การรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงในผู้หญิง (1)

พญ.ทักษิณา ทินนา
ผศ.นพ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร


ภาวะปัสสาวะเล็ด คือ ภาวะที่มีปัสสาวะออกมาจากท่อปัสสาวะโดยไม่สามารถควบคุมได้ มักพบได้บ่อยในผู้หญิงวัยผู้ใหญ่เกือบร้อยละ 50 และมีเพียงร้อยละ 25 ถึง 61 เท่านั้นที่มาพบแพทย์ เนื่องจากผู้ที่มีอาการมักจะอาย ไม่มีความรู้เกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาหรือกลัวการผ่าตัด ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นมักจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย มีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ ตลอดจนเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ดูแล

การแบ่งประเภทของภาวะปัสสาวะเล็ด(2)

  1. ปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง (stress incontinence)
  2. ปัสสาวะเล็ดทันทีเมื่อปวดปัสสาวะ (urgency incontinence)
  3. ปัสสาวะเล็ดทั้งขณะออกแรงและทันทีเมื่อปวดปัสสาวะ (mixed incontinence)
  4. ปัสสาวะเล็ดตลอดเวลาเนื่องจากมีปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ (overflow incontinece)

ปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง (stress incontinence)

ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง คือ ภาวะที่มีปัสสาวะเล็ดออกมาขณะที่มีการเพิ่มของความดันในช่องท้อง เช่น การเบ่ง, การจาม, การไอ, การหัวเราะ เป็นต้น โดยไม่มีการหดรัดตัวของกระเพราะปัสสาวะร่วมด้วย ภาวะนี้เป็นภาวะปัสสาวะเล็ดชนิดที่พบได้มากที่สุดในผู้หญิงอายุน้อย และอุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้นในผู้หญิงช่วงอายุ 45-49 ปี

ปัจจัยเสี่ยง

  • โรคอ้วน ภาวะไอเรื้อรัง ยกของหนักเป็นประจำ และท้องผูก ซึ่งภาวะเหล่านี้ส่งผลให้มีการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง
  • ประวัติคลอดทางช่องคลอด ผ่าตัดหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อและเส้นประสาท (3)
  • วัยสูงอายุ (3)

กลไกการเกิด(2)

  1. ท่อปัสสาวะเคลื่อนไวกว่าปกติ (Urethral hypermobility) เกิดจากการที่กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และเนื้อเยื่อของช่องคลอดรอบๆท่อปัสสาวะและคอของกระเพาะปัสสาวะมีแรงพยุงที่ไม่มากพอ ทำให้ท่อปัสสาวะและคอของกระเพาะปัสสาวะไม่สามารถปิดได้สนิท เมื่อมีการเพิ่มแรงดันในช่องท้องเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดปัสสาวะเล็ดได้
    การสูญเสียความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหรือเนื้อเยื่อรอบช่องคลอด เกิดจากการได้รับแรงดันมาเป็นเวลานานๆ หรือ การได้รับบาดเจ็บขณะคลอด โดยเฉพาะคลอดทางช่องคลอด
  2. หูรูดภายในท่อปัสสาวะไม่มีแรง (Intrinsic sphicteric deficiency) ทำให้ท่อปัสสาวะไม่สามารถปิดได้ มีเกิดจากการได้รับบาดเจ็บของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ สามารถพบในผู้หญิงที่เคยผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือผ่าตัดรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดหลายครั้ง โดยอาจมีภาวะท่อปัสสาวะเคลื่อนไวร่วมด้วยหรือไม่มีก็ได้ อาการโดยทั่วไปมักจะมีปัสสาวะรั่วออกมาแบบรุนแรงถึงแม้จะมีการเพิ่มความดันในช่องท้องเพียงเล็กน้อย
GSI1
ดัดแปลงจาก : http://urogynsavannah.com/womens-health/stress-incontinence/

การประเมินก่อนให้การรักษา (1, 4)

ซักประวัติ

  • ระยะเวลาที่มีอาการ ผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และความรุนแรงของโรค
  • ประวัติที่ช่วยแยกแยะอาการปัสสาวะเล็ดชนิดต่างๆ
  • ปัจจัยที่ทำให้อาการเป็นมากขึ้น
  • ประวัติเกี่ยวกับโรคเรื้อรังอื่นๆที่มีผลต่อสมดุลน้ำในร่างกายออก เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว (congestive heart failure) โรคเบาหวาน (diabetes mellitus) โรคไต (renal insufficiency) เป็นต้น
  • ประวัติการทานยาที่มีผลต่อปริมาณปัสสาวะ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาต้านโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคทางจิตเวช เป็นต้น
  • ประวัติการมีบุตรและวิธีการคลอด
  • ประวัติการผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน

ตรวจร่างกาย

  • ประเมินภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน (pelvic organ prolapse)
  • ประเมินภาวะช่องคลอดตึง (vaginal turgor)
  • ประเมินเรื่องระบบประสาท
  • ประเมินการเล็ดของปัสสาวะขณะผู้ป่วยไอ (cough test)

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  • ตรวจปัสสาวะเพื่อดูการติดเชื้อ

การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ

  • การตรวจวัดปริมาณปัสสาวะที่ค้างในกระเพาะปัสสาวะหลังปัสสาวะเสร็จ (post-void residual urine) เพื่อแยกภาวะปัสสาวะเล็ดเนื่องจากปัสสาวะค้างปริมาณมาก (overflow incontinence)
  • ส่องกล้องเพื่อดูท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ (cystoscope) เพื่อดูลักษณะความผิดปกติทางกายวิภาคหรือการอักเสบภายใน
  • การตรวจปัสสาวะพลวัต (urodynamics) เพื่อ
    • ยืนยันภาวะปัสสาวะเล็ดจากการออกแรง (stress incontinence)
    • ประเมินการทำงานของท่อปัสสาวะ (urethral function )
    • ประเมินภาวะปัสสาวะเล็ดทันทีที่ปวดปัสสาวะที่อาจซ่อนอยู่ (urge incontinecne)
    • ประเมินความสามารถในการยืดหดของกระเพาะปัสสาวะ (compliance)

การรักษา (4-6)

การดูแลผู้ป่วยก่อนเริ่มรักษา

1. ประเมินข้อบ่งชี้ในการส่งต่อ

  • มีอาการปวดท้องหรือปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานร่วมด้วย
  • มีอาการปัสสาวะเป็นเลือดทั้งจากมองเห็นด้วยตาเปล่าและจากการตรวจทางกล้องจุลทรรศน์โดยไม่มีภาวะติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ
  • มีอาการทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นใหม่
  • สงสัยว่ามีรูเชื่อมต่อระหว่างทางเดินปัสสาวะกับระบบอื่นใกล้เคียง (urinary fistula) หรือมีเนื้อเยื่อของผนังท่อปัสสาวะยืนเข้าไปในรูท่อปัสสาวะ (urethral diverticulum)
  • ผู้ที่ใส่สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานานๆ
  • ผู้ที่ใส่สายสวนปัสสาวะเข้าไปในท่อปัสสาวะได้ยาก
  • มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนเลยไฮเมน (Hymen) ออกมา
  • มีประวัติผ่าตัดปรับอุ้งเชิงกรานหรือเคยได้รับรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • มีปัสสาวะเหลือค้างในกระเพาะปัสสาวะหลังปัสสาวะเสร็จเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2. ประเมินแยกชนิดและความรุนแรงของภาวะปัสสาวะเล็ด

การแยกชนิดของภาวะปัสสาวะเล็ดจะช่วยให้สามารถรักษาอาการได้อย่างตรงจุด โดยการรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดจะให้ความสำคัญในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการรักษาต้องพิจารณาร่วมกับประโยชน์และความคาดหวังของผู้ป่วย

การประเมินความรุนแรงของอาการจะประเมินด้วยการจดบันทึกความถี่และปริมาณของการปัสสาวะ (voiding diary) โดยจดบันทึกว่าในวันหนึ่งๆ ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มอื่นในปริมาณเท่าไร ถ่ายปัสสาวะกี่ครั้ง และปริมาณน้ำปัสสาวะที่ถ่ายออกมาแต่ละครั้ง หากมีปัสสาวะเล็ดราดให้บันทึกปริมาณปัสสาวะที่เล็ดออกมาและกิจกรรมขณะนั้นด้วย

3. ประเมินเรื่องการใช้ผู้อนามัยหรือเสื้อผ้าของผู้ป่วย

ผู้หญิงที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ด มักจะใช้ผ้าอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันการเปื้อนซึมของปัสสาวะ เช่น ผ้าอนามัยหรือผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งการที่ผู้ป่วยใช้อุปกรณ์ที่เปียกชุ่มเป็นเวลานานๆอาจจะทำให้เกิดภาวะผิวหนังอักเสบและลอกตามมา ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ แพทย์ควรแนะนำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนเป็นประจำ

