CS1

การลดอัตราการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง

การลดอัตราการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง
(How to Decrease Rate of Cesarean Delivery Rate)

นพ.อารัมภ์ ทัพสมุทรเดชากร
ร.ศ. พ.ญ. เฟื่องลดา ทองประเสริฐ


ในปี ค.ศ.2011 หนึ่งในสามของสตรีตั้งครรภ์ในสหรัฐอเมริกาได้รับการผ่าตัดเพื่อคลอดบุตร โดยมีอัตราการผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ ค.ศ.1996 – 2011 (รูปที่ 1) (1) ถึงแม้ว่าการผ่าตัดคลอดจะเป็นการช่วยชีวิตทั้งแม่และลูก แต่อัตราการผ่าตัดคลอดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่มีหลักฐานในการลดอัตราการเกิดอันตรายหรืออัตราตายในมารดาและทารกอาจมาจากการผ่าตัดคลอดที่ทำมากจนเกินไป(2) และองค์การอนามัยโลกได้กำหนดว่าอัตราการผ่าตัดคลอดบุตรที่เหมาะสมควรอยู่ในช่วง 10-15% ดังนั้น สถานพยาบาลต่างๆควรให้ความสำคัญกับผลทั้งในระยะสั้นและยาวระหว่างการคลอดบุตรทางช่องคลอดกับการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง เพื่อป้องกันมิให้เกิดการผ่าตัดคลอดที่มากเกินความจำเป็น (1)

CS1

รูปที่ 1 อัตราการเกิดในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ ค.ศ.1989-2011 ข้อมูลจาก National Vital Statistics
(คัดลอกจาก ACOG Obstetric Care Consensus. Safe Prevention of the Primary Cesarean Delivery. 2014)

CS2

รูปที่ 2 อัตราการผ่าตัดคลอดบุตรของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ตั้งแต่ ค.ศ. 2005 – 2015

ข้อดีและข้อเสียระหว่างการคลอดบุตรทางช่องคลอดและการผ่าตัดคลอด (Risk and Benefit)

The National Institutes of Health ได้สรุปข้อดีและข้อเสียระหว่างการคลอดบุตรทางช่องคลอดและการผ่าตัดคลอดไว้ดังเช่นในตารางที่ 1 นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาในประชากรกลุ่มใหญ่ในประเทศแคนนาดา พบว่าภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดคลอดสูงกว่าการคลอดบุตรทางช่องคลอดถึง 3 เท่า โดยภาวะแทรกซ้อนต่างๆมีดังนี้ คือ การตกเลือดหลังคลอดจนเป็นเหตุให้ได้รับเลือดและตัดมดลูกฉุกเฉิน มดลูกแตก ภาวะแทรกซ้อนจากการระงับความรู้สึก หัวใจหยุดเต้น ไตวายเฉียบพลัน ปัญหาจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ เส้นเลือดดำอุดตัน ภาวะติดเชื้อ และแผลแยก (3)

CS1t

ตารางที่ 1 ความเสี่ยงต่างๆของมารดาและทารกแบ่งตามวิธีการคลอด ดัดแปลงจาก ACOG Obstetric Care Consensus. Safe Prevention of the Primary Cesarean Delivery. 2014.

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดครั้งแรก (Indication for primary cesarean section)

CS3

รูปที่ 3 ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดบุตรครั้งแรก(4)

จากรูปที่ 3 เป็นการศึกษาข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดครั้งแรกในปี ค.ศ. 2011 โดยข้อบ่งชี้ที่พบมากสุดคือภาวะคลอดยาก(labor dystocia), ลักษณะการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ผิดปกติ(abnormal fetal heart rate pattern), ท่าทารกผิดปกติ(fetal malpresentation), การตั้งครรภ์ทารกหลายคน (multiple gestation), และทารกตัวโต(fetal macrosomia) ตามลำดับ

CS4

รูปที่ 4 ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดบุตรของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ประจำปี ค.ศ.2015

วิธีการลดอัตราการผ่าตัดคลอด (Management for decreased rate of cesarean section)

กำหนดความผิดปกติในช่วงแรกของการดำเนินการคลอดและการรักษาที่เหมาะสม (Appropriate Definition and Management of Abnormally Progressing First-Stage Labor)

ในอดีต first-stage of labor แบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ Latent Phase เริ่มตั้งแต่มารดารู้สึกว่ามดลูกมีการหดรัดตัวถี่และสม่ำเสมอ ในครรภ์แรกอาจใช้เวลาถึง 20 ชั่วโมง และในครรภ์ต่อๆมาใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 14 ชั่วโมง ส่วนอีกระยะคือ Active Phase เป็นระยะที่มีการเปิดขยายของปากมดลูกอย่างรวดเร็วจนกระทั่งขยายถึง 10 เซนติเมตร (5)

ความผิดปกติในช่วงแรกของการคลอดแบ่งออกได้เป็นสองอย่าง ดังนี้

  1. Protraction Disorders คือ ความผิดปกติของปากมดลูกที่ขยายตัวช้ากว่า 1.2 เซนติเมตร/ชั่วโมงในครรภ์แรก และช้ากว่า 1.5 เซนติเมตรต่อชั่วโมงในครรภ์หลัง
  2. Active Phase Arrest คือ ความผิดปกติของปากมดลูกที่ไม่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเลยภายใน 2 ชั่วโมง โดยที่ต้องมีการหดรัดตัวของมดลูกอย่างเพียงพอและปากมดลูกต้องเปิดขยายมากกว่า 4 เซนติเมตรขึ้นไป

แต่ข้อมูลล่าสุดของการศึกษาจาก The Consortium on Safe Labor พบว่าร้อยละ 95 ของระยะแรกของการคลอด ปากมดลูกจะมีการเปิดขยายตัวช้ากว่าในกราฟของ Friedman อาจมีความหลากหลายตั้งแต่ 0.5 – 0.7 เซนติเมตร/ชั่วโมงในครรภ์แรก และ 0.5 – 1.3 เซนติเมตร/ชั่วโมงในครรภ์หลัง(6) นอกจากนี้ยังพบข้อมูลสำคัญอีกสองอย่างต่อไปนี้

  1. ช่วงที่ปากมดลูกขยายตัวอยู่ที่ 4 – 6 เซนติเมตร ทั้งครรภ์แรกและครรภ์หลังมีอัตราการขยายตัวของปากมดลูกที่ใกล้เคียงกัน และขยายตัวช้ากว่าในอดีตที่เคยกล่าวไว้แต่ช่วงหลังจากที่ปากมดลูกขยายตัวเกิน 6 เซนติเมตรไปแล้ว ครรภ์หลังจะมีอัตราการเปิดขยายของปากมดลูกที่เร็วกว่า
  2. Active phase จะยังไม่เริ่มต้นหากปากมดลูกยังเปิดขยายไม่ถึง 6 เซนติเมตร ดังนั้น Active Phase Protraction หรือ Labor Arrest ไม่ควรได้รับการวินิจฉัยก่อนที่ปากมดลูกจะขยายตัวมากกว่า 6 เซนติเมตร

คำนิยามของ Prolong Latent Phase ยังคงยึดตามข้อมูลของ Friedman ตามเดิมและข้อมูลใหม่ๆก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ Latent Phase มากนัก เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถเข้าสู่ Active Phase ได้เองโดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม ดังนั้น Prolong Latent Phase จึงไม่ควรเป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอด และหากมีความผิดปกติในระยะแรกของการคลอด การให้ oxytocin มักเป็นทางเลือกที่แนะนำให้ใช้เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ มีหลายงานวิจัยทีค้นคว้าเกี่ยวกับระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้ oxytocin เช่นการศึกษาเปรียบเทียบการให้ oxytocin เพื่อการเร่งคลอดในระยะแรกของการคลอดระหว่าง 4 ชั่วโมงกับ 8 ชั่วโมง พบว่าหากเพิ่มระยะเวลาการให้ oxytocin ให้มากกว่า 4 ชั่วโมง 38% ของผู้ป่วยสามารถคลอดเองทางช่องคลอดได้และ Apgar Scores ของทารกที่ 5 นาทีมีค่ามากกว่า 6 ทุกคน ในขณะที่การจำกัดการให้ oxytocin แค่ในระยะเวลา 4 ชั่วโมง จะมีอัตราการผ่าคลอดสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งถึง 2 เท่า (7) ดังนั้น ในระยะแรกของการดำเนินการคลอด หากการเปิดขยายของปากมดลูกยังเป็นไปได้เพียงแต่ค่อนข้างช้า จึงไม่ใช่ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดนอกจากนี้ยังมีการศึกษาในผู้ป่วยเกี่ยวกับการเพิ่มระยะเวลาการเร่งคลอดด้วย oxytocin ในรายที่มีภาวะ Active Phase Arrest จาก 2 เป็น 4 ชั่วโมง พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่คลอดเองทางช่องคลอดได้โดยที่ไม่มีผลเสียต่อทารก (8)

