Sperm Bank

ธนาคารอสุจิ

ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาได้จัดตั้งธนาคารอสุจิขึ้นในปี พ.ศ. 2542 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการเก็บรักษาอสุจิจากผู้บริจาคเพื่อใช้ในการรักษาคู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยากที่จำเป็นต้องได้รับการผสมเทียม โดยจะทำการตรวจคัดกรองโรคต่างๆที่อาจถ่ายทอดทางอสุจิโดยเฉพาะโรคติดเชื้อ เช่น โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสบี และโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ได้แก่ โรคเลือดธาลัสซีเมีย เพื่อให้การรักษาโดยการผสมเทียมมีความปลอดภัยสูง
          นอกจากนี้ธนาคารอสุจิยังให้บริการรับแช่แข็งอสุจิให้คู่สมรสที่มีบุตรยากที่ฝ่ายชายมีความจำเป็นที่ไม่สามารถมาเก็บอสุจิตามวันที่กำหนดได้ และยังรับแช่แข็งอสุจิให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการฉายแสง หรือเคมีบำบัดที่อาจมีผลกระทบต่อการสร้างอสุจิในภายหลัง
        คู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยากสามารถสอบถามรายละเอียดการให้บริการได้ที่คลินิกมีบุตรยาก ในวันอังคาร และ วันพฤหัสบดี เวลา 13:00 น. ถึง15:00 น. ส่วนผู้ที่สนใจจะบริจาคอสุจิสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-5394-5559 และ 0-5394-6438 ในวันและเวลาราชการ หรือ e-mail มาที่ osreshth@mail.med.cmu.ac.th

 

สถานที่ตั้ง : ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ชั้น 3 อาคารบุญสม มาร์ติน
เวลาทำการ :
วันและเวลาราชการ
ติดต่อ โทรศัพท์ 0-5394-5559 และ 0-5394-66438 ในวันและเวลาราชการ


