การใช้ภาษาในการเขียนและการพูดทางการแพทย์
(Medical Writing and Speaking)

 

 

“เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองมาแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านการรักษาภาษานี้มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในการออกเสียง คือออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทยซึ่งพวกเราคิดว่าไม่ร่ำรวย จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้” 
กระแสพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
26 กรกฎาคม 2505

  

“ในปัจจุบัน นิสิตนักศึกษาทั่วไปเขียนรายงานไม่ใคร่เป็น ปัญหาเรื่องการใช้ภาษานั้น มิได้มีอยู่เฉพาะที่คำเท่านั้น แต่รวมเรื่องประโยคเรื่องไวยากรณ์อยู่ด้วย ดังนั้นจึงสมควรสอนให้นิสิตนักศึกษาเขียนรูปประโยคที่ถูกต้องและสมบูรณ์ ภาษาที่ใช้เขียนรายงานในวงการวิทยา วิทยาศาสตร์การแพทย์นั้น คงมีรูปประโยคบางอย่างที่ใช้เป็นประจำ และภาษานี้แหละควรสอนให้นิสิต นักศึกษาสามารถใช้ได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ขอเพิ่มว่า ถ้าต้องเขียนรายงานเป็นภาษาอังกฤษ ก็ควรสอนให้เขียนให้ถูกต้องสมบูรณ์เช่นเดียวกัน สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อพูดหรือเขียนภาษาใด ก็ควรใช้แต่ภาษานั้น เว้นแต่สำหรับศัพท์เฉพาะซึ่งเป็นสิ่งออกจะจำเป็น” 
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
ในปาฐกถานำ “การสัมมนาการใช้ภาษาไทยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์”
19 กุมภาพันธ์ 2518

 

การใช้ภาษาในทางการแพทย์จะมีข้อแตกต่างจากการใช้ภาษาทั่วไปอยู่บ้างก็คือมีการใช้คำภาษาต่างประเทศมาปะปนกับภาษาไทย ทั้งนี้เพราะศัพท์เทคนิคทางการแพทย์เป็นอันมากมีรากฐานมาจากคำภาษาต่างประเทศ แม้จะมีความพยายามบัญญัติศัพท์มาใช้ก็ยังไม่ทันการหรือยังมีไม่พอใช้ และศัพท์บัญญัติบางคำก็ยังไม่ได้รับความนิยมใช้กันแพร่หลาย นอกจากนี้บางครั้งก็ใช้ภาษาอังกฤษเพื่อมิให้ผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูลของผู้ป่วยซึ่งถือว่าเป็นความลับทางการแพทย์

ในบทนี้จะกล่าวถึงหลักเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการใช้ภาษาในการเขียนและการพูดทางการแพทย์ เพื่อเป็นแนวทางในการเขียนรายงานและการนำเสนอปัญหาผู้ป่วยสำหรับนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน

การรับศัพท์ภาษาต่างประเทศมาใช้

การรับศัพท์เทคนิคภาษาต่างประเทศมาใช้ในภาษาไทยทำโดยการยืมคำ การแปลศัพท์หรือการถอดความ, การทับศัพท์ และการบัญญัติศัพท์

การทับศัพท์ ใช้สำหรับคำที่หาคำไทยที่เหมาะสมไม่ได้ คำที่มีความหมายยืดยาว ถ้าจะใช้คำไทยก็จะต้องใช้หลายคำมาผสมกัน และคำที่มีความหมายหลายอย่างต่าง ๆ กัน วิธีการทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน คือให้ถอดอักษรในภาษาเดิมพอควรแก่การแสดงที่มาของศัพท์ และให้เขียนในรูปที่จะอ่านได้สะดวกในภาษาไทย

การบัญญัติศัพท์ เป็นการกำหนดศัพท์ใหม่, ประดิษฐ์คำ ผสมคำ แปลงคำ หรือแผลงคำจากคำที่มีอยู่เดิม รวมทั้งการถ่ายคำจากภาษาอื่นด้วย

