Reproductive Endocrinology Clinic


ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาได้ให้บริการตรวจและรักษา แก่ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของต่อมไร้ท่อทางระบบสืบพันธุ์โดยแพทย์ที่มีความรู้ ความชำนาญ โดยให้บริการที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกหมายเลข 5 ชั้น 5 อาคารศรีพัฒน์ ในวันอังคาร และ วันพฤหัสบดี เวลา 13:00 น. ถึง15:00 น. หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-5394-5743 และ 0-5394-6642 ในวันและเวลาราชการ

สถานที่ตั้ง : ห้องตรวจผู้ป่วยนอกหมายเลข 5 ชั้น 5 อาคารศรีพัฒน์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
เวลาทำการ : วันอังคาร และ วันพฤหัสบดี เวลา 13:00 น. ถึง15:00 น.
ติดต่อ โทรศัพท์ 0-5394-5743 และ 0-5394-6642 ในวันและเวลาราชการ

 Infertility Clinic


ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาได้ให้บริการให้คำปรึกษา ตรวจและรักษา แก่คู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยาก โดยแพทย์ที่มีความรู้ ความชำนาญในด้านนี้ โดยให้บริการที่คลินิกมีบุตรยาก บริการที่ให้มีตั้งแต่ การตรวจหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากทั้งทางฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เช่น การตรวจคุณภาพของน้ำอสุจิ การตรวจหาความผิดปกติของการตกไข่ การเจาะท้องส่องกล้องเพื่อตรวจพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานและในโพรงมดลูก เป็นต้น ตรวจจนการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยวิธีต่างๆ อาทิเช่น การผ่าตัดในอุ้งเชิงกรานโดยวิธีจุลศัลยกรรม การกระตุ้นการตกไข่ การฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกหรือ IUI (intrauterine insemination) การทำกิ๊ฟท์ (GIFT; gamete intrafallopian transfer) การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF-ET ; invitro fertilization and embryo transfer) การฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่ หรืออิกซี่ (ICSI ; intracytoplasmic sperm injection) และการผสมเทียม ส่วนบริการอื่นที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยและคาดว่าจะเปิดให้บริการในอนาคต เช่น การตรวจวินิจฉัยก่อนการตั้งครรภ์ (PGD ; preimplantation genetics diagnosis) ของโรคที่พบได้บ่อย เช่น โรคเลือดธาลัสซีเมีย เป็นต้น

คู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยากสามารถมารับบริการได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกหมายเลข 5 ชั้น 5 อาคารศรีพัฒน์ ในวันอังคาร และ วันพฤหัสบดี เวลา 13:00 น. ถึง15:00 น. หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-5394-5743 และ 0-5394-6642 ในวันและเวลาราชการ

สถานที่ตั้ง : ห้องตรวจผู้ป่วยนอกหมายเลข 5 ชั้น 5 อาคารศรีพัฒน์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
เวลาทำการ : วันอังคาร และ วันพฤหัสบดี เวลา 13:00 น. ถึง15:00 น.
ติดต่อ โทรศัพท์ 0-5394-5743 และ 0-5394-6642 ในวันและเวลาราชการ

 

เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technologies หรือ ART)


คณะอนุกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
(เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันวันที่ 27 เมษายน 2547 หน้าที่ 10)

