Cervical Insufficiency

Cervical insufficiency

พ.ญ. ปิยะธิดา ภุมรา


บทนำ

Cervical insufficiency หมายถึง ภาวะที่ปากมดลูกเปิดโดยที่ไม่ได้มีการเจ็บครรภ์เกิดขึ้นก่อน และทำให้เกิดการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ การที่ปากมดลูกมีโครงสร้างที่ผิดปกติ หรือไม่แข็งแรงพอที่จะสามารถทำให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปได้นั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดีกับทารกได้

การวินิจฉัยภาวะ Cervical insufficiency จะนำมาใช้กับหญิงตั้งครรภ์ที่เคยมีประวัติของการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนด อย่างน้อย 1-2 ครั้งที่ผ่านมา หรือหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไป ถึงแม้ว่าลักษณะโครงสร้างของปากมดลูกที่ผิดปกติหรือไม่แข็งแรงพอ จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนด แต่อันที่จริงแล้ว ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวร่วมด้วยได้ เช่น มีการอักเสบหรือติดเชื้อของรก มีเลือดออก หรือจากการที่มดลูกมีการยืดขยายมากเกินไป เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีของปากมดลูก ส่งผลให้ปากมดลูกเปิดและสั้นลงก่อนกำหนด ทำให้เกิดการแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนดได้ด้วยตัวของมันเอง จึงจำเป็นต้องทำการวินิจฉัยแยกภาวะดังกล่าวออกไปก่อนที่จะวินิจฉัยภาวะ Cervical insufficiency

อาการแสดงทางคลินิกที่ตรวจพบ

เราสามารถวินิจฉัยภาวะ Cervical insufficiency ได้จากการสืบค้นจากประวัติและการตรวจร่างกาย โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการซักประวัติและตรวจร่างกายมีดังต่อไปนี้

ประวัติการตั้งครรภ์ก่อน

ในหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยว่ามีภาวะ Cervical insufficiency มักจะมีประวัติสำคัญซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงอันได้แก่ ประวัติเคยแท้ง หรือมีการคลอดก่อนกำหนดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่มีประวัติการเจ็บครรภ์คลอดนำมา หรือมีการดำเนินการคลอดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในครรภ์ต่อมา

ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากปากมดลูกผิดปกติ

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Cervical insufficiency ที่เกิดจากปากมดลูกมีความผิดปกติเองนั้น อาจเกิดขึ้นเองตั้งแต่กำเนิด (congenital) หรือเกิดขึ้นทีหลัง (acquired) แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีสาเหตุมาจากการเกิดขึ้นภายหลังมากกว่า

ปากมดลูกที่มีความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

1. ความผิดปกติของคอลลาเจนบริเวณปากมดลูก (Collagen abnormalities) จากการศึกษาพบว่ากระบวนการ regulation ของ type I collagen ที่ผิดปกติอาจทำให้เกิดการบางตัวของปากมดลูกก่อนกำหนด (1,2) หรือโรคทางพันธุกรรมบางโรคที่มีผลทำให้คอลลาเจนในร่างกายผิดปกติ ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการคลอดก่อนกำหนดด้วยเช่น Ehler-Danlos syndrome เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาอธิบายได้ว่าเหตุใดจึงมีการเกิดภาวะ Cervical insufficiency ได้เหมือน ๆ กันในหญิงตั้งครรภ์ที่เกิดในครอบครัวเดียวกัน ตัวอย่างเช่นมีการศึกษาหนึ่ง พบว่า 27% ของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะ Cervical insufficiency มีญาติสายตรงที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะดังกล่าวเหมือนกัน แต่ในหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะนี้ ก็ไม่พบว่ามีประวัติของคนในครอบครัวที่มีภาวะ Cervical insufficiency เช่นกัน (2)

2. ความผิดปกติของมดลูกตั้งแต่กำเนิด ความผิดปกติของรูปร่างของมดลูกนั้นอาจมีผลทำให้เกิดปากมดลูกผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะ Cervical insufficiency ได้ (3) ดังจะเห็นได้ว่าความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นได้จากการที่มีความผิดปกติของรูปร่างของมดลูก เช่น การ canalization ผิดปกติในภาวะ septate uterus การ unification ผิดปกติในภาวะ bicornuate uterus หรือแม้แต่ใน arcuate uterus เป็นต้น (4)

3. ผลจากการที่เคยได้รับสาร Diethylstilbestrol (DES) การที่เคยได้รับสารนี้ตั้งแต่ในครรภ์มารดา ทำให้หญิงตั้งครรภ์ที่มารดาได้รับสารดังกล่าว มีความผิดปกติของมดลูกได้ ซึ่งในรายที่มีโพรงมดลูกผิดปกติก็มักจะมีปากมดลูกที่ผิดปกติด้วย ดังนั้นจึงอาจเกิดภาวะ Cervical insufficiency ได้เมื่อเติบโตขึ้นและตั้งครรภ์ (5) แต่สาเหตุจาก DES ในปัจจุบันพบได้น้อยลงเนื่องจากไม่มีการใช้ DES แล้ว ยกเว้นในรายที่อายุมากกว่า 40 ปีอาจจะเคยได้รับสารดังกล่าวในครรภ์มารดามาก่อนได้

4. ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological variation) ความยาวของปากมดลูกในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ในประชากรนั้น มีการกระจายในลักษณะของรูประฆังคว่ำ หรือ normal distribution ช่วงความยาวของปากมดลูกที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติคือ ที่ 10 เปอร์เซ็นไทล์ถึง 90 เปอร์เซ็นไทล์ อยู่ที่ 25-45 มิลลิเมตร ซึ่งความสั้นยาวของปากมดลูกนั้นไม่เท่ากันสืบเนื่องมาจากความหลากหลายทางชีวภาพของหญิงตั้งครรภ์แต่ละราย และบางรายก็เกิดจากการที่มีการบางตัวของปากมดลูกก่อนกำหนด อย่างไรก็ตามรายที่มีปากมดลูกสั้นก็มิได้หมายความว่าจะมีภาวะ Cervical insufficiency เสมอไป ในหญิงตั้งครรภ์บางรายที่ปากมดลูกสั้นก็อาจจะมาสามารถตั้งครรภ์ต่อได้จนครบกำหนดจึงจะคลอด

ปากมดลูกที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง อาจมีสาเหตุดังต่อไปนี้

1. มีประวัติของการฉีกขาดของปากมดลูกในการคลอดครั้งก่อน ไม่ว่าจะเป็นการฉีกขาดเองหรือจากการใช้หัตถการช่วยคลอด ได้แก่การใช้คีมช่วยคลอด การใช้เครื่องดูดสุญญากาศช่วยคลอด หรือแม้แต่ในกรณีที่ทำการผ่าตัดคลอด (6) ทำให้ต่อมาปากมดลูกไม่มีความแข็งแรงพอและทำให้เกิดภาวะ Cervical insufficiency ตามมา

2. มีประวัติการทำหัตถการที่ต้องมีการถ่างขยายปากมดลูก ในกรณีที่มีการทำหัตถการทางนรีเวชที่ต้องมีการถ่างขยายกับปากมดลูกอาจทำให้เกิดภาวะ Cervical insufficiency ได้ เช่น การขูดมดลูก (dilatation and curette หรือ dilatation and evacuation) การทำหัตถการเพื่อยุติการตั้งครรภ์ การส่องกล้องในโพรงมดลูก (hysteroscopy) เป็นต้น (7,8) ซึ่งในหญิงที่มีปากมดลูกสั้นลงแต่ไม่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดมาก่อน อาจจะต้องซักประวัติว่าเคยผ่านการทำหัตถการที่ทำให้เกิดการถ่างขยายของปากมดลูกมาก่อนด้วยหรือไม่ดังตัวอย่างที่ได้กล่าวมา ซึ่งพบว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเกิด Cervical insufficiency ในการศึกษาแบบ meta-analysis พบว่ายิ่งผ่านการทำหัตถการเพื่อยุติการตั้งครรภ์มากขึ้นเท่าใด ยิ่งมีความสัมพันธ์และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการคลอดก่อนกำหนดมากขึ้นเท่านั้น (8) การเกิดการฉีกขาดของปากมดลูกระหว่างการทำหัตถการนั้นสามารถป้องกันได้ด้วยการทำให้ปากมดลูกบางตัวและนุ่มลงก่อนด้วยการใช้ยา เช่น การใช้ misoprostal หรือ laminaria หรือการหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมือทำหัตถการมาใช้ยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์แทน (8,9)

3. ประวัติการรักษาภาวะ cervical intraepithelial neoplasia มักจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนดได้ เนื่องจากการรักษาที่ถือว่าเป็นมาตรฐานของภาวะดังกล่าวในปัจจุบัน คือการตัดปากมดลูกส่วนที่มีพยาธิสภาพออก ด้วยการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า (Loop electrosurgical excision procedure: LEEP) หรือการทำการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยโดยการทำ cold knife conization ซึ่งทำให้เนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกหายไป ทำให้ความแข็งแรงของปากมดลูกลดลง และเกิดการเปิดขยายของปากมดลูกก่อนกำหนด ซึ่งทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ (10,11)

อาการแสดง

หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะ Cervical insufficiency อาจจะไม่มีอาการหรือมีอาการแสดงเพียงเล็กน้อย เช่น ความรู้สึกปวดหน่วง ๆ ในอุ้งเชิงกราน หรือปวดคล้ายอาการก่อนเป็นประจำเดือน หรือมีตกขาวที่ผิดปกติ เช่นมีการเปลี่ยนสีจากใส หรือสีขาว เป็นสีชมพูหรือน้ำตาลออกกะปริดกะปรอย ความหนืดของมูกปากช่องคลอดลดลง ซึ่งเป็นอาการแสดงที่บอกว่าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของการบางตัวของปากมดลูก อาการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นอาการเตือนที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนเป็นเวลาหลายวันถึงหลายสัปดาห์ก่อนที่จะมีการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนดจริง และมักจะเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ 14 – 20 สัปดาห์

การตรวจร่างกาย

การตรวจร่างกายเบื้องต้นพบว่าปากมดลูกนุ่มและบางลง และอาจจะมีการเปิดขยายของปากมดลูก การเพิ่มความดันในอุ้งเชิงกราน การดันบริเวณยอดมดลูก หรือการทำ Valsava อาจทำให้มองเห็นส่วนของถุงน้ำคร่ำยื่นลงมาในปากมดลูก หรือในช่องคลอดได้ แม้ว่าจะมีโอกาสดังกล่าวไม่มากนักแต่ถ้าเห็นก็นับว่าเป็นสิ่งผิดปกติ ส่วนเรื่องของการหดรัดตัวของมดลูกนั้น ส่วนใหญ่จะพบว่าไม่มีการหดรัดตัวของมดลูกหรือมีเพียงเล็กน้อย การติดเครื่องมือเพื่อตรวจจับการหดรัดตัวของมดลูกอาจจะพบการหดรัดตัวได้แต่นาน ๆ มาครั้งและไม่สม่ำเสมอ ไม่มากเพียงพอที่จะอธิบายการเปิดและการบางตัวของปากมดลูกได้

อาการที่ตรวจพบส่วนใหญ่นั้นมักจะมาในระยะที่มีการดำเนินของปากมดลูกไปมากแล้ว ทั้งความบางของปากมดลูกและการเปิดขยายของปากมดลูก หรือแม้แต่มาตรวจพบในระยะที่มีส่วนของถุงน้ำคร่ำยื่นออกมา หรือมีการแตกของถุงน้ำไปแล้ว การตรวจพบว่ามีการติดเชื้อบริเวณปากมดลูก มีเลือดออกจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น มีรกเกาะต่ำ หรือเกิดการลอกตัวของรกจากโพรงมดลูก หรือภาวะครรภ์แฝดที่พบร่วมกันในหญิงที่มีภาวะ Cervical insufficiency ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดด้วยตัวเองโดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะ Cervical insufficiency จึงต้องพิจารณาแยกโรคออกไปด้วย

การตรวจด้วย Imaging

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการตรวจวัดความยาวของปากมดลูกด้วยการใช้คลื่นความถี่สูงทางช่องคลอด (Transvaginal ultrasound :TVU) ในหญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์แล้วพบว่ามีค่าต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นไทล์ คือ 25 มิลลิเมตรนั้น ถือว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการคลอดก่อนกำหนด (12-17) นอกจากนี้ การตรวจโดยการใช้คลื่นความถี่สูงทางช่องคลอดแล้วพบว่ามีการแยกตัวของชั้นถุงน้ำคร่ำกับโพรงมดลูกหรือพบว่ามี debris หรือ sludge ในน้ำคร่ำซึ่งบ่งชี้ว่าอาจมีการติดเชื้อซ่อนอยู่ ก็เป็นสัญญาณที่บอกว่าอาจจะเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน (18)

สำหรับการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงทางหน้าท้องนั้น The American College of Obstetricians and Gynecologists (the College) and the American Institute of Ultrasound in Medicine ได้แนะนำให้ทำการตรวจความยาวของปากมดลูกไปพร้อมกับการตรวจคัดกรองหาความผิดปกติแต่กำเนิด คือ ช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์ แต่การจะใช้คลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอดเพื่อตรวจคัดกรองในหญิงตั้งครรภ์ทุกรายอาจจะทำได้เฉพาะในสถาบันที่พร้อมที่จะสามารถทำการรักษาเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ เช่น พร้อมจะทำการเย็บผูกปากมดลูก (cervical cerclage) ได้เท่านั้น (19)

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ในขณะนี้ยังไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการใด ๆ ที่พบว่าผิดปกติในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะ Cervical insufficiency แต่ในกรณีที่คิดว่าภาวะดังกล่าว อาจจะเกิดจากการติดเชื้อในน้ำคร่ำซ่อนอยู่ ก็อาจจะทำการวินิจฉัยได้ด้วยการเจาะน้ำคร่ำออกมาตรวจ นอกจากนี้อาจจะพบว่าการตรวจ cervico-vaginal fetal fibronectin อาจจะให้ผลบวกได้

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยภาวะ Cervical insufficiency นั้นอาจใช้จากประวัติเรื่องปัจจัยเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์รายนั้น หรือใช้ร่วมกันทั้งจากประวัติและการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อวัดความยาวของปากมดลูกซึ่งน่าเชื่อถือมากกว่าการใช้แต่ประวัติอย่างเดียวมาวินิจฉัย โดยที่ถ้าใช้จากประวัติอย่างเดียวจะวินิจฉัยภาวะ Cervical insufficiency ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีปากมดลูกเปิดโดยที่ไม่มีภาวะการเจ็บครรภ์คลอดมาก่อน และทำให้มีการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนดที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ คือก่อนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์อย่างน้อย 2 ครั้งขึ้นไป ส่วนในหญิงตั้งครรภ์แรกหรือหญิงที่เคยตั้งครรภ์มาแล้วโดยที่ไม่เคยมีประวัติการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดมาก่อนจะวินิจฉัยภาวะ Cervical insufficiency ได้ก็ต่อเมื่อทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านทางช่องคลอดแล้วพบว่า ปากมดลูกมีความยาวน้อยกว่า 25 มิลลิเมตร หรืออาจจะใช้เกณฑ์การวินิจฉัยที่ได้จากการตรวจร่างกายแล้วพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ โดยที่เคยมีประวัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้คือ เคยมีการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดในช่วง 14-36 สัปดาห์อย่างน้อย 1 ครั้ง หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดภาวะ Cervical insufficiency ดังที่ได้กล่าวมาแล้วตอนต้น