ถึงอย่างไรก็ตาม หากระยะแรกของการคลอดใช้เวลานานเกินไป ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำคร่ำติดเชื้อ (Chorioamnionitis) ได้ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาคลอดกับกภาวะน้ำคร่ำติดเชื้อยังไม่ชัดเจน (การเกิดน้ำคร่ำติดเชื้ออาจเป็นเหตุให้ระยะแรกของการคลอดยาวนาน) ดังนันภาวะน้ำคร่ำติดเชื้อและระยะที่เกิดน้ำคร่ำติดเชื้อจึงไม่ใช่ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดเช่นกัน

จากข้อมูลทั้งหมด หากทั้งมารดาและทารกยังคงอยู่ในภาวะปกติ active phase ควรเริ่มต้นเมื่อปากมดลูกมีการเปิดขยายมากกว่า 6 เซนติเมตร และข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดของภาวะ active phase arrest จึงควรประกอบไปด้วยปากมดลูกที่เปิดขยายมากกว่า 6 เซนติเมตรแต่ไม่มีการเปิดขยายเพิ่มต่อไปอีกหลังจากที่ได้เจาะถุงน้ำคร่ำเพื่อเร่งคลอดไปแล้ว และมีการหดรัดตัวของมดลูกที่เพียงพอนานมากกว่า4 ชั่วโมง หรือได้รับการเร่งคลอดมาแล้วด้วย oxytocin อย่างน้อย 6 ชั่วโมง

เกณฑ์การวินิจฉัยการดำเนินการคลอดล้มเหลวในระยะที่หนึ่งของการคลอดของสมาพันธ์สูตินรีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (ACOG : The American College of Obstetricians and Gynecologists) เมื่ออาการเจ็บครรภ์คลอดเกิดขึ้นเอง (Spontaneous labor) มีปากมดลูกขยาย 6 เซนติเมตรขึ้นไป ร่วมกับมีการแตกของถุงน้ำคร่ำ ร่วมกับข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

  • มดลูกหดรัดตัวอย่างสม่ำเสมอและแรงพออย่างน้อย 4 ชั่วโมง เช่น มากกว่า 200 Montevideo unit
  • มดลูกหดรัดตัวอย่างไม่สม่ำเสมอและไม่แรงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง โดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการขยายของปากมดลูก

สำหรับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดแนวทางการวินิจฉัยการดำเนินการคลอดล้มเหลวที่สมควรได้รับการผ่าตัดคลอด โดยอาศัยเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  1. ปากมดลูกเปิดอย่างน้อย 4 เซนติเมตรขึ้นไปและบางตัวอย่างน้อยร้อยละ 80 ขึ้นไป
  2. มดลูกหดรัดตัวอย่างสม่ำเสมอและแรงพออย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนการตัดสินใจ (Interval 2.5-3 นาที Duration 40-60 วินาที ความแรงดีพอ คือการวัดความดันในโพรงมดลุกมากกว่า 50 mmHg หรือกดที่ยอดมดลูกไม่ยุบขณะแข็งตัวเต็มที่ (intensity ++ ถึง +++) หรือความแรงมากกว่า 200 Montevideo unit)
  3. การดำเนินการคลอดผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
    • Protraction disorders
    • Arrest disorders
    • Second stage disorder

กำหนดความผิดปกติในระยะที่สองของการดำเนินการคลอดและการรักษาที่เหมาะสม (Appropriate Definition of Abnormally Progressing and Management in Second-Stage Labor)

ระยะที่สองของการคลอดเริ่มต้นเมื่อปากมดลูกเปิดขยายหมด (10 เซนติเมตร) ไปจนถึงคลอดทารกออกมา การนิยามระยะเวลาที่เหมาะสมของระยะที่สองของการนำเนินการคลอดเป็นไปได้ยากเนื่องจากต้องพิจารณาหลายปัจจัยรวมทั้งผลในระยะสั้นและยาวต่อทั้งมารดาและทารกมาเปรียบเทียบกัน มีการศึกษา พบว่าระยะเวลาที่ใช้ในระยะที่สองของการคลอดไม่ได้ส่งผลเสียต่อทารก บางรายใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น (9)

แต่ระยะเวลาที่เนิ่นนานในระยะที่สองของการคลอดอาจส่งผลเสียต่อมารดาได้ เช่น การติดเชื้อระหว่างคลอด แผลฝีเย็บที่ลึกระดับ 3-4 หรือแม้กระทั่งภาวะตกเลือดหลังคลอด ยิ่งไปกว่านั้น แต่ละชั่วโมงที่ผ่านไปยังหมายถึงโอกาสที่ผู้ป่วยจะคลอดเองทางช่องคลอดยิ่งลดตามลงไปด้วย โดยนักวิจัยหลายรายได้กล่าวไว้ว่าหลังจากระยะที่สองผ่านไปมากกว่าสามชั่วโมง จะมีผู้ป่วยเพียง 1 ใน 4 รายเท่านั้นที่สามารถคลอดบุตรเองทางช่องคลอดได้ในครรภ์แรก และ 1 ใน 3 ในครรภ์หลัง และ 30-50% ต้องอาศัยหัตถการช่วยคลอดทางช่องคลอด(9, 10)ดังนั้น แต่ย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเหล่านี้อาจไม่ได้มาจากระยะเวลาที่ยาวนานทั้งหมด แต่อาจมาจากหัตถการต่างๆหรือการตอบสนองที่ผู้ช่วยคลอดทำให้แก่ผู้ป่วย เช่น การใช้หัตถการช่วยคลอดเพิ่มการบาดเจ็บบริเวณฝีเย็บ และยิ่งในปัจจุบันที่มีเครื่องตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ขณะคลอด ทำให้ความเสี่ยงเหล่านี้ลดลงอย่างชัดเจน เช่นในงานวิจัยของ Allen ที่ศึกษาในผู้ป่วยจำนวน 58,113 คน พบว่าอันตรายที่เกิดต่อทารกน้อยกว่า 1.5% ในกรณีที่ระยะเวลาในระยะที่สองของการคลอดน้อยกว่า 2 ชั่วโมง และความเสี่ยงเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นไม่ถึง 2 เท่า แม้ระยะเวลาในระยะที่สองของการคลอดมากกว่า5 ชั่วโมง (11) ดังนั้น จึงไม่มีการกำหนดเวลาที่จำเพาะของระยะที่สองของการคลอดเพื่อเป็นข้อบ่งชี้ในการทำหัตถการช่วยคลอด

ภาวะ second stage arrest ควรได้รับการวินิจฉัยเมื่อแม่ออกแรงเบ่งอย่างน้อย 2 ชั่วโมงในครรภ์หลัง และอย่างน้อย 3 ชั่วโมงในครรภ์แรกแล้วทารกยังไม่คลอด สำหรับระยะเวลาที่ยาวนานกว่านี้ให้พิจารณาเป็นกรณี เช่น ในรายที่ได้รับการระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง หรือทารกอยู่ในท่าผิดปกติ(1)

การจัดการที่เหมาะสมอื่นๆเพื่อลดอัตราการผ่าตัดคลอดบุตรในระยะที่สองของการคลอด (Management for Reduce Cesarean Deliveries in the Second Stage of Labor)

1. การใช้หัตถการช่วยคลอด (Operative Vaginal Delivery)

ในขณะที่อัตราการผ่าตัดคลอดสูงขึ้นในระยะหลัง แต่การใช้หัตถการช่วยคลอดกลับลดลงอย่างชัดเจน ทั้งการใช้ Vacuum และ Forceps มีงานวิจัยในกลุ่มประชาการขนาดใหญ่สองงานวิจัยที่พบว่าภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการใช้หัตถการช่วยคลอดไม่ได้แตกต่างจากการผ่าตัดคลอดบุตร ทั้งในเรื่องของภาวะเลือดออกในสมอง และภาวะชักหลังคลอด(12, 13) ซึ่งการใช้หัตการช่วยคลอดต้องอาศัยทักษะและความชำนาญค่อนข้างสูง แต่กลับมีการสอนวิธีการทำลดลง โดยมีการสำรวจกลุ่มแพทย์ประจำบ้าน พบว่า 55% รู้สึกว่าตนเองมีความสามารถไม่เพียงพอในการใช้ Forceps Extraction เป็นหัตการช่วยคลอด (14) ดังนั้น การฝึกฝนในระบบการศึกษาต่อเฉพาะทางจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อการลดการผ่าตัดคลอดในอนาคต

2. การช่วบปรับท่าของทารกในครรภ์ (Manual Rotation of Fetal Occiput)

ระหว่างการคลอด ถ้าท่าของทารกเป็น Occiput posterior หรือ occiput Transverse มักสัมพันธ์กับการผ่าตัดคลอดบุตรและภาวะแทรกซ้อนที่เพิ่มมากขึ้น ในอดีตมีการใช้ Forceps เพื่อช่วยในการปรับหมุนท่าของทารก แต่ปัจจุบัน หัตถการนี้กลับลดน้อยลงไป อีกหนึ่งทางเลือกที่นิยมใช้กันในปัจจุบันคือ Manual Rotation ซึ่งสามารถช่วยลดอัตราการผ่าตัดคลอดได้อย่างชัดเจน

รูปแบบการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ที่จำเป็นต้องมีการรักษาหรือแก้ไขเพิ่มเติม ( Which Fetal Heart Tracing deserve Intervention)

สาเหตุอันดับที่ 2 ของการผ่าตัดคลอดคือรูปแบบการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ผิดปกติ (รูปที่ 2) การแปลผลที่แม่นยำและการจัดการที่เหมาะสมสามารถลดอัตราการผ่าตัดคลอดได้ ความผิดปกติของรูปแบบการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ประเภทที่ 3 (Category III) บ่งบอกถึงภาวะค่าความเป็นกรด-ด่างในเลือดของทารกที่ผิดปกติ และสัมพันธ์กับภาวะ Encephalopathy และ Cerebral Palsy จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาด้วย intrauterine Resuscitation ไปพร้อมๆกับการสืบค้นหาสาเหตุ ถ้าหากการทำ Intrauterine Resuscitation ไม่สามารถทำให้รูปแบบการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์กลับมาเป็นปกติได้ ควรให้ทารกเกิดมาเร็วในทันที (ACOG 2010) (15)

ความผิดปกติของรูปแบบการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ประเภทที่ 2 (Category II) เป็นความผิดปกติที่พบมากที่สุดขณะคลอดและมีความหลากหลายในการแปลผลและการรักษาเบื้องต้นมาก ทำให้การผ่าตัดคลอดบุตรเนื่องจากการแปลผลว่า “Non-reassuring Fetal Heart Rate” สูงมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญในการลดอัตราการการผ่าตัดคลอดจากสาเหตุนี้คือความแม่นยำในการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษา-แก้ไขเบื้องต้น

การกระตุ้นศีรษะทารก (Scalp stimulation) เพื่อให้เกิด FHR Acceleration เป็นวิธีที่สามารถทำได้ง่าย และสามารถให้ความมั้นใจได้ว่าเลือดของทารกยังอยู่ในภาวะสมดุลของกรดด่าง(ไม่มีความเป็นกรดมากจนเกินไป) ส่วนการเกิด Recurrent Variable Deceleration เป็นการตอบสนองที่ปกติต่อภาวะกดสายสะดือ แต่ถ้าเกิดถี่และคงอยู่ตลอดอาจทำให้เกิดภาวะเลือดในตัวทารกเป็นกรดได้ การทำ Intrauterine Resuscitation และการทำ Amnioinfusion สามารถรักษาภาวะเหล่านี้และลดอัตราการผ่าตัดคลอดได้

Prolonged Fetal Heart Rate Deceleration มักต้องการการรักษาเพิ่มเติมเนื่องจากกอาจเป็นสัญญาณถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น Abruptio placentae, Umbilical Cord Prolapse, Uterine Tachysystole, หรือ Uterine Rupture ดังนั้น การวินิจฉัยถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดรูปแบบการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ลักษณะนี้จึงมีความจำเป็นเพื่อการรักษาที่จำเพาะต่อไป แต่สำหรับความผิดปกติบางอย่างยังคงไม่มีการรักษาแก้ไขที่จำเพาะ เช่น Atypical Features (Shoulders, Slow Return to bedline, หรือ Variability only within the deceleration) เนื่องจากไม่สัมพันธ์กับภาวะเลือดในทารกเป็นกรด

ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าการทำ ST-segment analysis และ Fetal Pulse Oximetry จะสามารถลดอัตราการผ่าตัดคลอดได้ ส่วนการทำ Fetal Scalp Sampling สามารถทำนายค่ากรด-ด่างในเลือดทารกได้ และสามารถลดอัตราการผ่าตัดคลอดได้ แต่วิธีนี้กลับได้รับความนิยมลดลงเนื่องจากเป็นวิธีที่ยุ่งยากและค่อนข้าง Invasive ปัจจุบันวิธีนี้ไม่มีใช้ในสหรัฐอเมริกาแล้ว

การผ่าตัดคลอดอาจจะไม่จำเป็นสำหรับภาวะ Abnormal หรือ Indeterminate Fetal Heart Rate Pattern เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลของ Neonatal Outcome จากความผิดปกติเหล่านี้ การให้ออกซิเจน สารน้ำทางหลอดเลือด และยา Tocolytic ถือเป็นหนึ่งในการทำ Intrauterine Resuscitation แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย แต่การทำ IUR โดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของ FHR Pattern จึงไม่จำเป็นต่อข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอด(1)

ผลของการชักนำการคลอดต่อการผ่าตัดคลอดบุตร (The Effect of Induction of Labor on Cesarean Delivery)

ผู้ป่วยที่ได้รับการชักนำการคลอดมักมีอัตราการผ่าตัดคลอดบุตรสูงกว่าปกติ แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้อาจไม่ถูกต้องเนื่องจากมีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ชักนำการคลอดและผู้ป่วยที่ได้รับการชักนำการคลอดมีอัตราการผ่าตัดคลอดที่ไม่แตกต่างกัน(16) นอกจากนี้ยังมีการศึกษา Meta-analysis ที่พบว่าการชักนำการคลอดสามารถลดอัตราการผ่าคลอดได้ (17, 18) อย่างเช่นการใช้ Cervical Ripening Methods ในการชักนำการคลอดสำหรับผู้ป่วยที่ปากมดลูกยังไม่พร้อม (Misoprostal, dinoprostine, Postaglandin E2 gel, Foley bulbs, และ Laminaria tents) สามารถลดอัตราการผ่าตัดคลอดบุตรได้(19)
การศึกษาล่าสุดพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการชักนำการคลอดจะมีช่วง Latent Phase ที่ยาวนานกว่าปกติ(20) ผู้ป่วยที่ได้รับการชักนำคลอดด้วย Oxytocin ที่มีช่วง Latent Phase 12-18 ชั่วโมงและมีการแตกของถุงน้ำคร่ำ หากดำเนินการชักนำต่อเนื่องจะสามารถคลอดบุตรทางช่องคลอดได้ ดังนั้น การบอกว่าความล้มเหลวในการชักนำการคลอดในรายที่ได้รับ Oxytocin และมีการแตกรั่วของถุงน้ำคร่ำควรรอให้ถึง 24 ชั่วโมงก่อน (21)

การลดอัตราการผ่าตัดคลอดในกรณีอื่นๆ (Alternative Management for Prevention of Cesarean Delivery)

1. Fetal Malpresentation
ทารกที่อยู่ในท่าก้นตอนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์มีมากถึง 3.8% และในจำนวนนี้ 85% ต้องอาศัยการผ่าตัดคลอดบุตร ซึ่งการกลับหัวเด็กจากภายนอก (External Cephalic Version) สามารถช่วยลดอัตราการผ่าตัดคลอดได้ โดยแพทย์ควรให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยทุกราย และควรทำขณะที่อายุครรภืประมาร 36 สัปดาห์ร่วมกับการให้การระงับความรู้สึกแบบ Regional Analgesia (22)

2. ภาวะเด็กตัวโต (Fetal Macrosomia)
ภาวะเด็กตัวโตไม่ใช่ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอด ตาม ACOG guideline ได้กำหนดเกณฑ์น้ำหนักโดยประมาณของทารกที่สามารถนำไปผ่าตัดคลอดได้เลยคือ 5000 กรัมในสตรีที่ไม่ได้เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ และ 4500 กรัมในสตรีที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (1)

3. มารดาที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเกินไประหว่างตั้งครรภ์ (Excessive Maternal Weight Gain)
มารดาที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเกินไประหว่างตั้งครรภ์มีอัตราการผ่าตัดคลอดที่สูงกว่าผู้ป่วยทั่วไป ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการระวังไม่ให้น้ำหนักขึ้นมากเกินไป ได้แก่การคุมอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสมระหว่างตั้งครรภ์ (1)

4. การตั้งครรภ์แฝด (Twin Gestation)
ครรภ์แฝดที่ทารกอยู่ในท่า ศีรษะ-ศีรษะ หรือ ศีรษะ-ไม่ใช่ศีรษะ ควรได้รับคำแนะนำให้คลอดทางช่องคลอดก่อนทุกคน เนื่องจากการผ่าตัดคลอดไม่ได้เพิ่ม outcome ที่ดีให้กับทารกคนแรกที่คลอดออกมา (1)

5. การติดเชื้อเริม (Herpes Simplex Virus)
สตรีที่เคยมีประวัตติดเชื้อเริมควรได้รับยา Acyclovir ประมาณ 3-4 สัปดาห์ก่อนคลอด เพื่อกดไวรัสชนิดนี้เพื่อลดอัตราการกำเริบบริเวณช่องทางคลอดและลด Viral Shedding ซึ่งจะทำให้การผ่าตัดคลอดจากการกำเริบของโรคบริเวณช่องทางคลอดลดลง และไม่แนะนำให้ผ่าตัดคลอดในสตรีที่เคยมีประวัติเป็นโรคเริมแต่ไม่มีอาการของโรค ณ เวลที่ที่กำลังคลอด (1)

การทดลองให้คลอดทางช่องคลอดหลังจากที่เคยผ่าตัดคลอดมาแล้ว (Trial of Labor after Cesarean Delivery: TOLAC)

