บางข้อคิดจากจิตวิญญาณอาจารย์กำจัด


ความดี ความงาม ความทรงจำ อาจารย์คือคุณครูของวงการที่ไม่เคยจางหายไปจากใจ สิ่งที่อาจารย์บุกเบิก สร้างรากฐาน ให้งอกงามเติบโตมาเป็นสูติ-นรีเวชในปัจจุบัน ยิ่งใหญ่เสมอมา วันนี้เป็นผลจากวันวาน จากก้าวแรกอันลำบากยากเย็นที่อาจารย์บุกบั่นฟันฝ่ามาอย่างยาวนาน กลายเป็นตำนานหมื่นลี้ที่เล่าขานไม่รู้จบของสูติฯเชียงใหม่ อาจารย์คือ ต้นแบบแห่งคุณครูที่เปี่ยมด้วยความกรุณา ปลูกฝัง ปลุกปั้นลูกศิษย์มามากมายกว่าจะเป็นภาควิชาให้ลูกหลานได้เป็นผู้มีโอกาสในการก้าวย่างที่สวยงามและสะดวกสบายในวันนี้

Kamjad0

ห้องเรียน 2 หรือห้องเรียนอ.กำจัด สังเกตไม่มีคำว่าร.ศ. นำหน้า และไม่มีสวัสดิโอต่อท้าย เป็นคำเรียกง่าย ๆ เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวสูติฯมช. ที่นี่เป็นห้องประชุมเก่า ๆ ที่ปราศจากความอลังการใด ๆ ผมคิดว่านี่เป็นห้องที่ถ่ายทอดความรู้สึก นึก และคิดจากอาจารย์ได้เป็นอย่างดี นับกว่ายี่สิบปีแล้วตั้งแต่อาจารย์เป็นหัวหน้าภาควิชาฯ ที่อาจารย์รุ่นเด็กได้รับแรงบันดาลใจให้จัด morning conference อย่างเป็นทางการ ณ ห้องแห่งนี้ ในสมัยเริ่มต้นนั้นอาจารย์ยังมาเข้าร่วมประชุมในตอนเช้ามืดบางวัน วันที่อาจารย์ไม่ได้มา ก็คอยติดตามขอให้กระผมและทีมงานช่วยส่งรายชื่อผู้ป่วยน่าสนใจในคืนที่ผ่านมา ผมรู้ว่าเป็นเรื่องลำบากที่หัวหน้าภาคจะมาร่วมกิจกรรมกับลูกภาคในทุกเรื่อง แต่เราก็สามารถสัมผัสถึงการใส่ใจและส่งแรงใจมายังรุ่นลูกหลานได้เป็นอย่างดี ทุกวันนี้ morning conf ได้เป็นจุดแข็งจุดขายของภาควิชา ที่ผู้เรียนที่จบแล้วจากไปต่างก็ได้รับความรู้สึกว่านี่คือพื้นที่ก่อกำเนิดและบ่มเพาะจิตวิญญาณของหมอในการดูแลคนไข้ทั้งคน แหล่งจุดประกายไฟแห่งการค้นหา ทั้งความรู้และความเป็นหมอ แชร์ประสบการณ์ผ่านเคสของคืนที่ผ่านมา ทำหน้าที่ควบคุมสติปัญญาของผู้ดูแลรักษาผู้ป่วย คอยกำกับให้การอยู่เวรเสมือนหนึ่งมีผู้เฝ้ามองอยู่อย่างห่วงใยและต่อเนื่อง นานเท่าใดกี่ร้อยกี่พันเคสแล้วที่บอกเล่าความถูกผิด young staff หลายท่านได้รับแรงใจอย่างดียิ่งจากอ.กำจัดในวันก่อนโน้น ใน morning ยุคเริ่มต้นอาจารย์พูดหลายครั้งว่าเวรย่อมระงับด้วยการอยู่เวร (อย่างดี)