การวินิจฉัยภาวะ Cervical insufficiency สามารถใช้กับหญิงที่ตั้งครรภ์เดี่ยวเท่านั้น ในครรภ์แฝดหรือครรภ์ที่มีทารกมากกว่า1 คนขึ้นไป การคลอดก่อนอายุครรภ์ 14-28 สัปดาห์ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่ปากมดลูกไม่แข็งแรงพอ นอกจากนี้การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หรือมีการติดเชื้อ มีเลือดออกจากรกเกาะต่ำ หรือภาวะที่มีรกลอกตัวก่อนกำหนดจะต้องได้รับการวินิจฉัยแยกโรคเหล่านี้ออกไปก่อนทุกครั้งด้วย เนื่องจากภาวะดังกล่าวจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารชีวเคมีบริเวณปากมดลูกแล้วทำให้เกิดการบางตัวลงของปากมดลูกจนทำให้เกิดการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดโดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะ Cervical insufficiency

การวินิจฉัยภาวะ Cervical insufficiency นั้น ไม่สามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะใช้วิธีการตรวจด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม แม้แต่การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging) หรือการฉีดสีเข้าไปในโพรงมดลูกก็เพียงได้แต่บอกถึงรูปร่างลักษณะของมดลูกที่อาจจะพบว่ามีความผิดปกติอันจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะ Cervical insufficiency แต่นั่นก็ไม่ใช่การวินิจฉัย

แนวทางการรักษา (Approach to management)

แนวทางการรักษาของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะ Cervical insufficiency อาจมีความแตกต่างกันแล้วแต่กรณี ในที่นี้จึงขอเสนอแนวทางการรักษาของหญิงตั้งครรภ์ในแต่ละกรณีดังนี้คือ

หญิงตั้งครรภ์ที่เคยมีประวัติการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนดมาก่อน

ในหญิงที่เคยมีประวัติการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนดมาก่อนถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีภาวะ Cervical insufficiency ดังนั้นในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปจึงควรได้รับการดูแลที่มากกว่าหญิงตั้งครรภ์รายอื่น ๆ ได้แก่การทำการเย็บผูกปากมดลูก หรือ การทำ Cervical cerclage โดยเกณฑ์การคัดเลือกหญิงตั้งครรภ์ที่จะมาทำการเย็บผูกปากมดลูกนั้นอาจใช้เกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. การคัดเลือกโดยการใช้ประวัติเป็นข้อบ่งชี้ในการทำ cervical cerclage

หญิงที่มีประวัติการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์มีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เกิดจากภาวะ Cervical insufficiency จากการที่ปากมดลูกมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดภายหลัง อย่างไรก็ตามภาวะดังกล่าวสามารถรักษาได้ด้วยการทำ cervical cerclage แม้ว่าจะใช้แต่ประวัติอย่างเดียวเป็นเกณฑ์การคัดเลือกโดยไม่ได้ทำการตรวจวัดความยาวของปากมดลูกจริง ๆ ก็ตาม ดังหลักฐานสนับสนุนที่ได้เคยมีการทำการศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งการศึกษาแบบ observational study และ randomized trials (20,21) ซึ่งได้แนะนำว่าควรมีการทำ cervical cerclage ในช่วงอายุครรภ์ 12-14 สัปดาห์ในหญิงตั้งครรภ์ที่เข้าเกณฑ์ดังนี้คือ

  1. มีการแท้งซ้ำอย่างน้อย 2 ครั้งติดต่อกันในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์หรือมีการคลอดก่อนกำหนดในช่วงอายุครรภ์ที่น้อยกว่า 34 สัปดาห์ 3 ครั้งขึ้นไป
  2. มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ cervical insufficiency เช่น เคยผ่านการตัดปากมดลูกเพื่อการรักษาหรือเคยมีการฉีกขาดของปากมดลูกในครรภ์ก่อน หรือในหญิงที่เคยคลอดมาแล้วและมีการดำเนินการคลอดที่เร็วกว่าปกติ
  3.  ได้รับการวินิจฉัยแยกโรคและภาวะอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เช่น มีการติดเชื้อ เลือดออกจากรก หรือในครรภ์แฝด เป็นต้น

 

นอกจากการทำ cervical cerclage ในหญิงตั้งครรภ์ที่เข้าเกณฑ์การคัดเลือกดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หญิงตั้งครรภ์นั้น ๆ จะได้รับการรักษาด้วยการให้ 17-alpha-hydroxyprogesterone caproate สัปดาห์ละ 1 ครั้งตั้งแต่อายุครรภ์ 16-36 สัปดาห์ด้วย (22,23) แม้ว่าที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาแบบ randomizes trials ที่สนับสนุนว่า ในหญิงที่ตั้งครรภ์ที่มีข้อบ่งชี้จากประวัติในการทำ cervical cerclage เมื่อรักษาร่วมกับการให้โปรเจสเตอโรนแล้วจะมีประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้นก็ตาม

2. การคัดเลือกหญิงตั้งครรภ์ที่ควรได้รับการตรวจติดตามความยาวของปากมดลูก และมีข้อบ่งชี้ในการทำ cervical cerclage จากการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เข้าข่ายสงสัยว่ามีภาวะ Cervical insufficiency แต่ยังไม่เข้าเกณฑ์การคัดเลือกเพื่อมาทำ cervical cerclage โดยข้อบ่งชี้จากประวัติ ในกรณีนี้จึงอาจจะเริ่มต้นด้วยการตรวจคัดกรองความยาวของปากมดลูกด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด ร่วมกับการให้17-alpha-hydroxyprogesterone caproate เพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด และทำ cervical cerclage เมื่อความยาวของปากมดลูกสั้นกว่า 25 มิลลิเมตร เนื่องจากมีหลักการและเหตุผลดังนี้

  1. มีหลักฐานว่าการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงแล้วพบว่าปากมดลูกสั้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการคลอดก่อนกำหนดชัดเจน (24)
  2. จากการทำ systemic review ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติการคลอดก่อนกำหนดโดยไม่ทราบสาเหตุพบว่า การวัดความยาวของปากมดลูกในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์นั้น สามารถใช้ทำนายความเสี่ยงของการเกิดการคลอดก่อนกำหนดซ้ำได้ โดยพบว่าการตรวจพบความยาวของปากมดลูกที่น้อยกว่า 25 มิลลิเมตรที่อายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์สามารถทำนายการคลอดก่อนอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ได้ โดย sensitivity เท่ากับ 65.4% และมี specificity เท่ากับ 75.5% มีค่า positive predictive value เท่ากับ 33% และมี negative predictive value ถึง 92% ยิ่งมีการสั้นลงของปากมดลูกมากเท่าไหร่ยิ่งสามารถทำนายได้แม่นยำมากขึ้นเท่านั้น (24)
  3. จากการศึกษาแบบ randomized trials พบว่า การให้โปรเจสเตอโรนเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนดเริ่มที่อายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติการคลอดก่อนกำหนดโดยไม่ทราบสาเหตุและให้ต่อเนื่องไปจนถึงอายุครรภ์ 36 สัปดาห์จะช่วยลดการเกิดการคลอดก่อนกำหนดซ้ำในครรภ์ต่อมาได้ (22,23)
  4. การทำ cervical cerclage ในรายที่ทราบแน่นอนแล้วว่ามีปากมดลูกสั้นกว่าปกติจากการทำคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอดมีประสิทธิภาพในการลดการเกิดการคลอดก่อนกำหนด (25) โดยดูได้จากผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์เมื่อเทียบกับในหญิงตั้งครรภ์ที่ได้ทำ cervical cerclage โดยใช้ประวัติเป็นข้อบ่งชี้ และวิธีดังกล่าวนี้สามารถจะลดการนำหญิงตั้งครรภ์ที่เข้าข่ายสงสัยภาวะ cervical insufficiency มาทำ cervical cerclage โดยไม่มีข้อบ่งชี้ได้ถึง 60% (26) ข้อดีของการทำ cervical cerclage นั้นก็คือทำให้ปากมดลูกแข็งแรงขึ้น (27) ช่วยป้องกันไม่ให้ถุงน้ำคร่ำยื่นลงมา และทำให้มีมูกที่ปากมดลูกคงอยู่ที่เดิมเพื่อป้องกันอีกชั้น
  5. จาก meta-analysis ของการศึกษาแบบ randomized trial ในหญิงตั้งครรภ์เดี่ยวและเคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดที่มีปากมดลูกสั้นกว่า 25 มิลลิเมตรก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ พบว่าช่วยลดอัตราการเกิดโรคและอัตราการตายของทารกแรกเกิดได้อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้เนื่องมาจากกว่า การทำ cervical cerclage สามารถลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดได้นั่นเอง (25)
  6. ใน meta-analysis ของการศึกษาแบบ randomized trial อีกฉบับหนึ่งที่ทำการศึกษาในหญิงตั้งครรภ์เดี่ยวและมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดที่ได้รับการดูแลโดย การตรวจคัดกรองความยาวของปากมดลูกและทำ cervical cerclage เมื่อพบว่าปากมดลูกสั้นลง หรือ ได้ทำ cervical cerclage โดยอาศัยข้อบ่งชี้จากประวัติ พบว่ามีอัตราการเกิดการคลอดก่อนกำหนดคือทั้งก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์และที่อายุครรภ์ก่อน 34 สัปดาห์ไม่แตกต่างกัน รวมถึงอัตราการตายของทารกแรกคลอดก็ไม่แตกต่างกัน (26)

การตรวจคัดกรองความยาวของปากมดลูกโดยทั่วไปจะเริ่มทำที่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ แต่อาจจะเริ่มก่อนตั้งแต่ 12 สัปดาห์ได้ในหญิงที่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดมาก ๆ ในไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ มีการแท้งซ้ำ หรือเคยผ่านการตัดปากมดลูกด้วยวิธีการ cold knife conization มาก่อน(28) ส่วนในหญิงที่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดในช่วงอายุครรภ์ 28-36 สัปดาห์ แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองในช่วงอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ตราบใดที่ปากมดลูกยังคงมีความยาวมากกว่า 30 มิลลิเมตร จะทำการตรวจซ้ำทุก ๆ 2 สัปดาห์เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ แต่ถ้าหากว่ามีการสั้นลงของปากมดลูกมาอยู่ในช่วง 25-29 มิลลิเมตร จะทำการตรวจคัดกรองเร็วขึ้นเป็นทุก ๆ 1 สัปดาห์ ทั้งนี้เนื่องจากคาดการณ์ไว้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกไปมากพอจนทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้หรือเกิดถุงน้ำคร่ำแตกรั่ว ภายใน 3-6 สัปดาห์หลังจากนั้น (29) สาเหตุที่ทำการตรวจวัดความยาวของปากมดลูกถึงแค่อายุครรภ์ 24 สัปดาห์นั้น เนื่องจากไม่นิยมทำ cervical cerclage ภายหลังอายุครรภ์ดังกล่าวแล้ว

ส่วนการให้โปรเจสเตอโรนนั้นจะให้ต่อไปจนถึงอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ แม้ว่าจะทำ cervical cerclage หรือไม่ก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาใดที่รายงานว่าผลของการตั้งครรภ์ในกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยการทำ cervical cerclage ร่วมกับการให้โปรเจสเตอโรนมีผลลัพธ์ที่ดีกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ แต่มีการศึกษาหนึ่งพบว่าอัตราการคลอดก่อนกำหนดมีแนวโน้มลดลงในกลุ่มที่ได้รับโปรเจสเตอโรนร่วมกับการทำ cervical cerclage ในหญิงตั้งครรภ์ที่ทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงแล้วพบว่าปากมดลูกสั้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว (30)

ล่าสุด The American College of Obstetricians and Gynecologists ได้ลงความเห็นว่าในหญิงตั้งครรภ์ที่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดมาก่อนควรได้รับโปรเจสเตอโรนระหว่างการตั้งครรภ์ และควรได้รับการตรวจวัดความยาวของปากมดลูกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอดตั้งแต่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ และเมื่อพบว่ามีความยาวของปากมดลูกน้อยกว่า 25 มิลลิเมตรก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ควรจะได้รับการรักษาด้วยการทำการเย็บผูกปากมดลูก (cervical cerclage) ซึ่งการรักษาดังกล่าวจะช่วยลดการคลอดก่อนกำหนดได้อย่างมีนัยยะสำคัญ (19)

หญิงตั้งครรภ์เดี่ยวที่ไม่มีประวัติของการคลอดก่อนกำหนด แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้การคลอดก่อนกำหนดได้

ในหญิงตั้งครรภ์กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด เช่น มีมดลูกที่ผิดปกติ เคยผ่านการผ่าตัดที่ปากมดลูกมาก่อน หรือเคยทำหัตถการเพื่อยุติการตั้งครรภ์ด้วยการถ่างขยายปากมดลูก ซึ่งได้มีความพยายามที่จะศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการคลอดก่อนกำหนดกับความยาวของปากมดลูกของหญิงตั้งครรภ์กลุ่มนี้ แต่ยังมีข้อมูลค่อนข้างจำกัด (31-33) อย่างไรก็ตามพบว่า อัตราการคลอดก่อนกำหนดในหญิงตั้งครรภ์ดังกล่าวมีความแตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษาขึ้นอยู่กับความยาวของปากมดลูกที่ใช้ในแต่ละอายุครรภ์ที่ทำการวัดความยาวของปากมดลูก (34) และขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาแบบ randomized trials เกี่ยวกับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์กลุ่มนี้

โดยทั่วไปในหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดเนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยง แต่ไม่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดมาก่อน ควรได้รับการตรวจทางช่องคลอดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อวัดความยาวของปากมดลูก 1 ครั้งระหว่างอายุครรภ์ 18-24 สัปดาห์ และทำการรักษาเมื่อพบว่า ปากมดลูกสั้นกว่า 20 มิลลิเมตร ด้วยการให้โปรเจสเตอโรนทางช่องคลอด (table2) ซึ่งจะช่วยลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดและช่วยลดอัตราการเกิดโรคและอัตราการตายในทารกแรกเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่อการรักษา (35-38)

หญิงตั้งครรภ์ที่พบว่าปากมดลูกสั้นที่อายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์โดยที่ไม่มีประวัติการคลอดก่อนกำหนดหรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดมาก่อน

หญิงตั้งครรภ์กลุ่มนี้คือว่าไม่เข้าตามเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะ Cervical insufficiency ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ก็พบว่ามีการคลอดก่อนกำหนดในหญิงตั้งครรภ์กลุ่มนี้ประมาณ 30% และแม้ว่าส่วนใหญ่จะคลอดครบกำหนดได้ แต่ก็มีหลักฐานจากการทำ randomized trials และคำแนะนำของ The American College of Obstetricians and Gynecologists ที่กล่าวว่าเมื่อตรวจทางช่องคลอดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงที่อายุครรภ์ 24 สัปดาห์หรือต่ำกว่า แล้วพบว่าปากมดลูกสั้นกว่า 20 มิลลิเมตร เมื่อได้รักษาด้วยการให้โปรเจสเตอโรนทางช่องคลอดก็สามารถจะลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดได้ (19,35,39,) ช่วยลดอัตราการเกิดโรคและอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดได้เช่นกัน โดยขนาดที่ให้ในการศึกษานี้คือ แบบ 90 mg gel หรือ 200 mg micronized แต่ไม่แนะนำให้ทำ cervical cerclage ในหญิงตั้งครรภ์กลุ่มนี้เนื่องจากว่ามีการศึกษาแล้วว่าไม่มีประโยชน์ในการลดการคลอดก่อนกำหนดได้ ดังจะเห็นได้จากการทำ meta-analysis โดยนำการศึกษาแบบ randomized trials ในหญิงตั้งครรภ์ที่มาตรวจแล้วพบว่าปากมดลูกสั้น โดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดอย่างอื่น แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มที่ได้ทำ cervical cerclage และไม่ได้ทำ cervical cerclage แล้วพบว่าไม่ได้ช่วยลดการคลอดก่อนกำหนดคือก่อน 35 สัปดาห์ (40) ส่วนในกลุ่มที่เป็นครรภ์แฝดพบว่าการทำ cervical cerclage ยิ่งทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด (40)