การทดลองให้คลอดทางช่องคลอด (TOLAC) เป็นวิธีการลดอัตราการผ่าตัดคลอดในสตรีที่แคยได้รับการผ่าตัดคลอดมาก่อน วิธีนี้ได้รับความนิยมลดลงในปัจจุบันเนื่องจากสูติแพทย์ผู้ทำคลอดมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น (1) ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ มดลูกแตก (Uterine Rupture) พบได้ประมาณ 0.2-0.8% (23) แต่โดยรวม ความเสี่ยงต่างๆกลับน้อยกว่าการผ่าตัดคลอดซ้ำ หากได้รับการคัดสรรค์ผู้ป่วยที่เหมาะกับการทำ TOLAC ดังตารางที่ 2 ดังนั้น ผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดคลอดมาก่อน จึงควรได้รับการแนะนำทางเลือกในการคลอดทั้งสองวิธี คือ การผ่าตัดซ้ำหรือการทดลองคลอดทางช่องคลอด โดยมีแนวทางบริหารจัดการดังเช่นในตารางที่ 3 (24)

CS2t

ตารางที่ 2 ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการทดลองให้คลอดทางช่องคลอด (ดัดแปลงจากหนังสือ Williams Obstetrics, 24th edition, Section 8 : Prior Cesarean Delivery, Page 611) (24)

CS3t

ตารางที่ 3 แนวทางการดุแลสตรีที่เคยผ่าตัดคลอดและต้องการทดลองคลอดทางช่องคลอด
(ดัดแปลงจากหนังสือ Williams Obstetrics, 24th edition, Section 8 : Prior Cesarean Delivery, Page 619) (24)

สรุป

แนวทางการการลดอัตราการผ่าตัดคลอดมีดังนี้

  1. ผ่าตัดคลอดตามข้อบ่งชี้ที่มีเกณฑ์มาตรฐาน
  2. ชักนำการคลอดตามข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม
  3. วินิจฉัยภาวะ CPD ตาม Guideline ที่ถูกต้อง
  4. ส่งเสริมการทดลองให้คลอดทางช่องคลอดหลังจากที่เคยผ่าตัดคลอดมาแล้ว (TOLAC และ VBAC)
  5. มีระบบตรวจสอบ Audit cesarean section rate
  6. ให้ความรู้แก่หญิงที่มาคลอด (Patient education) และประชาชน (Public education) เรื่องข้อดีและข้อเสียของการผ่าตัดคลอดบุตร

เอกสารอ้างอิง (Reference)

  1. Consensus AOC. Safe Prevention of the Primary Cesarean Delivery. 2014.
  2. Gregory KD, Jackson S, Korst L, Fridman M. Cesarean versus vaginal delivery: whose risks? Whose benefits? American journal of perinatology. 2012;29(1):7-18.
  3. Liu S, Liston RM, Joseph KS, Heaman M, Sauve R, Kramer MS. Maternal mortality and severe morbidity associated with low-risk planned cesarean delivery versus planned vaginal delivery at term. CMAJ : Canadian Medical Association journal = journal de l’Association medicale canadienne. 2007;176(4):455-60.
  4. Barber EL, Lundsberg LS, Belanger K, Pettker CM, Funai EF, Illuzzi JL. Indications contributing to the increasing cesarean delivery rate. Obstetrics and gynecology. 2011;118(1):29-38.
  5. Friedman EA. An objective approach to the diagnosis and management of abnormal labor. Bulletin of the New York Academy of Medicine. 1972;48(6):842-58.
  6. Zhang J, Landy HJ, Branch DW, Burkman R, Haberman S, Gregory KD, et al. Contemporary patterns of spontaneous labor with normal neonatal outcomes. Obstetrics and gynecology. 2010;116(6):1281-7.
  7. Arulkumaran S, Koh CH, Ingemarsson I, Ratnam SS. Augmentation of labour–mode of delivery related to cervimetric progress. The Australian & New Zealand journal of obstetrics & gynaecology. 1987;27(4):304-8.
  8. Rouse DJ, Owen J, Hauth JC. Active-phase labor arrest: oxytocin augmentation for at least 4 hours. Obstetrics and gynecology. 1999;93(3):323-8.
  9. Rouse DJ, Weiner SJ, Bloom SL, Varner MW, Spong CY, Ramin SM, et al. Second-stage labor duration in nulliparous women: relationship to maternal and perinatal outcomes. American journal of obstetrics and gynecology. 2009;201(4):357.e1-7.
  10. Cheng YW, Hopkins LM, Laros RK, Jr., Caughey AB. Duration of the second stage of labor in multiparous women: maternal and neonatal outcomes. American journal of obstetrics and gynecology. 2007;196(6):585.e1-6.
  11.  Allen VM, Baskett TF, O’Connell CM, McKeen D, Allen AC. Maternal and perinatal outcomes with increasing duration of the second stage of labor. Obstetrics and gynecology. 2009;113(6):1248-58.
  12. Towner D, Castro MA, Eby-Wilkens E, Gilbert WM. Effect of mode of delivery in nulliparous women on neonatal intracranial injury. The New England journal of medicine. 1999;341(23):1709-14.
  13. Werner EF, Janevic TM, Illuzzi J, Funai EF, Savitz DA, Lipkind HS. Mode of delivery in nulliparous women and neonatal intracranial injury. Obstetrics and gynecology. 2011;118(6):1239-46.
  14. Powell J, Gilo N, Foote M, Gil K, Lavin JP. Vacuum and forceps training in residency: experience and self-reported competency. Journal of perinatology : official journal of the California Perinatal Association. 2007;27(6):343-6.
  15. ACOG. Practice bulletin no. 116: Management of intrapartum fetal heart rate tracings. Obstetrics and gynecology. 2010;116(5):1232-40.
  16. Stock SJ, Ferguson E, Duffy A, Ford I, Chalmers J, Norman JE. Outcomes of elective induction of labour compared with expectant management: population based study. BMJ (Clinical research ed). 2012;344:e2838.
  17. Caughey AB, Sundaram V, Kaimal AJ, Gienger A, Cheng YW, McDonald KM, et al. Systematic review: elective induction of labor versus expectant management of pregnancy. Annals of internal medicine. 2009;151(4):252-63, w53-63.
  18. Gulmezoglu AM, Crowther CA, Middleton P, Heatley E. Induction of labour for improving birth outcomes for women at or beyond term. The Cochrane database of systematic reviews. 2012(6):Cd004945.
  19. Hofmeyr GJ, Gulmezoglu AM, Pileggi C. Vaginal misoprostol for cervical ripening and induction of labour. The Cochrane database of systematic reviews. 2010(10):Cd000941.
  20. Harper LM, Caughey AB, Odibo AO, Roehl KA, Zhao Q, Cahill AG. Normal progress of induced labor. Obstetrics and gynecology. 2012;119(6):1113-8.
  21. Spong CY, Berghella V, Wenstrom KD, Mercer BM, Saade GR. Preventing the first cesarean delivery: summary of a joint Eunice Kennedy Shriver National Institute of Child Health and Human Development, Society for Maternal-Fetal Medicine, and American College of Obstetricians and Gynecologists Workshop. Obstetrics and gynecology. 2012;120(5):1181-93.
  22. Yoshida M, Matsuda H, Kawakami Y, Hasegawa Y, Yoshinaga Y, Hayata E, et al. Effectiveness of epidural anesthesia for external cephalic version (ECV). Journal of perinatology : official journal of the California Perinatal Association. 2010;30(9):580-3.
  23. ACOG Practice bulletin no. 115: Vaginal birth after previous cesarean delivery. Obstetrics and gynecology. 2010;116(2 Pt 1):450-63.
  24. Cunningham L, et al. Williams OBSTETRICS. Williams OBSTETRICS2014. p. 611 – 21.
Read More

ความบกพร่องทางเพศของผู้หญิง (Female Sexual Dysfunction)

ความบกพร่องทางเพศของผู้หญิง (Female Sexual Dysfunction)

 

นพ. อารัมภ์ ทัพสมุทรเดชากร
ผศ. นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร


 

Definition

ความบกพร่องทางเพศ หมายถึง สภาวะที่ร่างกายหรือจิตใจไม่มีความต้องการทางเพศ และไม่สามารถตอบสนองต่อการกระตุ้นทางเพศได้ตามปกติ ทำให้เกิดปัญหาในการร่วมเพศ หรือการมีความสุขสุดยอดทางเพศ เป็นผลให้เกิดความวิตกกังวล และความขัดแย้งในคู่สมรส ความบกพร่องทางเพศมีสาเหตุทั้งทางร่างกายและจิตใจ คำจำกัดความของ WHO – ICD 10 มีเกณฑ์ในการวินิจฉัยดังนี้

  1. บุคคลนั้นไม่สามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศตามความต้องการได้
  2. ความบกพร่องทางเพศนี้ต้องเกิดขึ้นบ่อยซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่อาจหายไปในบางครั้งบางคราว
  3. ความบกพร่องนี้ไม่มีสาเหตุโดยตรจากปัญหาทางร่างกาย จิตใจ หรือพฤติกรรมที่แปรปรวน
  4. ปัญหานี้ทำให้เกิดความขัดแย้งและวิตกกังวลระหว่างคู่สมรส