การเขียนบทความทางการแพทย์โดยใช้ภาษาไทย

การเขียนบทความทางการแพทย์โดยใช้ภาษาไทยริเริ่มโดยศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการ “สารศิริราช” ท่านได้เริ่มต้นเสนอคำศัพท์ไทยเพื่อเลือกใช้แทนคำอังกฤษในสารศิริราช ตั้งแต่ พ.ศ.2492 ส่วนการทับศัพท์จะใช้เมื่อหาคำไทยที่ เหมาะสมไม่ได้ คำศัพท์ที่ท่านเสนอนั้น ต่อมาได้รวบรวมและจัดทำเป็นพจนานุกรมศัพท์แพทย์ โดยราชบัณฑิตยสถาน สำหรับวิธีการทับศัพท์ ท่านพยายามรักษารูปอักษรจากภาษาเดิมไว้ให้มากที่สุด เพื่อจะได้ถ่ายศัพท์กลับไปเป็นภาเดิมได้ถูกต้อง เพราะท่านเห็นว่าการใช้อักษรต่างกันเพียงตัวเดียวก็ทำให้ความหมายเปลี่ยนไป วิธีการนี้คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยแห่งราชบัณฑิตยสถานยินยอมให้ใช้ โดยถือว่าศัพท์ทางวิชาการที่ใช้ในเฉพาะกลุ่มอาจใช้หลักเกณฑ์ที่แตกต่างออกไปจากของราชบัณฑิตยสถานได้ นอกจากนี้ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ยังได้นำเครื่องหมายวรรคตอนมาใช้ในการเขียนบทความภาษาไทยอีกด้วย ทำให้เกิดรูปแบบการเขียนบทความทางการแพทย์เป็นภาไทยที่เรียกว่า “ภาษาสารศิริราช” ซึ่งมีแบบแผนจำเพาะอันเป็นเอกลักษณ์ การเขียนแบบ “ภาษาสารศิริราช” นี้ มีผู้แสดงความคิดเห็นไว้มาก ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

การใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษปนในภาษาไทย

การใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษปนในภาษาไทยควรใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น จะใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษต่อเมื่อเป็นศัพท์เทคนิค ไม่ควรใช้ศัพท์สามัญที่มีคำไทยอยู่แล้ว เช่น กระเพาะอาหาร, อาเจียน, ปัสสาวะ

การใช้ภาษาใดก็ต้องให้ถูกต้องตามหลักของภาษานั้น ๆ สำหรับการใช้ภาษาอังกฤษปนในภาษาไทยควรยึดถือหลักภาษาไทยเป็นสำคัญ ข้อเสนอแนะในเรื่องนี้มีดังนี้

  • คำนามภาษาอังกฤษที่ปนกับภาษาไทยควรใช้ในรูปเอกพจน์เท่านั้น
  •  หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาอังกฤษเป็นกริยา เพราะจะมีปัญหาเรื่องกาล (tense) และการเติม s เมื่อประธานเป็นบุรุษที่สามเอกพจน์ ควรเปลี่ยนไปใช้ในรูปนามจะสะดวกกว่า
  • ขึ้นต้นคำภาษาอังกฤษด้วยอักษรตัวตาม (small letter) ยกเว้นเป็นชื่อเฉพาะ
  • หลีกเลี่ยงการขึ้นต้นประโยคด้วยคำภาษาอังกฤษ เพราะจะเกิดปัญหาว่าต้องใช้อักษรตัวนำ (capital letter) ขึ้นต้นประโยคด้วยหรือไม่

หลักการเขียนและการพูดทางการแพทย์

การเขียนรายงานทางการแพทย์ถือหลักคือ เนื้อความถูกต้อง ชัดเจน เข้าใจง่าย สั้นไม่เยิ่นเย้อแต่ได้ใจความสมบูรณ์ ตัวสะกดถูกต้อง ภาษาสุภาพ การใช้ภาษาที่ไพเราะสละสลวยจะช่วยให้รายงานน่าอ่านยิ่งขึ้น แต่มีความสำคัญเป็นรอง การนำเสนอผู้ป่วยถือหลักเช่นเดียวกับการเขียน และที่สำคัญคือต้องออกเสียงให้ถูกต้อง มิฉะนั้นอาจทำให้เข้าใจความหมายผิดได้ ประเด็นอื่น ๆ ที่สำคัญในการนำเสนอผู้ป่วยได้กล่าวไว้แล้ว

ข้อบกพร่องที่พบได้บ่อยคือการเลือกใช้คำภาษาไทยไม่เหมาะสม ได้แก่ การใช้ภาษาปาก (เช่น ดื่มเหล้าวันละ “กลม”) การใช้คำย่อ คำกร่อน และคำแสลง และการใช้คำภาษาอังกฤษอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวจีวิภาค

การใช้รูปคำภาษาอังกฤษ

หลักการมีดังนี้

  • adjective ขยาย noun, และ adverb ขยาย adjective
  • gerund เป็น verb ที่เติม –ing และใช้ทำหน้าที่เป็น noun (เรียกว่า verbal noun) ตัวอย่างเช่น hearing
  • participle เป็น verb ที่เติม –ing หรือ –ed ทำหน้าที่เป็น adjective ได้ ตัวอย่างเช่น hearing impairment, marked anemia
  • adjective หรือ participle ที่เติม –ly ใช้เป็น adverb ตัวอย่างเช่น markedly pale
  • noun ซ้อน noun ได้ โดยที่คำแรกทำหน้าที่ขยายคำหลัง ตัวอย่างเช่น birth rate, aspiration pneumonia, review article, article review, admission note, progress note, skills lab, ward chief

การใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้อง

การใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้องในการเขียนและการพูดทางการแพทย์ ได้แก่ การใช้คำภาอังกฤษมากเกินไปโดยไม่จำเป็น การใช้คำภาอังกฤษหรืออังกฤษปนไทยอย่างไม่ถูกต้อง การใช้คำกร่อน การออกเสียงไม่ถูกต้องชัดเจน และการอ่านออกเสียงผิด (ดูตัวอย่างในภาคผนวก)

บทส่งท้าย

การใช้ภาษาในการเขียนรายงานและการนำเสนอผู้ป่วยต้องให้ “ผู้ส่งสาร” และ “ผู้รับสาร” เข้าใจตรงกัน เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยและการเรียนการสอน การใช้ภาษาอังกฤษล้วน ภาษาไทยปนอังกฤษ หรือภาษาไทยล้วน มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ควรใช้ดุลยพินิจเลือกใช้ให้เหมาะสม แต่ไม่ว่าจะใช้แบบใดก็ต้องให้ถูกต้องตามหลักภาษา

ในยุคปัจจุบันภาษาอังกฤษเป็นสิ่งจำเป็นในโลกวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่วนภาษาไทยก็เป็นสิ่งจำเป็นในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ภายในประเทศ รวมทั้งประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ภาษาไทยยังเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย นักศึกษาแพทย์และแพทย์ทุกคนจึงต้องสนใจ และฝึกฝนจนเกิดทักษะในการใช้ภาษาได้ดีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาไทยปนอังกฤษโดยไม่จำเป็น มีผู้กล่าวว่า “ความสามารถในการใช้ภาษาเป็นลักษณะของบัณฑิต”

เอกสาร

  1. มหาวิทยาลัยมหิดล. ประทิน วิริยะวิทย์, บรรณาธิการ. การใช้ภาษาไทยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์. กรุงเทพฯ: ไพศาลศิลป์การพิมพ์, 2529.
  2. พจนานุกรมศัพท์แพทย์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2508.
  3. ศัพท์วิทยาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2508
  4. คณะบรรณาธิการบริหาร. ปัจฉิมพากย์. วารสารคลินิก 2530; 3: 223-4.
  5. Dorland’s illustrated medical dictionary. 27th ed. Philadelphis: WB Saunders, 1988.

 


 

ภาคผนวก

ตัวอย่างการใช้ภาษาในการเขียนและการพูดอย่างไม่ถูกต้อง

1. การใช้คำภาษาอังกฤษมากเกินไปโดยไม่จำเป็น

ตัวอย่างเช่น

“Actions of glucocorticoids: ยับยั้ง metabolism ของ peripheral tissue มากกว่า truncal tissue ทำให้เกิด muscle atrophy, easy bruisability เพิ่ม breakdown ของ protein และ fat ได้เป็น amino acid และ fatty acids เพิ่ม uptake ของ amino acid สู่ตับ inhibit DNA synthesis โดยเฉพาะต่อ developing brain, gastric mucosa, liver cells and bone”

เขียนเป็นภาษาไทยได้ดังนี้

“ฤทธิ์ของกูลโคคอร์ติคอยด์ คือ ยับยั้งเมตะบอลิสมของเนื้อเยื่อส่วนปลายมากกว่าเนื้อเยื่อส่วนลำตัว ทำให้เกิดกล้ามเนื้อฝ่อ ฟกช้ำง่าย เพิ่มการทำลายโปรตีนและไขมัน ได้เป็นกรดอะมิโนและกรดไขมัน เพื่อการจับกรดอะมิโนที่ตับ ขัดขวางการสังเคราะห์ดีเอนเอ โดยเฉพาะของสมองที่กำลังเจริญ เยื่อบุกระเพาะอาหาร, เซลล์ตับ และกระดูก”