วันแรกที่เราเริ่มมี morning conference เริ่มจัดที่ห้องเรียน 3 ที่จุคนได้เพียงราว 10 คน อาจารย์ถามผมว่ามีอุปสรรคอะไรหรือเปล่า ผมบอกว่าห้องมันแคบไปหน่อยครับ อาจารย์บอกว่า กิจกรรมยิ่งใหญ่เกิดได้แม้ในที่คับแคบ และดูเหมือนอาจารย์จะยินดีกับกิจกรรมนี้เป็นอย่างยิ่ง และถามถึงบ่อยครั้ง และจนวันนี้ก็ยังชวนให้ฉุกคิดว่า คุณธรรมและความรู้ไม่จำเป็นต้องมาจาก symposium ที่โรงแรม ความคิดดีๆ ไม่ต้องเกิดจากห้องสัมนาของรีสอร์ทหรู ๆ ความคิดอ่านดี ๆ เกิดขึ้นที่นี่มิใช่ congress ที่เมืองนอก จนหลายคนอาจเดินทางประชุมมากกว่าเข้าห้อง conference อย่างเต็มใจและศรัทธา เหมือนที่ใครบอกว่า เฮมิงเวย์เขียนหนังสือด้วยปากกาหมึกซึมเก่าๆมิใช่เม้าส์ไร้สาย สุนทรภู่พกแต่สมุดข่อยมิใช่ไอแพด วอร์เรน บัพเฟตต์ทำงานในห้องเล็กๆกับเครื่องคิดเลขธรรมดาโดยปราศจากแม็คบุ๊คโปร อุปกรณ์สำคัญที่สร้างฝันให้อัจฉริยะทั้งโลก คือ จิตใจที่มุ่งมั่นกับมันสมองธรรมดา ๆ ซึ่งก็เกินพอแล้วกับการประสบความสำเร็จในชีวิตแท้จริงแล้ว

Kamjad2s

อาจารย์บอกว่า ถ้าหมอทำคลอด private เกินสิบเคสต่อเดือนหมอจะไม่สามารถทำหน้าที่อาจารย์ที่ดีได้ ถ้าหมอจะทำคลอดก็ต้องทำที่นี่แหละ ต้องอยู่ในสายตาของนักศึกษาแพทย์ (คงจะหมายถึงการดูแลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ) อาจารย์หมอที่ไปทำ private ที่อื่น ก็เหมือนการปิดบังบทเรียนของนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านไป หมอไม่มีทางที่จะเป็นอาจารย์แพทย์ที่ดีได้ “จุดเริ่มต้นของการทำ private practice ในเวลาราชการเป็นจุดเสื่อมของสถาบันการเรียนแพทย์ทุกแห่ง” นั่นก็เป็นอีกหนึ่งวาทะเตือนใจที่ผมจดจำ แท้จริงมีคนมากมายที่อยากได้โอกาสของการเป็นผู้ให้ หรือมีเลือดครูอย่างไม่รู้วันจาง (ผมตั้งข้อสังเกตว่า ปรมาจารย์อาวุโสที่เราคุ้นเคย อ.กำจัด อ.กอสิน อ.สุรีย์ อ.ศุภร ต่างไม่ยอมออกไปทำ private นอกภาควิชาในขณะเป็นอาจารย์ ราวกับเตือนใจหรือเป็นต้นแบบให้อาจารย์แพทย์รุ่นหลัง)

