เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ? (ภาคสอง)

ธีระ ทองสง


ภาคสอง คือเรื่องเล่าต่อจากภาคหนึ่ง ใน CCOG-2016 ในภาคหนึ่งได้มีการทบทวนความหลังของบ้านหลังนี้ ว่าเราก่อร่างสร้างบ้านมาอย่างไร บูรพาจารย์ต่างเคยทุ่มเทสักเพียงใดกว่าจะตั้งตัวเป็นภาควิชาที่มั่นคงได้ และภาคสองนี้ เป็นเรื่องเล่าว่าเราสานต่อภารกิจนี้มาอย่างไรจนกลายเป็นสูติฯล้านนาอย่างที่เรารู้จักกันในวันนี้

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ? คำถามนี้มักจะถามในเชิงการยอมรับว่าเราต้องโดดเด่น เป็นหนึ่งในเรื่องอันใดสักเรื่องหนึ่ง แต่เกรงว่านี้จะเป็นการคุย หรือยอมรับเพื่อการอวดตัวเองไปสักหน่อย ดังนั้นก่อนเริ่มต้นจำเป็นต้องแน่ใจเสียก่อนว่าเรามีดีอะไร? ถึงต้องการเล่าให้ผู้อื่นว่ามีความเป็นมาอย่างไร ปานประหนึ่งว่านี่คือตำนานที่น่าสนใจ!!!

เรามีดีอย่างไร ถึงต้องมาทบทวนเรื่องราวของพวกเรา?

กว่าสิบกว่าปีมานี้ ทุกครั้งที่สัมภาษณ์สมัครแพทย์ประจำบ้าน จะมีบางคนหรือหลายคน พูดว่าเลือกสูติเชียงใหม่ เพราะเป็นสูติฯที่มีชื่อเสียง หรือบ้างก็บอกว่าเป็นสูติฯที่ดีที่สุด อาจารย์เอาใจใส่มาก ๆ (เราไม่ได้พูดเอง) ตั้งแต่เป็นน.ศ.พ. ก็เรียนตำราสูติฯของเชียงใหม่ ฯลฯ กล่าวได้ว่าทุกปีมีการพูดในลักษณะนี้ จะเป็นเพียงการเอาใจผู้สัมภาษณ์เพื่อขอคะแนนเห็นใจ หรือรู้สึกจริง ๆ ล้วนแต่ทำให้เราต้องกลับมามองตัวเองอยู่เสมอมา

