrasound Obstet Gynecol. 2002;19(2):140-6.

25. Cosmi E, Ambrosini G, D’Antona D, Saccardi C, Mari G. Doppler, cardiotocography, and biophysical profile changes in growth-restricted fetuses. Obstet Gynecol. 2005;106(6):1240-5.

26. Baschat AA. Venous Doppler evaluation of the growth-restricted fetus. Clin Perinatol. 2011;38(1):103-12, vi.

27. De Jong CL, Francis A, Van Geijn HP, Gardosi J. Customized fetal weight limits for antenatal detection of fetal growth restriction. Ultrasound Obstet Gynecol. 2000;15(1):36-40.

28. Zhang J, Mikolajczyk R, Grewal J, Neta G, Klebanoff M. Prenatal application of the individualized fetal growth reference. Am J Epidemiol. 2011;173(5):539-43.

29. Zhang J, Merialdi M, Platt LD, Kramer MS. Defining normal and abnormal fetal growth: promises and challenges. Am J Obstet Gynecol. 2010;202(6):522-8.

30. Roex A, Nikpoor P, van EE, Hodyl N, Dekker G. Serial plotting on customised fundal height charts results in doubling of the antenatal detection of small for gestational age fetuses in nulliparous women. Aust N Z J Obstet Gynaecol. 2012;52(1):78-82.

31. Kiserud T, Piaggio G, Carroli G, Widmer M, Carvalho J, Neerup JL, et al. The World Health Organization Fetal Growth Charts: A Multinational Longitudinal Study of Ultrasound Biometric Measurements and Estimated Fetal Weight. PLoS Med. 2017;14(1):e1002220.

32. Mlynarczyk M, Chauhan SP, Baydoun HA, Wilkes CM, Earhart KR, Zhao Y, et al. The clinical significance of an estimated fetal weight below the 10th percentile: a comparison of outcomes of <5th vs 5th-9th percentile. Am J Obstet Gynecol. 2017;217(2):198.e1-.e11.

33. Dubinsky TJ, Sonneborn R. Trouble With the Curve: Pearls and Pitfalls in the Evaluation of Fetal Growth. J Ultrasound Med. 2020;39(9):1839-46.

34. Vindla S, James D, Sahota D. Computerised analysis of unstimulated and stimulated behaviour in fetuses with intrauterine growth restriction. Eur J Obstet Gynecol Reprod Biol. 1999;83(1):37-45.

35. Boers KE, Vijgen SM, Bijlenga D, van der Post JA, Bekedam DJ, Kwee A, et al. Induction versus expectant monitoring for intrauterine growth restriction at term: randomised equivalence trial (DIGITAT). BMJ. 2010;341:c7087.

36. Walker DM, Marlow N, Upstone L, Gross H, Hornbuckle J, Vail A, et al. The Growth Restriction Intervention Trial: long-term outcomes in a randomized trial of timing of delivery in fetal growth restriction. Am J Obstet Gynecol. 2011;204(1):34-9.

37. Fetal Growth Restriction: ACOG Practice Bulletin, Number 227. Obstet Gynecol. 2021;137(2):e16-e28.

38. Martins JG, Biggio JR, Abuhamad A. Society for Maternal-Fetal Medicine (SMFM) Consult Series #52: Diagnosis and Management of Fetal Growth Restriction. Am J Obstet Gynecol. 2020.

39. Ferreira R, Negrini R, Bernardo WM, Simões R, Piato S. The effects of sildenafil in maternal and fetal outcomes in pregnancy: A systematic review and meta-analysis. PLoS One. 2019;14(7):e0219732.

40. Hugh O, Williams M, Turner S, Gardosi J. Reduction of stillbirths in England from 2008 to 2017 according to uptake of the Growth Assessment Protocol: 10-year population-based cohort study. Ultrasound Obstet Gynecol. 2021;57(3):401-8.

41. Roberge S, Nicolaides K, Demers S, Hyett J, Chaillet N, Bujold E. The role of aspirin dose on the prevention of preeclampsia and fetal growth restriction: systematic review and meta-analysis. Am J Obstet Gynecol. 2017;216(2):110-20 e6.

Read More