เริ่มต้นการรักษา

1. ปรับเปลี่ยนปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการ เช่น ยาที่มีผลต่อการทำงานของระบบขับถ่ายปัสสาวะ

2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่กระตุ้นหรือเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ด

    • ลดน้ำหนัก
      มีการศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ลดน้ำหนักและใช้ชีวิตตามปกติพบว่ากลุ่มที่ลดน้ำหนักมีจำนวนครั้งของการเกิดอาการปัสสาวะเล็ดจากการออกแรงได้มากกว่า แต่จะไม่ช่วยลดจำนวนครั้งของการเกิดปัสสาวะเล็ดทันทีขณะปวดปัสสาวะ
    • เปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร
    • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์, คาเฟอีน, น้ำอัดลม เป็นต้น
    • หากปกติดื่มน้ำมากกว่า 64 ออนซ์ต่อวัน (ประมาณ 1900 มิลลิลิตร) ควรลดปริมาณลง
    • ควรดิ่มน้ำครั้งละปริมาณน้อยๆ
    • ผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะตอนกลางคืน (nocturia) ควรแนะนำให้ลดปริมาณน้ำหลังรับประทานอาหารมื้อเย็นหรือก่อนนอนหลายๆชั่วโมง
  • แก้ไขอาการท้องผูก
    • เนื่องจากอาการท้องผูกเป็นสาเหตุทำให้อาการปัสสาวะเล็ดรุนแรงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดอาการปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะได้ (urinary retaintion)
    • เลิกสูบบุหรี่
    • เนื่องจากบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้

3. การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน (pelvic floor muscle exercise : kegel exercise)
เป็นการช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานซึ่งเป็นตัวช่วยพยุงท่อปัสสาวะ ช่วยกดกล้ามเนื้อดีทรูเซอร์ (detrusor muscle) ทำให้ลดการหดตัวของกล้ามเนื้อดีทรูเซอร์ ลดอาการปัสสาวะเล็ดได้
วิธีการบริหาร คือ ขมิบช่องคลอดค้างไว้นาน 8-12 วินาที 8-12 ครั้ง ทำ 3 รอบต่อวัน อย่างน้อย 15-20 สัปดาห์ สำหรับการประเมินว่าผู้ป่วยทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ประเมินได้จากการตรวจภายใน
มีอาการศึกษาแบบ systemic review ของการศึกษาแบบสุ่ม พบว่ากลุ่มที่บริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอย่างถูกวิธีเป็นประจำร้อยละ 55 มีอาการปัสสาวะเล็ดดีขึ้น ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้บริหารมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่อาการดีขึ้น

วิธีการเสริมเพื่อช่วยบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน

การเหล่านี้อาจจะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วย และความพร้อมของแต่ละที่

3.1 ให้การดูแลและให้คำปรึกษาในการบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานอย่างใกล้ชิด โดยนักกายภาพบำบัดหรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากการบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานจะมีประสิทธิภาพมากก็ต่อเมื่อผู้ป่วยทำได้ถูกต้องและทำอย่างสม่ำเสมอ

3.2 ใช้อุปกรณ์ช่วยในการบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน (Vaginal weigh cone) มักนิยมใช้ในกลุ่มที่ไม่ค่อยมีเวลาหรือไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่มาดูแลอย่างใกล้ชิด โดยที่ผู้ป่วยจะสอดอุปกรณ์เข้าไปในช่องคลอดแล้วขมิบช่องคลอดเพื่อพยุงอุปกรณ์ให้อยู่ในตำแหน่งเดิมขณะทำกิจกรรมต่างๆ

GSI2

ดัดแปลงจาก : http://www.aafp.org/afp/2000/1201/p2433.html

3.3 การอาศัยการตอบกลับทางชีวภาพ (biofeedback) วิธีนี้จะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่สามารถแยกระหว่างที่ทำการขมิบช่องคลอดนั้นกำลังใช้กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานหรือกล้ามเนื้ออื่นๆ โดยวิธีการนี้จะมีการติดตัวจับวัดความดันของช่องคลอดไว้ภายในช่องคลอดและส่งสัญญาณออกมาในรูปแบบของเสียงหรือภาพเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงของการหดตัวของกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน นอกจากนี้มียังมีชนิดที่มีตัวจับวัดการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อก้นไว้ที่หน้าท้องและอวัยวะเพศ (electromyography) อีกด้วย

4. การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดภายนอก การรักษาชนิดนี้แนะนำให้ใช้ในผู้หญิงวัยก่อนและหมดประจำเดือน ซึ่งวิธีนี้สามารถใช้รักษาทั้งอาการปัสสาสะเล็ดจากการออกแรง อาการปัสสาวะเล็ดทันทีหลังปวดปัสสาวะ ที่เกิดจากภาวะหมดประจำเดือน โดยจะมีอาการปัสสาวะแสบขัดและปัสสาวะบ่อยร่วมด้วย

การรักษาโดยใช้เอสโตรเจนนั้นมีหลายรูปแบบทั้งแบบครีม แบบเม็ด หรือแบบวงแหวน โดยปริมาณที่ใช้ หากเป็นแบบครีม จะใช้ 0.5 กรัม 2 ครั้งต่อสัปดาห์, แบบเม็ด 10 ไมโครกรัม 2 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือแบบวงแหวนใช้ทุก 3 เดือน เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี แต่ละวิธีควรใช้ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน

หากรักษาโดยการรักษาที่กล่าวมาข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นจะต้องพิจารณาให้การรักษาแบบอื่นที่เฉพาะต่อการรักษาอาการปัสสาวะเล็ดจากการออกแรงมากขึ้น ได้แก่

1. การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง (Continence pessaries) เป็นวิธีการรักษาที่นิยมใช้และอาจใช้ร่วมกับการบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์ช่วนพยุงมีความพึงพอใจหลังใช้ภายใน 1 ปี การทดลองขนาดของอุปกรณ์มักจะทำโดยแพทย์เฉพาะทางด้านนรีเวชและระบบทางเดินปัสสาวะ

GSI3

ดัดแปลงจาก : http://www.aafp.org/afp/2000/1201/p2433.html

2. การใช้ยา

  • Duloxetine เป็นยายับยั้งการดูดกลับสารซีโรโทนินและนอร์อิพิเนฟริน (serotinin-norepinephrine reuptake inhibitor) นิยมใช้ในประเทศแถวทวีปยุโรป แต่ส่วนใหญ่ส่วนใหญ่ไม่ได้นำมาใช้ทั่วไปทุกราย แต่จะใช้เฉพาะในรายที่มี อาการซึมเศร้าร่วมด้วย
  • ยาอื่นๆ เช่น ยาเสริมฤทธิ์สารแอลฟ่าอดรีเนอจิค (alpha-adrenergic agonists) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อเรียบของท่อปัสสาวะ โดยยาชนิดนี้ปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่นิยมใช้เนื่องจากมีการศึกษาพบว่ามีประสิทธิภาพน้อยเมื่อเทียบกับยาหลอก และมีอัตราของการเกิดผลข้างเคียงของยาสูง

3. การผ่าตัด

ผู้หญิงที่รักษาด้วยวิธีการรักษาแบบอนุรักษ์แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือในผู้หญิงที่ต้องการผลการรักษาที่รวดเร็ว ตรงจุด และยอมรับความเสี่ยงของการผ่าตัดได้ ควรพิจารณารักษาโดยวิธีการผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธี (7)ได้แก่

  • การผ่าตัดใส่อุปกรณ์แขวนท่อปัสสาวะส่วนกลาง (midurthral sling) โดยใช้วัสดุสังเคราะห์
  • การผ่าตัดแขวนช่องคลอดและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานโดยใช้เนื้อเยื่อ (Autologous fascia pubovaginal sling )
  • การผ่าตัดแขวนปากมดลูกกับอุ้งเชิงกราน (Burch colposuspension)

โดยวิธีที่นิยมทำและมีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูง คือ การทำการผ่าตัดใส่อุปกรณ์แขวนท่อปัสสาวะส่วนกลาง (midurthral sling)

GSI4

ดัดแปลงจาก : http://healthletter.mayoclinic.com/content/preview.cfm/n/85/t/stressincontinence/

