Thyroid disorders in pregnancy
ภาวะการทำงานผิดปกติของต่อมธัยรอยด์ในสตรีตั้งครรภ์

นพ.เจษฎา ใจพรหม
อาจารย์ที่ปรึกษา ศ.นพ.ธีระ ทองสง


บทนำ

ภาวะการทำงานผิดปกติของต่อมธัยรอยด์ถือเป็นโรคทางต่อมไร้ท่อที่พบได้บ่อยโรคหนึ่งในสตรีวัยเจริญพันธุ์ โดยมากจะได้รับการวินิจฉัยและรักษามาก่อนที่จะตั้งครรภ์ ดังนั้นสูติแพทย์ จึงมักจะได้ดูแลรักษาสตรีตั้งครรภ์กลุ่มที่ผ่านการวินิจฉัยและรักษามาแล้วเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามยังมีบางส่วนของสตรีตั้งครรภ์ที่เพิ่งมามีอาการและอาการแสดงของภาวะการทำงานผิดปกติของต่อมธัยรอยด์ในขณะตั้งครรภ์ สูติแพทย์รวมทั้งแพทย์ทั่วไปควรมีความรู้ความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของสรีระวิทยาเกี่ยวกับการทำงานของต่อมธัยรอยด์ในสตรีตั้งครรภ์และการให้การวินิฉัย การดูแลรักษา การตรวจติดตาม ที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ผลการตั้งครรภ์ออกมาดีที่สุดโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นตามมา

กายวิภาค

ต่อมธัยรอยด์จัดเป็นต่อมไร้ท่อที่มีตำแหน่งการวางตัวอยู่บริเวณลำคอทางด้านหน้า อยู่หน้าต่อหลอดลม(trachea) และอยู่ใต้ต่อกล่องเสียง(larynx) ถือว่าเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีเลือดมาเลี้ยงค่อนข้างมาก ปกติจะมีขนาดประมาณ 10-20 กรัม ประกอบด้วยต่อมข้างซ้ายและขวา เชื่อมกันด้วยส่วนที่เรียกว่า isthmic part บางรายอาจมีส่วนที่เรียกว่า pyramidal lobe เพิ่มมาได้

การควบคุมการสร้างและหลั่งของธัยรอยด์ฮอร์โมนจากต่อมธัยรอยด์

เริ่มจากสมองส่วน Hypothalamus หลั่ง thyrotropin-releasing hormone(TRH) ออกมากระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้าให้ทำการหลั่ง thyrotropin หรือ thyroid stimulating hormone(TSH) เพื่อมากระตุ้นให้ต่อมธัยรอยด์สร้างและหลั่งธัยรอยด์ฮอร์โมน โดยธัยรอยด์ฮอร์โมนมี 2 ชนิดคือ thyroxine(T4) และ triiodothyronine(T3) หากระดับของฮอร์โมนสูงขึ้นจนถึงระดับที่เพียงพอ ก็จะเกิดการไปยับยั้งการหลั่งของ TRH และ TSH จาก hypothalamus และต่อมใต้สมองส่วนหน้าตามลำดับ

บทบาทของธัยรอยด์ฮอร์โมน

ในช่วงที่ยังเป็นทารกในครรภ์และช่วง 1 ปีแรกหลังคลอดธัยรอยด์ฮอร์โมนมีบทบาทเกี่ยวกับการพัฒนาและเจริญเติบโตของร่างกายโดยเฉพาะการเจริญและพัฒนาของระบบประสาท ส่วนในผู้ใหญ่จะมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับระบบเมตาบอลิซึมต่างๆในร่างกาย

การเปลี่ยนเปลงทางกายวิภาคและสรีระวิทยาของต่อมธัยรอยด์ในขณะตั้งครรภ์

ต่อมธัยรอยด์จะมีขนาดโตขึ้นเล็กน้อยประมาณ 12-15 ซีซี โดยทั่วไปแล้วมักจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนนัก จากความต้องการพลังงานที่มากขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ร่างกายจึงต้องมีการเพิ่มเมตาบอลิซึมของร่างกายขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างธัยรอยด์ฮอร์โมนเพิ่มมากขึ้น ขณะตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงขึ้นจะมีผลทำให้การสร้างและกำจัดโปรตีนที่เรียกว่า thyroxine binding globulin(TBG) เปลี่ยนแปลงไปจากปกติโดยมีการสร้างที่มากขึ้นและการกำจัดที่ลดลง ส่งผลให้ระดับ TBG ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโปรตีนตัวนี้ทำหน้าที่จับกับธัยรอยด์ฮอร์โมนผลที่ตามมาก็คือระดับ total T4,T3 สูงขึ้น

ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมน hCG ที่สูงขึ้นโดยเฉพาะช่วงอายุครรภ์ 10-12 สัปดาห์ จะมีผลไปกระตุ้นการทำงานของต่อมธัยรอยด์ เนื่องจากลักษณะโครงสร้างของฮอร์โมน hCG คล้ายคลึงกับ TSH จึงจับกับ TSH receptor แล้วกระตุ้นต่อมธัยรอยด์ได้ ระดับของ TSH ในช่วงอายุครรภ์ดังกล่าวจึงลดลงเล็กน้อยจากผลยับยั้งการหลั่ง TSH จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวในช่วงอายุครรภ์ดังกล่าวและไม่มีผลทำให้เกิดอาการหรืออาการแสดงของภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนเกินแต่อย่างใด

ต่อมธัยรอยด์ของทารกในครรถ์

เริ่มทำงานในช่วงอายุครรภ์ 10-12 สัปดาห์ สามารถสร้างและหลั่งฮอร์โมนได้ มีการนำเอาสารไอโอดีนเข้าสู่ต่อมธัยรอยด์ได้ค่อนข้างดี ช่วงแรกการสร้างฮอร์โมนยังไม่เกิดขึ้นมากนักช่วงหลังของการตั้งครรภ์จะมีการสร้างฮอร์โมนเพิ่มมากขึ้นตามอายุครรภ์ที่มากขึ้น

การส่งผ่านรกของ ฮอร์โมน ยา และ เกลือแร่ ที่เกี่ยวข้อง จากมารดาสู่ทารกในครรภ์

  • ฮอร์โมน TRH, ไอโอดีน, immunoglobulins, antibody, ยา PTU และ MMI สามารถผ่านรกได้
  • ธัยรอยด์ฮอร์โมน คือ thyroxine, triiodothyronine สามารถผ่านรกได้เล็กน้อย
  • ฮอร์โมน TSH ไม่สามารถผ่ารรกได้เลย

ภาวะการทำงานผิดปกติของต่อมธัยรอยด์

พบบ่อยในผู้หญิงอายุน้อยโดยเฉพาะหญิงวัยเจริญพันธุ์ ในสตรีตั้งครรภ์เมื่อมีการทำงานของต่อมธัยรอยด์ผิดปกติไป ย่อมมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ยาตัวใดที่มีผลต่อต่อมธัยรอยด์ของมารดาก็มีผลต่อต่อมธัยรอยด์ของลูกด้วยเช่นกัน จากข้อมูลที่มีการรวบรวมและศึกษาที่ผ่านมา พบว่า ในสตรีตั้งครรภ์ที่การทำงานของต่อมธัยรอยด์ผิดปกติไป ทั้งภาวะธัยรอยด์เป็นพิษและภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมน สัมพันธ์กับผลการตั้งครรรภ์ที่ไม่ดี นอกจากนี้ส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กับการตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อต่อมธัยรอยด์ ซึ่งภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นนั้น สามารถไปมีผลทั้งกระตุ้นการทำงานของต่อมธัยรอยด์ มีผลยับยั้งการทำงานของต่อมธัยรอยด์ หรือ ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณต่อมธัยรอยด์แล้วเกิดการทำลายเนื้อเยื่อของต่อมธัยรอยด์ตามมาภายหลัง นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่แสดงว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นมาเหล่านี้ สันพันธ์กับการแท้งบุตรในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์