จากการสำรวจโดย National Health and Social Life Survey (NHSLS) ปี พ.ศ. 2542 ที่ผ่านมาในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีความผิดปกติทางเพศที่เกิดขึ้นกับเพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 18 – 59 ปีถึงร้อยละ 43 ซึ่งสูงกว่าเพศชายในการสำรวจคราวเดียวกัน ที่พบความผิดปกติเพียงร้อยละ 31 เท่านั้น โดยเพศหญิงกว่า 1 ใน 3 จะมีความต้องการทางเพศลดลงหรือไม่มีเลย เกือบ 1 ใน 4 ไม่สามารถเข้าถึงระยะสุดยอดทางเพศได้ และร้อยละ 20 มีความเจ็บปวดระหว่างประกอบกิจการทางเพศ

Sexual Response Cycle (วงจรการตอบสนองทางเพศ)

1. Desire or Excitement Phase (ระยะความต้องการทางเพศ)

ระยะนี้อาจจะใช้เวลาตั้งแต่เป็นนาทีหรือหลายชั่วโมง มีลักษณะที่จำเพาะหลายอย่าง ดังต่อไปนี้

  • กล้ามเนื้อมีการตึงตัวมากขึ้น
  • หัวใจเต้นเร็วขึ้น การหายใจหายใจแรงและเร็วขึ้น
  • ผิวหนังมีสีแดงมากขึ้น โดยเฉพาะที่หลังและหน้าอก
  • หัวนมแข็งขึ้น ตั้งชันมากขึ้น
  • เลือดไปเลี้ยงบริเวณอวัยวะเพศมากขึ้น ส่งผลให้มีการบวมขึ้นของ Clitoris และ Labia Minora
  • มีน้ำหล่อลื่นในช่องคลอดมากขึ้น

2. Arousal or Plateau Phase (ระยะตื่นตัวทางเพศ)

  • สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะที่ 1 เริ่มมีการเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นอีก
  • ผนังของช่องคลอด มีการบวมมากขึ้นอีก จนเปลี่ยนสีไปเป็นสีดำม่วง
  • Clitoris ของผู้หญิงจะมีความไวต่อความรู้สึกมากขึ้น จนถึงขนาดที่ว่า อาจจะเจ็บเมื่อแตะโดนเลยทีเดียว และตัว Clitoris จะถูกดึงเข้าไปใน Clitoris Hood เพื่อป้องกันการโดนกระแทกหรือสัมผัสจากอวัยวะเพศชาย
  • อัตราการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น
  • มีการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่เท้า มือและหน้า และมีการตึงตัวของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย

3. Orgasm Phase (ระยะสุดยอดทางเพศ)

ระยะนี้เป็นระยะที่สูงสุด ของวงรอบการตอบสนองทางเพศ Sexual Response cycle ระยะนี้เป็นระยะที่ใช้เวลาสั้นที่สุดคือ เพียงประมาณไม่กี่วินาที ลักษณะที่สำคัญคือ

  • มีการบีบรัดตัวของกล้ามเนื้ออัตโนมัติ (Involuntary Muscle Contraction)
  • อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต อัตราการหายใจ จะถึงจุดสูงสุด และร่างกายมีการใช้ออกซิเจนอย่างมากและรวดเร็ว มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่เท้า
  • มีการปลดปล่อยพลังทางเพศ อย่างกะทันหัน พรั่งพรูและรวดเร็ว
  • ในผู้หญิงกล้ามเนื้อของช่องคลอดจะมีการหดเกร็งตัว และกล้ามเนื้อของมดลูกจะมีการหดตัวอย่างเป็นจังหวะ
  • จะมีผื่นแดง เกิดขึ้นทั่วตัว เรียกว่า Sex Flush

4. Resolution Phase (ระยะกลับสู่ภาวะปกติ)

ในระยะนี้ส่วนต่างๆของร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่มีกิจกรรมทางเพศจะเริ่มค่อยๆกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนของร่างกายที่มีการบวม เกร็งแข็ง ก็จะเริ่มอ่อนตัวลง และสีก็จะกลับมาเป็นสีปกติของร่างกายส่วนนั้นๆ ผู้ผ่านเข้ามาถึงระยะนี้จะมีความรู้สึกเป็นสุข สบายตัว มีความผูกพันใกล้ชิดกับคู่ของตน และมีอาการอ่อนล้าด้วย
ในผู้หญิงบางคนสามารถกลับเข้าสู่ระยะ Orgasm ได้อีกในระยะเวลาอันสั้น ถ้าได้รับการกระตุ้นทางเพศอีกอย่างต่อเนื่อง และผู้หญิงบางคนสามารถมี Orgasm ได้หลายๆ ครั้งติดกัน

Classification of Female Sexual Dysfunction (การแบ่งประเภทของความบกพร่อง)

  1. ความผิดปกติในระยะความต้องการทางเพศ (Female Sexual Desire Disorders : FSDD)
  2. ความผิดปกติในระยะตื่นตัวทางเพศ (Female Sexual Arousal Disorders : FSAD)
  3. ความผิดปกติในระยะสุดยอดทางเพศ (Female Orgasmic Disorders : FOD)
  4. ความเจ็บปวดทางเพศ (Female Sexual Pain Disorders)

ความผิดปกติในระยะความต้องการทางเพศ (Female Sexual Desire Disorders : FSDD)

หมายถึงสภาวะที่ความต้องการทางเพศลดลงกว่าที่ควรจะเป็น หรือไม่มีความต้องการทางเพศเลย ซึ่งแต่ละบุคคลมีความต้องการทางเพศพื้นฐานที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงระดับความสนใจทางเพศในอดีตมาเปรียบเทียบด้วยในการวินิจฉัย ความผิดปกติในระยะความต้องการทางเพศนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. มีความต้องการทางเพศลดลง (Hypoactive Sexual Desire Disorder : HSDD) หมายถึง มีความบกพร่องหรือไม่มีความคิดจินตนาการทางเพศ ขาดความสนใจต้องการมีความสัมพันธ์ทางเพศ จนทำให้เกิดปัญหาความยากลำบากขึ้นในตนเอง มีสาเหตุจาก ปัจจัยทางจิตใจ (Psychogenic factors) ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า ความเครียด ความกลัว และปัจจัยร่างกาย (Physiological factors) ได้แก่ ความบกพร่องทางฮอร์โมนเพศ โรคความเจ็บป่วยเรื้อรัง การบำบัด รักษาทางยา และการผ่าตัด เป็นต้น
  2. ความรังเกียจทางเพศ (Sexual Aversion Disorder : SAD) หมายถึง ความรังเกียจกลัว และหลีกเลี่ยงการมีสัมพันธ์ทางเพศกับคู่ของตน บางคนเกิดความรู้สึกขยะแขยง (Revulsion) เมื่อคิดถึงการประกอบกิจทางเพศ จนบางครั้งมีอาการแสดงออกทางร่างกายขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก ชีพจรเต้นเร็วขึ้น เวียนศีรษะหน้ามืด เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาความยากลำบากขึ้นในตนเอง หญิงที่มีความรังเกียจทางเพศนี้ ยังมีความต้องการทางเพศเป็นปกติแต่ไม่สามารถเริ่มต้นการสนองตอบจนมีสัมพันธ์ทางเพศได้ มักมีสาเหตุจากความผิดปกติทางจิตใจ เช่น การถูกทารุณกรรมทางเพศมาแต่ในวัยเด็ก (Childhood sexual abuse)

ความผิดปกติในระยะตื่นตัวทางเพศ (Female Sexual Arousal Disorders : FSAD)

หมายถึงการที่ร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่อการกระตุ้นทางเพศ หรือไม่มีการตื่นตัวทางเพศ (Frigidity) เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน อาจเกิดจากสาเหตุทางร่างกายและจิตใจ การขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงช่องคลอดเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะนี้ ทำให้การร่วมเพศมีอาการเจ็บปวด สาเหตุทางร่างกายสามารถทำให้เกิดความบกพร่องทางเพศได้ประมาณร้อยละ 20-50 โดยเฉพาะในผู้หญิงสูงวัย ซึ่งอาจแบ่งสาเหตุได้ดังนี้

1. ระบบหลอดเลือด

พบในกลุ่มสตรีที่มีความเสี่ยง เช่น เป็นเบาหวาน สูบบุหรี่จัด ไขมันในเลือดสูง หรือมีความดันโลหิตสูง ปัญหาของหลอดเลือดแบ่งเป็น
1) Artherosclerosis (หลอดเลือดแข็ง) พบในผู้หญิงอายุเกิน 50 ปี พบได้ถึงร้อยละ 34
2) Vasoconstriction (หลอดเลือดตีบ) เกิดจากการสูบบุหรี่จัดเป็นเวลานาน หรือมีอารมณ์เครียด

