ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกดีจริงหรือ

ศ.นพ.จตุพล ศรีสมบูรณ์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา มช. มีคำแนะนำและให้ความรู้ดังต่อไปนี้

หลักการและการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการฉีด HPV Vaccine

ปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันชัดเจนแล้วว่าการติดเชื้อ HPV แบบเนิ่นนาน (persistent HPV infection) เป็นขั้นตอนสำคัญของการดำเนินโรคเป็นรอยโรคก่อนมะเร็ง ืและมะเร็งปากมดลูก การฉีด HPV vaccine เพื่อการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อ HPV เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV ได้

ส่วนประกอบของ HPV Vaccine

ส่วนประกอบของเชื้อ HPV ที่นำมาเป็น antigen กระตุ้นร่างกายให้สร้าง neutralizing antibody คือโปรตีนที่เปลือกหุ้มเชื้อ HPV หรือ capsid protein ได้แก่ L1 protein ซึ่งจะถูกนำไปเพิ่มจำนวนเพื่อผลิตเป็น HPV vaccine โปรตีน L1 นี้มีคุณสมบัติพิเศษคือ ถ้ามีปริมาณมาก ๆ จะสามารถประกอบตัวกันเอง (self assemble) เป็นอนุภาคที่คล้ายเชื้อ HPV ดั้งเดิม เรียกว่า “virus-like particle” (VLP) ซึ่งมีโครงสร้างภายนอกทุกอย่างเหมือน HPV ต้นแบบ หรือ HPV สายพันธุ์เดิม เพียงแต่ไม่มีโปรตีนที่ก่อมะเร็งเท่านั้น VLP ของเชื้อ HPV นี้เมื่อฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง neutralizing antibody ที่จำเพาะต่อเชื้อ HPV สายพันธุ์นั้นได้สูงมาก antibody นี้จะออกจากกระแสเลือดในรูปของสิ่งซึมเยิ้มใส เข้าสู่มูกของปากมดลูก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์นั้น HPV vaccine ที่มีในปัจจุบันประกอบด้วย VLP ของเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 (ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกในสตรีทั่วโลก ประมาณร้อยละ 70) ผสมกับสารประกอบเสริม ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

ช่วงอายุที่แนะนำให้ฉีด HPV Vaccine

ประสิทธิภาพของ HPV vaccine จะสูงที่สุดในสตรีที่ยังไม่ติดเชื้อ HPV ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีนก่อนถึงวัยที่จะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV และรอยโรคที่จะเกิดตามมา ในปัจจุบัน HPV vaccine มีความปลอดภัย มีศักยภาพการกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูง และมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อ HPV และรอยโรค ในสตรีช่วงอายุ 9-26 ปี ส่วนสตรีที่มีอายุมากกว่า 26 ปี ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV และรอยโรค สำหรับการฉีด วัคซีนเพื่อกระตุ้นซ้ำ (booster) ยังไม่มีข้อมูลว่าควรฉีดเมื่อไร ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันพบว่าระดับ antibody ยังคงป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้นานอย่างน้อย 5.5 ปี

การฉีด HPV Vaccine

การฉีด HPV vaccine ให้ฉีด 0.5 มล. เข้ากล้ามเนื้อจำนวน 3 ครั้ง (3 เข็ม) ดังนี้

ครั้งที่ 1 : ฉีดในวันที่กำหนดเลือก

ครั้งที่ 2 : ฉีดในเดือนที่ 1-2 หลังจากการฉีดครั้งแรก

ครั้งที่ 3 : ฉีดในเดือนที่ 6 หลังจากการฉีดครั้งแรก

ผลข้างเคียงของการฉีด HPV Vaccine

โดยทั่วไปการฉีด HPV vaccine มีความปลอดภัยสูง ไม่พบอาการข้างเคียงชนิดรุนแรง อาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้แก่

1. อาการข้างเคียงบริเวณที่ฉีดวัคซีน เช่น ปวด บวม แดง และคัน ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เป็นอยู่ชั่วคราวและหายไปเอง

2. อาการทั่วไป เช่น ไข้ พบประมาณร้อยละ 10 ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและหายไปได้เอง อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย และผื่นคันตามตัว อาการเหล่านี้ไม่รุนแรงและหายไปได้เอง

คำแนะนำที่ควรทราบก่อนการฉีด HPV Vaccine

1. การฉีดวัคซีนเอชพีวีไม่สามารถใช้ทดแทนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้