ภาวะธัยรอยด์เป็นพิษ

อุบัติการณ์ 1 ใน 1,000-2,000 การตั้งครรภ์ สาเหตุที่พบบ่อยคือ Graves’ disease ในระหว่างตั้งครรภ์ส่วนมากโรคมักสงบลง จากการที่ภูมิคุ้มกันทำงานลดลงช่วงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ จะสังเกตุได้จากปริมาณยาที่ใช้รักษาลดลง บางรายอาการดีขึ้นจนสามารถหยุดการรักษาได้

อาการและอาการแสดงที่บ่งชี้ถึงภาวะธัยรอยด์เกินหรือธัยรอยด์เป็นพิษ

อาการ : ใจสั่น น้ำหนักลด กินจุ หิวบ่อย เหงื่อออกมาก ทนร้อนไม่ค่อยได้ ถ่ายอุจจาระบ่อย กระวนกระวาย นอนไม่หลับ

อาการแสดง : ชีพจรเต้นเร็ว ตาโปน ต่อมธัยรอยด์โตผิดปกติ ตรวจพบ tremor

การวินิจฉัย

รายที่สงสัยภาวะธัยรอยด์เป็นพิษ ให้ตรวจการทำงานของต่อมธัยรอยด์ จะพบว่า ระดับ TSH ต่ำกว่าปกติหรือออาจจะตรวจไม่พบ แต่ระดับ free T4 ที่สูงขึ้นผิดปกติ บางรายที่มีอาการชัดเจนแต่ระดับ free T4 ปกติ ให้ตรวจระดับ free T3 เพราะอาจเกิดจาก T3 thyrotoxicosis

ในปัจจุบันสมาคมโรคต่อมธัยรอยด์แห่งอเมริกาแนะนำให้ใช้ค่าปกติของระดับ TSH เทียบในแต่ละช่วงการตั้งครรภ์ที่เรียกว่า Trimester specific reference ranges แต่หากในแต่ละสถาบันยังไม่มีช่วงค่าปกติดังกล่าวใช้ สามารถใช้ช่วงค่าปกติดังที่จะกล่าวต่อไปนี้แทนได้

  • ไตรมาสแรก : 0.1-2.5 mU/L
  • ไตรมาสที่สอง : 0.2-3.0 mU/L
  • ไตรมาสที่สาม : 0.3-3.0 mU/L

การรักษา

1. การรักษาด้วยยา

ถือเป็นการรักษาหลักในสตรีตั้งครรภ์ ยาที่ใช้คือยากลุ่ม Thioamide และ Beta-blocker

ยากลุ่ม Thioamides ได้แก่ Propylthiouracil(PTU) และ Methimazole(MMI)

ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนจากต่อมธัยรอยด์ PTU ยังมีผลลดการเปลี่ยนจาก T4 ไปเป็น T3 ผลข้างเคียงจากยาที่เกิดขึ้นได้แก่ agranulocytosis, hepatitis, thrombocytopenia, vasculitis อาการข้างเคียงเล็กน้อยอื่นๆ เช่น ผื่นคัน คลื่นไส้ เบื่ออหาร

เป้าหมายการรักษาด้วยยาคือให้ระดับ TSH อยู่ในระดับปกติหรือสูงกว่าปกติเล็กน้อย โดยใช้ยาในขนาดต่ำที่สุด เพื่อให้ทารกในครรภ์สัมผัสต่อยาให้น้อยที่สุด

Propylthiouracil(PTU)

ขนาดยาที่ใช้คือ 100-300 mg ต่อวัน ผลข้างเคียงที่สำคัญคือ ภาวะตับอักเสบรุนแรง

Methimazole(MMI)

ขนาดยาที่ใช้คือ 10-40 mg ต่อวัน ผลต่อเด็กที่สำคัญคือ มีรายงานการเกิด Aplasia cutis และ เกิด Choanal และ Esophageal atresia ได้

ดังนั้นสมาคมโรคต่อมธัยรอยด์แห่งอเมริกา จึงแนะนำให้

– ใช้ยา PTU ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เพื่อหลีกเลี่ยงผลที่จะเกิดกับทารกในครรภ์

– เปลี่ยนมาใช้ยา MMI ในช่วงที่เหลือของการตั้งครรภ์ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะตับอับเสบที่อาจจะเกิดขึ้นในสตรีตั้งครรภ์