หญิงตั้งครรภ์ที่ตรวจร่างกายแล้วพบว่าปากมดลูกเปิดและเห็นถุงน้ำคร่ำที่ปากมดลูกที่อายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์

หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์ที่ตรวจร่างกายแล้วพบว่าปากมดลูกเปิดและมองเห็นถุงน้ำคร่ำที่ปากมดลูกโดยไม่มีอาการนั้นพบได้น้อยมาก ในกรณีอาจจะพบจากการทำคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอดแล้วพบว่าปากมดลูกสั้นมาก คือ น้อยกว่า 5 มิลลิเมตร การดูแลหญิงตั้งครรภ์ในกลุ่มนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีภาวะอื่นแทรกซ้อนที่ต้องให้คลอดในขณะนี้หรือไม่ เช่น มีการติดเชื้อ มีน้ำเดิน หรือเลือดออกมากทางช่องคลอด ถ้าหากไม่มีภาวะดังที่กล่าวมา สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อคืออายุครรภ์ในขณะนั้น และดูว่าปากมดลูกเปิดไปมากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นช่วงอายุครรภ์ที่ยังไม่สามารถจะเลี้ยงรอดได้ การรักษาจะมุ่งเน้นเพื่อยืดอายุครรภ์ให้ได้มากที่สุด แต่ในบางราย อาจเลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการแตกของถุงน้ำคร่ำแล้วหรือปากมดลูกเปิดมากกว่า 4 เซนติเมตร แต่ถ้าอายุครรภ์มากพอที่จะเลี้ยงรอดแล้ว เป้าหมายในการรักษาจะเป็นทั้งเพื่อยืดอายุครรภ์และให้ยาเพื่อช่วยให้ทารกสามารถคลอดแล้วอยู่รอดมากที่สุดเหมือนการรักษาในกลุ่มที่มีการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดทั่วไป

ในบางรายที่มีปากมดลูกเปิดมากและเห็นว่ามีถุงน้ำคร่ำยื่นลงมา ถือว่าเป็นข้อบ่งชี้จากการตรวจร่างกายในการทำ cervical cerclage จากการศึกษาพบว่าในหญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์และได้ทำ cervical cerclage สามารถที่จะยืดอายุครรภ์และช่วยให้ผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ดีขึ้นได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รักษาแบบเฝ้าดูอาการ (41-43) ซึ่งก็แตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษา อย่างไรก็ตามหญิงตั้งครรภ์กลุ่มนี้ต้องไม่มีการติดเชื้อซ่อนอยู่ ไม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดจริง และไม่มีเลือดออกทางช่องคลอดจึงจะมาทำวิธีนี้ได้

ในหญิงที่ไม่มีอาการแสดงของการติดเชื้อที่อื่น อาจจะให้ทำการเจาะเอาน้ำคร่ำมาตรวจเพื่อหาว่ามีการติดเชื้อซ่อนอยู่หรือไม่ เนื่องจากโอกาสที่จะมีการติดเชื้อในน้ำคร่ำจะมากขึ้นถ้าปากมดลูกเปิดมากกว่า 2 เซนติเมตร หรือทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงแล้วพบว่ามีถุงน้ำคร่ำหนา มีการแยกตัวของถุงน้ำคร่ำกับโพรงมดลูก หรือพบว่ามี sludge หรือ debris ในน้ำคร่ำ เนื่องจากเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อซึ่งจะนำมาสู่การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้ (18, 44, 45)

หญิงตั้งครรภ์ที่เคยทำ cervical cerclage แล้วประสบความสำเร็จในครั้งก่อน

แม้ว่าจะเคยทำ cervical cerclage แล้วประสบความสำเร็จสามารถคลอดเมื่อครบกำหนดได้ก็ไม่ได้หมายความว่า หญิงตั้งครรภ์ดังกล่าวมีภาวะ Cervical insufficiency จริงที่รักษาได้ด้วยการทำ cervical cerclage เพราะหลายครั้งที่พบว่าการที่ปากมดลูกบางตัวลงก่อนกำหนดก็ยังสามารถจะตั้งครรภ์ต่อไปได้แม้ว่าจะไม่ได้ทำ cervical cerclage เลยก็ตาม ดังจะเห็นได้จากมีการศึกษาแบบ randomized trial ที่พบว่า 60% ของหญิงที่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดหรือมีการแท้งซ้ำ ๆ ปากมดลูกก็ยังคงมีความยาวมากกว่า 25 มิลลิเมตร และไม่มีการอัตราการแท้งซ้ำหรือการคลอดก่อนกำหนดที่เพิ่มมากขึ้นแม้ว่าจะไม่ได้ cervical cerclage ก็ตาม (27,41,46-48) นอกจากนี้การทำ cervical cerclage ในรายที่เคยประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ที่ผ่านมา ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องทำทุกครั้งที่ตั้งครรภ์ด้วย

หญิงตั้งครรภ์ที่เคยทำ cervical cerclage ด้วยข้อบ่งชี้ที่ไม่ถูกต้องเท่าที่ควร โดยเฉพาะในกลุ่มที่แม้ว่าจะตัดปมที่ทำ cervical cerclage แล้วที่อายุครรภ์ 36-37 สัปดาห์ก็ยังไม่มีการเจ็บครรภ์คลอดภายใน 2 สัปดาห์ ถือว่าในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปก็ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ในการทำ cervical cerclage จากประวัติที่ว่าเคยทำมาก่อน แต่อาจจะแนะนำให้ทำการตรวจวัดความยาวของปากมดลูกเพื่อเป็นการคัดกรองแทน (26)

หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ประสบความสำเร็จจากการทำ cervical cerclage

การทำการผูกปากมดลูกจากทางหน้าท้อง (Transabdominal cerclage) อาจจะเป็นอีกวีธีที่นำมาใช้ในกรณีที่การทำ cervical cerclage แล้วไม่สำเร็จในหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนด

การรักษาด้วยวิธีอื่นที่พิสูจน์แล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรักษาภาวะ cervical insufficiency

การใช้เครื่องพยุง (Pessary) ทางช่องคลอด

การใช้เครื่องพยุงทางช่องคลอดจะทำให้แนวแกนของปากมดลูกเปลี่ยนแปลงและทำให้น้ำหนักของมดลูกออกจากแนวแกนของปากมดลูก จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าประโยชน์จากการใช้เครื่องพยุงดังกล่าวกับการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดยังไม่แน่นอน (49) เพราะขณะนี้ยังไม่มี randomized trials ที่เปรียบเทียบการรักษาด้วยเครื่องพยุงทางช่องคลอดกับการรักษาอื่น ๆ เช่นการเย็บผูกปากมดลูก (cervical cerclage) แต่ก็มีบางการศึกษาที่พบว่าประสิทธิภาพนั้นเทียบเท่ากับการทำ cervical cerclage เลยทีเดียว (50) แต่อย่างไรก็ตามยังมีรายงานเกี่ยวกับการใช้น้อยและยังไม่เป็นที่แนะนำให้มาใช้ในทางคลินิก

Indomethacin

จากการทบทวนข้อมูลจากการศึกษาแบบ randomized trial พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดแต่มีปากมดลูกสั้นกว่า 25 มิลลิเมตรขณะที่อายุครรภ์ 14-27 สัปดาห์ที่ได้รับ indomethacin เพื่อรักษาแต่ไม่ได้ทำการเย็บผูกปากมดลูก ไม่ได้ลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ แต่อาจจะลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์ (51) ถึงอย่างไรยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อประเมินความเสี่ยงและประสิทธิภาพในการรักษาด้วยวิธีนี้

การใช้ยาปฏิชีวนะ

ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่มากเพียงพอที่จะนำยาปฏิชีวนะมาใช้ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะ cervical insufficiency ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนด มีปากมดลูกสั้นที่พบว่ามีการเปิดของปากมดลูกแล้ว

การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน

ยังไม่มีการศึกษาที่ดีพอในเรื่องการจำกัดกิจวัตรประจำวันบางอย่าง เช่นการทำงาน ออกกำลังกาย การมีเพศสัมพันธ์ ว่ามีผลต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ยังคงไม่มีข้อมูลว่าสามารถทำได้อย่างปลอดภัยในหญิงที่คลอดก่อนกำหนดเนื่องจากมีปากมดลูกเปิดก่อนกำหนด (52) ดังนั้นจึงต้องพิจารณาเป็นราย ๆ แต่โดยทั่วไปแนะนำให้หลีกเลี่ยงในรายที่มีทั้งประวัติคลอดก่อนกำหนด และมีปากมดลูกสั้น

Summary and recommendations

  • ภาวะ cervical insufficiency คือการที่ปากมดลูกไม่มีความแข็งแรงมากพอทำให้เกิดการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนดได้ในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมักจะเกิดในไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์
  • ภาวะ cervical insufficiency อาจจะเกิดได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือจากภายหลัง หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดังกล่าว คือหญิงที่เคยผ่านการทำหัตถการ เช่น การขูดมดลูก การตัดปากมดลูก มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับความผิดปกติของ collagen หรือมีปากมดลูก หรือมดลูกที่ผิดปกติแต่กำเนิด
  • การวินิจฉัยภาวะ cervical insufficiency สามารถใช้ได้ทั้งประวัติเพียงอย่างเดียว หรือใช้ทั้งประวัติและการวัดความยาวของปากมดลูกโดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด โดยประวัติที่ชี้นำให้นึกถึงภาวะนี้ คือประวัติการคลอดก่อนกำหนดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์โดยที่มีปากมดลูกเปิดโดยไม่มีการเจ็บครรภ์คลอดนำมาก่อน ส่วนการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงวัดความยาวทางช่องคลอดจะวินิจฉัยเมื่อปากมดลูกมีความยาวน้อยกว่า 25 มิลลิเมตรหรือมีการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกจากการตรวจร่างกายก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ร่วมกับมีประวัติดังนี้คือ
    • มีการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดในช่วงอายุครรภ์ 14-36 สัปดาห์ หรือ
    • มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะ cervical insufficiency อยู่แล้ว
  • ในหญิงที่มีประวัติการแท้งอย่างน้อย 2 ครั้งขึ้นไป หรือคลอดก่อนกำหนดอย่างน้อย 3 ครั้งและมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด cervical insufficiency แนะนำให้ทำการเย็บผูกปากมดลูก (cervical cerclage) ได้เลยโดยอาศัยข้อบ่งชี้จากประวัติดังกล่าว
  • ในหญิงที่สงสัยภาวะ cervical insufficiency และมีภาวะคลอดก่อนกำหนดแต่ไม่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยโดยการใช้ประวัติเพื่อทำการเย็บผูกปากมดลูก (cervical cerclage) ควรได้รับการทำการคัดกรองวัดความยาวของปากมดลูกโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอดตั้งแต่อายุครรภ์ 14-16 สัปดาห์ และแนะนำให้ทำการเย็บผูกปากมดลูก (cervical cerclage) เมื่อปากมดลูกยากน้อยกว่า 25 มิลลิเมตรก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์
  • ในหญิงที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนดควรได้รับโปรเจสเตอโรนเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ต่อไป