“เด็กหลอดแก้ว” หมายถึงเทคนิคช่วยการเจริญพันธุ์ที่มีการเก็บไข่ออกมานอกร่างกายของฝ่ายหญิง นำมาผสมกับตัวอสุจิของฝ่ายชายเพื่อให้เกิดตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ จากนั้นอีก 2-3 วันจึงนำตัวอ่อนใส่กลับเข้าในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้ฝังตัวและเจริญต่อไปเป็นทารกในครรภ์ สำหรับกิ๊ฟเป็นเทคนิคที่มีขั้นตอนคล้ายกับเด็กหลอดแก้วมาก กล่าวคือมีการกระตุ้นไข่เพื่อให้ได้ไข่หลายใบ ติดตามการเจริญเติบโตของไข่ และเก็บไข่ออกมานอกร่างกายของฝ่ายหญิง โดยใช้เข็มแทงผ่านทางช่องคลอด เหมือนกับการทำเด็กหลอดแก้วทุกประการ แต่หลังจากได้ไข่ออกมาแล้วจะนำไข่ที่เก็บได้ใส่คืนเข้าไปในท่อนำไข่พร้อมกับตัวอสุจิในทันที เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิภายในท่อนำไข่ของฝ่ายหญิง ในอดีตการทำกิ๊ฟได้รับความนิยมมากเพราะมีอัตราความสำเร็จสูงกว่าการทำเด็กหลอดแก้ว เนื่องจากไม่มีการเลี้ยงตัวอ่อนภายนอกร่างกายเลย แต่การทำกิ๊ฟได้รับความนิยมน้อยลงมาก เพราะในปัจจุบันอัตราการตั้งครรภ์ของกิ๊ฟและเด็กหลอดแก้วไม่ต่างกัน เนื่องจากเทคนิคในการเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการพัฒนาไปมาก จนถึงขั้นที่สามารถเลี้ยงตัวอ่อนนอกร่างกายจนถึงระยะฝังตัว (เรียกตัวอ่อนระยะ “บลาสโตซิส”) ซึ่งต้องใช้เวลาในการเพาะเลี้ยงนาน 5-6 วัน การทำกิ๊ฟยังมีข้อจำกัดที่ว่าฝ่ายหญิงจะต้องมีท่อนำไข่ปกติอย่างน้อย 1 ข้าง และในการนำไข่และตัวอสุจิกลับเข้าสู่ท่อนำไข่จะต้องมีการผ่าตัด เช่นการเจาะท้องส่องกล้อง ทำให้มีแผลเป็นและเจ็บตัวมากกว่าการทำเด็กหลอดแก้ว อย่างไรก็ตามการทำกิ๊ฟอาจมีที่ใช้อยู่บ้างในบางกรณีเช่น ในสถานที่ๆมีปัญหาในการเลี้ยงตัวอ่อน ในคู่สมรสบางรายที่ต้องการให้การปฏิสนธิเกิดขึ้นในร่างกายเพราะความเชื่อทางศาสนาหรือเหตุผลอื่น แนวโน้มในการทำกิ๊ฟลดลงเรื่อยๆในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่นในรายงานของสมาคมเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์แห่งสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1999 พบว่ามีการกระตุ้นไข่ทำกิ๊ฟเพียง 838 รอบ จากจำนวนรอบที่ทำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทั้งสิ้น 88,077 รอบ (0.95%) สำหรับตัวเลขในบ้านเราในปี พ.ศ. 2544 พบว่ามีการทำกิ๊ฟ 137 รอบหรือคิดเป็น 7.64% ของการทำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทั้งหมด

นอกจากกิ๊ฟและเด็กหลอดแก้วแล้ว ยังมีเทคนิคอื่นๆที่พัฒนาขึ้นมาอีกหลายวิธีเพื่อช่วยคู่สมรสที่มีบุตรยาก เช่นการฉีดตัวอสุจิเข้าผสมกับไข่ (อิกซี่) การเลี้ยงไข่อ่อนภายนอกร่างกายให้เจริญเป็นไข่ที่พัฒนาเต็มที่และพร้อมจะผสมกับตัวอสุจิ การเลี้ยงตัวอ่อนระยะบลาสโตซิส การแช่แข็งไข่ และชิ้นเนื้อจากรังไข่ การวินิจฉัยตัวอ่อนก่อนการย้ายฝากเข้าโพรงมดลูก ฯลฯ เทคนิคเหล่านี้ทั้งหมดปัจจุบันเรียกรวมๆว่า “เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์”

แรกเริ่มเมื่อมีการคิดค้นเทคนิคของเด็กหลอดแก้วนั้น ข้อบ่งชี้ในการทำก็จำกัดอยู่เพียงคู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยากเนื่องจากท่อนำไข่ตันทั้งสองข้าง ซึ่งท่อเสียหายมากเกินกว่าจะผ่าตัดแก้ไขได้หรือทำผ่าตัดแล้วแต่ไม่สำเร็จ แต่ในระยะต่อๆมาเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก จนมีความสำเร็จในเกณฑ์ค่อนข้างสูง ทำให้ข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยวิธีนี้ขยายวงกว้างออกไปมาก ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า ภาวะมีบุตรยากจากทุกสาเหตุล้วนเป็นข้อบ่งชี้ในการทำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทั้งสิ้น หากให้การรักษาด้วยวิธีธรรมดาแล้วไม่ได้ผล นอกจากใช้รักษาภาวะมีบุตรยากแล้วยังมีการนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มาใช้กับคู่สมรสมี่ไม่ได้มีปัญหามีบุตรยากด้วย ตัวอย่างเช่นคู่สมรสที่มีโรคทางพันธุกรรมในครอบครัว ดังเช่นโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย แทนที่จะปล่อยให้คู่สมรสตั้งครรภ์ แล้วค่อยมาทำการวินิจฉัยก่อนคลอด โดยการเจาะเลือดจากสายสะดือทารกเพื่อวินิจฉัยโรค และทำแท้งในกรณีที่พบว่าเด็กผิดปกติ คู่สมรสดังกล่าวก็มีอีกทางเลือกคือการมาทำเด็กหลอดแก้ว และตัดเซลล์จากตัวอ่อน 1-2 เซลล์ เพื่อนำมาวินิจฉัยโรคก่อนการฝังตัว หากพบว่าเป็นตัวอ่อนปกติจึงค่อนนำกลับไปย้ายฝากเข้าโพรงมดลูก

