วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ในหญิงตั้งครรภ์
Immunization and Pregnancy: Tetanus, Diphtheria and Pertussis vaccination

นพ. ฉันท์หทัย นันท์ชัย
อาจารย์ที่ปรึกษา อ.พญ.เฟื่องลดา ทองประเสริฐ


 

การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับหญิงตั้งครรภ์ เป็นสิ่งที่จำเป็นในการช่วยให้มารดาและทารกปลอดภัยจากการติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์และขณะคลอด ซึ่งวัคซีนที่จำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์ซึ่งได้แก่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) วัคซีนบาดทะยัก (Tetanus toxoid) วัคซีนคอตีบ (Reduced diphtheria toxoid) วัคซีนไอกรน (Acellular pertussis) และวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B vaccine)

สำหรับวัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรจำเป็นที่จะได้รับการฉีดในช่วง 27 – 36 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ซึ่งในปัจจุบันมีการฉีดเป็นวัคซีนรวม 3 ชนิดนี้ไว้ด้วยกันนั่นก็คือ Tdap vaccine

ในทารกแรกเกิดที่ยังไม่เคยภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรน (Pertussis) หรือภูมิคุ้มกันยังสร้างไม่เต็มที่ ยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับการติดเชื้อไอกรนอยู่ในช่วงอายุ 3 เดือนแรกหลังคลอด และสามารถมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้ เนื่องจากว่า ทารกที่อายุน้อยกว่า 2 เดือน จะไม่สามารภสร้างภูมิคุ้มกัน ตามหลังการได้รับวัคซีน (อายุน้อยที่สุดที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้คือ 6 สัปดาห์) อีกทั้ง ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทารกมีโอกาสติดเชื้อไอกรน มาจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดได้

ในปี 2006 Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ได้แนะนำให้วัคซีนป้องกันไอกรนในรูปแบบที่เรียกว่า Tdap vaccine แก่บุคคลที่จะมาสัมผัสกับทารกแรกเกิด โดยแนะนำให้ก่อนมาสัมผัสใกล้ชิดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ บุคคลรอบด้านดังกล่าว ได้แก่ พ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยาย พี่เลี้ยง และบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็ก ซึ่งยุทธศาสตร์การป้องกันแบบพิเศษนี้ เรียกว่า “Cocoon Strategy”

The Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP) และ The American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) แนะนำให้วัคซีนป้องกันไอกรน (Tdap) แก่ทุกคนที่อยู่ใกล้ชิดกับทารกที่อายุน้อยกว่า 12 เดือน โดยที่บุคคลเหล่านั้นยังไม่เคยมีประวัติการรับวัคซีน Tdap มาก่อน

ในปี 2011 The Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP) ก็แนะนำให้วัคซีน Tdap ให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

ในปี 2013 The Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP) แนะนำให้วัคซีน Tdap แก่หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ในแต่ละการตั้งครรภ์ โดยไม่สนใจว่าจะเคยได้รับวัคซีนมาก่อนหน้านี้หรือไม่ โดยแนะนำให้ในอายุครรภ์ 27 – 36 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงอายุครรภ์ที่วัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้หญิงตั้งครรภ์และยังส่งภูมิคุ้มกันไปให้ทารกได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม วัคซีน Tdap เป็นวัคซีนที่ปลอดภัยในทุกช่วงอายุครรภ์ สามารถให้ในอายุครรถ์ที่นอกเหนือจากที่แนะนำได้ หากมีความจำเป็นต้องให้ในตอนนั้น เช่น ในกรณีได้รับบาดแผลใหม่ ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไอกรน หรือเหตุการณืที่มีความจำเป็นอย่างอื่น

จากข้อมูลในปี 2013 พบว่าการให้วัคซีน Tdap ในช่วงปลายไตรมาศแรก หรือต้นไตรมาศที่สอง (ควรได้วัคซีนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนคลอด) มีประสิทธิภาพที่สุด ที่จะสามารถป้องกันทารกต่อการติดเชื้อไอกรนได้ถึงแม้ว่าวัคซีน Tdap ในมารดา จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไอกรนได้อย่างสมบูรณ์ หากติดเชื้อ ความรุนแรงของการเจ็บป่วยมักจะลดลง ไม่ว่าจะเป็น ลดระยะเวลาการนอน รพ. หรือ ลดความเสี่ยงในการเป็นผู้ป่วยวิกฤติ