Kamjad3s

หมอลองดูพระราชดำรัสบทนี้สิ… นั่นเป็นครั้งหนึ่งที่ผมทราบถึงแก่นใจของผู้หยิบยื่นความคิดอ่านโดยไม่ต้องสอน หลายปีต่อมาผมได้มีโอกาสอ่านทบทวนถ้อยความนี้อีกมากครั้ง เพราะปรากฏอยู่ที่เว็บหน้าแรกของคณะแพทยศาสตร์เรานั่นเอง “อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย ถ้าใครอยากร่ำรวยควรเป็นอาชีพอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ อาชีพแพทย์ต้องยึดอุดมคติ คือเมตตา กรุณา” ทำให้ผมนึกถึงอาจารย์ในฐานะของครูแพทย์ผู้รู้จักพอ เพียงอาชีพแพทย์ก็ต้องรู้จักพอให้ได้ แล้วยิ่งมาเป็นครูแพทย์ที่ต้องมาเป็นต้นแบบให้อนุชนด้วยแล้วมิควรที่จะลืมลาภยศเหล่านั้นไปให้หมดเลยหรอกหรือ และครูแพทย์ทุกคนต้องร่ำรวย (หมายถึงพอแล้วโดยไม่มีเงินมากนักหรอก) ถึงไม่ทำ private practice เลย เราก็รวยกว่าคนส่วนใหญ่ (กว่า 80%) ของทั้งประเทศแล้ว ผมคิดว่าอาจารย์เตือนผมให้รู้จักพอเพียง ความมุ่งหวังแห่งการครอบครอง ความเห็นแก่ได้มันทำร้ายพื้นที่ชีวิตของครูลงอย่างน่าใจหาย เราจึงไม่มีใจและเวลาที่จะมีความสุขในการราวด์ การเรียน การสอน ในภาคส่วนของผู้ป่วยสามัญ

Kamjad4s

หลายครั้งที่ผมได้รับซองเอกสารที่มีเอกสารทางวิชาการบ้าง ข้อคิดเพื่อชีวิตที่ดี ๆ จากอาจารย์กำจัดอยู่เสมอ ๆ ผมสัมผัสถึงความกรุณาเช่นนี้เสมอมา อาจารย์ใส่ใจกับหัวใจคนรุ่นหลัง ให้ความสำคัญกับคุณภาพแห่งจิตวิญญาณและการงานต่อคนรุ่นใหม่ ผมรู้สึกได้มาเกือบสามสิบปีที่อาจารย์ได้สร้างพลังบันดาลใจอย่างเงียบ ๆ ผมนึกไม่ออกเลยสักครั้งว่าอาจารย์แสดงความก้าวร้าว หยามน้ำใจลูกศิษย์หรือทำร้ายน้ำใจเพื่อนแพทย์คนใด ความเป็นครูใจดีที่เรียบง่ายและเพียงพอ ถนอมน้ำใจกับคนที่สร้างความกดดันได้อย่างงดงาม ยังคงเป็นภาพชัดเจนพิมพ์ใจที่ไม่ต้องบันทึกด้วยกล้อง high definition รุ่นใด เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้นย่อมจดจำคนมีค่ามากกว่าคนมีเกียรติ แค่นึกก็อาจทำให้หัวใจของใครหลายคนสงบ สยบทุกความทะเยอทะยานแห่งอัตตาหลงตนของคนลุ่มหลงลงไปได้บ้างกระมัง

“การที่เขามายอมนอนทอดกายให้หมอตรวจภายในได้นั้น … แม้จะเจ็บปวดสักแค่ไหน เขาคิดแล้วคิดอีก มากว่าค่อนคืนว่าจะมาให้หมอตรวจดีหรือไม่” นั่นคือหนึ่งประโยคที่ผมได้ยินเมื่อครั้งที่อาจารย์ทำ grand round เรื่องการตรวจ sensitive area เมื่อสามสิบปีที่แล้ว ผมคิดว่าถ้อยคำ “ทอดกาย” ต้องถ่ายทอดต่อไปยังรุ่นน้องรุ่นลูก เพื่อสะท้อนให้ตระหนักว่าการตรวจทางนรีเวชนั้นจำเป็นต้องตรวจหัวใจที่ให้เกียรติ (with respect) เยี่ยงพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ ในที่นี้หมายถึงสมองผ่องใสและหัวใจผ่องแผ้ว เปี่ยมปรารถนาดี การตรวจครั้งนี้เขามาด้วยความไว้วางใจในคุณหมอ แบบไม่มีที่ไปที่ดีกว่านี้

Kamjad5s

ในซองจดหมายเก่าติดตรา WHO ซองหนึ่งที่อาจารย์ให้คุณเจริญเอามาวางไว้บนโต๊ะผม นอกจากเอกสารวิชาการแล้ว ยังมีแผ่นกระดาษโรเนียว มีลายมืออาจารย์เขียนไว้ที่หัวกระดาษว่าผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตจะมีสุขภาพจิตดี มีความเป็นผู้ใหญ่ ตามด้วยตัวพิมพ์ดีดโบราณ (เช่นเดียวกับข้อคิดที่ติดอยู่หน้าตู้หนังสือของอาจารย์พรรณี) ดังต่อไปนี้