  • ยุคหลัง ๆ นี้ใคร ๆ หลายคนก็พากันมาอีเลคทีฟที่เราปีละมากมาย ไม่ว่าจะเป็นระดับนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน หรือเฟลโล่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เด่นชัดมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นี่อาจเป็นสัญญาณบอกความนิยมของคนในวงการอยู่ไม่น้อย จากสูติภูธรที่ใคร ๆ ไม่ใยดี วันนี้ต้องจองคิวล่วงหน้า ไม่ได้มากันง่าย ๆ แล้วนะ
  • หลายครั้งจากสื่อโซเชียลนศพ. เรสซิเดนท์ทางไลน์ ทางเฟส ยกให้ตำราสูติฯเชียงใหม่ เป็นเล่มแรกลำดับต้นของตำราที่ใช้ทั่วประเทศ ไม่ผิดเลยที่พูดว่าในประเทศนี้มีคนเรียนสูติ-นรีเวชส่วนมากใช้ตำราเรียนของเรา ร่วม 20 ปีแล้ว
  • เรามีผลงานวิจัยค้นคว้าจากความตั้งใจของอาจารย์อย่างมากมาย เป็นอันดับที่หนึ่งของสูติฯในประเทศไทย (อันนี้เช็คดูง่ายๆ จาก Pubmed / Scopus ยาวนานต่อเนื่องมาเป็นเวลานับกว่า 10 ปี เป็นเรื่องจริงที่เห็นเป็นรูปธรรม จนกระทั่งสกว.ประเมินแล้วให้ลงความเห็นเป็นสถาบันการศึกษาที่มีผลงานคะแนนดีเยี่ยม (ต่อเนื่องกันมา) เป็นลำดับที่หนึ่งในการประเมินมาทุกครั้งที่ผ่านมา ย่อมเป็นตัวบ่งชี้สำคัญต่อการยอมรับในวงวิชาการการพูดว่าเราคือสูติศาสตร์ที่ดีที่สุด แม้จะฟังดูน่าหมั่นไส้ แต่ก็พูดอย่างมีหลักฐานเชิงประจักษ์ อาจารย์ของเราได้รับทุนวิจัยจากองค์กรภายนอกมากมาย เป็นภาควิชาที่มีคลัสเตอร์วิจัยถึงสองคลัสเตอร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เป็นต้น ถ้าพูดถึงการนำเสนอผลงานวิชาการสูติฯ ที่ราชวิทยาลัย แล้ว ตรวจสอบจากการประชุมวิชาการประจำปีแล้ว พบว่าสูติฯเชียงใหม่เราก็มีผลงานนำเสนอมากที่สุดต่อเนื่องกันมากว่า 15 ปี เช่นกัน แสดงถึงความเป็นแหล่งวิชาการที่มั่นคง ยั่งยืนอีกหลักฐานหนึ่ง จริงไหม
  • Conference ที่หลับบ้าง ๆ ตื่นบ้าง แต่ก็ยังคงได้รับการโหวตจากแบบสอบถามของผู้ที่จบไปแล้วพูดเป็นเสียงเดียวกัน (จากแบบสอบถามผู้เรียน) ว่า morning conference เป็น conference ที่เรสซิเดนท์ได้รับประโยชน์มากที่สุด และแตกต่างจากทุกที่ จนกลายเป็นจุดเข้มแข็งโดดเด่น เป็นข่าวรับอรุณที่สร้างประสบการณ์ให้กับทุกชีวิต ซึมซับความรู้และเปลี่ยนประสบการณ์ (แม้บางท่านจะฝืนใจบ้างก็ตาม หลับตั้งแต่ morning tip) นับว่าเป็น activity ที่แตกต่างอย่างมีคุณค่า
  • ติวนอกเวลา เป็นทางเลือกที่แตกต่างยิ่งกว่า ส่วนมากต่างรู้สึกว่านี่เป็นทางเลือกที่ช่วยสร้างบรรยากาศวิชาการให้เข้มข้น ที่ทุกคนเลือกได้ ความหมายที่สำคัญที่สุดมิใช่ความรู้ที่ได้รับในแต่ละวัน แต่การสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนมิอาจนิ่งเฉยต่อวิชาการ เป็นจุดเอื้อต่อการเป็นสังคมครอบครัวใหญ่ของเรา เป็นจุดกำเนิดของความเป็นครอบครัวใหญ่มาหลาย generation ต่างจากชีวิตสูติฯ ที่อื่นๆ หรือภาควิชาอื่น ๆ ที่วัน ๆ ทำงานหนักเหนื่อยแล้วแยกย้ายกันไป แต่เราต้องได้พบปะพูดคุยกันทั้งก่อนและหลังติว จึงเป็นสูติฯใกล้ชิดที่ไม่อาจมีใครเหมือน เป็น option เสริมยามค่ำคืนที่ได้รับความนิยมสูง
  • คุณูปการทางวิชาการ แม้จะเป็นภาควิชาโลโซ เรียบง่าย แต่เราก็มีผลงานไฮโซ ไม่มีห้องเรียนอันอลังการ มันก็เป็นเพียงภายนอก หลายอย่างได้เปลี่ยนไปให้เห็นได้ในช่วงอายุคน จากอิทธิพลของวิชาการหลากหลาย แม่ชักเพราะเด็กบาร์ทบวมน้ำที่เราคุ้นเคยเมื่อสามสิบปีก่อน หายไปแล้วจากสวนดอก เด็กธาลัสซีเมียพุงป่องที่ต้องเข้าคิวกันเติมเลือดเป็นภาพที่ไม่คุ้นตากันแล้วในปัจจุบัน จำนวนเด็กดาวน์หายไปกว่าครึ่งของประชากรแถบนี้ คุณูปการของภาคฯที่สร้างองค์ความรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของคุณภาพชีวิตผู้คนในสังคมแถบนี้อย่างเป็นรูปธรรม เราเห็นชัดเจน และเห็นแล้วว่านี่คือสูติศาสตร์ที่มิใช่เพียงแค่สถานที่ทำคลอด แต่เป็นสถานบริการวิชาการเปลี่ยนแปลงสังคม เหล่านี้ล้วนได้สร้างความรู้สึกดีให้กับลูกศิษย์ทั้งใหม่เก่าตลอดมา
  • อาจารย์ที่เก่งและดี มีคุณภาพ จำนวนมาก (จากการรับเชิญเป็นวิทยากร เขียนแต่งตำรา ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมายาวนาน) เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ รางวัลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือรู้จักกันในนามรางวัลช้างทองคำ มหาวิทยาลัยจัดสรรให้ปีละครั้งแก่อาจารย์ดีอาจารย์เก่ง คณะแพทย์เราก็ได้มาหลายเชือก 10 ปีมานี้ ราว 20 เชือกแล้ว แต่สูติฯของเราคว้ามาถึง 9 เชือก นอกจากนั้นอาจารย์เราหลายท่านยังได้รับรางวัลระดับชาติมากมายเลยทีเดียว เช่น อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ อาจารย์ดีเด่น สออ. บุคคลต้นแบบของกรมอนามัย นั่นก็เป็นอีกหลักฐานที่บอกว่าสูติฯมช.เราเป็นสูติฯคุณภาพทางวิชาการจริง ๆ เราคงไม่มโนไปเอง จริงไหม
  • แบบสอบถาม feedback ของผู้ที่จบไปจำนวนมาก บอกว่าเขาภูมิใจ เต็มใจ ที่จะบอกกับใคร ๆ ว่าจบเชียงใหม่ (นี่ถือเป็นคำจำกัดความของความสำเร็จของภาควิชาก็ว่าได้)