4. การรักษาอื่นๆ

  • การใช้คลื่นความถี่รังสีส่องผ่านทางท่อปัสสาวะทำลายคอลลาเจน เป็นวิธการรักษาที่ลุกล้ำผู้ป่วยน้อย เชื่อว่าสามารถรักษาอาการของปัสสาวะเบ็ดที่เกิดจากการออกแรงได้ แต่ยังมีการศึกษาที่เป็นหลักฐานเพียงพอว่าวิธีนี้สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้หรือไม่
  • การใส่อุปกรณ์ในกระเพาะปัสสาวะ เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้
  • การฝังเข็มโดยใช้ไฟฟ้า การรักษาวิธีนี้มีการศึกษาในประเทศจีนพบว่าสามารถลดอาการปัสสาวะเล็ดจากการออกแรงได้ วิธีการคือ ฝังเข็มไปที่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนลัมบาและซาครัม (lumbosacral region) โดยทำ 1-8 ครั้งใน 72 ชั่วโมง เป็นเวลานาน 6 สัปดาห์ หลังจากอาการดีขึ้นแล้ว จะคงการรักษาต่อแบบ 2 ครั้งใน 72 ชั่วโมง นานประมาณ 6 เดือน
  • การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีการศึกษาพบว่าผลการรักษาเป็นที่น่าพึงใจของผู้ป่วย (จากแบบสอบถาม) หากทำ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ นาน 2 – 4 สัปดาห์

ทั้งนี้ทั้งนั้นการรักษาโดยวิธีฝังเข็ม และ การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ายังเป็นตัวเลือกที่มีข้อจำกัดทั้งในด้านผู้เชี่ยวชาญ สิทธิ์การรักษาที่ครอบคลุม และความสามารถในแต่ละพื้นที่

การประเมินหลังการผ่าตัด

1. ผู้ให้การรักษาควรแจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงอาการที่จำเป็นจะต้องมาพบแพทย์หลังการรักษา เช่น การปัสสาวะมีปัญหา ปวดเวลาปัสสาวะ เป็นต้น

2. มีการตรวจติดตามภายใน 6 เดือนหลังการรักษา อาจจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนครั้งของการตรวจติดตามในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่พึงประสงค์หลังรับการรักษา

3. สิ่งที่ต้องตรวจประเมินหลังรักษา ได้แก่ การซักถามถึงประวัติการปัสสาวะ การมีเพศสัมพันธ์, การตรวจร่างกายบริเวณแผลผ่าตัด

การรักษาผู้หญิงที่มีภาวะปัสสาวะเล็ดจากการออกแรงส่วนใหญ่แล้วสามารถรักษาด้วยวิธีการแบบอนุรักษ์ เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การบริหารกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกราน การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง เป็นต้น แต่ถ้าหากรักษาด้วยวิธีดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นจะต้องพิจารณารักษาโดยวิธีอื่นๆเพิ่มเติม และถ้าหากผู้ป่วยต้องการผลการรักษาที่รวดเร็ว ตรงจุด และสามารถยอมรับความเสี่ยงของการผ่าตัดได้ การผ่าตัดใส่อุปกรณ์แขวนท่อปัสสาวะส่วนกลาง (midurthral sling) เป็นวิธีที่แนะนำและมีโอกาสประสบความสำเร็จในการรักษาได้สูง

เอกสารอ้างอิง

  1. Evaluation of Uncomplicated Stress Urinary Incontinence in Women Before Surgical Treatment. the American College of Obstetricians and Gynecologists. 2014;123(603):1403–7.
  2. Evaluation of women with urinary incontinence [Internet]. 2017. Available from: https://www.uptodate.com/contents/evaluation-of-women-with-urinary-incontinence?source=history_widget.
  3. FEMALE STRESS URINARY INCONTINENCE: NATIONAL ASSOCIATION FOR CONTINENCE; [cited 2017]. Available from: https://www.nafc.org/womens-stress-urinary-incontinence/.
  4. Rovner ES, Wein AJ. Treatment Options for Stress Urinary Incontinence. Reviews in Urology. 2004;6(Suppl 3):S29-S47.
  5. Treatment of urinary incontinence in women [Internet]. 2017. Available from: https://www.uptodate.com/contents/treatment-of-urinary-incontinence-in-women?source=history_widget.
  6. พงษ์นริศร ช. ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงในสตรี [updated 10 สิงหาคม 2555; cited 2560]. Available from: http://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-20.
  7. SURGICAL TREATMENT OF FEMALE STRESS URINARY INCONTINENCE: AUA/SUFU GUIDELINE, (2017).