อย่างไรก็ตามการให้วัคซีน Tdap ก็ยังแนะนำให้ในช่วงอายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์ ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด อาจให้ในวันนัดที่มาตรวจคัดกรองเบาหวาน หรือวันที่นัดคนไข้มาให้ Rho(D) immunoglobulin ซึ่งจะเป็นช่วงเดียวกัน จะช่วยให้สะดวก และไม่ลืมในการให้วัคซีน

การพิจารณาในการให้วัคซีน Tdap

  • ผู้หญิงที่ไม่เคยมีประวัติการได้รับวัคซีน Tdap มาก่อน และไม่ได้รับวัคซีนในช่วงตั้งครรภ์  แนะนำว่าควรให้วัคซีนทันทีหลังคลอด เพื่อเป็นการลดการติดเชื้อจากแม่ไปสู่ทารกแรกเกิด
  • หญิงตั้งครรภ์ไม่ได้รับวัคซีนในช่วงตั้งครรภ์ แต่เคยมีประวัติการได้รับวัคซีน Tdap มาก่อนในช่วงวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หรือได้ในครรภ์ก่อนหน้านี้ แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องให้วัคซีน Tdap ซ้ำหลังคลอด
  • คนในครอบครัว และผู้ดูแลทารก ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ควรจะได้รับวัคซีน Tdap อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนจะเข้าไปผัมผัสใกล้ชิดทารก

The American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) แนะนำให้วัคซีน Tdap ทุกครั้งที่ตั้งครรภ์ ซึ่งมีความปลอดภัย มีความสำคัญ และมั่นใจได้ว่าทารกในครรภ์นั้นจะปลอดภัยจากการติดเชื้อไอกรน ถึงแม้จะเคยได้รับวัคซีนมาก่อนหน้านี้ แต่ระดับของภูมิคุ้มกันที่เคยมีจะลดลงต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป การให้ซ้ำในช่วงตั้งครรภ์แต่ละครั้งจึงยังมีความจำเป็น และยังแนะนำให้ทุกๆสถานพยาบาลที่มีการดูแลหญิงตั้งครรภ์ ควรมีวัคซีน Tdap ไว้ในสถานพยาบาล หากในสถานพยาบาลไม่มีวัคซีน ควรแนะนำให้ไปรับวัคซีนที่สถานพยาบาลอื่น หรือรับวัคซีนที่ร้านขายยา และบันทึกการฉีดวัคซีนไว้

วัคซีน Tdap กับหลักการทั่วไปของการให้วัคซีนในช่วงตั้งครรภ์

  • เนื่องจากวัคซีน Tdap เป็นส่วนประกอบของ ท็อกซอยด์ (Toxoids ; Tetanus Diphtheria) ที่ได้จากการนำเชื้อโรคมาทำลายความเป็นพิษให้หมดไปก่อนจะมากระตุ้นภูมิคุ้มกัน และวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine ; Pertussis) ที่ได้จากการนำเชื้อโรคมาทำให้ตายก่อนจะใช้เชื้อทั้งตัวหรือสกัดเอาบางส่วนของเชื้อมาทำวัคซีน จึงยังไม่มีการรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อตัวอ่อนในครรภ์
  • การให้วัคซีน Tdap ร่วมกัน วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) ที่จำเป็นตัวอื่น เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ถือว่าปลอดภัย และยังมีประสิทธิภาพที่ดี
  • ยังไม่มีรายงานว่าวัคซีน Tdap จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคออทิซึม (Autism) และไม่มีรายงานผลข้างเคียงจากสารประกอบที่นำมาทำวัคซีน (Preservation) เช่น Thimerosal ซึ่งใน Tdap ไม่มีสารนี้