สถานที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ต้องได้รับใบอนุญาตจากแพทยสภา โดยมีข้อกำหนดว่าแพทย์ผู้รับผิดชอบจะต้องเป็นแพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตรทางด้านสูตินรีเวชจากแพทยสภา และมีทีมที่ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาลและนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ มีกรรมการควบคุมคุณภาพและจริยธรรม และอย่างน้อยต้องมีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ห้องผ่าตัดที่ใช้ในการเก็บไข่ เครื่องมือที่เกี่ยวกับการเตรียมอสุจิ ตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อน อุปกรณ์แช่แข็งตัวอ่อน และอุปกรณ์กู้ชีวิต ในปัจจุบันมีสถานบริการที่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินงานด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทั้งหมด 30 แห่ง โดย 20 แห่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร, 4 แห่งในหาดใหญ่, 3 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่, 2 แห่งในจังหวัดขอนแก่น และ 1 แห่งในจังหวัดอุดร ในจำนวนนี้มีเพียง 12 แห่งที่เป็นสถานบริการของรัฐ ที่เหลือ 18 แห่งเป็นสถานบริการของเอกชน ผู้ที่ต้องการทราบรายชื่อสถานบริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่อยู่ใกล้ตัวท่านสามารถสอบถามได้ที่ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย โดยทั่วไปแล้วสถานบริการดังกล่าวมักอยู่ในโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ทุกแห่ง และในโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ๆ

สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มีความแตกต่างกันได้มาก เราอาจแบ่งค่าใช้จ่ายได้เป็นส่วนย่อยๆ คือค่ายากระตุ้นไข่และค่าตามไข่, ค่าเก็บไข่และค่ายาระงับความรู้สึกในขณะเก็บไข่, ค่าเตรียมอสุจิ และทำให้เกิดการปฏิสนธิ, ค่าเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ ค่าใช้จ่ายในการย้ายตัวอ่อน และค่ายาที่ใช้ในการพยุงการตั้งครรภ์หลังการย้ายตัวอ่อน ซึ่งประมาณอย่างหยาบๆคงตกราว 50,000 – 100,000 กว่าบาท ขึ้นอยู่กับอายุของผู้รับบริการ เทคนิคช่วยการเจริญพันธุ์ที่ใช้ และสถานพยาบาลว่าเป็นของรัฐหรือเอกชน ตัวอย่างเช่นคนที่อายุน้อยจะไวต่อยากระตุ้นไข่ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการกระตุ้นไข่น้อยกว่าคนอายุมาก ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้อาจต่างกันได้เป็นหมื่นเพราะยามีราคาแพงมาก ถ้ามีการใช้เทคโนโลยีอย่างอื่นเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นด้วย เช่นถ้าอสุจิอ่อนจำเป็นต้องใช้วิธีจุลศัลยกรรมมาช่วยการปฏิสนธิก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มราว 7,000 – 10,000 บาท ถ้ามีตัวอ่อนเหลือเยอะต้องมีการแช่แข็งเก็บไว้ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มราว 5,000 – 10,000 บาท หรือถ้ามีการวินิจฉัยตัวอ่อนก่อนการย้ายฝากเข้าโพรงมดลูก ก็จะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกราว 40,000 บาทขึ้นไป ดังนั้นผู้รับบริการควรสอบถามและให้แพทย์ที่ดูแลรักษาช่วยประเมินค่าใช้จ่ายคร่าวๆให้ก่อนการตัดสินใจ

โดยเฉลี่ยแล้วอัตราความสำเร็จในการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์จะตกราว 30% ต่อการเก็บไข่แต่ละครั้ง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้มารับบริการด้วย กล่าวคือคนที่อายุน้อยกว่า 35 ปีอาจมีอัตราความสำเร็จสูงกว่านี้ในขณะที่คนอายุมากกว่า 35 ปีจะน้อยกว่านี้ และในคนที่อายุเกิน 40 ปีอาจมีอัตราความสำเร็จเพียง 20% หรือน้อยกว่า คนที่ไม่ตั้งครรภ์จากการรักษาครั้งแรกถ้ามาทำซ้ำก็จะมีอัตราการตั้งครรภ์เช่นครั้งแรก ดังนั้นถ้ามารับการรักษาจำนวนหลายครั้งก็จะมีโอการสตั้งครรภ์สะสมได้สูงขึ้น เช่น 60-70% ถ้ารับการรักษา 4 รอบ

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ แบ่งได้กว้างๆเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเกิดจากผลข้างเคียงของยา และจากภาวะที่รังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป กลุ่มที่สองเป็นผลข้างเคียงจากการทำหัตถการ เช่นการดมยาสลบ การเก็บไข่ การใส่ตัวอ่อนกลับเข้าโพรงมดลูก และสุดท้ายเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่นตั้งครรภ์แฝด ท้องนอกมดลูก ฯลฯ โดยทั่วไปแล้วภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยหากได้รับการดูแลจากแพทย์โดยใกล้ชิด สำหรับทารกที่คลอดจากกรรมวิธีช่วยการเจริญพันธุ์ ไม่พบว่ามีอัตราเสี่ยงที่จะมีความพิการหรือความผิดปกติสูงกว่าทารกที่คลอดโดยวิธีธรรมชาติ ถึงปัจจุบันมีทารกที่คลอดจากเทคนิคนี้แล้วมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก และในบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกามีทารกที่คลอดจากขบวนการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์สูงถึง 1 ใน 200 ของทารกแรกเกิดทั้งหมด ในสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สแกนดิเนเวีย และอิสลาเอลก็มีจำนวนมากกว่า 1 ใน 50 ของทารกแรกเกิดทั้งหมดในแต่ละปี สำหรับในบ้านเราน่าจะมีทารกคลอดจากขบวนการนี้ราว 500 รายต่อปี


แหล่งข้อมูล : สูตินรีแพทย์สัมพันธ์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 6 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2547 หน้า 9-10

Sperm Bank
ธนาคารอสุจิ


ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาได้จัดตั้งธนาคารอสุจิขึ้นในปี พ.ศ. 2542 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการเก็บรักษาอสุจิจากผู้บริจาคเพื่อใช้ในการรักษาคู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยากที่จำเป็นต้องได้รับการผสมเทียม โดยจะทำการตรวจคัดกรองโรคต่างๆที่อาจถ่ายทอดทางอสุจิโดยเฉพาะโรคติดเชื้อ เช่น โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสบี และโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ได้แก่ โรคเลือดธาลัสซีเมีย เพื่อให้การรักษาโดยการผสมเทียมมีความปลอดภัยสูง
นอกจากนี้ธนาคารอสุจิยังให้บริการรับแช่แข็งอสุจิให้คู่สมรสที่มีบุตรยากที่ฝ่ายชายมีความจำเป็นที่ไม่สามารถมาเก็บอสุจิตามวันที่กำหนดได้ และยังรับแช่แข็งอสุจิให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการฉายแสง หรือเคมีบำบัดที่อาจมีผลกระทบต่อการสร้างอสุจิในภายหลัง
คู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยากสามารถสอบถามรายละเอียดการให้บริการได้ที่คลินิกมีบุตรยาก ในวันอังคาร และ วันพฤหัสบดี เวลา 13:00 น. ถึง15:00 น. ส่วนผู้ที่สนใจจะบริจาคอสุจิสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-5394-5559 และ 0-5394-6438 ในวันและเวลาราชการ หรือ e-mail มาที่ osreshth@mail.med.cmu.ac.th

สถานที่ตั้ง : ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ชั้น 3 อาคารบุญสม มาร์ติน
เวลาทำการ : วันและเวลาราชการ
ติดต่อ โทรศัพท์ 0-5394-5559 และ 0-5394-66438 ในวันและเวลาราชการ