ผู้มีสุขภาพจิตดี : 1) รู้จักและพอใจในสภาพของตนเอง, 2) มีกิจกรรมและมีเพื่อน, 3) ผ่อนปรนและปรับตัวได้ภายใต้ความกดดัน, 4) มองผู้อื่นด้วยความเห็นใจ และในฐานะเท่าเทียมกัน, 5) พอใจในงาน และเห็นว่ามีคุณค่า

ความเป็นผู้ใหญ่ : 1) เข้าใจโลก มองการณ์ไกล, 2) ให้มากกว่ารับ, 3) ไว้ใจได้ มีหลักการ, 4) ผ่อนปรนให้อภัย, 5) รับฟัง ตั้งใจช่วย, 6) อดทน อดกลั้น, 7) มีสติเผชิญหน้ากับเหตุการณ์

สังเกตว่าการประสบความสำเร็จในชีวิตของคนเรา อาจารย์มิได้เอ่ยถึงคำว่า ตำแหน่งวิชาการ จำนวนพับบลิเคชั่น ตำแหน่งบริหารใด ๆ หรือทรัพย์สินสักแค่ไหน ขับรถรุ่นใด

อาจารย์เคยพูดในที่ประชุมอาจารย์เมื่อรับเป็นหัวหน้าภาคสมัยที่ 2 ในปี 2532 ว่าจำเป็นที่อาจารย์ต้องรู้ว่าการทำคนดีให้เก่ง ง่ายกว่าการทำคนเก่งให้ดี และเราก็ต้องตระหนักว่า แม้เราต้องการคนเก่ง แต่คนที่คิดว่าตนเองเก่งมักเป็นต้นเหตุแห่งความล่มสลายขององค์กรอีกหนึ่งจุดหักเหสำคัญของภาควิชาที่จะนำไปสู่ความเสื่อม คือการทำ private practice มากกว่าครุ่นคิดวัน ๆ ว่าจะค้นหาองค์ความรู้ ถ่ายทอดความรู้ ใส่ใจเชิงรุก คอย monitor ลูกศิษย์อย่างไร ภาระกิจสำคัญของครูอาจารย์คือการปลุกใจให้เกิดใฝ่ดีและใฝ่รู้ ไม่ใช่ใฝ่รวย (สังเกตต้องใฝ่ดีก่อน) เห็นความสำคัญของชีวิตที่มีค่ามากกว่าชีวิตที่มีเงิน อาจารย์ย้ำเรื่องนี้หลายครั้ง ดังตัวอย่างบางตอนจากบทความที่อาจารย์เขียนไว้ในแพทยสภาสาร เรื่องภูมิต้านทานโรคจริยธรรมเสื่อม

• “….. ในชั้นต้นก็เป็นเรื่องของการสงเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลกันฉันท์ญาติสนิทมิตรสหาย ผู้รับบริการส่วนใหญ่ก็เป็นผู้รู้จักคุ้นเคยกับแพทย์ หรือเพื่อนร่วมงานของแพทย์ เมื่อได้รับความช่วยเหลือเรียบร้อยแล้วก็มักจะมีของสมนาคุณให้ตามธรรมเนียมไทยที่ดี มากบ้างน้อยบ้างตามศรัทธาและฐานะ แต่เมื่อวิถีชีวิตในสังคมรอบข้างเปลี่ยนไป ความหลงไหลในวัตถุมีมากขึ้น การช่วยคลอดก็กลายเป็นธุรกิจ ของสมนาคุณก็กลายเป็นเงินสด ซึ่งอาจจะได้มาทั้งรูปของการที่มิได้กำหนดหรือเรียกร้อง ไปจนถึงขั้นกำหนดราคาก็อาจจะเกิดขึ้นได้”

