ขอแสดงความชื่นชมหนังสือใหม่ของภาควิชาโดยอ.แป้ง หนังสือเรื่อง ทารกบวมน้ำ (hydrops fetalis) ของอาจารย์แป้งออกแล้ว พิมพ์อย่างดีสวยงามมาก เหมาะมากสำหรับ fellow MFM ได้รวบรวมองค์ความรู้ตามแนว hydrops แห่งโลกตะวันออกไว้อย่างครบถ้วน กลั่นจากความรู้ทั่วโลกและการศึกษาของเรามากมาย พร้อม CD ที่มีวิดีโอ hydrops ประกอบมากมาย

คำนำจากหัวหน้าภาค

ทารกบวมนํ้าเป็นปัญหาสำคัญทางสูติกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบวมที่เกิดจากโรคฮีโมโกลบินบาร์ท ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งบางภูมิภาค อาจพบได้สูงถึงร้อยละ 14 ของประชากร และเป็นสาเหตุของภาวะทารกบวมนํ้าที่บ่อยที่สุด คือร้อยละ 80-90 ของทารกบวมนํ้าทั้งหมด การตั้งครรภ์ที่มีภาวะทารกบวมนํ้าจากฮีโมโกลบินบาร์ทนั้นเป็นการตั้งครรภ์ที่สูญเปล่า อันนับเป็นโศกนาฎกรรมทางสูติศาสตร์ที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างแถบภาคเหนือ เนื่องจากการตั้งครรภ์เหล่านี้นอกจากไม่ได้บุตรที่มีชีวิตรอดแล้ว ยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงในมารดาด้วย เช่น 1) ความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ (preeclampsia) ซึ่งมักจะเกิดเร็วและรุนแรงกว่ากว่าทั่วไป เชื่อว่าถ้าปล่อยให้อายุครรภ์มากขึ้นจะเกิดภาวะนี้ทุกราย 2) คลอดยาก เนื่องจากทารกตัวโตจากการบวมนํ้า ทำให้เพิ่มหัตถการในการช่วยคลอดอย่างยาก เช่น การช่วยคลอดด้วยคีมอย่างยาก ผ่าตัดทำคลอดทางหน้าท้องทั้ง ๆ ที่ทารกไม่ได้เลี้ยง 3) เพิ่มอุบัติการณ์การตกเลือดหลังคลอด (ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการตายของมารดา) เนื่องจากรกมีขนาดใหญ่มาก และประการสำคัญที่สุดคือผลเสียต่อสุขภาพจิตของมารดาและบิดาที่ต้องรอคอยการตั้งครรภ์ที่สูญเปล่า และยังคงมีความเสี่ยงในครรภ์ต่อไปอีก อย่างไรก็ตามยังมีภาวะบวมนํ้าจากอีกหลายสาเหตุบางอย่างก็สามารถมีชีวิตรอดได้อย่างสมบูรณ์หากได้รับการดูแลที่เหมาะสม

ปัญหาสำคัญในปัจจุบันคือผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ทารกบวมนํ้าจากฮีโมโกลบินบาร์ทไม่ได้รับการวินิจฉัยก่อนคลอดด้วยวิธีการตรวจเลือดทารก หรือวิธีการอื่น ๆ รวมทั้งไม่ได้รับการวินิจฉัยแม้แต่ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงในระยะแรก ๆ ทั้งที่ปัจจุบันนี้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงมีใช้แพร่หลายในประเทศไทย แต่ประสบการณ์ในการวินิจฉัยภาวะทารกบวมนํ้าด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงนับว่ายังมีขีดจำกัดมาก จากเหตุผลสำคัญคือคลื่นเสียงความถี่สูงสามารถวินิจฉัยภาวะทารกบวมนํ้าได้เร็วกว่าที่เคยเข้าใจกันมาในอดีต เป็นเทคนิคการวินิจฉัยที่ไม่เจ็บตัว (non-invasive) ไม่เพิ่มความเสี่ยงใด ๆ แก่ทารกและมารดา และเป็นเทคนิคราคาถูกที่มีใช้ทั่วไป จึงนับว่าการเพิ่มประสิทธิภาพและทักษะของผู้ตรวจจะช่วยให้ภาวะทารกบวมนํ้าจากฮีโมโกลบินบาร์ทได้รับการวินิจฉัยเร็วขึ้น เป็นที่น่าชื่นชมและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่อาจารย์แพทย์หญิงเกษมศรี ได้ทำการทบทวนอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งในการศึกษาทั่วโลกเกี่ยวกับทารกบวมนํ้า และนำมาเสนอในรูปแบบที่ประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับเวชปฏิบัติในประเทศไทย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าตำราเล่มนี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดูแลรักษาสตรีตั้งครรภ์ที่มีทารกบวมนํ้า

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชเนนทร์ วนาภิรักษ์
หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
20 เมษายน 2555