2. การใช้คำภาษาอังกฤษหรืออังกฤษปนไทยอย่างไม่ถูกต้อง

{tabulizer:style[gr.alterora.elemental_1_yellow_orange.css]}

การใช้อย่างไม่ถูกต้อง ควรใช้
ผู้ป่วยมี underlying เป็นความดันสูง (underlying disease) ผู้ป่วยมีความดันเลือดสูงอยู่เดิม, ผู้ป่วยมีโรคเดิมคือความดันเลือดสูง
ผู้ป่วยเป็น known case DM (known case of DM) ผู้ป่วยเคยได้รับการวินิจฉัยมาแล้วว่าเป็นโรคเบาหวาน,ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน,
ผู้ป่วย lost follow-up (was lost to follow-up) ผู้ป่วยไม่มาติดต่อรับการรักษาอีก, ผู้ป่วยไม่มาติดต่อกับแพทย์อีก
หน้าท้องมี tender หน้าท้องมี tenderness, หน้าท้องกดเจ็บ, กดเจ็บที่หน้าท้อง
conscious ดี consciousness ดี, รู้สึกตัวดี
ผู้ป่วย on catheter ผู้ป่วยมี catheter คาอยู่, ผู้ป่วยมีสายสวนปัสสาวะคาอยู่,
ทำ gastroscope ทำ gastroscopy, ทำการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร, ส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร
ลอง try tapping ลอง tap, ลองเจาะดู
ให้การรักษาด้วย O2 cannula 5 ลิตร/นาที (O2 via nasal cannula) ให้การรักษาด้วย O2 5 ลิตร/นาที ทาง cannula, ให้การรักษาด้วยออกซิเจน 5 ลิตรต่อนาที ทางท่อจมูก
ให้การ treatment โดย ให้ terament โดย, ให้การรักษาโดย, รักษาโดย
ผู้ป่วย clinical improved (clinically improved) ผู้ป่วยมีอาการทางคลินิกดีขึ้น มี creatinine สูงขึ้น, ครีอะตินีนสูงขึ้น
ไม่มี respond ต่อการรักษา ไม่มี response ต่อการรักษา, ไม่ตอบสนองต่อการรักษา, การรักษาไม่ได้ผล
ได้ investigation โดยเจาะเลือด ได้ทำ investigation โดยเจาะเลือด, ได้ทำการสืบค้นโดยเจาะเลือด, ได้เจาะเลือด
ได้ move ผู้ป่วยไปทำ ได้ทำ
good conscious good consciousness, รู้สึกตัวดี
mild pale mildly pale, ซีดเล็กน้อย
markedly jaundice Marked jaundice, markedly icteric, เหลืองมาก
Pharynx ไม่ inject pharynx ไม่ injected, pharynx ไม่มี injection, คอ (หอย) ไม่แดง
การใช้อย่างไม่ถูกต้อง ควรใช้
pupils react to light pupils reactive to light, ม่านตาตอบสนองแต่แสง
Asthma attack asthmatic attack, จับหืด
pyrexia caused pyrexia, cause? pyrexia of unknown cause, pyrexia of undetermined etiology, ไข้ไม่ทราบสาเหตุ
Aspirated pneumonia aspiration pneumonia, ปอดอักเสบจากการดูดสำลัก
sexual transmit disease sexually transmitted disease, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
right side hemiplegia Right-sided hemiplegia, อัมพาตซีกขวา
RBC มี hypochromic, microcytic เม็ดเลือดแดงมี hypochromia และ icrocytosis, เกร็ดเลือดต่ำ
Rx Retained Foley catheter Rx Retain Foley catheter, ให้สวนคาสายสวน Foley,
Infectious note Infectious Disease note, รายงานเมื่อรับไว้ในโรงพยาบาล, บันทึกรายงานเมื่อรับไว้ในโรงพยาบาล
progression note Progress notes, รายงานความก้าวหน้า, บันทึกความก้าวหน้า

3. การใช้คำกร่อน

 

ตัวอย่างเช่น

  • GI bleed(ing)
  • heart fail(ure)
  • hepatic enceph(alopathy)
  • ischemic heart(disease)
  • aortic regur(gitation)
  • supraclav(icular)
  • submand(ibular)
  • ST depress(ionX
  • interdepartment(al) conference

4. การออกเสียงไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจน

s, se, ce, x, เช่นในคำต่อไปนี้

  • systemic lupus erythematosus
  • venous
  • meningitis
  • osteomyelitis
  • pulse
  • sense
  • source
  • conference
  • pharynx
  • text

ch, เช่นในคำต่อไปนี้

  • subarachnoid (sub”-ah-rak’noid)
  • tachycardia (tak”e-kar’de-ah)
  • ischemia (is-ke’me-ah)
  • schizophrenia (skiz”o-fre’ne-ah, skit”so-fre’ne-ah)

or, เช่นในคำต่อไปนี้

  • skin turgor (tur’ gor)
  • tremor (trem’ or หรือ tre’mor)
  • pallor (pal’or)

pn, เช่นในคำต่อไปนี้

  • dyspnea (dysp’ne-ah)

ope’ เช่นในคำต่อไปนี้

  • syncope (sin’-ko-pe)

5. การอ่านออกเสียงผิด

คำจากภาษาอื่น

  • De bridement (de-bred maw)
  • Virchow’s node (ver’koz)
  • Raynaud’s phenomenon (ra-noz)
  • Marde’ markedly
  • Marked (markt)
  • Markedly (mar-kid-li)

H เรียกว่า “เอ็ช” ไม่ใช่ “เฮ็ช”

(คัดจาก ทักษะทางคลินิก ของ จินตนา ศิรินาวิน และ สาธิต วรรณแสง. 2539)

file: MedWritingSpeaking.doc