2. ระบบประสาท

พบในสตรีที่เคยมีอุบัติเหตุเกี่ยวกับไขสันหลัง หรือมีโรคที่มีผลต่อระบบประสาทเกี่ยวกับการตอบสนองต่อการตื่นตัวทางเพศ

3. ระบบฮอร์โมนต่อมไร้ท่อ

ในกลุ่มสตรีที่หมดประจำเดือน หรือการทำงานของรังไข่ล้มเหลวก่อนกำหนด รวมไปถึงผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ต่ำ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ต่ำทำให้ช่องคลอดแห้งจากการผลิดสารคัดหลั่งในช่องคลอดลดลง การหมุนเวียนของโลหิตไปยัง Clitoris ลดลง ส่วนการขาดฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนทำให้ความต้องการทางเพศของสตรีลดลงเช่นกัน

4. ระบบกล้ามเนื้อ

ปกติการตอบสนองทางเพศในผู้หญิงจะมีระบบกล้ามเนื้อมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ Bulbocarvernosus และ Ischiocarvernosus ที่จะหดรัดตัวเมื่อมีความรู้สึกสุดยอดทางเพศและจะรัดตัวเป็นจังหวะ ถ้ากล้ามเนื้อเหล่านี้มีความบกพร่อง การหดรัดตัวจะไม่แรงและทำให้ไม่มีความสุขเท่าที่ควร

5. ระบบจิตใจ

จิตใจและอารมณ์ที่ผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงอาจมีผลต่อการตื่นตัวทางเพศในผู้หญิงได้ โดยสาเหตุทางจิตใจสามารถแบ่งได้ดังนี้

  1. ความขัดแย้งในจิตใต้สำนึกตั้งแต่วัยเด็ก
    • ความขัดแย้งเกี่ยวกับความรู้สึกทางเพศของตนที่มีต่อบิดา ทำให้เก็บกดความต้องการทางเพศไว้
    • การอิจฉาชายที่มีองคชาติ รวมทั้งความขัดแย้งเกี่ยวกับบทบาททางเพศของตนเอง
    • ถูกเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดกวดขันเรื่องเพศ ทำให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อเรื่องดังกล่าว
    • ครอบครัวที่ขาดความปรองดอง และไม่มีความสุขในชีวิตสมรส
  2. ความรู้สึกดูถูกหรือก้าวร้าวต่อสามี คิดว่าสามีไม่หล่อ เป็นคนโง่ หยาบคาย หรือไม่น่าไว้วางใจ
  3. สภาพอารมณ์ เช่น อารมณ์เครียดหรือซึมเศร้า
  4. ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง มีปมด้อยเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา หรือบางส่วนของร่างกายที่มีความผิดปกติ เช่น บริเวณอวัยวะเพศ ทำให้เกิดความบกพร่องทางเพศในระยะนี้ได้เช่นกัน

ความผิดปกติในระยะสุดยอดทางเพศ (Female Orgasmic Disorders : FOD)

หมายถึง มีความยากลำบาก ล่าช้า หรือไม่สามารถเข้าถึงการสนองตอบทางเพศระยะสุดยอดทางเพศได้ แม้จะได้รับการกระตุ้นเร้าและมีการตื่นตัวทางเพศอย่างเพียงพอแล้วก็ตาม ทำให้เกิดปัญหาความยากลำบากขึ้นในตนเอง พบได้ประมาณร้อยละ 33 ของผู้หญิงที่สมรสแล้ว ความผิดปกติในระยะนี้แบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ

  1. ชนิดปฐมภูมิ (Primary Anorgasmia) คือไม่เคยเข้าถึงการสนองตอบทางเพศระยะสุดยอดทางเพศเลย
  2. ชนิดทุติยภูมิ (Secondary Anorgasmia) คือ เคยเข้าถึงการสนองตอบทางเพศระยะสุดยอดทางเพศ จากการประกอบกิจการทางเพศมาก่อนหน้า แต่ไม่สามารถเข้าถึงในภายหลัง
  3. ชนิดสมบูรณ์ (Absolute) คือการที่ผู้หญิงไม่มีความสุขสุดยอดไม่ว่าจะโดยการร่วมเพศหรือการกระตุ้น Clitoris
  4. ชนิดเฉพาะสถานการณ์ (Situational) คือ การบรรลุความสุขสุดยอดทางเพศได้เฉพาะบางสถานการณ์เท่านั้น

สาเหตุของความผิดปกติในระยะสุดยอดทางเพศมักคล้ายคลึงกับสาเหตุของความผิดปกติในระยะตื่นตัวทางเพศทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังต่อไปนี้

1. สาเหตุทางจิตใจ เกิดจากความวิตกกังวลขณะร่วมเพศ
– วิตกว่าจะปฎิบัติกิจกรรมทางเพศได้ไม่ดี
– วิตกว่าจะไม่บรรลุความสุขสุดยอดทางเพศ
– กลัวการตั้งครรภ์ หรือกลัวการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
– กลัวจะควบคุมตัวเองไม่ได้ขณะบรรลุความสุขสุดยอดทางเพศ เช่น ร้องกรี๊ด หรือปัสสาวะราด

2. เทคนิคการร่วมเพศ
ถ้าไม่ดีพอ ผู้หญิงจะไม่มีความสุขสุดยอด เช่น การเล้าโลม (Foreplay) ที่น้อยเกินไป ฝ่ายชายขาดความนุ่มนวลอ่อนโยน ไม่สนใจที่จะเรียนรู้ความต้องการของฝ่ายตรงข้าม รวมถึงระยะเวลาที่องคชาติอยู่ในช่องคลอด ถ้าน้อยกว่า 1 นาที ผู้หญิงส่วนใหญ่จะไม่ถึงจุดสุดยอด ระหว่าง 1-11 นาที ผู้หญิงร้อยละ 50 จะถึงจุดสุดยอด และถ้ามากกว่า 16 นาที ผู้หญิงเกือบทุกคนจะถึงจุดสุดยอด แต่ในความเป็นจริง ผู้ชายส่วนใหญ่จะหลั่งน้ำกามภายใน 3-4 นาทีหลังสอดใส่องคชาติเข้าในช่องคลอด
การรักษาภาวะความผิดปกติในระยะสุดยอดทางเพศ จะต้องตรวจหาความผิดปกติทางร่างกายให้ได้ก่อน หากมีความผิดปกติตามร่างกายให้รักษาตามความผิดปกติหรือโรคนั้นๆก่อน ส่วนการรักษาอื่นๆ มีวิธีการดังต่อไปนี้

  1. วิธีการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง แนะนำให้ผู้ป่วยสำรวจร่างกายของตนเอง แตะต้อง ลูบไล้ตามจุดต่างๆของร่างกายและบริเวณอวัยวะเพศที่ไวต่อความรู้สึก เช่น Clitoris แล้วสำเร็จความใคร่ร่วมกับสามี
  2. ทำ Sensate Focus กับสามีที่บ้านเป็นการส่วนตัว (รายละเอียดจะกล่าวต่อไป)
  3. ฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยวิธี Kegel’s Exercise
  4. คิดฝันเรื่องที่จะทำตื่นตัวทางเพศ สำเร็จความใคร่ตนเองโดยใช้ Vibrator
  5. ร่วมเพศหลังการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศอย่างพอเพียง โดยใช้ภรรยานั่งคร่อมสามี เพราะวิธีนี้ภรรยาควบคุมการมีเพศสัมพันธ์ได้ดีและสามารถเคลื่นไหวได้ตามความต้องการของตนเอง

ความเจ็บปวดทางเพศ (Female Sexual Pain Disorders)

หมายถึง ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นที่อวัยวะเพศระหว่างมีสัมพันธ์ทางเพศ ทำให้เกิดปัญหาความยากลำบากขึ้นในตนเอง แบ่งออกเป็น

1. ความเจ็บปวดระหว่างประกอบกิจทางเพศ (dyspareunia) หมายถึง ความเจ็บปวดที่อวัยวะเพศที่เกิดขึ้นระหว่างหรือหลังประกอบกิจทางเพศ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติทางร่างกาย ได้แก่ การอักเสบติดเชื้อในอวัยวะเพศภายนอก (vulvar vestibulitis) ช่องคลอดอักเสบ (vaginitis) ช่องคลอดฝ่อเหี่ยวลง (senile vaginal atrophy) ในวัยหมดประจำเดือน ส่วนสาเหตุทางจิตใจ ได้แก่ ความวิตกกังวลกลัว หรือได้รับการกระตุ้นเร้าทางเพศไม่เพียงพอทำให้น้ำเมือกและสารคัดหลั่งถูกขับออกมาน้อย

2. ความเจ็บปวดจากการเกร็งตัวของปากช่องคลอด (vaginismus) หมายถึง ความเจ็บปวดที่อวัยวะเพศ ที่เกิดขึ้นจากการหดเกร็งตัวแน่นอย่างไม่ตั้งใจของกล้ามเนื้อรอบปากช่องคลอดส่วนล่าง คือ Levator Ani Muscle ระหว่างพยายามสอดใส่องคชาต นิ้วมือ หรือเครื่องมือเข้าไปในช่องคลอด ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุทางจิตใจ ได้แก่ ความกลัว ความเจ็บปวดครั้งแรกจากการตรวจภายใน หรือการประกอบกิจทางเพศ สำหรับสาเหตุทางร่ายกายที่พบ ได้แก่ การอักเสบเรื้อรังในช่องเชิงกราน (Chronic Pelvic Inflammatory Disease ; Chronic PID) หรือ Endometriosis เป็นต้น

3. ความเจ็บปวดจากสัมพันธ์ทางเพศอื่น (noncoital sexual pain disorder) หมายถึง ความเจ็บปวดที่อวัยวะเพศ ที่เกิดขึ้นระหว่างการกระตุ้นเร้าทางเพศ โดยไม่มีการประกอบกิจทางเพศ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติทางร่างกาย ได้แก่ ความผิดปกติพิการของอวัยวะเพศ การบาดเจ็บที่อวัยวะเพศ Endometriosis การติดเชื้ออักเสบที่อวัยวะเพศ เช่น Herpes Simplex Virus หรือ Vestibulitis

การรักษาความความเจ็บปวดทางเพศ ควรเริ่มต้นจากการค้นหาสาเหตุทางกาย และแยกออกไปรักษาตามโรคและสาเหตุที่ตรวจพบ ส่วนการรักษาด้านอื่นๆมีหลักการดังนี้

  1. อาการเจ็บปวดบริเวรปากช่องคลอดมักเกิดจากการไม่ได้รับการกระตุ้นที่เพียงพอ ทำให้ปากช่องคลอดไม่บวมเพื่อพร้อมรับการสอดใส่ขององคชาติ รวมถึงอาจไม่มีสารหล่อลื่นในช่องคลอดเกิดขึ้น
  2. อาการเจ็บปวดลึกๆระหว่างการร่วมเพศ อาจเกิดจากมดลูกอยู่ในลักษณะคว่ำหลัง หรือรังไข่อยู่ใน Cul-de-sac จึงถูกอวัยวะเพศชายกดทับทำให้เกิดอาการเจ็บได้ การเลือกท่าร่วมเพศที่เหมาะสมจะสามารถช่วยลดอาการเหล่านี้ได้ ถ้าสามีใช้การสอดใส่องคชาติเข้าทางด้านหลังจะเข้าได้ลึกกว่าในท่าตะแคง หรือผู้หญิงอยู่บนจะสามารถควบคุมความลึกขององคชาติได้ดีกว่า
  3. สอนวิธีการผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยวิธี Kegel’s Exercise เพราะถ้ามีความเจ็บปวดจะทำให้การร่วมเพศครั้งต่อไปเกิดอาการหวาดกลัวจนทำให้เกิดการเกร็งกล้ามเนื้อ ทำให้อาการบาดเจ็บนั้นรุนแรงกว่าเดิมจากการสอดใส่องคชาติของฝ่ายชายที่ลำบากมากยิ่งขึ้น
  4. ให้ความเชื่อมันว่าสตรีรายนั้นสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
  5. การรักษาเฉพาะของภาวะความเจ็บปวดจากการเกร็งตัวของปากช่องคลอด (vaginismus)
    • สอนวิธีการผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยวิธี (Kegel’s Exercise)
    • หากเยื่อพรหมจรรย์เหนียวและหนาควรได้รับการผ่าตัดรักษา
    • ใช้ Vaginal Dilator (ถ้ามี) เริ่มใช้ตั้งแต่ขนาดเล็กค้างไว้ 10 นาทีแล้วเอาออก หลังจากนั้นเพิ่มขนาดเรื่อยๆจนถึงขนาดเท่ากับองคชาติของฝ่ายชายหรือใหญ่กว่า
    • แนะนำวิธีการสอดใส่องคชาติเข้าสู่ฝ่ายหญิง
    • ให้ฝ่ายหญิงสอดนิ้วมือของตนเองเข้าช่องคลอดโดยใช้เจลหล่อลื่นช่วย ค่อยๆทำ อย่าเร่งรีบ
    • สอนสามีให้ใช้นิ้วมือสอดเข้าช่องคลอดด้วย
    • แนะนำให้สอดใส่องคชาติในท่าที่ผู้หญิงอยู่ด้านบน เพราะจะควบคุมความลึกและการขยับตัวได้ดี
    • ให้กำลังใจสามีว่ามีส่วนร่วมสำคัญในการรักษา สามีบางคนอาจโกรธตัวเอง หงุดหงิด และรู้สึกสิ้นหวังได้

หลักในการรักษาความบกพร่องทางเพศโดยรวม (Treatment of Female Sexual Dysfunction)

  1. เพิ่มความสัมพันธ์ที่พึงพอใจและมีความสุข
  2. ค้นหาและแนะนำให้ใช้วิธีที่เกิดความพึงพอใจ
  3. การรักษาด้วยยาอย่างเหมาะสม (Medication)
  4. ฝึกทำ Sensate Therapy
  5. ฝึกออกกำลังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน Kegel’s Exercise
  6. ให้การศึกษาเรื่องเพศใหม่ เพื่อกำจัดทัศนคติที่ผิด
  7. แนะนำให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
  8. ฝึกวิธีคลายเครียด
  9. การรักษาทางจิตใจ หรือ Sex Therapy

การรักษาด้วยยา (Medication)

  1. สารหล่อลื่นช่องคลอด (Vaginal Lubricant)
    แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในกลุ่มสตรีที่มีภาวะช่องคลอดแห้ง สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาโดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งยา อาจเป็นในลักษณะครีม เจล หรือยาสอดช่องคลอดก็ได้ มักแนะนำให้ใช้แบบน้ำ (Water-based) มากกว่าแบบน้ำมัน (Oil-based) เช่น petroleum jelly, mineral oil, baby oil เพราะว่าสามารถทำปฏิกิริยากับถึงถุงยางอนามัยทำให้เกิดการแตกหรือรั่วได้
  2. การรักษาด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen Therapy)
    นอกจากรักษาอาการหมดประจำเดือนแล้ว การได้รับเอสโตรเจนยังช่วยเพิ่มความไวต่อความรู้สึกของ Clitoris เพิ่มความต้องการทางเพศ ทำให้อาการเจ็บปวดขณะร่วมเพศลดน้อยลงไป เอสโตรเจนในรูปแบบครีม เจล หรือยาเม็ดแบบสอดช่วยทำให้อาการช่องคลอดแห้งทุเลาลงได้เป็นอย่างดี
  3. การรักษาด้วยฮอร์โทนเทสโทสเทอโรน (Testosterone Therapy)
    เหมาะสำหรับสตรีที่รังไข่หยุดทำงานเร็วกว่าปกติหรือขาดฮอร์โมนนี้ แต่ยังไม่มีการรายงานผลทางด้านการรักษาภาวะบกพร่องทางเพศในสตรีอย่างแน่ชัด ขนาดยาขึ้นกับระดับความรุนแรงของอาการผู้ป่วย ยาที่มีใช้คือ Methytestosterone 0.25 – 1.25 mg/day
  4. Sidenafil (Viagra)
    ปกติใช้รักษาภาวะ Erectile Dysfunction ในผู้ชาย แต่สำหรับผู้หญิง ผลการรักษายังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน แต่มีบางการศึกษาที่พบว่าสามารถแก้ปัญหาความผิดปกติในระยะตื่นตัวทางเพศ (Female Sexual Arousal Disorders : FSAD)ได้ รวมทั้งอาจมีประโยชน์ในรายที่มีอุบัติเหตุของเส้นประสาทไขสันหลังได้
  5. Bupropion (Wellbutrin)
    เป็นยากลุ่ม Anti-depressant ใช้ในการรักษา orgasmic disorder ซึ่งให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจแต่ยังอยู่ในช่วงการศึกษาอยู่เท่านั้น
  6. Phentolamine
    เป็นยากลุ่ม Nonspecific Alpha-adrenergic Blocker ช่วยทำให้กล้ามเนื้อในเส้นเลือดผ่อนคลาย ในการศึกษาเบื้องต้นพบว่าทำให้การไหลเวียนของเลือดในช่องคลอดเพิ่มขึ้น และยังเพิ่มความตื่นตัวทางเพศด้วย
  7. L-arginine Glutamate (Viazome Gel)
    การทา Viazome Gel บริเวณ Clitoris ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีความบกพร่องทางเพศในระยะ Excitement Phase พบว่ามีการตื่นตัวทางเพศดีขึ้น นำไปสู่ความสุขและความพึงพอใจถึงร้อยละ 70

การรักษาด้วยอุปกรณ์ (Sexual Therapy Device)

1. Clitoral Therapy Device

อุปกรณ์นี้ได้รับการรับรองโดย FDA (The USA Food and Drug Administration ในการใช้รักษาสตรีที่มีความผิดปกติในช่วย Arousal Phase ลักษณะเป็นถ้วยเล็กๆใช้ครอบ clitoris เมื่อกดปุ่มเปิดสวิตซ์ ถ้วยนั้นจะทำให้เกิดระบบสุญญากาศ เพิ่มเลือดมาเลี้ยง Clitoris และเพิ่มความดันบน Clitoral Nerve ทำให้การตื่นตัวทางเพศเพิ่มมากขึ้น