REFERENCES

  1.  Iwahashi M, Muragaki Y, Ooshima A, Umesaki N. Decreased type I collagen expression in human uterine cervix during pregnancy. J Clin Endocrinol Metab 2003; 88:2231.
  2. Warren JE, Silver RM, Dalton J, et al. Collagen 1Alpha1 and transforming growth factor-beta polymorphisms in women with cervical insufficiency. Obstet Gynecol 2007; 110:619.
  3. Rackow BW, Arici A. Reproductive performance of women with müllerian anomalies. Curr Opin Obstet Gynecol 2007; 19:229.
  4. Chan YY, Jayaprakasan K, Tan A, et al. Reproductive outcomes in women with congenital uterine anomalies: a systematic review. Ultrasound Obstet Gynecol 2011; 38:371.
  5. Kaufman RH, Adam E, Hatch EE, et al. Continued follow-up of pregnancy outcomes in diethylstilbestrol-exposed offspring. Obstet Gynecol 2000; 96:483.
  6. Vyas NA, Vink JS, Ghidini A, et al. Risk factors for cervical insufficiency after term delivery. Am J Obstet Gynecol 2006; 195:787.
  7. Johnstone FD, Beard RJ, Boyd IE, McCarthy TG. Cervical diameter after suction termination of pregnancy. Br Med J 1976; 1:68.
  8. Shah PS, Zao J, Knowledge Synthesis Group of Determinants of preterm/LBW births. Induced termination of pregnancy and low birthweight and preterm birth: a systematic review and meta-analyses. BJOG 2009; 116:1425.
  9. Henriet L, Kaminski M. Impact of induced abortions on subsequent pregnancy outcome: the 1995 French national perinatal survey. BJOG 2001; 108:1036.
  10. Sjøborg KD, Vistad I, Myhr SS, et al. Pregnancy outcome after cervical cone excision: a case-control study. Acta Obstet Gynecol Scand 2007; 86:423.
  11. Albrechtsen S, Rasmussen S, Thoresen S, et al. Pregnancy outcome in women before and after cervical conisation: population based cohort study. BMJ 2008; 337:a1343.
  12. Taipale P, Hiilesmaa V. Sonographic measurement of uterine cervix at 18-22 weeks’ gestation and the risk of preterm delivery. Obstet Gynecol 1998; 92:902.
  13. Heath VC, Southall TR, Souka AP, et al. Cervical length at 23 weeks of gestation: prediction of spontaneous preterm delivery. Ultrasound Obstet Gynecol 1998; 12:312.
  14. Iams JD, Johnson FF, Sonek J, et al. Cervical competence as a continuum: a study of ultrasonographic cervical length and obstetric performance. Am J Obstet Gynecol 1995; 172:1097.
  15. Berghella V, Kuhlman K, Weiner S, et al. Cervical funneling: sonographic criteria predictive of preterm delivery. Ultrasound Obstet Gynecol 1997; 10:161.
  16. Hassan SS, Romero R, Berry SM, et al. Patients with an ultrasonographic cervical length < or =15 mm have nearly a 50% risk of early spontaneous preterm delivery. Am J Obstet Gynecol 2000; 182:1458.
  17. Rust OA, Atlas RO, Kimmel S, et al. Does the presence of a funnel increase the risk of adverse perinatal outcome in a patient with a short cervix? Am J Obstet Gynecol 2005; 192:1060.
  18. Kusanovic JP, Espinoza J, Romero R, et al. Clinical significance of the presence of amniotic fluid ‘sludge’ in asymptomatic patients at high risk for spontaneous preterm delivery. Ultrasound Obstet Gynecol 2007; 30:706.
  19. The American Collage of Obstetricians and Gynecologists. Incidentally detected short cervical length. Committee opinion no. 522. Obstet Gynecol 2012: 879-82
  20. Final report of the Medical Research Council/Royal College of Obstetricians and Gynaecologists multicentre randomised trial of cervical cerclage. MRC/RCOG Working Party on Cervical Cerclage. Br J Obstet Gynaecol 1993; 100:516.
  21. Iams JD, Berghella V. Care for woman with prior preterm birth. Am J Obstet Gynecol 2010; 203: 89
  22. da Fonseca EB, Bittar RE, Carvalho MH, Zugaib M. Prophylactic administration of progesterone by vaginal suppository to reduce the incidence of spontaneous preterm birth in women at increased risk: a randomized placebo-controlled double-blind study. Am J Obstet Gynecol 2003; 188:419.
  23. Meis PJ, Klebanoff M, Thom E, et al. Prevention of recurrent preterm delivery by 17 alpha-hydroxyprogesterone caproate. N Engl J Med 2003; 348:2379.
  24. Crane JM, Hutchens D. Transvaginal sonographic measurement of cervical length to predict preterm birth in asymptomatic women at increased risk: a systematic review. Ultrasound Obstet Gynecol 2008; 31:579.
  25. Berghella V, Rafael TJ, Szychowski JM, et al. Cerclage for short cervix on ultrasonography in women with singleton gestations and previous preterm birth: a meta-analysis. Obstet Gynecol 2011; 117:663.
  26. Berghella V, Mackeen AD. Cervical length screening with ultrasound-indicated cerclage compared with history-indicated cerclage for prevention of preterm birth: a meta-analysis. Obstet Gynecol 2011; 118:148.
  27. Owen J, Hankins G, Iams JD, et al. Multicenter randomized trial of cerclage for preterm birth prevention in high-risk women with shortened midtrimester cervical length. Am J Obstet Gynecol 2009; 201:375.e1.
  28. Berghella V, Talucci M, Desai A. Does transvaginal sonographic measurement of cervical length before 14 weeks predict preterm delivery in high-risk pregnancies? Ultrasound Obstet Gynecol 2003; 21:140.
  29. Iams JD, Cebrik D, Lynch C, et al. The rate of cervical change and the phenotype of spontaneous preterm birth. Am J Obstet Gynecol 2011.
  30. Berghella V, Figueroa D, Szychowski JM, et al. 17-alpha-hydroxyprogesterone caproate for the prevention of preterm birth in women with prior preterm birth and a short cervical length. Am J Obstet Gynecol 2010; 202:351.e1.
  31. Visintine J, Berghella V, Henning D, Baxter J. Cervical length for prediction of preterm birth in women with multiple prior induced abortions. Ultrasound Obstet Gynecol 2008; 31:198.
  32. Airoldi J, Berghella V, Sehdev H, Ludmir J. Transvaginal ultrasonography of the cervix to predict preterm birth in women with uterine anomalies. Obstet Gynecol 2005; 106:553.
  33. Berghella V, Pereira L, Gariepy A, Simonazzi G. Prior cone biopsy: prediction of preterm birth by cervical ultrasound. Am J Obstet Gynecol 2004; 191:1393.
  34. Berghella V, Roman A, Daskalakis C, et al. Gestational age at cervical length measurement and incidence of preterm birth. Obstet Gynecol 2007; 110:311.
  35. Hassan SS, Romero R, Vidyadhari D, et al. Vaginal progesterone reduces the rate of preterm birth in women with a sonographic short cervix: a multicenter, randomized, double-blind, placebo-controlled trial. Ultrasound Obstet Gynecol 2011; 38:18.
  36. DeFranco EA, O’Brien JM, Adair CD, et al. Vaginal progesterone is associated with a decrease in risk for early preterm birth and improved neonatal outcome in women with a short cervix: a secondary analysis from a randomized, double-blind, placebo-controlled trial. Ultrasound Obstet Gynecol 2007; 30:697.
  37. Cahill AG, Odibo AO, Caughey AB, et al. Universal cervical length screening and treatment with vaginal progesterone to prevent preterm birth: a decision and economic analysis. Am J Obstet Gynecol 2010; 202:548.e1.
  38. Werner EF, Han CS, Pettker CM, et al. Universal cervical-length screening to prevent preterm birth: a cost-effectiveness analysis. Ultrasound Obstet Gynecol 2011; 38:32.
  39. Fonseca EB, Celik E, Parra M, et al. Progesterone and the risk of preterm birth among women with a short cervix. N Engl J Med 2007; 357:462.
  40. Berghella V, Odibo AO, To MS, et al. Cerclage for short cervix on ultrasonography: meta-analysis of trials using individual patient-level data. Obstet Gynecol 2005; 106:181.
  41. Althuisius SM, Dekker GA, van Geijn HP, et al. Cervical incompetence prevention randomized cerclage trial (CIPRACT): study design and preliminary results. Am J Obstet Gynecol 2000; 183:823.
  42. Pereira L, Cotter A, Gómez R, et al. Expectant management compared with physical examination-indicated cerclage (EM-PEC) in selected women with a dilated cervix at 14(0/7)-25(6/7) weeks: results from the EM-PEC international cohort study. Am J Obstet Gynecol 2007; 197:483.e1.
  43. Daskalakis G, Papantoniou N, Mesogitis S, Antsaklis A. Management of cervical insufficiency and bulging fetal membranes. Obstet Gynecol 2006; 107:221.
  44. Espinoza J, Gonçalves LF, Romero R, et al. The prevalence and clinical significance of amniotic fluid ‘sludge’ in patients with preterm labor and intact membranes. Ultrasound Obstet Gynecol 2005; 25:346.
  45. Gorski LA, Huang WH, Iriye BK, Hancock J. Clinical implication of intra-amniotic sludge on ultrasound in patients with cervical cerclage. Ultrasound Obstet Gynecol 2010; 36:482.
  46. Guzman ER, Forster JK, Vintzileos AM, et al. Pregnancy outcomes in women treated with elective versus ultrasound-indicated cervical cerclage. Ultrasound Obstet Gynecol 1998; 12:323.
  47. To MS, Palaniappan V, Skentou C, et al. Elective cerclage vs. ultrasound-indicated cerclage in high-risk pregnancies. Ultrasound Obstet Gynecol 2002; 19:475.
  48. Groom KM, Bennett PR, Golara M, et al. Elective cervical cerclage versus serial ultrasound surveillance of cervical length in a population at high risk for preterm delivery. Eur J Obstet Gynecol Reprod Biol 2004; 112:158.
  49. Abdel-Aleem H, Shaaban OM, Abdel-Aleem MA. Cervical pessary for preventing preterm birth. Cochrane Database Syst Rev 2010; :CD007873.
  50. Acharya G, Eschler B, Grønberg M, et al. Noninvasive cerclage for the management of cervical incompetence: a prospective study. Arch Gynecol Obstet 2006; 273:283.
  51. Berghella V, Rust OA, Althuisius SM. Short cervix on ultrasound: does indomethacin prevent preterm birth? Am J Obstet Gynecol 2006; 195:809.
  52. Yost NP, Owen J, Berghella V, et al. Effect of coitus on recurrent preterm birth. Obstet Gynecol 2006; 107:793.

 

Read More

การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์

การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์
(Sexual Intercourse During Pregnancy)

วิทวัส เชยพันธ์


บทนำ

การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจ เชื่อมโยงกับประเพณีวัฒนธรรม, สังคม, ความเชื่อทางศาสนา การมีเพศสัมพันธ์ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพแข็งแรงเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าไม่ก่อให้เกิดอันตราย       หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ โดยส่วนใหญ่กังวลว่าจะเป็นอันจรายต่อทารกในครรภ์ การแท้ง และการมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด โดยตลอดการตั้งครรภ์ความกังวลในแต่ละช่วงแตกต่างกันออกไป ได้แก่

          ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ : มีความกังวลเรื่องการแท้งและอันตรายต่อทารกในครรภ์มากที่สุด

          ช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ : มีความกังวลเรื่องภาวะน้ำเดินก่อนการเจ็บครรภ์มากที่สุด

          ช่วงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ : มีความกังวลเรื่องการคลอดก่อนกำหนดมากที่สุด

ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์

1.การคลอดก่อนกำหนด

จากการศึกษาวิจัยยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์มีผลต่อการคลอดก่อนกำหนด หรือทำให้เกิดอาการเจ็บครรภ์คลอดในหญิงตั้งครรภ์สุขภาพดี การมีเพศสัมพันธ์ในระยะแรกของการตั้งครรภ์ไม่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการคลอดก่อนกำหนดซ้ำจากครั้งก่อน และการมีเพศสัมพันธ์ในระยะท้ายของการตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ ก่อนครบกำหนดคลอดไม่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ทั้งยังพบว่ามีการลดลงชองความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนดในช่วง 2 สัปดาห์ที่มีเพศสัมพันธ์

Fetal Fibronectin ใช้ในการตรวจเพื่อดูว่ามีโอกาสเกิดการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งมีความจำเพาะและความแม่นยำเป็นที่ยอมรับ การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์มีผลต่อระดับความเข้มข้นของ Fetal Fibronectin ในช่องคลอด ทำให้มีโอกาสเกิด false positive ในช่วง 72 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นควรซักประวัติการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลา 72 ชั่วโมง ก่อนการตรวจ และถ้าผลการตรวจเป็นบวกควรจะตรวจซ้ำ 92 ชั่วโมง หลังการมีเพศสัมพันธ์

2.การติดเชื้อ

การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการตั้งครรภ์ไม่มีผลต่อประสิทธิภาพการรักษาการติดเชื้อในช่องคลอดด้วย metronidazole ในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็น bacterial vaginosis or Tricomonas vaginalis

3.ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์

การมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นและท่าทางในการมีเพศสัมพันธ์ เช่น man on top ระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่มีผลต่อภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ ทั้งในหญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ก่อนกำหนดและครบกำหนดคลอด

4.ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด

การมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ไม่มีผลต่อภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด

5.ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์

มีการศึกษาวิจัยการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างตั้งครรภ์ ในหญิงตั้งครรภ์ 200 คน ทั้งการตั้งครรภ์เดียวและครรภ์แฝด ในช่วงอายุครรภ์ 24-30 สัปดาห์, 30-36 สัปดาห์ และหลังคลอด พบว่าในกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์ที่อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ มีการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์มากขึ้นกว่า 9 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์ที่น้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่การวิจัยนี้ยังมีปัจจัยรบกวนเกี่ยวหญิงตั้งครรภ์แฝด เพราะโดยทั่วไปหญิงตั้งครรภ์แฝดมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์อยู่แล้ว คาดว่าน่าจะมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไปอีก

6.การเจ็บครรภ์คลอด

การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการตั้งครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ครบกำหนดไม่มีผลต่อการเกิดอาการเจ็บครรภ์คลอด

7.การตกเลือดหลังคลอด

การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการตั้งครรภ์และการถึงจุดสุดยอดไม่มีผลต่อการตกเลือดหลังคลอด

8.ผลต่อทารกในครรภ์

การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการตั้งครรภ์และการถึงจุดสุดยอดไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ ได้แก่ ภาวะน้ำหนักแรกคลอดน้อย การสำลักขี้เทา การตายปริกำเนิด การนอนโรงพยาบาลของทารกหลังคลอด

จากการศึกษาวิจัยหลายๆอัน พบว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ ไม่มีผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ ได้แก่ การติดเชื้อในระบบสืบพันธ์ส่วนล่าง, การแท้ง, ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด และการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

 

จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประสบการณ์ทางเพศและกิจกรรมทางเพศในหญิงตั้งครรภ์ในไทยพบว่า

1.ความถี่ชองการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด

การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการตั้งครรภ์มีความถี่ลดลงตลอดการตั้งครรภ์ โดยมีการลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์เมื่อเทียบกับก่อนการตั้งครรภ์ ความถี่ชองการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดในช่วงไตรมาสที่สองใกล้เคียงกับไตรมาสแรก และจะมีการลดลงอย่างชัดเจนในไตรมาสที่สาม

มีการศึกษาพบว่าความถี่ชองการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดลดลงในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความต้องการทางเพศที่ลดลง และความกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์

2.ความต้องการทางเพศ

ความต้องการทางเพศลดลงตลอดการตั้งครรภ์เมื่อเทียบกับก่อนการตั้งครรภ์ โดยพบว่า

–   ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ : ผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ อาการแพ้ท้อง ความกลัวการแท้งและอันตรายต่อทารกในครรภ์

– ช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ : ผลจากการมีเลือดมาเลี้ยงบริเวณอุ้งเชิงการมากและอาการแพ้ท้องที่ดีขึ้น น่าจะทำให้หญิงตั้งครรภ์มีความต้องการทางเพศดีขึ้น แต่มีความความกังวลเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์คอยรบกวน

3.ความเสียว การถึงจุดสุดยอด และความพึงพอใจในการมีเพศสัมพันธ์

พบว่ามีการลดลงอย่างชัดเจนทั้งหมดตลอดการตั้งครรภ์

4.ท่าที่ใช้ในการร่วมเพศขณะตั้งครรภ์

หลักการโดยทั่วไปของท่าที่ใช้การร่วมเพศขณะตั้งครรภ์ที่ดี คือ

          ร่างกายอยู่ในท่าที่ผ่อนคลายและสบายทั้งคู่

          ทั้งคู่ควรหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักไปที่มดลูกหรือลงน้ำหนักทั้งตัวไปที่ท้องของหญิงตั้งครรภ์

          หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการนอนหงายหรือนอนตะแคงขวาเป็นเวลานาน

 

 

Spooning position เป็นท่าที่ค่อนข้างสบายเพราะไม่มีแรงกดบนหน้าท้องหญิงตั้งครรภ์และมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ ฝ่ายชายจะอยู่ทางด้านหลังของหญิงตั้งครรภ์และเลือกมุมในการสอดใส่ พยายามหลีกเลี่ยงการนอนตะแคงขวาหากเลือกใช้ท่านี้

                       http://www.menshealth.com/sex-position-playbook

 

Side by side position ท่านี้จะช่วยให้การสัมผัสระหว่างทั้งคู่มากกว่าท่า spooning แต่การจะสอดใส่ก็ต้องมีการพลิกแพลงเล็กน้อย โดยอาจต้องใช้ขาไขว้กันไปมาเพื่อช่วยในการสอดใส่ ท่านี้จะคล้ายท่า spooning ตรงที่

ไม่มีการกดน้ำหนักตัวลงบนหญิงตั้งครรภ์

                       http://www.menshealth.com/sex-position-playbook

 

 

 

 

 

 

 

Woman on top position ประโยชน์ของท่านี้คือฝ่ายหญิงกำหนดได้เองว่าต้องการให้เป็นไปในมุมไหน ลึกแค่ไหน แต่ยิ่งอายุครรภ์มากขึ้นอาจจะรู้สึกว่าท่านี้จะทำให้รู้สึกเหนื่อยมากขึ้น รวมถึงกรณีเรื่องการทรงตัว ซึ่งอาจจะทำให้หญิงตั้งครรภ์พอใจกับการอยู่ด้านล่างมากกว่า

                       http://www.menshealth.com/sex-position-playbook

 

 

 

 

 

 

 

