Robot Assisted Surgery : การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด หรือ Robot Assisted Surgery นับเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากการผ่าตัดผ่านกล้องหรือ Laparoscopic Surgery โดยแพทย์ทำการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ ผ่านหุ่นยนต์ที่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของเครื่องมือผ่าตัดได้อย่างอิสระคล้ายการเคลื่อนไหวของมือมนุษย์
ภายใต้การมองเห็นผ่านจอภาพแบบสามมิติที่มีความคมชัดระดับ HD หรือ High-Definition ทำให้สามารถทำการผ่าตัดที่ซับซ้อนที่เป็นเรื่องยากที่จะทำโดยการผ่าตัดผ่านกล้องแบบปกติได้ และการผ่าตัดจะทำผ่านแผลผ่าตัดเล็กๆที่หน้าท้อง โดยไม่ต้องเปิดแผลที่หน้าท้อง ทำให้ผู้ป่วยมีความเจ็บปวดน้อย สามารถกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติได้เร็วกว่าการผ่าตัดทั่วไป

ในปัจจุบันได้มีการนำการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด มาใช้ในการผ่าตัดทางนรีเวชโดยเฉพาะในโรคที่ซับซ้อน เช่น โรคมะเร็งของปากมดลูกหรือมะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูก ภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน ก้อนเนื้องอกมดลูก ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือแม้กระทั่งการผ่าตัดแก้หมันหญิง

คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดหรือ Robot Assisted Surgery ด้วยระบบ Da Vinci Si มาให้บริการ โดยได้ให้บริการการผ่าตัดทางด้านศัลยกรรมระบบปัสสาวะ และศัลกรรมระบบลำไส้ใหญ่ มาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาจึงได้จึงได้เริ่มโครงการนำการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาใช้ในการผ่าตัดทางนรีเวช และได้ทำการผ่าตัดมดลูกผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้องอกมดลูกเป็นรายแรกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และภาควิชามีแผนที่จะพัฒนาการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด สำหรับโรคซับซ้อนทางนรีเวชอื่นๆอีกต่อไป เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และก่อเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยสูงสุด ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา โทรศัพท์ 053-945552 หรือติดต่อทาง e-mail

Patient Cart หรือส่วนของหุ่นยนต์ที่ทำการผ่าตัด ผ่านทางแขนกลที่สอดผ่านเข้าไปในช่องท้องของผู้ป่วย

Surgeon Console ส่วนที่แพทย์ใช้ควบคุมหุ่นยนต์

แพทย์สามารถควบคุมการทำงานของแขนของหุ่นผ่านที่บังคับที่ Surgeon consoleทำให้การเคลื่อนไหวของหุ่นเสมือนการผ่าตัดด้วยมือของแพทย์

การผ่าตัดตัดมดลูก

ทีมผ่าตัดและวิสัญญี

ทีมงานทั้งหมด