 ธนาคารอสุจิ (sperm bank) ทางเลือกสำหรับผู้มีบุตรยาก


ภาวะมีบุตรยาก หมายถึง การที่คู่สมรสไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ หลังจากที่อยู่ร่วมกันและมีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ได้คุมกำเนิดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ภาวะมีบุตรยากนี้แม้ว่าจะไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพทางกายมากเหมือนกับปัญหาด้านอื่นๆ แต่ก็มีผลกระทบอย่างมากต่อจิตใจของคู่สมรส และยังมีผลทางด้านสังคมอีกด้วย อุบัติการณ์ของภาวะมีบุตรยากเท่าที่มีรายงานในวารสารทางการแพทย์พบได้ร้อยละ 8.4 ถึง 21.5 ของคู่สมรสทั้งหมด โดยรายงานส่วนใหญ่จะพบประมาณร้อยละ 13 – 14 ของคู่สมรส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มประชากร ความแตกต่างทางสังคม และที่สำคัญคืออายุของคู่สมรสฝ่ายหญิง ส่วนสาเหตุของภาวะมีบุตรยากนั้นพบว่าร้อยละ 30 – 40 เกิดจากความผิดปกติของคู่สมรสฝ่ายชาย ร้อยละ 30 – 40 เกิดจากพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานของฝ่ายหญิง ร้อยละ 10 – 15 เกิดจากความผิดปกติของการตกไข่ และยังมีอีกร้อยละ 10 – 15 ที่ตรวจไม่พบสาเหตุ ซึ่งในที่นี้จะเน้นถึงภาวะมีบุตรยากเฉพาะที่เกิดจากความผิดปกติทางฝ่ายชายเท่านั้น ภาวะมีบุตรยากเฉพาะที่เกิดจากความผิดปกติทางฝ่ายชายนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการที่น้ำอสุจิมีคุณภาพไม่ดี ทำให้ตัวอสุจิไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ได้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าปกติของน้ำอสุจิไว้ดังนี้ คือมีปริมาตรตั้งแต่ 2 มิลลิลิตรขึ้นไป มีความเป็นกรด-ด่างหรือ pH เท่ากับ 7.2 – 8.0 มีความเข้มข้นของตัวอสุจิตั้งแต่ 20 ล้านตัวต่อมิลลิลิตรขึ้นไปหรือมีจำนวนตัวอสุจิทั้งหมดตั้งแต่ 40 ล้านตัวขึ้นไปต่อการหลั่งอสุจิหนึ่งครั้ง ส่วนการเคลื่อนที่ของตัวอสุจินั้นจะต้องมีตัวอสุจิที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ร้อยละ 50 ขึ้นไป หรือมีตัวอสุจิที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างเร็วร้อยละ 25 ขึ้นไป การตรวจลักษณะของตัวอสุจิต้องพบตัวอสุจิที่ปกติร้อยละ 30 ขึ้นไป และการตรวจการมีชีวิตของตัวอสุจิต้องพบอสุจิที่มีชีวิตอย่างน้อยร้อยละ 50 ซึ่งจากเกณฑ์ดังกล่าวทำให้สามารถให้การวินิจฉัยความผิดปกติทางฝ่ายชายได้เป็น ภาวะเป็นหมัน คือไม่พบตัวอสุจิในน้ำอสุจิเลย และภาวะน้ำเชื้ออ่อน คือยังตรวจพบตัวอสุจิในน้ำอสุจิได้แต่มีปริมาณน้อย มีการเคลื่อนไหวน้อย มีจำนวนตัวอสุจิที่มีลักษณะปกติน้อย หรือมีความผิดปกติมากกว่าหนึ่งอย่าง สำหรับการรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยากซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางฝ่ายชายนั้น ทำได้โดยพยายามเพิ่มโอกาสให้อสุจิที่มีอยู่น้อยนั้นสามารถปฏิสนธิกับไข่ได้ เช่น การคัดเลือกตัวอสุจิที่มีคุณภาพดี แล้วทำการฉีดเข้าไปในโพรงมดลูก (intrauterine insemination; IUI) ซึ่งจะได้ผลก็ต่อเมื่อยังมีอสุจิที่เคลื่อนไหวดี ปริมาณเพียงพอ แต่ในรายที่อสุจิมีจำนวนน้อย ก็อาจจำเป็นต้องได้รับการรับการรักษาโดยการทำเด็กหลอดแก้ว (in vitro fertilization and embryo transfer; IVF-ET) หรือการทำเด็กหลอดแก้วร่วมกับการช่วยการปฏิสนธิโดยวิธีการฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่หรืออิกซี่ (intracytoplasmic sperm injection; ICSI) ส่วนในรายที่ตรวจไม่พบตัวอสุจิในน้ำอสุจิเลยนั้น อาจจะต้องมีการดูดตัวอสุจิจากท่อนำอสุจิส่วนต้น หรือที่อัณฑะ (surgical sperm recovery) ซึ่งอสุจิเหล่านี้จะไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ได้เอง