Rear entry position เป็นท่าที่หญิงตั้งครรภ์คุกเข่าคลาน โดยฝ่ายชายจะสอดใส่จากทางด้านหลัง ประโยชน์ของท่านี้คือการสอดใส่จะไม่ลึกจนเกินไปและไม่มีการกดน้ำหนักตัวลงบนหญิงตั้งครรภ์ ท่านี้อาจจะใช้เมื่ออยู่บนเตียงหรือปรับร่วมกับท่าถัดไป

                       http://www.menshealth.com/sex-position-playbook

 

 

 

 

 

 

 

Edge of the bed position ท่านี้หญิงตั้งครรภ์จะอยู่บริเวณขอบเตียง โดยฝ่ายชายอยู่นอกเตียงซึ่งอาจจะคุกเข่าหรืออยู่ในท่ายืนก็ได้ และอาจจะใช้ร่วมกับท่า rear entry position ท่านี้ไม่มีการกดน้ำหนักตัวลงบนหญิงตั้งครรภ์เช่นกัน

                       http://www.menshealth.com/sex-position-playbook

 

จากการศึกษาวิจัยพบว่าท่า “man on top” ใช้มากที่สุดก่อนการตั้งครรภ์แต่เมื่ออยู่ในช่วงตั้งครรภ์จะมีการใช้ลดลง ช่วงการตั้งครรภ์ท่าที่เลือกใช้เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ ท่าที่ไม่มีการกดน้ำหนักตัวลงบนหญิงตั้งครรภ์ ได้แก่ side by side และ rear entry เหตุผลของการเปลี่ยนท่าที่ใช้ร่วมเพศช่วงตั้งครรภ์เนื่องจากรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป ท้องที่โตขึ้นทำให้การมีเพศสัมพันธ์ในท่า “man on top” ค่อนข้างลำบาก

 

 

 

 

 

 

การมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปากกับช่องคลอด (Oral-vaginal intercourse)

พบว่าบางครั้งก่อให้เกิดอันตราย จากการศึกษาวิจัยพบว่า การเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ในช่วงท้ายจาก Air embolism เป็นผลมาจากมีอากาศเข้าไปในช่องคลอดช่วงระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์กันโดยใช้ปากกับช่องคลอด 

สรุป

                แพทย์และทีมที่ให้การดูแลหญิงตั้งครรภ์มีหน้าที่ในการให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่หญิงตั้งครรภ์และสามีถึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการมีเพศสัมพันธ์ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ อาจเนื่องจากประเพณีวัฒนธรรมและความเคร่งครัดทางศาสนาเป็นสาเหตุให้หญิงตั้งครรภ์ไม่สะดวกที่จะถามเรื่องนี้กับแพทย์ขึ้นมาก่อน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะให้ข้อมูลเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ขึ้นมาก่อน

References

  1. Uwapusitanon W, Choobun T. Sexuality and Sexual Activity in Pregnancy. J Med Assoc Thai 2004; 87(Suppl 3): S45-9
  2. Senkumwong N, Chaovisitsaree S, Rugpao S, Chandrawongse W, Yanunto S. The Changes of Sexuality in Thai Women during Pregnancy. J Med Assoc Thai 2006; 89 (Suppl 4): S124-9
  3. Yost NP, Owen J, Berghella V, Thom E, Swain M. Effect of coitus on recurrent preterm birth. Obstet Gynecol 2006;107(4):793
  4. Grudzinskas JG, Watson C, Chard T. Does sexual intercourse cause fetal distress. Lancet 1979;2:692
  5. Sayle AE, Savitz DA, Thorp JM Jr, Hertz-Picciotto I, Wilcox AJ. Sexual activity during late pregnancy and risk of preterm delivery. Obstet Gynecol 2001;97:283
  6. Koichiro S, Kazumasa H, Takashi S, Fumitaka S, Yuji M. Effect of sexual intercourse on fetal fibronectin concentration in cervicovaginal secretions. Am J Obstet Gynecol 1998;179:255-6
  7. Vincenzo B, Mark K, Cora MP, Christopher C, John CH. Sexual intercourse association with asymptomatic bacterial vaginosis and Trichomonas vaginalis treatment in relationship to preterm birth.  Am J Obstet Gynecol 2002;187:1277-82
  8. Ekwo EE, Gosselink CA, Woolson R, Moawad A, Long CR. Coitus late in pregnancy risk of preterm rupture of amniotic sac membranes. Am J Obstet Gynecol 1993 ;168(1 Pt 1):22-31
  9. 9. Mills JL, Harlap S, Harley EE. Should coitus late in pregnancy be discouraged. Lancet 1981;2(8238):136
  10. 10. Tan PC, Yow CM, Omar SZ.  Coitus and orgasm at term: effect on spontaneous labour and pregnancy outcome. Singapore Med J 2009;50(11):1062
  11. 11. Reshma P, Laura BL, Omaima AS, Erika P. Effect of sexual intercourse on pregnancy outcomes. Am J Obstet Gynecol 2011;518:207
  12. 12. Reshma P, Laura BL, Omaima AS, Erika P. Relationship of sexual intercourse and pre-eclampsia. Am J Obstet Gynecol 2011;789:309
  13. 13. Read JS, Klebanoff MA. Sexual intercourse during pregnancy and preterm delivery effects of vaginal microorganisms The Vaginal Infections and Prematurity Study Group. Am J Obstet Gynecol 1993;168(2):514
  14. Bartellas E, Crane JM, Daley M, Bennett KA, Hutchens D. Sexuality and sexual activity in pregnancy. BJOG 2000;107(8):964-8
  15. Aronson ME, Nelson PK. Fatal air embolism in pregnancy resulting from an unusual sex act. Obstet Gynecol. 1967;30:127
  16. Bernhardt TL, Goldmann RW, Thombs PA, Kindwall EP. Oxygen treatment of cerebral air embolism from orogenital sex during pregnancy. Crit Care Med. 1988;16(7):729-30
Read More

Labor Pain Management

การระงับปวดจากการคลอด

พ.ญ. กมลนัทธ์ ประพันธ์วัฒนะ

อ.ที่ปรึกษา: ศ.น.พ. ธีระ ทองสง


การระงับปวดโดยไม่ใช้ยาและการใช้ยาสูดดม

a)      วิธีธรรมชาติ

i)        การช่วยเหลือปลอบโยน

การมีสามีหรือผู้ใกล้ชิดอยู่ใกล้ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง มีผลต่อความต้องการยาระงับปวด ลดการใช้ oxytocin หรือการใช้เครื่องมือช่วยคลอด แม้ว่าจะขาดการศึกษายืนยันที่น่าเชื่อถือ แต่การมีผู้ดูแลใกล้ชิดย่อมน่าจะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่า

ii)       การสัมผัสและการนวด

ยังมีการศึกษาไม่มากนัก แต่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยและมักเป็นที่พอใจของผู้ป่วย

iii)     การประคบร้อน

การประคบร้อนบริเวณหลังหรือบริเวณอื่นๆที่ผู้ป่วยต้องการ ทำให้เกิดความพึงพอใจและไม่ทำอันตราย แม้ว่าจะยังไม่มีผลการศึกษามารองรับก็ตาม

iv)     การใช้น้ำ

หมายถึงการอาบน้ำด้วยฝักบัว การแช่ในอ่างธรรมดาหรืออ่างน้ำวน เชื่อว่าจะทำให้รู้สึกผ่อนคลายและลดความปวดได้  Arid et al เคยทำการศึกษาถึงวิธีการคลอดในน้ำพบว่าทำให้ระยะการคลอดสั้นลง ลดความต้องการยาระงับปวด และเจ็บแผลฝีเย็บน้อยกว่า และอัตราการผ่าตัดคลอดมีน้อยกว่าด้วย

v)      การฝึกผ่อนคลาย

b)      การฝังเข็ม (acupuncture)

เป็นวิธีที่มีการใช้กันมายาวนานแต่ไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ในการระงับปวดจากการคลอด เชื่อว่ากลไกคือการกระตุ้นให้มีการหลั่ง endorphins ขึ้นในร่างกาย ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยออกมารองรับอย่างเพียงพอ และมีปัญหาเรื่องความชำนาญของผู้ฝังเข็มและการยอมรับของผู้ป่วยทำให้ยังไม่เป็นที่นิยมใช้แพร่หลาย

c)       การกระตุ้นปลายประสาท (Transcutaneous Electrical nerve stimulation TENS)

อาศัยทฤษฎี gate control theory of pain  โดยกระตุ้นเส้นประสาทขนาดโตด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าขนาดอ่อนๆกระตุ้นผ่านทาง electrode ที่ติดทางผิวหนังของผู้ป่วย แต่ Carroll et al ได้รายงานไว้ว่าการกระตุ้นปลายประสาทได้ผลในการควบคุมความเจ็บปวดไม่ต่างกับในกลุ่มควบคุม

d)      การสะกดจิต (hypnosis)

วิธีนี้ใช้ได้ในผู้ป่วยที่สะกดจิตได้เท่านั้น กลไกของวิธีนี้เชื่อว่าเป็นการกระตุ้นระบบประสาทที่ทำหน้าที่กดระบบประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการระงับปวด มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคจิต หรือโรคประสาท

e)      การใช้ยาสูดดม

การใช้สารระเหยเพื่อลดความเจ็บปวดจากการคลอดเริ่มมีใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1847 แต่เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างเมื่อมีการนำอีเทอร์มาใช้ในการระงับปวดถวายแด่พระราชินีวิคตอเรียในการประสูติเจ้าชายลีโอโปล์ดในปี ค.ศ.1853  ปัจจุบันการใช้ยาสูดดมเพื่อระงับปวดจากการคลอดไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนักเนื่องจากมีข้อขัดข้องหลายๆประการ ดังนี้ 1) ก่อให้เกิดมลภาวะจากการที่มีก๊าซหรือสารระเหยฟุ้งกระจายในห้องคลอด 2) จำเป็นต้องมีเครื่องมือเฉพาะ 3) ประสิทธิภาพอาจไม่ดีพอ 4) ผู้ป่วยจะมึนงง จำเหตุการณ์ต่างๆไม่ได้ 5) ผู้ป่วยอาจมีโอกาสหลับลึก หมดสติ และสำลักได้

Nitrous oxide : ปัจจุบันก็ยังมีการนำ nitrous oxide มาใช้ในการสูดดมเพื่อระงับปวด เนื่องจากสามารถระงับปวดได้ดีและไม่ทำให้หลับลึก โดยใช้nitrous oxide ความเข้มข้นห้าสิบเปอร์เซ็นต์ผสมในออกซิเจน จากการศึกษาพบว่าไม่ทำให้ทารกเกิด diffusion hypoxia , ไม่มีผลต่อการหดรัดตัวของมดลูก และไม่มีผลต่อออกซิเจนในเลือดของมารดา

Methoxyflurane (Pentrane) : สามารถระงับปวดได้ดีกว่าnitrous oxide แต่ไม่เป็นที่นิยมใช้แล้วเนื่องจากมี metaboliteที่เป็นพิษต่อตับและไต คือ inorganic fluoride

Enflurane (Ethrane), Isoflurane (Forane),Desflurane : ผลระงับปวดไม่ต่างจาก nitrous oxide และผลต่อทารกแรกคลอดก็ไม่ต่างกัน

การระงับปวดโดยใช้ยาฉีด

Anxiolytics เช่น Diazepam, Midazolam, Lorazepam ยากลุ่มนี้เมื่อให้ในขนาดน้อยๆจะทำให้ผู้ป่วยสงบ เมื่อให้ในขนาดสูงขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยหลับได้ สามารถบริหารยาได้ทั้งการกินและทางหลอดเลือดดำ ออกฤทธิ์โดยการเสริมฤทธิ์ของ GABA ช่วยยับยั้งการทำงานของระบบประสาทได้ ยาจะถูกทำลายได้ที่ตับ ปกติมีพิษค่อนข้างน้อย แต่สามารถเกิดการเสริมฤทธิ์กับยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางอื่นๆได้ มียาที่ช่วยแก้ฤทธ์ของ BDZคือ Flumazinilโดยจะไปแย่งจับกับ BDZ receptor แบบ competitive antagonist

Diazepam (Valium) ขนาดที่ใช้ 0.3-0.6 mg/kg ออกฤทธิ์ภายใน 2-3นาที มีค่าครึ่งชีวิต 21-37 ชั่วโมง แต่มี active metabolite ที่ออกฤทธิ์นาน 48-96 ชั่วโมง สามารถผ่านรกได้อย่างรวดเร็ว จนความเข้มข้นของยาในทารกอาจสูงได้

Midazolam (Dormicum) ขนาดที่ใช้ 0.15-0.4 mg/kg ออกฤทธิ์ภายใน 3นาที มีค่าครึ่งชีวิต 1-4 ชั่วโมง มีความแรงกว่า กiazepam ประมาณสามสี่เท่า แต่ metabolite ออกฤทธิ์สั้น ผู้ป่วยจึงตื่นได้เร็วกว่า และหลังจากตื่นจะจำเหตุการไม่ได้ สามารถผ่านรกได้แต่น้อยกว่า diazepam

 

Opioids (อนุพันธ์ของมอร์ฟีน) ยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นยาที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อเลียนแบบ opioid peptides โดยยาจะออกฤทธิ์ที่ opioid receptor ช่วยลดการเจ็บปวด ผู้ป่วยมักมีอาการเคลิ้มหลับ สงบ  แต่ยามีฤทธิ์กดการหายใจ ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน และท้องผูกได้ การใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้ดื้อยา และเสพย์ติดได้

การใช้ยาในกลุ่มนี้กับมารดาระยะเจ็บครรภ์เริ่มแรก อาจมีผลทำให้กล้ามเนื้อของมดลูกหย่อยตัวและปากมดลูกขยายตัวช้าลงได้ นอกจากนี้ยายังผ่านรกได้อย่างรวดเร็วและกดการหายใจของทารกได้ใน 2-3 ชั่วโมง

Morphine เป็นยาต้นแบบของยาในกลุ่มนี้ แต่นิยมใช้น้อยในทางสูติกรรมเนื่องจากสามารถกดการหายใจของทารกได้มากกว่ายาอื่นๆในกลุ่มเดียวกัน มีฤทธิ์แก้ปวดโดยเพิ่ม pain tolerance ที่ limbic system และเพิ่ม pain threshold ที่ thalamus นอกจากนี้การใช้ในขนาดที่สูงจะทำให้กดการหายใจและกดกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง ที่ประสาทส่วนปลายยังลดการทำงานของระบบทางเดินอาหารและเพิ่มการหลั่ง histamine ทำให้เกิดอาการแพ้ได้

Meperidine (Pethidine) เป็นยาแก้ปวดที่นิยมใช้ในทางสูติกรรม ออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า morphine แต่ออกฤทธิ์น้อยกว่าประมาณสิบเท่า ยาถูกทำลายที่ตับ ขับออกทางไต สามารถผ่านรกได้อย่างรวดเร็วและมีความเข้มข้นยาสูงกว่าในมารดา แต่กดการหายใจของทารกน้อยกว่า morphine ถ้าให้ภายในหนึ่งชั่วโมงก่อนการคลอด พบว่าไม่มีผลต่อการกดการหายใจของทารก ยาสามารถกระตุ้นการหลั่ง Histamine ในขนาดสูงได้

Fentanyl (Sublimaze) ออกฤทธิ์แรงกว่า morphine 50-100 เท่า สามารถผ่านรกได้อย่างรวดเร็ว แต่มีผลต่อการบีบตัวของมดลูกและมีผลกดการหายใจของทารกน้อยมาก