ยา beta blocker

ยาที่ใช้บ่อยคือ propranolol ขนาดยาที่ใช้ 20-40 mg ทุก 6-8 ชั่วโมง ช่วยลดอาการใจสั่น ได้ผลดี แต่การใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ โดยเฉพาะนานกว่า 2-6 สัปดาห์ พบว่าทำให้เกิด ภาวะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ทารกในครรภ์มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และ หัวใจทารกเต้นช้า

2. การรักษาด้วยการผ่าตัด

ควรหลีกเลี่ยงในสตรีตั้งครรภ์ เพราะ เสี่ยงกับการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด และสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงเป็นการรักษาที่จะพิจารณาสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่แพ้ยา หรือมีผลข้างเคียงรุนแรงจากการรักษาด้วยยา โดยหากจำเป็นต้องผ่าตัดรักษาควรทำในช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรถ์เพื่อลดภาวะเสี่ยงต่างๆดังที่กล่าวมา

3. การรักษาด้วยรังสี

การรักษาด้วยสารกัมมันตรังสี นั่นก็คือ I131 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการกลืนแร่ ถือเป็นข้อบ่งห้ามในหญิงตั้งครรภ์ เพราะจะมีผลต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ที่รุนแรง โดย การสัมผัสต่อสารรังสีในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์จะทำให้เกิดการแท้งบุตร หากสัมผัสในช่วงที่มีการเจริญของอวัยวะต่างๆ ก็จะมีผลทำให้เกิดความพิการขึ้นกับทารกในครรภ์ ถ้าสัมผัสสารรังสีหลังจากที่ต่อมธัยรอยด์ของทารกเริ่มทำงาน จะเกิดการทำลายต่อมธัยรอยด์ของทารกในครรภ์ยังผลให้เกิดภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมนในทารก ทารกในครรภ์จะเกิดมามีปัญหาของพัฒนาการทางสมองและสติปัญญา

ผลการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ

1. ผลต่อมารดา

  • แท้งบุตร
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • หัวใจล้มเหลว

2. ผลต่อทารกในครรภ์

  • คลอดก่อนกำหนด
  • ทารกโตช้าในครรภ์
  • ทารกตายคลอด
  • ธัยรอยด์เป็นพิษหรือพร่องธัยรอยด์ของทารกในครรภ์
  • ธัยรอยด์โต

ภาวะธัยรอยด์เกินหรือธัยรอยด์เป็นพิษของทารกในครรภ์

พบได้ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ในมารดาที่เป็น Graves’ disease ซึ่งลักษณะที่บ่งชี้ถึงภาวะนี้ ได้แก่ อัตราการเต้นของหัวใจทารกมากกว่า 160 ครั้งต่อนาที ตรวจด้วย ultrasound พบมีการโตช้าในครรภ์ อายุกระดูกมากกว่าปกติ ในรายที่เป็นรุนแรง อาจพบภาวะทารกบวมน้ำและหัวใจล้มเหลว จึงมีการแนะนำให้ตรวจหาระดับแอนติบอดีต่อ TSH receptor ในผู้ป่วย Graves’ disease ที่ตั้งครรภ์ช่วง 20 – 24 สัปดาห์ หากพบว่ามีระดับที่สูงกว่าปกติโดยเฉพาะสูงเกิน 3 เท่าของค่าปกติควรได้รับการตรวจ ultrasound เป็นระยะ เพื่อตรวจหาลักษณะที่บ่งชี้ถึงธัยรอยด์เป็นพิษของทารกในครรภ์ว่ามีหรือไม่ หากวินิจฉัยภาวะนี้ในทารกแล้ว รักษาโดยให้มากดารับประทานยาต้านธัยรอยด์กลุ่ม thioamides

การเจาะเลือดจากสายสะดือเพื่อตรวจการทำงานของต่อมธัยรอยด์ทารก ไม่แนะนำให้ทำทุกราย แต่แนะนำในรายที่ตรวจพบว่าทารกในครรภ์มีต่อมธัยรอยด์โตแล้วอาการไม่ชัดเจนว่าทารกนั้นเป็นธัยรอยด์เกินหรือพร่องธัยรอยด์

การตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ช่วงก่อนคลอด

  • ควรฟังเสียงของหัวใจทารกอย่างน้อยเป็นเวลา 1 นาที เพื่อหาว่ามี tachycardia หรือ bradycardia หรือไม่
  • เริ่มทำ NST ตั้งแต่อายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์ ในรายที่มารดายังควบคุมโรคได้ไม่ดี
  • ตรวจด้วย ultrasound เพื่อหาว่าทารกมีการเจริญเติบโตช้าผิดปกติหรือมีต่อมธัยรอยด์โตหรือไม่

การดูแลในระยะให้นมบุตร

  • การรับประทานยาต้านธัยรอยด์สามารถให้บุตรกินนมมารดาได้
  • ในกรณีรักษาด้วยยา methimazole มากกว่า 20 mg ต่อวัน ควรตรวจการทำงานของธัยรอยด์ในทารกแรกเกิดที่อายุ 1 เดือนและ 3 เดือน
  • กรณีรักษาด้วย I131 ให้งดการเลี้ยงลูกด้วยนมมารดาอย่างน้อย 120 วัน

ภาวะ thyroid storm

เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิตค่อนข้างสูง แม้ว่าพบเพียงประมาณ 1 % เหตุปัจจัยกระตุ้นได้แก่ การติดเชื้อ การผ่าตัด หรือแม้กระทั่งการเจ็บครภ์และคลอดบุตร ดังนั้นจึงควรจะทำการวินิจฉัยภาวะนี้ได้รวมถึงสามารถรักษาได้ในกรณีฉุกเฉิน เพื่อรักษาชีวิตของทั้งมารดาและทารกในครรภ์ การวินิจฉัยอาศัยเกณฑ์ดังตารางที่ 1

หากรวมคะแนนได้

  • มากกว่าหรือเท่ากับ 45 บ่งชี้สูงว่าเป็น
  • 25 – 44 คะแนน บ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะเป็น
  • น้อยกว่า 25 คะแนน เป็นไปได้น้อยมากที่จะเป็น

การรักษา

ควรรับไว้ในหอผู้ป่วยหนัก เพื่อตรวจติดตามอาการทั้งมารดาและทารกอย่างใกล้ชิด ให้ออกซิเจน ให้สารน้ำอย่างเพียงพอ แก้ไขภาวะเกลือแร่ต่างๆที่ผิดปกติ กำจัดปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิด และที่สำคัญที่สุดคือการให้ยา

1. ให้ยา PTU เพื่อลดการสร้างธัยรอยด์ฮอร์โมนและลดการเปลี่ยน T4 เป็น T3

ขนาดยาคือ 600-800 mg ทางปากทันที ต่อด้วย 150-200 mg ทางปากทุก 4-6 ชั่วโมง

2. ให้สารที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบหลังจากเริ่ม PTU 1-2 ชั่วโมง

  • NaI 500-1000 mg ทางหลอดเลือดดำทุก 8 ชั่วโมง
  • SSKI (saterated solution potassium iodide) 2-5 หยด ทางปาก ทุก 8 ชั่วโมง
  • สารละลาย Lugol 8 หยด ทางปาก ทุก 6 ชั่วโมง
  • ในรายที่แพ้ไอโอดีน สามารถให้ lithium carbonate 300 mg ทางปากทุก 6 ชั่วโมง

3. ให้ Dexamethasone ขนาด 2 mg ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ทุก 6 ชั่วโมง 4 ครั้ง

4. ให้ยา Propranolol เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจ ขนาดยา 20-80 mg ทางปากทุก 4-6 ชั่วโมง

5. ให้ยา Phenobarbital ในกรณีที่มีอาการกระวนกระวายมาก ขนาดยา 30-60 mg ทางปากทุก 6-8 ชั่วโมง

Subclinical hyperthyroid

คือภาวะที่ตรวจพบระดับ TSH ต่ำ แต่ ระดับ T4 ปกติ ไม่มีอาการหรืออาการแสดงของภาวะธัยรอยด์เป็นพิษ จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่ผ่านมา พบว่าไม่มีความสัมพันธุ์กับผลการตั้งครรภ์ที่ไม่ดี จึงไม่จำเป็นต้องรักษา

ภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมน

คือการที่ต่อมธัยรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยผิดปกติ อุบัติการณ์ 2-3 ใน 1000 การตั้งครรภ์ สาเหตุที่พบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์คือ Hashimoto’ s thyroiditis นอกจากนั้นก็เป็นผลที่ตามมาจากการรักษาธัยรอยด์เป็นพิษโดยการผ่าตัดหรือกลืนแร่ อาการที่บ่งชี้ได้แก่ บวม น้ำหนักขึ้น ท้องผูก ทนอากาศหนาวไม่ค่อยได้ ผมร่วง ผิวแห้ง

การวินิจฉัย

  • รายที่สงสัยจากมีอาการดังที่กล่าวไป เมื่อตรวจการทำงานของต่อมธัยรอยด์จะพบว่า ระดับ TSH จะสูง ส่วน free T4, T3 จะต่ำ เรียกว่า overt hypothyroidism
  • ในรายที่ไม่มีอาการ แต่ตรวจพบว่า TSH สูง ส่วน free T4 ปกติ เรียกว่า subclinical hypothyroidism
  • หากไม่มีอาการ ระดับ TSH ปกติ แต่ free T4 ต่ำ เรียกว่า isolated maternal hypothyroidism

ผลต่อการตั้งครรภ์

ภาวะที่มีผลต่อการตั้งครรภ์คือ overt hypothyroidism และ subclinical hypothyroidism ส่วน isolated maternal hypothyroidism ยังไม่มีข้อมูลที่สนับสนุนชัดเจนว่ามีผลต่อการตั้งครรภ์ ซึ่งผลต่อการตั้งครรภ์เหล่านั้นได้แก่

  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ภาวะรกลอกตัวก่อนทารกคลอด
  • คลอดก่อนกำหนด
  • ทารกโตช้าในครรภ์
  • ทารกเสียชีวิตในครรภ์
  • ความผิดปกติของพัฒนาการและสติปัญญา

การรักษา

รักษาด้วยยา levothyroxine ขนาดยาที่ใช้รักษาในช่วงตั้งครรภ์มักต้องเพิ่มขึ้น ประมาณ 1 ใน 3 ของขนาดยาที่เคยใช้ก่อนการตั้งครรภ์ จะทำการรักษาเมื่อ เป็น overt และ subclinical hypothyroidism โดยเป้าหมายของการรักษาคือให้ระดับของ TSH เป็นปกติหรือสูงกว่าปกติเล็กน้อย โดยใช้ค่าปกติแยกตามแต่ละช่วงการตั้งครรภ์ดังกล่าวในข้างต้น

การตรวจติดตามทารกช่วงก่อนคลอด

  • ให้ฟังเสียงหัวใจทารกอย่างน้อย 1 นาทีเพื่อดูว่ามี fetal bradycardia หรือไม่
  • เริ่มทำ NST ที่อายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์ โดยรายที่เอยู่ในภาวะ euthyroid ไม่มีความจำเป็นต้องทำ
  • รายที่มีอาการของภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมนควรทำ ultrasound ประเมินเรื่องการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์และขนาดต่อมธัยรอยด์ของทารก

References

  1. American College of Obstetricians and Gynecologists: Thyroid disease in pregnancy. Practice Bulletin No. 37, August 2002
  2. American College of Obstetricians and Gynecologists: Subclinical hypothyroidism in pregnancy. Committee Opinion No. 381, October 2007
  3. Stagnaro-Green A, Abalovich M, Alexander E, et al. Guidelines of the American Thyroid Association for the diagnosis and management of thyroid disease during pregnancy and postpartum. Thyroid 2011; 21:1081.
  4. Bahn Chair RS, Burch HB, Cooper DS, et al. Hyperthyroidism and other causes of thyrotoxicosis: management guidelines of the American Thyroid Association and American Association of Clinical Endocrinologists. Thyroid 2011; 21:593.
  5. De Groot L, Abalovich M, Alexander EK, et al. Management of thyroid dysfunction during pregnancy and postpartum: an Endocrine Society clinical practice guideline. J Clin Endocrinol Metab 2012; 97:2543.