จะต้องผ่านการทำเด็กหลอดแก้วร่วมกับการทำอิ๊กซี่เท่านั้น นอกจากนี้ในรายที่สาเหตุของความผิดปกติของคุณภาพของอสุจิเกิดจากความผิดปกติของหน่วยพันธุกรรมหรือโครโมโซม หรือในรายที่ตรวจไม่พบตัวอสุจิจากการดูดจากท่อนำอสุจิส่วนต้นหรือลูกอัณฑะ ในผู้ป่วยเหล่านี้ไม่สามารถที่จะรักษาโดยวิธีการทำอิ๊กซี่ได้ ซึ่งการผสมเทียมโดยใช้อสุจิจากผู้บริจาคจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยในกลุ่มนี้ให้สามารถมีบุตรได้ตามที่ต้องการ นอกจากนี้ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากการรักษาโดยวิธีการทำเด็กหลอดแก้วร่วมกับการทำอิกซี่นั้นต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง (จำนวนหลายหมื่นบาทต่อหนึ่งรอบของการรักษา และมีโอกาสประสบความสำเร็จเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น) ทำให้คู่สมรสหลายรายไม่สามารถที่จะได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้เนื่องจากมีปัญหาทางเศรษฐกิจ การรักษาด้วยวิธีการผสมเทียมซึ่งมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าหลายเท่าตัว จะสามารถช่วยเหลือให้ครอบครัวเหล่านี้สามารถมีทายาทได้ตามความต้องการ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ได้มีการให้บริการให้คำปรึกษา ตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาแก่คู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยากมาเป็นเวลานาน โดยได้เปิดคลินิกมีบุตรยากซึ่งให้บริการโดยแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ และมีคู่สมรสที่มีปัญหามารับการตรวจรักษาเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2543 ได้มีผู้มารับคำปรึกษาทางด้านมีบุตรยากเป็นจำนวนถึง 403 ราย ได้มีการตรวจน้ำอสุจิในคู่สมรสฝ่ายชาย 238 ราย ซึ่งในจำนวนนี้พบว่ามีความผิดปกติของน้ำอสุจิ 89 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 37 โดยมีอยู่ 19 รายที่ผลการตรวจพบว่าเป็นหมัน คือไม่พบตัวอสุจิในน้ำอสุจิเลย และอีกสองรายคู่สมรสฝ่ายชายเคยผ่านการทำหมันมาแล้ว ซึ่งในคู่สมรสเหล่านี้มีหลายรายที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยวิธีการผสมเทียม ทางโรงพยาบาลมหาราช ได้ตระหนักถึงความสำคัญนี้จึงได้ทำการจัดตั้งธนาคารอสุจิขึ้นในปี พ.ศ.2542 เพื่อทำการจัดหาอสุจิสำหรับใช้ในการรักษาด้วยวิธีการผสมเทียมแก่คู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยาก โดยทางธนาคารอสุจิได้มีการตั้งแนวทางปฏิบัติเพื่อที่จะทำการตรวจคัดกรองผู้บริจาค โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ โรคเอดส์ นอกจากนี้ทางธนาคารอสุจิยังได้ทำการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้แก่ โรคซิฟิลิส ตับอักเสบไวรัสบี และโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม คือโรคเลือดธาลัสซีเมีย ทั้งนี้เพื่อให้แน่ได้ว่า อสุจิที่จะนำมาใช้ในการรักษาคู่สมรสที่มีปัญหาจะมีความปลอดภัยจริงๆ ในการดำเนินการของธนาคารอสุจินั้น นอกจากจะได้รับการสนับสนุนด้านการดำเนินการจากภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์แล้ว ทางธนาคารอสุจิยังมีความต้องการที่จะรับผู้บริจาครายใหม่ๆ เพื่อให้มีจำนวนอสุจิเพียงพอต่อการที่จะนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหามีบุตรยากต่อไป จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ต้องการจะบริจาคอสุจิเพื่อช่วยเหลือคู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยาก ติดต่อกลับมาได้ที่ โครงการธนาคารอสุจิ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-5394-6438 ในวันและเวลาราชการ หรืออีเมล์มาที่ osreshth@mail.med.cmu.ac.th