ตารางจาก William Obstetrics ฉบับพิมพ์ครั้งที่23 หน้า 446

Opioid antagonist

Naloxone (Narcan) ออกฤทธิ์ที่ opioid receptor ใช้ในขนาด 0.2-2 mg ในผู้ใหญ่ และ 10-20 ug/kg ในเด็ก ออกฤทธิ์เร็วใน 1-2 นาที และอยู่นานประมาณ 1-4 ชั่วโมง ยามีฤทธิ์สั้นกว่ายาในกลุ่ม morphine ดังนั้นการใช้ naloxone เพื่อแก้ฤทธิ์จึงต้องระวังการเกิด renarcotilization

การระงับปวดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่

ยาชาที่เหมาะสมสำหรับใช้ในการระงับปวดจากการคลอด คือ ยาชาที่ออกฤทธิ์เร็ว มีผลต่อพลังของกล้ามเนื้อน้อยและออกฤทธิ์อยู่ได้นานกว่า

Bupivacaine : เป็นยาชาในกลุ่มamine นิยมใช้ในการระงับปวดจากการคลอด เนื่องจากออกฤทธิ์เร็วโดยมีผลหย่อนกล้ามเนื้อน้อย ให้ในขนาดความเข้มข้น 0.0625%bupivacaine เมื่ออยู่ในช่วงแรกของการเจ็บครรภ์ หรือ 0.125%bupivacaine เมื่อเข้าสู่ช่วงหลังของการเจ็บครรภ์โดยนิยมใช้ร่วมกับ narcotics เช่น fentanyl

Lidocaine : อย่ในกลุ่ม amide ออกฤทธิ์สั้นกว่า bupivacaine มีผลต่อทารกไม่ต่างกับ bupivacaine

Chloroprocaine : อยู่ในกลุ่ม ester ออกฤทธิ์เร็วแต่สั้น ถูกทำลายในร่างกายมารดาอย่างรวดเร็ว มีโอกาสผ่านไปสู่ทารกน้อยมาก

Ropivacaine : กลุ่ม amide มีโครงสร้างใกล้เคียง bupivacaine แต่มีผลต่อการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อ มีผลต่อระบบการไหลเวียนของเลือดน้อยกว่า ให้ผลในการชาไม่ต่างกับ bupivacaine

ตารางจาก William Obstetrics ฉบับพิมพ์ครั้งที่23 หน้า 448

  • Epidural analgesia

ยอมรับกันว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ยาระงับปวดที่ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำหรือทางกล้ามเนื้อได้ และยังสามารถใช้ต่อหากต้องการผ่าตัดคลอดหรือทำหมันหลังคลอด

การออกฤทธิ์ คือ ออกฤทธิ์ระงับประสาท sympathetic ที่ออกจากมดลูกเข้าสู่ช่วงไขสันหลังระดับ T10-L1  ซึ่งรับความรู้สึกจากการหดรัดตัวของมดลูกและการขยายตัวของปากมดลูกในช่วงระยะที่หนึ่งของการคลอด และระดับ S2-3-4 ที่รับความปวดจากการกดทับอุ้งเชิงกรานของศีรษะทารกในช่วงระยะที่สองของการคลอด

ข้อบ่งชี้ เพื่อใช้ระงับอาการปวดจากการคลอดที่สำคัญคือ เมื่อมารดามีความรู้สึกปวดและต้องการระงับปวด โดยจะเริ่มใช้เมื่อเข้าสู่การเจ็บครรภ์จริง มีการบีบตัวของมดลูกสม่ำเสมอ และศีรษะทารกเข้าสู่ช่องเชิงกรานแล้ว หรือเมื่อปากมดลูกเปิด 4-5 ซม.ในครรภ์แรก และ 3-4 ซม.ในครรภ์ที่สอง

การใช้ epidural analgesia ยังช่วยให้การคลอดในกลุ่มที่ทารกมีปัญหาเป็นไปได้อย่างง่ายขึ้น เช่น ครรภ์แฝด ทารกท่าก้นและสามารถควบคุมความดันเลือดในผู้ป่วยครรภ์เป็นพิษ หรือควบคุมชีพจรที่เร็วจากความปวดในผู้ป่วยโรคหัวใจชนิด mitral valve ได้

ข้อห้าม

  1. ผู้ป่วยปฏิเสธ
  2. ขาดบุคลาการ/เครื่องมือที่เหมาะสม
  3. มีการติดเชื้อบริเวณตำแหน่งฉีดยาชา หรือติดเชื้อในกระแสเลือด
  4. มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด
  5. มีความผิดปกติของไขสันหลัง

ขั้นตอนการทำ

ตารางจาก William Obstetrics ฉบับพิมพ์ครั้งที่23 หน้า 455

 

ปัญหาต่างๆ

  1. ผู้ป่วยชาข้างเดียว : ให้ผู้ป่วยนอนตะแคงเอาข้างที่ชาน้อยลงแล้วเติมยาชาเท่าๆกับที่ให้ครั้งแรก
  2. ผู้ป่วยไม่หายเจ็บแม้ว่าระดับการชาจะเกิน T10-L1 : ความเข้มข้นของยาชาอาจไม่เหมาะสม  ให้เพิ่มปริมาณและความเข้มข้นของยาชามากกว่าเดิม
  3. เติมยาชาแล้วยังไม่หายเจ็บ : ตรวจว่าสายไม่ได้เข้าไปในหลอดเลือด ลองเปลี่ยนชนิดยาชา หรือลองเปลี่ยนสาย
  4. ระดับการชาขึ้นสูงมาก : ตรวจว่าสายไม่ได้เข้าไปใน subarachnoid ถ้าได้น้ำไขสันหลังให้เปลี่ยนให้ยาทาง spinal ถ้าไม่ได้ให้ลดปริมาณยาหรือใส่สายใหม่
  5. ผู้ป่วยเบ่งได้ไม่ดีในระยะเบ่งคลอด : ไม่ควรหยุดการให้ยาชา
  6. ความดันเลือดตก : หมายถึงความดันเลือดลดลงร้อยละ 25 ของความดันเลือดเดิม อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงรกน้อยลง ต้องตรวจสอบการเต้นของหัวใจทารกให้ดี สามารถป้องกันได้โดยการให้สารน้ำก่อนการฉีดยาชา 500ml หรือแก้ไขด้วยการให้ ephedrine 5-10 mg IV
  7. ฉีดยาชาเข้าหลอดเลือด
  8. แทงเข็มทะลุเยื่อ Dura : ทำให้มีอาการปวดศีรษะได้
  9. ฉีดยาชาเข้าช่อง spinal/subdural : ทำให้เกิด total spinal block ได้ เนื่องจากปริมาณยาชาที่ได้จะมากเกินไปกว่าปกติถึง 5 เท่า ผู้ป่วยจะหมดสติ ถึงหยุดหายใจได้ สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจสอบสายก่อนฉีดยาชา และการใช้ยาชาtest dose ก่อน หากเกิดขึ้นแล้วสามารถใส่ท่อช่วยหายใจและให้ยาช่วยการหดรัดตัวของหลอดเลือดได้ทัน ผลของมารดาและทารกจะออกมาเป็นที่น่าพอใจ
  10. การมีอุณหภูมิกายสูงขึ้น
  11. กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากเกินไป
  12. ปัสสาวะคั่ง
  13. การชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงนานผิดปกติ

ผลของการฉีดยาชาทาง epidural ต่อกระบวนการคลอด

ไม่มีผลต่อการคลอดในระยะที่หนึ่ง แต่จะเพิ่มระยะเวลาในการคลอดระยะที่สองเล็กน้อย รวมถึงไม่มีผลต่อการเพิ่มอัตราการผ่าตัดคลอดหรือการทำหัตถการช่วยคลอด และไม่พบว่ามีผลต่อทารกในช่วงหลังคลอด

  • Spinal block (subarachnoid)

การให้ยาชาทาง spinal เพียงอย่างเดียวนั้น มีข้อด้อยที่ระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นเกินไปเพียงแค่สองชั่วโมง ไม่เพียงพอต่อกระบวนการคลอด แต่ข้อดีคือ เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย และดูแลได้ง่ายกว่า epidural  เพียงแต่ต้องระวังเรื่องความดันเลือดตกมากในช่วง 15-20นาทีแรก

พบว่ามีผลทำให้ระยะเวลาในการคลอดยาวนานขึ้น เพิ่มอัตราการช่วยคลอดด้วยเครื่องมือ แต่ไม่พบว่าเพิ่มอัตราการผ่าตัดคลอด

  • Paracervical nerve block

เพื่อระงับความปวดที่ส่งผ่านจากมดลูก ปากมดลูก และช่องคลอดส่วนบนที่ผ่านมายัง paracervical ganglion (Frankenhauser’s ganglion) ก่อนที่จะออกไปสู่ sympathetic chain ที่ระดับ L2-3 เพื่อเข้าสู่ไขสันหลังระดับ T10-L1  การฉีดยาชาตำแหน่งนี้สามารถระงับความเจ็บปวดได้ในระยะที่หนึ่งของการคลอดเท่านั้น  แต่ก็เป็นวิธีระงับปวดที่ง่าย ออกฤทธิ์เร็ว ไม่มีผลรบกวนต่อกระบวนการคลอดและระบบไหลเวียนเลือดของมารดา

ทำได้โดยการฉีด 1%lidocaine 5-10ซีซี บริเวณด้านข้างของปากมดลูกที่ตำแหน่งสามและเก้านาฬิกา โดยระมัดระวังไม่ให้ฉีดยาเข้าสู่ศีรษะเด็ก และเฝ้าระวังการเกิดหัวใจทารกเต้นช้าลง ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการหดรัดตัวของ uterine artery หลังจากการฉีดยาชา

  • Lumbar sympathetic nerve block

ออกฤทธิ์เช่นเดียวกับการทำ paracervical nerve block แต่ทำที่ต่างตำแหน่งกัน ใช้ระงับปวดในช่วงระยะที่หนึ่งของการคลอดเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่นิยมใช้ เนื่องจากทำได้ยากและขั้นตอนการทำจะเจ็บ

  • Pudendal nerve block

นิยมใช้ในช่วงระยะที่สองของการคลอดเพื่อให้เกิดการชาของช่องคลอดส่วนล่างและฝีเย็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องการทำหัตถการช่วยคลอดต่างๆ ทำได้โดยการใช้เข็มนำ เช่น Iowa trumpet เพื่อฉีดยาชา ( 1%lidocaine หรือเทียบเท่า) โดยแทงเข็มผ่าน sacrospinous ligament (อยู่ทางด้านในและหลังต่อ ischeal spine) เพื่อเข้าสู่ pudendal canal ที่มี pudendal nerve ทอดผ่านอยู่ หลังการทำหัตถการที่สำเร็จการชาจะเกิดขึ้นภายในสามถึงสี่นาที วิธีนี้ภาวะแทรกซ้อนมีน้อยทั้งต่อมารดาและทารก ข้อควรระวังคือการฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือด

  • Perineum

การฉีดยาชาบริเวณฝีเย็บ ได้ผลเพียงแค่เพื่อการตัดฝีเย็บ (episiotomy) และการเย็บซ่อมแซมเท่านั้น ในการฉีดยาชาควรระวังการฉีดเข้าศีรษะทารก และให้ใช้ปริมาณยาที่น้อยที่สุด

  • Caudal block

เพื่อระงับความเจ็บปวดในระยะที่สองของการคลอดเช่นเดียวกับการทำ pudendal nerve block

การดมยาสลบเพื่อการผ่าตัดคลอด

การดมยาสลบเพื่อการผ่าตัดคลอดมักถูกเลือกใช้ในรายที่ด่วนมากๆ เช่น fetal distress, prolapsed cord หรือภาวะที่มีการเสียเลือดมากๆ เช่น placenta abruption หรือ placenta previa หรือภาวะที่มีข้อห้ามต่อการฉีดยาชาเฉพาะส่วนอื่นๆ ในกรณีที่สงสัยว่าจะใส่ท่อช่วยหายใจลำบากสามารถเลือกใช้ spinal anesthesia ได้โดยรวดเร็วพอกัน

ในกรณีที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ 24 สัปดาห์ขึ้นไปจะต้องคมยาสลบด้วยวิธี rapid sequence induction ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้

  1. ให้ออกซิเจนสูดดมตั้งแต่ย้ายขึ้นเตียงผ่าตัด
  2. ใช้ผ้าหนุนสะโพกขวาให้มดลูกเอียงไปทางซ้าย
  3. ตรวจดูทางเดินหายใจส่วนบนว่ามีปัญหาในการใส่ท่อช่วยหายใจหรือไม่
  4. ตรวจวัดความดันเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และระดับออกซิเจนในเลือด
  5. ดื่ม 0.3 M sodium citrate 30ml (สามารถเลือกเป็น Metoclopramide, Ranitidine หรือ Omeprazole)
  6. ให้ยานำสลบ เช่น Thiopental, Ketamine หรืออื่นๆ
  7. ผู้ช่วยกดกระดูกอ่อน cricoids ลงบนกระดูกสันหลังส่วนคอที่ 6 (Sellick’s maneuver)
  8. ให้ยาหย่อนกล้ามเนื้อที่ออกฤทธิ์เร็ว เช่น Succinylcholine 1-2 mg/kg โดยไม่ช่วยหายใจโดยการบีบลมเข้าปอด
  9. เมื่อกล้ามเนื้อหย่อนตัวดีแล้ว ให้ใส่ท่อช่วยหายใจขนาด 6.5-7.0 mm เป่าลมเข้า cuff ตรวจสอบตำแหน่งท่อช่วยหายใจ หากอยู่ในตำแหน่งดี ผู้ช่วยสามารถปล่อยมือจากกระดูกcricoids ได้
  10. ให้ดมสลบด้วย nitrous oxide 50% ในออกซิเจน ให้สารระเหยดมสลบ เช่น  Halothane, Isoflurane, Enflurane
  11. ให้ยาหย่อนกล้ามเนื้อชนิด nondepolarizing ที่ออกฤทธิ์สั้น เช่น atracurium  หรือ pancuronium
  12. เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วรอให้หายใจดี ตื่นดีก่อนจึงถอดท่อช่วยหายใจออก

ยาที่ใช้ในการดมยาสลบ

Thiopental : ปกติให้ในขนาด 4 mg IV ปลอดภัยและมีผลข้างเคียงน้อย แม้ว่าจะมีผลกดการทำงานของหัวใจและมีผลขยายหลอดเลือด ควรระวังในผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือขาดน้ำ สามารถผ่านรกได้รวดเร็วถึง umbilical vein ใน 30 วินาที มีผลกดทารกน้อยถ้าให้ไม่เกิน 8 mg/kg

Ketamine : มีผลเพิ่มการหดรัดตัวของหลอดเลือด เพิ่มการขยายของหลอดลม ทำให้เหมาะในผู้เป็นหอบหืด หรือมีภาวะขาดน้ำ ข้อเสียคือ มักมีอาการประสาทหลอนได้ ผลต่อทารกไม่ต่างกับใน thiopental

Propofol : ออกฤทธิ์เร็วและตื่นเร็วเนื่องจากถูกทำลายเร็วที่ตับ สามารถผ่านรกได้ ให้ผลต่อ APGAR ไม่ต่างจาก thiopental