2. Sex Toy

เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระตุ้นบริเวณรอบ ๆ อวัยวะเพศ ทั้งชายและหญิง เพื่อให้มีความรู้สึกคล้ายกับกำลังมีเพศสัมพันธ์ หรือร่วมรัก สำหรับผู้ที่ต้องการความสุขทางเพศแบบส่วนตัว หรือการช่วยตัวเองผ่าน Sex Toy แต่ในปัจจุบันมักจะถูกนำมาใช้เพื่อการกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ ให้กับคู่รักหรือคู่ขา พบว่ามีประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาภาวะบกพร่องทางเพศ

การฝึก Sensate Focus

Sensate Focus เป็นการปฎิบัติที่คู่สมรสต้องถอดเสื้อผ้าออกทั้งหมดในห้องส่วนตัว แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะที่ 1 (Non-genital Sensate Focus Exercise) จะไม่อนุญาตให้มีการสัมผัสอวัยวะเพศและเต้านมของคู่สมรส และไม่ให้มีการร่วมเพศ เพื่อให้คู่สมรสได้เรียนรู้ว่านอกจากอวัยวะเพศและเต้านมแล้ว การสัมผัสเล้าโลมส่วนอื่นๆของร่างกายก็สามารถทำให้เกิดอารมณ์และความสุขทางเพศได้เช่นกัน และยังเป็นการลดความกังวลเกี่ยวกับการสัมผัสอวัยวะเพศและการร่วมเพศอีกด้วย ถ้าระหว่างฝึกคู่สมรสมีความต้องการทางเพศสูงมากให้สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองแทน
  2. ระยะที่ 2 (Genital Sensate Focus Exercise) จะอนุญาตให้มีการสัมผัสอวัยวะเพศและเต้านมได้ เพื่อให้เริ่มเรียนรู้ว่าจะกระตุ้นอวัยวะเพศและเต้านมอย่างไรจึงจะเป็นที่พอใจ ในระยะนี้ยังไม่อนุญาตให้คู่สมรสร่วมเพศเช่นกัน
  3. ระยะที่ 3 (Intercourse) เมื่อปฏิบัติได้ดีจึงจะอนุญาตให้มีการร่วมเพศจริงๆหลังจากมีการเล้าโลมตามวิธีที่ได้ฝึกปฏิบัติมาจนเกิดความตื่นตัวทางเพศดีแล้ว

การออกกำลังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Kegel’s Exercise)

จุดประสงค์เพื่อทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและกลั้นปัสสาวะได้ สูติแพทย์จำเป็นต้องตรวจติดตามเพื่อดูว่าผู้ป่วยทำได้ถูกต้องหรือไม่ โดยการใช้นิ้วมือสองนิ้วสอดเข้าช่องคลอดแล้วให้ผู้ป่วยขมิบก้น ถ้ากล้ามเนื้อช่องคลอดรัดนิ้วมือ แสดงว่าผู้ป่วยทำได้ถูกต้องแล้ว การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน มีวิธีการดังต่อไปนี้

  1. เกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยการขมิบก้นแล้วผ่อนคลายเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมทั้งหายใจเข้าออกตามปกติ
  2. เกร็งกล้ามเนื้อแล้วพร้อมนับ 1 ถึง 3 แล้วคลาย หายใจปกติ
  3. เกร็งกล้ามเนื้อช้าๆ นับ 1 ถึง 3 แล้วดึงกล้ามเนื้อให้สุงขึ้น พร้อมทั้งหายใจเข้าลึกๆ ขณะที่เกร็งกล้ามเนื้อไว้ นับ 1 ถึง 3 แล้วคลายกล้ามเนื้อช้าๆ นับ 1 ถึง 3
  4. เมื่อกล้ามเนื้อผ่อนคลาย ให้นับ 1 ถึง 3 เบ่งลงไปที่ก้น คล้ายกับดันสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกจากช่องคลอด

การฝึกให้ฝึกทุกวัน ประมาณ 3-4 นาที การปฎิบัติที่ 1 และ 2 ให้ทำ 10 ครั้งต่อวัน เพิ่มเป็น 30 ครั้งต่อวันในระยะเวลา 4-6 สัปดาห์ ส่วนการปฎิบัติวิธีที่ 3 และ 4 ให้ทำวันละ 5 ครั้ง และเพิ่มเป็น 20 ครั้งในระยะเวลา 4-6 สัปดาห์

การรักษาทางจิตใจตามวิธี PLISSIT Model of Sex Therapy

วิธีการรักษาปัญหาทางเพศของ Annom (1976) มี 4 ระดับ ดังนี้

  1. Level 1 : Permission Level คือการส่งเสริมให้ผู้ป่วยพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาของตนเอง ผู้รักษาให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยว่าความคิด พฤติกรรม และสิ่งที่วิตกกังวลนั้นเป็นเรื่องปกติ และเข้าใจดี
  2. Level 2 : Limited Information สอนเรื่องเพศให้ผู้ป่วยทราบ เช่น เรื่องการตอบสนองทางเพศ กายวิภาคของอวัยวะสืบพันธุ์ หรือผลของยา แอลกอฮอล์ต่อหน้าที่ทางเพศ ระยะนี้ผู้รักษาจะต้องขจัดความเชื่อผิดๆออกไป
  3. Level 3 :Specific Suggestions ให้คำแนะนำแก่คู่สมรสเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ เช่น การทำ Sensate Focus วิธีการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง วิธีการแก้ปัญหาเรื่องการหลั่งเร็ว เป็นต้น
  4. Level 4 : Intensive Therapy ถ้าการรักษาทั้ง 3 ระดับที่ผ่านมาล้มเหลว ให้ใช้การรักษาด้วยวิธีอื่นแทน เช่นวิธีของ Masters and Jhonson หรือ Kaplan

การรักษาทางจิตใจตามวิธีของ Masters and Johnson

เชื่อว่าปัญหาความบกพร่องทางเพสเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ดังนั้นการรักษาจะต้องทำเป็นคู่ สามีและภรรยาจะมีแพทย์เฉพาะเพศช่วยดูแล การรักษาจะเข้มข้นใช้เวลา 2 สัปดาห์ มีการสอบถามประวัติ ตรวจร่างกาย พูดคุยอย่างละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมและความบกพร่องทางเพศ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความรู้และทัศนคติทางด้านลบเรื่องเพศ ลดความวิตกกังวลและช่วยส่งเสริมการสื่อสารระหว่างคู่สมรส มีกิจกรรมให้ทำที่บ้านเพื่อเพิ่มความสุขทางเพศ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการทางเพศของกันและกัน เช่น การทำ Sensate Focus การแนะนำท่าทางที่เหมาะสมในการร่วมเพศ เป็นต้น

การรักษาทางจิตใจตามวิธีของ Kaplan Model

วิธีนี้มีพื้นฐานความเชื่อในการค้นหาสาเหตุของความบกพร่องทางเพศขณะปัจจุบันและอดีต การรักษาจะรักษาสัปดาห์ละครั้ง ไม่รีบร้อน รักษาไปเรื่อยๆ ไม่จำกัดเวลา โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. ตรวจอวัยวะเพศทั้งภายนอกและภายใน รวมถึงให้ผู้ป่วยสำรวจอวัยวะเพศภายนอกของตนเองด้วย
  2. สำรวจว่าบริเวณไหนของร่างกายที่ไวต่อความรู้สึกทางเพศและทำให้มีความสุข
  3. ลูบคลำร่างกาย อวัยวะเพศ รวมถึง Clitoris ของตนเองเพื่อให้มีความสุข
  4. เสพสื่อที่มีภาพเปลือยเพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศและความต้องการทางเพศ
  5. ใช้ Vibrator เพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ
  6. ให้คู่สมรสฝ่ายชายกระตุ้นอารมณืทางเพศด้วยมือหรือปาก
  7. ร่วมเพศ และสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง

เอกสารอ้างอิง (References)

  1. เอนก อารีพรรค, เพศศาสตร์ ในสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา (Human Sexuality in Obstetrics and Gynaecology)มีนาคม 2548
  2. Jonathan S. Berek, Berek & Novak,s Gynecology (Fifteenth edition)
  3. Kaplans’s HS : The New Sex Therapy. London. Bailliere Tindall 1974.
  4. Masters WH, Johnson VE, Kolodney: Human Sexuality 5th Ed. Harper Collius College New York 1995.
  5. Masters WH, Johnson VE: Human Sexual Inadequacy. Little Brown Company. Boston 1970.
  6. ACOG Guideline on Sexual Dysfunction in Women. April 2011.
  7. http://www.emedicinehealth.com/female_sexual_problems/topic-guide.htm
  8. http://www.clevelandclinicmeded.com/medicalpubs/diseasemanagement/womens-health/female-sexual-dysfunction/
  9. http://www.healthywomen.org/condition/sexual-dysfunction
  10. http://www.condomthai.com/sto_01_woman.php
  11. http://medicarezine.com/2016/05/sexual-response-cycle/
Read More