2 . การฉีดวัคซีนเอชพีวีไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี หูดหงอนไก่ และรอยโรคก่อนมะเร็ง ได้ทุกราย

3. การฉีดวัคซีนเอชพีวีไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อและรอยโรคที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์อื่นที่ไม่ได้มีในวัคซีน

4. ถ้ามีการติดเชื้อเอชพีวีแล้วประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงหรือได้ประโยชน์ไม่สูงเท่าที่ควร

5. การฉีดวัคซีนเอชพีวีไม่สามารถใช้รักษาหูดหงอนไก่ รอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูก รอยโรคก่อนมะเร็งของช่องคลอดและรอยโรคก่อนมะเร็งปากช่องคลอดได้ ถ้ามีรอยโรคดังกล่าวควรรักษาให้หายก่อน

6. การฉีดวัคซีนเอชพีวีไม่สามารถป้องกันโรคอื่น ๆ ของอวัยวะเพศที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี เช่น โรคเริม และตกขาวจากเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

7. ถ้ามีภูมิคุ้มกันต่ำหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนอาจจะลดลง

8. หลังจากฉีดวัคซีนเอชพีวีแล้ว ถ้ามีเพศสัมพันธ์ ควรจะมีเพศสัมพันธ์ในเชิงป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีด้วย เช่น การมีคู่นอนคนเดียว(monogamous) หรือ การคุมกำเนิดโดยการใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น

9. ในช่วงที่ฉีดวัคซีนเอชพีวี ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพไว้ก่อนจนกระทั่งฉีดครบ 3 เข็มไปแล้วอย่างน้อย 1 เดือน

10. ควรฉีดวัคซีนเอชพีวีให้ครบ 3 เข็มในช่วงที่กำหนด

11. หลังฉีดวัคซีนเอชพีวีแล้ว ควรมารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามที่แพทย์นัดเมื่อถึงวัยอันควร

12. หลังฉีดวัคซีนเอชพีวีแล้ว ควรนอนพักสังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที ไม่ควรเดินกลับคนเดียวหรือขับรถกลับด้วยตนเอง ควรมีเพื่อนหรือผู้ปกครองมาด้วย

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

แนะนำให้สตรีที่ได้รับการฉีด HPV vaccine มารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามปกติ เนื่องจาก HPV 16/18 vaccine ครอบคลุมเฉพาะเชื้อ HPV 16 และ HPV 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกประมาณร้อยละ 70 เท่านั้น สตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วควรได้รับการตรวจ คัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามปกติ ถ้าตรวจพบความผิดปกติควรให้การรักษาตามมาตรฐานก่อนการฉีด HPV vaccine เนื่องจากการฉีด HPV vaccine ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินโรคและ การหายของรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูก จึงอาจจะพิจารณาการฉีด HPV vaccine ในกรณีดังกล่าวได้ แต่ต้องอธิบายให้ผู้รับการฉีดวัคซีนเข้าใจด้วยว่า ประสิทธิภาพของ HPV vaccine อาจจะลดลงถ้าเคยติดเชื้อ HPV สายพันธุ์เดียวกับวัคซีนมาก่อน เมื่อเปรียบเทียบกับสตรีที่ไม่เคยติดเชื้อ HPV เลย การฉีด HPV vaccine ในกรณีนี้อาจจะได้ประโยชน์จากการป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีในวัคซีนที่สตรียังไม่ได้ติดเชื้อ อย่างไรก็ตามต้องเน้นย้ำถึงการมารับ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอด้วย

การตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนการฉีด HPV Vaccine

ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ HPV (HPV test) ก่อนการฉีด HPV vaccine เนื่องจากการตรวจหาเชื้อ HPV ไม่สามารถระบุได้ว่าเคยมีการติดเชื้อมาแล้วหรือไม่ ถ้าผลการตรวจให้ผลบวกก็บอกได้เพียงว่า มีการติดเชื้อ HPV อยู่ในปัจจุบันหรือไม่เท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นการติดเชื้อแบบชั่วคราว (transient) สามารถหายไปเองได้ หรือเป็นการติดเชื้อแบบเนิ่นนาน (persistent) ซึ่งอาจจะคืบหน้ารุนแรงขึ้นเป็นรอยโรค CIN ต่อไปหรืออาจจะหายไปเองก็ได้ นอกจากนี้ ถ้าวิธีการตรวจไม่สามารถ ระบุสายพันธุ์ของเชื้อ HPV ได้ การที่ HPV test ให้ผลบวก อาจจะเกิดจากเชื้อ HPV สายพันธุ์ใดก็ได้ที่วิธีนั้นสามารถตรวจได้ ถ้าการตรวจหาเชื้อ HPV ให้ผลลบ ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าไม่มีเชื้อ HPV อยู่ที่ปากมดลูก เพราะวิธีการตรวจอาจไม่มีความไวเชิงวิเคราะห์ (analytical sensitivity) สูงพอที่จะตรวจหาเชื้อ HPV ที่มีอยู่ในปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์ตรวจ (threshold)ได้ การตรวจหา antibody ต่อเชื้อ HPV ยังไม่สามารถกระทำได้ในทางปฏิบัติ มีแต่ในงานวิจัย และไม่ได้บ่งบอกสภาวะของเชื้อ HPV ที่ปากมดลูก การตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนการฉีด HPV vaccine จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนสูงขึ้นมาก ทำให้การให้วัคซีนไม่คุ้มทุน

สตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว

สตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว สามารถฉีด HPV vaccine ได้ สตรีที่เคยมีผล Pap smear ผิดปกติ ควรได้รับการดูแลตามมาตรฐาน ถ้าได้รับการรักษาหายแล้ว สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ควรให้คำแนะนำว่าประสิทธิภาพของวัคซีนอาจจะลดลงถ้าเคยติดเชื้อ HPV มาก่อน อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังต้องมารับ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอด้วย

สตรีที่เคยเป็นรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกมาก่อน

สตรีที่เคยเป็น CIN มาก่อน ถ้าได้รับการรักษาแล้วสามารถฉีด HPV vaccine ได้ แต่ต้องมารับการตรวจติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด และต้องเน้นย้ำว่าถ้าสตรีมีการติดเชื้อ HPV 16/18 แล้ว การฉีด HPV 16/18 vaccine ไม่ได้มีผลในเชิงรักษาและอาจจะได้ประโยชน์น้อยในการป้องกัน การติดเชื้อ HPV 16/18 และรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อ HPV 16/18 แต่อย่างไรก็ตามการฉีด HPV 16/18 vaccine จะช่วยป้องกัน การติดเชื้อ HPV 16/18 ซ้ำ (reinfection) การแพร่เชื้อ HPV 16/18 จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งของเยื่อบุปากมดลูก (autoinoculation) และการแพร่เชื้อ HPV ไปสู่คู่นอน (transmission)

สรุป

มะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยพบเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในสตรีไทย สาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกคือ การติดเชื้อ HPV ชนิดก่อมะเร็ง การป้องกันมะเร็งปากมดลูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ การตรวจคัดโรคโดยการทำ Pap smear หรือ HPV test เป็นการป้องกันแบบทุติยภูมิ ซึ่งเป็นการตรวจหาสตรีที่ติดเชื้อ HPV หรือมีความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV แล้ว ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุหลักหรือ ขั้นตอนแรกของกระบวนการก่อมะเร็งปากมดลูก การฉีด HPV vaccine เพื่อสร้างเสริมให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ HPV เป็นการป้องกันแบบปฐมภูมิและ เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งในการที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV และรอยโรคก่อนมะเร็ง ซึ่งจะนำไปสู่การลดอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกในระยะยาว ผลการศึกษา เกี่ยวกับ HPV vaccine ใน phase I, II และ III พบว่ามีความปลอดภัยสูง กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้แรงกว่าการติดเชื้อ HPV ตามธรรมชาติ และมีประสิทธิภาพ สูงมากอย่างมีนัยสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ HPV และรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อ HPV สายพันธุ์เดียวกับวัคซีนที่ฉีด อย่างไรก็ตามการตรวจ คัดโรคมะเร็งปากมดลูกก็ยังมีความจำเป็นอยู่ เนื่องจาก HPV 16/18 vaccine สามารถครอบคลุมเชื้อ HPV 16/18 ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ได้ประมาณร้อยละ 70 ถึงแม้ว่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันรอยโรคก่อนมะเร็งที่เกิดจากเชื้อ HPV 16/18 ได้สูงถึงร้อยละ 99-100 ก็ตาม