ธนาคารอสุจิ (sperm bank) ทางเลือกสำหรับผู้มีบุตรยาก

ภาวะมีบุตรยาก หมายถึง การที่คู่สมรสไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ หลังจากที่อยู่ร่วมกันและมีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ได้คุมกำเนิดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ภาวะมีบุตรยากนี้แม้ว่าจะไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพทางกายมากเหมือนกับปัญหาด้านอื่นๆ แต่ก็มีผลกระทบอย่างมากต่อจิตใจของคู่สมรส และยังมีผลทางด้านสังคมอีกด้วย อุบัติการณ์ของภาวะมีบุตรยากเท่าที่มีรายงานในวารสารทางการแพทย์พบได้ร้อยละ 8.4 ถึง 21.5 ของคู่สมรสทั้งหมด โดยรายงานส่วนใหญ่จะพบประมาณร้อยละ 13 – 14 ของคู่สมรส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มประชากร ความแตกต่างทางสังคม และที่สำคัญคืออายุของคู่สมรสฝ่ายหญิง ส่วนสาเหตุของภาวะมีบุตรยากนั้นพบว่าร้อยละ 30 – 40 เกิดจากความผิดปกติของคู่สมรสฝ่ายชาย ร้อยละ 30 – 40 เกิดจากพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานของฝ่ายหญิง ร้อยละ 10 – 15 เกิดจากความผิดปกติของการตกไข่ และยังมีอีกร้อยละ 10 – 15 ที่ตรวจไม่พบสาเหตุ ซึ่งในที่นี้จะเน้นถึงภาวะมีบุตรยากเฉพาะที่เกิดจากความผิดปกติทางฝ่ายชายเท่านั้น ภาวะมีบุตรยากเฉพาะที่เกิดจากความผิดปกติทางฝ่ายชายนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการที่น้ำอสุจิมีคุณภาพไม่ดี ทำให้ตัวอสุจิไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ได้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าปกติของน้ำอสุจิไว้ดังนี้ คือมีปริมาตรตั้งแต่ 2 มิลลิลิตรขึ้นไป มีความเป็นกรด-ด่างหรือ pH เท่ากับ 7.2 – 8.0 มีความเข้มข้นของตัวอสุจิตั้งแต่ 20 ล้านตัวต่อมิลลิลิตรขึ้นไปหรือมีจำนวนตัวอสุจิทั้งหมดตั้งแต่ 40 ล้านตัวขึ้นไปต่อการหลั่งอสุจิหนึ่งครั้ง ส่วนการเคลื่อนที่ของตัวอสุจินั้นจะต้องมีตัวอสุจิที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ร้อยละ 50 ขึ้นไป หรือมีตัวอสุจิที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างเร็วร้อยละ 25 ขึ้นไป การตรวจลักษณะของตัวอสุจิต้องพบตัวอสุจิที่ปกติร้อยละ 30 ขึ้นไป และการตรวจการมีชีวิตของตัวอสุจิต้องพบอสุจิที่มีชีวิตอย่างน้อยร้อยละ 50 ซึ่งจากเกณฑ์ดังกล่าวทำให้สามารถให้การวินิจฉัยความผิดปกติทางฝ่ายชายได้เป็น ภาวะเป็นหมัน คือไม่พบตัวอสุจิในน้ำอสุจิเลย และภาวะน้ำเชื้ออ่อน คือยังตรวจพบตัวอสุจิในน้ำอสุจิได้แต่มีปริมาณน้อย มีการเคลื่อนไหวน้อย มีจำนวนตัวอสุจิที่มีลักษณะปกติน้อย หรือมีความผิดปกติมากกว่าหนึ่งอย่าง สำหรับการรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยากซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางฝ่ายชายนั้น ทำได้โดยพยายามเพิ่มโอกาสให้อสุจิที่มีอยู่น้อยนั้นสามารถปฏิสนธิกับไข่ได้ เช่น การคัดเลือกตัวอสุจิที่มีคุณภาพดี แล้วทำการฉีดเข้าไปในโพรงมดลูก (intrauterine insemination; IUI) ซึ่งจะได้ผลก็ต่อเมื่อยังมีอสุจิที่เคลื่อนไหวดี ปริมาณเพียงพอ แต่ในรายที่อสุจิมีจำนวนน้อย ก็อาจจำเป็นต้องได้รับการรับการรักษาโดยการทำเด็กหลอดแก้ว (in vitro fertilization and embryo transfer; IVF-ET) หรือการทำเด็กหลอดแก้วร่วมกับการช่วยการปฏิสนธิโดยวิธีการฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่หรืออิกซี่ (intracytoplasmic sperm injection; ICSI) ส่วนในรายที่ตรวจไม่พบตัวอสุจิในน้ำอสุจิเลยนั้น อาจจะต้องมีการดูดตัวอสุจิจากท่อนำอสุจิส่วนต้น หรือที่อัณฑะ (surgical sperm recovery) ซึ่งอสุจิเหล่านี้จะไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ได้เอง จะต้องผ่านการทำเด็กหลอดแก้วร่วมกับการทำอิ๊กซี่เท่านั้น นอกจากนี้ในรายที่สาเหตุของความผิดปกติของคุณภาพของอสุจิเกิดจากความผิดปกติของหน่วยพันธุกรรมหรือโครโมโซม หรือในรายที่ตรวจไม่พบตัวอสุจิจากการดูดจากท่อนำอสุจิส่วนต้นหรือลูกอัณฑะ ในผู้ป่วยเหล่านี้ไม่สามารถที่จะรักษาโดยวิธีการทำอิ๊กซี่ได้ ซึ่งการผสมเทียมโดยใช้อสุจิจากผู้บริจาคจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยในกลุ่มนี้ให้สามารถมีบุตรได้ตามที่ต้องการ นอกจากนี้ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากการรักษาโดยวิธีการทำเด็กหลอดแก้วร่วมกับการทำอิกซี่นั้นต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง (จำนวนหลายหมื่นบาทต่อหนึ่งรอบของการรักษา และมีโอกาสประสบความสำเร็จเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น) ทำให้คู่สมรสหลายรายไม่สามารถที่จะได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้เนื่องจากมีปัญหาทางเศรษฐกิจ การรักษาด้วยวิธีการผสมเทียมซึ่งมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าหลายเท่าตัว จะสามารถช่วยเหลือให้ครอบครัวเหล่านี้สามารถมีทายาทได้ตามความต้องการ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ได้มีการให้บริการให้คำปรึกษา ตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาแก่คู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยากมาเป็นเวลานาน โดยได้เปิดคลินิกมีบุตรยากซึ่งให้บริการโดยแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ และมีคู่สมรสที่มีปัญหามารับการตรวจรักษาเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2543 ได้มีผู้มารับคำปรึกษาทางด้านมีบุตรยากเป็นจำนวนถึง 403 ราย ได้มีการตรวจน้ำอสุจิในคู่สมรสฝ่ายชาย 238 ราย ซึ่งในจำนวนนี้พบว่ามีความผิดปกติของน้ำอสุจิ 89 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 37 โดยมีอยู่ 19 รายที่ผลการตรวจพบว่าเป็นหมัน คือไม่พบตัวอสุจิในน้ำอสุจิเลย และอีกสองรายคู่สมรสฝ่ายชายเคยผ่านการทำหมันมาแล้ว ซึ่งในคู่สมรสเหล่านี้มีหลายรายที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยวิธีการผสมเทียม ทางโรงพยาบาลมหาราช ได้ตระหนักถึงความสำคัญนี้จึงได้ทำการจัดตั้งธนาคารอสุจิขึ้นในปี พ.ศ.2542 เพื่อทำการจัดหาอสุจิสำหรับใช้ในการรักษาด้วยวิธีการผสมเทียมแก่คู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยาก โดยทางธนาคารอสุจิได้มีการตั้งแนวทางปฏิบัติเพื่อที่จะทำการตรวจคัดกรองผู้บริจาค โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ โรคเอดส์ นอกจากนี้ทางธนาคารอสุจิยังได้ทำการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้แก่ โรคซิฟิลิส ตับอักเสบไวรัสบี และโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม คือโรคเลือดธาลัสซีเมีย ทั้งนี้เพื่อให้แน่ได้ว่า อสุจิที่จะนำมาใช้ในการรักษาคู่สมรสที่มีปัญหาจะมีความปลอดภัยจริงๆ ในการดำเนินการของธนาคารอสุจินั้น นอกจากจะได้รับการสนับสนุนด้านการดำเนินการจากภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์แล้ว ทางธนาคารอสุจิยังมีความต้องการที่จะรับผู้บริจาครายใหม่ๆ เพื่อให้มีจำนวนอสุจิเพียงพอต่อการที่จะนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหามีบุตรยากต่อไป จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ต้องการจะบริจาคอสุจิเพื่อช่วยเหลือคู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยาก ติดต่อกลับมาได้ที่ โครงการธนาคารอสุจิ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-5394-6438 ในวันและเวลาราชการ หรืออีเมล์มาที่ osreshth@mail.med.cmu.ac.th