การให้วัคซีน Tdap ในสถานการณ์ต่างๆ

  • หญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในพื้นที่ระบาดของโรคไอกรน
    สามารถได้รับวัคซีนทันทีตามคำแนะนำของนโยบายในพื้นที่ระบาดนั้นพร้อมกับคนอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องรออายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์ ซึ่งจะมีประโยชน์ในแง่การป้องกันไม่ให้มารดาติดเชื้อ และสามารถสร้างภูมิกันไปยังลูกได้อีกด้วย หากได้รับวัคซีนไปในช่วงแรกของการตั้งครรภ์เดียวกัน ไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำในช่วงอายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์
  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีบาดแผลใหม่
    โดยทั่วไปแนะนำให้วัคซีนป้องกันบาดทะยัก Td booster ทันทีหลังได้รับบาดแผล ในกรณีที่เคยได้วัคซีน Td มานานกว่า 5 ปีแล้ว ซึ่งในหญิงตั้งครรภ์ แนะนำให้เป็น Tdap โดยให้ได้ทุกช่วงอายุครรภ์ หากยังไม่เคยได้รับ Tdap มาก่อนในการตั้งครรภ์นี้
  • ข้อบ่งชี้ในการ Tetanus and Diphtheria booster
    หากเคยได้วัคซีนครบ และได้รับวัคซีนกระตุ้น Td booster เข็มสุดท้ายมานานกว่า 10 ปีในการตั้งครรภ์นี้ แนะนำให้วัคซีนเป็น Tdap เพื่อป้องกันโรคไอกรนด้วย ตอนช่วงอายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์
  • หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ทราบประวัติการได้รับวัคซีนบาดทะยัก (Tetanus) หรือเคยได้ไม่ครบ
    ควรได้รับการฉีดวัคซีนใหม่เป็น Td vaccine ให้ครบ 3 เข็ม (0, 4 สัปดาห์ และที่ 6-12 เดือนหลังจากเข็มแรก) เพื่อป้องกันโรคไอกรนด้วย ควรให้ Tdap แทนที่การฉีด Td 1 เข็ม ในช่วงอายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์
  • กรณีที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน
    แนะนำให้วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่สัมผัสใกล้ชิดกับทารกอายุน้อยกว่า 12 เดือน และยังไม่เคยได้รับวัคซีน ให้ฉีด Tdap 1 ครั้ง และเป็นไปได้ ควรให้วัคซีน Tdap อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนจะมาสัมผัสใกล้ชิดกับหญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ทารก

สรุปคำแนะนำของ ACOG สำหรับวัคซีนบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน (Tdap)

  • แนะนำให้วัคซีน Tdap สำหรับหญิงตั้งครรภ์ทุกคนในแต่ละครรภ์ โดยให้ในช่วง 27 – 36 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์
  • หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับการแนะนำว่า วัคซีน Tdap ปลอดภัย ใช้ได้ระหว่างตั้งครรภ์ และมีความสำคัญมากในการป้องกันการติดเชื้อไอกรนในระหว่างคลอด
  • ควรมีการแนะนำให้มีการเตรียม Tdap ในสถานพยาบาลที่มีการฝากครรภ์
  • สำหรับครอบครัว หรือผู้ใกล้ชิด ควรได้รับการฉีดวัคซีน Tdap หากคนกลุ่มนี้ยังไม่เคยได้รับมาก่อน ในทางทฤษฎีแนะนำให้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนจะมาอยู่ใก้ชิดกับทารก
  • ควรให้วัคซีน Tdap ทันทีหลังคลอด หากหญิงตั้งครรภ์ไม่เคยได้รับวัคซีน Tdap มาก่อน ตอนวัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือในครรภ์ก่อนก็ตาม
  • นอกเหนือจากการให้วัคซีนในช่วงอายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์ ในบางสถานการณ์สามารถให้วัคซีนได้อีก เช่น รายที่มีแผลใหม่,ช่วงที่มีการระบาดของไอกรน หรือบางภาวะที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนนี้

เอกสารอ้างอิง

  1. Committee on Obstetric Practice, Immunization and Emerging Infections Expert Work Group. Update on Immunization and Pregnancy: Tetanus, Diphtheria, and Pertussis Vaccination. Obstet Gynecol 2017;130(3):e153-e157.
  2. Pickering LK, Baker CJ, Freed GL, et al. Immunization programs for infants, children, adolescents, and adults: clinical practice guidelines by the Infectious Diseases Society of America. Clin Infect Dis 2009; 49:817.