    วัฒนวิถีของภาควิชา

    เอาเป็นว่าเราคงเป็นสูติฯที่ดีระดับหนึ่ง การเติบโตสู่ความสำเร็จขององค์กรมาจากคุณภาพภายใน มิใช่การสร้างภาพด้วยตึกสวยงาม ห้องเรียนอลังการ สื่ออีเลคโทรนิคเพียบพร้อม อีเว้นต์หรู ๆ แต่อยู่ที่การเรียนการสอนอย่างทุ่มเทเสียสละ อันนำไปสู่การใฝ่รู้ไม่มีที่สิ้นสุด ปัจจัยสำคัญที่สุดของความสำเร็จ คือคุณภาพอาจารย์ ผู้ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้ศิษย์เก่งดีและมีสุข จบไปอย่างรู้สึกว่าศิษย์มีครู ภารกิจสำคัญของบ้านหลังนี้มิใช่แค่การฝึกปรือให้เขาเชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวช หากแต่คือฝึกให้เขาใฝ่รู้และใฝ่ดี ใฝ่รู้ทำให้เขาเก่ง ใฝ่ดีทำให้ความเก่งเกิดประโยชน์กับผู้คน (ใช่ตนเอง) และมีความสุข ซึ่งทำให้ความใฝ่รู้มีความยั่งยืน ไม่มีวิธีการสอนใดดีไปกว่าการทำให้เห็น เป็นให้ดู ทุกย่างก้าวของครูอยู่ในสายตาของลูกศิษย์ ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบต่องานบริการ หรือวิชาการ จะถูกจดจำ พฤติกรรมของครูมีผลต่อพฤติกรรมของผู้เรียน เชื่อว่าเรามีแบบอย่างดี ๆ เช่นนั้นมากมายให้ซึมซับจดจำ และเราจะไม่ยอมให้ใครจากไปโดยไม่ได้รับความรู้สึกดีจากบ้านหลังนี้ไป สิ่งนี้มีความหมายมาก ครูเองก็อาจไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่ครูทำ ครูเป็น ในวันนี้ มีอิทธิพลสักเพียงใดต่อใครหลายคนไปชั่วชีวิต จุดเด่นคือเรามีวัฒนธรรมการสร้างผลงานและความสุขในองค์กรที่เหมือนบ้าน ซึ่งต้องการความตั้งใจที่มุ่งมั่น ความสัมพันธ์ที่น่าอยู่ วัฒนธรรม (วิถีของคนส่วนใหญ่) ทางวิชาการของภาควิชา

    กว่า 30 ปีหลังจากภาควิชาก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาโดยบูรพคณาจารย์รุ่นบุกเบิก (ดังกล่าวมาในภาคแรก) มีความก้าวหน้าในทุกสาขาวิชาเรื่อยมา ดังที่โดดเด่นมาก ๆ เช่น การพัฒนาวิชาเด็กหลอดแก้วจนเฟื่องฟู (มีอาจารย์ธีระพรเป็นแกนนำ) การผ่าตัดผ่านกล้องนานาชนิด (อาจารย์ชัยเลิศ อาจารย์โอภาส) การผ่าตัดมะเร็งขั้นเทพ (เช่น อาจารย์จตุพล อาจารย์ประภาพร) การวินิจฉัยและรักษาทารกในครรภ์หลากหลายรูปแบบ (อาจารย์พรรณี อาจารย์ชเนนทร์ เป็นต้น) ฯลฯ ในเชิงวิชาการแล้วถือว่าเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยความมุ่งมั่นของคณาจารย์ที่สานต่อปณิธานกันเรื่อยมา ในราว 15-20 ปีมานี้ เราได้แยกหน่วยย่อยสาขาวิชาหลักทั้งสาม เพื่อความสะดวกในการบริการและฝึกอบรมต่อยอด และทำให้การศึกษาค้นคว้ารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ความแกร่งทางวิชาการเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตามเราก็มีจุดด้อยบางประการเกิดควบคู่ตามกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการทำ private practice ของอาจารย์มากขึ้น บรรยากาศวิชาการและและความผูกพันในองค์กรก็ลดลง เกือบยี่สิบปีแล้วที่ความผูกพันอาจารย์กับเรสซิเดนท์จางลง นับจากวันที่อาจารย์ออกไปทำ private นอกภาควิชา (ซึ่งอาจารย์ยุคบุกเบิกไม่ทำ) ทำให้บรรยากาศความเป็นสูติฯล้านนาของเราด้อยลง สมัยก่อนถ้าอาจารย์มีเคสพิเศษก็จะทำในภาควิชา นอกเหนือจากเคสสามัญแล้ว เรายังได้เรียนรู้การดูแลเคสของอาจารย์ ช่วยอาจารย์ผ่าตัด หรือเฝ้าคลอด เป็นต้น วันนี้การเรียนรู้กับเคสอาจารย์ลดลงอย่างน่าใจหาย การมีเคสพิเศษมากกลายเป็นจุดเสื่อมของภาคฯ (อ.กำจัดกล่าวไว้ และให้ข้อคิดว่าถ้าอาจารย์หมอสูติฯ ทำคลอดเกิน 10 รายต่อเดือนจะไม่สามารถเป็นอาจารย์ที่ดีได้) ง่ายต่อการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้เราตกต่ำ อาจารย์ขาด conference ออกโอพีดีสาย ปล่อยนักเรียนอย่างเดียวดาย ปล่อยให้แพทย์ประจำบ้านลุยกันไปอย่างขาดการเอาใจใส่ เป็นชีวิตที่แห้งแล้งมากขึ้น นอกจากนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สื่อโซเชียลเข้ามามีอิทธิพลต่อมากขึ้น ดึงความใส่ใจออกไปจากหน้าที่ สมาธิสั้นลง ความสุขในการงานลดลงทุกระดับ คุณภาพงานลดลง ความห่างเหินของผู้คน และขาดความใส่ใจในการงานมากขึ้น นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้คุณภาพเรสซิเดนท์ของเราด้อยลง แต่นี่นับเป็นประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นในทุกวงการ ไม่ใช่เฉพาะที่ภาคฯเรา

    อย่างไรก็ตามโดยรวมแล้วถือว่าเราได้ set มาตรฐานของภาคฯไว้สูง เป็นแบบพิมพ์สำหรับคนรุ่นต่อไป สิ่งนี้มีความหมายมาก ครูเองก็อาจไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่ครูทำครูเป็นในวันนี้ มีอิทธิพลสักเพียงใดต่อใครหลายคนไปชั่วชีวิต โชคดีสักเพียงใด ที่เราได้มีชีวิตร่วมกันที่ภาควิชาฯ แม้ว่าเรามิใช่กลุ่มคนที่สมบูรณ์แบบ แต่ตำนานของเราได้สอนให้เห็นว่า “ความสุขในการทำงานเพื่อผู้อื่น” เป็นรากฐานสำคัญที่สุดของการพัฒนาของเรา เมื่อเป็นกลุ่มก้อนหลายท่านเข้า ความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จก็ตามมา เรามิได้วัดความสำเร็จในชีวิตด้วยจำนวน publications หรือรายได้ แต่ปิติใจในการเสียสละและเรียนรู้อย่างมีความสุข เชื่อว่า happiness-based learning เท่านั้น ที่ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

    เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

    ในยุคเปลี่ยนผ่านของรัชกาลแห่งแผ่นดิน เป็นห้วงเวลาที่ผู้คนหวนคิดถึงความดีงาม จึงขอทบทวนหนึ่งพระราชดำรัสที่ทรงตรัสแก่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในวันที่เข้าเฝ้าถวายงานครั้งแรกเมื่อปี 2524 “มาทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น” ง่าย ๆ สั้น ๆ พร้อมกับตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุดจากชีวิตพระองค์ท่านเอง ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มิได้อยู่ที่มีอะไรมากที่สุด แต่อยู่ที่เสียสละได้มากที่สุด และมีความสุขที่สุด ชัดไหม !!! อยู่เพื่อตน..อยู่แค่ตนสิ้นใจ อยู่เพื่อคนทั่วไป…อยู่ชั่วฟ้าดิน และนี่น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของเราเช่นเดียวกันว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร คำตอบคือความสุขในการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น (ไม่ใช่รายได้) เมื่อเราช่วยกันจนหลายคนคิดได้เช่นนี้เราก็กลายเป็นสูติฯล้านนาที่แตกต่าง แม้การดำเนินตามเบื้องพระยุคลบาทของเราเป็นเพียงสเกลเล็ก ๆ ในสังคมนี้ แต่ก็เชื่อว่าอย่างน้อยสักเสี้ยวหนึ่งที่เราได้ดำเนินตามปรัชญาง่าย ๆ สั้น ๆ นี้ ที่ทำให้เรามีปิติจากภายใน มิใยที่ใครจะต้องรับรู้หรือจดจำ ปรากฏการณ์ในการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น สัมผัสได้โดยตรงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ เช่น

    ความเอาใจใส่ของอาจารย์ต่อเรสซิเดนท์และเฟลโลว์มีสูง มีผลต่อเนื่องให้แพทย์ประจำบ้านเอาใจใส่น.ศ.พ.มากขึ้นด้วย อาจารย์จำนวนไม่น้อยเสียสละเพื่อลูกศิษย์โดยมิได้หวังผลตอบแทน เป็นความเหน็ดเหนื่อยที่มีความสุขในการเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ โดยเฉพาะการวิจัยแต่ละเรื่องที่ต้องร่วมใจกันสร้างสรรค์ตั้งแต่คิดโจทย์วิจัยไปจนตีพิมพ์ การรักษาผู้ป่วยที่มีอาจารย์เป็นพี่เลี้ยงเสมือนกัลยาณมิตร ตามมาช่วยผ่าตัดนอกเวลาได้อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เข้าถึงได้ง่าย (available) ซึ่งเป็นผลดีโดยตรงต่อผู้ป่วยและวิชาการของแพทย์ทุกระดับ บรรยากาศสังคมครอบครัวและพี่น้องที่สูงมาก (จากอิทธิพลวิชาการทั้งนอกและในเวลาราชการ)

    มองไปข้างหน้าเพื่อก่อความหวัง มองไปข้างหลังเพื่อเก็บบทเรียน

    เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่สุดของการประสบความสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในวันนี้ และเป็นความหวังในวันข้างหน้าให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป คือ คุณภาพครู ดังนั้นความหวังสำคัญที่สุด คือการต้อนรับ staff ใหม่คนต่อไป (รวมไปถึงเรสซิเดนท์) ซึ่งบ้านหลังนี้ที่มีธรรมชาติสอดคล้องกับวัฒนธรรมของเรา คือ คนที่แสวงหาคุณค่ามากกว่ารายได้

    แน่นอนเรามิใช่ภาควิชาที่ดีที่สุด เป็นภาควิชาของคนธรรมดา อาจมีการทำมาหากินด้วยเหตุผลหรือความจำเป็นส่วนตัวอยู่บ้าง หมกมุ่นกับเคสพิเศษ โดด conference มากบ้าง น้อยบ้าง บางครั้งโชคร้ายไม่มีความสุขกับกิจกรรมวิชาการหรืองานสอน ฝีนใจราวด์ ออกโอพีดีสาย สอนให้เสร็จ ๆ ฯลฯ นั่นคงเป็นส่วนที่ทำให้ภาควิชามัวหมอง บูรพาจารย์ไม่ปลื้ม ลูกศิษย์ไม่ภูมิใจ ตนก็เอือมระอาตน ขาดความสุขอันพึงได้จากคุณค่าของงาน ความไม่สมบูรณ์แบบนี้คงเกิดขึ้นบ้างบางเวลา แต่เชื่อว่าในบรรยากาศวิชาการของเรา มักทำให้เราพลันคิดได้ ทบทวนตนเอง นึกถึงความสุขดั้งเดิมของชีวิตครู อันเป็นวิถีชีวิตที่เราเคยเลือกว่าดีที่สุด ย่อมเรียกศรัทธาและความรักในงานกลับมา จำกันได้ดีว่าการได้งานที่เรารัก เหมือนการพักผ่อนไปทั้งชีวิต

    ขอให้บทความนี้มีส่วนบ้างในการสร้างแรงบันดาลใจให้ใครสักคนหนึ่งในสังคมเล็ก ๆ นี้ หวังว่าภาควิชาจะเป็นแหล่งบุญของใครบางคนที่ปรารถนาจะมาเป็นครูหรือศิษย์ที่นี่ ที่ที่ได้เปิดโอกาสให้เขาได้สร้างคุณงามและความเก่งอย่างมีความสุข

    บางส่วนของที่มา:

    1. จากบทสนทนาที่โต๊ะกาแฟในห้องอาจารย์อาวุโส
    2. คำบอกเล่าของผู้คนแถวนี้ และศิษย์เก่าสูติฯมช.
    3. แบบสอบถามผู้เรียน กระบวนวิชาหลักสูตรหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก สาขาวิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    4. บทสัมภาษณ์ผู้สมัครแพทย์ประจำบ้านจำนวนมากกว่า 10 ราย ต่อปี
    5. Portfolio ของผู้สมัครแพทย์ประจำบ้านกว่า 20 ราย ที่บันทึกว่าทำไมเลือกเรียนสูติฯเชียงใหม่