Etomidate : มีผลต่อการไหลเวียนโลหิตน้อย นิยมนำมาใช้ในกรณีที่ไม่ต้องการผลกระทบต่อการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต เช่นในผู้ป่วยโรคหัวใจ มีผลกดทารกน้อยกว่า thiopental

Midazolam : มีผลรบกวนระบบไหลเวียนโลหิตไม่มาก แต่สามารถผ่านรกได้รวดเร็ว

Succinylcholine (depolaizing muscle relaxant) : ผ่านรกได้น้อยมาก ไม่มีผลต่อกล้ามเนื้อของทารก

Nonepolaring muscle relaxant : มีโมเลกุลขนาดใหญ่ ผ่านรกได้น้อยมาก ไม่ผลต่อทารก

ยาดมสลบ ปัจจุบันที่นิยมใช้กัน ได้แก่ sevoflurane, desflurane, isoflurane โดยปกติใช้ในขนาดต่ำๆร่วมกับ nitrous oxide หากใช้ในขนาดสูงๆมีผลให้เกิดการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อมดลูกได้มาก

การเลือกวิธีระงับความรู้สึกสำหรับการผ่าตัดคลอด

การเลือกวิธีระงับความรู้สึกสำหรับการผ่าตัดคลอดขึ้นอยู่กับความฉุกเฉินของการผ่าตัด ความพอใจของผู้ป่วย วิจารณญาณของวิสัญญีแพทย์และสูติแพทย์

  • การระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน

ข้อดี

  1. หลีกเลี่ยงการสำลัก
  2. หลีกเลี่ยงการใส่ท่อช่วยหายใจ
  3. มารดามีส่วนร่วมในการคลอด
  4. สะดวก หากเป็นวิธีที่ผู้ป่วยได้รับอยู่แล้ว
  5. สามารถเปลี่ยนแปลงได้
  6. วิธีทำง่ายกว่า
  7. สามารถให้การระงับปวดหลังการผ่าตัดต่อได้
  8. เหมาะสมกับมารดาที่มีโรคหรือความผิดปกติบางชนิด เช่น เบาหวานม ครรภ์แฝด หรือ มีความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือดระหว่างมดลูกกับรก (uteroplacental insufficiency)
  9. ต้นทุนต่ำกว่า

ข้อเสีย

  1. การเปลี่ยนแปลงของความดันเลือด
  2. ความพึงพอใจของผู้ป่วย
  3. การชาไม่เพียงพอ หรือหมดฤทธิ์เร็ว
  4. Post dural puncture headache
  5. อาการแทรกซ้อนทางระบบประสาท
  6. อาการแทรกซ้อน
  7. ความล้มเหลวในการใส่สายcatheter
  • การระงับความรู้สึกแบบทั่วไป

ข้อดี

  1. สามารถระงับความรู้สึกผู้ป่วยพร้อมรับการผ่าตัดได้เร็ว
  2. ไม่ทำให้ความดันเลือดตก
  3. ใช้ในรายที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  4. สามารถให้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง

ข้อเสีย

  1. เสี่ยงต่อการสำลัก
  2. เสี่ยงต่อการใส่ท่อช่วยหายใจยากหรือใส่ไม่ได้เลย
  3. ใช้ยาหลายชนิด
  4. เสียเลือดมากกว่า
  5. อัตราตายสูงกว่า
  6. ผลต่อทารก

อาจกล่าวได้ว่ายังไม่มีวิธีระงับความรู้สึกใดที่ดีพร้อมสำหรับการผ่าตัดคลอดทุกราย จึงต้องมีวิธีการเลือกตามข้อดีข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป โดยมีหลักการ ดังนี้

  1. ควรเป็นวิธีที่มารดาปลอดภัยและพึงใจ
  2. ควรเป็นวิธีที่ไม่มีผลเสียต่อทารก
  3. ควรเป็นวิธีที่สูติแพทย์สามารถผ่าตัดได้สะดวก
  4. ควรเป็นวิธีที่วิสัญญีแพทย์มีความรู้ความชำนาญเพียงพอ

References

  1. Braveman F. Obstetric and Gynecologic anesthesia. Hines R, editor.: Elsevier Mosby; 2006.
  2. Eltzschig H, Lieberman E, Camann W. Regional Anesthesia and Analgesia for Labor and Delivery. The New England Journal of Medicine. 2003 january 23, 2003;348(4).
  3. Pharmacologic management of pain during labor and delivery [database on the Internet]. 2011 [cited. Available from: www.uptodate.com.
  4. Anesthesia for cesarean delivery [database on the Internet]. 2011 [cited. Available from: www.uptodate.com.
  5. Hawkins J. Epidural Analgesia for Labor and Delivery. The New England journal of medicine. 2010 april 22, 2010;362(16).
  6. Preparation for labor and childbirth [database on the Internet]. 2011 [cited. Available from: www.uptodate.com.
  7. Nonpharmacological approaches to management of labor pain [database on the Internet]. 2010 [cited. Available from: www.uptodate.com.
  8. Pudendal and paracervical block [database on the Internet]. 2009 [cited. Available from: www.uptodate.com.
  9. พิศลยบุตร ช, วิจิตรเวชไพศาล พ. ตำราวิสัญญีวิทยาทางสูติกรรม. 1 ed.: P.A. living; 2543.
Read More

Dermatoses of Pregnancy

Dermatoses of Pregnancy

พ.ญ. เกื้อหนุน บัวไพจิตร


ผิวหนังจะเป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงสรีระวิทยาของการตั้งครรภ์เช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ ทำให้จึงเกิดโรคผิวหนังที่มีความจำเพาะได้ในคนตั้งครรภ์ โดยเราจะเรียกลักษณะผิดปกติทางผิวหนังที่เกิดขึ้นเฉพาะในคนตั้งครรภ์และหลังคลอดว่า “Dermatoses of pregnancy”

กลุ่มอาการที่พบบ่อยได้แก่[1-3]

  • Pruritic urticarial papules and plaques of pregnancy
  • Prurigo of pregnancy
  • Pruritic folliculitis of pregnancy
  • Pustular psoriasis of pregnancy
  • Pemphigoid gestationis

 

PUPPP

Pruritic urticarial papules & Plaques of pregnancy หรือย่อว่า PUPPP อาจเรียกอีกแบบได้ว่า Polymorphic eruption of pregnancy (PEP) (เป็นคำเรียกในประเทศอังกฤษ) [3, 4]

Incidence

PUPPP เป็นรอยโรคทางผิวหนังที่พบได้บ่อยและจำเพาะที่สุดสำหรับหญิงตั้งครรภ์ พบได้ 1:160 – 1:300 ของสตรีตั้งครรภ์[4, 5] โดยสามในสี่เป็นสตรีที่ไม่เคยตั้งครรภ์มาก่อน และจะพบเพิ่มขึ้น 8-12 เท่าในการตั้งครรภ์แฝด(พบได้ 8:200 ของสตรีที่ตั้งครรภ์แฝด)[7] เชื่อว่าเกิดจากการเพิ่มขึ้นของความดันในช่องท้อง หรือเกิดจากการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนในระดับสูง

Clinical manifestations and diagnosis

การวินิจฉัย PUPPP อาศัยประวัติ และลักษณะจำเพาะของโรคที่ตรวจพบจากการตรวจร่างกายเป็นหลัก

ลักษณะจำเพาะคือ “erythematous papules within striae” โดยจะเริ่มเกิดบริเวณ striae ที่บริเวณหน้าท้องก่อน (ยกเว้นช่วงรอบสะดือ) จากนั้นจึงจะมีการกระจายของรอยโรคไปยังแขนขา และจะมีการรวมตัวกันเป็น urticarial plaques (hives) มักจะไม่เกิดบริเวณในหน้า ผ่ามือ และผ่าเท้า อาจจะพบลักษณะของวงกลมสีขาวล้อมรอบ erythematouse papules ได้บ่อย เรียกว่า target-like lesion และผู้ป่วยทั้งหมดจะมีอาการคันตามแขนและขาได้[7]

Subtypes of PUPPP [8]

  • Type I : Classical clinical presentation : ลักษณะพบได้บ่อยของ PUPPP ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นโดยไม่มีรอยโรคบริเวณในหน้า ผ่ามือ และผ่าเท้า
  • Type II : maculopapular type : จะมีลักษณะของ erythematous patches with overlying papules and vesicles
  • Type III : ลักษณะร่วมกันของ type I & type II

PUPPP มักจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ (ประมาณ 35 สัปดาห์) แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงหลังคลอด ส่วนไตรมาสที่หนึ่งและสองจะพบ PUPPP ได้น้อยมาก [6]

PUPPP อาจจะมีอาการแย่ลงทันทีหลังคลอด แต่อาการเหล่านั้นจะหายไปได้เองหลังคลอดประมาณ 15 วัน

Diagnosis

การวินิจฉัย PUPPP ไม่จำเป็นต้องอาศัยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการในการวินิจฉัย เพราะสามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย แต่หากการวินิจฉัยนั้นไม่แน่นอน สามารถอาศัยการวินิจฉัยด้วยการทำ skin biopsy โดยจะมีลักษณะที่ไม่จำเพาะ ได้แก่การพบ spongiosis และ parakeratosis ในผิวหนังชั้น Epidermis[5] ในส่วนของชั้น Dermis จะพบเม็ดเลือดขาวมาล้อมรอบผนังหลอดเลือด โดยการชักนำของ T-helper cell บางครั้งจะเห็น eosinophils หรือ neutrophils ได้หากมีการบวมขึ้นของชั้น Dermis

Etiology

สาเหตุของ PUPPP ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิฐานได้จากหลายสาเหตุ เช่นการถูกยืดออกของผิวหนังหน้าท้อง โดย PUPPP จะพบมากขึ้นในสตรีตั้งครรภ์ที่ผนังหน้าท้องถูกยืดออกมากๆ เชื่อว่าการยืดออกของผิวหนังจะทำให้มีการทำลาย connective tissue บริเวณนั้นและทำให้เกิดการอักเสบตามมาได้[9]

อีกสาเหตุหนึ่งคือ การตอบสนองต่อ fetal antigen ที่ผ่านมาทางกระแสเลือด โดยจะเห็นได้จากการตรวจพบ fetal DNA ในรอยโรคที่ผิวหนัง[10]

Treatment

จุดมุ่งหมายของการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ การลดอาการต่างๆ ของผู้ป่วย โดยการให้ low to mid potency topical corticosteroids เป็นยาเริ่มต้นในการรักษา ร่วมกับครีมบำรุงให้ความุ่มชื้นแกผิว หากไม่ดีขึ้นอาจเสริมการรักษาด้วย Nonsedating oral antihistamines [3, 11] การให้ systemic glucocorticoids เช่น prednisolone จะสงวนไว้สำหรับคนที่มีอาการคันมากๆ เท่านั้น

Prognosis

PUPPP ไม่เพิ่มความเสี่ยงในมารดาและทารก และอัตราการเกิดซ้ำเกิดได้ไม่บ่อยนัก [7]

 

Prurigo of pregnancy

ประกอบด้วย Prurigo gestationis of Besnier, Nurse’s early onset prurigo of pregnancy, and Spangler’s popular dermatitis of pregnancy, linear IgM disease of pregnancy [5, 6]

Incidence

อุบัติการณ์ของการเกิดโรค Prurigo of pregnancy ประมาณ 1:300 – 1:450 ของสตรีตั้งครรภ์ ส่วนสาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับประวัติภูมิแพ้[12]

อาการและอาการแสดง

การวินิจฉัยโรคนี้ ทำโดยการวินิจฉัยตามอาการ และลักษณะรอยโรคที่มีความจำเพาะ กล่าวคือ รอยโรคนี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่สองและสาม โดยจะพบบ่อยที่อายุครรภ์ 25 ถึง 30 สัปดาห์[3] แต่ก็ยังมีรายงานว่าสามารถพบได้ในทุกไตรมาส ลักษณะที่พบคือ erythematous, excoriated nodules, or papules โดยจะอยู่บนด้าน extensor ของแขนขาและลำตัว บางรายอาจลักษณะเป็น crusted และ eczematous ได้[12]

 

ผื่นดังกล่าวมักจะหายได้ทันทีหลังคลอด แต่ก็มีบางครั้งสามารถคงอยู่ได้นานมากกว่า 3 เดือน

การวินิจฉัยโดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และทางพยาธิวิทยา อาจไม่มีความจำเป็น เนื่องจากสามารถวินิจฉัยได้จากอาการทางคลินิกอยู่แล้ว แต่ก็มีการศึกษาพบว่ามีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของ IgE ในผู้ป่วยบางราย และหากทำการตัดชิ้นเนื้อ จะพบลักษณะของ perivascular mononuclear cell infiltrate without eosinophils ในชั้น epidermis อาจแสดงลักษณะของ acathosis, hyperkeratosis, and parakeratosis

Differential diagnosis

  • PUPPP
  • pruritic folliculitis of pregnancy

Treatment & Prognosis

จุดมุ่งหมายหลักของการรักษาคือ การลดอาการผู้ป่วย โดยการใช้ steroid ที่มีความเข้มข้นต่ำถึงปานกลาง แบบเฉพาะที่เป็นหลัก ร่วมกับ nonsedating oral antihistamines เป็นยาเสริมในการรักษา

รอยโรคนี้ไม่มีผลต่อทารก และความเสี่ยงในมารดา แต่อาจมีการเกิดซ้ำได้ในท้องต่อไป[5, 6]

 

Pruritic Folliculitis of Pregnancy

Incidence

อุบัติการณ์ของโรคนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด พบได้ประมาณ 1:3192 ของสตรีตั้งครรภ์[6]

อาการและอาการแสดง

รอยโรคนี้จะพบได้ในช่วงไตรมาสที่สองและสาม โดยพบในไตรมาสที่สามมากกว่า และมักจะพบในหญิงที่ไม่เคยตั้งครรภ์มาก่อน ลักษณะของโรคเป็น follicularly-based papules and pustules โดยจะเริ่มเกิดตรงบริเวณลำตัวก่อน แต่บางครั้งก็มีการกระจายไปยังแขนขาได้ ลักษณะการเกิดโรคคล้ายคลึงกับ steroid induced acne แต่ก่อนการวินิจฉัยควรมีการเพาะเชื้อเพื่อแยกการติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราออกไปก่อน

โดยทั่วไปรอยโรคนี้จะสามารถหายได้เองใน 2 สัปดาห์หลังคลอด อย่างไรก็ตามอาจคงอยู่ได้ถึง 6 สัปดาห์หลังคลอด

 

Differential diagnosis

  • prurigo of pregnancy
  • PUPPP
  • Infectious folliculitis

Treatment

เริ่มต้นการรักษาควรใช้ยาทา steroid เฉพาะที่เสริมด้วย nonsedating oral antihistamines รอยโรคนี้ไม่มีผลต่อมารดาและทารก ไม่มีข้อมูลเรื่องการเกิดซ้ำของรอยโรค

 

Pemphigoid Gestationis

เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Herpes gestationis” เนื่องจากมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสๆ (blistering) คล้ายที่พบในการติดเชื้อ Herpes แต่พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับ herpes viral infection [3]

 

Incidence

พบได้ประมาณ 1/10,000 ถึง 1/50,000 ของสตรีตั้งครรภ์ อาการนี้พบได้เฉพาะในสตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีที่มีเนื้องอกของเนื้อรกเท่านั้น สัมพันธ์กับความผิดปกติของ HLA-DR3 และ HLA-DR4 ได้บ่อย[6] อาการเหล่านี้อาจคงอยู่ได้นานนับปีหลังจากคลอดบุตรไปแล้ว

 

Clinical manifestation

เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการคันนำมาก่อนจากนั้นจะเริ่มมีผื่น ส่วนมากจะเกิดอาการขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่สอง หรือสาม ส่วนไตรมาสแรกจะพบอาการเหล่านี้ได้น้อยมาก หากพบมักจะเป็นเพียง case report เท่านั้น  ลักษณะที่สำคัญคือ ผื่นจะเริ่มเกิดขึ้นบริเวณลำตัวก่อน ลักษณะเป็น urticarial plaques หรือ plaques ล้อมรอบสะดือ จากนั้นก็จะกลายเป็น vesicle หากมีการแตกของผื่นอย่างรวดเร็วอาจกลายเป็น Bullae ได้ สามารถพบผื่นชนิดนี้ได้ที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าด้วย แต่พบได้ไม่บ่อยที่ใบหน้าและเยื่อบุผิว (ร้อยละ 70 เกิดขึ้นที่ลำตัวและรอยสะดือ, ร้อยละ95 เกิดที่แขนขา)[13]

รอยโรคที่เยื่อบุพบได้น้อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้ป่วยทั้งหมด อย่างไรก็ตามมีการรายงานว่าพบผู้ป่วยที่มีรอยโรคคล้าย Pemphigoid gastationis เกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุ ลักษณะเดียวกันกับที่พบใน cicatricial pemphigoid หลังคลอดรอยโรคดังกล่าวจะหายไปได้เอง โดยไม่มีการทิ้งรอยแผลเป็น และจะไม่มีการเกิดซ้ำหลังการตั้งครรภ์ หากตรวจ Immunofluorescence จะพบ IgA ต่อ BP 180 antigen ซึ่งจะแตกต่างจาก classical pemphigoid gestationis

Course

Pemphigoid gestationis ส่วนใหญ่มักจะหายไปได้เองหลังคลอด ภายในระยะเวลาเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือน อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 75 ของผู้ป่วยจะมีรอยโรคกำเริบขึ้นหลังคลอด โดยพบว่าร้อยละ 25 ของผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบหลังคลอดจะสัมพันธ์กันการได้รับยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด หรือการมีประจำเดือน นอกจากนี้รอยโรคชนิดนี้ยังสามารถเกิดขึ้นซ้ำได้ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปและอาการของโรคอาจแย่ลง[5]

Diagnosis

สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้โดยการทำ skin biopsy เพื่อดูลักษณะทางพยาธิวิทยาทั่วไป และการส่งตรวจ direct immunofluorescence

ลักษณะทางพยาธิวิทยาจะพบลักษณะของ vesicle ใต้ชั้นผิวหนัง ร่วมกับมีเซลล์ Lymphocyte และ Eosinophils แทรกอยู่รอบๆเส้นเลือด และจะพบว่ามี eosinophils บางส่วนอยู่ที่ dermoepidermal junction และเข้าไปอยู่ใน vesicle พบการบวมและnecrosis ของ basal cell ได้บ่อย

การส่งตรวจ direct immunofluorescence จะพบ complement 3 (C3) ได้ในบริเวณที่ basement membrane ซึ่ง C3 band เป็นลักษณะที่จำเพาะของ pemphigoid gestationis โดยจะตรวจพบ IgG ประมาณร้อยละ 30-40 ของผู้ป่วยทั้งหมด[11]

การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ไม่มีความจำเป็นในการวินิจฉัยโรคนี้ แต่พบว่าระดับ eosiophils ที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับอาการของโรคที่เป็นมากขึ้น

Etiology

เกิดจาก IgG antibody (BP180) ไปจับกับ antigen ขนาด 180 kilodalton ที่บริเวณ Basement membrane ของผิวหนัง หรือที่เรียกว่า Bullous pemphigoid antigen 2 (BP-AG2) ซึ่งเป็น glycoprotein ที่มีส่วนช่วยในการเกาะกันของ basal cell of epidermis กับ basement membrane

โดย IgG ดังกล่าวจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิด complement pathway, กระตุ้น eosinophil, และสร้าง proteolytic  enzymes ออกมาแยก epidermis ออกจากชั้น dermis [3]

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุว่าทำไมผู้ป่วยถึงมี antibody ตัวนี้ มีทฤษฎีว่า MHC class II ที่ได้มาจากสามี และสามารถตรวจพบได้ในรก เป็นตัวกระตุ้นให้หญิงตั้งครรภ์มีการสร้าง antibody ต่อ amniotic basement membrane ซึ่ง antibody นี้สามารถ cross-reaction กับผิวหนัง แล้วก่อให้เกิดโรคได้

Differential diagnosis[5, 14]

  • Pemphigoid gestationis ต้องแยกจาก PUPPP ( papular urticarial papules and plaques of pregnancy) เนื่องจากในระยะเริ่มแรกของโรคจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ต่างกันตรงที่ PUPPP มักเริ่มเกิดอาการที่รอยแตกของผิวหนัง (striae ) บริเวณของท้อง ส่วน Pemphigoid gestationis มักมีอาการบริเวณรอบๆ สะดือ แต่หากต้องการการวินิจฉัยแยกโรคที่แน่นอน จำเป็นต้องมีการทำ Immunofluorescent study เพื่อแยกสองภาวะนี้
  • Dermatitis herpetiformis จะมีลักษณะเป็น vesicular lesion ที่มีอาการคันมาก
  • Erythema multiforme ที่เกิดการติดเชื้อ หรือยา
  • Contact dermatitis and drug reaction

Treatment

จุดประสงค์หลักของการรักษาคือ การลดอาการให้แก่ผู้ป่วย โดยควรเลือกใช้ topical corticosteroids เป็นยาตั้งต้นในการรักษา โดยเริ่มจากยาที่มี potency ต่ำ ไปจนถึงยาที่มี potency สูง และนอกจากนั้นยังสามารถใช้ยา Nonsedating antihistamines ชนิดรับประทานเป็นยาเสริมได้ แต่ไม่แนะนำ antihistamines ชนิดทาเฉพาะที่ เนื่องจากไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาที่เพียงพอ และสามารถกระตุ้นให้เกิดการแพ้ได้มากขึ้น

แต่ถ้าหากการรักษาในเบื้องต้นไม่ได้ผล เนื่องจาก herpes Gestationis มักจะก่อให้เกิดอาการคันมาก อาจมีการใช้ systemic glucocorticoids เช่น prednisolone 0.5-1 mg/kg daily โดยหลังจากได้ผลในการรักษาแล้วควรมีการค่อยๆ ปรับลดขนาดยาลงจนหยุดยาในที่สุด [3, 5, 14]

Prognosis

เนื่องจากผลของ Immune response ระหว่าง placental antigen กับ antibody (ที่มีผลต่อ antigen ที่ผิวหนังด้วย) ทำให้เกิดภาวะรกเสื่อมได้เล็กน้อย ทารกจึงมีความเสี่ยงต่อภาวะโตช้าในครรภ์ เสียชีวิตก่อนคลอด และการคลอดก่อนกำหนดได้ ดังนั้นจึงเป็นข้อบ่งชี้ในการติดตามสุขภาพทารกในครรภ์[3]

มีการศึกษาเป็น Retrospective cohot study ในผู้หญิง 61 คนที่มีปัญหาของ Pemphigoid gestationis พบว่า ร้อยละ 34 มีการคลอดก่อนกำหนด และร้อยละ 34 คลอดทารกน้ำหนักน้อย โดยพยากรณ์โรคจะไม่ดีในรายที่เริ่มมีอาการของโรคตั้งแต่ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง รวมถึงในกลุ่มที่มารดามีรอยโรคลักษณะเป็น Blisters[15]

ทารกร้อยละ 2.8-10 มีการเกิดภาวะ neonatal pemphigoid ซึ่งสามารถหายได้เองภายใน 1 อาทิตย์ และหากมารดาได้รับการรักษาด้วย high dose corticosteroid อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการกด adrenal gland เพียงเล็กน้อย[16]

ร้อยละ10 ของหญิงตั้งครรภ์ที่มีการเกิด Pemphigoid gestationis จะมีโอกาสในการเกิด Grave’s disease ได้[17]

 

Pustular Psoriasis of Pregnancy

มีอีกชื่อหนึ่งคือ Impetigo herpetiformis การวินิจฉัยทำได้โดยการแยกการติดเชื้อแบคทีเรีย และไวรัสออกไปก่อน และจะวินิจฉัยในสตรีที่ไม่เคยมีประวัติของ psoriasis มาก่อน และรอยโรคดังกล่าวสามารถหายไปได้หลังตั้งครรภ์ อุบัติการณ์ของโรคนี้เกิดได้น้อยมาก โดยพบผู้ป่วยที่เกิดรอยโรคดังกล่าวประมาณ 350 คน ตั้งแต่ปี 1872 ถึงปัจจุบัน

อาการและอาการแสดง

การวินิจฉัยโรคนี้สามารถวินิจฉัยได้จากอาการและอาการแสดง แต่อย่างไรก็ตามควรจะมีการยืนยันด้วยการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจด้วย โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดการตั้งครรภ์ โดยอาการเริ่มจากมี erythematous plaques with rings of pustules จากนั้น plaques จะมีการขยายออกไปด้านนอกมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนตรงกลางจะเริ่มยุบลงและกลายเป็น crust จนท้ายที่สุดก็จะกลายเป็น concentric rings of pustules นอกจากนี้เล็บยังมีลักษณะเป็น onycholytic หรือ pitting ได้

รอยโรคมักเกิดขึ้นที่บริเวณลำตัวและแขนขา จากนั้นถึงจะมีการลุกลามไปยัง มือ เท้า และใบหน้า นอกจากนี้อาจพบแผลบริเวณปากและหลอดอาหารได้

Pustular psoriasis of pregnancy มักจะไม่มีอาการคัน ผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียถ่ายเหลว มีไข้หนาวสั่นร่วมด้วยได้ และหลังจากรอยโรคหายไปอาจมีการทิ้งจุดด่างดำไว้ได้ แต่จะไม่มีการเปลี่ยนเป็นแผลเป็น

รอยโรคดังกล่าวจะหายไปได้อย่างรวดเร็วหลังคลอด และมีโอกาสเกิดขึ้นใหม่ได้เมื่อมีประจำเดือน, ใช้ยาคุมกำเนิด หรือมีการตั้งครรภ์ครั้งใหม่ รอยโรคจะมีความรุนแรงมากหากเกิดโรคขึ้นเร็ว

หากมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของ ESR, hypocalcemia ที่มีความสัมพันธ์กับภาวะ hypoparathyroidism, albuminuria, pyuria และ hematuria ได้

การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจจะพบลักษณะ sterile pustules, spongiform pustules with neutrophils in the epidermis, psoriasiform hyperplasia, and parakeratosis ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้เช่นเดียวกันกับ pustular psoriasis ในคนที่มีตั้งครรภ์

ส่วนสาเหตุในการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับฮอร์โมน progesterone และอาจมีภาวะ hypocalcemia และ hypoparathyriodism เป็นตัวกระตุ้นได้

Differential diagnosis

  • candidiasis และ impetigo แยกได้โดยการเพาะเชื้อ
  • subcorneal pustular dermatosis
  • dermatitis herpetiformis
  • pustular drug eruptions
  • pemphigoid gestationis

Treatment

ยาที่เริ่มต้นใช้ในการรักษาควรเริ่มเป็น systemic steroid เลย โดยเริ่มจาก high dose glucocorticoids เช่น prednisolone 80 mg ต่อวัน หากมีการตอบสนองที่ดีค่อยมีการลดขนาดยาลงช้าๆ พร้อมกับมีการเฝ้าระวังการกำเริบของโรคด้วย นอกจากนี้ควรมีการรักษาภาวะ hypocalcemia ที่อาจเป็นสาเหตุของการกำเริบของโรคอีกด้วย

โรคนี้อาจก่อนให้เกิด placental insufficiency ได้ ทำให้เกิดการแท้ง ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ หรือทำให้เสียชีวิตก่อนคลอดได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจติดตามการตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว

 

References

1.             Vaughan Jones, S.A., et al., A prospective study of 200 women with dermatoses of pregnancy correlating clinical findings with hormonal and immunopathological profiles. Br J Dermatol, 1999. 141(1): p. 71-81.

2.             Bos, J.D., Reappraisal of dermatoses of pregnancy. Lancet, 1999. 354(9185): p. 1140.

3.             F.Gary cunningham, K.J.L., Steven L. Bloom, John C. Hauth, Dwight J. Rouse, Catherine Y. Spong, Williams obstetrics, ed. 23. 2010, United States: The McGraw-Hill Companies.

4.             Vaughan Jones, S.A. and M.M. Black, Pregnancy dermatoses. J Am Acad Dermatol, 1999. 40(2 Pt 1): p. 233-41.

5.             Roger D, V.L., Fignon A, et al, Specific pruritic disease of pregnancy. A prospective study of 3192 pregnant women. Arch Dermatol 1994, 1994. 130(734).

6.             Kroumpouzos, G. and L.M. Cohen, Dermatoses of pregnancy. J Am Acad Dermatol, 2001. 45(1): p. 1-19; quiz 19-22.

7.             Kroumpouzos, G. and L.M. Cohen, Specific dermatoses of pregnancy: an evidence-based systematic review. Am J Obstet Gynecol, 2003. 188(4): p. 1083-92.

8.             Katz, S.I., K.C. Hertz, and H. Yaoita, Herpes gestationis. Immunopathology and characterization of the HG factor. J Clin Invest, 1976. 57(6): p. 1434-41.

9.             Lawley, T.J., et al., Pruritic urticarial papules and plaques of pregnancy. JAMA, 1979. 241(16): p. 1696-9.

10.          Beckett, M.A. and N.S. Goldberg, Pruritic urticarial plaques and papules of pregnancy and skin distention. Arch Dermatol, 1991. 127(1): p. 125-6.

11.          Ambros-Rudolph, C.M., Dermatoses of pregnancy. J Dtsch Dermatol Ges, 2006. 4(9): p. 748-59; quiz 760-1.

12.          Regnier, S., et al., A case-control study of polymorphic eruption of pregnancy. J Am Acad Dermatol, 2008. 58(1): p. 63-7.

13.          Ambros-Rudolph, C.M., et al., The specific dermatoses of pregnancy revisited and reclassified: results of a retrospective two-center study on 505 pregnant patients. J Am Acad Dermatol, 2006. 54(3): p. 395-404.

14.          Shornick, J.K., Dermatoses of pregnancy. Semin Cutan Med Surg, 1998. 17(3): p. 172-81.

15.          Pomeranz, M.K., Dermatoses of pregnancy, in Uptodate. 2010.

16.          Aoyama, Y., et al., Herpes gestationis in a mother and newborn: immunoclinical perspectives based on a weekly follow-up of the enzyme-linked immunosorbent assay index of a bullous pemphigoid antigen noncollagenous domain. Arch Dermatol, 2007. 143(9): p. 1168-72.

17.          Shornick, J.K. and M.M. Black, Secondary autoimmune diseases in herpes gestationis (pemphigoid gestationis). J Am Acad Dermatol, 1992. 26(4): p. 563-6.

18           Luewan S, Sirichotiyakul S, Tongsong T. Recurrent impetigo herpetiformis successfully treated with methotrexate: A case report. J Obstet Gynaecol Res. 2010 Dec 15. [Epub ahead of print].

 

Read More