• “ผู้มาคลอดในระยะแรกที่ไม่ได้เป็นลักษณะธุรกิจ อาจารย์อาจจะให้ศิษย์มีโอกาสฝึกปฏิบัติ จะช่วยคลอดโดยวิธีต่าง ๆ รวมทั้งการผ่าตัดโดยอาจารย์เป็นผู้สอนให้ แต่เมื่อกลายเป็นธุรกิจจำบังเช่นนี้ อาจารย์ก็ไม่กล้าเสี่ยงชื่อเสียงทางธุรกิจของตนและพยายามที่จะเอาใจผู้คลอดด้วยวิถีทางต่าง ๆ ไม่ค่อยกล้าคุมให้นักศึกษาหรือแพทย์ประจำบ้านเป็นผู้ทำเหมือนแต่ก่อน การเรียนการสอนส่วนนี้ก็ขาดหายไป”

• “…… แล้วเรียกร้องหรือรับเงินเพื่อประโยชน์ส่วนตนก็ย่อมจะถือได้ว่าเป็นความผิด แต่พฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการเรียกร้องหรือรับเงินทองกันในโรงพยาบาลและการทำคลอดผู้ป่วยในลักษณะนี้อาจจะอ้างได้ว่ากระทำไปโดยความเมตตา สนิทเสน่หาเป็นส่วนบุคคล ซึ่งโดยข้อเท็จจริง ผู้มาคลอดในลักษณะนี้เป็นญาติของแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ฯลฯ ก็มีอยู่ไม่น้อย ดังนั้นการแก้ไขจึงต้องอาศัยสำนึกของอาจารย์ที่ทำการเพื่อธุรกิจดังกล่าวว่าจะพิจารณาตนเองอย่างไรในฐานะที่เป็นอาจารย์ และเป็นแพทย์ไทยคนหนึ่งที่ควรจะมีความรู้สึกสำนึกในการร่วมกันรักษามาตรฐานทางจริยธรรมของแพทย์ไทยไว้ให้มั่นคงและยืนนาน”

• “ผู้เขียนในฐานะที่ปัจจุบันเป็นหัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาคนหนึ่ง พยายามสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่นักศึกษาแพทย์ ไม่ให้ติดเชื้อพฤติกรรมอันไม่พึงปรารถนา ด้วยแนวคิดง่าย ๆ ว่า 1) ให้รู้จัก “อด” คืออดกลั้นต่อความอยากทางวัตถุ หัดดำรงชีวิตอย่างประหยัด เรียบง่าย ใช้ชีวิตประจำวันอย่างอยู่พอดี กินพอดี ไม่ใช่อยู่ดีกินดี 2) ให้รู้จัก “อาย” คืออายที่จะทำความชั่ว ความทุจริตด้วยประการทั้งปวง”

ด้วยใจและใจ..ในนามของอนุชนชาวสูติศาสตร์ม.ช. น้อมกราบอธิษฐานจิต อุทิศส่วนกุศลแด่ดวงวิญญาณของอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ไปสู่สุคติในสัมปรายาภพ และความทรงจำที่ดีงามจะเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกหลานดีงามตามที่ท่านอาจารย์มุ่งหวัง

บรรณานุกรม

  1. กำจัด สวัสดิโอ : ประวัติและการตรวจการตั้งครรภ์และโรคเฉพาะสตรี จัดพิมพ์โดยโครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์ สำหรับชาวชนบท คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ.2524)
  2. กำจัด สวัสดิโอ : “คู่มือบัณฑิต” วิถีสู่ความสำเร็จในการทำงาน จัดพิมพ์โดยโครงการตำรามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2526)
  3. กำจัด สวัสดิโอ : “วิชาชีพ วิชาชีวิต” คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ พ.ศ. 2521 (พ.ศ.2523)
  4. กำจัด สวัสดิโอ : “ภูมิต้านทานโรคจริยธรรมเสื่อม” แพทยสภาสาร ปีที่ 17 ฉบับที่ 7 กรกฎาคม 2531 หน้า 419-422.

 ธีระ ทองสง
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา